ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ความล้มเหลวของรัฐประหารเกาหลีใต้ กับจุดแข็งของสถาบันประชาธิปไตย

23
ธันวาคม
2567

Focus

  • บทความนี้เสนอเหตุการณ์เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ซึ่งมีการประกาศกฎอัยการศึกของนายยุน ซ็อก-ย็อล ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐเกาหลี จากพรรคพลังประชาชน (People Power Party: PPP) โดยมีข้ออ้างว่า พรรคฝ่ายค้านจะทำลายประชาธิปไตย โดยผู้เขียนพาย้อนอดีตไปยังเส้นทางของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ตั้งแต่การลุกฮือที่ควังจู (Gwangju Uprising) ในปี 1980 ซึ่งเป็นเหตุการณ์นองเลือดครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลีร่วมสมัย และวิเคราะห์ให้เห็นถึงความเข้มแข็งของสถาบันการเมืองในเกาหลีใต้ว่าเป็นกุญแจสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

 


ประธานาธิบดียุน ซ็อก-ย็อล กล่าวปราศรัยพิเศษกรณีฉุกเฉินแก่สาธารณชน ณ อาคารทำเนียบประธานาธิบดีในเมืองยงซาน กรุงโซล ในคืนวันที่ 3 ธันวาคม 2567
ที่มา : 美언론, 韓계엄해제에 "한밤의 정치드라마"

 

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา คงไม่มีข่าวอะไรที่จะได้รับความสนใจมากเท่าการประกาศกฎอัยการศึกของนายยุน ซ็อก-ย็อล ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐเกาหลี จากพรรคพลังประชาชน (People Power Party: PPP)

การประกาศกฎอัยการศึกครั้งนี้ไม่แน่ชัดว่ามีสาเหตุมาจากเรื่องใดกันแน่ แต่ข้ออ้างสำคัญที่ปรากฏต่อสื่อสาธารณะต่าง ๆ บอกกับเราไปในทิศทางเดียวกันว่าสาเหตุที่นายยุน จะต้องประกาศกฎอัยการศึกก็เพราะว่าเขาอ้างว่ารู้สึกถึงความไม่มั่นคงของประเทศที่มาจากพรรคฝ่ายค้าน ที่ใช้กระบวนการทางรัฐสภาเป็นตัวประกัน สนับสนุนสาธารณรัฐเกาหลีเหนือเพื่อทำลายประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ และการประกาศกฎอัยการศึกในครั้งนี้เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ความน่าสนใจของการประกาศกฎอัยการศึกในครั้งนี้ก็คือนี่เป็นการประกาศกฎอัยการศึกครั้งแรกในรอบ 40 ปี (นับจากปี 1980) หลังจากการประกาศกฎอัยการศึกหายไปนานและการประกาศกฎอัยการศึกครั้งนี้ยังถูกพิจารณาว่าเป็นการรัฐประหารตัวเองของนายยุน อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดการรัฐประหารครั้งนี้ก็ไม่สำเร็จ ปัจจัยหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นจุดสำคัญของเรื่องนี้คือสถาบันประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นผลมาจากการต่อสู้ทางการเมืองที่ผ่านมา

 

ประชาธิปไตยบนเส้นทางของการต่อสู้

ทันทีเกิดการประกาศกฎอัยการศึกแล้วมีการแถลงข่าวผ่านทางโทรทัศน์ในคืนวันที่ 3 ธันวาคม สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ รัฐบาลของนายยุนถูกต่อต้านจากประชาชนแทบจะทันที แล้วเมื่อแกนนำพรรคประชาธิปไตย (Democratic Party - DP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ได้เรียกร้องให้สมาชิกสภานิติบัญญัติและประชาชนมารวมตัวกันกว่าพันคน เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านการประกาศกฎอัยการศึกในครั้งนี้

ในขณะเดียวกันสมาชิกสภานิติบัญญัติต่างก็เร่งพากันร่วมโหวตคว่ำการประกาศใช้กฎอัยการศึกดังกล่าวด้วยคะแนน 190 เสียงจากทั้งหมด 300 เสียง การลงคะแนนเสียงดังกล่าวจึงกลายเป็นการปิดสวิตซ์กฎอัยการศึกและหยุดยั้งการรัฐประหารตัวเองของนายยุน

แม้ว่าภายใต้กฎอัยการศึกจะทำให้กองทัพและเจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจพิเศษในการปฏิบัติการ และสามารถระงับสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองได้เป็นการชั่วคราว แต่ความตื่นตัวของสังคมเกาหลีต่อการประกาศกฎอัยการศึกในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย นับตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาประเทศเกาหลีอยู่ภายใต้การปกครองแบบอำนาจนิยมยาวนานกว่า 40 ปี (หรืออาจมากว่านั้น) อย่างน้อยที่สุดในช่วงปี 1960-1980 น่าจะเป็นช่วงเรียกได้ว่าการปกครองของประเทศเกาหลีเป็นระบอบเผด็จการอย่างไม่ต้องสงสัย

ภายใต้ช่วงเวลาดังกล่าวประเทศเกาหลีใต้ถูกปกครองโดยขุนพลที่ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาปกครองถึง 3 คน ได้แก่ นายพลพัค จอง-ฮี นายพลชุน ดู-ฮวาน และนายพลโรห์ แต-อู ภายใต้การปกครองประเทศของผู้นำเผด็จการเหล่านี้ กฎอัยการศึกถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการปกครอง

 


ที่มา: Gwangju uprising

 

การปกครองของเผด็จการทหารทั้ง 3 คนได้ทำให้ประชาชนชาวเกาหลีมีชีวิตที่ข่มขืน และได้ผลักดันให้สังคมเกาหลีไปถึงจุดที่มีความรุนแรงเกิดขึ้น หนึ่งในเหตุการณ์ความรุนแรงที่ถูกจดจำมากที่สุดก็คือ การลุกฮือที่ควังจู (Gwangju Uprising) ในปี 1980 ซึ่งเป็นเหตุการณ์นองเลือดครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลีร่วมสมัย

ภายหลังการเสียชีวิตของนายพลพัค จอง-ฮี ประธานาธิบดีในขณะนั้นจากการถูกลอบสังหารในปี 1979 ประเทศเข้าสู่ความขัดแย้งและสับสน นายพลชุน ดู-ฮวาน และนายพลโรห์แต-อูที่ได้ร่วมมือกันและยึดอำนาจเข้าปกครองประเทศ สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ประชาชนเกาหลีเริ่มเคลื่อนไหวคัดค้านซึ่งนำไปสู่การปราบปรามโดยกองทัพยกเว้นแต่เมืองควังจู ที่ผู้ต่อต้านเป็นประชาชนและนักศึกษาได้ร่วมมือกันต่อต้านการปราบปรามของกองทัพได้สำเร็จ

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้นายชุน ดู-ฮวาน จึงต้องประกาศกฎอัยการศึกอีกครั้งในวันที่ 17 พฤษภาคม 1980 และส่งกำลังทหารเข้าไปปิดล้อมพื้นที่เมืองควังจู ซึ่งได้มีการยิงต่อสู้กันระหว่างประชาชน (ภายใต้การสนับสนุนของตำรวจ) และกองทัพ จนกระทั่งสถานการณ์ได้ยุติลงในวันที่ 27 พฤษภาคม 1980

ภายหลังจากเหตุการณ์ที่ควังจู นายพลชุน ดู-ฮวาน และนายพลโรห์ แต-อู ยังคงครองอำนาจทางการเมืองต่อไปอีกระยะเวลาหนึ่ง แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

ในปี 1987 ได้เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญคือ จากเหตุการณ์ซ้อมทรมานและสังหารนายพัค ยอง-ชุล นักกิจกรรมประชาธิปไตย ภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่จากเหตุการณ์การลุกฮือที่ควังจูในปี 1980

การเสียชีวิตของนายพัค ยอง-ชุล ได้ทำให้เกิดการต่อต้านรัฐบาลในขบวนการประชาธิปไตยเดือนมิถุนายน 1987 ซึ่งนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐเกาหลีอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมืองของประเทศ

แม้ว่าภายหลังการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญฉบับปี 1988 นี้ นายพลโรห์ แต-อู จะยังคงได้ชนะการเลือกตั้ง เนื่องจากคะแนนเสียงของผู้นำฝ่ายค้าน 2 คนมีสัดส่วนคะแนนที่น้อยกว่า ซึ่งเป็นผลจากฐานการแย่งคะแนนเสียง ทำให้นายพลโรห์ แต-อู ได้รับการเลือกตั้งให้เข้ามาดำรงตำแหน่งต่อไปจนถึงปี 1993

อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 1987 นี้ได้สร้างกลไกและสมดุลของอำนาจในสถาบันการเมืองให้มีความเข้มแข็ง และสามารถดุลและคานอำนาจกันได้อย่างแท้จริง อาทิ การส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองทั้งในเรื่องที่เป็นสิทธิตามธรรมชาติและสิทธิทางการเมือง การกำหนดให้ประธานาธิบดีต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และการลดทอนอำนาจบางอย่างของประธานาธิบดี เพื่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีอำนาจมากขึ้น

 

ความเข้มแข็งของสถาบันเป็นกุญแจสำคัญ

การตกอยู่ภายใต้เผด็จการอำนาจนิยมกว่า 40 ปี และการตระหนักถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้คนเกาหลีมีความตื่นตัวค่อนข้างมากทั้งในแง่ของการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพของตัวเอง

ชาง ฮา-จุน นักเศรษฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงได้เคยพูดถึงความสนใจต่อสิทธิและเสรีภาพของคนเกาหลีไว้ในเชิงว่า แนวคิดเรื่องค่านิยมเอเชีย (Asian values) ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อประชาธิปไตยในเชิงวัฒนธรรม อาทิ การมุ่งต่อสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคล นั้นเป็นขั้วตรงข้ามกันกับผลประโยชน์ของชุมชน (the good of the community) ที่ทำให้ประชาชนอาจเลือกที่จะสนับสนุนคุณค่าอื่นๆ (ตรงนี้ผู้เขียนยกตัวอย่างเอง) อาทิ ความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยของประเทศ การต่อต้านการทุจริต หรือความรักในสถาบันกษัตริย์ เหนือสิทธิและเสรีภาพ สิ่งนี้อาจจะไม่ใช่ในบริบทของเกาหลีที่ประชาชนออกมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยตลอดหน้าประวัติศาสตร์เกาหลีสมัยใหม่[1]

ตลอดเวลาที่การเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนให้เกิดประชาธิปไตยนี้ได้กลายเป็นการยกระดับประชาธิปไตยของเกาหลีให้สูงขึ้น และกลายเป็นการสร้างวัฒนธรรมแห่งความรับผิดชอบและความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมเกาหลี

ไม่เพียงแต่การเรียกร้องให้นักการเมืองที่เกี่ยวพันกับทุจริตต้องลาออกจากตำแหน่งหรือถูกปลดออกจากตำแหน่งเท่านั้น แต่ระดับของการเรียกร้องให้เกิดกลไกที่รักษาประชาธิปไตยและลงโทษคนที่ทำลายกระบวนการประชาธิปไตยในเกาหลีใต้นั้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ ประชาธิปไตยได้ตั้งหลักมั่นคงในฐานะสถาบันสำคัญของวัฒนธรรมเกาหลี (แน่นอนว่าเกาหลีก็มีปัญหาในด้านอื่นๆ แต่เราไม่ได้พูดถึงในบทความนี้)

ตัวอย่างเช่น ภายหลังจากการพ้นจากอำนาจของนายพลพัค ยอง-ชุล และนายพลโรห์ แต-อู คนเหล่านี้ไม่มีใครยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษหรือได้รับตำแหน่งสำคัญๆ แบบองคมนตรี รัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐเกาหลีได้ห้ามการดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 สมัย สิ่งนี้ได้กลายเป็นเงื่อนไขในการสืบทอดอำนาจของนายทหารทั้งสองคน จุดนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการตัดตอนขบวนการสืบทอดอำนาจ

ในขณะเดียวกันเมื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยภายใต้การนำของนายคิม ยอง-ซัม ในปี 1993 รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายปฏิรูปทางการเมืองและเศรษฐกิจในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะในด้านการเมืองนายคิม ยอง-ซัม ได้ชูนโยบายการปราบปรามการคอร์รัปชัน รวมถึงการรื้อฟื้อเพื่อนำนายพลมีชื่อทั้งสองคนมาดำเนินคดีในความผิดฐานคอร์รัปชันและการกบฏ ซึ่งทำให้ทั้งสองคนถูกตัดสินประหารชีวิต แล้วต่อมาจึงเหลือเป็นเพียงการจำคุกยาวนานกว่า 20 ปี (สิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในบริบทของประเทศไทย)

การสร้างวัฒนธรรมความรับผิดรับชอบเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงและยั่งยืนทั้งสิ้นเพราะหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าผู้นำเผด็จการทหารหรือประชาชนจะไม่ได้รับการยอมรับในสังคมเกาหลีทั้งสิ้น

อีกเรื่องที่มีการดำเนินการภายใต้รัฐบาลของนายคิม ยอง-ซัม ก็คือ การนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมทางการเมืองที่เรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงสถานการณ์ที่ผ่านมา

นอกเหนือจากการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองประชาธิปไตยบนพื้นฐานของความรับผิดชอบแล้ว อีกสิ่งที่มีส่วนสำคัญก็คือ การสร้างสมดุลทางอำนาจระหว่างองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐต่าง ๆ

ผู้เขียนขอยกข้อความเก่าแก่แต่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีก็น่าจะยังใช้ได้สำหรับสังคมประชาธิปไตยคือ “อำนาจมีแนวโน้มแห่งความฉ้อฉล อำนาจเด็ดขาดจึงฉ้อฉลอย่างเบ็ดเสร็จ” (Power tends to corrupt; absolute power corrupts absolutely) ซึ่งเป็นคำพูดของลอร์ดแอคตัน (John Emerich Edward Dalberg-Acton)[2]

คำพูดข้างต้นเป็นสัจธรรมของระบบการเมืองทั้งหมดระบบการเมืองที่อำนาจตกอยู่กับบุคคลใดในตำแหน่งใดโดยสมบูรณ์ ต่อให้บุคคลดังกล่าวจะเป็นคนดิบดีเสียเพียงใด อำนาจนั้นก็ทำให้คน ๆ หนึ่งกลายเป็นคนฉ้อฉลได้โดยไม่ยาก

ตลอดหน้าประวัติศาสตร์การเมืองของเกาหลี แม้แต่ผู้นำที่มาจากเลือกตั้งก็อาจจะกลายเป็นคนฉ้อฉลได้โดยไม่ยาก เมื่ออำนาจนั้นมอมเมาผู้คน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ นายอี ซึง-มัน ประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐเกาหลีที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้อย่างไม่จำกัดสมัย สถานการณ์ดังกล่าวเป็นตัวอย่างหนึ่งของการฉ้อฉลเพราะอำนาจ

อย่างไรก็ดี ในด้านหนึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของสาธารณรัฐเกาหลีที่ผ่านการแก้ไขเพิ่มเติมในปี1987 มีส่วนสำคัญในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมทางการเมืองของเกาหลีใต้ใหม่ โดยยกเลิกโครงสร้างของรัฐธรรมนูญที่สนับสนุนอำนาจนิยมมาอย่างยาวนานอาทิ อำนาจของประธานาธิบดีในการยุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติ การกำหนดให้การเลือกตั้งประธานาธิบดีทางอ้อมโดยคณะผู้เลือกตั้ง และอำนาจพิเศษของประธานาธิบดีต่าง ๆ อาทิ การแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเข้าแทนที่ในกรณีที่ยังไม่มีการเลือกตั้ง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เป็นผลผลิตของยุคเผด็จการทหาร

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังได้กำหนดหลักการสำคัญที่น่าสนใจหลายประการ อาทิ การสร้างกลไกแบ่งแยกอำนาจให้ชัดเจนยิ่งขึ้น แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะให้อำนาจกับประธานาธิบดีในการประกาศกฎอัยการศึก ที่ให้อำนาจในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนแต่รัฐธรรมนูญก็กำหนดให้ประธานาธิบดีจะต้องแจ้งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทราบการประกาศกฎอัยการศึกในทันที

การที่รัฐธรรมนูญยังให้อำนาจแก่สภานิติบัญญัติแห่งชาติในการยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกโดยใช้เสียงข้างมากของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กลไกดังกล่าวทำให้อำนาจในการประกาศกฎอัยการศึกไม่ตกอยู่ภายใต้องค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐเพียงแค่องค์กรเดียว

การสร้างวัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตยและการสร้างกลไกความรับผิดรับชอบนี้ เมื่อรวมกับโครงสร้างของสถาบันทางการเมืองแบบรัฐธรรมนูญที่มีการกำหนดให้เกิดการถ่วงดุลและคานอำนาจทางการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพนี้ จึงทำให้รากฐานของสถาบันประชาธิปไตยของเกาหลีมีความมั่นคง และสามารถที่จะต่อต้านการรัฐประหารได้อย่างเด็ดขาด

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของสถานการณ์นี้ก็คือ เมื่อเกิดการรัฐประหารเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจต่างเข้ามาทำหน้าที่ในการอำนวยความสะดวก และดูแลไม่ให้เกิดอันตรายกับประชาชนที่เข้ามาร่วมชุมนุม ไม่ใช่การควบคุมฝูงชนหรือทำลายการชุมนุมของประชาชน

 

รัฐประหารกับปัญหาของสังคม

การรัฐประหารมักถูกมองว่าเป็นเรื่องล้าสมัยเสมอในสังคมประชาธิปไตย ภาพดังกล่าวเป็นผลสะท้อนมาจากประสบการณ์ที่รับรู้และผ่าน ๆ ตากันมา อาทิ การรัฐประหารในเมียนมา ซึ่งช่วยเพิ่มความขัดแย้งและทำให้สถานการณ์ในเมียนมาแย่ลง หรือในบริบทของประเทศไทย การรัฐประหารทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสไปหลายๆ อย่าง อาทิ การเจรจา FTA ไทย-EU ที่ถูกเลื่อนออกไปหลังรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557

ในบริบทของสาธารณรัฐเกาหลีช่วงระยะเวลากว่า 40 ปีในระบอบเผด็จการอำนาจนิยมได้พรากเอาเสรีภาพที่ควรจะมี และชีวิตของประชาชนไปเป็นอันมาก สิ่งนี้คือผลร้ายของการรัฐประหารที่คนเกาหลีได้เจอ

ในสังคมประชาธิปไตยการรัฐประหารเป็นสิ่งที่ถูกตั้งข้อรังเกียจ ไม่ว่าเหตุผลของการทำรัฐประหารจะสวยหรูแค่ไหนก็ตาม การรัฐประหารก็คือ การใช้กำลังทหารเพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมืองของรัฐบาลที่ปกครองประเทศในเวลานั้น และไม่ว่าการทำรัฐประหารจะกระทำโดยกองทัพหรือเป็นการรัฐประหารตัวเองของผู้นำการเมือง

สิ่งเหล่านี้ไม่ได้แตกต่างกันเท่าใดในสาระสำคัญ เพราะสิ่งนี้สะท้อนว่าอำนาจที่เคยเป็นของประชาชนกำลังถูกรวบไปอยู่ภายใต้บุคคลเพียงคนเดียว (หรือกลุ่มเดียว)

ในด้านหนึ่งสังคมเกาหลีได้ผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ มามาก คุณค่าของประชาธิปไตยและความเกลียดกลัวต่อการรัฐประหาร การยึดอำนาจ และการประกาศกฎอัยการศึก ในฐานะกลไกที่จะพาประเทศกลับเข้าสู่ความล้มเหลวและการทำลายสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้ทำให้คนเกาหลีออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านการรัฐประหาร รวมถึงการกดดันทางการเมืองที่นำมาซึ่งการสร้างความรับผิดรับชอบที่ประธานาธิบดีและคณะรัฐมนตรีต้องแสดงกับประชาชน

กลไกเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญ และสำคัญกว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญจะไร้ค่าไร้ความหมายเลย หากไม่สามารถนำคนกระทำความผิดมาลงโทษเช่นเดียวกันกับกรณีของนายพล ชุน ดู-ฮวาน และนายพลโรห์ แต-อู

บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกลไกสถาบันอื่น ๆ ในทางกฎหมายจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อกลไกเหล่านั้นตั้งอยู่บนคุณค่าแบบประชาธิปไตย ความตระหนักต่อสิทธิและเสรีภาพ และความรับผิดรับชอบทางการเมือง

ตัวอย่างอันย้อนแย้งและเห็นได้ชัดเจนก็คือ ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทย เราแทบจะมีทุกสิ่งที่พูดมาทั้งหมด ยกเว้นความตระหนักในคุณค่าแบบประชาธิปไตย ความตระหนักต่อสิทธิและเสรีภาพ และความรับผิดรับชอบทางการเมือง ซึ่งเป็นหัวใจของการดำรงระบอบประชาธิปไตย

 


[1] Ha-Joon Chang, “South Koreans Worked a Democratic Miracle. Can They Do It Again?” The New York Times, 14 September 2017 [Online], accessed 19 December 2024, https://www.nytimes.com/2017/09/14/opinion/south-korea-social-mobility.html.

[2] see Brian Martin, Information liberation Challenging the corruptions of information power (London: Freedom Press, 1998), 1.