ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ปรีดี พนม​ยงค์ กับประวัติความคิด​ทางกฎหมาย : เกล็ดประมวลกฎหมายเรื่องพระเจ้านโปเลออง (นโปเลียน) กับประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส

27
มกราคม
2568

Focus

  • นายปรีดี พนมยงค์ เขียนบทความกฎหมายเชิงวิชาการภาษาไทยครั้งแรก ตีพิมพ์ในนิตยสารบทบัณฑิตย์ เมื่อ พ.ศ. 2469
  • บทความนี้มีที่มาจากข้อเขียนขณะที่นายปรีดีกลับมารับราชการภายหลังสำเร็จการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศส ลงพิมพ์ใน บทบัณฑิตย์ เล่ม 5 ตอนที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471 เพื่ออธิบายเกี่ยวกับการจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งแห่งชนฝรั่งเศสของพระเจ้านโปเลออง (นโปเลียน) ซึ่งนายปรีดีชี้ว่ามีประโยชน์ต่อวงการกฎหมายทั่วโลก

 

 

บทนำ

'ปรีดี พนม​ยงค์ กับประวัติ​ความคิด​ทางกฎหมาย' เป็นชุดบทความกฎหมายของนายปรีดี พนมยงค์ อันทรงคุณค่าและหายากอย่างยิ่งโดยตีพิมพ์ในนิตยสารบทบัณฑิตย์ระหว่าง พ.ศ. 2469-2474 ที่สะท้อนให้เห็นการทำงานด้านกฎหมาย ความคิด และความสนใจทางกฎหมายของนายปรีดีก่อนการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 โดยกองบรรณาธิการ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ขอคัดเลือกมาเผยแพร่จำนวน 5 บทความ ดังนี้

  1. การเรียนกฎหมายในฝรั่งเศสโดยย่อ เรียบเรียงตามกฎประธานาธิบดีและกฎเสนาบดี ใน บทบัณฑิตย์ เล่ม 4 ตอนที่ 11 (พ.ศ. 2469)
  2. เกล็ดประมวลกฎหมายเรื่องพระเจ้านโปเลออง(นโปเลียน) กับประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส ใน บทบัณฑิตย์ เล่ม 5 ตอนที่ 9 (พฤศจิกายน พ.ศ. 2471)
  3. ฐานะของชาวรุสเซียผู้ถูกถอนสัญชาติ (เฉพาะที่เกี่ยวกับปัญหาเรื่องความสามารถของบุคคลในกฎหมายระวางประเทศแผนกคดีบุคคล) ใน บทบัณฑิตย์ เล่ม 6 ตอนที่ 5 (กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473)
  4. คดีปกครองในประเทศฝรั่งเศส ใน บทบัณฑิตย์ เล่ม 6 ตอนที่ 3 (กรกฎาคม พ.ศ. 2473)
  5. สิทธิของรัฐในทรัพย์มฤดกตามกฎหมายโซเวียต ใน บทบัณฑิตย์ เล่ม 6 ตอนที่ 10 (กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2474)

ใน พ.ศ. 2473 นายปรีดี พนมยงค์ ยังได้รับการอนุญาตให้เป็นบรรณาธิการนิตยสารบทบัณฑิตย์ และเขียนบทความทางกฎหมายลงในนิตยสารอย่างสม่ำเสมอ  


 


หนังสืออนุญาตให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นบรรณาธิการนิตยสารบทบัณฑิตย์ เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๓
ที่มา : หอสมุดแห่งชาติ

 


นายปรีดี พนมยงค์ ในทศวรรษ ๒๔๖๐
ที่มา : เอกสารส่วนบุคคล ภาพถ่ายปรีดี-พูนศุข พนมยงค์

 

 


เกล็ดประมวลกฎหมายเรื่องพระเจ้านโปเลออง (นโปเลียน) กับประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส โดย ปรีดี พนมยงค์
ที่มา : หอสมุดแห่งชาติ

 

ก่อนแต่สมัยเกิดการจลาจล คือก่อนปลายสตวรรษที่ ๑๘ แห่งปีคริสตศักราช กฎหมายซึ่งใช้อยู่ในประเทศฝรั่งเศสได้แยกย้ายกระจัดกระจายอยู่ตามถิ่นต่าง ๆ เช่นในบริเวณหัวเมืองฝ่ายเหนือ มีอาทิในแว่นแคว้นนอร์มองดีหรือเบรอตาญ ถ้าใครมีคดีก็จะต้องว่ากล่าวกันตามจารีตรประเพณีแห่งท้องถิ่นซึ่งคดีนั้นได้เกิดขึ้น แต่ถ้าเป็นคดีซึ่งเกิดขึ้นในบริเวณหัวเมืองฝ่ายใต้ ดั่งเช่นในหัวเมืองมาเซยย์หรือมองเปลลิเอร์ เหล่านี้ ก็จะต้องว่ากล่าวกันตามคัมภีร์กฎหมายโรมัน

ดังนั้นความยุ่งยากจึงเกิดขึ้นจากการที่กฎหมายของประเทศฝรั่งเศสเองขัดดัน นักปราชญ์กฎหมายหลายท่านได้มีความเห็นว่าควรบัญญัติกฎหมายต่าง ๆ เข้าเป็นประมวลเดียวกันเพื่อให้ใช้ได้ตลอดทั้งประเทศ แต่ทางราชการก็หาได้กระทำลงไปให้เป็นการจริงจังไม่

ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๗๙๒ พระเจ้าหลุยที่ ๑๖ ได้ถูกปลงพระชนม์ และประเทศฝรั่งเศสได้มีการปกครองอย่างประชาธิปไตย คณการปกครองชุดนี้ซึ่งเรียกตามภาษาฝรั่งเศสว่า “กองวองซิออง” ได้มีคำสั่งให้กรรมการจัดยกร่างประมวลแพ่งขึ้นให้แล้วเสร็จภายในกำหนด ๑ เดือน กรรมการคณประชาธิปไตย “กองวองซิออง” ได้รีบทำทั้งกลางวันและกลางคืน และได้นำเสนอต่อคณประชาธิปไตย “กองวองซิออง” ทันกำหนดดั่งกล่าวแล้ว แต่คณประชาธิปไตยเห็นว่าร่างนี้ ขาดตกบกพร่องอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งบทบัญญัติที่ร่างไว้นั้น ก็ยังไม่ดำเนิรรอยตามลัทธิประชาธิปไตยโดยชัด จึ่งได้มีคำสั่งให้กรรมการร่างกฎหมายจัดยกร่างขึ้นใหม่ และได้ตั้งนักปราชญ์ทางจิตตศาสตร์เข้าช่วยสมทบในการร่างครั้งที่สองนั้น

กรรมการร่างกฎหมายพร้อมด้วยนักปราชญ์ทางจิตตศาสตร์ได้เสนอร่างประมวลกฎหมายครั้งที่สอง ประมวลครั้งนี้กลับเป็นประมวลที่สั้นกว่าครั้งที่หนึ่งมากมาย แต่ยังมิทันที่คณประชาธิปไตยรุ่นนี้จะได้พิจารณาให้สำเร็จลงไป ประเทศฝรั่งเศสก็เกิดมีการปกครองคณใหม่ เรียกว่า “ดิ เร็ค ตัวร์”

คณดิเร็คตัวร์ ได้สั่งให้กรรมการร่างกฎหมายจัดยกร่างขึ้นใหม่อีกเป็นครั้งที่สาม แต่ก็ยังมิได้ทันพิจารณา สภาดิเร็คตัวร์นี้ได้ถูกยุบและโค่งลงโดยอำนาจแห่งกองทหารของนายพลนโปเลออง โบนาปาร์ต ประเทศฝรั่งเศสจึ่งเกิดมีวิธีปกครองขึ้นใหม่ เรียกว่า กงสุลา คือ มีกงสุลที่หนึ่ง ๑ คน และกงสุลรองอีก ๒ คน รวมเป็น ๓ คน ซึ่งตามธรรมดาอำนาจสิทธิขาดตกอยู่แก่กงสุลที่ ๑ คนเดียวเท่านั้น นอกจากกงสุลยังมีสภาต่าง ๆ เป็นผู้ช่วยในการปรึกษาหารือคือ

๑. สภาปรึกษาการแผ่นดิน เรียกว่า “กองเซยเดตาต์” มีสมาชิก ๘๐ คน เลือกตั้งโดยกงสุลที่หนึ่งซึ่งเป้นประธานของสภานี้โดยตำแหน่งด้วย สภามีสิทธิแต่เพียงตรวจแก้และเตรียมร่างกฎหมายซึ่งท่านกงสุลที่หนึ่งได้เสนอ แต่ไม่มีสิทธิลงมติเด็ดขาด ยอมรับหรือปฏิเสธร่างกฎหมายนั้น ๆ

เมื่อได้ปรึกษาหารือตรวจแก้เป็นการตกลงกันอย่างใดแล้วท่านกงสุลที่หนึ่ง จึ่งตั้งสมาชิกในสภานั้น ๓ คน ให้เป็นผู้แทนเพื่อไปแถลงเหตุผลของร่างกฎหมายใน “สภานีติบัญญัติ”

๒. สภาตริบืนาต์ มีสมาชิก ๑๐๐ คน เลือกตั้งโดยสภาเสนาต์ สภานี้มีหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมายซึ่งสภาปรึกษาการแผ่นดินได้ตรวจไว้แล้ว สภาไม่มีสิทธิลงมติเด็ดขาดกับทั้งไม่มีสิทธิที่จะแก้ไขร่างกฎหมายนั้นแต่อย่างใด หน้าที่ของสภามีแต่ลงความเห็นว่า บทบัญญัติทั้งหมดในร่างกฎหมายนั้น ดีหรือไม่ดี แล้วเลือกสมาชิก ๓ คนให้เป็นผู้แทนเพื่อไปแถลงเหตุผลของตนใน “สภานีติบัญญัติ”

๓. สภานีติบัญญัติ เรียกว่า “กอร์พ์ส์ เลจิสลาดิฟ” มีสมาชิก ๓๐๐ คน เลือกตั้งโดยสภาเสนาต์ สภานี้ไม่มีสิทธิออกความเห็นโต้เถียงกันแต่อย่างใด คือมีสิทธิแต่คอยฟังเหตุผลของผู้แทนแห่งสภาปรึกษาการแผ่นดินและแห่งสภาตริบืนาต์ ครั้นแล้วก็ลงมติเด็ดขาด ยอมรับหรือปฏิเสธร่างกฎหมายซึ่งรัฐบาลได้เสนอ เหตุฉนั้นจึ่งมีผู้ให้นามสมญาแก่สภานี้ว่า “สภาคนใบ้” คือสภาของคนที่พูดไม่ได้

๔. สภาเสนาต์กองแซร์วาเตอร์ มีสมาชิก ๘๐ คน เลือกตั้งในชั้นแรกโดยกงสุล มีหน้าที่แต่คอยรักษาธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน หาได้เกี่ยวข้องในร่างกฎหมายแพ่งไม่

เมื่อ ค.ศ. ๑๘๐๐ ท่านกงสุลที่หนึ่งได้ตั้งกรรมการร่างกฎหมายเพื่อยกร่างประมวลกฎหมายแพ่งขึ้นใหม่ และได้ส่งไปหารือศาลสูงสุดและศาลอุทธรณ์เสร็จแล้วจึ่งได้นำเสนอสภาปรึกษาการแผ่นดินซึ่งไม่มีอุปสรรคอันใดมาขัดขวาง เพราะนายพลนโปเลออง โบนาปาร์ตได้เข้านั่งประชุมในการตรวจชำระร่างประมวลกฎหมายด้วยจึ่งทำให้สมาชิกมีความเกรงขาม เหตุฉะนั้นเมื่อนายพลฯ ขอให้เติมบทบัญญัติใดลงไป ซึ่งบางทีบทบัญญัตินั้นขัดต่อประเพณีหรือไม่เหมาะต่อแบบแผนของประมวลกฎหมายก็ดี สมาชิกก็มิอาจที่จะต้านทาน เช่น นายพลนโปเลออง โบนาปาร์ต ขอให้เติมบทบัญญัติที่เกี่ยวกับทะเบียนสภาพบุคคลที่เป็นทหาร สมาชิกก็ยินยอม ซึ่งนักปราชญ์กฎหมายได้ลงความเห็นว่า ควรอยู่ในกฎหมายว่าด้วยการปกครองทหารมากกว่าที่จะเอาเข้าอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่ง และที่ยิ่งไปกว่านั้นสมาชิกก็ทำตาม คือบทบัญญัติที่ยอมให้สามีอย่าขาดจากกันได้ด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย อันเป็นการขัดต่อศาสนาคาธอลิก บทบัญญัติอันนี้หามีในต้นร่างไม่ แต่นายพลนโปเลออง โบนาปาร์ต ก็ได้ขอหรือบังคับให้เติมลงไป

 

      นโปเลียน โบนาปาร์ต

ที่มา : Wikipedia

 

การที่ทำเช่นนี้ มีผู้กล่าวกันว่าในกาลครั้งนั้น นายพลนโปเลออง โบนาปาร์ต ได้คิดเตรียมการไว้แล้วว่า จะปราบดาภิเษก และสถาปนาวงศ์ของตนขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งประเทศฝรั่งเศส แต่นายพลนโปเลออง โบนาปาร์ตไม่มีบุตร กับทั้งมีภรรยาซึ่งเป็นแม่หม้าย ชื่อ โยเซฟฟิน โบฮาเน มีอายุแก่กว่านายพลฯ ตั้งหลายปี นายพล ฯ ไม่แน่ใจว่าการที่ตนไม่มีบุตร์สืบสันตติวงศ์จะเป็นโดยฝ่ายตนหรือฝ่ายภรรยาซึ่งเคยมีบุตรกับสามีเดิมได้กลายเป็นหมัน เมื่อเป็นดั่งนี้ หนทางที่นายพลฯ จะมีบุตรสืบสันติวงศ์ได้ก็มีอยู่ ๒ ทาง คือ อย่ากับภรรยาเก่า แล้วแต่งงานใหม่ เพื่อว่านายพลฯ ไม่เป็นหมันก็จะได้มีบุตร อีกทางหนึ่งก็คือ ถ้านายพลฯ เป็นหมันไม่มีบุตรตามธรรมชาติได้แล้ว ก็จะได้จัดการรับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยง เพราะฉะนั้นนายพล ฯ จึ่งให้เติมบทบัญญัติว่าด้วยการมีบุตรบุญธรรมเข้าไว้ในประมวลกฎหมายอีกแห่งหนึ่งด้วย

แต่ครั้นร่างประมวลกฎหมายได้เสนอต่อมายัง “สภาตริบืนาต์” ในชั้นแรกก็ประสบอุปสรรค คือ สมาชิกในสภานี้มีหลายคนซึ่งนิยมในลัทธิประชาธิปไตยอันเป็นปฏิปักข์ต่อลัทธิกงสุล เหตุฉะนั้นการร่างประมวลกฎหมายของนายพล จึ่งไม่ได้รับความเห็นดีของสภาตริบืนาต์

นายพลฯ จึ่งจัดการออกกฎ ลดจำนวนสมาชิก “สภาตริบืนาต์” ลงให้คงเหลือ ๕๐ สมาชิกใดซึ่งเป็นศัตรูต่อนายพลฯ ก็ถูกคัดออกจากสภา และจัดการวางระเบียบการชำระประมวลกฎหมายเสียใหม่ คือ ร่างประมวลกฎหมายนั้นให้สภาปรึกษาการแผ่นดิน และสภาตริบืนาต์ จัดการหารือกันเป็นส่วนตัวเสียก่อน เมื่อตกลงกันแล้วจึ่งนำเข้าปรึกษาเป็นการเปิดเผย

แต่นั้นมาอุปสรรคก็ไม่เกิดขึ้นได้ เพราะเมื่อสภาทั้งสองได้ตกลงกันแล้ว สภานีติบัญญัติก็มีอยู่ทางเดียวที่จะลงมติคล้อยตาม การชำระร่างประมวลกฎหมายแพ่งจึ่งสำเร็จและได้นำออกประกาศเป็นกฎหมายเป็นตอน ๆ ไป เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๘๐๓ จนถึงเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. ๑๘๐๔ จึ่งได้สำเร็จบริบูรณ์ รวมมีบทบัญญัติ ๒๒๘๑ มาตรา ครั้นวันที่ ๒๑ มีนาคม ปี ค.ศ. ๑๘๐๔ จึ่งได้มีรัฐบัญญัติประกาศรวมบทบัญญัติต่าง ๆ แห่งกฎหมายแพ่งเหล่านี้เป็นประมวลเดียวกันขนามนามว่า “โค๊ตซิวิล เดส์ ฟรังเซส์” แปลว่า “ประมวลกฎหมายแพ่งแห่งชนฝรั่งเศส

ครั้นกาลล่วงมาได้อีกสองเดือน นับแต่วันที่ได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งแห่งชนฝรั่งเศส นายพลนโปเลออง โบนาปาร์ต ได้ขึ้นครองราชสมบัติ เป็น บรมราชาธิราช แห่งประเทศฝรั่งเศส ทรงพระนามว่า พระเจ้านโปเลอองที่ ๑ (นโปเลียน) และในปี ค.ศ. ๑๘๐๗ ก็ได้ออกพระราชบัญญัติเปลี่ยนนาม “ประมวลกฎหมายแพ่งแห่งชนฝรั่งเศส” เป็น "โค้ตโปเลออง" แปลว่า “ประมวลพระเจ้านโปเลออง” เพื่อจะรวมเอาเกียรติศักดิ์ต่าง ๆ เข้าไว้ในนามของพระองค์เสียทั้งสิ้น

ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๘๐๙ พระองค์ได้นำเอาบทบัญญัติว่าด้วยการอย่าขาดจากผัวเมีย ซึ่งพระองค์ได้ขอให้เติมลงในประมวลกฎหมายแพ่งมาใช้ คือได้ประกาศอย่าขาดจากพระมเหสีเดิมของพระองค์

ในปี ค.ศ. ๑๘๑๐ พระองค์ได้ทรงราชาภิเษกกับเจ้าหญิงมารีหลุยซ์แห่งประเทศอาวซ์เตรีย ผลของการราชาภิเษกครั้งที่สองนี้ไม่ทำให้ถึงกับพระองค์จะต้องนำเอาบทบัญญัติว่าด้วยบุตรบุญธรรมมาใช้ เพราะเมื่อปี ค.ศ. ๑๘๑๑ พระองค์ได้มีโอรสองค์หนึ่งกับพระมเหสีมารีหลุยซ์

ต่อมาเมื่อ ค.ศ. ๑๘๑๔ พระเจ้านโปเลอองได้ถูกออกจากราชสมบัติฝรั่งเศสไปอยู่เกาะเอลบา และพระเจ้าหลุยซ์ที่ ๑๘ แห่งพระราชวงศ์ บูร์บอง คือ กษัตริย์วงศ์เก่าฝรั่งเศสได้ปราบดาภิเษกขึ้นครอบครองมหาราชสมบัติแทน พระเจ้าหลุยซ์ที่ ๑๘ จึ่งได้มีพระบรมราชโองการประกาศเปลี่ยนนาม “โค๊ตนโปเลออง” กลับเป็น “ประมวลกฎหมายแพ่งแห่งชนฝรั่งเศส” ตามเดิม

เมื่อปี ค.ศ. ๑๘๑๕ พระเจ้านโปเลอองได้กลับมาประเทศฝรั่งเศส ปราบดาภิเษกเป็นบรมราชาธิราชขึ้นอีก และพระเจ้าหลุยซ์ที่ ๑๘ ได้เสด็จออกจากประเทศฝรั่งเศส

ต่อมาอีกไม่กี่เดือน กองทัพพระเจ้านโปเลอองที่ ๑ ได้อัปราชัยในการรบที่วอเตอร์ลู พระเจ้านโปเลอองได้ถูกอังกฤษลวงเอาไปปล่อยไว้ยังเกาะ เซนต์ เฮเลนา พระเจ้าหลุยซ์ที่ ๑๘ ได้กลับขึ้นครองราชสมบัติอีก

เมื่อ ค.ศ. ๑๘๑๖ ได้มีพระราชกฤษฎีกาในพระเจ้าหลุยซ์ที่ ๑๘ ให้ยกเลิกถ้อยคำสำนวนในประมวลกฎหมายแพ่ง ซึ่งทำให้ระลึกถึงการปกครองก่อนพระเจ้าหลุยซ์ที่ ๑๘ และได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ประมวลกฎหมายแพ่งเสียใหม่ เช่นคำว่า พระบรมราชาธิราช (EMPEREUR) ให้เปลี่ยนเป็นพระราชา (Roi) ฯลฯ และประมวลพระเจ้านโปเลอองเป็นอันมีนามปรากฏในฉบับที่พิมพ์ครั้งใหม่ว่า “โค๊ตซิวิล” แปลว่า “ประมวลกฎหมายแพ่ง

พระเจ้าหลุยซ์ที่ ๑๘ สวรรคต ค.ศ. ๑๘๒๔ และพระเจ้าชาลส์ที่ ๑๐ ผู้ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระองค์ได้ขึ้นครองราชสมบัติต่อมาเมื่อปี ค.ศ ๑๘๓๐ พระเจ้าชาลส์ที่ ๑๐ ถูกเวนคืนราชสมบัติ เจ้าหลุยซ์ เดอ บูร์ บอง ผู้เป็นเชื้อพระวงศ์ บูร์ บอง ได้ขึ้นครองราชสมบัติ ทรงพระนามว่า พระเจ้าหลุยซ์ ฟิลลิปที่ ๑

และเมื่อปี ค.ศ. ๑๘๔๘ พระเจ้าหลุยซ์ ฟิลลิปที่ ๑ ถูกเวนคืนราชสมบัติ ประเทศฝรั่งเศสจึงกลับมีการปกครองอย่างประชาธิปไตยอีกเป็นครั้งที่สอง และในปีนั้นเอง เจ้าหลุยซ์นโปเลออง ผู้ซึ่งเป็นโอรสพระเจ้าหลุยซ์ โบนาปาร์ต อนุชาของพระเจ้านโปเลอองที่ ๑ ได้เป็นประธานาธิบดีประเทศฝรั่งเศส

ในปี ค.ศ. ๑๘๕๒ เจ้าหลุยซ์ นโปเลออง ได้ออกกฎประธานาธิบดี เปลี่ยนนามประมวลกฎหมายแพ่ง กลับเป็น “โค๊ตนโปเลออง” หรือ “ประมวลพระเจ้านโปเลออง” ดั่งจะได้เห็นได้จากเหตุผลซึ่งแจ้งอยู่ในคำปรารภในกฎประธานาธิบดีลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๕๒ มีดั่งนี้

“หลุยซ์นโปเลออง ประธานาธิบดีแห่งริปุบลิก ฝรั่งเศส ได้พิจารณารายงานของผู้รักษามุรธาธร เสนาบดีของแผ่นดินสำหรับกระทรวงยุตติธรรมแล้ว เห็นว่า โดยอำนาจแห่งพระราชประสงค์ของพระเจ้านโปเลออง การร่างประมวลกฎหมายแพ่งจึ่งได้สำเร็จและประกาศใช้เป็นกฎหมาย และพระองค์เป็นผู้ทรงเลือกเฟ้นผู้ที่มมีความสามารถกระทำกิจการอันคงอยู่ชั่วดินฟ้านี้ได้สำเร็จ และโดยเหตุที่พระองค์ได้ทรงประทับเป็นประมุขในสภาปรึกษาราชการแผ่นดิน และโดยพระราชชวนะของพระองค์ การวินิจฉัยปัญหาอันสำคัญของกฎหมายแพ่งจึงได้ตกลงกันได้ และมหาชนได้เคยรู้สึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ จึ่งได้ขนานนามประมวลนั้นว่า “โค๊ตนโปเลออง” การที่จะกลับขนานนามว่า “โค๊ตนโปเลออง” ชิ้นอีกเช่นนี้ ก็เท่ากับเคารพต่อความเป็นจริงในประวัติศาสตร์ และเคารพต่อความรู้สึกของชาติ เหตุฉะนั้นจึ่งได้ออกกฎประธานาธิบดีไว้มีข้อความดั่งต่อไปนี้

มาตรา ๑ ให้ประมวลกฎหมายแพ่งกลับมีนามเรียกว่า “โค๊ตนโปเลออง

การที่เจ้าหลุยซ์ นโปเลออง ได้ออกกฎประธานาธิบดีนี้ก็เพื่อเตรียมการที่จะขึ้นครองราชสมบัติ

ต่อจากนั้นมาอีกไม่กี่เดือน เจ้าหลุยซ์ นโปเลอองก็ได้ขึ้นครองราชสมบัติสมหวัง ทรงพระนามว่า พระเจ้านโปเลอองที่ ๓ พระเจ้านโปเลอองที่ ๓ ต้องถูกออกจากราชสมบัติใน ปี ค.ศ. ๑๘๗๐ และต่อนั้นมาประเทศฝรั่งเศสก็กลับมีการปกครองอย่างประชาธิปไตย เป็นครั้งที่สามจนทุกวันนี้ แต่ก็ก็หาได้มีบทบัญญัติประกาศยกเลิกกฎประธานาธิบดีที่ให้ขนานนาม โค๊ตนโปเลออง เป็นแต่ทางราชการได้นิยมเรียกเสียใหม่ว่า “โค๊ตซิวิล” ซึ่งแปลว่า “ประมวลกฎหมายแพ่ง” ความนิยมของทางราชการทั้งนี้ได้แพร่หลายทั่วไปแล้ว นามแห่ง “โค๊ตนโปเลออง” จึ่งเสื่อมศูนย์ไปเอง

ดั่งที่ได้ทราบแล้วแต่ตอนต้น พระเจ้านโปเลอองที่ ๑ ได้เป็นผู้ที่ทำให้ประเทศฝรั่งเศสได้มีประมวลกฎหมายแพ่ง หากจะมีข้อความบางแห่งซึ่งพระองค์ขอให้เติมลงไป เพื่อประโยชน์ของพระองค์ก็ดี แต่ว่าคุณความดีของพระองค์ย่อมมีอยู่มาก เพราะเหตุว่าถ้าพระองค์ไม่ได้เข้าเป็นกงสุลแห่งประเทศฝรั่งเศสแล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งอาจจะร่างกันอีกหลายครั้งและอาจล่าช้าไม่มีที่สิ้นสุด ถึงแม้ว่านามของพระองค์ที่ให้ไว้กับประมวลกฎหมายแพ่งจะไม่มีใครนิยมเรียกก็ดี แต่โลกหรือผู้ซึ่งไม่มีการเกี่ยวข้องในลัทธิการปกครองของฝรั่งเศส ย่อมจะเห็นว่าพระองค์มิได้ทำคุณให้แก่ประเทศฝรั่งเศสแต่แห่งเดียว พระองค์ได้ทำคุณให้โลกหรือประเทศต่าง ๆ เกือบทั้งหมดที่ได้ดำเนิรรอยตามหรืออาศัยบทบัญญัติ. ในประมวลของพระองค์ขึ้นเทียบเคียงเพื่อร่างประมวลกฎหมาย เมื่อก่อนเสด็จสวรรคต ณ เกาะ เซนต์ เฮเลนา พระองค์ได้ทรงรับสั่งว่า

ชัยชำนะซึ่งข้าพเจ้าได้มีในการรบ ๔๐ ครั้งนั้น ไม่ใช่เกียรติศักดิ์อันแท้จริงของข้าพเจ้า เพราะเหตุว่าการรบที่วอเตอร์ลูครั้งเดียวได้ลบล้างชัยชำนะทั้งหลายของข้าพเจ้าทั้งหมด แต่สิ่งซึ่งจะคงอยู่ชั่วดินฟ้าไม่มีอะไรมาลบล้างได้นั้นก็คือประมวลกฎหมายแพ่งของข้าพเจ้า.

 

ปรีดี พนมยงค์
วันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๑

 

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขร การสะกดคำศัพท์ การเว้นวรรค และเลขไทยตามเอกสารต้นฉบับ
  • ภาพประกอบเอกสารจากบทความเกล็ดประมวลกฎหมายเรื่องพระเจ้านโปเลออง (นโปเลียน) กับประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส โดย ปรีดี พนมยงค์

 

หลักฐานชั้นต้น :

  • ปรีดี พนมยงค์, เกล็ดประมวลกฎหมายเรื่องพระเจ้านโปเลออง (นโปเลียน) กับประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส, บทบัณฑิตย์, เล่ม 5 ตอน 9,  (2471)