ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

คอลัมน์ “โศลก สุนทรีย์ เมธี ชีวทัศน์” “ฮัน ซูหยิน” นักเขียนหญิงผู้หยิ่งทระนงนอกกรงไม้ไผ่

8
มีนาคม
2568

Focus

  • ฮัน ซูหยิน คือนักเขียนหญิงผู้ทรงอิทธิพลซึ่งสะท้อนโลกทัศน์ผ่านปลายปากกา เธอเป็นลูกครึ่งจีน-เบลเยี่ยม ผู้ต้องเผชิญการเลือกปฏิบัติทั้งจากโลกตะวันตกและตะวันออก การเดินทางชีวิตของเธอเต็มไปด้วยการดิ้นรน สงคราม ความรัก และอุดมการณ์ทางสังคม
  • ความรักและชีวิตของเธอเป็นเรื่องราวของ หญิงแกร่งที่ก้าวข้ามขนบธรรมเนียม เธอผ่านการแต่งงานและความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน แต่กลับเลือกเส้นทางที่แตกต่างจากผู้หญิงในยุคเดียวกัน ด้วยการแสวงหาเสรีภาพและอุดมคติ
  • นอกเหนือจากการเป็นแพทย์ เธอยังเป็นนักเขียนที่บันทึกความจริงเกี่ยวกับ สงคราม จีนยุคเปลี่ยนผ่าน และความอยุติธรรมในสังคม ผลงานของเธอไม่เพียงเป็นนิยาย แต่คือสารทางประวัติศาสตร์และการเมือง ที่สะท้อนตัวตนของหญิงนักปฏิวัติ ผู้ถูกขนานนามว่าเป็น “เช เกวารา ฝ่ายหญิง”

 

“ฉันอยากเป็นเหมือนเช เกวารา ถ้าฉันเป็นผู้ชาย ป่านนี้คงตายไปนานแล้ว”

ฮัน ซูหยิน​


“ฮัน ซูหยิน”  (Han Suyin)

 

เนื่องใน “วันสตรีสากล” ปีนี้ ดิฉันขอพาผู้อ่านไปรู้จักกับนักเขียนหญิงแนวปฏิวัติโลกด้วยน้ำหมึกท่านหนึ่ง มีนามว่า “ฮัน ซูหยิน”  (Han Suyin) เธอเป็นลูกครึ่ง “จีน-เบลเยียม” หรือที่เรียกกันว่า “ยูเรเซียน” เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลก

ครั้งหนึ่งในชีวิตเมื่อสามทศวรรษเศษ ๆ ที่ผ่านมา ดิฉันได้มีโอกาสรู้จักตัวเป็น ๆ ของเธอ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเสวนาปสาทะกับนักเขียนหญิงท่านนี้ในต่างแดนด้วยความปีติระคนตื่นเต้น อยู่ ณ ช่วงเวลาหนึ่งนานกว่า 5-6 ปี ถือว่าเป็นเกียรติแห่งชีวิตยิ่งนักหากเธอยังมีชีวิตอยู่ ปีนี้ก็จะมีอายุครบ 109 ปีพอดี

 

ดร.ขวัญดี อัตวาวุฒิชัย ผู้เป็นสะพานเชื่อมสายสัมพันธ์

ดิฉันได้มารู้จักกับมาดาม “ฮัน ซูหยิน” ณ เมืองโลซานน์ สมาพันธรัฐสวิส ช่วงกลาง พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) เนื่องจากช่วงนั้นดิฉันเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์ เดินทางมาศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยโลซานน์

โดยบุคคลผู้เป็นสะพานเชื่อมให้ดิฉันมาพบกับนักเขียนนามอุโฆษก็คือ รองศาสตราจารย์ ดร.ขวัญดี อัตวาวุฒิชัย (ผู้ล่วงลับ ท่านเคยสอนที่ภาควิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ซึ่งดิฉันเรียกท่านว่า “พี่ขวัญ” ท่านเป็นน้องสาวแท้ ๆ ของ “ท่านพ่อโพธิรักษ์ แห่งสำนักสันติอโศก” นามเดิมคือ “ขวัญดี รักพงษ์” และยังเป็นนักวิจารณ์วรรณกรรมฝีปากกล้าแถวหน้าคนหนึ่งของฟากฟ้าเมืองไทย

อาจารย์ขวัญดีหรือ “พี่ขวัญ” ได้ฝากหนังสือวรรณกรรมเวียดนามปกเก่าแก่เล่มหนึ่ง ซึ่งฮัน ซูหยินเคยให้พี่ขวัญหยิบยืมอ่านเมื่อครั้งที่ทั้งสองได้พบกันที่กรุงลอนดอนเมื่อหลายปีก่อน ในฐานะ “มิตรสหายผู้ร่วมอุดมการณ์ทางวรรณกรรม” แต่พี่ขวัญยังไม่มีโอกาสได้ส่งคืนหนังสือเล่มนั้นให้เจ้าของทางไปรษณีย์ จนกระทั่งมาทราบว่า ฮัน ซูหยินได้ย้ายนิวาสถานจากประเทศอังกฤษมาอาศัยอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์แทนแล้วเป็นการถาวร และเห็นว่าไหน ๆ ดิฉันต้องเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศนี้ พี่ขวัญจึงถือโอกาสให้ดิฉันเป็นทูตนำหนังสือเล่มดังกล่าวมาคืนเจ้าของด้วยมือตัวเอง

น่าเสียดายที่ดิฉันมิได้เปิดห่อที่ผู้ฝากมัดมันไว้ด้วยริบบิ้นอย่างแน่นหนา จึงมิอาจรู้ว่าหนังสือวรรณกรรมเวียดนามเล่มดังกล่าวมีชื่อเรื่องว่าอะไร และใครเป็นผู้ประพันธ์ ช่างเป็นหนังสือที่มีความหมายต่อสายสัมพันธ์ระหว่างเราสามคน (ฮัน ซูหยิน ดร.ขวัญดี และดิฉัน) ยิ่งนัก

อย่างไรก็ดี หนังสือเล่มนั้นพร้อมสาส์นแสดงความรำลึกถึง จากลายมือของสุภาพสตรีผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดให้แก่นักเขียนรุ่นใหม่ย่านท่าพระจันทร์ในซองจดหมายอีกฉบับหนึ่ง ได้นำพาดิฉันมายืนกดออดหน้าอพาร์ตเมนท์ชั้น 6 ถนนมงต์ตัว (Avenue de Montoie) เมืองโลซานน์ ในช่วงบ่ายแก่ ๆ วันหนึ่งของฤดูร้อนเดือนสิงหาคม พ.ศ.  2535

ในฐานะทูตสวรรค์น้อย ๆ (ขณะนั้นดิฉันมีอายุเพียง 27 ปีเศษ) หลังจากได้มอบหนังสือวรรณกรรมเวียดนามคืนให้แก่มาดามฮัน ซูหยิน (ในปี 2535 ท่านมีอายุ 69 ปี) แล้ว ดิฉันได้แนะนำตัวว่า นอกเหนือจากดิฉันจะเป็นนักเรียนทุนมาศึกษาต่อด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ ดิฉันยังเป็นนักคิดนักเขียนและกวิณีอีกด้วย

นี่คือ “ใบเบิกทาง” สำหรับคนคลั่งไคล้วรรณกรรมดุจเดียวกัน ทำให้หลังจากนั้นเป็นต้นมา ดิฉันได้รับสิทธิพิเศษสามารถแวะเวียนมาจิบชา อ่านหนังสือในห้องรับแขก พูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติทางการเมือง สังคม และวรรณกรรม กับปราชญ์อาวุโสชาวยูเรเซียนท่านนี้ได้ตามโอกาสอันสมควร ซึ่งโดยปกติแล้ว ท่านเป็นคนเก็บตัว เข้มงวด ไม่ยิ้ม หัวไม่ใคร่สุงสิงกับคนแปลกหน้าเท่าใดนัก

ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ดิฉันเทียวไปเทียวมา เพื่อเติมพลังไฟวรรณกรรมจากท่าน ดิฉันเฝ้าสังเกตเห็นการดำรงชีวิตของฮัน ซูหยิน ว่ามีพฤติกรรมที่สามารถใช้คำว่า “ลับ ๆ ล่อ ๆ” อยู่พอสมควรก็คงไม่ผิดกระไรนัก คล้ายกับว่าเธอกำลังหลบซ่อนอำพรางไม่อยากให้โลกรับรู้การมีตัวตนของเธอ เช่น ขณะที่ยืนรอรถเมล์ เธอไม่ประสงค์จะยืนในที่โล่งกว้าง แต่มักแอบไปหลบอยู่ใต้ชายคาของ Kiosque (อ่านว่า กิออสก์) มุมขายหนังสือพิมพ์ ใส่หมวกสวมแว่นดำปิดหน้าปิดตา ชนิดที่ไม่อยากให้ใครมองเห็นเธอได้ถนัดถนี่ บางครั้งเธอรำพึงกับดิฉันว่า

“คลับคล้ายคลับคลาว่าฉันกำลังถูกสะกดรอยตามทุกฝีก้าว นี่ถ้าคุณไม่มีจดหมายยืนยันมาจากอาจารย์ขวัญดี บางทีฉันก็อาจระแวงว่าคุณเองก็น่าจะเป็นสปายลายลับที่ถูกรัฐบาลจีนส่งมาล้วงข้อมูลของฉัน มาในคราบของนักเขียนหรือนักเรียนทุนชาวเอเชียอะไรนั่นก็เป็นได้”

โอ! ฮัน ซูหยิน คุณกลัวแม้กระทั่งเด็กสาวเช่น “เพ็ญ ภัคตะ” ลึก ๆ แล้วคุณหวั่นวิตกเรื่องอะไรกันหรือ? รัฐบาลจีนจักกล้าเล่นงานคุณด้วยเรื่องอันใด? ความลึกลับของคุณ ยิ่งเพิ่มแรงกระสันใคร่รู้ อยากติดตาม อยากหาคำตอบว่าคุณคือใคร? เพิ่มอีกหลายเท่าทวีคูณ

แต่ก็มีบางแง่มุมที่คุณยินดีเปิดเผยแก่สาธารณะ อย่างน้อยก็ปรากฏอยู่ในหนังสืออัตชีวประวัติที่คุณเขียนด้วยตัวเอง นั่นคือปูมหลังของชีวิตสมัยคุณอยู่เมืองจีน เส้นทางการศึกษา และจุดพลิกผันของความรักทั้ง 4 ครั้ง

 


สุสานบัวเดอโวซ์ (Boix-de-Vaud) ที่มา: https://www.lausanne.ch/vie-pratique/nature/parc-promenades/cimetieres/cimetiere-du-bois-de-vaux.html

 

ก่อนผืนดินกลบร่าง ณ สุสานบัวเดอโวซ์

แน่นอนว่าสวิตเซอร์แลนด์ย่อมมิใช่ประเทศแรกที่ชาวจีนโพ้นทะเลอย่าง ฮัน ซูหยิน เลือกที่จะมาพำนักอาศัย ผู้หญิงที่เขียนหนังสือนับร้อยเล่มได้ น่าจะผ่านสนามชีวิตมาแล้วหลายทวีป แต่ละช่วงชีวีวัย วิถีของนักเขียนก็มักจะพานพบอะไรที่ผาดโผนโจนทะยานต่างไปจากปุถุชนสามัญ

อย่างน้อยที่สุดเราก็ควรตั้งคำถามด้วยว่า เธอเข้ามาอยู่สวิตเซอร์แลนด์ในสถานะใด ลี้ภัยทางการเมืองหรือเช่นไร? เป็นสิ่งที่ดิฉันกระหายใคร่รู้ แต่ยังมิอาจถามตรง ๆ ได้ คงต้องค่อย ๆ แกะรอยกันทีละเปลาะ ๆ ไป

สิ่งที่เราทราบกันอย่างแน่นอนก็คือ สวิตเซอร์แลนด์กลายเป็นดินแดนสุดท้ายที่เธอได้ฝังกายเนื้อไว้ตราบนิจนิรันดร์ ณ สุสานบัวเดอโวซ์ (Boix-de-Vaud) ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากทะเลสาบเล-มอง (Lac Léman ที่ต้องใส่ไฮเฟ่นแยกคำไว้ เพราะเกรงว่าคนจะอ่านผิดเป็น เลม-อง) เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 (ค.ศ. 2012) ด้วยวัย 95 ปี โดยดิฉันมาทราบข่าวนี้ย้อนหลังจากสื่อออนไลน์

 


หลุมฝังศพของ ฮัน ซูหยิน ที่สุสาน บัวเดอโวซ์

 

อนึ่ง เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 (ค.ศ. 2019) สมัยที่ดิฉันพาลูกสาว (ปุษปัญชลี สุขคตะ หรือน้องปันปัน) เดินทางไปเที่ยวสวิตเซอร์แลนด์กันสองแม่ลูก ดิฉันได้ถือโอกาสแวะไปคารวะศพของมาดาม ฮัน ซูหยิน ณ สุสานบัวเดอโวซ์ ด้วย ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากหอพักนักศึกษาที่ดิฉันเคยอาศัย

 


สองภาพขาวดำ วัยสาวของฮัน ซูหยิน จากเว็บไซต์ชื่อ McNALLY EDITIONS

 

ผู้หญิงลูกครึ่ง กับความเป็น “หยิน” และการถูกเลือกปฏิบัติ

ถิ่นกำเนิดของฮัน ซูหยิน คือหมู่บ้านซินหยาง (Xinyang) เมืองเหอหนาน (Henan) แคว้นเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน เธอมีบิดาเป็นชาวฮั่น (ชาวจีนแท้) ชื่อ “เย็นตุง ชู” (Yentung Chou) ซึ่งคงเป็นชายชาวจีนเพียงไม่กี่คนนักที่ได้รับโอกาสให้เดินทางไปศึกษาด้านวิศวกรรมการรถไฟที่ประเทศเบลเยียมเมื่อปี พ.ศ. 2446 (ค.ศ. 1903)

ทำให้เย็นตุง ชู ได้พบรักกับสาวเฟลมมิช (ชาวเบลเยียมกลุ่มหนึ่งมีเชื้อสายเฟลมมิช) นาม “มาร์เกอริต เดอนีส์” (Marquerite Denis) โดยเมื่อจบหลักสูตรการศึกษาแล้ว เย็นตุง ชู ได้พามาร์เกอริต เดอนีส์ เดินทางมาใช้ชีวิตร่วมกันบนแผ่นดินจีน ท่ามกลางความขัดแย้งด้านม่านประเพณี

ฮัน ซูหยิน เล่าว่าเธอเคยมีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน 8 คน แต่รอดชีวิตมาได้เพียง 4 คน พี่ชายคนโตของเธอชื่อ กาเบรียล  (Gabriel) พี่ชายคนรองชื่อ ออร์คิด (Orcid) แต่คนที่สองเสียชีวิตตั้งแต่ยังเป็นทารก

ลูกคนถัดมาคือเธอ ถือเป็นลูกคนที่สามหรือลูกสาวคนแรกของครอบครัว ฮัน ซูหยินเกิดเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2459 (ค.ศ. 1917) ชื่อเต็มของฮัน ซูหยินในวัยเยาว์ค่อนข้างยาว คือ Rosalie Elizabeth Mathilda Kuanghu Chou อ่านว่า “โรซาลี เอลิซาเบท มาทิลดา กวงจู ชู” ซึ่งคนในครอบครัวเรียกเธอว่า “โรซาลี”

ส่วนคำว่า “ฮัน ซูหยิน” (Han Suyin) นั้นเป็นนามปากกาที่เธอใช้มาตั้งแต่วัยสาว โดยนำคำว่า “ฮั่น” ของฝ่ายบิดามาใช้ ด้วยต้องการสะท้อนตัวตนของความเป็น “จีนแท้” ที่คนเชื้อสายจีนภาคภูมิใจกับคำ ๆ นี้ เวลาบอกกับใคร ๆ ว่าเป็นชาวอะไร โปรดสังเกตเมื่อเราถามคนจีนด้วยความสงสัยว่าคุณคือใคร เขาไม่ได้ตอบเราว่าเป็น “ชาวจีน” แต่จะยืดอกประกาศว่าเป็น “ชาวฮั่น”

คำว่า “ซูหยิน” ดิฉันไม่มีโอกาสได้ถามเธอตรง ๆ ช่วงที่พบกันในโลซานน์ แต่สันนิษฐานเองว่า “หยิน” หมายถึง เพศหญิงนั่นเอง หยิน-หยาง คือสิ่งที่เป็นขั้วตรงข้ามกัน หยินคือหญิง หยางคือชาย

ดิฉันเคยถามเธอว่า การเกิดมาเป็น “ลูกครึ่ง” ในประเทศอนุรักษ์นิยมอย่างสุดขั้ว ซ้ำกำลังเข้าสู่ระบอบสังคมนิยมอย่างเข้มข้นเช่นจีนนั้น เธอได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง เธอสวนทันควันราวกับอัดอั้นตันใจเต็มทนว่า

“ฉันถูกเลือกปฏิบัติอย่างน่ารังเกียจ น่าอับอาย ราวพลเมืองชั้นสอง แม้แต่จะนั่งรับประทานอาหารเที่ยงในโรงเรียน เพื่อน ๆ ยังลุกเดินหนีไปนั่งโต๊ะอื่น บอกว่าไม่อยากยุ่งกับยัยแหม่มหัวแดง

อีกเรื่องที่รู้สึกแย่มาก ๆ คือ เราเป็นคนตัวสูงเก้งก้างแขนขายาวกว่าคนอื่น เวลาตัดชุดนักเรียน เขาบังคับให้เราใส่ไซส์มาตรฐานเดียวกันกับคนเอเชียทั่วไปที่ตัวเล็ก คือร้านรับตัดเสื้อเขาจะตัดแบบโหล ๆ ไม่ทำไซส์เฉพาะให้คนหุ่นพิเศษ ฉันจำต้องใส่ชุดนักเรียนแบบคับ ๆ รัดแขนรัดหน้าอกเสื้อลอยเติ่งเห็นสะดือ เห็นน่องเห็นเข่าสูงจนเกือบโป๊ จนกลายเป็นที่ขบขันดูแคลนของใคร

ตั้งแต่วินาทีนั้น ฉันเริ่มรู้สึกตัวแล้วว่า แผ่นดินจีนคงไม่เหมาะที่จะให้ลูกครึ่งเช่นฉันได้อาศัย ทั้งที่ลมหายใจของที่ฉันคือปิตุคามบ้านเกิด หาใช่ทวีปยุโรปไม่”

จากงานเขียนของเธอหลายเล่มที่มักสอดแทรกชีวิตวัยเยาว์ ทำให้เราทราบว่า ครอบครัวของเธอเริ่มรับรู้ถึงความเจ็บช้ำน้ำใจในการถูก “บูลลี่” ทั้งจากคนผิวขาว (ตะวันตก) และทั้งจากคนผิวเหลือง (ชาวจีนเอง)

นอกจากเธอกับพี่ ๆ น้อง ๆ อีกสามคน รวมเป็นสี่ ต้องนั่งกินข้าวด้วยกันทุกเที่ยง โดยไม่มีใครอยากสุงสิงด้วยแล้ว เธอยังต้องทนต่อแรงเสียดทานจากชาวตะวันตกอีกด้วย

ฮัน ซูหยินเล่าไว้ในหนังสือว่า เธอไม่ได้รับความเป็นธรรมเพียงเพราะเธอเกิดมาเป็น “ลูกครึ่ง” ?

ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 15 ปี โรซาลีต้องแอบโกงอายุว่า 15 ปีแล้ว เพื่อจะได้มีช่องทางทำงานหาเงินเป็นทุนการศึกษาให้ตัวเอง เธอสมัครงานเป็นเสมียน พนักงานพิมพ์ดีดในช่วงเวลาพาร์ทไทม์ ในโรงพยาบาลคริสเตียนของชาวอเมริกัน ซึ่งความสูงใหญ่ของรูปร่างก็พอจะตบตาหลอกให้คนรับเข้าใจว่าเธออายุถึง 15 ปีแล้ว

แต่แล้วเมื่อสิ้นเดือนตอนรับเงินค่าจ้าง เธอกลับพบว่า คนเราแม้จะทำงานหนักเท่ากัน ใช้ความรู้ความสามารถเท่ากัน แต่คุณจักได้รับเงินค่าตอบแทนไม่เท่ากัน เงินเดือนในองค์กรเอกชนต่างประเทศนั้นแบ่งเป็น 3 ระดับ คนผิวขาวได้รับเงินในระดับสูงสุด ถัดมาคือกลุ่มยูเรเซียน หรือพวกลูกครึ่งอย่างเธอ และคนจีนเจ้าของประเทศได้ค่าจ้างในอัตราต่ำสุด ไม่ว่าจะทำงานหนักมากเพียงไรก็ตาม

จุดนี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งปมขัดแย้งในใจที่ผลักดันให้ มาร์เกอริต เดอนีส์ มารดาของโรซาลีไม่พอใจ และอยากให้ลูก ๆ ของเธอมีศักดิ์ศรีที่ทัดเทียมกับชาวยุโรปและอเมริกัน จึงตัดสินใจพาลูก ๆ ไปเรียนต่อที่ประเทศเบลเยียม

 

ความรักที่ไม่เคยตกผลึก

ช่วงโตเป็นสาวรุ่น โรซาลี หรือ ฮัน ซูหยิน ติดตามมารดาไปเรียนต่อระดับอุดมศึกษาในสายแพทย์ที่มหาวิทยาลัยกรุงบรัสเซลล์ เบลเยียม ซึ่งประเทศนี้ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาแม่ เมื่อเรียนจบแล้ว เธอขอลามารดากลับมาทำงานในโรงพยาบาลละแวกมณฑลเหอหนานบ้านเกิด

พ.ศ. 2481 (ค.ศ. 1938) ระหว่างเดินทางกลับจีนบนเรือเดินสมุทร โรซาลีในวัย 22 ปี ได้พบรักกับ “ถัง เปา หวง” (Tang Pao Huang) วิศวกรทหารชาวจีนที่ถูกรัฐบาลส่งไปฝึกอบรมที่ Sandhurst Military Academy เปาเป็นลูกศิษย์คนสนิทของ “นายพลซุนยัตเซ็น” เป็นนายทหารหนุ่มที่มีความทะเยอทะยาน จึงได้รับมอบหมายให้ทำงานสำคัญ ๆ แบบก้าวกระโดด ข้ามหัวทหารหัวดำหัวขาวคนอื่น ๆ

กว่าเธอจะรู้ความจริงว่า แท้จริงเปาเป็นคนใจคอโหดเหี้ยมเลือดเย็นซ้ำยังมีจิตวิญญาณแบบศักดินา เธอก็จับพลัดจับผลูแต่งงานร่วมหอลงโรงกับเขาไปแล้ว ตามคำคะยั้นคะยอของญาติฝ่ายบิดา ซึ่งมองว่าสตรีควรมีคู่ครองตั้งแต่ยังสาว จะได้มีลูกทันใช้มีหลานทันเลี้ยง

ระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่กับเปา เธอทำงานเป็นหมอในโรงพยาบาล “จุงกิง” ด้วยความอึดอัดคับข้องใจที่ไม่อาจระเบิดระบายให้ใคร ๆ รับรู้ได้ แม้แต่สามีของตัวเธอเอง ผลักดันให้ ฮัน ซูหยิน เริ่มหยิบปากกาขึ้นมาเขียนหนังสืออย่างจริงจัง อันเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์จีนหน้าสำคัญ ที่ไม่มีนักเขียนคนใดอยากจารึก ด้วยมหาจักรวรรดิจีนอันเกรียงไกรในอดีตกำลังถูกกองทัพทหารญี่ปุ่นปฏิบัติการยกพลขึ้นบกบดขยี้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวฮั่นอย่างเหี้ยมโหด

ฮัน ซูหยิน บันทึกเหตุการณ์น่าสยดสยองนี้อย่างลับ ๆ แล้วแอบส่งต้นฉบับไปให้มิชชันนารีชาวอเมริกันพิจารณา บรรณาธิการที่เป็นบาทหลวงไม่ลังเลใจเลยที่จะรีบจัดพิมพ์ให้ โดยส่งไปที่โรงพิมพ์ในประเทศอังกฤษ ถือเป็นหนังสือเล่มแรกของเธอ ใช้ชื่อว่า “ปลายทางที่จุงกิง” (Destination Chungking) พิมพ์ พ.ศ. 2485 (ค.ศ. 1942)

ต่อมา ถัง เปา หวง สามีของเธอได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยทูตทหารประจำกรุงลอนดอนเมื่อ พ.ศ. 2487 (ค.ศ. 1944) แต่แล้วเมื่อกลับมายังจีนอีกครั้งใน พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947) เขาถูกสังหารระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในสงครามกลางเมืองจีน อันเป็นการต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์

ระหว่างที่โรซาลีใช้ชีวิตร่วมกับเปาเป็นเวลานานถึง 9 ปี เขาและเธอไม่มีลูกด้วยกัน ทำให้โรซาลีรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมคนหนึ่งชื่อ “ยุงเหมย” (Yung Mei) เรื่องราวชีวิตรักครั้งแรกของเธอช่วงนี้ ถูกนำมาร้อยเรียงไว้ในนวนิยายชื่อ A Summer Without Birds ซึ่งดิฉันแปลชื่อเป็นภาษาไทยว่า “คิมหันต์ขาดวิหค”

 

ความรักคือพรอันประเสริฐ เนินเขาแห่งการลาจาก

ฮัน ซูหยิน ตัดสินใจหอบลูกสาวบุญธรรมตัวน้อย ไปศึกษาต่อที่คณะแพทย์เฉพาะทางแผนกศัลยกรรมที่มหาวิทยาลัยโรงพยาบาล Royal Free Hospital กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ใน พ.ศ. 2487 (ค.ศ. 1944) ใช้เวลาเรียนไปด้วยเลี้ยงลูกไปด้วยแบบ single mom เป็นเวลา 5 ปี จนได้รับปริญญาทางการแพทย์ใน พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948)

เมื่อเรียนจบ ฮัน ซูหยิน เลือกที่จะใช้ชีวิตกับ หยุงเหมย ลูกสาวบุญธรรมของเธอที่ฮ่องกง แต่เธอต้องหางานทำเลี้ยงชีพ ดังนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949) เธอสมัครเป็นผู้ช่วยแพทย์ในแผนกสูตินารีเวชที่โรงพยาบาลควีนส์แมรี

ณ ที่นั้น เธอได้ตกหลุมรักครั้งใหม่อย่างรุนแรง ในลักษณะ “ชู้ทางใจ” กับ “เอียน มอริสสัน” (Ian Morisson) นักข่าวสงครามชาวออสเตรเลียซึ่งทำงานให้กับหนังสือพิมพ์ London Times เอียนมีพันธะมีครอบครัวแล้ว ฮัน ซูหยิน สารภาพว่าเธอยอมก้าวข้ามประตูนรกเพื่อที่จะรักเขาอย่างหมดจิตหมดใจ

 


หนังสือ My House has Two Doors

 

เธอได้พรรณนาถึงความรักความพิศวาสที่ผู้หญิงยูเรเชียนคนหนึ่งมีต่อชายผิวขาว (ไม่โสด) ในนวนิยายอย่างน้อยสองเล่ม นั่นคือ A Many-Splendoured Thing กับเรื่อง My House has Two Doors แต่สุดท้ายนักข่าวหนุ่มได้จบชีวิตด้วยการถูกฆาตกรรมตอนไปทำข่าวสงครามเกาหลีเมื่อ พ.ศ. 2495 (ค.ศ. 1952) ท่ามกลางหัวใจดวงน้อยของเธอที่แตกสลาย

เหตุการณ์นี้กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวในสังคมฮ่องกง ซึ่งกำลังถูกเขม่นมองทั้งจากชาวอังกฤษเจ้าอาณานิคมเกาะฮ่องกง และจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่เห็นว่าฮัน ซูหยินมีเชื้อสายจีน แต่กลับฝักใฝ่คนผิวขาวที่เป็นศัตรูของจีน ถือเป็นอีกช่วงหนึ่งของชีวิตที่ท้าทายทั้งจริยธรรม ศีลธรรม และมโนธรรมของเธอ

 


หนังสือ A Many-Splendoured Thing

 

เนื้อหาที่มีสีสันร้อนแรงปานนี้ คงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดเลย หากจะมีนักสร้างหนังชื่อดังอย่าง “เฮนรี่ คิง” (Henry King) รีบคว้าเอานิยาย A Many-Splendoured Thing ของเธอไปถ่ายทอดบนจอภาพยนตร์ ฉายใน พ.ศ. 2498 (ค.ศ. 1955) เติมชื่อตอนหน้าอีกนิดหน่อยให้ดูโรแมนติกขึ้น กลายเป็นหนังเรื่อง Love is a Many-Splendoured Thing (แปลตรงตัวได้ว่า ความรักคือพรอันประเสริฐ) ส่วนในเวอร์ชั่นภาษาฝรั่งเศสใช้ La Colline de l'Adieu แปลว่า เนินเขาแห่งการลาจาก โดยมีตัวละครหลักคือ Jennifer Jones และ William Holden ถอดมาชีวิตจริงของรักต้องห้าม-รักระหว่างรบ ของฮัน ซูหยิน และเอียน มอริสสัน นั่นเอง

 


โปสเตอร์หนังเรื่อง Love is a Many-Splendored Thing

 

เมื่อดิฉันได้ถาม ฮัน ซูหยิน ว่ารู้สึกเช่นไร ที่มีผู้นำอัตชีวประวัติส่วนหนึ่งของเธอไปสร้างภาพยนตร์จนได้รับเสียงชื่นชมเกรียวกราว นักเขียนหญิงผู้ทระนงกลับยักไหล่และตอบอย่างไม่ยี่หระว่า

“ฉันเคยให้สัมภาษณ์ไปแล้วหลายครั้ง ว่าไม่ได้สนใจติดตามดูภาพยนตร์เรื่องนี้เลย บอกตามตรงนะ ว่าฉันขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องนี้ ก็เพื่อต้องการเงิน ไปจ่ายเป็นค่าผ่าตัดแสนแพงสำหรับโรงพยาบาลในอังกฤษ ให้หยุงเหมย ลูกสาวบุญธรรมของฉันที่ป่วยเป็นวัณโรคปอด ก็เท่านั้นเอง”

 

เมื่อความรักสวนทางกับอุดมการณ์

ความรักครั้งที่สามของฮัน ซูหยิน เริ่มต้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2495 (ค.ศ. 1952) คราวนี้เป็นผู้ดีอังกฤษชื่อ “ลีออน คอมเบอร์” (Leon Comber) เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยต่อต้านจารกรรมและต่อต้านการบ่อนทำลาย ลีออนถูกส่งตัวให้ไปประจำการที่เมืองยะโฮร์บารูห์ ประเทศมาเลเซีย เมืองนี้ตั้งประจันหน้ากับสิงคโปร์ซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของช่องแคบยะโฮร์

 


หนังสือ Et La Pluie Pour Ma Soif

 

เป็นเหตุให้ฮัน ซูหยิน ได้ติดตามสามีไปทำงานในฐานะแพทย์ที่โรงพยาบาลประจำเมืองยะโฮร์บารูห์ด้วย คู่ขนานไปกับการเขียนวรรณกรรม ที่มาเลเซียเธอผลิตผลงานชิ้นเยี่ยมเรื่องหนึ่งชื่อ เธอคือฝนดับกระหาย (Et La Pluie Pour Ma Soif) เนื้อหาจงใจประณามการกระทำอันหฤโหดของชาวอังกฤษ ที่ประกาศภาวะฉุกเฉิน ด้วยอ้างการก่อความไม่สงบของคอมมิวนิสต์ จึงใช้สิทธิ์กระทำการปราบปรามชาวมาเลย์ที่เห็นต่างอย่างทารุณ

ในเมื่อสามีมีหน้าที่ปราบล้างคอมมิวนิสต์ ภรรยากลับเห็นอกเห็นใจผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ ชีวิตรักย่อมพังครืนเป็นธรรมดา ทั้งคู่ตกลงหย่าร้างกันอย่างสันติใน พ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1958) อย่างไรก็ดี ฮัน ซูหยิน ยังคงให้เกียรติอดีตสามีคนนี้ ด้วยการใช้นามสกุล Comber จนวาระสุดท้าย ดังที่เราเห็นนามนี้วางต่อท้ายชื่อจริงและชื่อกลางบนหลุมฝังศพของเธอ

ช่วงที่ฮัน ซูหยิน ใช้ชีวิตแถบสิงคโปร์ มาเลเซีย เธอมีความหวังที่ได้จะเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของจีน นับตั้งแต่เธอจับตาดูความเคลื่อนไหวว่าจีนมีการประกาศชื่อประเทศใหม่เป็น “สาธารณรัฐประชาชนจีน” แล้วเมื่อ พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949)

เธอจึงมีความมั่นใจที่จะยื่นขอวีซ่าเพื่อเข้าประเทศจีนเพื่อกลับไปเยี่ยมปิตูภูมิอีกครั้ง ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2499 (ค.ศ. 1956) การเดินทางไปจีนของเธอครั้งนั้นได้การต้อนรับอย่างอบอุ่นจาก โจว เอินไหล (Chou En-Lai) และ Chen Yi ในฐานะที่ฮัน ซูหยินเป็นชาวจีนโพ้นทะเล และเริ่มมีชื่อเสียง ผู้นำจีนยังขอให้เธอช่วยชี้แนะสำหรับข้อปรับปรุงประเทศจีนยุคใหม่ให้ถูกทิศถูกทางอีกด้วย

 

ความรักครั้งสุดท้าย ผิดไหมหากเราจะแยกกันอยู่

หลังจากหย่ากับสามีชาวอังกฤษแล้ว ปีรุ่งขึ้นคือ พ.ศ. 2502 (ค.ศ. 1959) เธอยังคงปักหลักใช้ชีวิตในสิงคโปร์ ด้วยการเสริมอาชีพใหม่ สมัครเป็นอาจารย์สอนวิชาวรรณคดีร่วมสมัยให้กับมหาวิทยาลัยนันยาง พร้อมกับเปิดคลินิกแพทย์เอกชนแบบคู่ขนานกันเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ

ช่วงนี้เธอมีความมั่นใจในฐานะ “นักเขียนฝีมือฉกาจ” พร้อมที่จะแนะนำนักเรียนของเธอซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนโพ้นทะเล ที่ติดตามบิดามารดามาตั้งรกรากในสิงคโปร์ ให้เรียนรู้วิธีคิด เคารพต่อวัฒนธรรมของนักเขียนจากโลกที่สาม หมายถึงพลเมืองที่มีเชื้อสายมลายู ชวา บาหลี ทมิฬ จาม ซาไก รวมทั้งคนผิวขาว ผิวเหลือง ที่ไหลมาหลอมรวมอยู่ด้วยกันบนเกาะเล็ก ๆ ที่สิงคโปร์แห่งนี้

ขอผองเราอย่าได้แบ่งแยกชาติพันธุ์วรรณา รังเกียจเผ่าพงศ์ผิวพรรณ วรรณะ ศาสนา ใด ๆ กันอีกเลย อย่าให้เหมือนดั่งที่เธอเคยถูกกระทำที่ถูกบูลลี่มาแล้วที่ประเทศจีนในวัยเยาว์ เพราะเราต่างก็อพยพหนีร้อนมาพึ่งเย็นเฉกเดียวกัน

ณ ห้วงเวลาที่ฮัน ซูหยิน ขลุกตัวทำงานย่านทะเลอันดามัน ที่เชื่อมรอยต่อระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและแอตแลนติกอยู่นั้น ท่ามกลางนานาอารยชน และแล้วใน พ.ศ. 2503 (ค.ศ. 1960) เธอได้รู้จักกับวิศวกรทหารชาวอินเดียชื่อ พันเอกวินเซนต์ รัตนสวามี (Vincent Ruthnaswamy) หนุ่มภารตะชาวเมืองบังกาลอร์ แต่ได้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่กาฐมาณฑุ ทั้งคู่ตกลงปลงใจว่าจะใช้ชีวิตร่วมกัน

 


หนังสือ The Mountain is Young

 

เรื่องราวความรักครั้งสุดท้ายของเธอคราวนี้ปรากฏอย่างเข้มข้นในนวนิยายชื่อ “ศิขรินทร์อ่อนโยน สิเนหาอ่อนเยาว์” หรือ The Mountain is Young (ภาษาฝรั่งเศสใช้ La Montagne est Jeune) ฮัน ซูหยินได้ยกย่องวินเซนต์ว่าเป็นผู้ชายที่ยิ่งใหญ่สุดจะพรรณนา ความรักของเธอและเขาเสมือนขุนเขาศิขรินทร์ที่ไม่เคยแก่ ยังอ่อนโยนอ่อนเยาว์อยู่เสมอ เธอซาบซึ้งใจยิ่งนักที่วินเซนต์พร้อมที่จะสละละทิ้งอาชีพทหารงานประจำของเขาเพื่อใช้ชีวิตร่อนเร่วเนจรไปกับเธอทุกลมหายใจ

เธอไม่ลังเลใจเลยที่จะสมรสกับวินเซนต์ ถือเป็นการแต่งงานอย่างเป็นทางการครั้งที่สาม และทั้งคู่ทำท่าจะปักหลักใช้ชีวิตที่ฮ่องกง ด้วยวินเซนต์รู้ว่าฝ่ายหญิงเริ่มโหยหาจิตวิญญาณแห่งความเป็นจีน แต่ในท้ายที่สุด ฮ่องกงก็มีข้อจำกัดมายมากสำหรับคนที่มีสัญชาติจีนแผ่นดินใหญ่โดยกำเนิดเช่นเธอ เนื่องจากฮ่องกงยังเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักรอังกฤษ ทำให้ทั้งคู่เลือกที่จะมาอาศัยอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ ดินแดนเสรีที่ประกาศตนเป็นกลางทางการเมือง

เมื่อตัดสินใจมาใช้ชีวิตด้วยกันที่เมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ ใน พ.ศ. 2506 (ค.ศ. 1963) ฮัน ซูหยิน ยุติบทบาทของอาชีพแพทย์โดยสิ้นเชิง เพื่ออุทิศตนให้กับงานเขียนอย่างเต็มที่ ด้วยเธอมองว่าประเทศนี้มิได้ขาดแคลนโรงพยาบาลและหมอ ได้เวลาแล้วที่เธอต้องทำงานรับใช้จิตวิญญาณตัวเองอย่างจริงจัง

นักเขียนหญิงในวัย 53 ปี ผู้แรมรอนตามหาความรัก บางครั้งจากตาย บางครั้งจากเป็น โผผินบินวนจากเบลเยียมสู่อังกฤษ จากอังกฤษสู่มาเลเซีย จากมาเลเซียสู่สิงคโปร์ จากสิงคโปร์สู่ฮ่องกง และจากฮ่องกงสู่สวิตเซอร์แลนด์

นับจากนี้เขาและเธอได้มาปักหลักใช้ชีวิตที่ดินแดนเสรีแล้ว ทุกอย่างดูเสมือนว่าน่าจะจบลงแบบ Happy Ending ไฉนเลย ความรักครั้งสุดท้ายที่ว่านี้ จึงต้องลงเอยแบบ “แยกทางกันอยู่” ?

“มันเริ่มรู้สึกเบื่อ ๆ อยาก ๆ แม้ไม่มีมือที่สาม แต่ก็ไม่รู้สึกมีความสุขที่ต้องทนอยู่ด้วยกันในอพาร์ตเมนต์แคบ ๆ ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะต่างคนต่างมีโลกส่วนตัว จึงตัดสินใจแยกกันอยู่ โดยไม่ต้องไปจดทะเบียนหย่า”

คือต่างคนต่างก็อยู่แยกคนละอพาร์ตเมนต์ ยามคิดถึงกันหรือฝ่ายใดมีความทุกข์ มีปัญหาอะไรก็โทรหาปรึกษาอีกฝ่ายได้ ไม่ถึงกับขึ้งเคียดใส่กัน ในขณะเดียวกัน ยามปกติก็ไม่จำเป็นต้องมาจี๋จ๋าหวานจ๋อย ทำตัวเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ พยายามบีบบังคับอีกฝ่ายให้เชื่อฟังและยอมรับความคิดของตัวถือว่าเป็นต้นแบบ “ความรักของคนรุ่นใหม่” ในยุคสมัยนี้อย่างแท้จริง

 

แพทย์ นักเขียน และนักปฏิวัติ ฉายา “เช เกวารา” ฝ่ายหญิง

สิ่งที่เล่ามาทั้งหมดข้างต้นนั้น เป็นการปูพื้นให้รู้จัก “ฮัน ซูหยิน” ด้านปูมหลังชาติกำเนิด บทบาทของการศึกษา อาชีพ หน้าที่การงาน และความรัก ซึ่งพื้นฐานของเธอนั้นคือ “แพทย์” แต่เหตุไฉนชีวิตจึงหักเหมาเป็น “นักเขียน” ได้เล่า ซ้ำมิได้เขียนหนังสือนิยายแนวประโลมโลกย์อย่างเดียว หากเธอเลือกที่จะเขียน “แนวปฏิวัติโลกและสังคม” อีกแนวหนึ่งด้วย

ดิฉันเคยตั้งคำถามต่อเธอในช่วงที่เราพบกันที่โลซานน์ว่า

“คุณคิดว่าตัวเองคล้าย เช เกวารา ไหม ผู้ที่เป็นทั้งแพทย์ ศิลปิน และนักปฏิวัติ?”

คำตอบที่เราได้ยินจากปากของเธอก็คือ

“ฉันอยากเป็นเหมือนเช ถ้าฉันเป็นผู้ชาย ป่านนี้คงตายไปนานแล้ว เพราะฉันต้องกระโจนเข้าไปยืนแถวหน้าในขบวนการปฏิวัติอย่างแน่นอน แล้วก็คงอายุสั้นเหมือนเช เกวารา ยิ่งฉันเป็นลูกครึ่งด้วย ตัวสูงเก้งก้าง หัวแดงหัวโด่ เชื่อได้ว่าฉันคงเป็นที่หมั่นไส้รำคาญตารำคาญมือเท้าของคนจีนทั่วไป ดีไม่ดีโดนกระทืบจากฝ่ายเดียวกันเสียก่อนที่จะออกรีบกับฝ่ายตรงข้าม”

เธอพูดแกมประชดตัวเอง จากนั้นก็สาธยายต่อไปอีกว่า

“คุณรู้ไหม คนที่เป็นหมอ ความฝันอันสูงสุดของพวกเขาคือการช่วยเหลือคนป่วยให้รอดชีวิต แต่คนที่เกิดมาเพื่อเป็นนักคิด นักเขียน และนักปฏิวัติ เขาต้องตั้งปณิธานมากกว่านั้น ฝันของเขาคือ ไม่เพียงแค่การเยียวยาสภาพร่างกายของมนุษย์เท่านั้น แต่มันคือการยกระดับจิตวิญญาณ…

“แล้วนี่ตัวฉัน หรือเช เกวารา รวมทั้งแพทย์คนอื่น ๆ ทั้งโลก ดันมีเงาซ้อนของนักเขียน นักปฏิวัติ มาสวมทับอีก พวกเราย่อมต้องยิ่งรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวมากกว่านักเขียนนักปฏิวัติคนอื่นหลายเท่าทวีคูณ คือเมื่อเรามองมนุษย์ มองผู้คน เราไม่ได้ต้องการเยียวยาผองเพื่อนแค่เพียงด้านสุขภาพร่ายกาย แท้จริงแล้วเราอยากถอนบ่วงที่มัดแน่น หรือรื้อกรงขังที่คนโฉดทรามได้กักขังพวกเขารวมทั้งพวกเราเอง ซึ่งเป็นหมอ เป็นนักคิด นักเขียนไว้ในนรกนั่นด้วย…

“สิ่งที่เช เกวารา ได้ทำ แต่ฉันไม่ได้ทำ หรือทำไม่ได้ คือการยกกองกำลังเข้าปลดปล่อยพี่น้องหลายประเทศในเขตสหรัฐอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ไม่ว่าผลลัพธ์ ณ ปัจจุบันประเทศเหล่านี้จะง่อยเปลี้ยเสียขาเช่นไรก็ตาม แต่ถือว่าเช เกวารา ได้ทำตามปณิธานของเขาแล้ว…

“น่าเสียดายที่เช ยังไม่ได้ทำในสิ่งที่เขาฝัน แต่ฉันได้ทำฝันของฉันให้เป็นจริง คือการเขียนหนังสือ โลกควรถนอมคนอย่างเช เกวาราให้มากกว่านี้ เขาเกิดมาเพื่อเป็นสายบุ๋น ไม่ใช่สายบู๊ คนรอบข้างควรช่วยกันเซฟชีวิตของเขาให้อยู่ในบทบาทของนักคิดนักเขียนมากกว่าลงไปขลุกในสนามรบ ซึ่งเขาขาดทักษะ จริงอยู่ว่า ณ วินาทีนั้น ใครก็ห้ามเขาไม่ได้ เพราะคนเป็นหมออยากช่วยเยียวยามนุษย์ทุกรูปแบบ แต่ก็ช่างเถอะ ชีวิตของเขาคือบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ คนทั้งโลกรู้จักเขาในนาม แพทย์นักปฏิวัติ แค่นี้ฉันก็ปลาบปลื้มใจมากพอแล้ว…

“ถ้าคุณอยากรู้จักฉันมากกว่านี้ คุณควรอ่านหนังสือของฉันให้จบสักเล่ม จะดีกว่าไหม น่าจะดีกว่าการที่มาเที่ยวสัมภาษณ์ถามนู่นถามนี่ฉันแบบนี้”

 


หนังสือ Les Yeux de Demain

 

พูดยังมิทันขาดคำ ฮัน ซูหยิน ได้หยิบหนังสือเล่มหนึ่งที่เพิ่งพิมพ์เสร็จใหม่ ๆ พ.ศ.  2536 (ค.ศ. 1993) ให้แก่ดิฉันพร้อมลายเซ็น หนังสือเล่มนี้ชื่อ “Les Yeux de Demain” สามารถแปลเป็นไทยได้หลายเวอร์ชั่น อาทิ “มองโลกอนาคต” หรือ “ดวงตาของพรุ่งนี้”

จริงอย่างที่เธอกล่าว การที่เราอยากรู้จักใครสักคนให้ลึกซึ้งถึงแก่น เราควรเริ่มต้นเรียนรู้ผลงานของเขา โดยเฉพาะงานเขียน เพราะเป็นสิ่งที่ผ่านการกลั่นกรองมาแล้วจากสมองและหัวใจ ดีกว่าไปอ่านบทวิจารณ์จากมุมมองของคนอื่น หรือมัวแต่คิดจะตั้งคำถามให้เขาอธิบายออกมาเป็นภาษาพูดถ่ายเดียว ดิฉันจึงก้มหน้าก้มตาอ่าน และอ่าน ด้วยความยากเข็ญ เพราะใช้ภาษาฝรั่งเศสขั้นสูง อีกทั้งยังสอดแทรกสัญลักษณ์ตลอดทั้งเล่ม

โชคดีที่ได้มีโอกาสอ่านงานของ ฮัน ซูหยิน จนจบสักเล่มบ้าง ทำให้ดิฉันได้เข้าใจชีวทัศน์ของเธอแบบเจาะลึกมากกว่าแค่ที่เคยรู้สึกตื่นเต้นหัวใจพองโต ต่อการที่เธอผ่านความรักมากถึง 4 ครั้ง ในทำนองว่า “ว้าว! ผู้หญิงคนนี้ช่างเฟียสมาก เท่จริง ๆ” สิ่งนี้เป็นแค่เปลือกนอกที่แฟนคลับชอบเห่อเหิมฮีโร่เท่านั้น

อ่านแล้วก็เริ่มสนุก ก้าวข้ามภาษาอันยากเข็ญ สนุกกับที่ได้ติดตามกระบวนการคิดของเธออย่างเป็นระบบ ยอมรับในความกล้าหาญทางจริยธรรม ที่เธอพูดความจริงถึงเรื่องความฟอนเฟะของสังคมจีนและสังคมยุโรป โดยไม่หวั่นเกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม (อย่างเก่งก็แค่ซ่อนตัวในเซฟเฮาส์ให้ตัวเองปลอดภัยที่สุดให้ได้ ก็เท่านั้นเอง)

เมื่ออ่านหนังสือจบจึงเข้าใจแล้วว่า ทำไมชาวสวิตให้การยกย่องเธออย่างกว้างขวาง จนถึงขนาดที่ว่ารัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์รับเป็นเจ้าภาพจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบวันเกิด 70 ปีของเธอเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2536 อย่างเอิกเกริกที่กรุงเจนีวา ซ้ำยังมีนโยบายให้รวบรวมข้อเขียนทุกชิ้นในอดีตทั้งจากต้นฉบับภาษาอังกฤษก็ดี ภาษาฝรั่งเศสก็ดี (ส่วนภาษาจีนนั้นมีน้อยมาก) มาตีพิมพ์เผยแพร่ใหม่ทั้งหมดอีกด้วย

ผลงานของฮัน ซูหยินที่เคยกระจัดกระจาย บางชิ้นได้รับการต่อต้านในแผ่นดินมังกร ณ ยุคสมัยหนึ่ง บางชิ้นเป็นงานต้องห้ามในแผ่นดินอังกฤษ ได้หวนกลับมาปรากฏโฉมผงาดอีกครั้งท่ามกลางสังคมชาวตะวันตก งานเขียนทั้งหมดของเธอ พอจะจำแนกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้

ประเภทแรก เป็นงานเขียนแนวอัตชีวประวัติบุคคล ที่ฮัน ซูหยิน รู้สึกว่าบุคคลนั้น ๆ มีคุณค่าด้านใดด้านหนึ่งสำหรับเธอ มีทั้งบุคคลสำคัญระดับโลก อาทิ อินทิรา คานธี เหมาเจ๋อตุง ฯลฯ กับอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นประชาชนนิรนาม เป็นคนตัวเล็กตัวน้อยที่เธอรู้จัก และไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะมีชื่อเสียงหรือนิรนาม พบว่างานแนวอัตชีวประวัตินี้ เธอมักใช้ “สัญลักษณ์” ใดสัญลักษณ์หนึ่งมาตั้งเป็นชื่อเรื่อง เพื่อเลี่ยงการเอ่ยถึงบุคคลผู้นั้นแบบตรง ๆ ป้องกันการกระทบกระทั่งไม่พอใจของญาติพี่น้อง

ชื่อที่เธอตั้งไว้เป็นภาษาฝรั่งเศส (ดิฉันขอแปลเป็นภาษาวรรณศิลป์สวย ๆ) อาทิ พฤกษาพาโศก (L’Arbre Blessé), มาลีไม่มีวันโรย (Une Fleure Mortelle), คิมหันต์ขาดวิหค (Une Été sans Oiseaux), นกฟีนิกซ์ในฤดูเกี่ยวข้าว (La Moisson du Phenix) เป็นต้น

ประเภทที่ 2 แนวนวนิยายสะเทือนอารมณ์ ได้แก่ มนต์รักเหมันต์ (Amour d’Hiver), มนุษย์สี่หน้า (Les Quatre Visages), เงาเธอคือเงาฉัน (Ton Ombre est la Mienne), จวบฟ้าสาง (Jusqu’au Martin)

ประเภทสุดท้าย แนววิพากษ์สังคม แนวนี้ล้วนแต่สร้างความเปรี้ยงปร้างให้โลกตะลึง งานชิ้นเอกที่ต้องตีพิมพ์ซ้ำ ได้แก่ โฉมหน้าจีน ค.ศ. 2001 (La Chine en l’an 2001), เอเชียวันนี้ (L’Asie Aujourd’hui), ปฐมวารแห่งโลก (Le Premier Jour du Monde), มหาอุทกภัยยามอรุโณท (Le Déluge du Martin) และหนังสือที่มาดาม ฮัน ซูหยิน ได้มอบให้ดิฉันไปอ่านคือ “ดวงตาของพรุ่งนี้” (Les Yeux de Demain)

 

“ดวงตาของพรุ่งนี้” ชีวทัศน์เฉียบขาดของปราชญ์โพ้นทะเล

หนังสือ Les Yeux de Demain หรือที่ดิฉันแปลได้สองเวอร์ชั่นคือ “ดวงตาของพรุ่งนี้” กับ “มองโลกอนาคต” ที่ผู้เขียนได้อภินันทนาการแก่ดิฉันพร้อมลายเซ็นนั้น จัดเป็นงานร้อยแก้วที่ใช้ถ้อยคำสละสลวย (ไม่ใช่งานเขียนบทความทั่วไป แต่ใช้ภาษาวรรณศิลป์ชั้นสูง) เนื้อหาเป็นการวิพากษ์สังคมต่างกรรมต่างวาระ งานแต่ละชิ้นของเธอเขียนแบบทิ้งช่วงห่างกันนานพอสมควร

“ด้วยฉันมิได้เขียนหนังสือเพื่อแลกกับเงิน จึงไม่จำเป็นต้องเร่งผลิตมันออกมาจนล้นตลาดเหมือนเสื้อผ้าสำเร็จรูปตามโรงงาน” เธอกล่าวไว้ในคำนำ

เมื่อได้ทดลองอ่านงานเขียนแต่ละบทของ “ฮัน ซูหยิน” โดยยังไม่พิเคราะห์ด้านเนื้อหา เอาเฉพาะโครงสร้างทางภาษา ลีลา สำนวน และวิธีคิด ดิฉันสามารถสัมผัสถึง “เสน่ห์” แรกสุดได้ทันที นั่นคือความที่เธอพยายามผสมผสานเอา “หลักคิด แก่นแกนของสามอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ของโลก”  มาเปรียบเปรยเชื่อมโยงเกี่ยวร้อยกับเนื้อหาแต่ละท่อนอยู่ตลอดเวลา กอปรด้วย ปรัชญาจีน ปรัชญาอินเดีย และปรัชญาตะวันตก

ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดหากงานเขียนของเธอจะมีกลิ่นอายของ ปรัชญาจีน แทรกเจือ เพราะคำสอนของขงจื๊อและเต๋า คือสำนึกในเลือดเนื้อเชื้อสายครึ่งกายฝ่ายบิดา ที่บ่มเพาะเธอมาตั้งแต่วัยเยาว์ ไม่ว่าจะไปอยู่ประเทศไหน ๆ ก็มิอาจสลัดอิทธิพลส่วนนี้ทิ้งไปได้ ด้วยมันคือ DNA

ปรัชญาอินเดียนั้น เกิดจากความศรัทธาที่เธอมีต่อสามีคนสุดท้ายซึ่งเป็นชาวฮินดู ผู้มีความสมถะ สงบเรียบง่าย แต่ลึกซึ้ง ทำให้เธอมักอ้างถึงกลุ่มคนที่เป็น “อนาคาริก” “ผู้ภิกขาจาร” คนไร้บ้านที่ไม่ยึดติดกับสิ่งใด ๆ ตามวิถีของนักพรตภารตะอยู่เนือง ๆ

และแน่นอนว่า เมธีตะวันตกก็คือโลกอีกใบที่เธอใหลหลง และหล่อหลอมให้เธอเติบใหญ่ จากหน่อเชื้อจาก “พีช” สายเลือดฝ่ายแม่ อีกทั้งระยะเวลาเกินกึ่งหนึ่งของชีวิตที่เธอต้องผลัดเปลี่ยนเวียนวนอยู่ในทวีปยุโรป หลัก ๆ มากถึงสามประเทศคือ เบลเยียม อังกฤษ และสวิตเซอร์แลนด์

เธอจึงเป็นนักเขียนที่โชคดี ที่ได้เรียนรู้ถึงปรัชญาของทั้ง 3 อารยธรรมอันยิ่งใหญ่

แม้แต่บุคลิกของเธอเมื่อดิฉันเห็นแว้บแรก สัมผัสได้ทันทีถึงความเป็นคนตะวันตกมากกว่าที่จะเป็นคนตะวันออก กล่าวคือค่อนข้างเย็นชา เฉยเมย ไม่แย้มไม่ยิ้มหัว เคร่งครัดต่อมารยาท ไม่ไว้วางใจคนแปลกหน้า เมื่อมองเผิน ๆ แค่ภายนอก เราอาจพบว่าฮัน ซูหยิน มีลักษณะเหมือนมาดามชาวสวิตทั่วไปที่ดิฉันพบพาน

แต่ครั้นเมื่อได้ชวนเธอคุยแบบเจาะลึก กลับพบความจริงอีกข้อว่า เธอมีความโหยหาจิตวิญญาณแห่งตะวันออกอย่างร้อนรน แม้กระทั่งการพูดจาทีเล่นทีจริงกึ่งหยอกล้อ ว่าคราวหน้าคราวหลังหากดิฉันจะมาเยี่ยมเธออีก ขอให้หยิบแกงกะทิเผ็ด ๆ พวกแกงเขียวหวานติดมือมาให้เธอชิมบ้าง

บรรทัดแรกของบทเกริ่นนำ เธอได้อธิบายถึงความหมายของชื่อหนังสือไว้ดังนี้

“คำว่า “ดวงตาของพรุ่งนี้” มันเป็นวลีที่ติดค้างอยู่ในใจฉันมาเนิ่นนานหลายทศวรรษแล้ว การที่ฉันอยากพูดถึงอนาคต หาใช่ว่าจู่ ๆ ฉันก็ลุกขึ้นมาทำตัวเป็นแม่มดหมอดูที่อวดอุตริมาทำนายทายทักโชคชะตาราศี ชี้เป็นชี้ตายแก่ห้วงหาวจักรวาลดอกนะ ทว่า... ผู้อ่านลองถามตัวเองดูเอาเถิด ว่ามีศาสดาพยากรณ์องค์ใดบ้างไหมเล่า ที่จักหาญกล้ามองความเป็นไปของโลกผ่านโศกนาฏกรรมที่ซ้ำซาก แล้วประกาศเตือนให้มนุษย์ตระหนักถึงมหันตภัยที่กำลังคืบคลานเข้ามาในไม่ช้า ด้วยสายตาที่คมกริบและรอบด้าน ด้วยท่าทีที่องอาจแต่ถ่อมตน และด้วยหัวใจที่มุ่งมั่นฝันใฝ่ถึงอิสรภาพอันสูงสุด

มีไหมเล่าพระเจ้าองค์นั้น? ก็ถ้าหากว่าไม่มี ไฉนเล่า ฉันจักลุกขึ้นมาประกาศสิ่งนี้แทนพระเป็นเจ้าบ้างไม่ได้”

นี่คือความอหังการ์ชนิดหาใดเทียบของสตรีชาวยูเรเซียน ในคำนำนั้นยังเยาะเย้ยถากถางต่อไปอีกว่า

“ฤๅว่าศาสดาพยากรณ์ทั้งหลายสามารถทนมองภาพทารกน้อยจำนวนไม่ต่ำกว่าสี่หมื่นรายตายลงด้วยความหิวไปต่อหน้าต่อหน้าได้ในแต่ละสัปดาห์ ในขณะที่โลกทุนนิยมกำลังแข่งขันกันประหัตประหารขยี้คุณธรรมความดีงามในเครื่องจักรนรก ...ยากเหลือเกินหนอ ที่ปีกผีเสื้อบอบบางคู่หนึ่งจักพยุงร่างอันอ่อนล้า ต้านฝ่ามรสุมร้ายไปสู่ทางช้างเผือก ที่ปราศจากการกดขี่และกักขัง”

หนังสือ “ดวงตาของพรุ่งนี้” มีความหนา 160 หน้า ขนาดพ็อกเก็ตบุ๊ก 16 หน้ายก แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ภาค ซึ่งดิฉันขอสรุปคร่าว ๆ ให้ผู้อ่านได้รู้จัก ฮัน ซูหยิน ผ่านงานเขียนของเธอ

ภาคแรก เป็นการเก็บตกรายละเอียดวิถีชีวิตอันหลากหลายของมวลมนุษย์ที่กระจัดกระจายพรายพลัดอยู่ทั่วทุกมุมโลก จากประสบการณ์ที่เธอเคยไปสัมผัสมา อาทิ ชาวยูโกสลาฟ ชาวเคิร์ด และยุโรปตะวันออกชาติต่าง ๆ ที่ต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ อพยพเข้ามาเป็นพลเมืองชั้นล่างในยุโรปตะวันตก แม่บ้านถูพื้นตามโรงหนังห้างสรรพสินค้าชาวปากีสถาน ชาวศรีลังกาที่ถูกคนผิวขาวหัวเราะเยาะเหยียดหยาม ยามที่พวกหล่อนแอบเก็บเศษอาหารเหลือทิ้งบนโต๊ะไปกินต่อ รวมไปถึงการใช้ชีวิตของเด็กต่างแดนที่ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยในฮ่องกง ซึ่งต้องนอนแออัดยัดเยียดเบียดกันในเตียง 2-3 ชั้น ของหอพักที่คับแคบยิ่งกว่าพื้นที่ให้แมวดิ้นตาย เป็นต้น

ฮัน ซูหยิน ใช้กลวิธีเล่นโวหารอุปมาอุปไมยกึ่งบริภาษกึ่งเวทนาสลับกันไป ตลอดทั้งบทความ และมักสอดแทรกบทรำพึงเชิงแสดงอาการปริวิตกต่อเพื่อนร่วมโลกที่รู้ไม่เท่าทันนายทุนในยุคบริโภคนิยมอยู่เนือง ๆ

“คุณมองว่าฉันหลงทางรึ? แล้วคุณเล่า เคยพบทางออกไหม? พวกเราล้วนต่างดิ้นรนอยู่ในบ่วงชะตากรรมเดียวกัน โอ! เจ้าตาข่ายยักษ์มหึมา เจ้าค่อย ๆ ห่อหุ้มมัดร่างพวกเราไว้ให้ดิ้นไม่หลุด อา! แต่พวกเรามีฟันและเขี้ยวเล็บแหลมคมมิใช่หรือ ไฉนเลยจึงไม่ใช้มันเป็นอาวุธกัดฉีกแทะทึ้งไอ้ตาข่ายโสโครกนี้ให้ขาดกระจุยเล่า?”

ตัวอย่างอีกบทรำพึงหนึ่ง

“คุณผิดหวังมากนักหรือ? เมื่อเข้ามาในบ้านของฉันแล้วไม่พบกับโทรทัศน์ ช้าก่อน! อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าฉันเป็นคนหลังเขาตกยุคไม่ทันโลก คุณไม่รู้หรอกว่าในแต่ละวันนั้น ฉันเสพข่าวสารมากยิ่งกว่าพวกคุณหลายเท่า ฉันอุทิศเวลาให้กับการอ่านหนังสือพิมพ์ถึงวันละ 7 ฉบับ (3 ภาษา จีน อังกฤษ ฝรั่งเศส) จากประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ฝรั่งเศส จีน ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์…

“ฉันเชื่อเหลือเกินว่า เพราะการที่คนส่วนใหญ่ยังตกเป็นทาสต่อสิ่งอัปลักษณ์ที่แพร่ภาพผ่านริมฝีปากพะเยิบพะยาบของรายการปัญญาอ่อนทางจอทีวีวันละ 24 ชั่วโมง ให้ความสำคัญแก่มันเหนือกว่าการหนังสือนี่เอง มิน่าเล่าสังคมของเราถึงได้วิปริตเสื่อมทราม”

ตอนท้ายของภาคแรก เธอได้ท้วงติงต่ออดีตมหาอำนาจยุโรปตะวันออก อาทิ รัสเซีย โปแลนด์ ที่ต่างดาหน้าพาเหรดกันออกมาเปิดประเทศอย่างโจ๋งครึ่ม ขายทุกอย่างอย่างครึกโครม ไม่ว่าป่าไม้ พลังงานธรรมชาติ หรือแม้แต่ผู้หญิง! เธอมองว่า

“ค่ายสังคมนิยมหลงยุคเหล่านี้กำลังก้าวพลาด ตกหลุมพรางอันตราย ที่ชาวยุโรปตะวันตกล่อดักไว้ด้วยเศษเงิน เพื่อพวกเขาจะได้กระโจนเข้าไปขุดทองบนทองความโง่เขลา อนิจจา! ฤๅอวสานของซ้ายเก่าได้มาถึงแล้วจริง ๆ ?”

ภาคที่สอง ฮันซูหยินเขียนด้วยน้ำเสียงและลีลาที่อ่อนเอื้อนขึ้น เนื่องจากเป็นบทที่พาดพิงถึงเมืองปิตุคาม คือประเทศจีน เธอตอกย้ำถึงบาดแผลอันด่างพร้อยผ่านความผิดพลาดภายใต้การนำรัฐนาวาของประธานาธิบดีทุกคน ไม่ว่าโจว เอินไหล เหมา เจ๋อตุง จนถึง เติ้ง เสี่ยวผิง (หนังสือดวงตาของพรุ่งนี้แต่งเมื่อ พ.ศ. 2536 เนื้อหาจึงมายังไม่ถึงยุคของ สี จิ้นผิง)

ฮัน ซูหยิน เปรียบเทียบการเมืองจีนกับความล่มสลายของสหภาพโซเวียตรัสเซีย รวมทั้งกลุ่มลิ่วล้อทั้งหมด โดยเชื่อว่า

“การประกาศตนเป็นเจ้าโลกแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์ที่จีนเสแสร้งกระหยิ่มยืดอกอวดชาวโลกอยู่ทุกวันนี้ เป็นเพียงมายาภาพของคนที่ต้องการปกปิดบาดแผลของตัวเอง แท้จริงแล้ว จีนกำลังเดินถือคบเพลิงซึ่งทำด้วยเศษหญ้าแห้ง ทวนกระแสลมลุกโหมกระหน่ำ ในที่สุดก็คงต้องทิ้งท่อนฟางนั่น”

ฮัน ซูหยิน เตือนจีนให้ชะลอการก้าวกระโดด มีควรพรวดพราดเกินไป ความพยายามผลักดันประเทศให้เข้าสู่ระบบทุนนิยมและสังคมอุตสาหกรรมชนิดไม่ลืมหูลืมตาของจีนนั้น ไม่ได้ส่งผลดีแต่อย่างใดเลย

เนื่องจากหนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ยังไม่ใช่ยุคทุนนิยมใหม่ของ “สี จิ้นผิง” จึงไม่แน่ใจเหมือนกันว่า เพราะสี จิ้นผิงได้ยินเสียงกู่ก้องตะโกนของ ฮัน ซูหยินมาก่อนหรือไม่ จึงทำให้เขาพยายามก้าวเดินให้ช้าลงและมั่นคงขึ้น จึงมีวันนี้

อีกทั้งไม่แน่ใจเช่นกันว่า หากฮัน ซูหยินเกิดมีอายุยืนยาวเกิน 1 ศตวรรษ ณ วันนี้ เธอจักหัวร่อหรือร่ำไห้กับสภาพและนโยบายต่างประเทศของประจีนในปัจจุบัน?

ภาคสุดท้าย เป็นเสียงพูดที่เธอต้องการสื่อสารถึงเยาวชนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ให้หันมาสดับรับฟัง โดยเธอมิคิดที่จะตำหนิพวกเขา แต่จักคอยประคับประคองอยู่เคียงข้าง ให้วันพรุ่งนี้และวันต่อ ๆ ไป ดำเนินไปสู่สังคมอุดมคติที่ควรจะเป็น เธอไม่ลืมที่จะตอกย้ำว่า

“จุดประสงค์ของการเขียนหนังสือเรื่อง ดวงตาของพรุ่งนี้ ก็เพื่อปลุกเร้าให้ “ผู้มาก่อน/ผู้อาวุโส/ผู้ที่มีโอกาส” หันมาช่วยกันพยุง “คุณค่า-จิตวิญญาณ” ของมนุษย์ว่ามีความสูงส่งเลิศลอยเหนือกว่าความเจริญทางวัตถุ ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความหวังใหม่ให้แก่ “คนรุ่นหลัง” รับรู้ว่า “ผู้ใหญ่หรือผู้มาก่อน” มิได้ดูดาย ทอดทิ้งพวกเขาให้ต้องเผชิญชะตากรรมหฤโหดตามลำพัง ทั้ง ๆ ที่พวกเขามิได้ก่อขึ้นเลยแม้แต่น้อย”

เธอได้แต่ภาวนาว่า “ดวงตาของพรุ่งนี้” คงไม่ถูกปิดจนมืดมิด แม้เริ่มมองเห็นเงาตะคุ่มอยู่รำไร ๆ บ้างแล้วว่า โลกอนาคตกำลังดิ่งดำถลำลื่นลงสู่หายนะภัยอย่างไม่มีทางเลี่ยง

ศาสดาพยากรณ์องค์ใดกันเล่าจักเข้ามาช่วยแก้ไขวิกฤตินี้ ตราบที่มนุษย์ยังบูชา “เงิน” เป็นพระเจ้า!

 

นักเขียนหญิงสากล แห่งวันสตรีสากล

ในวาระวัน “สตรีสากล” หรือ International Women’s Day ซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาแล้วเกินหนึ่งศตวรรษ จากการรวมตัวกันของกลุ่มสตรีนักเคลื่อนไหวแนวสังคมนิยมชาวเยอรมัน นำโดย “คลาร่า เซตคิน” เรียกร้องให้ผู้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชาย กำหนดให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็นวันรำลึกถึง “พลังของผู้หญิง” ที่ช่วยแบกโลก ขับเคลื่อนโลกอีกครึ่งหล้า ทัดเทียมกับชายนั้น ดิฉันจึงมีความภูมิใจยิ่งที่ได้หยิบเรื่องราวของ ฮัน ซูหยิน มานำเสนอ

ตัวตนและผลงานของเธอมีความ “อมตะ” และมีความเป็น “สากล” สมควรได้รับการกล่าวขานถึงบ้าง

ชั่วชีวิตของนักเขียนโพ้นทะเลท่านนี้แทบไม่เคยได้รับรางวัลใด ๆ เลย แต่เธอกลับเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Han Suyin ขึ้น เพื่อระดมทุนมอบให้นักวิจัยรุ่นเยาว์ได้ศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศจีนกับยุโรปตะวันตก มูลนิธินี้ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2529 (ค.ศ. 1986)

นอกจากนี้แล้วเธอยังได้บริจาคเงินให้กับสมาคมนักเขียนจีนเพื่อจัดตั้งรางวัลขึ้นสองรางวัล โดยเน้นการแปลเป็นหลัก รางวัลแรกชื่อ Lu Xun Prize สนับสนุนการแปลวรรณกรรมชิ้นเยี่ยมรางวัลนี้ให้เงินจากมูลนิธิฮัน ซูหยินของเธอ กับอีกรางวัลหนึ่งคือ Han Suyin Prize for Young Translators เป็นรางวัลที่แยกออกมาสำหรับนักแปลรุ่นเยาว์ โดยผู้สนับสนุนทุนคือ สำนักพิมพ์ China International Publishing Group

ทุกวันนี้ เมื่อเรารำลึกถึงเธอ คงยากแล้วที่จะไปยืนชะเง้อชะแง้มองห้องหนังสือที่อพาร์ตเมนต์ ถนนมงต์ตัว กลางกรุงโลซานน์ เหมือนเมื่อครั้ง พ.ศ. 2535

 


Saint Pierre de Clages

 

หากผู้อ่านท่านใดเริ่มรู้สึกสนใจอยากศึกษาชีวิตและเรื่องราวของนักเขียนหญิงท่านนี้ นอกจากจะสามารถไปคารวะหลุมศพที่โบเดอวัวซ์แล้ว สถานที่อีกแห่งหนึ่ง ที่ดิฉันขอแนะนำให้ไปก็คือ โบสถ์ “แซงต์ปิแยร์ เดอกลาชส์” (Saint-Pierre-de-Clages) ณ แคว้นวาเลส์ (Valais) ทางตอนใต้ของสวิตเซอร์แลนด์

ที่แห่งนี้ ไม่ได้เป็นแค่โบสถ์คริสต์ ทว่าส่วนหนึ่งได้มอบพื้นที่ให้จัดตั้งเป็นมูลนิธิสำหรับความเท่าเทียมของเด็กทั่วโลกอีกด้วย หรือที่เรียกกันว่า Children's Space Foundation ก่อตั้งขึ้นตามดำริของ ฮัน ซูหยิน เป็นมูลนิธิที่เติบโตขึ้นตามลำดับ จนได้รับการอุปถัมภ์ดูแลโดยรัฐบาลแห่งแคว้นวาเลส์ ในห้องโถงของมูลนิธิ มีรูปปั้นครึ่งตัวหล่อสำริดรมดำของนักเขียนผู้ยิ่งยง “ฮัน ซูหยิน” ผู้เป็นเสมือนมารดรหรือ “แม่ทูนหัว” ของเด็กผู้ยากไร้ อนุสาวรีย์เล็ก ๆ ชิ้นนี้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ภายในมูลนิธิฯ มีห้องสมุดที่น่าตื่นตาตื่นใจ หนังสือส่วนหนึ่งเป็นมรดกของฮัน ซูหยิน หลังจากที่เธอเสียชีวิต ทายาทได้มอบคลังหนังสือทั้งหมดของเธอมาเก็บรักษาไว้ที่นี่

ก่อนลาโลก ฮัน ซูหยิน ได้เปิดพื้นที่ให้ห้องสมุดแห่งนี้จัดกิจกรรมเสวนาพูดคุยกันระหว่างนักเขียนกับนักอ่านเดือนละครั้ง โดยกำหนดเอาช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์หรือเสาร์อาทิตย์สุดท้ายของแต่ละเดือน เพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะด้านวรรณกรรมให้เกิดเวทีการอ่านบทกวี และการถกเถียงประเด็นทางสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมด้านเพศสภาพ ฯลฯ