
วานนี้ (9 มีนาคม 2568) “สถาบันปรีดี พนมยงค์” จัดงานเสวนา PRIDI x PBIC : “อนาคตเส้นทางเศรษฐกิจ คลองไทย - คลองกระ - Landbridge จากวิสัยทัศน์ปรีดี พนมยงค์ สู่ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจโลกแห่งศตวรรษที่ 21” ณ ห้อง PBIC 211 ชั้น 2 ตึก 60 ปี วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เนื่องด้วยประเทศไทยมีความพยายามที่จะพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก
“สถาบันปรีดี พนมยงค์” กับ “วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ” จึงร่วมจัดงานเสวนาวิชาการเพื่อเปิดพื้นที่ทางความรู้และมุมมอง รวมไปถึงสร้างความเข้าใจและอย่างแท้จริงต่อเส้นทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีการถกเถียงต่อนโยบายเส้นทางเศรษฐกิจภาคใต้ที่คำนึงความคุ้มค่าทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงภายใน และการเมืองระหว่างประเทศ โดยตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมามีการตั้งคำถามและแสดงทัศนะหลากหลายเพื่อหาทางออกที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
ภายในงานเริ่มด้วยการเปิดวีดิทัศน์กิจกรรมเนื่องในวิสัยทัศน์ปรีดี พนมยงค์ สู่ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจโลกแห่งศตวรรษที่ 21 ที่มีบทบาทต่อสังคมจนถึงปัจจุบัน และสถาบันปรีดี พนมยงค์ เพื่อสะท้อนนโยบายและแนวคิดของนายปรีดีจากอดีตที่เชื่อมโยงมาสู่ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจร่วมสมัยในปัจจุบัน

ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ Landbridge ภายใต้ดุลยภาพแห่งอำนาจของจีนและสหรัฐอเมริกา
แนวคิดการขุดคอคอดกระ มีการถกเถียงมาอย่างยาวนาน บางหลักฐานชี้ว่าอาจมีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีการพูดถึงในสมัยรัชกาลที่ 5
ปี 2478 ขณะอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการหาแหล่งเงินทุนเพื่อขุดคลองไทย อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นประเทศไทยยังอยู่ภายใต้สนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับชาติมหาอำนาจ ทำให้อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เสนอให้ใช้เงินทุนของไทยเอง เพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยทางเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศและยกระดับสถานะของไทยในเวทีโลก
แนวคิดเรื่องคลองไทยกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งภายใต้ตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา เศรษฐา ทวีสิน และแพทองธาร ชินวัตร อย่างไรก็ตาม โครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญมากกว่าคือ Landbridge ซึ่งเป็นทางเชื่อมขนส่งทางบกระหว่างอ่าวไทยและทะเลอันดามัน แทนการขุดคลอง
ประเด็นถกเถียงหลักคือความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ แต่ก็มีผลการศึกษาที่ย้อนแย้ง คือ สภาพัฒน์ระบุว่าโครงการนี้ไม่มีความคุ้มค่า ในขณะที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ให้ข้อมูลว่ามีความคุ้มค่า นอกจากนี้ ทั้งคลองกระและ Landbridge ยังมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
การขุดคอคอดกระ หรือการสร้าง Landbridge ต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านอำนาจระหว่างจีน สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศ BRICS ไทยจำเป็นต้องรักษาสมดุลทางการเมืองระหว่างประเทศมหาอำนาจ เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ตัวอย่างสำคัญจากอดีต ได้แก่
1.กรณีคลองสุเอซ ที่ประเทศอียิปต์เป็นเจ้าของพื้นที่ แต่ผู้มาลงทุนขุดคลองเป็นชาติมหาอำนาจยุโรป ต่อมาเกิดความขัดแย้งขึ้นเป็นสงครามตัวแทน (Proxy war) นำไปสู่สงครามอาหรับ-อิสราเอล ครั้งที่ 2
2.กรณีคลองปานามา: ที่ประเทศโคลอมเบียเป็นเจ้าของพื้นที่ แต่ผู้มาลงทุนเป็นชาติมหาอำนาจยุโรปและถูกบริษัทสหรัฐฯ เทคโอเวอร์กิจการต่อ ต่อมา “ปานามา”ถูกสหรัฐฯ สนับสนุนให้แยกตัวเป็นประเทศปานามาเพื่อควบคุมคลอง จึงแยกตัวออกมาเป็น “ประเทศปานามา” ต่อมาภายใต้รัฐบาลจิมมี่ คาร์เตอร์ สหรัฐฯ ได้คืนสิทธิการบริหารคลองให้ปานามา แต่ยังคงอิทธิพลทางเศรษฐกิจ
อนุสรณ์ จึงสรุปว่า หากประเทศไทยเดินหน้ากับโครงการคลองไทย หรือ Landbridge จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบ ทั้งความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การตัดสินใจใด ๆ ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ระยะยาวของประเทศ มากกว่าความต้องการของมหาอำนาจภายนอก
ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญของโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ มีส่วนสำคัญพอ ๆ กับเรื่องเศรษฐกิจที่สร้างผลประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ จึงได้เปิดประเด็นเหล่านี้เพื่อส่งต่อให้วิทยากรได้ขยายต่อในงานเสวนา “อนาคตเส้นทางเศรษฐกิจ คลองไทย - คลองกระ - Landbridge จากวิสัยทัศน์ปรีดี พนมยงค์ สู่ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจโลกแห่งศตวรรษที่ 21”
ลำดับถัดมาเป็นการเสวนาในหัวข้อ “อนาคตเส้นทางเศรษฐกิจ คลองไทย - คลองกระ - Landbridge จากวิสัยทัศน์ปรีดี พนมยงค์ สู่ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจโลกแห่งศตวรรษที่ 21” ร่วมเสวนาโดย คุณธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ นักวิชาการ คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร, คุณบัณฑิต ศรีภา อดีตกัปตันเรือเดินสมุทรระหว่างประเทศ และอดีตที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการคลองไทยและระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้, คุณภักดี ธนะปุระ ผู้เชี่ยวชาญคลองกระ, คุณสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร

ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ ชวนคุยเกี่ยวกับคลองไทยและ landbridge ว่าควรจะดำเนินการเป็นโครงการใดจึงจะเหมาะสมและเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ซึ่งทั้งสองโครงการฯ มีความแตกต่างในด้านรายละเอียด เพราะมีการประเมินโครงการฯ ที่ต้องคำนึงถึงเศรษฐกกิจ สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง โดยชวนให้คิดถึงเรื่องการลงทุนจากหลายประเทศเพื่อให้เกิดการถ่วงดุลกันต่อโครงการพัฒนาเศรษฐกิจเส้นทางการค้าภาคใต้ โดยโครงการนี้ยังคงต้องใช้เวลาในการหารือกันซึ่งยังไม่ได้มีข้อตกลงที่ชัดเจน

บัณฑิต ศรีภา ชวนคิดให้เห็นถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของโครงการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ ที่มีการดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการพัฒนาเส้นทางเศรษฐกิจภาคใต้ก็ได้มีการคิดอยู่หลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริง เพราะถูกปล่อยให้เวลาล่วงเลยจนบางพื้นที่ก็ได้มีการสร้างถนนเพื่อเตรียมพร้อมต่อการสร้างท่าเรือแต่ปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว บัณฑิตจึงชวนมองการแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทยที่จะนำไปสู่เส้นทางเศรษฐกิจทางการค้าใหม่ที่ทำให้การค้นส่งย่นระยะเวลาและสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยได้สูงสุด

ภักดี ธนะปุระ ได้กล่าวถึง ความคิดของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ในการใช้เงินทุนของประเทศด้วยการนำทองของประเทศมาใช้เพื่อไม่ให้เกิดการติดหนี้กับประเทศมหาอำนาจ ดั่งเหตุการที่โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เรียกร้องคลองปานามาคืน เพราะเงินทุนเหล่านั้นเป็นของสหรัฐอเมริกาทั้งหมด ความคิดเห็นของอาจารย์ปรีดีจึงเชื่อมโยงในส่วนสำคัญของเรื่องเอกราชและอำนาจอธิปไตยว่าควรจะเป็นของไทย

สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ เสนอถึงโครงการระดับใหญ่ที่มักถูกกล่าวถึงว่า “อยากได้หรือไม่อยากได้” แต่รัฐควรให้ความสำคัญกับคำว่า “ควรทำหรือไม่ควรทำ” เพราะต้องใช้การศึกษาอย่างละเอียดเพื่อที่จะเลือกว่าโครงการพัฒนาเส้นทางการค้าภาคใต้ควรไปในทิศทางไหน โดยต้องนึกถึงความคุ้มค่า และชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยไม่ได้มีโครงการใหญ่แค่โครงการเดียวในการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งในท้ายที่สุดหากมีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ไปแต่ไม่ได้ถูกใช้อย่างที่คาดการณ์ไว้ อาจจะส่งผลให้โครงการขนาดใหญ่นั้นกลายเป็นการเสียต้นทุนของประเทศได้






รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://web.facebook.com/share/v/1BGyNnvN4G/