Focus
- สำรวจชีวิตของ “อองซานซูจี” ที่สะท้อนความเป็นไปของประเทศเมียนมาร์ในฐานะบุคคลซึ่งเคยเป็นความหวังของประชาธิปไตยผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่กลับเผชิญความขัดแย้ง ความล้มเหลว และโศกนาฏกรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งจากบทบาทที่คลุมเครือในวิกฤตโรฮิงญา ไปจนถึงการถูกรัฐประหารและคุมขังโดยกองทัพ ภาพชีวิตของเธอจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของวัฏจักรการเมืองที่ยังไม่อาจหลุดพ้นจากอำนาจทหารของประเทศนี้ได้

อองซานซูจี
บนทางสองแพร่ง ตำแหน่ง “วีรสตรีประชาธิปไตย” ที่ได้มา
รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่ “วีรสตรีประชาธิปไตยแห่งพม่า” นาม “อองซานซูจี” ท่านนี้ได้รับการประกาศเกียรติคุณจากองค์การยูเนสโกเมื่อปี ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) ในฐานะผู้ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยเพื่อเพื่อนร่วมชาติของเธอ โดยยอมแลกอิสรภาพส่วนตัวด้วยการถูกกักขังนานถึง 15 ปีนั้น
เคยได้รับข้อกังขาอย่างหนักหน่วงเมื่อปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) ในช่วงที่เธอเพิกเฉยต่อกรณีการปล่อยให้ทหารพม่าที่อ้างตัวว่าเป็นพุทธศาสนิกชนแบบชาตินิยมสุดโต่งดำเนินการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญานับห้าหมื่นชีวิตได้ (ระหว่างปี 2559-2563) ในช่วงที่เธอมีอิสระเสรีมิได้ถูกจองจำ ซ้ำยังมีตำแหน่งเป็นถึง “มนตรีแห่งรัฐ” ของเมียนมาอีกด้วย
กล่าวให้ง่ายก็คือ ในยามที่เธอยากลำบากอย่างถึงที่สุดของชีวิต (ถูกพรากสามีและลูกมิให้มาเยี่ยม) แต่เธอกลับมีความสง่างาม วิญญูชนส่วนใหญ่ในพม่ารักเธอ มอบความหวังไว้ที่เธอเพียงคนเดียว ว่าจักช่วยนำพาประเทศชาติให้พ้นจากแอกอานทหาร SLORC สถานการณ์ขณะนั้นผลักดันให้เกิด “วีรสตรี” ขึ้นกลางดวงใจมหาชนมาแล้ว
บนพื้นฐานของความ “โชคดีในความโชคร้าย” หรือความ “โชคร้ายในความโชคดี” ก็มิอาจทราบได้ ที่อองซานซูจี เกิดมาเป็นลูกสาวที่ต้องกำพร้าพ่อผู้เป็น “วีรบุรุษ” ตั้งแต่วัยเพียงสองขวบ

นายพลอองซาน หรืออูอองซาน
เรามิอาจปฏิเสธได้เลยว่า คุณูปการของอองซานได้แผ่ไพศาล ปกคลุมครอบแผ่นฟ้า จนทำให้ลูกสาวกลายเป็น “ที่รัก” หรือ “ขวัญใจมหาชน” คนที่เคยรักพ่อมาก่อน ได้โดยง่าย
ครั้นเมื่อเธอผู้เป็นลูกสาว ได้นั่งเก้าอี้สูงสุดแห่งอำนาจแล้ว เธอกลับปิดตาข้างหนึ่ง ไม่ยินดียินร้ายต่อการปล่อยให้ทหารพม่ากระทำการย่ำยีต่อชาวมุสลิม “โรฮิงญา” เพียงแค่พวกเขานับถือศาสนาที่แตกต่าง โดยอองซานซูจี ดำเนินวิเทโศบายแบบลอยตัวอยู่เหนือปัญหา อ้างว่านั่นมิใช่ “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ตามที่เธอถูกกล่าวหา หากแต่มันคือ “การสู้รบกันระหว่างคนพื้นเมืองกลุ่มต่างๆ ภายในประเทศเท่านั้น”

สนธิสัญญาปางโหลง หรือปางหลวง
ไม่ว่าเธอจะมีข้ออ้างเช่นไรต่อผู้พิพากษา แต่คนที่มิได้คลั่งความเป็นชาวพุทธล้นเกินทั่วโลกได้พิพากษาเธอไปแล้วว่า เธอน่าจะลืมปฏิญญา “สนธิสัญญาปางโหลง” (พม่าออกเสียงเป็น ปางโอง) ของผู้เป็นพ่อที่ได้กระทำข้อตกลงไว้เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1947 (พ.ศ. 2490) เสียสนิทแล้วกระมัง
หัวใจของสนธิสัญญาฉบับนั้นคือ ความปรารถนาที่จะปลดปล่อยให้คนที่มีเชื้อชาติแผกเผ่าผิวพรรณหลายกลุ่มหลายก้อนได้ปกครองตนเองอย่างอิสระ โดยไม่ต้องอยู่ใต้อาณัติของคนที่มีเชื้อสาย “พม่า” เพียงเผ่าเดียวเท่านั้น
อย่างน้อยมีคนอยู่สามชาติพันธุ์ที่ได้ร่วมลงนาม รับรู้และรอคอย “ฝันที่ใกล้เป็นจริง” แม้ต้องรอคอยการอยู่ร่วมกันไปก่อนอีก 10 ปี อันเป็นเงื่อนไขของสนธิสัญญาฉบับนี้ กอปรด้วย 1. กลุ่มฉาน (ประชากรส่วนใหญ่คือไทใหญ่ ไทลื้อ ไทขึน เรียกโดยรวมว่าชาว “ไต”) 2. ฉิ่น 3. คะฉิ่น

อูนุ
แม้ต่อมาสัญญาปางโหลงจักถูกฉีกลบล้างขาดสะบั้น ไม่ได้รับการสานต่อให้เป็นจริงโดย “นายพลอูนุ” (คนที่เคยร่วมเรียงเคียงบ่าต่อสู้มากับอูอองซาน) ก็ตาม แต่อย่างน้อยที่สุด สัญญาฉบับนี้ได้สะท้อนถึงเจตจำนงอันยิ่งใหญ่ของ “อองซาน” ผู้พ่ออย่างชัดเจน
“อองซานซูจี” จึงอยู่ในสภาพของ “นักบุญคนบาป” หรือคนที่ “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” ในวันที่เธอต้องอยู่เบื้องหน้าบัลลังก์แห่งศาลโลกมาแล้ว ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาอย่างไม่มีทางเลี่ยง
พร้อมกับคำถามหนึ่งที่ทิ่มแทงทรวงเธออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จากเสียงเซ็งแซ่ของคนทั่วโลก นั่นคือ “คุณยังคิดว่าคุณมีความชอบธรรมและคู่ควรกับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพอยู่อีกหรือไม่?”
Déjà Vu ฉากทัศน์ซ้ำเดิม เหตุการณ์อันเคยคุ้นที่มีกลิ่นตุ ๆ
คำว่า Déjà Vu อ่านว่า “เดฌา วู” เป็นภาษาฝรั่งเศส หมายถึง “เคยเห็นมาแล้ว” คำว่า Déjà ตรงกับคำว่า Already ในภาษาอังกฤษ = แล้ว, ส่วนคำว่า Vu มาจากศัพท์ที่เป็นคำกริยาหรือ Verbe แปลว่าเห็นคือ Voir เมื่อผันมาเป็น Past Tense จะใช้รูป “Vu”
Déjà Vu ถูกนำมาใช้เป็น “สำนวน” ใช้เรียกเหตุการณ์ที่เราสัมผัสได้ว่า มันเคยเกิดขึ้นซ้ำ ๆ มาแล้วหลายต่อหลายครั้งในอดีต ในลักษณะเป็นการกระทำที่ย้อนทับกงล้อเดิม
คำว่า Déjà Vu ที่หวนกลับมาฉายซ้ำให้คนทั้งโลกได้ดูล่าสุดในกรณีของอองซานซูจี ก็คือ การที่เธอต้องถูกกักขังด้วยข้อหาสารพัดอีกคราครั้ง ครั้งนี้ถือว่าหนักหนาสาหัสกว่าครั้งแรกหลายเท่าตัวนัก เราเห็นความแตกต่างจากช่วง 15 ปีแรก (แบ่งเป็น 3 ช่วงย่อย 1. ระหว่างปี ค.ศ. 1989-1995 2. ระหว่างปี ค.ศ. 2000-2003 3. ระหว่างปี ค.ศ. 2003-2010) ที่เธอถูกกักบริเวณอย่างชัดเจน นั่นคือ
ประการแรก ช่วงที่เธอถูกกักบริเวณระลอกแรกนั้น เธอยังสาวยังแข็งแรง มีอายุอยู่ในวัย 40 ต้นเท่านั้น ยังมีกำลังวังชาพร้อมจะต่อสู้กับสรรพปัญหาอย่างเต็มพลัง
ประการที่สอง สถานที่ที่เธอถูกกักบริเวณนั้น คือบ้านของเธอเอง ถึงแม้ว่าพื้นที่ไม่ได้กว้างขวางใหญ่โตนัก แต่ก็มองเห็นทะเลสาบอินเลลิบ ๆ ซ้ำยังมีคนรับใช้กึ่งพี่เลี้ยง 2 คนคอยดูแลออกไปซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคให้ ทำให้เธอสามารถหยิบหนังสือแสนรักมานั่งอ่าน (พื้นฐานด้านการศึกษาของอองซานซูจี คือ เรียนมาด้านวรรณคดี) ยังเดินชมดอกไม้ในสวน ยังมองดวงดาวบนท้องฟ้าได้ในคืนเดือนมืด
ประการที่สาม ขณะนั้น เธอยังมีลูกน้อยกลอยใจสองคน และสามีชาวอังกฤษนามศาสตราจารย์ “ไมเคิล อริส” (Michael Aris) บุคคลทั้งสามเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักและความหวังรอคอยการกลับมาของเธออยู่ที่ประเทศอังกฤษด้วยกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา พ่อแม่ลูก การต่อสู้ของเธอจึงเปี่ยมท้นไปด้วยกำลังใจ
ประการที่สี่ ช่วงนั้น ชีวประวัติของเธอใสพิสุทธิ์ชวนให้น่ายกย่องมาก เป็นหญิงสาวบุคลิกดี หน้าตาสะสวย ความรู้ดี การศึกษาสูง ยึดถืออุดมการณ์สืบต่อจาก “บิดา - อูอองซาน” เธอมีทางเลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย ด้วยการเป็นนักเขียน นักวิชาการกับครอบครัวแสนจะอบอุ่นที่ต่างประเทศ กลับเลือกที่จะมาแบกรับภาระอันหนักอึ้งของเพื่อนร่วมชาติไว้บนสองบ่า เดิมพันความเจ็บปวดที่ต้องยอมจากพรากลูกและสามีด้วยการสูญสิ้นอิสรภาพ เพราะเธอรู้ว่า ทันทีที่เธอก้าวเท้าออกนอกประเทศแม้เพียงก้าวแรก เธอจักไม่มีวันได้หวนกลับมาเป็นผู้นำการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าได้อีกเลย
ประการที่ห้า ข้อนี้สำคัญยิ่ง ช่วงนั้นสายตาของชาวโลก มิได้จับจ้องเธอในฐานะ “อาชญากรผู้เลือดเย็น” หรือ “จำเลยผู้กระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” คนทั้งโลกยังมิได้คลางแคลงใจในตัวเธอ โทษฐาน “นักประชาธิปไตยคนจริงหรือจอมปลอม? ไฉนยอมจับมือกับเผด็จการทหาร”
เมื่อเทียบกับการที่เธอถูกกักขังตั้งแต่ “มิน อ่อง หล่าย” ทำการรัฐประหารโค่นล้มอำนาจของเธอและคณะเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2464) เป็นต้นมาจวบจนถึงปัจจุบัน พบว่ามีข้อแตกต่างจากครั้งแรกในทุกกรณี
ประการแรก เธอเริ่มมีอายุเข้าสู่วัยชรา ช่วง 70 ปลายย่างเข้า 80 ปี อันเป็นช่วงวัยที่เต็มไปด้วยโรคร้ายไข้รุม ควรที่จักได้พักผ่อนในวาระบั้นปลายของชีวิต น่าจะได้อุ้มชูหลาน แต่กลับยังมาตกระกำลำบากในฐานะนักโทษหญิง ด้วยข้อหาขี้ปะติ๋วริ๋ว ซึ่งแต่ละข้อที่จับยัดใส่เธอนั้น ฟังไม่ค่อยขึ้น อาทิ ครอบครองวิทยุสื่อสารโดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนข้อจำกัดควบคุมโควิด-19 โกงเลือกตั้ง และอีกสารพัดข้อหา ทำให้นับรวม ๆ แล้วเธอถูกลงโทษให้จำคุกมากกว่า 100 ปี
ประการที่สอง สถานที่เธอถูกกักขังนั้น มิใช่บ้านเกิดแสนรักของเธอ แม้แต่แสงตะวันอันรำไรที่อาจเร้นลอดผ่านช่องหน้าต่างบานเล็ก ๆ ในกรงขัง ก็ยังไม่มั่นใจนักว่าเธอจะได้ยลแสงอาทิตย์บ้างหรือไม่ เพราะการถูกจองจำครั้งนี้คือ “คุก” ที่รัฐบาลทหารพยายามปกปิดซ่อนเร้น มิค่อยอยากให้ข้อมูลที่แท้จริงว่าเธออยู่ ณ จุดไหน ซ้ำยังมีการย้ายเธอไปเรื่อย ๆ จากแรกเริ่มด้วยการจับ “ขังเดี่ยว” (บางสำนักข่าว ระบุว่าเป็นห้องมืดด้วยซ้ำ) ที่เรือนจำในกรุงเนปิดอว์ ต่อมาเริ่มมีข่าวกระพือเป็นระยะ ๆ ว่าจะนำเธอออกจากคุกไปกักบริเวณไว้ที่บ้านเหมือนเมื่อครั้งอดีต หรือไม่ก็บ้านพักของทหารในกรุงเนปิดอว์ แต่จนแล้วจนรอด ความจริงถูกเปิดเผยใหม่อีกว่า เธอถูกย้ายไปจองจำ ณ เรือนจำหญิงเมืองย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่า
ประการที่สาม เหลียวไปมองสภาพของครอบครัว ณ ห้วงเวลานี้เล่า ยังมีใครเฝ้ารอคอยเธออยู่อีกหรือไม่? แน่นอนว่า “ไมเคิล อริส” สามีคู่ทุกข์คู่ยากของเธอเสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999 (พ.ศ.2542) ด้วยวัยเพียง 53 ปี เหลือลูกชายอยู่สองคน คนโตชื่อ อเลกซานเดอร์ อริส และคนเล็กชื่อ คิม อริส ในแง่ของความรักจากครอบครัว เธอก็มิได้รู้สึกอบอุ่นใจดุจเดิมอีกต่อไป มีแต่ความอ้างว้างอาดูรเข้ามาแทนที่
ประการที่สี่ ในด้านเกียรติประวัติ ภาพลักษณ์ของเธอในทศวรรษสัดท้าย มิได้สวยสดงดงามเหมือนเมื่อครั้งวัยสาว ด้วยความที่เธอปล่อยปละละเลยต่อปัญหาของการที่ชาวพุทธแบบสุดโต่งในพม่า สังหารชาวโรฮิงยาที่นับถือมุสลิมอย่างย่ามใจ ซ้ำกระทำการขับไล่คนเหล่านั้นให้ออกนอกมลรัฐยะไข่ (อารกัน) ซึ่งเป็นมาตุภูมิของพวกเขา ประชากรมากกว่า 7-8 แสนชีวิตต้องพลัดบ้านเกิดเมืองนอนร่อนเร่ไปขอพักพิงอยู่ในประเทศบังคลาเทศ เยี่ยงคนไร้แผ่นดิน
ข้อแตกต่างทั้งหมดทั้งมวล 4-5 ประการที่กล่าวมานี้ เป็นเหตุให้การถูกจองจำของเธอครั้งล่าสุดซึ่งผ่านกาลเวลานานกว่า 4 ปีแล้ว เป็นยิ่งกว่าความขมขื่นใด ๆ ที่โลกมี เป็นโศกนาฏกรรมที่มิได้เจ็บปวดทางร่างกาย หากยังชอกช้ำจิตใจอย่างแสนสาหัส เสียยิ่งกว่าความทุกข์เมื่อ 15 ปีของครั้งแรกหลายร้อยเท่าพันทวี
คำว่า Déjà Vu ในการมองภาพอองซานซูจีในครั้งนี้ สามารถรำพึงรำพันเป็นสุ้มเสียงแบบตรงไปตรงมาได้ว่า
“ว่าแล้ว! ฉันไม่แปลกใจเลย ว่าสิ่งนี้ต้องเกิดขึ้นอีก เพราะฉันเคยเห็นภาพนี้ หรือฉากทัศน์นี้มาก่อนแล้ว ด้วยเงื่อนไขเดิม ๆ ข้ออ้างเดิม ๆ ความเชื่อเดิมๆ ความกลัวเดิม ๆ (ของเผด็จการทหารพม่า) ฉันเดาไม่ผิดเลย ว่าผลของมันต้องลงเอยเหมือน ๆ เดิม และในที่สุดมันก็เกิดขึ้นซ้ำอีกจนได้”
การที่สังคมร่วมสมัยอุทานว่า Déjà Vu ออกจากปากพร้อม ๆ กัน ที่เห็นภาพทหารพม่าปล้นอำนาจ จับอองซานซูจีมาเข้าคุก จึงไม่ใช่ฉากทัศน์ที่ยากเกินกว่าจะคาดเดาได้ หากแต่มันคือภาพ Déjà Vu ที่แสนจะเจ็บปวดปางตาย เสียยิ่งกว่าเหตุการณ์ละม้ายกันนี้ที่เคยเกิดขึ้นในคราวก่อน ๆ สมัยที่เธอยังมีอายุอยู่ในวัยเลข 4 เลข 5 เลข 6
อย่างไรก็ดี ตอนนี้ทุกคนได้แต่ภาวนาว่าขอให้ Déjà Vu ที่เราเคยเห็นนั้น มีฉากจบที่ไม่แย่ไปกว่า Déjà Vu ครั้งก่อนของเธออีกเลย หมายความว่าท้ายที่สุดแล้ว เธอก็ควรได้รับอิสรภาพโดยเร็ววัน เหมือนกับฉากจบในครั้งแรกเช่นกัน
ยังยืนหยัดต่อสู้อยู่ดำรง แม้ร่างล้มจักลุกมิคลุกคลาน
ภาพ Déjà Vu ที่เราต้องเห็นซ้ำเห็นซาก หาใช่แค่เพียงฉากที่ อองซานซูจี ถูกทหารพม่าจับกุมกักขังภาพเดียวเท่านั้นไม่ แต่มันยัง Déjà Vu ไปทั่วทุกหย่อมย่านอีกด้วย อาทิ
ภาพที่เยาวชนคนหนุ่มสาวต้องถอดเครื่องแบบนักเรียน ลุกขึ้นมาใส่ชุดสีเขียวลายพรางจับปืนฝึกอาวุธ ไม่เว้นแม้แต่ลูกเด็กเล็กแดง พระสงฆ์องคเจ้า คนแก่คนเฒ่า หมอ พยาบาล นางแบบ นางงาม
ภาพที่นักศึกษาปัญญาชนหนีร้อนมาพึ่งเย็น หอบเป้สะพายย่ามข้ามพรมแดนมาออกันที่รอยตะเข็บ ไม่ต่างไปจากภาพที่ดิฉันเคยเห็น ณ ค่ายอพยพ “น้ำเพียงดิน” อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อ พ.ศ. 2531 แต่อย่างใดเลย พวกเขามาเพื่อที่จะขอลี้ภัยไปอยู่ในประเทศโลกที่สาม แต่มักถูกรัฐบาลไทยผลักไสไล่ส่งให้กลับคืนสู่พม่าอยู่เนือง ๆ นั่นหมายถึงการส่งพวกเขากลับไปตาย
ข่าวที่เล็ดรอดออกมาว่าในแต่ละวันมีการเผาย่างสดประชาชนตามหมู่บ้านนั้นหมู่บ้านนี้นับร้อยนับพันครัวเรือน ยังคงกระเซ็นกระสายออกมาให้เราได้รับรู้มิเว้นแต่ละวัน ทั้งที่ทหารพม่าต้องการจะปกปิดข้อเท็จจริงก็ตาม
เชื่อได้ไม่ยากว่า อองซานซูจี เองตลอดช่วงสี่ปีที่ผ่านมานี้ แม้จะถูกปิดหูปิดตา ถูกขังเดี่ยว งดติดต่อโลกภายนอก งดเสพข่าวสาร ทว่าความฉลาดและเจนโลกของเธอย่อมรับรู้โดยสัญชาติญาณว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับเพื่อนร่วมชาติ หลังจากที่เธอสูญสิ้นอิสรภาพ
หัวใจเธอย่อมระทมทุกข์กว่าพวกเราที่เสพข่าวทุกเมื่อเชื่อวันหลายร้อยหลายพันเท่า เธอย่อมไม่เพียงแต่การรู้สึกเจ็บปวดที่ต้องมาพ่ายแพ้ต่อกลุ่มทรราชย์ที่เธอพยายามประนีประนอม รอมชอมด้วยทุกวิถีทาง ยอมแม้กระทั่งทำให้เธอเกือบต้องกลายเป็น “ฆาตกรฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”
หากความเจ็บปวดที่ทรมานปางตายเสียยิ่งกว่าการถูกเด็ดปีดเด็ดหางจนกลายเป็น “นกไร้ปีก” นั่นก็คือ การที่เธอไม่สามารถปกป้องพี่น้องร่วมชาติให้อยู่รอดปลอดภัย นับโดยคร่าว ๆ 4 ปีที่ผ่านไป ประชาชนที่ต่อสู้กับเผด็จการทหารเสียชีวิตแล้วประมาณ (ตัวเลขกลม ๆ) 15,000 คน ถูกจับกุมจองจำ 83,000 คน ถูกโจมตีทางอากาศมากกว่า 7,600 ครั้ง แม้กระนั้น ประชาธิปไตยในประเทศ ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจักฟื้นกลับมา
มาตรแม้นว่าอองซานซูจี จักมีโอกาสเปล่งเสียงลอดออกมากรงขังให้พวกเราได้ยินบ้าง ดิฉันเชื่อว่า เธอคงอยากสารภาพกับคนทั้งโลกด้วยประโยคที่ว่า
“ไฉนเล่า เจ้าโชคชะตา ครั้งหนึ่ง ข้าฯ อุตส่าห์ละทิ้งลูกและสามี เอาเกียรติยศศักดิ์ศรีแลกไว้เป็นเดิมพันกับการกอบกู้ประชาธิปไตยคืนให้แก่ประเทศพม่า ข้าฯ เฝ้ารอด้วยความอดทน เปี่ยมท้นด้วยความหวังว่าสักวันหนึ่ง ประชาธิปไตยคงแบ่งบานขึ้นในประเทศของข้าฯ
ครั้นเมื่อวันนั้นมาถึง ประชาธิปไตยกลับส่งกลิ่นหอมให้ข้าฯ และเพื่อนร่วมชาติได้ดอมดมชมชื่นเพียงชั่วขณะสั้น ๆ แค่ไม่ถึงหนึ่งทศวรรษ แค่นี้ล่ะหรือ?
ณ บัดนี้ ตัวข้าฯ เหลือเพียงเรือนร่างอันทรุดโทรม กับจิตวิญญาณที่บอบช้ำ ดวงใจก็ชำรุดระบมเกินเยียวยา แต่ข้าฯ ก็ยังต้องแบก แบกความฝันและความหวังอันเลือนรางริบหรี่ของพี่น้องร่วมชาติที่ฝากไว้กับข้าฯ จนกว่าข้าฯ จักสิ้นลมหายใจ จนกว่าพี่น้องเพื่อนร่วมชาติของข้าฯ จักได้ลิ้มรสกับคำว่าประชาธิปไตยอีกคราครั้ง ซึ่งข้าฯ มิอาจล่วงรู้ได้ว่าภารกิจนี้จักเสร็จสมบูรณ์อีกเมื่อไหร่ และแม้ว่า ข้าฯ จักสิ้นลมหายใจไปแล้ว แต่ดวงวิญญาณของข้าฯ ก็จักเฝ้าเวียนวน ติดตามดู “ชัยชนะ” ในการขับเคลื่อนภารกิจนี้ให้จงได้สักวันหนึ่ง ณ วันข้างหน้า โดยที่ข้าฯ ไม่มีวันทอดทิ้งประชาชน”
ดิฉันรู้สึกเศร้าใจอย่างบอกไม่ถูก เมื่อต้องเขียนบทความเกี่ยวกับ “อองซานซูจี” มุมหนึ่งเธอถูกเปรียบเปรยไว้ว่าเหมือน “แมวเก้าชีวิต” คือทำท่าจะล้ม ทำท่าจะพ่ายแพ้แต่ก็กลับฟื้นคืนชีพมาใหม่ได้ทุกครั้ง แล้วคราวนี้เล่า เธอจะสู้ไหวไหม?
ผู้หญิงที่อายุย่าง 80 ปีแล้ว แต่ยังต้องต่อสู้กับเผด็จการในกรงขัง วีรสตรีที่ถูกมัดมือชก เธอต้องกอบกู้ภารกิจอย่างหนักหนาสาหัสถึงสองสถานะ
สถานะแรกคือ ลูกสาวที่ต้องสืบสานเจตนารมณ์ของพ่อ “อูอองซาน” ให้สำเร็จ นั่นคือการปลดแอกประเทศจากเผด็จการทหารพม่า ซึ่งเป็นภารกิจที่หนักหนาสาหัสสากรรจ์ยิ่งนัก แม้เราจะเห็นข่าว มิน อ่องหล่าย ให้สัมภาษณ์ในช่วงหลัง ๆ นี้บ่อยครั้งขึ้น เมื่อเดินทางไปเยือนประเทศต่าง ๆ ว่าเมียนมาพร้อมจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงปลายปีนี้ (2568) หรืออาจเป็นช่วงต้นปีหน้า (2569) ก็ตาม ก็มิพึงไว้วางใจได้
สถานะที่สองของเธอ เชื่อว่าเธอเองก็ต้องการปลดแอก รวมทั้งหากไถ่บาปได้แบบศาสนาคริสต์เธอก็คงอยากล้างบาปในฐานะที่เธอมีส่วนสนับสนุนทหารพม่าให้เป็นอาชญากรต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา อาจจะไม่โดยทางตรง แต่ก็โดยทางอ้อม ในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศแต่กลับมิได้ห้ามปราม
ชาวพุทธอย่างอองซานซูจีย่อมรู้สำนึกถึงบาปบุญคุณโทษ เธออาจจะปากแข็ง แต่จงยอมรับเถิด ว่านับแต่มีการสังหารชาวโรญิงญาศพแรก เรื่อยไปจนถึงศพที่เกือบแตะตัวเลขห้าหมื่น จะมิได้ทำให้เธออนาทรร้อนใจ รู้สึกรู้สาใด ๆ บ้างเลยหรือ ในยุคที่เธอมีอำนาจปกครองประเทศ
ดิฉันเชื่อว่าลึก ๆ แล้ว หัวอกฝ่ายเมตตาธรรมของเธอนั้นกำลังร่ำไห้ และต้องการไถ่โทษขอขมาต่อชาวโรฮิงญารวมทั้งชาวมุสลิมทั่วโลกอยู่ไม่น้อย
ฉะนี้แล้ว ดิฉันอยากวิงวอนให้คนที่ยังโกรธเคืองเธออยู่เรื่องโรฮิงญา โปรดให้อภัยต่อเธอด้วยเถิด เพราะสภาพของเธอเท่าที่เห็นและเป็นอยู่ในทุกวันนี้ก็ทุกข์แสนสาหัสมากเกินพอแล้ว ภารกิจอันใหญ่หลวงของเธอ คือการปลดแอกจากทรราชย์ ซึ่งเธอยังทำงานนี้ไม่สำเร็จ
จึงอยากให้พวกเราร่วมส่งกำลังใจไปถึงเธอ ขอให้มีสุขภาพแข็งแรง มีกำลังใจ สามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่อสู้กับสิ่งชั่วร้ายเพื่อนำประชาธิปไตยกลับคืนมาสู่พม่าอย่างสมบูรณ์
อิสรภาพที่ปราศจากความหวาดกลัว
Freedom From Fear
ย้อนมองอดีตปูมหลังของ อองซานซูจี ก่อนที่จะได้รับยกย่องให้เป็น “วีรสตรีประชาธิปไตย” พบว่าสมัญญานามนี้มิใช่ได้มาโดยง่าย เพียงเพราะเธอเป็นบุตรสาวของ “นายพลอองซาน” นักปฏิวัตินักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เท่านั้น ก็หาไม่
จริงอยู่ที่ความเป็น “ลูกสาวของพ่อผู้ยิ่งใหญ่” อาจช่วยเสริมบาทฐานให้เธอก้าวเข้ามาสู่เวทีการเมือง เป็นที่รู้จักของสาธารณชนคนพม่าทั่วทั้งประเทศได้โดยง่ายกว่าการเกิดเป็นคนทั่วไปที่มีนามสกุลอื่น
โชคดีที่ “ลูกสาวของพ่อคนนั้น” ก็มี “อุดมการณ์ ปณิธาน และเจตน์จำนงทางการเมือง” ที่แหลมคมไม่ยิ่งหย่อน ไม่แตกต่างไปจากผู้เป็นบิดาด้วย ชื่อเสียง เกียรติยศ และเกียรติประวัติของ “ลูกสาวของพ่อคนนั้น” จึงอมตะ ตราตรึงอยู่ในใจประชาชนนิรันดร์กาล
อองซานซูจี ผ่านประสบการณ์อะไรมาบ้างล่ะหรือ ที่เป็นประจักษ์พยานสะท้อนว่าเธอมี “อุดมการณ์ ปณิธาน และเจตน์จำนงทางการเมือง” อันแรงกล้าที่ต้องการสืบสานเจตนารมณ์บิดาของเธออย่างแท้จริง มิใช่อาศัย “บารมีของบิดา” ดังที่เราเรียกว่า “กินบุญเก่าทางสายเลือด”
คำตอบนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มที่เธอเขียนชื่อว่า Freedom From Fear มีผู้แปลเป็นภาษาไทยได้หลายสำนวน อาทิ “อิสรภาพที่ปราศจากความหวาดกลัว” หรือ “อิสรภาพที่ปลอดจากความกลัว”
หนังสือเล่มดังกล่าว ได้รับการเผยแพร่ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) หลังจากที่อองซานซูจีถูกเผด็จการทหารพม่าจับกุมคุมขังไว้เป็นครั้งแรกในบริเวณบ้านพักของเธอ โดยห้ามมิให้ติดต่อกับครอบครัวและบุคคลใดๆ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 1990 (พ.ศ. 2533) เป็นต้นมา นำมาซึ่งการถูกกักขังอย่างยาวนานถึง 15 ปีจนกลายเป็นตำนาน
ความหมายของหนังสือเล่มดังกล่าว สะท้อนกระจ่างแจ้งชัดเจนอยู่ในตัวเองแล้วว่า “เพราะความกลัวชัยชนะของอองซานซูจี” นั่นเอง ทำให้เผด็จการทหารพม่าต้องเด็ดปีกเด็ดหางนางไว้มิให้โบยบินดั่งนกเสรีที่ปีกหัก ด้วยรู้ว่า ชัยชนะของเธอก็คือชัยชนะของประชาชนชาวพม่า อันเป็นชัยชนะที่ได้มาตามกระบวนการประชาธิปไตยแบบโลกสากล เยี่ยงนานาอารยประเทศ
ดังนั้น “อิสรภาพ” ของเธอจึงถูกแลกด้วย “ความหวาดกลัว” ของทหารพม่า
การต่อสู้ของอองซานซูจี อาจเรียกว่า “อวิหิงสธรรม” เฉกเดียวกับมหาบุรุษ “มหาตมะ คานธี” ก็ย่อมได้ ชายร่างเล็กผอมบางอดข้าวอดน้ำ ที่นุ่งผ้าขาดๆ ผืนเดียวสามารถพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินเพื่อชาวภารตะจนสำเร็จ ก็เพราะศัตรูฝ่ายตรงข้ามให้ความเคารพ “การต่อสู้อย่างสันติ”
ภายใต้กติกาเดียวกันนี้ สำหรับเผด็จการทหารพม่า ซึ่งมิใช่เจ้าอาณานิคมเครือจักรภพอังกฤษ มิใช่เป็นการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอกราชของชาติจาก “คนอื่น” ไฉนเลยการการต่อสู้กลับยิ่งยากลำบาก ยืดเยื้อ และยาวนาน ทรมานยิ่งกว่าครั้งที่นายพลอองซาน บิดาของเธอได้อุทิศชีวิตไปแล้วในก้าวแรก
เมื่อพินิจพิเคราะห์กันแบบเผินๆ แล้ว ดูเสมือนว่า ไม่น่าจะมีอะไรยากลำบากไปกว่าการปลดแอกจากเจ้าอาณานิคมผู้มีแสนยานุภาพเหนือกว่าเราคนพื้นเมืองอีกแล้วมิใช่หรือ เพราะมันคือการปกครองโดยคนต่างชาติ ต่างวัฒนธรรม คงไม่มีอะไรเลวร้ายรุนแรงมากไปกว่าการที่คนเจ้าของประเทศถูกหยาบหยามน้ำใจ ถูกคนต่างถิ่นที่มีเล่ห์เลศชั้นเชิงเหนือกว่ามาทำการยึดครองประเทศ และเหยียดผิว
ปลดแอกจาก “เจ้าอาณานิคม” ได้ไปแล้วหนึ่งเปลาะ ใครจักเชื่อว่า คนพม่าด้วยกันเองกลับต้องมาถูกย่ำยีบีฑาจากอำนาจเถื่อนภายใต้ท้อปบู๊ทของเพื่อนร่วมชาติเดียวกันได้ลงคออีก ถือเป็นเรื่องที่ชาวพม่าต้องดิ้นรนต่อสู้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีกเป็นคำรพที่สอง บางห้วงบางตอน อิสรภาพก็แย้มพรายฉายแสงออกมาเพียงชั่วขณะอันแสนสั้น สุดท้ายแสงนั้นก็พลันริบหรี่ลงอีก
เนื้อหาของ Freedom From Fear ที่อองซานซูจี เขียนนั้น กล่าวถึงอะไรบ้าง? เธอได้พรรณนาถึงภารกิจอันยิ่งใหญ่และหนักหน่วงว่า เธอและประชาชนพม่ากำลังต่อสู้กับลัทธิ “อาณานิคมภายในชาติ” ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Internal Colonialism” ศัพท์คำนี้มีความน่ากลัวเสียยิ่งกว่าคำว่า ลัทธิอาณานิคม ที่ประเทศโลกที่สามทั้งทวีปเอเชีย แอฟริกา อเมริกา และออสเตรเลีย ถูกรุกรานโดยชาวยุโรป หลายเท่าพันทวี
อองซานซูจี เล่าถึงกระบวนการจัดตั้งองค์กรที่มีชื่อย่อว่า SLORC (สล็อร์ค) ขึ้นมาโดยกลุ่มผู้นำเผด็จการทหารพม่า เพื่อควบคุมพฤติกรรมประชาชนแทบทุกฝีก้าว องค์กรนี้สามารถสังหารเข่นฆ่าประชาชนหัวรุนแรงที่ประท้วง ต่อต้าน เห็นต่างทิ้งได้เยี่ยงผักปลา และทันทีที่ใครอ้างคำว่า “สิทธิมนุษยชน”
SLORC ก็จะบอกกับประชาชนว่า คำว่า “สิทธิมนุษยชน” นั้นเป็น “ค่านิยมของคนตะวันตก” ขอประชาชนชาวพม่าอย่าไปน้อมนำเอาทฤษฎีนั้นมาใส่ใจ และมักตอกย้ำว่า ปัญหาภายในของพม่าเป็นปัญหาเฉพาะที่มีเอกลักษณ์ ไม่เหมือนกับใคร ดังนั้นคนภายนอกไม่ว่าเพื่อนบ้านอุษาคเนย์ ยิ่งชาวตะวันตกไม่ควรเข้ามาก้าวก่าย เพราะพวกเขาไม่มีวันเข้าใจปัญหา
คำอธิบายของทหาร SLORC ที่พูดซ้ำๆ กรอกหูประชาชนชาวพม่าเช่นนี้ อองซานซูจี มองว่า เป็นความน่าชิงชังและลดทอนพลังการลุกฮือเป็นอย่างยิ่ง ประชาชนจำนวนหนึ่งที่ไม่อยากเดือดร้อน รักสันติ รักตัวกลัวตาย ยอมจำนนอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของทหาร SLORC แบบเงียบๆ
ในขณะที่กลุ่มต่อต้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวนักเรียนนอกหัวสมัยใหม่ ชนชั้นกลาง นักธุรกิจที่ต้องการการค้าเสรี ก็ค่อยๆ ถูกทหาร SLORC กำจัดทำลายล้าง ทั้งในทางลับและทางตรงแบบเปิดเผย หลายรายที่ถูกฆ่าเสียบประจานในลักษณะสังเวยให้เห็นกันโต้งๆ กลางถนน ทำนอง “เชือดไก่ให้ลิงดู” สร้างความหวาดกลัวหายนะภัยแก่ผู้คน กลัวว่าวันหนึ่งหากตัวเราเองไม่หัดหุบปากเงียบ หรือไม่ฝึกให้ “อยู่เป็น” ได้เสียบ้าง วันใดวันหนึ่ง วิญญาณของเราก็คงร่ำไห้ขณะจ้องมองศพตัวเองลอยน้ำ หรือถูกซุกอยู่ในถังขยะที่ใดที่หนึ่ง เข้าบ้าง
ก้าวข้ามความกลัว
แล้วทำไมจึงยังมีคนอย่างอองซานซูจี และผู้กล้าอีกจำนวนไม่น้อย ที่ยังยืนหยัดต่อสู้กับอำนาจเถื่อนโดยปราศจากความกลัวนานกว่า 4 ทศวรรษแล้วเล่า อองซานซูจี บันทึกไว้ในหนังสือเล่มดังกล่าวว่า
“คติธรรมที่ข้าพเจ้าใช้ยึดเหนี่ยวเป็นหลักชัยในการต่อสู้นั้น นอกเหนือไปจาก อหิงสธรรม อันเป็นหลักการต่อสู้แบบสากล ไม่ได้อยู่ภายใต้กรอบศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ตามรอยท่านมหาตมะ คานธี แล้ว
ข้าพเจ้ายังยึดหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาในข้อที่ว่า “เราต้องแก้ปัญหาด้วยความไม่กลัว” อีกด้วย เราต้องก้าวข้ามความกลัวให้ได้ ข้าพเจ้าได้ค้นพบแก่นแกนของปัญหาในประเทศพม่าแล้วว่า เป็นเพราะเราถูกทำให้ “กลัว” เราจึงขาด “ความกล้า”
อองซานซูจี อ้างถึง “อคติสี่” ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนว่าเป็นต้นเหตุแห่งความลำเอียง อันนำไปสู่ความเสื่อม อคติสี่ประกอบด้วย ฉันทาคติ โมหะคติ โทสะคติ และภยาคติ หรือที่เราเคยท่องจำเป็นภาษาไทยว่า ลำเอียงเพราะรัก ลำเอียงเพราะหลง ลำเอียงเพราะโกรธเกลียด และลำเอียงเพราะกลัว
ข้อหลังสุด “ภยา” แปลว่า “ความกลัว” เป็นอีกหนึ่ง “อคติ” ที่คอยกัดกร่อน ค่อยๆ ทำลายสติสัมปชัญญะของมนุษย์ ความกลัวนี่เองที่มักเป็นต้นเหตุของความเสื่อมอีกสามประการข้างต้น
มาถึงจุดนี้ หลายท่านคงนึกถึงวลีอมตะยอดฮิตของอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยท่านหนึ่งคือ นายสมัคร สุนทรเวช ขึ้นมา เพราะท่านมักกล่าวคำว่า “ความกลัวทำให้เสื่อม” อยู่เนืองนิจ
อัน “ความกลัว” นี้ พิจารณาให้ถ่องแท้ ได้บังเกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่ายอย่างแท้จริง หาใช่มีขึ้นเฉพาะฝ่ายประชาชน ที่หวาดกลัวทหาร SLORC เพียงข้างเดียวก็หาไม่
ฝ่ายทหาร SLORC ยังกลัวอะไรอยู่อีกหรือ? ในเมื่ออำนาจอยู่ในมือเต็มพิกัด แน่นอนทีเดียว พวกเขายังกลัวว่าวันหนึ่งอาจต้องสูญสิ้นอำนาจ ความพยายามหวงอำนาจ ผลักดันให้พวกเขากักขังอิสรภาพของบุคคลอื่นไว้ใต้ท้อปบู๊ตของพวกตน พร้อมๆ กับการสร้าง “ความกลัว” ให้กับประชาชนทุกคน
“เมื่อมนุษย์มีความกลัว ความกล้าหาญที่จะลุกขึ้นเรียกร้องอิสรภาพก็ย่อมลดน้อยถดถอยลง”
ประเด็นเรื่อง “ความกลัว” นี้ ดิฉันมองว่าน่าสนใจยิ่งนัก สะท้อนว่า อองซานซูจี มองความเคลื่อนไหวของคนทั้งสองฝ่ายด้วยสายตาอันเฉียบคมว่า ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลนี้ล้วนมาจาก “ความกลัว” นั่นเอง
“หากทหาร SLORC ยอมคืนอิสรภาพให้กับประชาชน โดยเลิก “ขลาดกลัว” เลิก “หวาดระแวง” ว่าคนอื่นจะมีอำนาจทัดเทียมตน ทหาร SLORC ก็จะคือผู้กล้าหาญขึ้นมาในบัดดล อัน “ความกล้าหาญ” ของชายชาติทหารนั้น หาใช่การถืออาวุธ แล้วหันปลายกระบอกปืนเข้าหาประชาชนไม่ ความกล้าหาญที่แท้จริงของพวกท่านคือ ท่านต้องไม่กลัวว่าประชาชนจะมีอิสรภาพ
ในทางกลับกัน หากประชาชน “เลิกกลัว” เลิกก้มหัว เลิกดูดาย ตระหนักว่ามนุษย์ทุกคนมีเสรีภาพ มีอิสรภาพมาตั้งแต่กำเนิด แล้วลุกขึ้นมาอย่าง “กล้าหาญ” ทวงคืนสิทธิ์เสรีของพวกตน คนเหล่านี้ก็จะได้รับชัยชนะ ในฐานะผู้กล้า “ก้าวข้ามความกลัว”
ด้วยเหตุนี้เอง เมื่ออองซานซูจี มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงปัญหาทั้งหมดทั้งมวล ว่าเกิดขึ้นบนพื้นฐาน “ความกลัว” ของทั้งสองฝ่าย ปัญหาจึงยืดเยื้อเรื้อรัง คาราคาซังไร้ทางออก สิ่งเดียวที่เธอสามารถทำได้
“ข้าพเจ้าไม่มีพละกำลังที่จะไปบีบบังคับให้ใครเลิกกลัว สิ่งที่ข้าพเจ้าทำให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่โลกได้ ก็แค่ ข้าพเจ้าพยายามใช้ชีวิตอยู่ด้วยความ ไม่กลัว”
ดิฉันเคยเขียนบทกวีชิ้นหนึ่งชื่อ “ก้าวข้ามความกลัว” ในช่วงที่มีความเคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยขับไล่รัฐบาลเผด็จการทหารของไทยระหว่างปี 2563-2564 เคยตีพิมพ์ในเว็บ “ประชาไท” ขอมอบบทกวีชิ้นนี้ให้แด่ผู้กล้าทุกคน รวมทั้งอองซานซูจี ผู้ปลุกผู้คนให้เลิกขลาดกลัว
ก้าวให้พ้นความกลัวคอยกักขัง ก้าวให้พ้นความชังเฝ้ากุมเหง
ก้าวให้พ้นอำนาจมุ่งยำเยง เธอจักไม่วังเวงเคว้งวิญญาณ์
ออกคำสั่งหัวใจให้องอาจ พายุฟาดพินาศฝันยิ่งฟันฝ่า
อุปสรรคหนักแสนเท่าแผ่นฟ้า ดั่งทายท้าดวงหทัยเอนไหวโอน
ก้าวให้พ้นความเกลียดความเคียดแค้น ก้าวให้พ้นคำแคลนถอดหัวโขน
ก้าวให้พ้นปีศาจคอยสาดโคลน มากระโจน! เปิดใจพูดความจริง
เราอิ่มแล้วมรดกจากอดีต ที่จารีตหลอมปรุงจนรุ่งริ่ง
ผิดกาละเทศะต้องละทิ้ง หาใช่หิ้งบูชามหาชน
ก้าวให้พ้นค่านิยมที่หลงยุค คำนิยามแห่งความสุขแท้ถูกปล้น
มีแต่ความมืดมิดและมัวมน มิอาจทนเป็นทาสประกาศไท
มนุษย์มีศักดิ์ศรีแห่งมนุษย์ ตาชั่งฉุดยุติธรรมโลกร่ำไห้
รังแกคนจนแต้มแถมจนใจ หลงกราบไหว้สิ่งสมมติดุจเทวดา
ก้าวให้พ้นกฎหมายที่ใครร่าง ก้าวให้พ้นหลุมพรางที่ขวางหน้า
ก้าวให้พ้นวิกฤติด้วยศรัทธา ยุติรากแห่งปัญหา ณ รุ่นเรา