อัครพงษ์ ค่ำคูณ:
อาจารย์ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ ท่านก็จะมาคุยกับเราเรื่องบทบาทของท่านอาจารย์ปรีดีกับท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เกี่ยวกับเรื่องของความสงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีบทบาทอย่างไรบ้าง อาจารย์เรียนเชิญครับ
ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์:
ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้รับเชิญวันนี้ แต่ก็รู้สึกประหม่ามาก เพราะว่าดิฉันดูรายชื่อวิทยากรร่วมเวทีวันนี้แล้ว ดิฉันอาจเป็นคนหนึ่งที่รู้เรื่องสตรีน้อยที่สุด กระทั่งไม่ค่อยแน่ใจว่าตนเองรู้เรื่องสันติภาพเท่าไหร่ จริง ๆ สนใจเรื่องความรุนแรงเป็นหลัก แล้วสนใจเรื่องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ดิฉันทำวิจัยมาเป็นเวลายาวนาน เพราะฉะนั้นก็เลยเตรียมประเด็นมา 3 ประเด็น จะมาลองชวนคุยกัน ประเด็นที่หนึ่งคือเรื่องบทบาทของท่านอาจารย์ปรีดีกับท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ในเรื่องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเด็นที่สองดิฉันอยากพาเลี้ยวไปในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของดิฉัน ที่อยากชวนคุยเกี่ยวกับผู้หญิงมลายูซึ่งมีบทบาทต่อกระแสชาตินิยมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และประเด็นที่สามเกี่ยวกับความมั่นคงคิดกับตัวเองว่าถ้าไม่พูดเกี่ยวกับประเด็นนี้ตนเองคงกลับบ้านไปนอนไม่หลับก็คือ ความเหมารวมระหว่าง 3 สิ่ง ได้แก่ สำนึกชาตินิยมมลายู ขบวนการแบ่งแยกดินแดน และเรื่องการใช้ความรุนแรง เดี๋ยวเราไล่เรียงไปทีละประเด็น
เรื่องแรกประเด็นเรื่องบทบาทของท่านอาจารย์ปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุข ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จริง ๆ หลายท่านที่คุ้นเคยกับงานของท่านอาจารย์ปรีดีก็คงทราบดีว่า ท่านอาจารย์ปรีดีมีบทบาทในเรื่องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มานานแล้ว และมีบทบาทโดดเด่นอีกด้วย ค่อนข้างจะเป็นที่รับรู้กันทั่วไปก็คือ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 คณะราษฎรซึ่งท่านอาจารย์ปรีดีเป็นกำลังสำคัญก็พยายามจะปรับแนวนโยบายเพื่อมุ่งรักษาความความสัมพันธ์อันดีกับชาวมลายูมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยแนวคิดหลัก ๆ ก็คือว่า อยากจะให้ชาวมลายูมุสลิมดำรงอัตลักษณ์ทางศาสนา ภาษา และวัฒนธรรมของตัวเองได้ ในเรื่องนี้ดิฉันอยากจะพาเลี้ยวไปที่บุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งก็คือ คุณเด่น โต๊ะมีนา เป็นบุตรชายคนหนึ่งของหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนา ซึ่งเป็นครูสอนศาสนาเป็นคนสำคัญของจังหวัดชายแดนภาคใต้ คุณเด่นเคยเล่าเอาไว้ว่า
“เมื่อประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี หะยีสุหลงก็เดินทางไปหารัฐมนตรีเพื่อเล่าให้ฟังถึงความคิดที่จะสร้างโรงเรียน เพื่อสอนให้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าใจหลักศาสนาอิสลามอย่างแท้จริง พระยาพหลฯ ฟังแล้วก็ควักเงินส่วนตัวเพื่อร่วมสมทบในการสร้างโรงเรียนสอนศาสนานี้เป็นเงิน 3,200 บาทเมื่อหะยีสุหลงเดินทางกลับไปยังปัตตานีเพื่อสร้างโรงเรียนจนเสร็จ บุคคลท่านแรกที่ไปเยี่ยมโรงเรียนสอนศาสนาแห่งนี้ก็คือท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย”
นอกจากนี้ก็ยังมีทั้งคำบอกเล่าของครอบครัวหะยีสุหลง บันทึกเอาไว้ว่า “เป็นอาจารย์ปรีดีนั้นเองที่เป็นคนสนับสนุนให้หะยีสุหลงยกร่างหนังสือว่าด้วยความต้องการของชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อเสนอแนวทางให้รัฐบาลในขณะนั้น แก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างจริงใจและจริงจัง” บทสนทนาระหว่างอาจารย์ปรีดีและหะยีสุหลงเป็นที่มาของสิ่งที่หลายคนคุ้นเคยกับกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกสิ่งนี้ว่า “ข้อเสนอ 7 ประการ ของหะยีสุหลง” แต่แล้วเวลาผ่านก็พบว่าอยู่ในบันทึกหน่วยงานความมั่นคงไม่ได้เรียกว่าข้อเสนออีกต่อไป แต่เรียกว่า “ข้อเรียกร้อง 7 ประการของหะยีสุหลง” ต่างกันมากระหว่างข้อเสนอกับข้อเรียกร้อง เมื่อข้อเสนอกลายมาเป็นข้อเรียกร้องก็ถูกนำมาเป็นหลักฐานสำคัญว่า “หะยีสุหลงกำลังจะก่อกบฏ” และถูกดำเนินคดีอย่างที่หลายคนทราบ เรื่องสำนึกชาตินิยมมลายู อาจารย์ปรีดีก็เคยกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า
“การรักปิตุภูมิท้องที่มิได้หมดไปง่าย ๆ และยิ่งประกอบด้วยท้องที่นั้นมีศาสนาต่างกัน หรือศาสนาต่างกันแต่นิกายต่างกันกับพลเมืองส่วนข้างมากของชาติที่รวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว การรักปิตุภูมิท้องที่ก็ยิ่งลึกซึ้ง ดังนั้น สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะบรรเทาลงได้ก็ด้วยการสร้างสันติภาพ หาใช้วิธีการใช้อำนาจเข้าไปกดปราบดังที่เคยใช้กันมา”
คำพูดดังกล่าวนี้สะท้อนว่า อาจารย์ปรีดีมีความเข้าใจและมีทัศนคติที่มีต่อมลายู ไม่ได้รู้สึกว่า สำนึกมลายูเป็นภัยคุกคามต่อชาติไทยแต่อย่างไร ที่จะต้องกำจัดให้หมดไป คำถามก็คือว่า ทั้งหมดนี้เกี่ยวอะไรกับท่านผู้หญิงพูนศุข ดิฉันไม่พบหลักฐานที่เกี่ยวกับท่านผู้หญิงพูนศุขในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรง แต่ดิฉันมีข้อสังเกตว่า ไม่เชื่อว่าท่านผู้หญิงพูนศุขไม่มีบทบาท เพราะว่ามีบันทึกต่างวาระที่ท่านผู้หญิงพูนศุขเป็นคนสำคัญที่ช่วยในกิจการงานต่าง ๆ ของท่านอาจารย์ปรีดีตลอด โดยเฉพาะในเรื่องการตรวจทานเอกสารสำคัญ ดิฉันคงคิดว่าไม่เกินเลยที่จะสรุปกับตัวเองว่า ท่านผู้หญิงพูนศุขน่าจะเคยผ่านตาเอกสารสำคัญในเรื่องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ด้วย ซึ่งอาจจะรวมถึงข้อเสนอ 7 ประการ ของหะยีสุหลงด้วย
เมื่อโยงไปประเด็นที่สองทั้งหมดนี้เกี่ยวกันอย่างไร ทำไมดิฉันมีข้อสังเกตเช่นนี้ เนื่องจากข้อสังเกตนี้มาจากการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกภายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และดิฉันสนใจเรื่องสำนึกชาตินิยมมลายู ดิฉันได้ไปสัมภาษณ์ผู้คนสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งก็คือชาวบ้านทั่วไป และอีกกลุ่มหนึ่งก็คือคนที่มีสำนึกชาตินิยมมลายู การได้สัมภาษณ์ทำให้ดิฉันมีข้อสังเกตว่า ทำไมมีแต่ผู้ชายมาให้สัมภาษณ์ ทำไมไม่มีผู้หญิงเลย จาก 30 กว่าคน ที่สัมภาษณ์มีผู้หญิง 2 คน หรือ 3 คน เท่านั้น ในฐานะที่อยากจะเข้าข้างนักวิจัยที่ดีกับตัวเอง จึงเอาข้อสงสัยดังกล่าวไปถามบรรดานักกิจกรรมมลายูที่เป็นผู้หญิงว่า ทำไมผู้สัมภาษณ์ที่เป็นผู้หญิงมีจำนวนน้อยมากเลย โดยนักกิจกรรมบอกกับดิฉันว่า เขาคิดว่าเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ไม่ค่อยมีนักกิจกรรมชาตินิยมที่เป็นผู้หญิง ไม่ต้องพูดถึงผู้นำที่เป็นผู้หญิง เพราะแค่นักกิจกรรมก็ไม่ค่อยมีผู้หญิง เขาคิดว่า เงื่อนไขสำคัญก็คือ วัฒนธรรมปิตาธิปไตยในวัฒนธรรมมลายูท้องถิ่นซึ่งสอดรับการตีความศาสนาอิสลามของคนในพื้นที่ ดิฉันไม่ได้กล่าวว่าศาสนาอิสลามเป็นเช่นไร และดิฉันไม่ได้มีความรู้มากเช่นนั้น แต่นี้คือความเห็น หรือการตีความของผู้ให้ข้อมูลจากคนท้องถิ่นว่า ศาสนาอิสลามแปลว่าเช่นนี้
ดิฉันเล่าเรื่องนักกิจกรรมสองคนนั้นให้ฟังอย่างกระชับ ทั้งสองคนกล่าวว่า “ผู้หญิงมลายูมักไม่ค่อยแสดงออกในพื้นที่สาธารณะมากนัก เป็นผลมาจากทัศนะเรื่องชายเป็นใหญ่ในวัฒนธรรมท้องถิ่น ผู้หญิงที่กล้าแสดงความคิดเห็นมักไม่ได้รับการตอบรับที่ดีจากชุมชน กระทั่งผู้หญิงเองก็อาจไม่ได้สนับสนุนกันในเรื่องนี้” อีกคนหนึ่งก็กล่าวเพิ่มว่า “บทบาทของผู้หญิงมลายูมักจะถูกบดบังด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งยากจะแยกออกจากการตีความศาสนาอิสลามของคนท้องถิ่น ความคิดเช่นนี้ฝังรากลึกในทัศนคติของผู้หญิงมลายูเองว่าที่ทางของพวกเธออยู่ในครัว ภารกิจสำคัญของพวกเธอก็คือการดูแลครอบครัวเท่านั้น นักกิจกรรมหญิงชาวมลายูที่มีอยู่บ้าง ซึ่งมักจะจำกัดหน้าที่ของตัวเองอยู่ที่งานสังคมสงเคราะห์ งานเยียวยา หรืองานเลขานุการ” การกล่าวเช่นนี้แปลว่าผู้หญิงก็ไม่มีบทบาทอะไรใช่ไหม ซึ่งดิฉันไม่เห็นด้วยเลย
ข้อค้นพบประการหนึ่งของวิทยานิพนธ์ก็คือว่า บทบาทของผู้หญิงโดยเฉพาะในฐานะของความเป็นแม่เป็นปัจจัยสำคัญในการเผยแพร่ส่งต่อสำนึกชาตินิยมมลายูจากรุ่นสู่รุ่น และในวิทยานิพนธ์ดิฉันพบว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สำนึกชาตินิยมมลายูยังคงเข้มแข็งอยู่ในปัจจุบันไม่ใช่เพียง เพราะว่าอัตลักษณ์ที่แตกต่างทั้งเรื่องภาษา วัฒนธรรม ศาสนา เท่านั้น แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือสิ่งที่เรียกว่า “Narrative” หรือ “เรื่องเล่า” และที่เฉพาะในเชิงทฤษฎีเขาเรียกว่า “constitutive story” หรือ เรื่องเล่าของความเป็นชาติ ก็คือว่า คนที่เป็นชาติเดียวกับ หรือชุมชนจินตกรรมเดียวกับเรา เป็นใคร มีคุณสมบัติอย่างไร ประวัติศาสตร์เราเป็นอย่างไร เรามีความฝันร่วมกันอย่างไร เรื่องเล่าของความเป็นชาติถูกส่งผ่านแทบจะทุกครอบครัวโดยแม่ แม่เป็นคนเล่าตั้งแต่เด็กว่า มลายูมีความเป็นมาอย่างไร บรรพบุรุษเป็นอย่างไร ที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือว่า มีหลายครอบครัวมากที่ดิฉันสนทนาด้วย แล้วบอกว่า เป็นแม่ที่จะพูดประโยคเหมือน ๆ กัน คือ “Kita orang nayu” ซึ่งเป็นภาษามลายูที่แปลว่า “พวกเราคือคนมลายู” นี้เป็นประโยคแรก ๆ ที่คนมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกบอกเล่าโดยแม่ในครอบครัวนอกจากเรื่องของการปฏิบัติ
ประเด็นของดิฉันก็คือว่า บทบาทของผู้หญิงต่อกรณีสำนึกชาตินิยมเป็นอย่างเข้มแข็งมาก จริง ๆ คล้ายกับที่อาจารย์ชานันท์ ยอดหงษ์ บอกว่า “ถ้าไม่มีผู้หญิงสำนึกความเป็นชาติอาจจะสูญหายไป หรือถดถอยไปด้วยซ้ำ” แต่จะเป็นด้วยโครงสร้างทางสังคม หรือวัฒนธรรม ก็ไม่ค่อยมีการบันทึกไว้ ไม่ค่อยถูกยอมรับ หรือที่รับรู้เท่าที่ควร
ประเด็นสุดท้าย ก็คือเรื่องสำนึกชาตินิยมกับความเป็นชาติ เมื่อสักครู่อาจารย์ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ก็เริ่มต้นด้วยการพูดเรื่องนิยามของความเป็นชาติ บรรดาคำนิยามหลากหลายของคำว่า nationalism หรือ ชาตินิยม มีนิยามที่ดิฉันอยากหยิบยกมาสนทนาในที่นี้ โดยมีนักวิชาการเสนอเอาไว้สำคัญชื่อ Ernest Gellmer และ Anthony D. Smith เขาบอกว่า ชาตินิยมมีความหมายได้สองมิติได้แก่ มิติที่หนึ่งก็คือ “ความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ที่มีร่วมกัน” หรือ “nationalism sentiment” ฐานะสมาชิกของชุมชนทางการเมืองในจินตกรรมของชาติร่วมกัน อันนี้เป็นด้านหนึ่งของความรู้สึก อีกด้านหนึ่งชาตินิยมอาจจะหมายถึง “ขบวนการชาตินิยม” หรือ “nationalism movement” หมายถึงกลุ่มคนที่มุ้งเคลื่อนไหวบนฐานความรู้สึกที่ภาคภูมิใจในชาติ หรืออาจะเรียกว่า กลุ่มขบวนการเรียกร้องเอกราช
ประเด็นสำคัญอยู่ที่ทั้ง Ernest Gellmer และ Anthony D. Smith สรุปว่า ความหมายของชาตินิยมทั้งความรู้สึก และขบวนการ มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันก็จริง แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งเดียวกันหมายความว่า คน ๆ หนึ่งอาจจะมีความรู้สึกภาคภูมิใจมากที่เป็นคนมลายู แต่ไม่ได้แปลว่าเขาต้องอยู่ในขบวนการเสมอไป ประเด็นที่หนึ่งที่ต้องวิเคราะห์ให้ออก ประเด็นที่สองที่เกี่ยวข้องกันก็คือว่า ต่อให้เขาภาคภูมิใจและเขาพาตัวเองเข้าไปอยู่ในขบวนการชาตินิยม ไม่ได้แปลโดยอัตโนมัติว่า เขานิยมความรุนแรง เราคุยกันในที่นี้คงทำให้เห็นร่วมกันในระดับหนึ่งว่า มีขบวนการชาตินิยมจำนวนมากทั้งในอดีตและร่วมสมัยในปัจจุบันที่ขับเคลื่อนให้สำนึกชาตินิยมเข้มแข็ง โดยไม่ใช้ความรุนแรงเลย
ประเด็นนี้สำคัญและเกี่ยวกับความมั่นคง เพราะที่ผ่านเรามักจะเอาสามคำนี้มารวมกันแล้วจัดการเหมือนเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งดิฉันตั้งข้อสังเกตว่า การเอามารวมกันไม่ได้พาให้เข้าสันติภาพมากขึ้น กลับกันเวลาเราบอกมีความภาคภูมิใจในความเป็นมลายูใช่ไหม แปลว่าต้องอยู่ในขบวนการ หรือนิยมความรุนแรง จึงทำให้กลายเป็นภัยความมั่นคงทั้งหมด สิ่งนี้ยิ่งพาเราห่างไกลจากสันติภาพที่อยากจะไปถึงเสียด้วยซ้ำไป
อัครพงษ์ ค่ำคูณ:
ผมคิดว่า ประเด็นสุดท้ายของอาจารย์ชญานิษฐ์ ที่บอกว่า ความสำนึกในอัตลักษณ์ หรือความเป็นชาตินิยม อาจจะไม่เกี่ยวกับความรุนแรงเลยก็ได้ คล้ายกับคนที่รักประชาธิปไตย อยากเห็นเสมอภาคกัน ไม่ใช่การบ่อนทำลายชาติ เพราะฉะนั้น กลุ่มต่าง ๆ ที่มองว่า อย่างเช่นกรณีของอาจารย์ปรีดีก็ดีซึ่งทำการอภิวัฒน์ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์อะไรกับสถาบันพระมหากษัตริย์เลยก็ได้ คนที่มีความคิดต่างกับเราซึ่งคิดว่าจะมาทำลายเรา ซึ่งไม่ใช่สิ่งเดียวกัน
ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์:
อยากคิดต่อจากประเด็นที่ อาจารย์ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ ที่อาจารย์กล่าวถึง toxic masculinity ในหัวแปลอัตโนมัติเลยว่า “ชายแท้” ชวนคิดให้ถึงคุณลักษณะแบบนี้เท่านั้น ถึงจะเรียกว่าเป็นชายแท้ แล้วทำให้คิดต่อถึงเรื่องชาตินิยมที่ชวนให้มีปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งนี้ก็ไม่ต่างกัน คือ toxic nationalism ที่ต้องมีไทยแท้เท่านั้น เช่น ต้องพูดภาษานี้ ต้องวัฒนธรรมแบบนี้ ต้องมีอัตลักษณ์แบบนี้ ต้องคิดแบบนี้ ต้องรักคนนี้เท่านั้น พอเป็นแบบนี้ก็ทำให้เกิดการกีดกันคนอื่นออกไปหมดเลย แต่ถ้าเราเปลี่ยนเป็นการเรียนรู้จากท่านผู้หญิงพูนศุข ท่านอาจารย์ปรีดี หรือ femininity ด้วยก็ได้ ที่โอบรับความหลากหลายให้เข้ามาอยู่ร่วมกัน จริงเราพูดต่างวาระ วิทยากรพูดเรื่องแม่ชวนให้ดิฉันนึกถึงเรื่องบ้าน แม่เป็นส่วนสำคัญของบ้าน ดิฉันคิดว่า nationality หรือ nation ก็เหมือนกัน คนจะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชาติได้ เมื่อเขารู้สึกว่าที่นี่คือบ้านของเขาทำอย่างไรให้ คนที่ต่างวัฒนธรรม ภาษาต่างกัน มีความคิดทางการเมืองต่างกัน อันนี้อาจจะเป็นโจทย์ที่สำคัญที่ชวนคิดต่อไป
รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=jAcAYTzqiLY
ที่มา : PRIDI Talks #29 : 113 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ “สตรีกับสันติภาพ : บทบาทภายใต้กระแสชาตินิยมและมุมมองความมั่นคง” อาทิตย์ที่ 12 มกราคม 2568 เวลา 14.00-17.00 น. ณ สมาคมธรรมศาสตร์ฯ ซอยงามดูพลี กรุงเทพฯ