ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ตอนที่ 52: ดูนักศึกษา ม.ธ.ก. ด้วยแว่นขาว

6
กรกฎาคม
2568

กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือศรีบูรพา
ที่มา: the101.world

 

ในระหว่าง ๔-๕ ปีมานี้ มหาวิทยาลัยและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยนี้ ได้เผชิญกับมรสุมการเมืองอย่างหนักและอย่างไม่ขาดสาย จนใครๆ ก็คิดว่ามหาวิทยาลัยและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยนี้ เห็นจะไปไม่รอด เห็นจะต้องอับปางเสียในวาระนี้เปนแน่ แต่เมื่อเวลาได้ผ่านไปแล้วถึง ๕ ปี มหาวิทยาลัยนี้ก็หาได้อับปางไปไม่[1] และจิตใจของนักศึกษาของมหาวิทยาลัยนี้ก็หาได้ล่มจมไปไม่ ถึงแม้ว่ามรสุมการเมือง [ที่ว่างเปล่าจากวิชา] จะได้พัดพาชื่อ “การเมือง” [ที่หมายถึงวิชาการเมือง] หลุดไปจากนามเดิม คงเหลือแต่นามมหาวิทยาลัย “ธรรมศาสตร์” ก็ดี แต่วิญญาณเดิมของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองก็ยังฝังอยู่ในใจของนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยนี้อย่างมั่นคง วิญญาณที่ไม่ยึดเกาะอยู่กับความเก่าแก่หงําเหงอะอันฝืนธรรมชาติและความเปนจริง หากเปนวิญญาณที่แสวงหาและมีแต่จะพัฒนาไปสู่ความจรัสจรูญอันปราศจากขอบเขตเท่านั้น ว่ากันตามจริงแล้ว แม้แต่นามเดิมของมหาวิทยาลัยกฎหมายก็หาลบเสียได้ไม่ ที่หน้าปกของหนังสือพิมพ์ “ธรรมจักร” นี้เองก็ยังพิมพ์ไว้ว่า “วารสารรายสองเดือนสโมสร ม.ธ.ก.” ซึ่งพิมพ์ที่โรงพิมพ์ “ม.ธ.ก.” เมื่อนักศึกษาจัดให้มีการอภิปรายปัณหาเรื่องรีไทร์ นักศึกษาก็ตั้งชื่อปัณหาว่า “ม.ธ.ก. ควรมีไทร์หรือไม่” ในที่ทั่วๆ ไป จะเปนการพูดหรือในการเขียนก็ดี เมื่อนักศึกษาจะเรียกตัวเอง นักศึกษาก็จะเรียกตัวเขาว่า นักศึกษาแห่ง ม.ธ.ก. เขาไม่เรียกชื่อเขาตามกฎหมายที่อุบัติขึ้นจากมรสุมการเมือง จงดูเถิด แม้แต่นามซึ่งเปนเรื่องแบบและมิใช่แก่นสาร นักศึกษาก็ยังรักยังหวงแหนของเขา และกฎหมายก็ไม่สามารถจะลบหรือเปลี่ยนแปลงได้ [จริงๆ] แล้วใครเล่าจะทําตัวเปนคนตาบอดหรือเปนตัวตลกจนถึงจะคิดหรือเชื่อไปว่า “กฎหมายหรือการใช้อํานาจคุกคามบีบคั้นใดๆ ก็ดี จะเปลี่ยนแปลงวิญญาณของ ม.ธ.ก.และนักศึกษา ม.ธ.ก.ได้”

ความจริงซึ่งปรากฏหลักฐานแจ้งชัดอยู่นี้ ย่อมแสดงอยู่ว่า “การเมือง” [แห่งอวิชา] จะลบล้างทําลาย “การเมือง” [แห่งวิชา] หาได้ไม่ กฎหมายและกฤษฎีกา จะทําลายเจตจํานงของคนส่วนมากหาได้ไม่ กฎหมายและกฤษฎีกาจะเหนี่ยวรั้งบังคับจิตใจที่อยู่ในกระแสแห่งพัฒนาการอันเข้มข้นหาได้ไม่ และจะบังคับไม่ได้อย่างเด็ดขาด ผู้ใดคิดว่าจะบังคับเปลี่ยนแปลงจิตใจอันมั่นคงของคนส่วนมากได้ด้วยเพียงแต่ประกาศกฎหมายหรือกฤษฎีกาออกมา หรือด้วยการใช้อํานาจคุกคามบีบคั้นแล้ว ผู้นั้นกําลังอยู่ในความเพ้อฝัน และอยู่ห่างเหินกับความเปนจริงอย่างลิบลับ

ความชอกช้ำและความระทมขมขื่นที่นักศึกษา ม.ธ.ก.ได้เผชิญมาครั้งแล้วครั้งเล่าในระหว่างปีเหล่านี้ จะเนื่องด้วยความเดือดร้อนที่ มหาวิทยาลัยถูกยึดครอง จนถึงนักศึกษาต้องระเหเร่ร่อนไปหาที่เรียนนอกมหาวิทยาลัยกันอยู่พักหนึ่ง และทุกวันนี้ ก็ยังได้รับความอึดอัด ใจในเรื่องสถานที่อยู่ จะเนื่องด้วยความยุติธรรมที่นักศึกษาได้รับจากทางราชการในการใช้วิชาชีพ จะเนื่องด้วยความกระเทือนใจที่ได้มีข่าวว่า ทางรัฐบาลจะแปลงมหาวิทยาลัยให้เปนโรงแรมบ้าง ให้เปนโรงทหารบ้าง จะเนื่องด้วยความบีบคั้นในการใช้สิทธิของนักศึกษา จนถึงนักศึกษาจํานวนหนึ่งได้รับการลงโทษอย่างหนัก ซึ่งนักศึกษาเห็นว่าเปนการใช้อํานาจลงโทษที่ไม่ชอบธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจะเนื่องด้วยเหตุอื่นๆ อีกก็ตาม เราจะว่าปีเหล่านั้นเปนปีแห่งความมืดมิด เปนปีแห่งความวิบัติย่อยยับของนักศึกษา ม.ธ.ก.เสียทีเดียวหาได้ไม่

เพราะเหตุใดเล่า?

ก็เพราะเหตุว่า ในระหว่างปีแห่งความระทมขมขื่นเหล่านั้น นักศึกษาไม่ได้รับแต่ “ส่วนเสีย” อย่างเดียว มี “ส่วนได้” ที่มีคุณค่าไม่น้อยรวมอยู่ในระหว่างเวลาอันมีทุกข์ระทมนั้นด้วย ในประการแรก ความเข้าใจและความเห็นใจที่ประชาชนและวงการต่างๆ มีต่อนักศึกษา ม.ธ.ก.ได้ขยายเพิ่มพูนขึ้นเปนลําดับ จนกระทั่งว่า เมื่อนักศึกษาได้รับความเจ็บปวด บุคคลภายนอกก็รู้สึกว่า ได้ร่วมรับความเจ็บปวดนั้นด้วยไม่มากก็น้อย เมื่อความเจ็บปวดนั้นได้รับการเยียวยารักษา บุคคลภายนอกก็พลอยมีมุทิตาจิตด้วย นี่เปน “ส่วนได้” ที่สําคัญอันหนึ่ง

ความบีบคั้นนานาประการที่นักศึกษาได้ผจญมาไม่ขาดสายนั้น แทนที่จะผลักนักศึกษาให้ถอยหลังกรูดๆ ไป แทนที่จะตีความเปนกลุ่มก้อนของนักศึกษาให้แตกกระเจิงไป ดังที่อาจมีผู้หวังว่าจะเปนได้นั้น กลับทําให้นักศึกษาได้รวมกันเปนกลุ่มก้อนหนาแน่นยิ่งกว่าเดิม แม้ว่าในบางครั้งคราวจะได้รับความบีบคั้นคุกคามอย่างหนัก ทั้งในกรณีการลงทัณฑ์แก่นักศึกษาผู้รักสันติ ก็หาทําให้นักศึกษาสยบซบเศียรไม่ เขาทั้งหลายกลับสบัดศีรษะเชิดหน้าขึ้น แล้วก็ก้าวหน้าต่อไปในวิถีแห่งการต่อสู้เพื่อสันติ ความบีบคั้นไม่ได้ทําและไม่อาจทําให้จิตใจที่ยึดมั่นในสัจจะอ่อนเปียกละลาย ตรงกันข้าม ยิ่งเผชิญก็ยิ่งเกาะเกี่ยวกลมเกลียวกันหนักแน่นยิ่งขึ้น พยานข้อนี้เห็นจะได้จากการรวมกําลังอย่างเปนปึกแผ่นแน่นหนาของนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยนี้ เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ปีกลาย [พ.ศ.๒๔๙๔] ในการเรียกร้องคืนมหาวิทยาลัยของเขา ด้วยเจตจํานงอันเด็ดเดี่ยวที่จะเอาคืนมาให้ได้ และเขาก็ได้มหาวิทยาลัยของเขาคืนมา แม้ว่าการเรียกร้องคืนสถานที่ของมหาวิทยาลัยทั้งหมดยังไม่สุดสิ้นก็ดี แต่เมื่อความสามัคคีของเขาเปนความสามัคคีอันเหนียวแน่น และเมื่อกําลังแห่งความสามัคคีนั้นได้ถูกใช้เพื่อเป้าหมายที่ชอบธรรม ทั้งได้รับความสนับสนุนเห็นอกเห็นใจจากประชาชนแล้ว เขาก็จะต้องได้สิ่งที่เขาควรจะได้ทั้งหมด ไม่เปนที่น่าสงสัยเลยเมื่อนักศึกษาได้มีวันที่ ๑๑ ตุลาคมเปนวันที่ระลึกสําคัญวันหนึ่งของเขาฉะนี้ เขาก็คงจะไม่แลดูความยากลําบากที่เขาได้รับมาตลอดเวลา ๔-๕ ปีที่แล้วว่าเปนระยะแห่งความมืดมิดเสียทีเดียว ว่ากันตามจริง การที่เขาได้วันที่ ๑๑ ตุลาคมไว้ในประวัติชีวิตของมหาวิทยาลัย ม.ธ.ก.นั้น เขามิได้ชําระราคาที่สูงไปกว่าคุณค่าของวันนั้นเลย ถ้าจะพิจารณา ให้ลึกซึ้งแล้ว ราคาที่เขาได้ชําระนั้นเปนแต่ของเล็กน้อย เมื่อเปรียบ เทียบกับคุณค่าใหญ่หลวงที่บรรจุอยู่ในวันที่ระลึก ๑๑ ตุลาคม เพราะฉะนั้น เมื่อนักศึกษา ม.ธ.ก.ฉลองวันที่ ๑๑ ตุลาคมของเขา เขาก็ ไม่มีน้ำตาแห่งความระทมขมขื่นในอดีตที่จะเช็ดอีกต่อไปแล้ว

ใครเล่าเปนผู้ประทานวันที่ ๑๑ ตุลาคมให้แก่นักศึกษา ม.ธ.ก.? พรหมลิขิตหรือ? พระสยามเทวาธิราชหรือ?

 


นักศึกษาเดินขบวนไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม ที่ประชุมสภาผู้แทน เพื่อเรียกร้องทวงมหาวิทยาลัยคืน เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2494
ที่มา: the101.world

 

เคยมีความเข้าใจ และมีเสียงกล่าวหากันอยู่เสมอว่า นักศึกษาเปนเหยื่อ เปนเครื่องมือของนักการเมืองคนนั้นคนนี้ ฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ แล้วก็มีความเข้าใจต่อไปว่า การกระทําของนักศึกษาอย่างนั้นอย่างนี้ ได้ รับการยุยงจากอาจารย์คนนั้นคนนี้ ได้รับการยุยงจากพวกนั้นพวกนี้ ความเข้าใจเช่นนี้มักจะมาจากพวกผู้ปกครอง ที่กําลังดื่มมธุรสแห่งอํานาจอย่างซาบซ่าน ใช้ชีวิตอยู่ในความบันเทิง ที่ได้รับบําเรอจากกลุ่มบุคคลที่คิดแต่จะเอาตัวรอด และแสวงหาความสําราญไปวันหนึ่งๆ และ มีความเคยชินอยู่แต่ในกระบวนความคิดเห็นของพวกนักเล่นการเมืองที่คบหาเสวนากันอยู่ในวงของตัว ทั้งห่างเหินจากพวกนักศึกษา ความเข้าใจเช่นนี้เปนความเข้าใจที่ผิดจากความเปนจริงสิ้นเชิง เมื่อมีความเข้าใจผิดในขั้นมูลฐานเสียแล้ว ความเข้าใจและความคิดที่มีต่อนักศึกษาในประการอื่นๆ ก็ย่อมจะพลอยคลาดเคลื่อนและผิดพลาดไปหมด ผลที่ติดตามมา และเปนผลที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ก็คือ ความยุ่งยากที่ฝ่ายปกครองและนักศึกษาต้องเผชิญอยู่ในเวลานี้

หากว่านักศึกษา ม.ธ.ก.เปนเครื่องมือของนักการเมืองคนใดฝ่ายใด และกระทําการใดๆ แต่โดยอาศัยคํายุยงเสี้ยมสอนจากทางหนึ่งทางใดแล้ว ก็คงเปนการง่ายที่ใครๆ จะมาประมูลนักศึกษาที่สักแต่ว่าเปนเครื่องมือของคนหนึ่งฝ่ายหนึ่งไปเปนเครื่องมือของอีกคนหนึ่งฝ่ายหนึ่งได้ และก็เปนการง่ายเช่นเดียวกันที่ใครๆ จะยุยงให้เขาเปลี่ยนแปลงความคิดความอ่านของเขา ดังที่เราได้เห็นการสับปลับกลับกลอกอย่างดกดื่น ที่เปนอยู่ในวงของพวกนักเล่นการเมือง[2] ผู้แสวงหาแต่ลาภยศและผลประโยชน์ส่วนตัวไปวันหนึ่งๆ แต่เราย่อมเห็นได้ว่า นักศึกษา ม.ธ.ก. มิใช่เปนเครื่องมือหรือสินค้าที่จะนําออกขายในตลาดการเมือง และที่ใครๆ จะเข้าถือกรรมสิทธิ์ได้ด้วยการประมูลราคา หากว่าพวกที่ถืออํานาจอยู่ในมือเคยชินมากับการประมูลซื้อสินค้าในตลาดการเมือง ก็ไม่เปนการชอบธรรมเลยที่ท่านจะนําเอาความสันนิษฐานอย่างมักง่ายและต่ำช้าเช่นนั้นมาใช้แก่นักศึกษา ม.ธ.ก.

การที่กล่าวหาว่าการกระทําใดๆ ของนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยนี้มาจากการยุยงปลุกปั่นจากทางใดทางหนึ่งนั้น ก็คือ การดูหมิ่นว่านักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เป็นเหมือนเด็กอมมือ และเป็นผู้ที่ปราศจากความเคารพตนเอง แต่นักศึกษาก็ไม่จําเปนต้องตอบการดูหมิ่นนี้ด้วยประการใดๆเลย นอกจากจะให้พฤตติการณ์ของเขาเองได้อธิบายว่าเขามิใช่เด็กอมมือ และมิใช่ผู้ที่ปราศจากความเคารพตนเอง พฤตติการณ์ของเขาย่อมอธิบายความข้อนี้ได้ชัดเจนเหลือเกินแล้ว ถ้าเขาเปนเด็กอมมือ และเปนผู้ที่ปราศจากความเคารพตนเองแล้ว เขาย่อมไม่อาจเปนดังที่เขาเปนอยู่ มรสุมการเมืองที่กระโชกเข้าใส่อย่างทารุณนั้น ย่อมนําเขาไปสู่ความอับปางเสียนานแล้ว

นี่เปนข้อพิสูจน์ที่เห็นได้ง่ายๆ ว่า นักศึกษามิใช่เครื่องมือของใคร นักศึกษามิได้กระทําการต่างๆ ภายใต้การยุยงของใคร นี่เปนข้อพิสูจน์ว่านักศึกษาเปนตัวของเขาเอง นักศึกษากระทําการต่างๆ ภายใต้การแนะนําของมโนธรรมของเขาเอง

หากว่าพวกผู้ปกครองประเทศบางคน ไม่ทราบความจริงที่อาจเห็นได้ง่ายๆ เช่นนี้ ก็เพราะว่าเขาไม่มีนัยน์ตาสําหรับที่จะมองดูความจริง และไม่มีจิตใจที่จะต้อนรับความจริง เขามีแต่อุปาทานและความเชื่อที่กอปรด้วยอคติ ความยุ่งยากที่มีอยู่ไม่ขาดสายในมหาวิทยาลัย ม.ธ.ก.ที่ได้เปนมาและเปนอยู่ทุกวันนี้ มาจากบุคคลที่มีความคิดแบบนี้ ความเคลื่อนไหวของนักศึกษาเปนแต่การป้องกันความถูกต้องชอบธรรมตามทรรศนะที่ตั้งอยู่บนความเปนจริง และในกรอบแห่งธรรมนิยมของชาวมหาวิทยาลัยทั่วโลกเท่านั้น

แท้จริง เหตุที่ทําให้นักศึกษา ม.ธ.ก.มีลักษณะนิสัย มีความคิด จิตใจดังที่เขาได้มีอยู่นั้นก็เปนเหตุที่เห็นได้ไม่ยาก ผู้ที่ต้องการจะดูก็ย่อมจะมองเห็นได้ ผู้ที่ต้องการจะรู้ความคิดจิตใจของนักศึกษา ม.ธ.ก. จะต้องศึกษาว่ามหาวิทยาลัยนี้ประกอบด้วยธาตุอะไร และแตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ดี สิ่งต่างๆ ที่เปนส่วนสาระสําคัญในการหล่อหลอมความคิดจิตใจของนักศึกษาม.ธ.ก. ก็เปนที่เปิดเผยอยู่แล้ว ในข้อแรกก็คือ ความมุ่งหมายในการก่อตั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งมาจากความริเริ่มของผู้ประศาสน์การ มีอยู่ว่าจะจัดให้มหาวิทยาลัย นี้ได้สอนวิชาการใหม่ๆ ที่จะผดุงรากฐานของระบอบใหม่ และส่งเสริมความคลี่คลายของระบอบใหม่ ไปสู่วิวัฒนาการชั้นสูงต่อไป เช่นสอนวิชาการเมืองและวิชาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเปนวิชาที่ยังไม่เคยสอนกันมาก่อนในเมืองไทย และมุ่งหมายให้มหาวิทยาลัยนี้ เปนตลาดวิชาที่กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทําได้ เพื่อสําเร็จความมุ่งหมายข้อนี้ มหาวิทยาลัยจึงเปิดช่องทางให้ผู้ที่มีทรัพย์น้อยและไม่อาจละงานอาชีพหรือภูมิลําเนาในต่างจังหวัดได้มีโอกาสรับการศึกษาในมหาวิทยาลัยนี้ โดยกําหนดเก็บค่าเล่าเรียนในอัตราต่ำ โดยการจัดพิมพ์คําสอนขึ้นจําหน่ายแก่นักศึกษาในราคาถูกและโดยวิธีการอื่นๆ อีก ด้วยความมุ่งหมายและโอกาสที่เปิดให้อย่างกว้างขวางเช่นนี้ นักศึกษาของมหาวิทยาลัยนี้ จึงมิได้ ประกอบล้วนแล้วไปด้วยเหล่า “กุลบุตรกุลธิดา” ผู้มาจากสกุลของชนชั้นสูงและชนชั้นที่มั่งคั่ง ดังที่เคยเปนมาในรูปแบบการศึกษาผูกขาดอย่างเคร่งครัดของระบอบเก่า การก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นนั้น อาจกล่าวได้ว่าเปนการเปิดยุคใหม่ของการศึกษาวิชาชั้นสูงและวิชาการใหม่ๆ ให้แพร่หลายไปในหมู่ประชาชน ดังนั้น นักศึกษา ม.ธ.ก.จึงมิได้ประกอบล้วนแล้วไปด้วยกุลบุตรกุลธิดา หากประกอบด้วยบุตรชายหญิงที่มาจากชนชั้นต่างๆ มาจากชนชั้นที่ค่อนข้างยากจน และชนชั้นกลาง มาจากชนบทและโรงงาน มาจากเสมียน พนักงานและพวกลูกจ้าง มาจากบุคคลที่ต้องหาเลี้ยงครอบครัว และที่ต้องพึ่งตนเองในการศึกษาเล่าเรียน นักศึกษา ม.ธ.ก.ส่วนมากมิใช่พวกที่เกิดมาพร้อมด้วยช้อนเงินช้อนทองอยู่ในปาก เขาเหล่านั้นได้เคยเห็นชีวิตที่ลําบากยากจนมาแล้ว ทั้งตัวเขาและครอบครัวของเขาก็อาจได้เคยลิ้มรสความระกําลําบากของชีวิตมาแล้วด้วยตนเอง อาศัยพื้นเพและธาตุใหม่ๆ ของมหาวิทยาลัยนี้ อาศัยวิชาการใหม่ๆ และระเบียบการของมหาวิทยาลัยที่ให้ความอิสระแก่นักศึกษา และที่โน้มน้อมไปในทางก้าวหน้าเช่นนี้แหละที่ทําให้ทรรศนะของนักศึกษา ม.ธ.ก.ที่มีต่อชีวิต ต่อประชาคม และต่อโลก แตกต่างไปจากทรรศนะของนักศึกษาชั้นสูงในอดีต เปนทรรศนะที่ออกจะแปลกใหม่ และที่ชนชั้นปกครองไม่คุ้นเคยมาแต่ก่อน

 


“ดูนักศึกษา ม.ธ.ก.ด้วยแว่นขาว” ของกุหลาบ สายประดิษฐ์
ที่มา: pr.tu.ac.th

 

หากว่าพวกที่มีอํานาจอยู่ในเวลานี้จะได้เคยใช้ชีวิตศึกษาวิชาการใหม่ๆ เช่นที่นักศึกษา ม.ธ.ก.ศึกษาอยู่ หากว่าท่านเหล่านั้นจะสนใจศึกษาความคลี่คลายของสถานการณ์ใหม่ๆ ในโลกโดยปราศจากความลําเอียง และนําวิชาความรู้ที่กําลังศึกษาอยู่เข้าปรับกับความคลี่คลายของสถานการณ์ใหม่ๆ แล้ว บางทีท่านจะต้องสําแดงท่าทีต่างๆ ออกมา ไม่แตกต่างไปจากที่นักศึกษาแสดงอยู่ในขณะนี้ และท่านก็คงเข้าใจความคิดความอ่านของนักศึกษาได้อย่างดีโดยไม่ต้องมัวเพ้อฝันอยู่กับนิทานเก่าที่เล่ากันมาว่านักศึกษา ม.ธ.ก.เปนเครื่องมือของใครต่อใครนั้นอีกเลย

หากว่าท่านเหล่านั้นได้ศึกษา เข้าใจความคิดความอ่านของนักศึกษาอย่างถูกต้องแล้ว ท่านก็ควรเข้าใจต่อไปด้วยว่า การที่นักศึกษา ม.ธ.ก.ได้กระทําการบางอย่างที่ท่านไม่อยากให้เขากระทํากันนั้น มันเปนสิ่งที่เขายากจะหลีกเลี่ยงได้ เช่นความสนใจของเขาในเรื่องการเมือง การอภิปรายปัณหาเรื่องการเมือง การเข้าร่วมในขบวนการพิทักษ์สันติภาพ และการเข้าร่วมในงานสาธารณะอื่นๆ และหากว่าท่านห้ามปรามเขาไม่ให้สนใจกับเรื่องเหล่านี้ ให้ก้มหน้าก้มตางุดๆ อยู่แต่ตําราเรียนท่าเดียวโดยไม่ต้องลืมตาแลไปรอบตัวว่าอะไรมันเปนอะไรแล้ว เขาก็ไม่มีวันจะเข้าใจการห้ามปรามของท่านได้เลย

เราจะลองยกเรื่องบางเรื่องขึ้นมาพิจารณา เปนตัวอย่างแนวความคิดของนักศึกษาสักเรื่องหนึ่ง ต่างว่าฝ่ายปกครองมีความเห็นว่านักศึกษาไม่ควรสนใจกับเรื่องการเมือง และไม่ควรจัดให้มีการอภิปรายหรือโต้วาทีการเมือง นักศึกษาก็จะมีแต่ความฉงนสนเท่ห์ใจเปนอย่างยิ่ง เพราะว่าในประการแรก ในมหาวิทยาลัยก็มีการศึกษาวิชาการเมืองโดยตรงอยู่แล้ว และวิชาอื่นๆ ที่สอนอยู่ในมหาวิทยาลัย ก็เปนวิชาที่มีความสัมพันธ์กับการเมืองอย่างแน่นแฟ้นแทบทั้งนั้น เมื่อนักศึกษาก็เรียนวิชาการเมืองอยู่แล้ว เหตุไฉนจึงจะไม่ให้เขาสนใจ และอภิปรายปัณหาการเมือง ซึ่งเปนการฝึกฝนวิชาความรู้ที่เขาเรียนมาเล่า?

ในประการที่สอง นักศึกษาคงจะสงสัยว่า จะแยกชีวิตของนักศึกษาหรือของคนทั่วไปออกจากการเมืองได้ที่ตรงไหน เพราะว่าทุกวันนี้แม้พวกทํางานหาเช้ากินค่ำก็พูดเรื่องการเมือง และอภิปรายปัณหาการเมืองกันออกแซดไปแล้ว เช่นกรรมกรสวนยางทางภาคใต้ก็เข้าใจดีว่าการที่ราคายางตกต่ำอย่างฮวบฮาบจนเกิดความเดือดร้อนกันไปทุกหย่อมหญ้านั้น สาเหตุใหญ่ข้อหนึ่งก็เนื่องมาแต่เราไปมอบกายถวายชีวิตของเราไว้กับพระพรหมอเมริกาแต่ผู้เดียว และเราได้ยอมรับข้อตกลงที่จะไม่ส่งยางไปขายในประเทศจีนและประเทศอื่นๆ ที่ไม่เปนมิตรกับพระพรหมผู้ลิขิตชีวิตของเรา ในประการที่มิใช่เพื่อประโยชน์ ของเรา แต่เพื่อประโยชน์ของพระพรหมล้วนๆ เมื่อความเดือดร้อนอดอยากแผ่ไปในที่ใด ทั้งกรรมกร ทั้งชาวนาและคนยากจนเข็ญใจทั้งหลาย ก็พูดกันถกกันถึงปัญหาการเมืองทั้งนั้น ก็เหตุไฉน นักศึกษของมหาวิทยาลัย ซึ่งได้เล่าเรียนวิชาการเมือง หรือวิชาที่สัมพันธ์กับการเมืองแท้ๆ จึงจะถูกตัดสิทธิให้สนใจ หรือมิให้อภิปรายปัณหาการเมืองเล่า? นอกจากนั้น พวกนักศึกษาที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า นักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างประเทศทั่วโลก เขาต่างก็สนใจกับเรื่องการ เมืองทั้งนั้น หากนักศึกษาของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ไม่เอาธุระกับเรื่องการเมือง ซึ่งก็หมายความว่า ไม่เอาธุระกับเรื่องของประเทศและประชาชนเพื่อนร่วมชาติแล้ว เขาก็จะรู้สึกอดสูละอายใจเปนอย่างยิ่ง อาศัยแนวความคิดของนักศึกษาโดยย่อดังกล่าวนี้ การที่จะไปแนะนําให้เขาเลิกสนใจกับการเมือง คือให้เลิกสนใจกับเรื่องของคนอื่นที่อยู่รอบตัวเขา และให้เขาสนใจแต่เรื่องส่วนตัว และประโยชน์ส่วนตัวของเขาเท่านั้น พิจารณาจากระดับจิตใจของนักศึกษา ม.ธ.ก.ตามที่เขาได้แสดงให้ใครๆ ได้เห็นแล้ว เขาย่อมจะรับเอาคําแนะนําเช่นนั้นไว้ไม่ได้ เขาไม่อาจหาเหตุผลแม้แต่น้อยนิดที่จะรับไว้ได้ หากว่าทางฝ่ายปกครองจะบีบคั้นบังคับให้เขารับไว้ให้จงได้ เขาก็จะแสดงการคัดค้านขัดขืนเปนธรรมดา มิใช่ว่าเขาเปนเด็กดื้อรั้นเกะกะ แต่เพราะเหตุว่าเขาไม่เข้าใจมัน นักศึกษา ม.ธ.ก.ได้รับการศึกษาอบรมมาในการใช้เหตุผล และมโนธรรมของเขา

การที่จะยุติหรือบรรเทาความกระทบกระทั่งระหว่างฝ่ายปกครองและนักศึกษา ม.ธ.ก. จึงมีอยู่แต่ทางเดียว คือ ฝ่ายปกครองจะต้องพยายามเข้าใจพื้นเพ และธาตุใหม่ๆ ของมหาวิทยาลัยนี้ ซึ่งประกอบเปนความคิดจิตใจของนักศึกษาในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เปนของเร้นลับ ถ้าเพียงแต่ท่านพวกผู้ปกครองจะอ่านหนังสือพิมพ์ของนักศึกษาอยู่เสมอ ท่านก็จะทราบถึงพื้นเพของมหาวิทยาลัย และความคิดจิตใจของนักศึกษา ที่เขาได้เขียนออกมาให้อ่านกันอย่างเปิดเผยอยู่แล้ว เว้นแต่คนที่ไม่มีนัยน์ตาสําหรับมองดูความจริงเท่านั้นจึงจะไม่เห็นและไม่เข้าใจสิ่งที่วางหงายอยู่แล้ว

ขอให้ใครๆ จงเชื่อเถิดว่ารากฐานแห่งความคิดจิตใจของมหาวิทยาลัยนี้ เปนสิ่งที่ไม่อาจทําลายได้ นโยบายบีบคั้นใดๆ ก็ไม่อาจทําลายได้ ทางเลือกที่ไปสู่ความราบรื่น มีอยู่แต่ทางเดียว คือศึกษาความเปนจริง เข้าเผชิญความเปนจริง และตั้งรูปนโยบายเสียใหม่ให้สอดคล้องกับความเปนจริง

พวกท่านที่เรียกกันว่าผู้หลัก [ผู้ที่เปนหลัก?] ผู้ใหญ่จะมีความคิดเห็นของท่านอย่างไรก็มีกันไปเถิด พวกท่านที่ประสงค์จะไปใช้ชีวิตอันริบหรี่ของท่านอยู่ในโรงพิพิธภัณฑ์ ก็จงไปใช้อยู่ตามความพอใจของท่านเถิด พวกท่านที่ไม่ต้องการจะคิดถึงใครเลย นอกจากจะคิดถึงแต่ตัวท่าน วงศ์วานของท่าน คิดถึงแต่ผลประโยชน์และความสุขสําราญส่วนตัวท่านล้วนๆ เท่านั้น ก็เชิญท่านไปตามทางของท่าน แต่ขออย่ามาขัดขวาง เหนี่ยวรั้ง และใช้อํานาจเกะกะระรานแก่คนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวที่เขาต้องการจะคิดถึงคนอื่น ที่ต้องการจะคิดแก้ไขความสกปรกโสมม ความทุราจารเลวร้ายในสังคมเก่าที่เขาเห็นเด่นชัดอยู่กับตา คนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวที่ต้องการจะก้าวไปข้างหน้า ที่ต้องการจะเข้าร่วมกับประชาชนผู้มีมนุษยธรรม กําจัดความชั่วร้ายและความทุกข์ทรมานของสงคราม คนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวที่ต้องการจะเลือกวิถีชีวิตของเขาเอง

ขออย่าได้กักขังเหนี่ยวรั้งเขาไว้ในโรงพิพิธภัณฑ์กับท่าน ขออย่าได้ส่งมอบมรดกบางชิ้นที่เต็มไปด้วยกลิ่นขื่นคาวเน่าเฟะให้เขารับสืบทอดต่อไปเลย ผู้ใหญ่บางจําพวกที่ได้ทําความผิดมามากแล้ว และต้องการจะทําความผิดซ้ำซากต่อไปจนตาย ก็เชิญทำของท่านไป แต่อย่าเหนี่ยวรั้งบังคับให้คนรุ่นใหม่ไปนอนตายกับท่านในหลุมเก่าหลุมเดียวกันเลย

ท่านพวกผู้ใหญ่ท่านเคยพร่ำปลุกใจพวกเขาอยู่ไม่วายมิใช่หรือว่า อนาคตของชาติอยู่ในมือของเยาวชน ใครๆ ก็เฝ้าฝากฝังอนาคตไว้แก่เขามิใช่หรือ? บัดนี้ เขาต่างก็เตรียมตัวยืนขึ้นรับคำฝากฝัง และเข้ารับภาระแล้ว เขาผู้กําอนาคต ไฉนจะมีสิทธิวินิจฉัยอนาคตน้อยไปกว่าผู้ที่ไม่มีอนาคตเล่า?

ท่านพวกผู้ใหญ่ ท่านก็ได้อยู่ในโลกนี้มานานพอแล้ว และท่านก็มีเวลาแต่เพียงเล็กน้อยสําหรับจะอยู่ต่อไป พวกเด็กๆ พวกเยาวชนรุ่นหนุ่มสาวเขามีเวลาข้างหน้าอันยาวนานที่จะต้องอยู่ในโลกนี้ต่อไป เพราะฉะนั้นก็เปนการชอบธรรมอย่างยิ่ง ที่เขาควรจะมีความคิดเห็นในการจัดแจงประชาคมและโลกให้เปนที่ผาสุขตามรสนิยมและทรรศนะของเขายิ่งกว่าบุคคลที่ใกล้จะอําลาโลกไปแล้วมิใช่หรือ?

จงปล่อยให้เขาเปนอิสสระที่จะเลือกวิถีชีวิตของเขาเถิด แต่ปล่อยหรือไม่ปล่อยก็เท่ากัน ก็เพราะว่าเขาคงจะแสวงหามันจนได้

นักศึกษาและบัณฑิตของ ม.ธ.ก.มีความรักในมหาวิทยาลัยของเขา มิใช่เพราะเหตุแต่เพียงว่าเขาได้เรียนในมหาวิทยาลัยนี้เขาได้วิชาความรู้ไปจากมหาวิทยาลัยนี้ เขารักมหาวิทยาลัยนี้ เพราะว่ามีธาตุบางอย่าง ของมหาวิททยาลัยนี้ที่สอนให้เขารู้จักรักคนอื่นๆ รู้จักคิดถึงความทุกข์ยากของคนอื่น เพราะว่ามหาวิทยาลัยนี้ไม่กักกันเขาไว้ในอุปาทาน และความคิดที่จะเอาแต่ตัวรอดเท่านั้น

ชาว ม.ธ.ก.รักมหาวิทยาลัยของเขา เพราะว่ามหาวิทยาลัยของเขารู้จักรักคนอื่นด้วย

ผู้ใดปฏิเสธเสรีภาพแก่คนอื่น ผู้นั้นไม่ควรมีเสรีภาพ
และภายใต้พระผู้เปนเจ้าผู้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม
จะปฏิเสธไปไม่ได้นาน

[อับราฮัม ลินคอล์น]

ที่มา : วารสาร ธรรมจักร รายสองเดือน สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
เวลา : 11 ตุลาคม พ.ศ.2495

 

หมายเหตุ :

  • กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
  • อักขรวิธีสะกดคงไว้ตามเอกสารชั้นต้น
  • โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, เรื่อง “ดูนักศึกษา ม.ธ.ก. ด้วยแว่นขาว”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), น. 509-521.

บรรณานุกรม :

  • กุหลาบ สายประดิษฐ์, เรื่อง “ดูนักศึกษา ม.ธ.ก. ด้วยแว่นขาว”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548),  น. 509-521.

 

บทความที่เกี่ยวข้อง :

 


[1] หมายถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับ ม.ธ.ก. ตั้งแต่ช่วงการรัฐประหาร พ.ศ.2490 ของ พลโท ผิน ชุณหะวัณ ซึ่งระยะนั้นนายปรีดี พนมยงค์ ต้องเดินทาง “ลี้ภัยการเมือง” ออกนอกประเทศ และนายเดือน บุนนาคได้เข้ารับตําแหน่งรักษาการแทนผู้ประศาสน์การ ม.ธ.ก.ได้ถูกเพ่งเล็งว่าเปนสถานที่ส้องสุม และครั้งหนึ่งหลังกรณี “กบฏวังหลวง” นายเดือน บุนนาคเคยถูกบีบให้ยกร่างพระราชบัญญัติ เปลี่ยน ชื่อจาก “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” เป็นชื่อ “มหาวิทยาลัยกรุงเทพ” เสียด้วยซ้ำ จนนายทวีป วรดิลก ได้ประพันธ์คําร้องเพลง โดมในดวงใจ และต่อมาจอมพล ป.ก็ส่งหลวงวิจิตรวาทการเข้ามาดํารงตําแหน่ง “รักษาการ” แทนผู้ประศาสน์การ ยิ่งเมื่อคณะกรรมการนักศึกษา ม.ธ.ก.ประกาศสนับสนุนขบวนการสันติภาพ ต่อต้านสงครามเกาหลี และการใช้อาวุธนิวเคลียร์ รวมทั้งไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจอมพล ป.ส่งทหารไทยไปร่วมรบกับกองกําลังสหประชาชาติภายใต้การนําของสหรัฐฯที่เกาหลีเมื่อ พ.ศ.2493 นักศึกษา ม.ธ.ก.ก็เริ่มถูกมองว่าเป็นฝ่ายซ้ายและเป็นคอมมิวนิสต์ เมื่อกองทัพบกได้เสนอขอซื้อที่ดินท่าพระจันทร์ของ ม.ธ.ก. ในวงเงิน 5 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นที่ตั้งของหน่วยทหาร วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2494 นักศึกษา ม.ธ.ก.ประมาณ 3,000 คนจึงเดินขบวนประท้วงรัฐบาลด้วยคําขวัญว่า “รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย” และในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 นักศึกษา ม.ธ.ก.ประมาณ 3,000 คนดังกล่าวก็ได้บุกเข้ายึดมหาวิทยาลัยคืนต่อหน้ากลุ่มทหารที่ยึดครอง - บก.

[2] คําว่า “นักเล่นการเมือง” นั้นเป็นคําที่กุหลาบ สายประดิษฐ์ ใช้มาเสมอ ซึ่งอาจเปรียบได้กับปัจจุบันที่มีผู้บัญญัติคําว่า “นักเลือกตั้ง” ขึ้นใช้เรียกบุคคลประเภทนี้ - บก.