ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ:
ถึงแม้ว่าจะแต่งตัวใส่สูทผูกไทด์ก็อยากจะให้เป็นบรรยากาศของการฉลอง จริง ๆ แล้วเรามาวันนี้เราน่าจะมีจิตใจเดียวกันก็คือรำลึกถึงท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ วันนี้จะบอกว่า Happy Birthday ได้ 113 ปี ทั้งคณาญาติ ทั้งทายาทมาจากต่างประเทศ ส่วนเราก็คือคนที่รักศรัทธาท่านผู้หญิงพูนศุข เขาเรียกว่าเป็นมิตรรักแฟนเพลง เราจัดการติดต่อมาทุกเดือนมกราคมของทุกปี
ถ้าท่านเสร็จภารกิจหลังปีใหม่แล้วขอเชิญไว้ล่วงหน้าเลย ทุกปีเราก็จะจัดงานรำลึกกัน แล้วก็ลงสมุดบันทึกของท่านเลยว่าเราจะมีกิจกรรมอะไรบ้าง เพราะว่าสถาบันปรีดี พนมยงค์ นั้นเราจัด PRIDI Talks ท่านเชื่อไหมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 29 เราก็จะจัดให้เท่ากับการดำรงอยู่ของประเทศนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เพราะว่าผมคิดว่าประเด็นวันนี้สำคัญ
ขอเริ่มจากการปูพื้นฐานเพราะว่า 113 ปี ชาตกาลท่านผู้หญิงพูนศูข พนมยงค์ หัวข้อก็บอกอยู่แล้วว่า เป็นสตรีกับสันติภาพ บทบาทของสตรีโดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกวันนี้ท่านคงจะเห็นกระแสสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการกลับมามีบทบาทของกลุ่มที่เรียกว่าเป็นจะใช้คำว่ากระหายสงครามก็จะแรงไป แต่ว่าเป็นกลุ่มที่พยายามที่อยากจะให้มีเรื่องมีราวกับทั้งประเทศเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่กระทั่งการเมืองระดับโลกเราก็เห็นว่าความไม่มั่นคงทางการเมือง หรือการกลับมาของการได้รับชัยชนะของประธานาธิบดี Donald Trump ที่จะรับตำแหน่งกันในสัปดาห์หน้านี้ สัปดาห์หนึ่งหรือสองสัปดาห์ 20 มกราคม 2568 ก็จะมีผู้นำโลกซึ่งเป็นสิ่งที่ท่านเห็นอยู่แล้วว่าจะเป็นอย่างไร สถานการณ์ความมั่นคง สถานการณ์ชาตินิยม จะกลับมาอีกหรือไม่ ในสังคมไทยซึ่งเราไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจรัฐบาลอยู่แล้วตอนนี้
เราจะทำอย่างไรให้สิ่งที่เป็นคาถาของท่านผู้หญิงพูนศุข ที่บอกว่าเราต้องใช้ขันติธรรมในการอยู่ร่วมกัน ถึงแม้ว่าท่านจะคิดไม่เหมือนกัน ทำอย่างไรเราจะอยู่ด้วยกันในสังคมได้ ผมขอเริ่มจากอาจารย์ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ท่านจะมาคุยกับเราเรื่องของแนวคิดของท่านผู้หญิงพูนศุข บทบาทของสตรีในการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพของสังคม อาจารย์อาจจะแตะไปถึงบทบาทของสตรีในอาเซียน เห็นว่าอาจารย์จะคุยกับเราเรื่อง คอราซอน อากีโน (Corazon Aquino) ด้วย แล้วก็ขยายไปจนกระทั่งถึงบทบาทความไม่สงบในดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของเราด้วย ขอเรียนเชิญและขอเสียงปรบมือต้อนรับอาจารย์ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ครับ
ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์:
เขาให้ผู้พูดเป็นคนยึดอำนาจ อาจารย์หมดสิทธิ์ ขออภัย ก็ดีใจและขอขอบคุณทางมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ที่ให้เกียรติดิฉันได้มีโอกาสมาพูดถึงเรื่องของสันติภาพโดยเฉพาะได้มีโอกาสรำลึกถึงท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ซึ่งดิฉันคิดว่าหัวข้อวันนี้มีความเหมาะสมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะได้มีโอกาสร่วมรำลึกถึงในช่วงพิธีเปิดเมื่อสักครู่นี้ ก็ทำให้เกิดความซาบซึ้งใจอย่างยิ่ง แล้วก็เป็นการยืนยันว่าท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เป็นผู้ที่มีสันติในใจ ซึ่งสอดคล้องกับหัวข้อวันนี้อย่างยิ่ง เพราะว่ามีแต่ผู้ที่มีสันติในใจเท่านั้นที่จะทำงานด้านสันติภาพไม่ว่าท่านจะอยู่ในสถานการณ์ใด ๆ ท่านผู้หญิงฯ ก็ได้แสดงความมีสันติในใจในหลายวาระและโอกาสตลอดชีวิตที่ท่านเป็นคู่ชีวิตกับท่านปรีดี พนมยงค์ ท่านเป็นผู้ที่ไม่ถูกใจเจ็บกับผู้ใด เป็นผู้ที่ให้อโหสิกรรมกับผู้ที่ปองร้ายกับท่านและครอบครัว เป็นผู้ที่มีจิตใจประเสริฐ และก็ยึดมั่นในคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า
การพูดวันนี้ดิฉันก็เลยคิดว่าถ้าเราเข้าสู่เนื้อหาเราจะพิจารณาดูว่าหัวข้อที่กำหนดไว้นี้ พูดถึงสตรี สันติภาพ ชาตินิยม และความมั่นคง ซึ่งถ้าจะดูกันดี ๆ แล้วพบว่าถ้อยคำเหล่านี้ หรือวาทกรรมเหล่านี้ ใช้คำว่า “สตรี” คำเดียวก็เพียงพอแล้ว ที่จะพูดถึงทำให้เราเห็นถึงความมีสันติ ความชาตินิยม และความมั่นคง ซึ่งอาจจะพูดควบรวมเกินไปอาจจะต้องขยายความนิดหนึ่ง
เราพิจารณาถึงคำว่า “สตรี” หรือถ้าพูดถึงสตรี ดิฉันก็คิดว่าเรารวมความอยู่แล้ว ดังที่กล่าวไว้ ถ้าเราพูดถึงคำว่า “สันติภาพ” ดิฉันเชื่อว่า สตรีส่วนใหญ่เป็นผู้ที่รักในสันติ สงบ และปกติสุข อันนี้ก็คือสตรีกับสันติภาพ และถ้าพูดถึง “ชาตินิยม” ดิฉันก็อยากจะให้คิดถึงคำว่า “จงรักภักดี” เพราะว่าจงรักภักดีนี้เป็นคำสำคัญในคำว่าชาตินิยม ถ้าพูดตามการเปิดพจนานุกรมก็บอกว่าชาตินิยมนี้เป็นความรู้สึกร่วมในเรื่องสำคัญ เช่น เกิดร่วมประเทศ ร่วมจังหวัด ชาติพันธุ์เดียวกัน แต่ในลักษณะที่เป็นชาตินิยมในลักษณะของความจงรักภักดีก็หมายถึงการที่ลักษณะที่เกิดร่วมประเทศร่วมจังหวัดก็มีลักษณะที่จงรักภักดีที่แต่ละคนให้กับชาติเพื่อประโยชน์ของชาติ ซึ่งถ้าเรามองในแง่นี้เราก็จะเห็นว่าความจงรักภักดีเป็นค่านิยมที่ถูกปลูกฝังไว้ ดังนั้นเรามีคำว่าสันติภาพ มีคำว่าสตรี สันติภาพ มีคำว่า ชาตินิยม ในแง่ของความจงรักภักดี แต่ถ้าพูดถึงความมั่นคงก็จะเหมือนที่เข้าใจโดยทั่วไป หมายถึงความหนักแน่นทนทาน
ดังนั้น สตรีในนัยยะที่อธิบายนี้จึงมีความหมายที่สตรีเป็นคนที่มีความจงรักภักดี อดทน อ่อนโยน อบอุ่น มั่นคง และก็มีใจรักสันติ ซึ่งดิฉันทำให้โยงว่าคำเหล่านี้นี่โยงถึงท่านผู้หญิงพูนศุขด้วยและก็โยงถึงลักษณะสตรีโดยทั่วไป ซึ่งทำให้ดิฉันนึกถึงพี่นิลฉวี ศิวรักษ์ ภรรยาท่านอาจารย์สุลักษณ์ที่เพิ่งจากไป ซึ่งเป็นตัวอย่างของสตรีไทยที่มีความอ่อนนอกแข็งใน สำหรับดิฉันพี่นิลเป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพเข้มแข็ง อดทน อดกลั้น เป็นคนเงียบ ๆ แต่ก็มีความหนักแน่น มีใจรักสันติ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ท่านเป็นผู้ที่ผูกใจคน และเป็นผู้ที่มีความสุขในชีวิต ซึ่งดิฉันว่าอันนี้สำคัญ ทำให้เห็นบุคลิกภาพของสตรีซึ่งเป็นผู้นำที่อยู่เบื้องหลังบุรุษที่มีชื่อเสียงหลายท่าน
นัยยะแบบนี้อาจจะขอโยงสิ่งที่ท่านที่เราเห็นกับหนังสือที่ดิฉันอ่าน “ไม่ขอรับเกียรติยศใด ๆ ทั้งสิ้น” ของท่านผู้หญิงพูนศุขนี้ ท่านพูดถึงว่า ท่านได้รับการสั่งสอนทำให้ได้ทำหน้าที่ภรรยาของนักการเมือง แม่ของลูกได้อย่างมีความอดทนเชื่อมั่นและไม่ยอมแพ้ แม้บางครั้งจะถูกมรสุมทางการเมืองโถมกระหน่ำอย่างไร้ความปราณี ซึ่งถ้าเรามองลักษณะแบบนี้ก็จะเห็นว่าสตรีในนัยยะของความมั่นคง สันติภาพ และชาตินิยม มีความสามารถกินความอยู่ในสตรี แต่ประเด็นก็คือว่าที่ท่านผู้ดำเนินรายการ อาจารย์อัครพงษ์พูดถึงว่าทำไมโลกปัจจุบันมันถึงวุ่นวายขนาดนี้ ดิฉันก็คิดว่าอันนี้เนื่องจากว่าในโลกปัจจุบันนี้อาจารย์ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ น่าจะพูดได้ดี ในลักษณะที่โลกปัจจุบันเป็นโลกของชายเป็นใหญ่
ดังนั้น แนวคิดที่เราพยายามมองว่าผู้หญิงเป็นผู้ที่รักสันติ มีความมั่นคง และก็มีความจงรักภักดีในชาติต่าง ๆ นี้ ไม่สามารถครอบงำสังคมได้ เพราะว่าความชายเป็นใหญ่มีมานาน เราจำเป็นจะต้องค่อย ๆ เซาะ บ่อน ซึมซับ เปลี่ยนทัศนคติ ทั้งนี้ไม่ใช่ให้หญิงเป็นใหญ่แทนชาย แต่เพื่อจะให้เกิดความสัมพันธ์ที่มีความเป็นเพศสภาพที่มีความเท่าเทียมอย่างแท้จริง ซึ่งเราก็พูดเรื่องนี้มาเป็นศตวรรษแล้ว แต่ก็ด้วยความเคารพ นอกจากลักษณะโลกที่ชายเป็นใหญ่แล้วนี่เราก็มีหลายตัวอย่างที่ผู้หญิงเอง ด้วยความที่ถูกหล่อเลี้ยง ถูกขัดเกลาด้วยค่านิยมที่จงรักภักดีต่อครอบครัว ในสามี ในลูก ๆ บางครั้งผู้หญิงเองก็ตกอยู่ในสภาพที่เรียกว่ายอมจำนนกับลักษณะที่ชายเป็นใหญ่ ไม่ยอมฝ่าวงล้อมค่านิยมเหล่านี้ออกมา จริง ๆ ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายว่าการสร้างสันติภาพ เราจะหาโอกาสให้สตรีได้อย่างไร
เราเห็นตัวอย่างความสำเร็จของบุรุษมากมาย แต่เราก็ยอมรับเหมือนกันว่าเขาไม่อาจประสบความสำเร็จถ้าไม่มีหลังบ้านที่แข็งแรง อบอุ่น ให้เป็นที่พักพิง พักใจ ในยามเหนื่อยล้าท้อถอย หรือแม้แต่เป็นคู่คิดโดยแท้ที่จริงแล้วที่เราเห็นว่าชายเป็นใหญ่จริง ๆ แล้วก็มีผู้หญิงเป็นใหญ่อยู่เบื้องหลัง แต่ว่าเราไม่สามารถเห็นค่านิยมตรงนี้ออกมาได้ อาจจะเนื่องจากว่าค่านิยมของสังคมโดยรวมและตัวผู้หญิงเอง ซึ่งความท้าทายตรงนี้ดิฉันคิดว่าเป็นเรื่องที่จะต้องหยิบยกมาทำความเข้าใจกันว่าการที่ผู้หญิงยอมรับสภาพชายเป็นใหญ่ก็ดี เห็นดีเห็นงามกับวิธีคิดแบบผู้ชาย ซึ่งก็จะปรากฏเห็นผู้นำหลายคนที่ให้ความสำคัญกับการแสดงออกแบบวิธีของผู้ชาย ดิฉันว่าผู้หญิงเองถ้าใช้ความคิดแบบผู้หญิงสามารถทำได้ดีกว่า
ดิฉันจึงขอยกตัวอย่างประธานาธิบดีคอราซอน อากีโน (Corazon Aquino) เพราะว่าโดยส่วนตัวเองก็มีประสบการณ์สมัยหนึ่งก็มีโอกาสไปเรียนหนังสืออยู่ที่ฟิลิปปินส์ แล้วก็โดยเฉพาะในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลง นินอย อากีโน (Ninoy Aquino) สามีโดนลอบยิง ทำให้ก็คิดว่าถ้าอากีโนไม่ได้ถูกลอบยิง คอราซอน อากีโน ก็คงไม่ได้แสดงศักยภาพเป็นผู้นำที่โดดเด่น
ชีวิตการเมืองของคอราซอน เราจะเห็นว่าเขาอยู่ในแวดล้อมยักษ์ใหญ่ทางการเมืองฟิลิปปินส์ที่เป็นผู้ชายทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นจอมเผด็จกการอย่างประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (Ferdinand Marcos) ซึ่งมาร์กอสเองก็เป็นคู่ปรับของนินอยตลอดการทำงานเป็นวุฒิสมาชิกของนินอย เพราะว่านินอยพยายามต่อต้านอำนาจอันไม่ชอบธรรมของมาร์กอสมาโดยตลอด ความจริงก็มีเรื่องราวเยอะแยะที่เป็นประวัติแต่ว่าเวลาน้อยจะทำให้กระชับขึ้น
นินอยกับคอราซอนได้เจอกันตอนที่คอราซอนเรียนกฎหมายอยู่ แต่ว่าเรียนไม่จบเพราะออกมาแต่งงานกับนินอยเสียก่อน การต่อสู้ของนินอยนี้ต้องถูกจับกุมคุมขังถึง 7 ปี แล้วก็สุดท้ายก็ต้องหนีไปลี้ภัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกา แต่พอกลับมาช่วงที่ดิฉันเรียนหนังสืออยู่ที่นั่นพอดี เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก มันช็อคสังคมฟิลิปปินส์ นินอยรู้ว่ากลับมาโดนแน่ ๆ ก็ใส่เสื้อเกราะ แต่ปรากฏว่าพอก้าวลงจากเครื่องบินยังไม่แตะพื้นดินของฟิลิปปินส์เลย ก็โดนมือปืนรอบยิงข้างหลัง โดนที่ศีรษะถึงใส่เสื้อเกราะก็ไม่สามารถคุ้มภัยได้ คือมันช็อคคนทั้งประเทศว่ากระทำการอุกอาจขนาดนี้ เป็นครั้งแรกที่คนฟิลิปปินส์ออกมาชุมนุมกันอย่างมโหฬาร ดิฉันเองเป็นคนมาจากประเทศไทยก็ตกตะลึงกับเหตุการณ์สยองแบบนี้ที่ประธานาธิบดีมาร์กอสสามารถกระทำการขนาดนี้ได้
คนฟิลิปปินส์ออกมาเดินขบวนแห่ศพรอบเมือง ดิฉันเองก็จะขอไปร่วมเดินขบวนกับเขาด้วย เพื่อนฟิลิปปินส์บอกว่าอย่าไปอันตราย ดิฉันก็ไม่สนใจ ก็ขอออกไปด้วย เดินขบวนรอบเมือง ไม่เคยเดินไกลขนาดนี้มาก่อนในชีวิต แต่ว่าขบวนมันพาไปจนรองเท้าหลุดก็เดินเท้าเปล่า เดินเท้าเปล่าไปรอบจนกลับมาที่หอพักเพื่อนนักเรียนเขาเป็นห่วงมาก เพราะเดินตั้งแต่เช้าแปดโมงถึงเที่ยงคืน แล้วผู้คนก็หนาแน่นมากนับตั้งแต่วันนั้น คนฟิลิปปินส์ก็ออกมาชุมนุมทุกวันเพราะเขาไม่เคยชุมนุมมาก่อน เขาอยู่ภายใต้เผด็จการมาร์กอสอย่างเรียบร้อยมาตลอด และเดินขบวนทุกวัน
ดิฉันก็ไปเรียนเรื่องจัดระเบียบชุมนุม ไม่ได้ไปเรียนเรื่องจัดระเบียบชุมชนกลายเป็นเรียนรู้เรื่องจัดระเบียบชุมนุมอยู่ที่ประเทศฟิลิปปินส์ เพราะว่าเขาประท้วงกันทุกวันทุกคืน และมีการสลับเวร การจัดระเบียบเป็นไปอย่างเรียบร้อยมาก คอราซอน เขาเป็นนักธุรกิจ มาจากตระกูลผู้ดี ตระกูลที่มีเงินมีทองอยู่ในถิ่นอาศัยที่เรียกว่าเป็นคนรวยอยู่ก่อน โดยนำขบวนธุรกิจประกอบกับพระสังฆราชเองของฟิลิปปินส์ก็มาสนับสนุน ทั้งชาวบ้าน ทั้งบาทหลวง ทั้งนักธุรกิจ ทั้งนักเรียนนักศึกษา ทุกฝ่ายออกมาเลยเกิดเป็นที่เขาเรียกว่า “พลังประชาชน”
เขาชุมนุมกันตลอด 4 ปี แต่ดิฉันอยู่ไม่ถึง ถึงจุดพีคก็คือ การปฏิวัติฟิลิปปินส์ที่เราเรียกกันว่า “การปฏิวัติสีเหลือง” เพราะว่ามีการติดริบบิ้นสีเหลือง อันนี้ก็เลยเป็นสีที่ดิชั้นชื่นชอบมาก่อนที่จะมีสีเหลืองในประเทศไทย ทำให้คนเข้าใจผิด ดิฉันไม่ใช่ ดิชั้นเหลืองมาก่อน การเกิดครั้งนั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและอากีโนก็ขึ้นครองอำนาจ ประธานาธิบดีอากีโนเป็นประธานาธิบดีคนที่ 11 และก็เป็นคนแรกที่เป็นผู้หญิงในฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตามการครองอำนาจของเธอก็ไม่ปลอดภัย เพราะว่าทหารก็ไม่ยอมมีการพยายามทำปฏิวัติทำรัฐประหารหลายครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ ไม่เหมือนบ้านเรา อันนี้เราก็คงต้องเรียนรู้บางอย่างของฟิลิปปินส์ในช่วงนั้น ไม่ใช่ช่วงหลัง
ปัญหาของการเข้าสู่อำนาจและการปกครองของ คอราซอน อากีโน ก็ไม่ง่าย เพราะว่ามันมีปัญหาทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ปัญหาอะไรที่มันสะสมมานาน อย่างไรก็ตามดิฉันก็อยากจะพูดถึงผลงานที่สำคัญ ๆ ในช่วงวาระที่เธอดำรงตำแหน่ง เธอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจประธานาธิบดีลง และแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และก็ยังพยายามที่จะทำงานเจรจาเสรีภาพกับกลุ่มต่าง ๆ ที่ขัดแย้งอยู่ จนถึงกลุ่มคอมมิวนิสต์ กลุ่มศาสนาต่าง ๆ ทำงานหนักมาก
นอกจากนี้ที่สำคัญ ดิฉันคิดว่าเราน่าสนใจก็คือว่า ในช่วงแรกที่เธอเข้าบริหารงาน คอราซอนประกาศจัดระเบียบรัฐบาลใหม่ในช่วงวันแรก ๆ เลย แล้วก็เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ที่แต่งตั้งโดยมาร์กอสลาออก โดยเริ่มจากสมาชิกของศาลฎีกา ส่งผลให้สมาชิกของศาลฎีกา 15 คนลาออก โดยที่ในการจัดระเบียบใหม่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูความเป็นอิสระของตุลาการ และยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 1973 และออกรัฐธรรมนูญฉบับเสรีภาพชั่วคราว ซึ่งดิฉันว่ามีสาระสำคัญที่น่าสนใจ นอกจากมีการตั้งคณะกรรมาธิการรัฐธรรมนูญโดยอดีตนักเคลื่อนไหว และก็อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา
รัฐธรรมนูญของฟิลิปปินส์ซึ่งใช้มาถึงปัจจุบันนี้ และผ่านการลงประชามติด้วยนั้นเป็นรัฐธรรมนูญที่มีสาระสำคัญคือมี 2 สภา และก็ให้มีการเลือกตั้งทุกระดับ ระดับวุฒิสภา, สภาผู้แทนราษฎร และการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่สำคัญก็คือมีกฎหมายสำคัญเรื่องของประมวลกฎหมายรัฐบาลท้องถิ่นซึ่งใช้จนถึงปัจจุบันที่ทำให้ท้องถิ่นของฟิลิปปินส์มีอำนาจและมีเสรีภาพมากกว่าประเทศไทย ส่วนที่ยังรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนภูมิภาค เพราะว่าให้อำนาจท้องถิ่นจัดภาษีและก็ในการบริหารหรือมีแผนพัฒนาต่าง ๆ ด้วยตนเอง ซึ่งเรื่องนี้มันเป็นผลที่ยังมีผลอยู่จนถึงปัจจุบัน นิตยสาร TIME ประกาศยกย่องเธอเป็นหนึ่งในวีรบุรุษชาวเอเชีย 65 คน และก็ได้รางวัลมากมาย ได้รับการยอมรับได้รับรางวัล Ramon Magsaysay Award รางวัล Fulbright สารพัด
ดิฉันคิดว่าตรงส่วนนี้ทำให้คิดถึงงานเขียนของอาจารย์ดวงหทัย บูรณเจริญกิจ คือถ้าเรามีนินอยเราก็ไม่มีคาราซอน อากีโน เดี๋ยวอาจารย์ลลิตา หาญวงษ์ อาจจะพูดถึงออง ซาน ซูจี ถ้านายพลออง ซาน ไม่โดนลอบยิงเสียก่อนเราก็จะคงไม่มีออง ซาน ซูจี ได้มีโอกาสแสดงบทบาทสถานการณ์สร้างบุรุษฉันใด สถานการณ์ก็ย่อมสร้างสตรีได้ฉันนั้น ซึ่งตรงส่วนนี้ดิฉันก็อยากจะข้ามมาพูดถึงท่านผู้หญิงพูนศุข อาจจะข้ามประเด็นของภาคใต้ไปความจริงเมื่อกี้ว่าอยากจะพูดถึงภาคใต้แต่คิดว่าเวลาน้อย เพราะว่าจริง ๆ มันมีประเด็นที่น่าสนใจว่า เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มีประกาศของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1325 ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นผู้หญิง สันติภาพ และความมั่นคง ทำให้มีการทบทวนว่าปฏิบัติการทางสันติภาพและความมั่นคงที่มาจากวิธีคิดของรัฐเป็นหลัก พอมีมติเหล่านี้ออกมาทำให้มีการเปลี่ยน พบว่าร้อยละ 11 และร้อยละ 7 ในหลายประเทศ มีการนำมติมาใช้ที่ให้ผู้หญิงเข้าร่วมในขบวนการสันติภาพ คืออาศัยมติสหประชาชาติตรงนี้ทำให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมและนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ในหลายประเทศ ซึ่งตรงนี้สำคัญถ้าเราขยายความคิดไปในแง่กฎหมาย มันก็คงจะช่วย
สุดท้ายนี้ที่จะให้พูดถึงท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ดิฉันศึกษาก็ขออนุญาตนำคำสัมภาษณ์ของท่านผู้หญิงที่กล่าวไว้ว่า “สังคมไทยยังไม่ให้การยอมรับบทบาทของผู้หญิงเท่าที่ควรจะเป็น ผู้หญิงไทยต้องยกระดับตนเองในทุก ๆ ด้าน พร้อมที่จะรับตำแหน่งรับผิดชอบบ้านเมือง ผู้หญิงเป็นเพศที่ละเอียดอ่อน แต่ก็เข้มแข็ง สามารถผนึกกำลังกันตรวจสอบการบริหารบ้านเมืองของทุกกลุ่ม ที่เข้ามาแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ เป็นประตูกั้นขวางไม่ให้เกิดการคอร์รัปชั่น หรือทุจริตในตำแหน่งหน้าที่การงานของสามีและบุคคลต่าง ๆ ที่จะแทรกแซงเข้ามาในครอบครัวของผู้บริหาร สิ่งนี้ดิฉันคิดว่าสำคัญมากที่จะทำให้การเมืองของบ้านเราก้าวไปสู่ยุคของคุณธรรมครองเมือง แต่ตราบใดผู้หญิงยังไม่ได้รับสิทธิเสมอภาคกับชายในทางพฤตินัยก็คงจะต้องมีการเรียกร้องด้วยวิธีการต่าง ๆ ต่อไปอีกนาน
ในที่นี้ ดิฉันสมควรจารึกไว้ว่านายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ให้ผู้หญิงมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง และสมัครรับเลือกตั้งผู้แทนราษฎรได้เช่นเดียวกับผู้ชาย ซึ่งมีก่อนกฎหมายเลือกตั้งของฝรั่งเศสเสียอีก
สุดท้ายนี้ดิฉันอยากจะกล่าวอีกสักนิดหนึ่งว่าท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ท่านเขียนไว้ว่า “หลักธรรมในพระพุทธศาสนา ที่ได้ช่วยให้ข้าพเจ้าดำรงชีวิตอยู่ได้ หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่านั้น คือ ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า ถ้าทุกคนปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ทั้งในยามสันติ ยามสงคราม ในยามที่ชีวิตผันผวน โดยทำตามหน้าที่อย่างรับผิดชอบ แล้วตั้งสติอยู่เสมอ เราทุกคนจะประสบสันติสุขในใจ
นายปรีดีกับดิฉันยึดหลักธรรมที่ว่า ผลของการที่ก่อสร้างไว้ดีแล้วย่อมไม่สูญหาย เราพยายามทำความดี ความประพฤติปฏิบัติของเราแน่วแน่อยู่ในธรรมะ เราจะไม่ประพฤติผิด เราไม่เอา เราไม่ทำ เราไม่จำใครทำร้ายเรา เราไม่จำ อโหสิกรรมให้หมด ระลึกถึงแต่พระคุณของผู้ที่ดีกับเรา ช่วยเหลือเรามีนับไม่ถ้วน เราประกอบกรรมดีไม่เคยทำร้ายใคร เราเชื่อกฎแห่งกรรมมาก วันหนึ่งจะต้องปรากฏแม้บางทีสิ้นชีวิตไปแล้วก็ยังไม่เห็น แต่เราอยู่นานเกินไปจึงได้เห็นหมด เพราะฉะนั้นปลงได้ เห็นหมดตั้งแต่เกิดมาคาบช้อนเงินช้อนทองแล้วปลายชีวิตเป็นอย่างไร บางคนต้นชีวิตดูไม่ได้เลย แต่ตอนปลายชีวิตกลับรุ่งเรืองเห็นหมด เขาอยู่มานานเลยได้เห็น มันเป็นเรื่องกรรมทั้งนั้น ขอบพระคุณค่ะ
ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ:
ขอเสียงปรบมือให้คุณลัดดาวัลย์ด้วย ถ้าจะสรุปง่าย ๆ ก็คือ คุณลัดดาวัลย์พยายามที่จะทำให้เราเห็นว่าบทบาทสตรีนั้นมีบทบาทที่เข้มแข็งต่อกันสร้างคำสามคำก็คือ ความมั่นคง สันติภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของคาราชอน อากีโน แต่จริง ๆ ก็มีคำถามเยอะอย่างที่อาจารย์ลัดดาวัลย์พูดมาว่า ถ้าไม่มีบุรุษแล้วจะมีสุภาพสตรีไหม
ในรอบที่ 2 ตอนนี้เราจะวนมาให้เพื่อทุก ๆ ท่านสรุปประเด็นผมคิดว่าทางผู้จัดได้ให้เวลาเราถึงซักประมาณ 16:30 น เพื่อที่จะเปิดเวทีให้ทุกท่านในวันนี้อาจจะไม่ได้มาเฉพาะฟังประวัติปีศาจอย่างเดียวอาจจะพูดถึงท่านผู้หญิงพูนศุข ขอทุกท่านท่านละประมาณ 5 นาที เรื่องค่านิยมชายเป็นใหญ่
ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์:
อยากจะย้ำคำนิยามที่พูดถึงความมั่นคง และชาตินิยม ในมิติของสตรี ปัจจุบันเราใช้มิติของชาตินิยมชายเป็นใหญ่ เรื่องค่านิยมชายเป็นใหญ่ในนิยามนี้ที่ฉันคิดว่าเราใช้มิติของสตรีมานิยามใหม่ เราจะมองความมั่นคงเป็นความมั่นคงของมนุษย์ เป็นความมั่นคงของอาหาร เป็นความมั่นคงให้เกิดสันติสุข ซึ่งจะต่างกับวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ หรือแม้แต่เรื่องของชาตินิยม ดิฉันได้รับรู้เรื่องชาตินิยมก็เห็นด้วยกับหลายท่านที่พูดถึงสำนึกชาตินิยม ซึ่งถ้าเรามองดูดี ๆ ก็มีอยู่ในผู้หญิง อย่างที่ท่านอาจารย์ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ พูดถึงว่ามลายูนี้สืบทอดโดยแม่หรือพูดถึงความเป็นแม่ของหลาย ๆ ท่านที่พูดถึงนี้ ถ้าเรามองความสำนึกชาตินิยมในมิติของผู้หญิง เราก็คงจะมองในแง่ที่ความภาคภูมิใจที่มีความจงรักภักดีในผลประโยชน์ของชาติโดยส่วนใหญ่มากกว่าผลประโยชน์ของส่วนตน ดิฉันเชื่อว่าผู้หญิงจะมองในมิตินั้นมากกว่า
ชาตินิยมในมิติที่ท่านอาจารย์ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ พูดถึง ก็เห็นด้วยว่า Toxic Masculinity เป็นปัญหาอย่างมาก ถ้าเรามีมิติในลักษณะเช่นนี้ดิฉันก็จะเชื่อว่ามันจะนำไปสู่สันติภาพได้อย่างแท้จริงและก็เราก็มีแบบอย่างของผู้หญิงมากมายโดยเฉพาะแบบอย่างของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ Behind Every Great Woman is Herself ขอบคุณมากสำหรับคำนี้
รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=jAcAYTzqiLY
ที่มา : PRIDI Talks #29 : 113 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ “สตรีกับสันติภาพ : บทบาทภายใต้กระแสชาตินิยมและมุมมองความมั่นคง” อาทิตย์ที่ 12 มกราคม 2568 เวลา 14.00-17.00 น. ณ สมาคมธรรมศาสตร์ฯ ซอยงามดูพลี กรุงเทพฯ