ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

“สัจจะ” บางประการเกี่ยวกับ “คดีสวรรคต”

9
มิถุนายน
2566

Focus

  • การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 5 สิงหาคม 2489 ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2489 คณะการเมือง (พรรคการเมืองในปัจจุบัน) “แนวรัฐธรรมนูญ” ที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ และ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นผู้นำพรรคได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นเหนือพรรคประชาธิปัตย์คู่แข่งที่สำคัญ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ต่อมาลาออกสองรอบ คือ วันที่ 11 มิถุนายน 2489 หลังเกิดการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 แต่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบให้กลับมาดำรงตำแหน่งอีกและลาออกอีกครั้ง เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2489 ด้วยปัญหาสุขภาพจากการตรากตรำทำงานสนองคุณประเทศชาติ โดยพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2489
  • แม้ว่ารัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ชุดต่อมาได้พยายามดูแลอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดความกระจ่างและความยุติธรรมต่อเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 แต่ในที่สุดศาลยุติธรรมได้พิพากษาให้ตัดสินประหารชีวิตบุคคลสามคนว่ามีส่วนต่อการลอบปลงพระชนม์ คือ นายเฉลียว ปทุมรส นายชิต สิงหเสนี และนายบุศย์ ปัทมศริน แต่ผู้เขียนบทความนี้ในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการที่รัฐบาลธำรงนาวาสวัสดิ์แต่งตั้งขึ้นเพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมการศาลพิเศษ ก่อนการตัดสินคดี เชื่อว่าทั้งสามคนเป็นผู้บริสุทธิ์ และแม้ว่ารัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จะรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ แต่มิได้เกิดขึ้นจริงเพราะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยการทำรัฐประหารเสียก่อน
  • ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ตกอยู่ในกระแสของการถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสวรรคต (อันรวมถึงการที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ยกเอากรณีสวรรคตขึ้นมากล่าวหาฝ่ายแนวรัฐธรรมนูญ) ชนะคดีความที่ฟ้องต่อศาลยุติธรรมว่าบริษัทสยามรัฐ จำกัด และบริษัทไทยเดลี่การพิมพ์ จำกัด ลงข้อเขียนที่กล่าวร้ายต่อตนโดยไม่เป็นความจริงที่ว่ามีส่วนพัวพันในคดีสวรรคต บริษัทผลิตหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับผู้แพ้คดีได้ประกาศขอขมา ยืนยันว่า ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้บริสุทธิ์ และ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็ได้ให้อโหสิกรรมแก่บริษัททั้งสองแห่ง

 

ในวันที่ 5 สิงหาคม 2489 ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร เพิ่มขึ้นตามจำนวนพลเมืองที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2489 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้สมัครเข้ารับเลือกตั้งในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอันเป็นบ้านเก่าของท่าน และชาวอยุธยาพอใจที่จะให้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รับใช้ชาติบ้านเมืองต่อไป เขาจึงละเว้นไม่สมัครเข้าแข่งขันเลือกตั้ง ท่านจึงได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่วนทางด้านพฤติสภา นั้น บรรดาสมาชิกของคณะปฏิวัติ 24 มิถุนายน เป็นจำนวนมากคนได้เป็นสมาชิกของสภาสูงนั้น

แม้ว่าบางคนเคยได้รับความทุกข์ยากในคราวถูกหาว่าเป็นอาชญากรสงครามแล้วคณะการเมืองอันมี ดร.ปรีดี พนมยงค์ และพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นหัวหน้า อันมีชื่อว่า “แนวรัฐธรรมนูญ” ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น ได้ชัยชนะเหนือพรรคประชาธิปัตย์อันเป็นฝ่ายตรงข้ามอย่างเด็ดขาด ในการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ได้ยกเอากรณีสวรรคตขึ้นมากล่าวหาฝ่ายแนวรัฐธรรมนูญ โดยปราศจากความละอายต่อบาป

ดร.ปรีดี พนมยงค์ และ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หวังอย่างเต็มที่ว่าบรรดาผู้ก่อการ 24 มิถุนายน จะได้รักษาอุดมการณ์ และจะได้ร่วมมือร่วมใจกันทำงานให้ชาติบ้านเมืองต่อไป คงไม่มีอะไรเหลือไว้เป็นการผิดพ้องหมองใจกันต่อไปอีก แต่ทว่า “จิตมนุษย์นี้ไซร้ ยากแท้หยังถึง”

หลังจากที่ได้ตรากตรำทำงานสนองคุณประเทศชาติมาอย่างหนัก ทำให้สุขภาพเสื่อมโทรมลง จนไม่สามารถปฏิบัติภารกิจของรัฐได้เต็มที่อีกต่อไป ฉะนั้น ในวันที่ 22 สิงหาคม 2489 ดร.ปรีดี พนมยงค์ จึงได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อไปตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2489

รัฐบาล ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้ถือกรณีสวรรคต ฯลฯ เป็นเรื่องใหญ่ หากกรรมการของศาลพิเศษพิจารณาได้ผลไปในทางใดโดยชัดเจน คือถ้าเป็นการลอบปลงพระชนม์ก็จะได้ให้ตำรวจลากคอผู้ที่สงสัยว่ามีส่วนในเหตุอันทำให้สวรรคต ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร เข้าตะแลงแกงให้หมดเพื่อให้สิ้นสุดกันเสียที

ครั้นถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2489 คณะกรรมการศาลพิเศษ ภายหลังที่ได้ประชุมดำเนินการสอบสวนตามอำนาจหน้าที่ จนเสร็จสิ้นทุกประเด็นแล้ว ได้เสนอเรื่องนี้ต่อรัฐบาล ธำรงนาวาสวัสดิ์โดยมีข้อสรุปว่า

“คณะกรรมการเห็นว่า กรณีอันจะพึงเป็นต้นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดลเสด็จสวรรคตนั้น สำหรับกรณีอุบัติเหตุคณะกรรมการมองไม่เห็นทางว่าจะเป็นไปได้เลย ส่วนอีกสองกรณีคือ ถูกลอบปลงพระชนม์และปลงพระชนม์เองนั้น การถูกลอบปลงพระชนม์ไม่มีพยานหลักฐานและเหตุผลแน่นอนแสดงว่าจะเป็นไปได้ แต่ก็ไม่สามารถที่จะตัดออกเสียได้โดยสิ้นเชิง เพราะว่ายังมีทีท่าของพระบรมศพค้านอยู่ ส่วนในกรณีปลงพระชนม์เองนั้น ลักษณะของบาดแผล แสดงว่าเป็นไปได้ แต่ไม่ปรากฏเหตุผลหรือหลักฐานอย่างใดว่าได้เป็นเช่นนั้นโดยแน่ชัด คณะกรรมการจึงไม่สามารถจะชี้ขาดว่าเป็นการหนึ่งกรณีใดในสองกรณีนี้ ทั้งนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของพนักงานที่จะดำเนินการสืบสวนและปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป”

เป็นอันว่ารายงานการสอบสวนของศาลไม่ได้ให้คำวินิจฉัยชี้ขาดอย่างหนึ่งอย่างใดโดยชัดแจ้งอย่างไรก็ตามถ้าได้อ่านรายงานนี้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ก็จะทราบเหตุแห่งการสวรรคตได้ดีพอสมควร

รัฐบาลธำรงนาวาสวัสดิ์ได้นำรายงานของคณะกรรมการเข้าสู่การประชุมพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2489 หลังจากได้พิจารณารายงานอย่างถ่องแท้แล้ว เห็นว่าเพื่อให้การพิจารณาเรื่องนี้เป็นไปโดยรอบคอบ และละเอียดถี่ถ้วน จึงได้ลงมติให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีโดยรีบด่วน กรรมการคณะนี้ประกอบด้วย

1. พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
2. นายดิเรก ชัยนาม
3. นายเดือน บุนนาค
4. นายวิจิตร ลุลิตานนท์
5. นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์
6. นายทองเปลว ชลภูมิ
และ นายไสว สุทธิพิทักษ์ เป็นเลขานุการของคณะกรรมการ

คณะกรรมการชุดนี้ได้ทำงานกันอย่างหนัก เพื่อให้เสร็จในระยะเวลาน้อยที่สุด เริ่มต้นได้พิจารณารายงานของคณะกรรมการ (ศาลกลางเมือง) ชุดก่อนที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งโดยละเอียดถี่ถ้วน ได้ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุหลายครั้ง หลายหน และสถานที่ต่อเนื่องกัน ได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ ได้สอบถามมหาดเล็กผู้อยู่เฝ้าใกล้ชิดพระยุคลบาท คือ นายชิต สิงหเสนี และนายบุศย์ ปัทมศริน ซึ่งอยู่เวรเฝ้าเสด็จขณะเกิดเหตุ พร้อมด้วยบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดถี่ถ้วน และในที่สุด ได้สรุปผลรายงานต่อคณะรัฐมนตรี

รัฐบาลธำรงนาวาสวัสดิ์ จำนนต่อข้อเท็จจริง “กฎหมาย คือ ความยุติธรรม” จะเป็น “ความอยุติธรรม” ไปไม่ได้ และ “ศาลลงโทษผู้บริสุทธิ์ แม้เพียงคนเดียว เป็นความผิดอย่างมหันต์ยิ่งกว่าปล่อยผู้กระทำความผิดร้อยคน” และในที่สุดได้นำเรื่องเสนอคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งมีกรมขุนชัยนาทเป็นประธานพร้อมกันนั้นรัฐบาลได้ส่งเรื่องให้กรมตำรวจสืบสวนเอาตัวการที่แท้จริง ในการปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 ตำรวจที่มีหน้าที่สืบสวนได้เริ่มวิธีสืบสวนตามหลักการที่เคยทำกันมา ในกรณีที่มีผู้ถูกลอบฆ่าตาย ว่าในกรณีลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 นั้นพระองค์ได้มีสาเหตุขัดแย้งกับผู้ใด ถึงขนาดที่ผู้นั้นต้องปลงพระชนม์ท่านแล้วสถาปนาตนเป็นราชวงศ์ใหม่ขึ้น ตามที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์ ที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและธนบุรี การณ์ปรากฏว่าในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เมื่อรัชกาลที่ 8 สวรรคตแล้ว รัฐบาลสมัยนั้นได้อัญเชิญพระราชอนุชาขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 องค์ปัจจุบัน โดยความเห็นชอบของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ 2489 หาได้มีผู้ใดถือโอกาสเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแผ่นดิน ตลอดจนเปลี่ยนแปลงกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์แต่อย่างใดไม่

พนักงานสืบสวนสอบสวนจึงเห็นว่า สาเหตุแห่งการปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 มิใช่เพราะเหตุดังกล่าวแล้ว พนักงานสืบสวนถึงสาเหตุอื่นว่า มีผู้ใดบ้างที่ได้รับประโยชน์จากการปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 ก็เห็นว่ามหาดเล็กใกล้ชิดกับบุคคลที่พวกการเมืองบางพวกโฆษณาชวนเชื่อไว้ ก็มิใช่เป็นผู้ที่ได้ผลประโยชน์จากการปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 เลย ดังนั้นจึงสืบถึงบุคคลอื่นที่ได้รับประโยชน์จากการปลงพระชนม์นั้น ซึ่งมีการพูดซุบซิบกันว่าเป็นผู้นั้นผู้นี้ พนักงานสืบสวนจึงได้สอบถามปากคำของคนบางคนไว้ แต่ไม่สามารถที่จะเปิดเผยในขณะนั้น เมื่อข่าวแพร่ออกไป ก็ได้เกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้ร่วมมือกับคณะรัฐประหารทำขึ้นแล้วพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2490 ครั้นแล้วรัฐบาลก็ได้แต่งตั้งให้ พระพินิจชนคดีพี่เขยของ ม.ร.ว.เสนีย์ และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งออกจากราชการรับบำนาญไปแล้วนั้น กลับเข้ารับราชการทำหน้าที่สืบสวนกรณีสวรรคตโดยเฉพาะ และต่อมาก็ได้สั่งจับ นายเฉลียว ปทุมรส  นายชิต สิงหเสนี  นายบุศย์ ปัทมศริน ซึ่ง 2 คนหลังนี้เป็นมหาดเล็กห้องบรรทมในวันเกิดเหตุดังกล่าวแล้ว นอกจากตนเองแล้วบรรพบุรุษของนายชิต และนายบุศย์ ได้เป็นข้ารับใช้ใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งราชวงศ์จักรีมาช้านาน

ไม่เป็นการยากอะไรสำหรับผู้ที่รู้กฎหมาย และมีอำนาจตามกฎหมายอยู่ในมือที่จะใช้กฎหมายให้บังเกิดผลตามที่ตนต้องการให้เป็นไป แต่เมื่อกรณีสวรรคตออกจากมือ “ตำรวจ” พระพินิจชนคดี ไปถึงกรมอัยการ เพื่อให้ยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมนั้น อธิบดีกรมอัยการ พระสารการประสิทธิ์ซึ่งเคยเป็นกรรมกลางศาลการเมืองจะต้องทำหน้าที่เป็นโจทก์ กับรองอธิบดีกรมอัยการ ท่านทั้งสองนี้ทราบเรื่องกรณีสวรรคตอยู่ดีตลอดเรื่อง ไม่สามารถจะดำเนินคดีนี้ไปถึงศาลได้ เพราะเป็นการฝืนความรู้สึกแห่งการเป็นมนุษย์ และการเป็นผู้รักษาขื่อแปของบ้านเมืองโดยเที่ยงธรรมมานานปี เมื่อตกเข้าที่คับขัน ทั้งสองคนรักษาเกียรติแห่งการเป็นมนุษย์ของตนไว้ คือลาออกจากราชการไปให้พ้นเสีย ในที่สุดกรณีสวรรคตก็ขึ้นไปสู่ศาล ผู้กระทำการตามหน้าที่ กรณีสวรรคตกลายเป็นเครื่องมือของนักการเมืองที่เป็นศัตรูพิฆาตกันเพื่อให้ย่อยยับดับสูญไปข้างหนึ่ง เมื่อดำเนินคดีมาได้ 2 ปีเศษ หนังสือพิมพ์ในต่างประเทศฉบับหนึ่งลงข่าวกรณีสวรรคตว่า

“The trial is already the longest in Siam's history. It may soon be the longest in modern court annals any is the world…”

และสำหรับ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งได้ถูกกล่าวหาพาดพิงถึงด้วยนั้น เคราะห์ดีนักหนาที่ได้หนีรอดพ้นไปได้และโดยที่สุขภาพไม่สมบูรณ์นั้น ถ้าถูกจับกุมคุมขังก็เป็นที่เชื่อได้แน่ว่า “คงจะต้องสูญเสียชีวิตเป็นแม่นมั่น” จำเลยในคดีสวรรคตทั้ง 3 คน ได้ให้การต่อศาลว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดดังฟ้องของโจทก์ เหตุที่จำเลยถูกกล่าวหานี้ก็เพราะได้มีบุคคลบางจำพวกฉวยโอกาสเอาการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลมาเป็นเกมการเมืองเพื่อทำลายล้างบุคคลอื่น มีอาทิเช่น นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ฯลฯ ส่วนนายชิต สิงหเสนี และ นายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยนั้น แม้มิได้เกี่ยวข้องในทางการเมืองอย่างใด ก็พลอยเป็นชนวนเครื่องทำลายของบุคคลบางจำพวกนั้นๆ ไปด้วย

คดีสวรรคตนี้ได้คาศาลอยู่ถึง 7 ปี ในที่สุดศาลฎีกาโดยคณะผู้พิพากษา คณะเดียวได้พิพากษาเมื่อ 12 ตุลาคม 2497 ให้ประหารชีวิต นายเฉลียว ปทุมรส  นายชิต สิงหเสนี และนายบุศย์ ปัทมศริน

ภายหลังที่นายเฉลียว ปทุมรส  นายชิต สิงหเสนี และ นายบุศย์ ปัทมศริน ได้ถูกประหารชีวิตตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้ว ปรากฏว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้หลักฐานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต รวมทั้งรายงานของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ที่ได้สนทนากับนายเฉลียว ปทุมรส ก่อนที่เข้าสู่ตะแลงแกง ในเช้าวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2498

จากข้อเท็จจริงที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้หลักฐานมาใหม่นี้ ทำให้จอมพล ป. พิบูลสงครามเกิดสำนึกในบาปบุญคุณโทษขึ้นมา จึงคิดจะรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ แต่ก็ไม่ทันจะได้ดำเนินการ ก็ถูกจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พร้อมด้วยการสนับสนุนของพวกศักดินา ทำการโค่นจอมพล ป. พิบูลสงคราม การรื้อฟื้นคดีสวรรคตขึ้นมาพิจารณาใหม่จึงเป็นอันล้มเลิกไป ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ตอบคำสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์มหาราษฎร์ เรื่องเกี่ยวกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม และพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ได้หลักฐานใหม่และจะพลิกคดีสวรรคตมาพิจารณาใหม่ ว่าดังนี้

“แม้ศาลฎีกาซึ่งมีผู้พิพากษาคณะเดียวโดยมิได้มีการประชุมใหญ่ของผู้พิพากษาศาลฎีกา ได้ตัดสินประหารชีวิต นายเฉลียว ปทุมรส  นายชิต สิงหเสนี และนายบุศย์ ปัทมศริน ไปแล้วก็ตาม แต่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ส่งตัวแทนไปพบผมในประเทศจีน แจ้งว่าได้หลักฐานใหม่แสดงว่า ผู้ถูกประหารชีวิตทั้งสามคน และผม เป็นผู้บริสุทธิ์ ฉะนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงจะเสนอสภาผู้แทนราษฎรให้ออกกฎหมายให้มีการพิจารณาคดีใหม่ด้วยความเป็นธรรม

ครั้นแล้วมีผู้ยุยงให้ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับพวกทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 โค่นรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้นแล้วในระหว่างที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปลี้ภัยอยู่ใน ส.ร.อ. ชั่วคราว ก็ได้กล่าวต่อหน้าคนไทยไม่น้อยกว่า 2 คน ถึงหลักฐานที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ได้มานั้น

อีกทั้งในระหว่างที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ย้ายจาก ส.ร.อ. มาอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ก็ได้แจ้งแก่บุคคลไม่น้อยกว่า 2 คนถึงหลักฐานใหม่นั้น พร้อมทั้งได้มีจดหมายถึงผม 2 ฉบับขอให้ผมอโหสิกรรมแก่การที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำผิดพลาดไปในหลายกรณี รวมทั้งในการที่มิได้ขอพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้บริสุทธิ์ที่ถูกประหารชีวิตไปแล้วนั้นด้วย ผมได้ถือคติของพระพุทธองค์ว่า เมื่อผู้รู้สึกตนผิดพลาดได้ขออโหสิกรรม ผมก็ได้อโหสิกรรม และขออนุโมทนาในการที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ไปอุปสมบทที่วัดพุทธคยา

พวกฝรั่งก็สนใจกันมาก เพราะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ที่ไม่มีอายุความ ความจริงอาจปรากฏขึ้น แม้จะล่วงเลยหลายร้อยปีก็ตาม ทุกวันนี้ก็มีคนพูดซุบซิบกัน ถึงกับนักเรียนหลายคนถามผม ผมก็ขอตัวว่าเป็นเรื่องที่พูดไม่ออกบอกไม่ได้ขณะนี้ จึงขอฝากให้ชนรุ่นหลัง และประวัติศาสตร์ตอบแทนด้วย”

แต่เมื่อไม่นานมานี้เอง ภายหลัง ดร.ปรีดีได้พำนักในประเทศฝรั่งเศส พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ของราชวงศ์จักรีซึ่งเคยเป็นกรรมการพิจารณาคดีสวรรคต (ศาลกลางเมือง) มาแล้ว ยังเสด็จไปเยี่ยมเยียน ดร.ปรีดีที่บ้านพักชานกรุงปารีส และได้ทรงให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่าได้ไปคุยกับ ดร.ปรีดี ถึง 5 ชั่วโมง ดังปรากฏรายละเอียดในคำสัมภาษณ์ที่หนังสือพิมพ์สยามไทม์ได้นำไปลงดังนี้ 

“พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ ได้ประทานให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์สยามไทม์ เกี่ยวกับเรื่องที่พระองค์ท่านได้พบปะสนทนากับท่านปรีดี มีความตอนหนึ่งว่า

“ฉันไปยุโรป เมื่อต้นฤดูร้อนเมษาที่แล้ว ผ่านกรุงปารีสก็ได้แวะเยี่ยมหลวงประดิษฐ์ฯ ในฐานะเพื่อนฝูงที่เคยชอบพอกันตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียนที่ประเทศฝรั่งเศส”

พระองค์ท่านได้ตรัสต่อว่า “เมื่อเราทั้งสองพบกันครั้งแรก หลังจากที่เราไม่ได้พบกันมา 23 ปี จึงได้ถามไถ่ทุกข์สุขของกันและกันอยู่พักใหญ่ แล้วหลังจากนั้นก็ชวนไปร่วมรับประทานอาหารที่ภัตตาคารแห่งหนึ่ง เพื่อรำลึกถึงความหลังเมื่อครั้งเป็นนักเรียนด้วยกัน และสนทนากันในเรื่องราวต่างๆ อย่างเพื่อนรักเมื่อครั้งปฐมวัย เป็นเวลาถึง 5 ชั่วโมง”

“ว่ากันในฐานะเพื่อนฝูงแล้ว หากจะไม่ยอมพบปะกันเมื่อมีโอกาสก็ออกจะใจจืดใจดำมากเกินไป” พระองค์ชายใหญ่ปรารภให้ฟัง

เมื่อผู้สื่อข่าวทูลถามว่า ขณะที่ทรงสนทนากับหลวงประดิษฐ์ฯ ท่านปรารภเรื่องจะกลับประเทศไทยหรือไม่ พระองค์ภาณุตรัสว่า

“เป็นธรรมดาที่คนไทยทุกคนเมื่อจากประเทศไปนาน ย่อมอยากกลับมาสู่กลิ่นไอของประเทศชาติของตน ส่วนหลวงประดิษฐ์ฯ จะกลับหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของกฎหมายบ้านเมือง และเป็นเรื่องของคนไทยทั้งชาติด้วย ถึงแม้บางทีผู้นำเพียง 2-3 ไม่อยากให้กลับก็กลับไม่ได้ แต่ถ้าผู้นำเพียง 2-3 คน จะกันมิให้ให้หลวงประดิษฐ์กลับมา ซึ่งในฐานะเขาเป็นคนไทยคนหนึ่ง ก็จะเป็นบาปเวรอย่างหนัก โดยเฉพาะขณะนี้หลวงประดิษฐ์ฯ อยู่ในปัจฉิมวัยแล้ว ย่อมต้องการที่จะกลับมาฝังกระดูกในบ้านเกิดเมืองนอนแน่ๆ”

ผู้สื่อข่าวได้ทูลถาม หลวงประดิษฐ์ฯ ในฐานะคุ้นเคยกับพระองค์ท่าน เป็นผู้มีอุดมคติเพียงใด พระองค์เจ้าภาณุฯ ตรัสว่า

“หลวงประดิษฐ์ฯ เป็นบุคคลหนึ่งที่รักชาติบ้านเมืองมาก ส่วนความรักชาติ และความต้องการของหลวงประดิษฐ์ฯ อาจไม่ถูกทางสำหรับคนอื่นก็ได้”

เกี่ยวกับความรู้สึกของพระบรมวงศานุวงศ์ต่อโอกาสจะกลับมาตุภูมิของท่านปรีดีฯ พระองค์เจ้าภาณุฯ ให้ความเห็นว่า

“สำหรับความรู้สึกของคนอื่นนั้นตอบไม่ได้ แต่สำหรับความเห็นของฉันแล้ว เห็นว่าหลวงประดิษฐ์ฯ มีสิทธิสมบูรณ์ในทางกฎหมายและการเมืองก็ควรกลับมาได้”

เกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจของชาติที่กำลังทรุดหนักอยู่ขณะนี้พระองค์ชายใหญ่ให้ความเห็นว่า

“เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขกันอีกมาก แต่จะเจาะจงให้หลวงประดิษฐ์ฯ เป็นผู้แก้ไข หรือใครนั้น เป็นเรื่องที่ตอบไม่ได้”

ในปัญหาสุขภาพและความคิดเห็นของท่านปรีดีฯ พระองค์เจ้าภาณุฯ ให้ความเห็นว่า

“แม้อายุจะอยู่ในขั้นปัจฉิมวัย แต่หลวงประดิษฐ์ฯ ก็ยังมีพลานามัยสมบูรณ์ดีมาก และยังมีมันสมองที่เฉียบแหลม มิได้หลงลืมไปตามวัย”

พระองค์ท่านทรงย้ำในความรักชาติของท่านปรีดีฯ ต่อไปว่า

“ขณะนี้หลวงประดิษฐ์ฯ ยังคงเป็นห่วงชาติบ้านเมืองมาก จะเห็นได้จากการที่ท่านได้สอบถามปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับประเทศไทยหลายประการ”

“แม้หลวงประดิษฐ์ฯ จะมีความคิดเรื่องการเมืองประการใดก็ตามที่ แต่ในเรื่องส่วนตัว ฉันที่เคยร่วมรักใคร่กันมาก็ไม่เปลี่ยนแปลง และแม้ใครจะเข้าใจว่าหลวงประดิษฐ์ฯ เป็นคอมมิวนิสต์ก็ตามที ส่วนฉันเมื่อรู้อะไรมาก็พูดอย่างเปิดเผยและคนไทยคงเข้าใจว่าฉันไม่ใช่คอมมิวนิสต์”

พระองค์เจ้าภาณุฯ กล่าวในที่สุด หลังจากที่ได้ประทานสัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์แล้วข้างต้น ไม่นานนัก ข้าพเจ้าผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าเฝ้าเจ้านายพระองค์นี้โดยบังเอิญที่กรมที่ดิน ทรงตรัสเรียกข้าพเจ้าให้เข้าเฝ้า และทรงตรัสเล่าให้ทราบว่า ได้เสด็จไปนครปารีส และไปเยี่ยม ดร.ปรีดีฯ ที่บ้านพัก มีข้อความทำนองเดียวกับที่ได้ประทานให้แก่หนังสือพิมพ์ไปแล้วนั้น

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล เท่าที่ข้าพเจ้ารู้จักท่านมาช้านาน ข้าพเจ้าพอที่จะตัดสินได้ว่า ท่านเป็นเจ้านายที่ทรงคุณธรรม “สุภาพบุรุษ” เต็มที่ ท่านเป็นผู้ “ไม่มีนอกไม่มีใน” ทรงรู้สึกอย่างไรก็ตรัสอย่างนั้น ถ้า ดร.ปรีดี พนมยงค์ มีส่วนพัวพันกับกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งทรงเป็นพระนัดดาของท่านแท้ๆ แล้ว ท่านจะเสด็จไปเยี่ยม ดร.ปรีดี พนมยงค์หรือ

นอกจากพระองค์เจ้าภาณุฯ แล้ว เจ้านายอีกพระองค์หนึ่งคือ ม.จ.หญิง อัปภัศราภา เทวกุล ซึ่งเป็นพระญาติใกล้ชิดในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็ได้เสด็จไปเยี่ยมเยือน ดร.ปรีดี พนมยงค์ที่กรุงปารีส พร้อมกับได้ประทานหนังสือเรื่องสมเด็จพระศรีวรินทิรา อันกล่าวสดุดีถึง การที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการฯ ได้ถวายความอารักขาแด่สมเด็จพระศรีวรินทิรา พระพันวสาอัยยิกาเจ้า และพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างมหาสงครามครั้งที่ 2 ตลอดจน ลอร์ดหลุยส์ เมาท์ แบตเตน พระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ของราชวงศ์อังกฤษก็ได้เชิญให้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ไปเยี่ยมเยือน ณ กรุงอังกฤษในปี พ.ศ. 2513 เพียงแค่นี้ก็พอจะวัดได้แล้วกระมังว่าอะไรเป็นอะไร

เมื่อข้าพเจ้าเป็นเลขานุการของคณะกรรมการพิจารณาเสนอความเห็น เรื่องกรณีสวรรคตต่อคณะรัฐมนตรีนั้น ข้าพเจ้าได้ สนทนาซักถาม นายชิต สิงหเสนี และนายบุศย์ ปัทมศริน หลายครั้งหลายหน และเป็นเวลานานมากพอสมควร ข้าพเจ้าเชื่อว่า ดวงวิญญาณของนายชิต สิงหเสนี และนายบุศย์ ปัทมศริน และนายเฉลียว ปทุมรส ผู้มีความจงรักภักดีต่อพระราชวงศ์จักรีอย่างมั่นคงนั้น ไปสู่สุคติในสัมปรายภพแล้ว

สำหรับ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้เป็นมันสมองของคณะราษฎร เปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติ เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 นั้น เพราะยังมีชีวิตอยู่จึงต้องถูกล้างแค้น โดยการใส่ร้ายป้ายสี “ปรีดีฆ่าในหลวง” เสียงผีกระซิบเสียงผีตะโกน เคยเป็นมาอย่างไรก็มิได้จางหายหมดไป หากเวรระงับด้วยการจองเวรในแผ่นดินใด แผ่นดินนั้นย่อมปราศจากสันติสุขโดยแน่นอน

“ไม้ล้มข้ามได้ แต่คนล้มอย่าข้าม” นี่เป็นสุภาษิตไทย ที่คนดีถือปฏิบัติกันมาแต่โบราณ เกียรติยศของใคร ใครก็รัก “เกียรติศักดิ์รักของข้า มอบไว้แก่ตัว” เมื่อถูกหมิ่นเกียรติยศก็ต้องป้องกันเกียรติยศ ดังปรากฏเป็นคดีขึ้นสู่ศาลยุติธรรมและจำเลยในคดีนั้นๆ ได้ประกาศขอขมา ต่อ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ถูกกล่าวร้ายป้ายสีโดยปราศจากมูลความจริง แทนการจำคุก ดร.ปรีดี ถือว่า “เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร”

 

ประกาศ

ตามที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้เป็นโจทก์ฟ้องบริษัทสยามรัฐ จำกัด ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช  นายสำเนียง ขันธชวนะ  นายประจวบ ทองอุไร และนายประหยัด ศ. นาคะนาท เป็นจำเลยต่อศาลแพ่ง ในข้อหาละเมิดโจทก์ ตามคดีดำหมายเลขที่ 7236/2513 เนื่องจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับลงวันที่ 1 สิงหาคม 2513 และหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ฉบับลงวันที่ 30 สิงหาคม 2513 ลงข้อเขียนซึ่งเขียนโดย นายสำเนียง ขันธชวนะ ในฐานะนามปากกา ส.ธ.น. ซึ่งมีใจความว่าโจทก์พัวพันในคดีสวรรคตนั้น

จำเลยขอแถลงความจริงว่า โจทก์ไม่เคยเป็นจำเลยในคดีสวรรคตเลย และไม่เคยถูกศาลพิพากษาว่ากระทำ เมื่อโจทก์ไม่เคยถูกศาลพิพากษาลงโทษ จึงถือว่าโจทก์ยังบริสุทธิ์

ส่วนการที่โจทก์หลบหนีออกจากประเทศไทยนั้น เป็นเพราะหลบหนีรัฐประหาร จึงขอให้ผู้อ่านทราบความจริง และขออภัยในความคลาดเคลื่อนนี้ด้วย

บริษัทสยามรัฐ จำกัด
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
นายสำเนียง ขันธชวนะ
นายประจวบ ทองอุไร
นายประหยัด ศ. นาคะนาท

 

ประกาศ

ตามที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้เป็นโจทก์ฟ้อง บริษัท ไทยเดลี่การพิมพ์ จำกัด ที่ 1  นายสาร บรรดาศักดิ์ ที่ 2  นายรุ่งโรจน์ นรเชษฐวุฒิวัย ที่ 3 และนายจำนง แก้วโสวัฒนะ ที่ 4 เป็นจำเลยต่อศาลแพ่งในข้อหาละเมิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและหมิ่นประมาทโดยใส่ความ ทำให้โจทก์เสียหาย ความคดีหมายเลขดำที่ 113/2514 เนื่องจากหนังสือพิมพ์หลักเมืองสมัยไทยเดลี่ ฉบับลงวันที่ 25 ธันวาคม 2513 หน้าที่ 8 ลงข้อความซึ่งเขียนโดยจำเลยที่ 2 ใช้นามปากกาว่าขวานทอง ในคอลัมน์ตอบปัญหาขัดข้องหมองใจ เป็นการหมิ่นประมาทนายปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมว่าเป็นคนลืมชาติกำเนิดของตนเอง ไม่มีน้ำใจเป็นนักกีฬา จะเป็นผู้มีน้ำใจเป็นนักประชาธิปไตยไม่ได้ และเป็นอ้ายโจรปล้นราชบัลลังก์ มีการพัวพันในกรณีสวรรคตด้วยนั้น

บัดนี้ ข้าพเจ้าจำเลยทั้งสี่คน ได้รู้สำนึกว่าข้อความที่จำเลยเผยแพร่ข้างต้นนั้นมิได้มีมูลความจริงแต่ประการใดเลย

ข้าพเจ้าจำเลยทุกคนจึงขออภัย นายปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม โจทก์ ที่ถูกข้าพเจ้าทั้งหลายใส่ความด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ดังกล่าวแล้ว ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ ได้กรุณาให้อภัยและถอนฟ้องคดีแล้ว

นายรุ่งโรจน์ นรเชษฐวุฒิวัย

ในนามบริษัทไทยเดลี่การพิมพ์ จำกัด จำเลยที่ 1
นายสาร บรรดาศักดิ์ จำเลยที่ 2
นายรุ่งโรจน์ นรเชษฐวุฒิวัย จำเลยที่ 3
นายจำนง แก้วโสวัฒนะ จำเลยที่ 4

 

ข้าพเจ้าขอจบตอนนี้ ด้วยอัญเชิญพุทธศาสนสุภาษิตมายืนยันว่า

“เวรย่อมระงับด้วยไม่จองเวร”
อันเป็นสัจธรรม

 

ที่มา : ไสว สุทธิพิทักษ์, คดีสวรรคต, ใน , ดร.ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย, 2526), หน้า 715 - 732.

หมายเหตุ : ตั้งชื่อบทความโดยกองบรรณาธิการ

ดาวน์โหลดเอกสาร : รายงานการประชุมรัฐสภา ครั้งที่ ๑ วันอาทิตย์ที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ (PDF)