Focus
- บทความนี้ได้อธิบายความเป็นมาของการเคลื่อนไหวเรื่องสันติภาพในไทย ตั้งแต่สมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 คือประกาศสันติภาพ โดยให้การประกาศสงครามต่อประเทศสัมพันธมิตรนั้นเป็นโมฆะ ใน พ.ศ. 2488 โดยนายปรีดี พนมยงค์ การเกิดขึ้นของ “คณะกรรมการสันติภาพสากลแห่งประเทศไทย” ใน พ.ศ 2493-2495 การถูกรัฐบาลปราบปรามของ “กบฏสันติภาพ” ที่คัดค้านการส่งทหารไทยไปร่วมรบในสงครามเกาหลี และต่อมาในช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ได้มี “โครงการปีสันติภาพ 2528” และการจัดการรณรงค์ว่าด้วยสันติภาพในไทย เช่น การจัดงานสัมพันธภาพ ไทย-ลาว
เลือด...จงหยุดไหล
เปลวไฟ สงคราม จงหยุดแสง
ระเบิดบาปกระสุนบ้า...ราคาแพง
ความรุนแรงทั้งหลาย...หยุดได้แล้ว
เราจะต้องต่อสู้ เพื่อสันติภาพ
เราจะต้องลอกคราบความเขรอะคร่ำ
หยุดความเลวร้าย ทารุณกรรม
ช่วยให้คำสันติภาพเป็นความจริง.
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
การประกาศสันติภาพในประเทศไทย
ประเทศไทยได้ประกาศสันติภาพเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 โดย ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นับเป็นการประกาศสันติภาพครั้งแรก เพื่อยกเลิกอย่างเป็นทางการว่าการประกาศสงครามของไทยต่อประเทศสัมพันธมิตรนั้นเป็นโมฆะ
ประกาศสันติภาพ
โดยที่ประเทศไทยได้เคยมีนโยบายอันแน่วแน่ที่จะรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด และจะต่อสู้การรุกรานของต่างประเทศทุกวิถีทาง ดังปรากฏเห็นได้ชัดจากการที่ได้มีกฎหมายกำหนดหน้าที่คนไทยในเวลารบเมื่อพุทธศักราช 2484 อยู่แล้วนั้น ความจำนงอันแน่วแน่ ดังกล่าวนี้ได้แสดงให้เห็นประจักษ์แล้วในเมื่อญี่ปุ่นได้ยาตราทัพเข้าในดินแดนประเทศไทย ในวันที่ 8 ธันวาคม พุทธศักราช 2484 โดยได้มีการต่อสู้การรุกรานทุกแห่งและทหาร ตำรวจ ประชาชนพลเมืองได้เสียชีวิตไปในการนี้เป็นอันมาก
เหตุการณ์อันปรากฏเป็นสักขีพยานนี้ได้แสดงให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า การประกาศสงครามเมื่อวันที่ 25 มกราคม พุทธศักราช 2485 ต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐ อเมริกา ตลอดทั้งการกระทำทั้งหลายซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อสหประชาชาตินั้น เป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชนชาวไทยและฝ่าฝืนขึ้นขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมืองประชาชนชาวไทยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งอยู่ในฐานะที่จะช่วยเหลือสนับสนุนสหประชาชาติผู้รักที่จะให้มีสันติภาพในโลกนี้ ได้กระทำการทุกวิถีทางที่จะช่วยเหลือสหประชาชาติดังที่สหประชาชาติส่วนมากย่อมทราบอยู่แล้ว ทั้งนี้เป็นการแสดงเจตจำนงของประชาชนชาวไทยอีกครั้งหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยต่อการประกาศสงครามและกระทําอันเป็นปฏิปักษ์ต่อสหประชาชาติดังกล่าวมาแล้ว…
…ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงขอประกาศโดยเปิดเผยแทนประชาชนชาวไทยว่า การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่ เป็นโมฆะไม่ผูกพันประชาชนชาวไทยในส่วนที่เกี่ยวกับสหประชาชาติ ประเทศไทยได้ตัดสินใจที่จะให้กลับคืนมาซึ่งสัมพันธไมตรีอันดีอันเคยมีมากับสหประชาชาติ เมื่อก่อนวันที่ 8 ธันวาคม พุทธศักราช 2484 และพร้อมที่จะร่วมมือเต็มที่ทุกทางกับสหประชาชาติในการสถาปนาเสถียรภาพในโลกนี้…
การเคลื่อนไหวเรียกร้องสันติภาพใน ประเทศไทย พ.ศ. 2493-2495
กรณีการเคลื่อนไหวเรียกร้องสันติภาพในประเทศไทยมีสาเหตุสืบเนื่องมาจากสงครามเกาหลี ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อฝ่ายเกาหลีเหนือรุกล้ําเข้าเขตแดนเกาหลีใต้ ในวันที่ 25 มิถุนายน 2493 สหรัฐอเมริกาจึงนำปัญหานี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงได้มีมติให้เกาหลีเหนือยุติการรุกรานและถอนตัวออกจากเกาหลีใต้ แต่เกาหลีเหนือเพิกเฉย ดังนั้นสหรัฐจึงได้เรียกประชุมอีกครั้งและได้เสนอให้สมาชิกองค์การสหประชาชาติร่วมแรงร่วมใจกันสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือแก่เกาหลีใต้ ป้องกันการคุกคาม
ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคนี้ที่ให้ความสนับสนุนมติคณะมนตรีความมั่นคง เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน และต่อมาได้แสดงความจำนงที่จะส่งทหารเข้าร่วม รบด้วย นโยบายของรัฐบาลครั้งนี้ ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างมาก โดยเฉพาะจากสื่อมวลชน
เมื่อเสียงเรียกร้องมีความเข้มแข็ง ตื่นตัวกันมากก็ได้มีการสนับสนุนและร่วมกันจัดตั้ง “คณะกรรมการสันติภาพสากลแห่งประเทศไทย” ขึ้นในวันที่ 22 เมษายน 2494 โดยมีนายแพทย์เจริญ สืบแสง เป็นประธาน และพระธรรม-ศาทส วัดสุทัศน์ เป็นรองประธาน นโยบายหลักขององค์การนี้คือคัดค้านรัฐบาลที่พยายามขัดขวางและทำการจับกุมผู้สนับสนุนสันติภาพ และนอกจากนี้ก็สนับสนุนการลงนามสันติภาพสากล โดยได้เรียกร้องให้รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเลิกร่วมมือกับสหรัฐอเมริกา และให้ถอนทหารกลับจากเกาหลีใต้ให้หมด เพราะการที่ไทยส่งทหารไปตายต่างแดนไทยไม่ได้มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องด้วยเลย
เมื่อจัดตั้งคณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทยขึ้นมาแล้ว ได้มีการดำเนินการในลักษณะที่ขบวนการสันติภาพในประเทศอื่นได้ทำกันคือมีการรณรงค์เรียกร้องให้ประชาชนลงนามเรียกร้องสันติภาพ เป้าหมายของการเรียกร้องสันติภาพนี้นอกเหนือจากอยู่ที่การต่อสู้กับการรุกรานประเทศอื่น ๆ ของจักรวรรดินิยมแล้ว ก็ยังพุ่งเป้าไปที่การใช้อาวุธปรมาณูในการระงับสงครามด้วย ทั้งนี้หากมีการใช้อาวุธปรมาณูกันอย่างกว้างขวางแล้วในที่สุดก็จะเป็นการทำลายมนุษยชาติ ทำลายอารยธรรมที่ได้สั่งสมกันนับพัน ๆ ปี
ปัญหาของการรณรงค์เรียกร้องสันติภาพสากลในประเทศไทยก็คือ การที่มีสหภาพโซเวียตเป็นตัวตั้งตัวตีในการรณรงค์ครั้งนี้ จึงทำให้การรับเอาแนวคิดและวิธีการในการต่อสู้เพื่อสันติภาพในประเทศไทยประสบกับการต่อต้านจากอีกฝ่ายเป็นอันมาก เพราะว่าสหภาพโซเวียตได้ชื่อว่าเป็นผู้ก่อสงครามในประเทศเกาหลีและการรุกรานเข้าไปในประเทศต่าง ๆ ในยุโรปตะวันออกเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงทำให้กลายเป็นจุดอ่อนที่สาหัสที่มุ่งโจมตีการเข้าร่วมสงครามเกาหลีตามคำชักชวนจากสหรัฐอเมริกาแต่เพียงฝ่ายเดียว
ปัญหาอีกประการหนึ่งคือ เป้าหมายของการต่อต้านสงครามนั้นเป็นสงครามที่ใช้อาวุธร้ายแรง เช่น อาวุธปรมาณู อาวุธเชื้อโรค สารพิษ เป็นต้น ไม่ได้มุ่งที่จะต่อต้านการสงครามในสภาพธรรมดา ๆ ที่ใช้อาวุธเฉพาะบุคคลเท่านั้น การต่อต้านสงครามจำกัดวงแค่เพียงเท่านี้เป็นการละเลยปัญหาความรุนแรงในรูปแบบที่เคยปฏิบัติกันมานานแสนนาน ซึ่งไม่เคยระงับข้อขัดแย้งให้เกิดสันติภาพได้เลย การพิจารณาสันติภาพในความหมายจำกัดเช่นนี้แล้วอ้างว่าจะก่อให้เกิด “สันติภาพถาวร" ขึ้นได้นั้นจึงห่างไกลความเป็นจริงมาก
การเรียกร้องสันติภาพโดยที่เป็นการโต้แย้งระหว่างสองฝ่าย เรียกร้องโดยที่โจมตีฝ่ายหนึ่งและเชิดชูอีกฝ่ายหนึ่งนั้น อาจหมายถึงการลดความสำคัญของความเป็นมนุษย์ที่สามารถจะเข้าถึงสันติภาพของอีกฝ่ายได้ เมื่อเป็นเช่นนี้คำถามที่ตามมาคือจะเกิดสันติภาพถาวรขึ้นได้จริงหรือ เพราะมีการโต้แย้งสันติภาพที่มาจากอีกฝ่ายหนึ่งได้เสมอว่ามิใช่สันติภาพที่แท้จริง หากแต่มีเงื่อนงำเคลือบแฝงอยู่เพื่อเป็นการทำลายล้างอีกฝ่ายก็เป็นได้
กบฏสันติภาพ
สักวาสันติภาพฟังทราบไว้
ว่ามิใช่มีอย่าฟังหลง
อันแบบผมดีไม่หยอกบอกตรงตรง
ไม่นอนกรงอยู่นอกเพียงคอกพยาน
สันติภาพแบบคุณวุ่นไปหน่อย เกิดผลพลอยได้ฟิกลจนขึ้นศาล
จะเปรียบเทียบกันไปไยให้ป่วยการ
เส้นขนานหรือจะบรรจบพบเอย
(มุมสักวา, นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ 31 พค. 2496)
เมื่อความเคลื่อนไหวเรียกร้องสันติภาพได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลานานพอควรแล้ว รัฐบาลได้พยายามหาทางยุติการเคลื่อนไหวของผู้เรียกร้องสันติภาพเหล่านี้ และได้หามาตรการโต้ตอบอย่างจริงจัง และในเช้าตรู่วันที่ 10 พย. 2495 รัฐบาลได้ประกาศจับกุมกลุ่มสื่อมวลชน และบุคคลที่มีกิจกรรมทางการเมือง เรียกการจับกุมครั้ง นี้กันทั่วไปว่า “กบฎสันติภาพ” กลุ่มบุคคลที่ถูกจับก็ต่างกลุ่ม ต่างความคิดอุดมการณ์กันโดยสิ้นเชิง เพียงแต่มีจุดร่วมกันอยู่ที่การต่อต้านรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายต่างประเทศเท่านั้น
การเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสันติภาพในประเทศไทยถูกจำกัดด้วยเป้าหมายของการต่อสู้ซึ่งเป็นการโจมตีสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก และโดยการต่อต้านอาวุธปรมาณูเป็นเรื่องที่มาเสริม เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นจุดอ่อนที่สำคัญ เพราะความสัมพันธ์ที่รัฐบาลมีต่อสหรัฐอเมริกาประการหนึ่งกับการนำของขบวนการสันติภาพซึ่งรับมาจากการเคลื่อนไหวในกลุ่มคอมมิวนิสต์อีกประการหนึ่ง ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงระยะเวลาระหว่างปี 2493-2495 ระหว่างกลุ่มกู้ชาติ คณะกรรมการสันติภาพสากลฯ และพรรคคอมมิวนิสต์ ที่เป็นลูกโซ่ต่อเนื่องกัน แม้ว่าจะมีความตั้งใจดีต่อสันติภาพอย่างไร ในที่สุดก็ถูกกวาดล้างคุมขังไปในท้ายที่สุด จากนั้นคำว่าสันติภาพก็กลายเป็นคำต้องห้ามของรัฐบาลไป
โครงการปีสันติภาพ 2528
นับจากปี 2495 สันติภาพก็เลือนลางไปพร้อมกับหน้าประวัติศาสตร์ที่ผลิกแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลาร่วมปี 32 ปี จวบจนเมื่อต้นปี 2528 อันเป็นปีที่ครบรอบ 40 ปี การทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม ซึ่งมีนโยบายเลือกประเด็นเพื่อทำการรณรงค์เป็นประจำทุกปีได้จัดประชุมทบทวนการทำงานของปีที่ผ่านมาและการวางแผนการทํางานประจําปี สมาชิกได้ปรึกษาหารือและเห็นร่วมกันว่า ปี 2528 นี้เป็นปีที่ครบรอบ 40 ปี ฮิโรชิมา-นางาซากิ น่าจะมีการรณรงค์ให้ประชาชนชาวไทยได้ตระหนักถึงปัญหาของอาวุธนิวเคลียร์ ปี 2527 ที่ผ่านมากลุ่มนักศึกษาได้จัดนิทรรศการและการอภิปรายในประเด็นนี้ แต่ยังเผยแพร่ในกลุ่มคนวงแคบ จึงน่าจะมีการรณรงค์ให้เผยแพร่ในวงกว้างยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นประเด็นที่ท้าทาย และยังไม่มีกลุ่มบุคคลใดจับประเด็นนี้อย่างจริงจัง
กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม ได้ถือฤกษ์กําหนดการประชุมสมัชชาขึ้นวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2527 เชิญตัวแทนจากองค์การพัฒนาเอกชน องค์การกลุ่มวิชาชีพต่าง ๆ นิสิตนักศึกษา นักหนังสือพิมพ์ และบุคคล ที่สนใจทั่วไปเข้าร่วมประชุมปรึกษาหารือวางโครงการรณรงค์ โดยใช้ชื่อโครงการว่า “โครงการปีสันติภาพ 2528”
จากการประชุมในครั้งนั้นได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการจัดงานโครงการปีสันติภาพ 2528 ซึ่งได้ต่อ เนื่องมาในปี 2529 นี้ด้วย คณะกรรมการจัดงานมาจากองค์การพัฒนาเอกชน องค์กรสาขาอาชีพสหภาพ แรงงาน นักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน นิสิตนักศึกษา และบุคคลที่สนใจรวม 80 ท่าน คณะกรรมการได้วางวัตถุประสงค์ แนวทาง และแผนการดําเนินงาน ดังนี้
ความเป็นมา
เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2488 โลกได้รับรู้เป็นหนแรกถึงความร้ายแรงของระเบิดนิวเคลียร์ที่เป็นประดิษฐกรรมที่ทรงอานุภาพที่สุดของมนุษย์พร้อม ๆ กับความตายอย่างฉับพลันของประชาชน 75,000 คน ที่เมืองฮิโรชิมาด้วยพลังระเบิดชนิดยูเรเนี่ยม ซึ่งได้รับสมญานามว่า “เจ้าเด็กน้อย” และในอีกสามวันจากนั้นเมืองนางาซากิได้เป็นเป้าหมายถัดมา “เจ้าอ้วน” ซึ่งเป็นระเบิดชนิดพลูโตเนียม ได้คร่าเอาอีก 74,000 ชีวิตของเมืองนั้นไป และทิ้งอีก 75,000 ชีวิตไว้เผชิญกับการบาดเจ็บทรมานแสนสาหัส แม้ผลของการระเบิดนิวเคลียร์ทั้งสองลูกจะหยุดยั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งยืดเยื้อมานานถึง 6 ปี ได้ก็ตาม สันติภาพและสันติสุขของมนุษยชาติก็หาบังเกิดตามมาไม่ แท้ที่จริงเหตุการณ์ดังกล่าวกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นสภาวะวิกฤติของการดํารงคงอยู่ของเผ่าพันธุ์มนุษย์
ในปัจจุบันนี้มีหัวรบนิวเคลียร์อยู่ในโลกรวมกันมากกว่า 50,000 หัวรบ ความร้ายแรงของหัวรบเหล่านี้ประมาณกันว่าอำนาจการระเบิดทั้งหมดรวมกันมีพลานุภาพ 13 พันล้านตัน ที.เอ็น.ที หรือ 1 ล้านเท่าของระเบิดที่ทิ้งลงที่ฮิโรชิมาซึ่งสามารถพร่าผลาญชีวิตคนได้ 2 แสนล้านคนหรือประมาณ 50 เท่าของประชากรในโลกปัจจุบัน แต่กระนั้นก็ตามการพัฒนาแข่งขันกันในทางเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความร้ายแรงของอาวุธก็ยังดำเนินต่อไปไม่หยุดยั้งควบคู่ไปกับการเสริมสร้างการป้องกันตัวเพื่อรับภัยของสงครามนิวเคลียร์ที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 เป็นต้นมา
สวิสเซอร์แลนด์กำหนดให้อาคารที่สร้างขึ้นใหม่ต้องมีสถานที่สำหรับหลบภัยอันเกิดจากระเบิดนิวเคลียร์ อังกฤษได้จัดหาคู่มือให้คำแนะนำในยามที่เกิดภัยดังกล่าวแก่ประชาชน รัสเซียมีหลุมหลบภัยใต้ดินเตรียมไว้สําหรับชนชั้นผู้นํา และยังมีแผนอพยพคนออกจากบริเวณที่ถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ สําหรับสหรัฐนั้นมี “ศูนย์บัญชาการฉุกเฉินทางอากาศแห่งชาติ” ซึ่งเป็นเครื่องบินแบบโบอิ้ง อี 4 ปี เตรียมพร้อมอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง สําหรับประธานาธิบดีและผู้นำฝ่ายทหารในการควบคุมบัญชาการยามที่เกิดเหตุร้ายนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เหตุการณ์ที่ล่อแหลมอันตรายต่อการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์เกิดขึ้นกว่า 130 ครั้งในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกโดยส่วนใหญ่เป็นความขัดแย้งของประเทศที่ผูกพันกับค่ายทุนนิยมและสังคมนิยมอันนำไปสู่การเผชิญหน้ากันของสหรัฐกับรัสเซีย เฉพาะสหรัฐเองนั้นได้มีการเตรียมใช้หรือขู่ว่าจะใช้ระเบิดนิวเคลียร์กว่า 10 ครั้ง แม้วิทยาการขณะนี้ทำให้ไม่มีฝ่ายใดวางใจได้ว่าจะสามารถเผด็จศึกฝ่ายตรงข้ามให้ราบคราบสิ้นเชิงได้ในการโจมตีเพียงหนเดียว แต่รูปการณ์ก็เป็นไปในลักษณะที่ว่า ใครกดปุ่มเร็วกว่าโอกาสชนะก็จะมีมากกว่า
จากข้อเท็จจริงที่ว่าหัวรบนิวเคลียร์กว่า 10,000 หัวรบไปรวมกันอยู่ในยุโรปทั้งค่ายตะวันตกและตะวันออกจึงจำเป็นอยู่เองที่ประชาชนชาวยุโรปจะรู้สึกจริงจังกับหายนะภัยของสงครามนิวเคลียร์ แต่สําหรับประเทศไทยซึ่งดูเหมือนจะอยู่ห่างไกลไปทางอีกซีกโลกหนึ่งจึงพลอยทำให้ผู้คนทั่วไปรวมทั้งปัญญาชนมองเห็นว่าภัยดังกล่าวเป็นเรื่องไกลตัวไปด้วย ในแง่ของปรากฏการณ์เรื่องนี้อาจเป็นเพียงความขัดแย้งกันระหว่างสองอภิมหาอํานาจ ซึ่งตัดสินกันที่วอชิงตัน มอสโคว์ และอีกไม่กี่เมืองในยุโรป แต่เมื่อเพ่งดูให้ลึกลงไปจะเห็นว่า หากเกิดสงครามโลก หัวรบที่กระจายเก็บอยู่ทั่วโลกก็จะออกมาสำแดงฤทธิ์เดชอย่างเต็มที่ หรืออย่างเบาะ ๆ สงครามจำกัดขอบเขตในยุโรปก็จะก่อผลกระทบถึงเศรษฐกิจและสังคมของไทยอย่างมหาศาล
กัมมันตภาพรังสีจะฟุ้งกระจายไปในบรรยากาศทั่วทั้งโลก ฝุ่นและเศษผงที่ถูกหอบขึ้นไปในอากาศ จะปกคลุมและบดบังแสงอาทิตย์ไปทั่วโลก อุณหภูมิจะลดลงใกล้จุดเยือกแข็ง ปรากฏการณ์นี้เรียกว่าเหมันต์นิวเคลียร์ที่จะมีผลกระทบต่อทุกคน ดังนั้นถ้าหากเราจะมองเห็นเป็นปัญหาไกลตัวก็ควรจะเป็นในแง่ที่ว่าเรายังเหลือเวลาและโอกาสที่จะทําอะไรต่ออะไรได้อีกบ้างก่อนที่ปัญหาจะลามมาถึงตัวจนสุดวิสัยจะแก้ได้ หากคิดเช่นนี้จะเป็นการเสริมกำลังใจมิให้ท้อแท้สิ้นหวังมิใช่รอจนเมื่อปัญหา “ใกล้ตัว” ขึ้นมาเมื่อไรจึงจะเริ่มเอาใจใส่ มิใช่รอจนเกิดความตึงเครียดขึ้น จนกระทั่งอภิมหาอำนาจนำเอาหัวรบนิวเคลียร์มาติดประจันหน้ากันในภูมิภาคนี้
การยับยั้งการแข่งขันอาวุธนิวเคลียร์หาใช่เป็นเรื่องของผู้นำในวอชิงตัน มอสโคว์ ลอนดอน ปารีส หรือปักกิ่งโดยเฉพาะไม่ และมิใช่เรื่องของขบวนการสันติภาพในยุโรปแต่เพียงลeพัง หากเป็นหน้าที่ของเราทุก ๆ คนในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติ เมื่อเหตุการณ์ฮิโรชิมาได้ล่วงเลยมาครบ 40 ปี ในวันที่ 6 สิงหาคม 2528 ก็ควรจะได้มีพิธีรำลึกถึงเหตุการณ์อันเศร้าสลดนั้น ในขณะที่คลื่นของผู้ใฝ่สันติจะเคลื่อนตัวไปตามเมืองต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ก็น่าจะมีเสียงของชาวไทยที่ร่วมกันกล่าวโดยพร้อมเพรียงว่า “จะต้องไม่มีฮิโรชิมาอีก” เพื่อประสานเป็นเสียงแห่งศตวรรษที่เปล่งพร้อมกันทั่วทุกมุมโลก
วัตถุประสงค์
1. เพื่อรําลึกถึงเหตุการณ์ การทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ
2. เพื่อเผยแพร่และกระตุ้นเตือนให้ประชาชนชาวไทยได้ตระหนักถึงปัญหาสันติภาพในโลก ซึ่งกําลังถูกคุกคาม เนื่องจากการสั่งสมอาวุธนิวเคลียร์
3. เพื่อประสานกับการรณรงค์ในระดับสากลเพื่อร่วมยับยั้งการสั่งสมอาวุธนิวเคลียร์ และสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ อันเป็นพื้นฐานของสันติสุขและสันติภาพของโลก
ขอบเขตการรณรงค์
1. อาวุธนิวเคลียร์
2. การสะสมอาวุธ ทางเลือกและทางออก
3. ผลกระทบของอาวุธนิวเคลียร์ และการสะสมอาวุธ ต่อเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองในประเทศโลกที่สาม
กิจกรรม
สัปดาห์ภาพยนตร์เพื่อสันติภาพ
22-25 พฤษภาคม ณ หอประชุม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จัดฉายภาพยนตร์ญี่ปุ่น เรื่อง ลาก่อนลูกรัก และแม่น้ำโคลน พร้อมทั้งดนตรีของคณะดนตรีจรัล มโนเพชร และรายการแสดงประกอบจากคณะมะขามป้อมคนหน้าขาว ภาพยนตร์สารคดี ชุด BooM & Big if และ สไลด์ชุดดอกไม้ และฮิโรชิมา มีผู้เข้าชมทุกรอบรวม 1,200 คน ในบริเวณงานยังมีนิทรรศการ และสิ่งพิมพ์เผยแพร่ตลอดงาน
การแสดงนิทรรศการในงานสัปดาห์ส่งเสริมพุทธศาสนา
จัดแสดงนิทรรศการชุดสันติภาพกับอาวุธนิวเคลียร์พร้อมทั้งการฉายสไลด์ และวิดีโอ ในงานสัปดาห์ส่งเสริม พุทธศาสนา ณ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุฯ ในการนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ประธานพิธีเปิดงานได้ทรพระกรุณาเสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการของโครงการฯ โดยมีพลเอกอาทิตย์ กําลังเอก (ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น) ตามเสด็จ
พิธีกรรมทางศาสนา “วิสาขบูชา-สันติภาพ”
โครงการฯ ร่วมกับธรรมสถาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดพิธีกรรมทางศาสนา เนื่องในโอกาสวันวิสาขบูชา เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2529 รายการประกอบ ด้วยการแสดงดนตรีของคณะดนตรีต้นข้าว การอ่านสุนทรพจน์จากตัวแทน 3 ศาสนา, ศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว ประธานโครงการฯ การอ่านบทกวีโดยคุณอังคาร กัลยาณพงศ์ การบรรยายพระธรรมเทศนา โดยพระวัดสนามใน การเวียนเทียน
การขับร้องประสานเสียงคณะวิฟเฟนฟูฟ
โครงการฯ ร่วมกับศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา จัดงานการขับร้องประสานเสียงโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยเยล เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2528 การจัดงานแสดงแบ่งเป็น 2 รอบ คือ รอบนักศึกษาที่ห้องประชุม คณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย และรอบค่ําที่โรงแรมมณเฑียร มีผู้เข้าร่วมงานรวมประมาณ 1,000 คน ในงานรอบค่ําสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ พร้อมพระสวามีได้ทรงพระกรุณาเสด็จทอดพระเนตรการแสดง พร้อมเสวยพระกายาหารค่ำ ณ โรงแรมมณเฑียร
มหกรรมดนตรีเพื่อสันติภาพ ครั้งที่ 1
โครงการฯ จัดงานแสดงมหกรรมดนตรีเพื่อสันติภาพเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2528 ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างเวลา 15.00-24.00 น. ใช้เวลาร่วม 10 ชั่วโมงในการแสดงรายการแสดงประกอบด้วยคณะดนตรีคาราวาน, คาราบาว และคณะดนตรีจากกรมประชาสัมพันธ์ การแสดงของกลุ่มรุ้ง 22 สี และการอ่านบทกวีของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ทั้งนี้ยังมีโอกาสได้เชิญคณะดนตรีเพื่อสันติภาพจากประเทศญี่ปุ่นร่วมมาเป็นเกียรติในการแสดงการจัดงานครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม สามารถขายบัตรหมดก่อนการแสดง 3 วัน มีผู้เข้าร่วมแน่นขนัดรวมประมาณ 3,000 คน หนังสือพิมพ์หลายฉบับได้ให้ความสพคัญอย่างมากกับการจัดงานนี้ มีบางฉบับได้เขียนไว้ว่า “คนส่วนใหญ่ที่มาร่วมงานครั้งนี้ก็เพื่อความบันเทิง แต่เมื่อกลับไปแล้วก็คงจะมีส่วนของความรับรู้ และความสำนึกของสันติภาพอยู่บ้าง”
สัปดาห์ศาสนากับสันติภาพ
การจัดงานนี้มีขึ้นในวันที่ 4-9 สิงหาคม 2529 ที่ธรรมสถาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การจัดงานได้ให้ความสำคัญกับพิธีกรรมในวันแรก อันประกอบไปด้วยการเดินขบวนเพื่อสันติภาพจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมายังธรรมสถาน ในเช้าตรู่ของวันที่ 4 สิงหาคม เพื่อร่วมในพิธีกรรมทางศาสนา ศาสนาพุทธ คาทอลิก และโปแตสแตนท์ หลังจากนั้นมีพิธีรำลึกถึงผู้ที่ต้องประสบกับมหันตภัย เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ มีการยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 1 นาที การวางดอกไม้หน้าภาพเหตุการณ์อันน่าสยดสยองที่เมืองฮิโรชิมา และนางาซากิ การปล่อยนกพิราบ 40 ตัว และพิธีเปิดประติมากรรมสันติภาพ หลังจากนั้นเป็นการนั่งสมาธิ และการแสดงความคิดเห็นในเรื่องสันติภาพของผู้ร่วมอดอาหาร มีผู้อดอาหารในวันนั้นประมาณ 500 คน เพื่อเป็นการแสดงความรู้สึกร่วมกับผู้ที่ต้องประสบเหตุเคราะห์กรรมในครั้งนั้น ทั้งยังเป็นการแสดงสปิริตของผู้ร่วมต่อการรณรงค์สันติภาพ
การรณรงค์ของวันที่ 4 ตลอดทั้งวันร่วม 20 ชั่วโมง พิธีกรรมในช่วงเช้า การอดอาหาร และการแสดงมหกรรมดนตรีสันติภาพได้ช่วยสร้างภาพของการรณรงค์สันติภาพปรากฏชัดต่อสาธารณชน มีการกล่าวขวัญถึงการจัดงานสันติภาพโดยทั่วไป เป็นการปูพื้นฐานสำคัญในการรณรงค์สันติภาพของปีต่อไป
การจัดงานในวันอื่น ๆ มีรายการอันประกอบด้วยการเสวนา “การแข่งขันอาวุธ หนทางสู่ความอดอยากและสงคราม”, การสัมมนาสันติภาพ ประวัติศาสตร์ขบวนการ, การอภิปรายสันติภาพในอุดมคติ, การอภิปรายศาสนากับสันติภาพ, การแสดงดนตรีของคณะดนตรีคีตาญชลี, การยอวาทีสันติภาพและความมั่นคง” ทั้งนี้มีการแสดงนิทรรศการจากกลุ่มต่าง ๆ ในแนวสันติภาพ จากคณะทำงานด้านเด็ก กลุ่มผู้หญิงสลัม เป็นต้น
การรณรงค์สันติภาพในปี 2528 ได้สิ้นสุดลง ได้ช่วยสร้างภาพของสันติภาพให้ปรากฏขึ้นอีกครั้งหนึ่งแม้นในสายตาของหลายท่านยังเป็นภาพที่ไม่ชัดเจนนักในกรอบของปัญหาสังคมไทย ในหมู่ผู้ที่สนใจมองสันติภาพแตกต่างกันไปในหลาย ๆ ทัศนะ อย่างไรก็ตาม การรณรงค์นับได้ว่าประสบผลสำเร็จขั้นหนึ่งที่สามารถนำสันติภาพกลับมาสู่การรับรู้ของสาธารณชนอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังการรณรงค์มีนักเรียน นิสิตนักศึกษาหลายแห่งได้แสดงความสนใจขอเอกสารข้อมูล แผ่นพับ นิทรรศการ และโปสเตอร์เพื่อนำไปเผยแพร่ต่อยังสถานการศึกษาต่าง ๆ
โครงการปีสันติภาพ 2529
ในการรณรงค์สันติภาพในปี 2529 ปีที่ประชุมสมัชชาองค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้เป็นปีสันติภาพสากล โครงการฯ ได้สนองรับนโยบายและดำเนินการรณรงค์ต่อจากปี 2528 ในแนวหัวเรื่องที่ว่า “สันติภาพกับการพัฒนา” ดังมีเนื้อหาและขอบข่ายตามอารัมภบทแผ่นพับแนะนําโครงการปีสันติภาพ 2529 ดังต่อไปนี้
“สันติภาพ” ได้มีผู้นิยามไว้สั้น ๆ ว่าเป็นสภาพอันสันติในทางพุทธศาสนาเราเน้นที่จิตใจที่หลุดพ้นจากการยึดมั่นถือมั่น ชีวิตจึงมีความสุขสงบเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ส่วนในทางโลก สันติภาพหมายถึงสังคมที่ทุกคนพอมีพอใช้ เอื้ออาทรต่อกัน และไม่ใช้ความรุนแรงเข้าแก้ไขความขัดแย้งทั้งภายในสังคมและระหว่างประเทศ แต่ในปัจจุบัน เรายังมองเห็นความทุกข์ยากและความรุนแรงที่ปรากฏแก่ตัวเราและรอบ ๆ ตัวเรา พวกเราหลายคนจึงพยายามค้นคิด เพื่อให้เกิดความเข้าใจสังคม พวกเราหลายคนจึงพยายามดําเนินการเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่า ไปสู่สังคมที่มีสันติสุข หลายคนบอกว่า เรามีความสามารถเพียงน้อยนิด จึงควรแก้ไขที่ตัวเราเอง และแก้ไขในชุมชนที่อยู่ใกล้ตัวเราก่อน ความคิดเช่นนี้มีส่วนถูกต้อง แต่เราไม่อาจปฏิเสธว่า หน่วยย่อยประกอบเป็นสังคมรวมประเทศต่าง ๆ ประกอบเป็นชุมชนโลก ทุกหน่วยมีความเชื่อมโยง และผลกระทบกระเทือนต่อกัน เช่น การเปลี่ยนแปลงของตลาดโลกมีผลกระทบไปถึงภายในหมู่บ้าน แม้เราจะทำงานอยู่ในชุมชนเล็ก ๆ แต่ก็ควรคิดถึงภาพรวมและคํานึงถึงความเชื่อมโยงต่าง ๆ ให้ตลอด เช่น ควรคำนึงว่าการนำทรัพยากรอันมหาศาลไปใช้ในการสร้างอาวุธนั้น ย่อมเชื่อมโยงไปถึงการที่ประเทศโลกที่สามตกอยู่ในสภาพด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจและตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทศมหาอำนาจ
“โครงการร่วมเพื่อสันติภาพและการพัฒนา” (Coalition for Peace and Development) เป็นโครงการที่รวมองค์การพัฒนาเอกชนเข้าด้วยกัน เมื่อปี พ.ศ. 2528 ภายใต้ฉายานามโครงการปีสันติภาพ 2528 ได้เริ่มทำการรณรงค์ในเรื่องสันติภาพและการลดอาวุธ โดยเน้นประเด็นของอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งเป็นพัฒนาการสูงสุดของการทำลายล้าง และสามารถเชื่อมโยงไปถึงการแผ่อิทธิพลทั้งทางเศรษฐกิจ และการเมือง อีกทั้งการใช้อาวุธ นิวเคลียร์ไม่ว่าในที่ใด จะมีผลกระทบต่อชีวิต พันธุกรรม ดินฟ้าอากาศ และสิ่งแวดล้อมของทุก ๆ แห่งในโลกนี้
ในปี พ.ศ. 2529 ซึ่งเป็นปีสันติภาพสากล โครงการฯ ได้ทำการรณรงค์ในหัวข้อว่า สันติภาพคือการพัฒนาเพื่อที่จะเชื่อมโยงสภาพด้อยพัฒนา และสภาพรุนแรงในระดับชุมชนกับโครงสร้างความรุนแรงในระดับกว้าง และชี้ให้เห็นว่างานพัฒนาต่าง ๆ มีเป้าหมายร่วมกันนั่น คือ การสร้างสรรค์สังคมที่มีสันติสุข อนึ่ง หน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งองค์การพัฒนาเอกชน ซึ่งทําการรณรงค์และดําเนินการแก้ไขปัญหาในประเด็นเฉพาะด้านอยู่ น่าจะถือโอกาสแห่งปีสันติภาพสากลเพื่อเชื่อมโยงประเด็นเฉพาะด้านนั้นเข้ากับเรื่องสันติภาพ เพราะจะช่วยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญและความรีบด่วนของประเด็นปัญหานั้น ๆ ได้ดียิ่งขึ้น
นโยบาย
แสวงหาการมีส่วนร่วมจากทุก ๆ ฝ่าย บนพื้นฐานของการเคารพความคิดเห็นที่นำไปสู่การแสวงหาสันติภาพที่แท้ร่วมกัน
วัตถุประสงค์
1. เพื่อประสานงานและร่วมรณรงค์ในระดับสากลและในสังคมไทย ถึงคุณค่าของสันติภาพในวาระโอกาสที่สหประชาชาติได้ประกาศให้ปี 2529 เป็นปีสันติภาพสากล
2. เพื่อเผยแพร่และกระตุ้นเตือนให้บุคคลทั่วไปได้ตระหนักถึงปัญหาสันติภาพ และเข้ามามีบทบาทในการผดุงรักษาสันติภาพ
3. รณรงค์ให้เห็นถึงภัยอันตรายของการใช้ความรุนแรง เช่น อาวุธนิวเคลียร์และอาวุธอื่น ๆ ตลอดจนผลกระทบของความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีต่อพื้นฐานของสันติสุขและสันติภาพของโลก
ขอบเขตการรณรงค์
1. นิวเคลียร์ อาวุธนิวเคลียร์ อาวุธสงคราม การสะสมอาวุธ ผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ทางเลือกและทางออก
2. สันติภาพกับการพัฒนา
แนวทางการรณรงค์
1. ให้ความสำคัญต่อการเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารแก่นักพัฒนา นักเรียน นิสิตนักศึกษาและบุคคลทั่วไปทั้ง ในเมืองและชนบทไทย เปิดโอกาสให้มีการหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อขยายความคิดในเรื่องสันติภาพ และกระตุ้นให้มีการคิดพิจารณาในประเด็นสันติภาพมากขึ้น
2. เปิดโอกาสให้แสดงการมีส่วนร่วมจากบุคคลทั่วไปที่ตระหนักถึงความสำคัญของการรณรงค์เพื่อสันติภาพในรูปแบบต่าง ๆ ในเชิงสัญลักษณ์
3. ให้มีการแลกเปลี่ยนทัศนะและข้อคิดเห็นในเรื่องของสันติภาพในระดับนักวิชาการ อาจารย์ นักศึกษา และบุคคลทั่วไป เพื่อให้เป็นกระแสความคิดในเรื่องสันติภาพในสังคมไทยและการมีส่วนร่วมต่อการกําหนดบทบาทของสันติภาพของโลก
4. สร้างความสัมพันธ์ ร่วมรณรงค์ในระดับสากล และแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร กับองค์การต่างประเทศในระดับสากลอย่างสม่ําเสมอ
กิจกรรม
1. JAZZ DRAMA (17, 24 มีนาคม 2529)
โครงการปีสันติภาพ 2529 ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก และชมรมเทคนิคการแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดละคอนแจ๊สชุด “เส้นสีขาว” ซึ่งกํากับโดย คุณนที ธีระโรจน์กุล ขึ้น 2 รอบ ณ ห้องประชุม เอ.ยู.อ. ระหว่างเวลา 16.30-20.00 น. เพื่อหารายได้ส่วนหนึ่งให้มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก 50% และโครงการฯ 50% และเพื่อเป็นการเผยแพร่ปัญหาสันติภาพกับเด็ก ในหมู่สาธารณชนวงกว้าง
งานสันติภาพสัญจร
โครงการฯ เห็นความสำคัญของเยาวชน ซึ่งจะมีบทบาทสําคัญในการสร้างสรรค์สันติภาพต่อไปในอนาคต จึงจัดกองคาราวานสันติภาพสัญจรนำกิจกรรมไปแสดง ภายในโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย ในส่วนภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อเป็นการจุดชนวนความคิดสร้างความประทับใจให้กับเยาวชน กิจกรรมของสันติภาพสัญจรจึง เหมือนกับการหว่านเมล็ดพันธุ์สันติภาพไว้ จะเติบโตหรือไม่ขึ้นอยู่กับกลุ่มผู้ชมที่จะนำไปคิด
คณะของสันติภาพสัญจรประกอบไปด้วย นิทรรศการ 3 ชุด
1. สันติภาพกับการพัฒนา เป็นชุดที่จัดทําขึ้นใหม่ โดยเนื้อหาชี้ให้เห็นถึงความรุนแรงต่าง ๆ ที่ค่อย ๆ เกิดขึ้นในสังคม, ภาพความรุนแรงของสงคราม และผลที่ตามมาของสงคราม รูปแบบเป็นลักษณะข้อความสั้น ๆ มีภาพขาว-ดำ ประกอบ
2. ฮิโรชิมา เป็นนิทรรศการภาพถ่ายจากญี่ปุ่น ซึ่งกล่าวถึงเมื่อระเบิดปรมาณูตกลง ณ ฮิโรชิมาและนางาซากิ สภาพเหยื่อของรังสีและความรู้สึกของผู้คนต่อการระเบิดในครั้งนั้น
3. สันติวิธีเพื่อสันติสุข เป็นนิทรรศการของกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการแก้ไขปัญหาโดยการใช้สันติวิธี และความคิดเห็นของศาสนา ต่าง ๆ ต่อสันติสุข เป็นภาพการ์ตูนประกอบข้อความสั้น ๆ
การแสดงจากคณะละคร “มะขามป้อม” มีการแสดง 5 ชุด
1. ผีเสื้อ ดอกไม้ และนกเกเร เป็นรูปแบบ งานหุ่นที่ใช้กระดาษขนาดใหญ่ เนื้อหาเริ่มตั้งแต่ผีเสื้อ และดอกไม้อยู่กันอย่างสันติ แต่เมื่อเจ้านกออกมาก็แกล้ง ทั้งผีเสื้อและดอกไม้ และในที่สุดผีเสื้อก็รวมกันและสู้จน เอาชนะเจ้านกเกเรได้
2. สงคราม สันติภาพ ใช้รูปแบบของการแย่ง กันดูทีวี, ระหว่างฝ่ายที่สนใจศาสนากับสงคราม และใน ที่สุดทีวี.ก็เสีย ชี้ให้เห็นถึงการแก้ไขความขัดแย้งโดย ใช้ความรุนแรง ผลก็คือ ทีวี.เสีย
3. สันติพังพาบ เป็นละครพูด โดยสะท้อนถึงลักษณะของครอบครัวที่พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูก และก็คิดว่าตัวเองให้ความรักแก่ลูกอย่างเต็มที่ด้วยการให้เงินและบังคับให้เรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงและต้องเรียนพิเศษด้วย ผลก็คือลูกกลายเป็นเด็กหนีเรียน มั่วสุมกับเพื่อนเกเร
4. ชุดอยากให้ความรักแก่คนทั้งโลก เนื้อหา ของเพลงอยากให้ทุกคนมอบความรักให้แก่ผู้อื่น เมื่อเห็นใครมีทุกข์ก็ช่วยเหลือ รูปแบบเป็นการเต้นด้านซ์ ลักษณะสดชื่นรื่นเริง
5. ชุดฮิโรชิมา เป็นด๊านซ์ ใช้สไลด์ภาพการระเบิดของนิวเคลียร์ และภาพวาดของผู้ถูกพิษของรังสีปรมาณูประกอบ เนื้อหาเป็นการเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิด ณ เมืองฮิโรชิมา และความรุนแรงของระเบิดปรมาณู
ดนตรีจากคณะดนตรีโฟล์คซอง “แครี่ออน” ซึ่งแสดงดนตรีที่สะท้อนภาพของสังคมเมือง การเรียกร้องหาสันติภาพ เสรีภาพ
นอกจากนี้ยังมีวิดีโอ ชุด BooM, Big If และสงครามนิวเคลียร์ล้างโลก เรื่องหลังเป็นหนังสารคดีจากประเทศญี่ปุ่น เอกสารข้อมูล แผ่นพับ โปสเตอร์ และหนังสือการแข่งขันอาวุธแปลจาก THE ARMS RACE ของ JOHN TURNER ได้รับการเผยแพร่ยังห้องสมุดของสถานการศึกษาต่าง ๆ ที่คณะสันติภาพสัญจรได้เดินทางไปแสดง ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม คณะได้ตระเวณแสดงไปยังสถานที่ต่าง ๆ รวม 37 แห่ง ใน 31 จังหวัด ทางภาคกลาง ภาคใต้ และภาคเหนือของประเทศ
การจัดงานครั้งนี้ ได้รับความสนใจยิ่งจาก สื่อมวลชนทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์หลายฉบับ สถานีวิทยุ โทรทัศน์ในส่วนภูมิภาคก็ให้ความสนใจไม่ น้อย โทรทัศน์ช่อง 7 สี สุราษฎร์ธานี ช่อง 10 หาดใหญ่ โทรทัศน์ช่อง 8 ลําปาง รายการข่าวช่อง 9 อสมท. ราย การกระจกหกด้านทางโทรทัศน์ช่อง 7 สี เป็นต้น
การจัดงานสัมพันธภาพ ไทย-ลาว
โครงการฯ ได้จัดงานสัมมนาสัมพันธภาพไทย-ลาว (ลาว-ไทย) เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2529 ตั้งแต่เวลา 9.00-17.00 น. ณ ห้องประชุมสารนิเทศน์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วยนักวิชาการนักหนังสือพิมพ์ ตัวแทนจากสถานทูตลาว ประมาณ 50 คน วิทยาการที่น่าเสนอก็มี
- อ.ฉลอง สุนทราวานิชย์ นําเสนอในเชิงประวัติศาสตร์
- อ.สุรชัย ศิริไกร นําเสนอในเชิงการเมืองระหว่างประเทศ
- อ.สงวน รอดบุญ นําเสนอในเชิงวัฒนธรรม
- อ.ฮันส์ ลูเธอร์ น่าเสนอในเชิงเศรษฐกิจ
ผู้เข้าร่วมการสัมมนา ได้อภิปรายแสดงทัศนะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและได้มีข้อสรุปการสัมมนาดังนี้
1. แม่น้ำโขงมิใช่เป็นเพียงเขตพรมแดนระหว่างประเทศไทยและลาว หากควรถือเป็นจุดเชื่อมและเส้นทางคมนาคมระหว่างประเทศทั้งสอง จึงควรดำเนินการให้แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ําสันติภาพ สมตามคําแถลงร่วมระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลลาว ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2522
2. ควรมีการปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลทั้งสอง ตามหลักการพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และการเคารพบูรณภาพของดินแดน และอธิปไตยของแต่ละประเทศ
3. ในการปรับปรุงความสัมพันธ์นั้น ควรมีการดําเนินงานด้วยความจริงใจต่อกัน โดยการสร้างบรรยากาศแห่งมิตรภาพ และด้วยความพยายามโดยตรงที่จะแก้ไขความขัดแย้งที่มีต่อกัน
4. ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งหรือการกระทบกระทั่งตามชายแดน ควรหลีกเลี่ยงที่จะนำข้อพิพาทไปว่ากล่าวโจมตี ให้ประชาชนทั้งสองฝ่ายชิงชังกัน หรือนําข้อพิพาทไปโฆษณา เพื่อหวังผลทางการเมืองระหว่างประเทศ
5. ไม่ควรใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา ผู้ที่ก่อความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ ควรได้รับการประนามจากทุกฝ่าย
6. ควรมีการเจรจาโดยวิถีทางการทูตเป็นประจําเพื่อเป็นกลวิธีในการแก้ไขความขัดแย้ง การเจรจาควรมี ทั้งระดับรัฐบาล และระดับท้องถิ่น
7. ควรมีมาตรการเสริมสร้างความเข้าใจและความไว้วางใจกัน เช่น การแลกเปลี่ยนศิลปิน การส่งเสริมการท่องเที่ยว การส่งเสริมการค้า
8. ควรส่งเสริมการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประเทศทั้งสอง และนำผลการศึกษามาเผยแพร่ให้ประชาชนทั้งสองประเทศได้รู้จักกันและเข้าใจกันมากขึ้น
นอกจากนี้ในวันที่ 13-14 ธันวาคม 2529 โครงการฯ ได้จัดงานแสดงศิลปวัฒนธรรมจากประเทศสาธารณประชาธิปไตยประชาชนลาว อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมลาว-ไทย ระหว่างเวลา 14.00-17.00 น. ณ หอประชุม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะศิลปวัฒนธรรมลาว ยังมีรายการแสดงที่จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 16 ธันวาคม และที่ขอนแก่น ในวันที่ 18 ธันวาคม 2529
กทม. เขตปลอดนิวเคลียร์
ด้วยความตั้งใจพยายามที่จะให้ประชาชนคนไทยได้เข้ามีส่วนร่วมรณรงค์สันติภาพของโลก รับรู้ และเข้าใจถึงอันตรายของนิวเคลียร์ อาวุธนิวเคลียร์ เข้าร่วมหยุดยั้งการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ การติดตั้งพลังงานนิวเคลียร์ ขจัดนิวเคลียร์ให้หมดสิ้นจากพื้นพิภพนี้ โครงการปีสันติภาพ 2529 จึงถือโอกาสในวาระแห่งปีสันติภาพสากล ร่วมรณรงค์กับชาวโลกขอเรียกร้องให้ประกาศกรุงเทพมหานคร เป็นเขตปลอดนิวเคลียร์
ปัจจุบัน ประชาชนทั่วโลกร่วมรณรงค์ประกาศเป็นเขตปลอดนิวเคลียร์กว่า 3,082 ชุมชน ด้วยความหวังที่จะขยายอาณาเขตปลอดนิวเคลียร์ออกไปทั่วโลก ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งที่จะหยุดยั้งมหันตภัยที่อาจเกิดขึ้นจากสงครามนิวเคลียร์
ข้อเสนอที่ให้ กทม. เป็นเขตปลอดนิวเคลียร์
หลัก 3 ประการ ที่มักถือปฏิบัติในการประกาศเขตปลอดนิวเคลียร์ ได้แก่
1. ไม่ผลิต
2. ไม่มีไว้ในครอบครอง
3. ไม่อนุญาตให้นําเข้ามาในเขต ซึ่งอาวุธนิวเคลียร์
บางครั้งมีการประกาศห้าม การตั้งคลังอาวุธนิวเคลียร์ การติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ การขนส่งอาวุธนิวเคลียร์ และการผลิตชิ้นส่วนของอาวุธนิวเคลียร์ด้วย
การต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์มักรวมถึงการทําเหมืองแร่ยูเรเนียม การถลุงแร่ยูเรเนียม การตั้ง โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ การขนส่งเชื้อเพลิงและกากเชื้อ เพลิงนิวเคลียร์ การนํายานที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิว
เคลียร์เข้ามาในเขตการต่อต้านหรือการห้าม มักไม่รวมถึงการวิจัยและการประยุกต์นิวเคลียร์ในทางการแพทย์ และในทางสันติอื่น ๆ
โครงการฯ ได้ยื่นหนังสือพร้อมร่างญัตติ กทม. เป็นเขตปลอดนิวเคลียร์ ต่อนายไพโรจน์ ประเสริฐ ประธานสภา กทม. และนายวิชา จิวาลัย รองผู้ว่า กทม. เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2529 อันเป็นวันครบรอบ 41 ปีการทิ้งระเบิด ปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาประเทศญี่ปุ่น
วันสันติภาพไทย 16 สิงหาคม 2529
โครงการฯ ร่วมกับกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม จัดงานวันสันติภาพไทย เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2529 ที่ ธรรมสถาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์มุ่งที่จะประสานความร่วมมือกันระหว่างศาสนาต่าง ๆ และเป็นการรำลึกถึงวันคล้ายวันประกาศสันติภาพของไทยเมื่อ พ.ศ. 2488 อันเป็นปีสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
กิจกรรมประกอบด้วยพิธีกรรมทางศาสนา จากศาสนาพุทธ คาทอลิก และโปแตสแตนท์ หลังจากนั้นมีการแสดงละครโดยกลุ่มคนตีนดํา มีเนื้อหาสะท้อนความวุ่นวายของสังคม, การปลูกฝังความรุนแรง การค้นหาความหมายของชีวิตและสันติภาพ
จากนั้นเป็นพิธีเปิดประติมากรรมสันติภาพ โดย ดร.เกษม สุวรรณกุล อธิการบดี จุฬาฯ เมื่อพิธีต่าง ๆ สิ้นสุดลง ริ้วขบวนสันติภาพประกอบด้วยผู้เข้าร่วมในพิธีประมาณ 100 คน ถือป้ายผ้าข้อความ “ปลูกดอกไม้แห่งสันติ ดอกไม้ผลิในดวงใจ” “สันติภาพจงครองโลก” จากธรรมสถานไปยังสวนลุมพิธี เพื่อร่วมในพิธีปักเสาสันติภาพ และปลูกต้นไม้สันติภาพ โดยมีพลตรีจําลอง ศรีเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีมหกรรมดนตรีสันติภาพ ครั้งที่ 2 “สันติภาพสู่ชนบท"
บ้านเมืองมีความเป็นมา
ทุ่งนาภูเขาแม่น้ํา ฝนพรมลมเย็นชื่นฉ่ํา
ผู้คนสร้างท่าเรื่อยมา
สงครามคุกคามทําลาย
วอดวายผืนดินแผ่นฟ้า
อะตอมมิคบอมบ์ลงมา
นิวเคลียร์นิวตรอนรังสี...
สุรชัย จันทิมาธร
บางตอนจากเพลง “สันติภาพ”
แล้วก็ถึงเวลาของสันติภาพ เสียงเพลงแห่งสันติภาพ คือชีวิตและความใฝ่ฝัน คือบทเพลงสร้างสรรค์สันติภาพ โครงการฯ ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานองค์การพัฒนาเอกชนด้านสาธารณสุขมูลฐาน (คปอส.) ซึ่งประกอบด้วยองค์การพัฒนาด้านสาธารณสุขมูลฐานต่าง ๆ 12 องค์กร จัดมหกรรมดนตรีสันติภาพสู่ชนบท ในวันที่ 16 สิงหาคม 2529 ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รายการได้เปิดฉากขึ้นเมื่อเวลาบ่ายสามโมงครึ่งคณะบัตเตอร์ฟลาย (BUTTERFLY) ผีเสื้อดนตรีทั้งห้าก้าวขึ้นเวทีด้วยเสียงปรบมือกึกก้อง ติดตามด้วยฮัคกี้ไอเคิลมันท์, ฐิติมา สุตสุนทรกับวงแก้ว สลับด้วยการฉายสไลด์ชุดสันติภาพกับการพัฒนา ฉายให้เห็นสภาพสงครามในญี่ปุ่นเมื่อ 41 ปีที่แล้ว สงครามเวียดนาม เขมร พร้อมคําบรรยาย
“สงคราม....มีแต่การฆ่า ทําลายมนุษย์ มีแต่คราบเลือดและน้ําตา”
“เด็ก ๆ ต้องตายไปนาทีละ 30 คน เพราะขาดอาหาร”
“เรือดําน้ํานิวเคลียร์หนึ่งลํา งบประมาณเท่ากับงบการศึกษาประเทศด้อยพัฒนา 23 ประเทศรวมกัน”
ก่อนที่จะถึงวาระของคาราวาน รุ้ง 22 สี ได้เสนอจินตลีลาเนื้อหาต่อต้านสงคราม ชุด “ฆาตกรแห่ง ยุคสมัย” เนื้อหาสะท้อนเกี่ยวกับความใฝ่ฝันของมนุษย์ถึงสันติภาพ
“เมื่อผลประโยชน์กลายเป็นปัจจัยสําคัญในการ ดํารงชีวิตของมนุษย์ สันติภาพก็สูญสลายไป...” แล้วถึงเวลาของคาราวาน มาเล่นเพลงที่อยากฟังกันหลายเพลงเพลงฮิโรชิมา กัมพูชา อินโดจีน ทางสีขาว ฯลฯ และก่อนที่จะจบด้วยการร่วมบรรเลงเพลงของเหล่าศิลปินที่มาร่วมในงานเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และประคํากรองลูกสาว ออกมาอ่านลํานําบทกวี “แด่วันสันติภาพ” รายการจบลงเมื่อแหวน และสุรชัย ร่วมร้องเพลงสันติภาพฮัคกี้และบัตเตอร์ฟลาย ออกมาร่วมบรรเลงเพลง และเสียงสันติภาพ ก็ดังกระหึมก้องขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
การจัดรายการครั้งนี้ มีการจัดทําบันทึกเทปวิดีโอ และนําออกอากาศเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2529
การประกวดร้อยแก้ว ร้อยกรอง และคําขวัญเพื่อสันติภาพ
โครงการฯ ร่วมกับทบวงมหาวิทยาลัย และสมาคมสภาการกลางศาสนาบาไฮ จัดประกวดร้อยแก้ว ร้อยกรอง และค่าขวัญ เพื่อสันติภาพ ในระดับนักศึกษาประชาชนและนักเรียนระดับมัธยมปลาย โดยมี ฯพณฯ พงษ์ สารสิน เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวด เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2529 อันเป็นวันสันติภาพสากล ณ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว
การจัดงานสัปดาห์สันติภาพสากล
(16-21 กันยายน 2529)
โครงการปีสันติภาพ 2529 ร่วมกับคณะกรรมการดำเนินงานเตรียมงานปีสันติภาพสากล ทบวงมหาวิทยาลัยจัดงานสัปดาห์สันติภาพสากล ด้วยเห็นว่าในโอกาสที่องค์การสหประชาชาติกําหนดให้วันที่ 16 กันยายน เป็นวันสันติภาพสากล หน่วยงานของรัฐและองค์การเอกชนน่าจะได้ร่วมกันจัดงานเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองสันติภาพร่วมกันกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และได้กําหนดจัดงานในวันที่ 16-21 กันยายน ณ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว
1. พิธีเปิด เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2529 ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรีพงษ์ สารสิน เป็นประธานในพิธีกล่าว เปิดงาน มีตัวแทนจากสหประชาชาติ DR.MAKA- MINAN MAKAGIANSAR, ASSISTANT DI- RECTOR GENERAL FOR CO-ORDINATION OF UNESCO ACTIVITIES IN ASIA AND THE PACIFIC, BANGKOK, และประธานโครงการปีสันติภาพ นายแพทย์เสม พริ้วพวงแก้ว กล่าวสุนทรพจน์ ในงาน จากนั้นมีพิธีมอบรางวัลผู้ชนะการประกวด ภาพวาด, ร้อยแก้ว, ร้อยกรอง, คําขวัญ และสัญญลักษณ์ สันติภาพ ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรีเปิดนิทรรศการสันติภาพและนิทรรศการแสดงภาพจิตรกรรมแก่สันติภาพ
2. นิทรรศการ ภายในงานได้ติดตั้งนิทรรศการทั้งสิ้น 10 ชุด คือ
1. ผลงานของผู้ชนะการประกวดร้อยแก้ว ร้อย กรอง คําขวัญ ภาพวาด และสัญญลักษณ์สันติภาพ
2. นิทรรศการชุดสันติภาพกับการพัฒนา ของ โครงการฯ
3. นิทรรศการชุดฮิโรชิมา ของ โครงการฯ
4. นิทรรศการชุดสันติวิธีเพื่อสันติสุข ของ กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม
5. นิทรรศการชุดสันติภาพกับชุมชนแออัดในเมืองของ คปอช. (คณะกรรมการประสานงานองค์การพัฒนาเอกชนเพื่อชุมชน)
6. นิทรรศการชุดสันติภาพกับสาธารณสุขมูลฐาน ของ คปอส. (คณะกรรมการประสานงานองค์การพัฒนาเอกชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน)
7. นิทรรศการชุดผู้หญิงกับสันติภาพ ของศูนย์ ข่าวผู้หญิง
8. นิทรรศการชุด เด็กกับสันติภาพ ของศูนย์ พิทักษ์สิทธิเด็ก มูลนิธิเด็ก
9. นิทรรศการศาสนานาบาไฮ ของสภาการ กลางศาสนานาบาไฮ
10. นิทรรศการสันติภาพ ของกลุ่มเยาวชนสันติภาพ ม.รามคําแหง
3. นิทรรศการจิตรกรรมแด่สันติภาพ
เนื่องจากมีศิลปินประสงค์จะเข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์สันติภาพ
จึงได้ริเริ่มในการจัดแสดงภาพจิตรกรรมเพื่อสันติภาพเนื่องในโอกาสปีสันติภาพสากล โดยได้ตั้งคณะทํางานอันประกอบด้วยศิลปินจํานวนหนึ่งและโครงการฯ ในการดําเนินงานและชักชวน ศิลปินท่านอื่น ๆ เข้าร่วม เพื่อเป็นการรณรงค์โน้มน้าวและส่งเสริมให้ศิลปินมีส่วนร่วมและเปิดบทบาทเพื่อสังคม ทั้งยังเป็นการแสดงสื่อสันติภาพในอีกรูปแบบหนึ่ง
“งานศิลปินล้วนหลั่งไหลมาจากรากฐานทางจิตวิญญาณเช่นเดียวกับศาสนาในการผดุงค่าของมนุษย์และสรรพสิ่งงานศิลปเป็นการถ่ายทอดอารมณ์รู้สึกที่บริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ ตามที่ศิลปินบรรลุถึง ถ่ายทอดลงสู่งานศิลปกรรม เพื่อกํานัลภาวะแห่งสันติภาพแก่มนุษยชาติทั้งมวล”
นอกจากนี้ยังมีการแสดงบนเวทีอีกหลากหลายตลอดงาน เช่น ดนตรี ละคร ปาฐกถาธรรม การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของอีสาน การแสดงของเด็กและรายการเวที-วาที เป็นต้น
แม่ค้าสงคราม
โครงการฯ ร่วมกับภาควิชาศิลปการละคร คณะ อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดละครเวทีปีสันติภาพ เรื่อง “แม่ค้าสงคราม” จากบทละครเรื่อง "MOTHER COURAGE AND HER CHILDREN" ของ BERTOLT BRECHT ในระหว่างวันที่ 30 พฤศ จิกายน - 8 ธันวาคม 2529 ณ หอประชุม จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
บทละครเรื่องแม่เคอเรจกับลูก ๆ ของเธอ (Mother Courage and Her Children) ของแบร์ทอลท์ เบรคชท์ (Bertolt Brecht 1898-1956) เป็นเรื่องเกี่ยวกับสงคราม 30 ปี ในคริสตศตวรรษที่ 17 ซึ่งเป็นสงครามศาสนา ระหว่างพวกโปรแตสตันท์กับคาทอลิก ขอบเขตของสงคราม กินวงกว้างตั้งแต่เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ โปแลนด์ ฟินแลนด์ สวีเดน โมราเวีย บาวาเรีย และอิตาลี เบรคชท์ ได้แสดงความเห็นเรื่องสงครามออกมาในทัศนะของคนที่เกลียดวีรกรรมทางทหาร เบรคชท์พูดถึงการฉกฉวย อํานาจและการเอารัดเอาเปรียบในสงคราม ในท้องเรื่อง นั้นมีสงครามตามประวัติศาสตร์วางอยู่เป็นฉากหลัง แต่ ณ เบื้องหน้าผู้ชม เบรคซท์เสนอภาพชีวิตประจําวัน ของคนที่ไม่ได้อยู่ในแนวรบ แต่ใช้ชีวิตอยู่กับสงคราม ฉกฉวยผลประโยชน์เข้าตัวเองมากที่สุด และ “เกาะกิน” อยู่กับสงคราม สําหรับเบรคชท์แล้ว สงครามที่แท้จริง มิได้อยู่ในแนวรบ ชัยชนะหรือความปราชัยมิได้มีความ หมายอย่างใดเป็นพิเศษ การต่อสู้ที่แท้จริงอยู่ที่เรื่องปาก ห้อง เงินทอง และเครื่องอุปโภคบริโภค
สงครามของเบรคชท์นั้นไม่ได้เกิดจากวิเทโศบาย ทางการเมือง การพูด และการทหารเท่านั้น หากยังเกิด จากระบบทุนนิยมและระบบการค้าเสรีด้วย วิเทโศบาย ระดับสูงอาจกําหนดให้เกิดสงครามขึ้น แต่สงครามก็ยึดเยื้อยาวนานอยู่ได้เพราะคนในระดับรอง ๆ ลงมายังคง ได้กําไรจากการทําสงครามนั้น ๆ
“รองเท้าสงคราม ดิฉันมีขาย
ใส่เดินไปตาย
ราคาไม่แพง...”
“กองทัพเดินด้วยท้อง ลูกปืนหม่นหมอง
ถ้าเจาะท้องแห้งแห้ง ซื้อข้าวกินก่อน
เวลาตะลุมบอน เลือดจะได้แดง...”
...นี่เป็นเพลงที่แม่ห้าวหาญร้องในยามสงคราม
คนทั่ว ๆ ไปรู้กันว่าสงครามนําความหายนะมาสู่โลก แต่สําหรับแม่ห้าวหาญแล้ว สงครามคือกําไร
บทความสันติภาพ
ด้วยความร่วมมืออย่างดียิ่งจากคณะกรรมการเผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา ซึ่งได้รับผิดชอบติดต่อทาบทามบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชนในการพิจารณารับบทความที่เกี่ยวกับสันติภาพลงตีพิมพ์ทุกสองสัปดาห์ ทั้งยังรับติดตามบทความจากผู้ห่วงใยไปสันติภาพหลายท่านที่รับช่วยเขียนบทความส่งให้
การกําหนดหัวข้อในขั้นต้นกําหนดไว้ 19 หัวข้อ โดยผู้เขียน 19 ท่าน โดยที่กําหนดทั่วไว้
นิคเนมแม่ห้าวหาญนั้นเล่า ก็ได้มาจากการขับเกวียนฝ่ากองทัพที่กําลังสู้รบ เพียงเพื่อมิให้ขนมปังขึ้นราจะได้ขายได้กําไร
แม่ห้าวหาญมัวแต่วุ่นวายต่อรองราคาค่าติดสินบนจนกระทั่งลูกชายถูกยิงตายไปหนึ่งคน
ลูกชายตายแล้ว แม่ห้าวหาญมองดูศพลูกที่ถูกปืนเจาะร่างพรุน แล้วส่ายหน้าบอกว่าเป็นศพของคนที่ไม่รู้จัก
ไม่มีคําว่า “ให้” สําหรับแม้ห้าวหาญ เธอกระชาก เสื้อโค้ทขนสัตว์จากทหารทันทีที่ไม่มีเงินจ่ายค่าเหล้า “ยังมีคนติดอยู่ในนั้นเลยนะ” นั่นเป็นเสียงจากผู้รู้เห็นเหตุการณ์
หลากหลายเกี่ยวข้องกับปัญหาสันติภาพในแง่มุมต่าง ๆ ซึ่งได้แก่สันติภาพกับการพัฒนา, แรงงานสร้างสรรค์สันติภาพ, ต้นไม้กับสันติภาพ, การศึกษาเพื่อสันติภาพ, การปกครองท้องถิ่นกับสันติภาพ, สันติประชาธิปไตย, พุทธศาสนากับสันติภาพ, ข้าวกับสันติภาพ, กฎหมายเพื่อสันติภาพ, สุขภาพกับสันติภาพ, กทม. เขตปลอดนิวเคลียร์ การดํารงอยู่สันติวิธี, ไทยมุสลิมกับสันติสุขใน ภาคใต้, ผู้หญิงกับสันติภาพ, สันติภาพกับเด็ก สันติภาพกับสิทธิมนุษยชน, จากปีสันติภาพสู่ปีที่ อยู่อาศัย
หมายเหตุ :
- บทความนี้ได้รับอนุญาตจากผู้เขียน ให้นำมาเผยแพร่แล้ว
- คงอักขระวิธีสะกด และรูปแบบการอ้างอิงตามต้นฉบับ
เอกสารอ้างอิง :
- ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์, “การเคลื่อนไหวสันติภาพในไทย”, ไทย-ญี่ปุ่นศึกษา, (3:3), 1986, 27-41.