ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

Q&A “จากทุ่งสังหารถึงสำนักงานตั๋วช้าง” ตำรวจ-ทหาร กองทัพของราษฎร

17
ตุลาคม
2564

 

Q: มองเหตุการณ์ 45 ปี 6 ตุลาฯ 2519 อย่างไร ทำไมประวัติศาสตร์ยังไม่ลงตัว ไม่ลงตัวในแง่ที่ว่า ผู้ที่เข้ามาร่วมรำลึก คือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงหรืออยู่ในฝ่ายประชาธิปไตย ในขณะที่รัฐไม่มีการแสดงออกใดๆ ไม่ได้เข้าร่วม ไม่ได้เกริ่นเรื่องนี้ ปฏิทินของรัฐ ของสังคมไทย วันนี้ก็ไม่ได้มีความสำคัญอะไรเป็นพิเศษ

คุณประวิตร โรจนพฤกษ์: ในมุมมองของผมมองว่านี่คือประวัติศาสตร์ที่ควรจะตกผลึกนานแล้ว ผมเคยได้อ่านงานประวัติศาสตร์ที่มีนักประวัติศาสตร์ต่างชาติตั้งข้อสังเกตว่าประวัติศาสตร์ทั่วไปจะตกผลึก ต่อเมื่อคนที่เป็น contemporary คือ ผู้ที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์นั้นสิ้นอายุไขไปหมดแล้ว และควรเป็นเรื่องที่คนอีกยุคหนึ่ง อีกรุ่นหนึ่งที่ไม่ได้ผ่านเหตุการณ์นั้นโดยตรง มองประวัติศาสตร์กลับไป ตีความประวัติศาสตร์อันนั้น มีความเป็นห่วงในบรรดาผู้ร่วมอภิปรายทั้ง 6 ท่าน ตอนนี้ว่าประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ มันไม่ลงตัว และอาจจะไซด์ไลน์ที่สุดในอนาคตหรือมีความหวังเพราะว่าเห็นเด็กรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งออกมาร่วมการชุมนุม

พลโท ดร.พงศกร รอดชมภู: ผมเรียนให้ทราบไปแล้วว่า 6 ตุลาฯ 19 มีความพยายามที่จะทำให้ลืมกัน เป็นความพยายามที่จะทำให้หายไปจากประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะยอม เพราะว่าเป็นการต่อสู้ของประชาชนตรงๆ กับรัฐที่ชัดเจนที่สุด การปราบปราม

เวลานี้ควรที่จะต้องบันทึกไว้ อย่างที่หลายท่านอยากให้มันมีในบทเรียนแบบเรียน และการต่อสู้นี้จะเป็นพื้นฐานสำหรับประชาชนต่อไป ว่าเรื่องแบบนี้ไม่ควรจะกลับมาเกิดเหตุอีกแล้วประเทศไทยที่พัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมมาไกลมากแล้ว เรื่องแบบนี้จึงไม่ควรจะกลับเกิดขึ้นอีก แล้วการที่จะทำให้เกิดขึ้นมาไม่ได้อีก คือ ประชาชนต้องตระหนักรู้ว่าเรื่องนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ: เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองโดยเฉพาะเหตุการณ์ซึ่งมีความรุนแรง โดยพื้นฐานสังคมไทยก็จะเป็นสังคมที่อาจจะอยากจะให้ลืมอะไรแบบนี้ และก็ให้อภัยกัน ซึ่งการลืมไม่ใช่การแก้ไขปัญหาแน่นอน คือเราต้องเอามาเป็นบทเรียน ส่วนการให้อภัย สามารถให้อภัยได้ แต่ว่าจะต้องสะสางข้อเท็จจริง และก็คนที่กระทำผิด ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ประเทศจึงจะสามารถเดินหน้าได้

ทีนี้การตีความ คือ การพูดถึง 6 ตุลาคม หรือ การจัดกิจกรรมเชิดชูวีรชน ถ้าเรามีรัฐบาลประชาธิปไตย รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งบรรยากาศจะดี บางทีรัฐบาลจะสนับสนุนด้วยซ้ำไป ตอนนั้นผมจำได้จัดงาน 40 ปี 14 ตุลาคม รัฐบาลสนับสนุนเยอะเลย แล้วก็จัดเป็นงานใหญ่มาก เรื่องช่วงเวลาก็มีส่วน

คุณอังคณา นีละไพจิตร: พอดีตอนนั้นดิฉันเรียนอยู่ที่ศิริราชเป็นพยาบาลปี 1 บรรยากาศที่เราเห็น เราเห็นพ่อแม่ญาติพี่น้องเกาะรั้วโรงพยาบาลร้องไห้ เราสัมผัสได้ถึงความกลัว คือ ดิฉันอธิบายไม่ได้ว่าช่วงนั้น ประชาชนมีความกลัวมากขนาดไหน ดิฉันคิดว่าผู้เสียหาย หรือ เหยื่อเองก็ไม่กล้าที่จะลุกขึ้นมาพูดอะไรหลังจากเหตุการณ์นั้น หนังสืออะไรต่อมิอะไรที่ไม่ว่าจะเป็นการบันทึกต่างๆ ต่างคนต่างก็แทบจะทำลายทิ้งกันไปหมด

ต่อมาปี 23 ที่มีการคำสั่ง 66/13 ดิฉันมองว่าคำสั่งนี้มันไม่ใช่คำสั่งที่ออกมาที่จะแก้ไขปัญหาหรือสร้างความปรองดองอะไร แต่มันเป็นคำสั่งที่ออกมาทวงบุญคุณไม่จบ ว่านี่ไง มีการนิรโทษกรรมนักศึกษาออกมา บางคนได้ไปเรียนต่างประเทศ แต่ในทุกประเทศทั่วโลกที่มันมีเรื่องความขัดแย้ง สิ่งสำคัญที่สุดก็คือเรื่องของการมีคณะกรรมการตรวจสอบความจริง และเปิดเผยความจริง เรื่องของบ้านเรา เราไม่เคยพูดถึงเรื่องของความจริง ในขณะที่เราบอกว่า นี่ไง นิรโทษกรรมออกมาได้ ออกมาเรียนหนังสือ แต่เราไม่เคยกลับไปพูดว่า แล้วใครทำผิด แล้วคนที่ออกคำสั่งวันนั้นเป็นใคร จะต้องรับโทษอย่างไร

ดิฉันคิดว่าตรงนี้ คือ สิ่งที่หายไป ในหลายๆ กรณีที่เป็นประเทศไทยเอง มีกรณีตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง อย่างตากใบ กรือเซะ  รายงานออกมามีการถมดำชื่อใครต่อใครเต็มไปหมดเลย สุดท้ายกลายเป็นว่าเราไม่เคยเรียนรู้เลยว่า แล้วจริงๆ ใครที่เป็นคนออกคำสั่ง ใครต้องรับผิดชอบและรับผิดชอบแค่ไหน

 

Q: การรำลึกจดจำเรื่อง 6 ตุลาฯ ดูเหมือนจะมีเฉพาะผู้คนส่วนน้อยที่คิดเห็นต่างจากคนที่อยู่ในกรอบที่รัฐและชนชั้นนำชี้นำ จะทำอย่างไรให้คนที่อยู่ในกรอบ (คนไทยส่วนใหญ่ในสังคม) เรียนรู้ประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ และนำมาปรับใช้เป็นบทเรียน แต่เวลาผ่านมา 45 ปี เหมือนตำรวจทหารชั้นนำสังคมยังคงเดินตามรอยประวัติศาสตร์อยู่เช่นเดิม

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ: ควรต้องมีใส่ไว้ในบทเรียน คือ ต้องใส่ไว้ในหลักสูตร ในบทเรียน เพราะว่าในหลายๆ ประเทศก็ทำแบบนี้ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ให้ทุกคนรับรู้ และจะต้องมีการสร้างพิพิธภัณฑ์ สร้างศูนย์การเรียนรู้ว่า จะทำอย่างไรเพื่อที่เราจะไม่เกิดปัญหาและนำไปสู่ความรุนแรงนองเลือดโดยการกระทำของรัฐอีก จะต้องทำแบบนั้นจึงจะเป็นทางออก

ผมเชื่อมั่นในแนวทางสันติวิธี คือจะแก้ไขปัญหา จะผลักดันให้ประเทศก้าวหน้าขึ้น เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เป็นธรรมขึ้น ต้องรณรงค์ต่อสู้ด้วยแนวทางสันติ ทีนี้หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่า คุณจะต่อสู้แบบสันติวิธี ในโครงสร้างอำนาจรัฐหรือโครงสร้างทางการเมืองแบบพม่าได้ไหม หรือ บางประเทศในแอฟริกาได้ไหม

ในเวลาที่เรารณรงค์ต่อสู้ เราต้องดูบริบทสังคมนั้นๆ ด้วย ซึ่งผมคิดว่าสังคมไทยสามารถทำได้ เราไม่ใช่พม่า เราไม่ใช่บางประเทศในแอฟริกา เพราะฉะนั้น เราสู้ได้ แต่ว่าถามว่า ผู้ที่มีอำนาจรัฐที่เขามีทัศนคติแบบเป็นปรปักษ์กับระบอบประชาธิปไตย เขาก็ปรับวิธีการปรับกลยุทธ์ เขาก็ไม่ได้ใช้วิธีไปยิงไปฆ่าแบบเดิมแล้ว เขาก็ใช้วิธี ใช้ Law Fair ใช้ยัดคดี ใช้ยุบพรรคการเมืองอย่างพรรคการเมืองของ คือ เขาใช้เทคนิคทางกฎหมาย และ พัฒนาวิธีการควบคุมวิธีการต่อสู้ เราก็ต้องพัฒนาสันติวิธีของเราให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

การต่อสู้ของฝ่ายประชาชน บางทีเขาก็ทำให้มันแตกแยก คือ ทำให้ประชาชนแตกแยกกันเอง แล้วบางทีการจัดตั้งคนบางกลุ่มมาเคลื่อนไหวให้มันดูรุนแรง หรือแม้กระทั่งทำลายความชอบธรรมว่าพวกนี้ไม่รักชาติ ชังชาติ ขายชาติ ทั้งที่เยาวชนคนหนุ่มสาวส่วนใหญ่รักชาติทั้งนั้นแหละ และเขาก็เป็นห่วงอนาคตของตัวเองด้วย เขาถึงออกมาต่อสู้

พลโท ดร.พงศกร รอดชมภู: หลายท่านคงมีความรู้สึกว่า เราคงจะแย่แน่แล้ว เราจะสู้เขาได้อย่างไร เขามีอาวุธ เราแย่แน่ ประวัติศาสตร์จากทุกๆ แห่งในโลก ชัดเจนว่าถ้าสังคมเปลี่ยนไปมากๆ อย่างสังคมไทย เรามีโอกาสที่จะได้ประชาธิปไตยค่อนข้างแน่ ในเวลาอันใกล้ด้วย บางคนบอกว่าอีกเป็น 100 ปี มันเป็นอย่างนั้นไม่ได้หรอก เพราะสังคมมันเปิดมากแล้ว และมีสิ่งหนึ่งที่เขาไม่อยากให้มีการระลึกถึง เพราะว่าเขามีความรู้สึกว่าเขาจะโดนโจมตี

สิ่งที่เราต้องเผยแพร่ ต้องฝากทุกๆ ท่าน รวมถึงท่านผู้ชมว่า เรามีคำนิยามหนึ่ง คือคำที่เขาเรียกว่า ความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน Transitional Justice ว่าทำไมเอาความจริงมาเปิดเผย เปิดเผยทั้งสองฝั่ง และก็รู้ว่าใครทำผิด คนทำผิดมาขออภัย และคนที่ถูกกระทำมาให้อภัย แล้วจับมือกันไป อย่างเป็นภราดรภาพ อันนี้ไม่ง่าย ต้องใช้กำลังใจค่อนข้างมาก แต่ถ้าเราบอกว่าเราไม่เอาชนะ เราไม่โจมตีคุณนะ เราจับมือไปด้วยกัน เขาก็จะยอมให้ความร่วมมือ 

 

Q: จากประวัติศาสตร์ รอยบาดแผลเปิดจากการปกครองเหล่านี้มีแนวโน้มในการเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่ ประชาชนชาวไทยทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการป้องกันเหตุการณ์เหล่านั้นในแนวทางใดบ้าง

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ: ถ้าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย คือ ประชาธิปไตยต้องครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นทางการเมืองเศรษฐกิจ และโดยค่านิยมวัฒนธรรมด้วย ความรุนแรงจะไม่เกิดขึ้น เราดูง่ายๆ เลยว่าประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ความรุนแรงน้อยมาก ความรุนแรงนองเลือดทางการเมืองไม่มีเลย ยกเว้นสหรัฐอเมริกาสมัย โดนัลด์ ทรัมป์ แต่ว่าเราก็ต้องเปรียบเทียบกันว่าประชาธิปไตยแบบอเมริกันมันก็มีจุดอ่อนเยอะ เมื่อเทียบกับยุโรปเหนือ ยุโรปเหนือซึ่งเป็นประเทศสแกนดิเนเวีย อย่าง ฟินแลนด์อย่างเดนมาร์ก และประเทศเหล่านี้มีกษัตริย์ด้วย แล้วก็เป็นประชาธิปไตยแบบมีกษัตริย์เป็นประมุข แล้วก็ไม่มีปัญหาอะไร แล้วก็ดีมาก

ดร.พิเศษ สอาดเย็น: ผมคิดว่าคำถามนี้ ถามพวกตัวเราเองว่า “ประชาชนจะทำอะไรได้บ้างเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ความรุนแรงซ้ำรอย” ผมคิดว่าภาครัฐมีหน้าที่ที่จะต้องปรับปรุงการทำงาน และให้ความสำคัญกับหลักการที่ควรจะเป็น  แต่ละอันนั้นก็เราจะคาดหวังได้แค่ส่วนเดียว ส่วนประชาชนผมคิดว่าความท้าทายมันเริ่มมากขึ้นในปัจจุบัน เพราะว่าข้อมูลข่าวสารมีความเร็ว และมีทั้งส่วนที่ต้องกลั่นกรองอีกเยอะ

ตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้เราไม่ตกไปเป็นเหยื่อของการเลือกข้างใดข้างหนึ่ง ก็คือพยายามเตือนตัวเองอยู่เสมอ และตั้งคำถามว่ามีความอยากจะตั้งคำถามในเชิงวิเคราะห์ เพื่อที่จะเข้าใจ และพยายามที่จะให้ความอยากรู้อยากเห็นแบบที่เป็นวิทยาศาสตร์นิดหนึ่ง ไม่ให้เกิดการด่วนสรุป และตีความปรากฏการณ์ต่างๆ แบบชั้นเดียว และก็อยู่ข้างใดข้างหนึ่ง และก็เป็นลักษณะที่สุดโต่ง

ความรู้แบบที่ผมว่าเป็นเรื่องของความอยากรู้ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง ต้องแยกแยะให้ชัด เพราะว่าคนยิ่งมีความรู้ในศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งมาก รับข้อมูลมา แต่ถ้ามีความอยากรู้อยากเห็น ก็มีการศึกษาที่พบว่ายิ่งเขามีเหตุผลมากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะความรู้เขาหนักแน่นที่จะเลือกรับหรือไม่รับข้อมูลข้างใดข้างหนึ่งที่เขาคิดว่ามันไม่ถูกใจเขา แล้วก็ปัดออก แล้วก็ไม่ฟัง

คนที่มีลักษณะแบบนี้ก็จะมีอันตราย ก็จะอยู่ใน Bubble ของเขาที่เลือกรับข้อมูลฟังแต่สิ่งที่ตัวเองเชื่อ เพราะฉะนั้น การที่ทำให้เราเป็นสังคมที่เป็นพหุฯ ได้จริง และเราต้องพยายามสร้างความอยากรู้อยากเห็นให้มากขึ้นในตัวพวกเราเอง และประชาชนด้วย ในการรับฟังในการเสพย์ในการที่จะแสดงออก และก็ความรู้ให้มากขึ้น และช่วยตัวเองเพื่อให้มันเกิดการยับยั้งการความรุนแรงเพราะว่าความรุนแรงมักจะเกิดความจากความเชื่อแบบขาดสติ

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง: ผมเห็นว่าในเรื่องประวัติศาสตร์ หรือ เหตุการณ์ครั้งนี้ ผมไม่อยากให้ข้ามไปง่ายๆ เนื่องจากว่าเป็นเรื่องของการสูญเสียครั้งสำคัญและการสูญเสียครั้งนี้ มันก็มีการสูญเสียครั้งก่อนที่ฟังท่านสุธรรมในเมื่อสักครู่ แล้วมันก็ยังมีการสูญเสียหลังจากนี้

ดังนั้นผมคิดว่าในเรื่องบทเรียนอย่างน้อยที่สุด เราควรจะมีการยอมรับในความเห็นร่วมกันก็คือ เราต้องมีข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์เรื่องนี้ให้เกิดขึ้น เขาบอกว่า “คนที่ฉลาดต้องเรียนรู้ความผิดพลาดในอดีตของตนเอง หรือของสังคมเอง แต่คนที่จะฉลาดกว่านั้น ต้องเรียนรู้ความผิดพลาดของคนอื่นในเรื่องประวัติศาสตร์” ผมคิดว่าเป็นสมบัติของมวลมนุษย์ในโลก ไม่ว่าจะเป็นของไทยก็คงต้องเป็นของทุกคน เพราะว่ามนุษย์ถ้าเราได้สามารถรู้จักใช้ประวัติศาสตร์ที่เกิดจากกลุ่ม ไม่ว่าชาติพันธุ์ใดกลุ่มประเทศใด มีความแตกต่างอย่างไร ถ้าเอามาใช้เพื่อนำไปสู่ความเป็นบทเรียน มีความสำคัญ โดยเฉพาะบทเรียนครั้งนี้ เป็นบทเรียนที่สังหารมนุษย์ สังหารคนไทย สังหารคนที่จะมีอนาคต เพราะเขามีความคาดหวังว่าอยากให้สังคมดีขึ้น เราไม่ควรจะปิดไว้

ผมอยากจะกราบเรียน ผมมีประสบการณ์ที่ไปพูดคุยเรื่องของสันติภาพ แล้วก็คุยกันว่าทางฝ่ายพี่น้องที่เห็นต่าง ก็บอกว่าอยากจะมีประวัติศาสตร์ปัตตานีสักเล่มหนึ่ง อยากจะให้กอ.รมน. ไปเขียน แล้วก็มาคุยกัน เมื่อนั้นคุณก็จะมาโจมตีว่าสอนประวัติศาสตร์ปัตตานีบิดเบือน เพราะว่าพอข้ามจากฝั่งแดนไทยไปฝั่งประเทศมาเลเซีย หรือในคาบสมุทรมลายู หรือตะวันออกกลาง เขามีประวัติศาสตร์ปัตตานี มาเลเซียมีคน 250 กว่าล้านคน ถามว่าเขามีประวัติเชค ดาวูด เชค ดาวูดเป็นคนปัตตานีแต่หนังสือเรียนของไทย “ปัตตานี” สักคำยังไม่มีให้คนปัตตานีเรียนเลย

เขาต้องไปเรียนประวัติศาสตร์ของสุโขทัย พิษณุโลก อันนี้เป็นความภูมิใจ ในเรื่องนี้ผมคิดว่าอดีตเป็นบทเรียนปัจจุบัน และอนาคต คือ ความรับผิดชอบ บทเรียนจากลูกหลานเราต้องเสียชีวิต แล้วมันก็เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งถ้าเราได้ข้อเท็จจริง เพราะว่าจริงๆ แล้วมันก็คือในเวลาที่บ้านเมืองจะพินาศ ความรู้ของคนบางคนวิปริต อย่างที่เขาวิปริตเพราะเขาเป็นคนเห็นกงจักรเป็นดอกบัว คือ เขาเห็นอำนาจหรือผลประโยชน์สำคัญกว่าชีวิตมนุษย์ อันนี้เป็นเรื่องอันตราย

ผมจึงคิดว่าไม่ให้ปล่อยเลยไป เพราะว่านี่ตั้ง 45 ปี ผมเชื่อว่าไม่จำเป็นถึงชั่วอายุคนเพราะข้อเท็จจริงควรจะยุติ แล้วเรามาบันทึก ส่วนการจะมาวิเคราะห์นอกเหนือจากนั้น ถ้าข้อเท็จจริงหลักฐานมุมมองครบแล้ว การวิเคราะห์เป็นเรื่องของศาสตร์แต่ละศาสตร์ไปวิเคราะห์ อันนี้อยากจะฝากไว้ และผมไม่อยากให้เกิดขึ้นในปัจจุบันและมันจะเกิดขึ้นอีก 

 

Q: เป็นไปได้ไหมครับที่สังคมไทยจะสามารถใช้สื่อต่างๆ เช่น ภาพยนตร์ละครโทรทัศน์ในการขัดเกลาและส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ผู้มีหน้าที่พิทักษ์ความสงบสุขของประชาชน

ชานันท์ ยอดหงษ์: การพูดถึงประวัติศาสตร์ในช่วง 2516 ช่วง 14 ตุลาคม มีความเบ่งบานของประชาธิปไตย และรูปแบบของการเขียนของประวัติศาสตร์เองก็มีความหลากหลายมากขึ้น เกิดประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่สามัญชนเริ่มเขียนเองมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามช่วงเวลาเดียวกัน กลุ่มฝ่ายขวาที่เติบโตมาพร้อมกัน ก็มีความพยายามในการสร้างประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และชุมชนของเขาเช่นเดียวกัน ซึ่งประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในช่วงเวลานั้นมักจะไปผูกโยงกับคติชาวบ้านด้วย อย่างเช่น การกลับชาติมาเกิดของข้าราชบริพารคนนั้นคนนี้มีนิมิต พระหลวงปู่หลวงตาเหล่านี้ แล้วก็มีการบันทึกประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบใหม่ขึ้นมา แล้วให้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสยบยอมต่ออำนาจรวมศูนย์ที่กรุงเทพฯ

จะเห็นได้ชัดในหลายท้องถิ่น เช่น ภาคเหนือ ภาคอีสาน อะไรเหล่านี้ก็จะมีเยอะอยู่ เช่นเดียวกันก็มีการโจมตีการเขียนประวัติศาสตร์ที่ค่อนข้างที่จะโจมตีเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มาก อย่างเช่น เมื่อตอนกลางดึกก่อนฟ้าสาง การยิง การระเบิด เกิดจากในรั้วมหาวิทยาลัยก่อนด้วยซ้ำ ก็มีคนเขียนอย่างนี้เช่นเดียวกันครับ กลุ่มชุนนุมแม่บ้านที่มาเขียนหนังสือก็มี แล้วผมคิดว่าในกระบวนการในการจะสร้าง Mass Media Pop culture ต่างๆ มักจะออกมาในรูปแบบของการสร้างชาตินิยมแบบเก่า แบบราชาชาตินิยมมากกว่า

ถ้าคุณจะพูดเรื่องของท้องถิ่นนิยม สุดท้ายแล้วคุณก็จะไปจบลงด้วยเศรษฐกิจพอเพียง มันดีอย่างไร ซึ่งมันทำให้ชีวิตคนดีขึ้นอย่างนี้ ซึ่งผมคิดว่าคนค่อนข้างมี literacy ระดับหนึ่งแล้วที่เขาจะไม่เชื่อ และผมเชื่อว่าการใช้สื่อแบบนี้อาจจะทำไม่ได้ด้วย

ขณะเดียวกัน การสร้างการยอมรับ การเคารพความเป็นมนุษย์ เรื่องของสิทธิความเสมอภาคหรือเสรีภาพ ควรมีมนุษยชน มนุษยธรรม ผมคิดว่า Pop culture Mass Media อาจจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง ผมคิดว่าต้องผ่านการตระหนักรู้ในหลายๆ ปัจจัยด้วย คงไม่สามารถใช้แค่ Mass Media ได้อย่างเดียว

ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐ ผมค่อนข้างจะหงุดหงิดใจกับการที่บอกว่าเขาจะเป็นคนเหมือนกับประชาชน เหมือนกับเรานั่นแหละ เขามีน้ำจิตน้ำใจ เขาทำตามหน้าที่ด้วยเหล่านี้ไป ผมคิดว่าหน้าที่หลักของเขาก็คือการปกป้องประชาชนมากกว่าอยู่แล้ว นี่เป็นการทำผิดหน้าที่แต่แรกด้วยตัวอาชีพนี้เอง ในข้ออ้างของอาชีพนี้ด้วย ผมเลยคิดว่ามันคงยาก ด้วยระบบรูปแบบการบังคับบัญชาการ มันต้องเริ่มต้นจากผู้บังคับบัญชาการขั้นสูงลงมาในรูปแบบของวัฒนธรรมทหารตำรวจเหล่านี้ไป

พลโท ดร.พงศกร รอดชมภู: ฝ่ายประชาธิปไตยต้องชนะทางการเมืองก่อน ถ้าเจตจำนงทางการเมืองมันเปลี่ยนง่าย และเราควรที่จะรับได้ในยุคสมัยประชาธิปไตยเบ่งบานก่อนที่จะมีการรัฐประหารปี 2549 ความคิดความอ่านกระแสประชาธิปไตยสูงมาก คนสมัยนั้น มีนักการเมืองประมาทด้วยซ้ำว่าจะไม่มีการยึดอำนาจ ดังนั้นเราสามารถทำได้ ขอให้เราชนะทางการเมืองก่อนและทุกอย่างจะมาหมดเลยว่าจะเป็น ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน จะมาหมดทุกอย่างครับ

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง: ถ้าเราจะให้ฝ่ายประชาธิปไตยชนะทางการเมือง ที่ก็เดินทางมา 80 ปีกว่าแล้ว มันก็ยังเดินทางต่อไป ผมคิดว่าเราต้องทำเดี๋ยวนี้เลย อย่างน้อยที่สุด 6 ตุลาฯ เราจะต้องตั้งคำถามว่าอุโมงค์ที่เก็บอาวุธของญวนคอมมิวนิสต์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีไหม จะต้องถูกบันทึกไว้โดยตำราเรียน เพราะวันนี้ ถ้าเราไม่มีบันทึกเป็นทางการ ก็ยังมีคนบางคนยังเชื่ออยู่

ส่วนคนที่สังหารหมู่ ผู้สังหารนี้เป็นใคร คนทำผิดต้องลอยนวลไหม เพราะมันเป็นความยุติธรรมกับครอบครัวของเขา ผมคิดว่าเราอาจจะต้องทำ และต้องทำโดยข้อมูลที่เรามีอยู่ ไม่ใช่เรื่องนี้เรื่องเดียว เหมือนจะมีว่าก่อนหน้านั้น 3 ปี เขารู้สึกว่าเผด็จการ ถ้าเขาพูดในภาษาที่อยู่ทางใต้ อย่างพี่น้องบางคนจะไม่ให้มีความผิดซ้ำสอง จะไม่ให้ผิดพลาดซ้ำสอง เขาก็มาเปลี่ยนวิธีต่อสู้ ไม่ให้ผิดพลาด ทางนั้นเขาสังหาร เขาก็ชนแต่ตอนนี้เขากลับมาแล้วก็สร้างความเกลียดชังให้กับสังคม แล้วมันก็แตกแยกมาถึงปัจจุบัน เราต้องคิดว่าควรจะต้องมาเรียนรู้ ผมเห็นด้วยว่าผู้ชนะเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์ แต่ว่าวันนี้สังคมมันเปลี่ยนแล้ว

 

Q: โอกาสที่จะชำระสาเหตุในการเข่นฆ่าวันที่ 6 ตุลาฯ 2519 จะเกิดขึ้นได้ไหมครับ และประชาชนจะมีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้เกิดการชำระนี้ได้อย่างไร

อังคณา นีละไพจิตร: วันนี้ คนที่อยู่ในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ  6 ตุลาฯ ส่วนมากยังมีชีวิตอยู่ เพราะฉะนั้น คนเหล่านี้จะถูกใช้ประจักษ์พยานในการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น ดิฉันสามารถที่จะรวบรวมความจริงได้ คือบอกเลยว่า ถ้าตามกฎหมาย คือ หมดอายุความไปแล้ว การชำระประวัติศาสตร์ไม่ได้หมายถึงจะต้องไปเอาใครมาฆ่า มาประหารชีวิต แต่อย่างน้อยให้รู้ว่าใครผิดใครถูก ใครละเมิด และใครถูกละเมิด

ดิฉันอยากจะบอกว่า สำหรับผู้เสียหาย บางทีเราจะถูกขอร้องว่า ให้อภัย ให้ยกโทษ แต่ว่าถามว่ายกโทษให้ใคร ใครคือคนผิด เอาคนผิดมาดูหน่อยสิ ดิฉันคิดว่า วันนี้หลายๆ คน อย่างเช่น คนเดือนตุลาฯ เขามีบาดแผลในใจอยู่ แล้วก็ไม่มีทางหมดไป อย่างน้อยการเยียวยาความเสียหายทางจิตใจ การขอโทษทางสาธารณะ การสร้างอนุสาวรีย์ การแสดงความเสียใจจากรัฐ ตรงนี้ดิฉันคิดว่ามีความหมายมาก

ที่สำคัญที่สุด คือ การสร้างหลักประกันว่าจะไม่เกิดซ้ำ ซึ่งก็คือนำไปสู่การแก้กฎหมายว่าเราจะแก้กฎหมายอย่างไร ทหารจะต้องยอมรับว่าเขาเป็นบริหารประเทศทีไร ประเทศไม่สามารถไปไหนได้ เพราะทั่วโลกเขาไม่รับรอง เพราะฉะนั้น ถ้าวันนี้เราไม่นำความจริงมาพูดกัน เรื่องของการฆ่าในกระบวนการยุติธรรม หรือ การอุ้มหายมันลดลง แต่มันไปเพิ่มเรื่องของการใช้กฎหมาย การคุ้มครองทางกฎหมาย การแก้กฎหมาย เพื่อให้คนมีความผิด การกลั่นแกล้งกันโดยทางกฎหมาย การใช้เทคโนโลยี เช่น IO ใช้บุลลี่คน ทำให้คนเกลียดชัง ให้คนที่ไม่รู้จักกันมารุมด่าอะไรแบบนี้ ดิฉันคิดว่าวิธีการที่รัฐใช้อยู่ มันเป็นวิธีการที่ไม่สะอาดและนำพาไปสู่การที่จะสร้างสังคมแห่งความร่วมทุกข์ร่วมสุขกันได้

พลโท ดร.พงศกร รอดชมภู: ปัจจุบันนี้ ผมอยากจะให้บันทึกให้ดีที่สุดไว้ก่อน แล้วเมื่อทุกอย่างถึงเวลาของมัน ความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน ทั้งคนทำและก็ผู้ถูกกระทำต้องเผชิญหน้ามองตากัน และให้อภัยกัน หรือว่ารับทราบสิ่งที่ตนเองได้กระทำไป ให้เกิดความเปิดเผยอย่างเต็มที่ต่อสาธารณะถึงจะชำระจิตใจได้หมด ไม่งั้นมันจะไม่จบ จะเป็นการสู้ไปสู้มา มันเสียเวลา แต่ว่าข้อมูลหลักฐานมันจำเป็นต้องบันทึกไว้มากๆ และจะเขียนเป็นเหมือนหนังสือแบบเรียนคู่ขนาน แบบเรียนทางเลือก 

 

Q: ท่านวิทยากรเชื่อว่ายุคมืดตั้งแต่ปี 2490 เป็นต้นมาจะสิ้นสุดเมื่อไหร่

ประวิตร โรจนพฤกษ์: ถ้าสังคมไทยเป็นประชาธิปไตยเมื่อไหร่ ก็ชำระได้แล้วจะเกิดภายในยุคเรา นี่ผมไม่แน่ใจนะว่ากี่ปีนะครับ 

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ: ผมคิดว่าเรื่องของเวลาคาดการณ์ยาก เพราะว่าเหตุปัจจัยในอนาคตมีเยอะมาก ทั้งภายในภายใน ฉะนั้นมันมีความเป็นอนิจจังลักษณะอยู่ แต่ถามว่าผู้ที่รักประชาธิปไตย ก็ต้องเตรียมพร้อม คือ อย่างไรเสียการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ก้าวหน้าขึ้น เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ คือ มันเป็นสายธารที่จะต้องเกิดขึ้นแน่ๆ แต่ว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่เราไม่รู้

เมื่อเกิดขึ้นแล้ว อาจจะวกกลับไปอีกก็เป็นไปได้ ทุกสิ่งล้วนขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยในอนาคตอีก แต่ว่าถ้าเราดูแนวโน้มมีแต่จะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะว่าเราดูอย่างบางประเทศที่มีระบบการปกครองแบบอำนาจนิยมเต็มรูปแบบ แล้วก็ปิดการทุกอย่างข้อมูลข่าวสาร ถามว่าปิดได้ไหม ในโลกที่มีเทคโนโลยีแบบนี้ ไม่สามารถปิดกั้นได้ ถึงได้เกิดอาหรับสปริงไง

ทีนี้เวลามันเกิดกรณีแบบนี้ จึงจำเป็นที่ขบวนการประชาธิปไตยจะต้องมีการจัดตั้งเข้มแข็ง เพราะไม่อย่างนั้นจะเกิดอนาธิปไตยแทน คือ แทนที่จะไปสู่ประชาธิปไตย แต่ว่ามันจะเป็นสภาวะไร้ระเบียบ ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาหนักกว่าก็ได้ อย่างที่เราเห็นอยู่ในลิเบีย ซีเรีย ในบางประเทศไม่สามารถมีสถาบัน ขบวนการ หรือองค์กรที่จะเข้ามาสวมในการที่จะบริหารประเทศให้มั่นคง

ผมว่าเป็นสิ่งที่คาดการณ์ยาก และในหลายประเทศเป็นเรื่องของการเข้ามา มีการแทรกแซงอำนาจจากมหาอำนาจภายนอก ถ้าเราดูในกรณีของความรุนแรงในหลายประเทศ และหลายประเทศนำไปสู่ Civil War คือการเข้ามาแทรกแซงโดยมหาอำนาจ อย่างประสบการณ์ หรือบทเรียนของแอฟริกาใต้เป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจว่า ทำไมคนอย่างเนลสัน แมนเดลา ถึงสามารถทำให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างสันติและประชาธิปไตยได้ แต่ว่าถ้าเราไปศึกษาในรายละเอียดก็ไม่ง่าย เนลสัน แมนเดลา กับทีมงานทั้งหมด กว่าที่จะทำได้มันก็ไม่ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย

ประวิตร โรจนพฤกษ์: ประเด็นของการปฏิรูปสถาบันฯ ที่เกิดขึ้นเมื่อ 1 ปีเศษๆ ที่ผ่านมามีสโลแกนหนึ่ง ก็คือ “ให้มันจบที่รุ่นเรา”  ตอนหลังก็มีคนมาถกเถียง เพราะตอนนี้ ‘คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’ เปลี่ยนให้เป็น “ให้มันจบที่รุ่นมึง” หมายถึง รุ่นผู้มีอำนาจ ก็มีการถกเถียงกันว่ารุ่นไหน รุ่นเราที่จะจบนี่คือจบเมื่อไหร่ บางทีประชาธิปไตยมันไม่ใช่ว่าเพราะมันเกิดขึ้นแล้วจะอยู่อย่างสมบูรณ์แบบ และคงอย่างถาวร แต่เป็นสิ่งที่คนทุกรุ่นอาจจะต้องพยายามรักษาหรือสร้างให้มันมีอยู่

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ: “ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ มันเป็นสมบัติของทุกคน คือเราสามารถเรียนรู้บทเรียนจากประเทศอื่นได้ โดยเราไม่จำเป็นต้องสูญเสีย” ผมคิดว่าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมันซ้ำรอยเสมอ เราก็ไปดูสิว่าการเปลี่ยนแปลงในยุโรปบางประเทศ ทำไมถึงเป็นอย่างที่เราเห็น และทำไมถึงแบบบางประเทศถึง peaceful ทำไมญี่ปุ่นถึงปฏิรูปประเทศได้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำไมสหราชอาณาจักรเปลี่ยนแปลงแบบหนึ่ง ฝรั่งเศสเปลี่ยนแปลงแบบหนึ่ง สหภาพโซเวียตเปลี่ยนแปลงแบบหนึ่ง มีเหตุปัจจัยและบริบทไม่เหมือนกันเลย

แต่ว่าถ้าผมมองเมืองไทย ผมมองค่อนข้างไปทางบวกว่าโดยพื้นฐานประเทศไทยมีความพร้อมบางเรื่องที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ แล้วก็สามารถเปลี่ยนแปลงที่เป็น Reform หรือ การปฏิรูปที่มันเปลี่ยนผ่านได้อย่างไม่ต้องสูญเสีย และเรามีประสบการณ์ในประวัติศาสตร์หลายครั้งแต่ว่ามันจะมีจุดผิดพลาด อย่างในกรณี 2475 มันก็ชัดเจนว่ามันเป็น peaceful revolution ซึ่งต่างประเทศก็งงว่ามันเปลี่ยนแปลงโครงสร้างขณะนี้ ไม่เห็นมีการนองเลือดเลย แต่การนองเลือดมันเกิดขึ้นในภายหลัง มันเกิดตอนปี 2476 กบฏบวรเดช แต่ว่าตอนเปลี่ยนแปลงมันไม่ได้รุนแรงอะไรมาก

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง: ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงมีเป็นประจำ และมีเสมอ จะช้า จะเร็ว แต่สิ่งหนึ่งก็คือถ้าเราเคยฟังคำพูดว่า “ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน” แสดงว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา สิ่งหนึ่งก็คือเกิดจากความชะล่าใจ หรือ การเอาเปรียบ การดูถูก

วันนี้สิ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนที่สุดในช่วง covid-19 คือ รัฐบาลขยายอาณาจักรมาตลอด พยายามขยายรัฐไปยึดที่ต่างๆ เป็นเรื่องการปกครองส่วนภูมิภาค จนทำให้โครงสร้างของประเทศเราพิกลพิการ ประชาชนมีความอ่อนแอมาก คือ จริงๆ แล้วถ้าต้องการแค่อำนาจบริหารสร้างระบบรัฐราชการงบประมาณจาก 3.1 ล้านล้าน 2.4 - 2.5 ล้านล้านเป็นเงินเดือนและเงินจ่ายประจำหมด คือ ประชาชนต้องเสียเงิน เอามาให้รัฐและรัฐก็ไปใช้ถึง 74 - 75 เปอร์เซ็นต์ เพื่อความมั่นคงมั่งคั่งของรัฐ โดยปล่อยให้ประชาชนอยู่ลำบาก และวันนี้พอประชาชนตื่นรู้ ผมเชื่อว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้รัฐจะต้องอยู่ในสภาพที่กำลังหากินกับคนยากคนจน สูบเลือดจากประชาชน เอาเปรียบประชาชน และให้คนกลุ่มหนึ่งที่ร่ำรวยมีความสุข มีอย่างที่ไหนในช่วง covid-19 ถ้าท่านไปดูตลาดหุ้น ท่านก็จะเห็นว่าตลาดหุ้นก็ยังไม่มีอะไร แต่คนระดับรากหญ้าได้รับผลกระทบเยอะ

วันนี้ที่ดินในประเทศที่เป็นเอกสารสิทธิ์มีคนมีโฉนด 13 ล้านคน จากคน 60 กว่าล้านคน และประมาณ 12 ล้านคนที่ 1 ไร่ถึง 5 ไร่เหลืออีกประมาณ 5 แสนล้านเป็นที่จำนวนมาก เราไปกระจุกตัวเพราะเราไม่เคยมองประชาชนอยู่ในหัวใจ วันนี้ประชาชนต้องตื่นรู้จาก covid-19 ก็ดี จากเทคโนโลยีก็ดี ผมเชื่อว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงเร็ว การเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุด คือ ความมั่นคงของมนุษย์ ต้องเป็นความมั่นคงของชาติ ไม่ใช่ความมั่นคงของรัฐ การเปลี่ยนแปลงจะเร็วมาก และทุกคนก็จะตื่นรู้ แม้แต่เหตุการณ์การใช้ความรุนแรง จะต้องมีการถูกบันทึกและการเรียนรู้ ผมจึงเชื่อในกฎการเปลี่ยนแปลง แล้วส่วนเวลาเมื่อไหร่จริงๆ แล้วเขาสร้างโครงสร้างอำนาจว่าเขาจะนิรันดร์ แต่ว่าผมเชื่อว่าสิ่งที่เขาสร้างว่าจะพุ่งมาทำร้ายเขาเอง

พลโท ดร.พงศกร รอดชมภู: มี 2 ประเด็นอย่างที่ เกเบรียล อัสมัน พูดว่า “ประชาชนมีความตื่นตัว มีส่วนร่วมทางการเมือง โอกาสที่จะเป็นประชาธิปไตยสูงมาก” 2 คือเศรษฐสังคมเราเปลี่ยนมาเยอะแล้ว ผมเชื่อว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในเวลาอันใกล้นี้  และอาจจะเป็นสันติด้วยซ้ำไป ที่เราสามารถที่จะไปสู่ประชาธิปไตยได้ ปัญหามีอยู่นิดเดียว ก็คือว่าเราต้องเตรียมตัวให้พร้อมตั้งแต่บัดนี้ ที่เราอยู่สังคมประชาธิปไตยที่ทุกคนอยู่ร่วมกันโดยไม่สร้างปัญหาในการทะเลาะเบาะแว้งกัน

ประวิตร โรจนพฤกษ์:  เวลาก็ล่วงเลยมามากแล้ว ผมขอให้ทุกท่านสรุปกันท่านละ 1 นาที สรุปฝากอะไร 1 นาที ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการครบรอบ 45 ปี 6 ตุลาคมจะฝากถึงทางรัฐก็ได้หรือคุณประยุทธ์ หรือประชาชน

อังคณา นีละไพจิตร: ดิฉันคิดว่าสันติวิธีเป็นเครื่องมือของคนที่ไร้อำนาจในขณะเดียวกัน คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็ไม่สมควรที่จะผูกขาดคำว่าสันติวิธีโดยใช้คนเดียว เพราะว่าวันนี้เรามองเห็น อย่างกรณีของเจ้าหน้าที่ตำรวจแถลงการณ์ทีไร ก็จะบอกว่าตัวเองใช้สันติวิธี แต่แล้วกลับมีการใช่กำลังอย่างเป็นสัดส่วน คือ พูดแบบนี้มาตลอด ขณะเดียวกันกับผลักให้ประชาชน โดยเฉพาะกรณีดินแดง ทำให้เราเห็นว่ากรณีเยาวชนที่ดินแดงถูกหาว่าให้เป็นคนที่ไม่ได้ใช้สันติวิธี ทั้งที่คนดินแดน เยาวชนที่ออกมาเป็นคนที่น่าจะเป็นกลุ่มเปราะบางมากๆ และเป็นคนที่สังคมควรจะเข้าไปให้ความสนใจ

เขาเหล่านั้นเป็นคนที่ใช้แรงงานให้คนกรุงเทพฯ อยู่ได้ สิ่งที่เวลาที่ตำรวจทำ เอาคอนเทนเนอร์มาตั้งแล้วก็บอกว่าตำรวจเป็นของประชาชน (คนดี) อันนี้ก็เป็นสิ่งทำให้เราเห็นว่าคนที่เลือกปฏิบัติไม่ใช่ประชาชนแต่เป็นรัฐ ดิฉันอยากจะฝากเตือนไปทางรัฐบาล และดิฉันคิดว่ากรณี 6 ตุลาฯ ทำให้เราเห็นถึงการใช้สันติวิธีของนิสิตนักศึกษาในสมัยนั้น และเราเห็นว่าใครเป็นผู้ที่ใช้ความรุนแรง ดิฉันก็คิดว่ามันน่าจะเป็นบทเรียนได้รัฐเองก็สมควรที่จะรับฟัง

ชานันท์ ยอดหงษ์: การเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือ การสร้างประชาธิปไตยเป็นขบวนการจึงใช้ระยะเวลานาน ถ้าเราเทียบกันในปีเหตุการณ์เดือนตุลาฯ ก็ใช้เวลาหลายปีกว่าจะมาถึง 14 ตุลาฯ ได้ และสุดท้ายก็ถูกทำลายด้วย 6 ตุลาฯ ใช่ไหมครับ เช่นเดียวกัน ถ้าเปรียบเทียบกับขบวนการเคลื่อนไหวปัจจุบันเพิ่งเริ่มต้นปี 2563 ปีนี้ก็ปีกว่า มันเป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งเป็นการเริ่มต้นที่ก้าวกระโดดมากๆ เพียงแค่นี้ก็เห็นแล้วว่าเราสามารถทำลายเพดานที่ผ่านมาได้เยอะมากๆ เลย และเป็นสิ่งที่ดีใจ แล้วก็มีความหวังมากขึ้นกับประเทศประชาธิปไตยว่าเราจะเห็นประชาธิปไตยจริงๆ สักทีหนึ่ง ซึ่งเป็นกระบวนการที่เราเคลื่อนไหวไปด้วยกันและเราก็เฝ้ารอไปด้วยกันนะครับ

ดร.พิเศษ สอาดเย็น: ส่วนของผม คือ กระบวนการยุติธรรม ผมคิดว่าก็จะมีส่วนที่สอดคล้องกับที่วิทยากรหลายท่านพูด ก็คือว่ามันสัมพันธ์กับเงื่อนไข บริบทสังคม และที่จะเป็นคำตอบได้ส่วนหนึ่ง คือ ประชาชน

อยากจะชวนให้มองว่ากระบวนการยุติธรรมนั้นเป็นกลไกหนึ่งของรัฐ แต่ก็เป็นกลไกรัฐที่ทำออกแบบมาเพื่อดูแลประชาชน และจริงๆ แล้ว บทบาทของประชาชนในการที่จะทำความเข้าใจ และก็จะติดตาม ตรวจสอบ เรียนรู้การทำงานของกลไกนี้ เสมือนกับว่าเป็นกลไกที่ประชาชนของเจ้าของด้วย มีความสำคัญอยู่ อาจจะต้องไม่ไปคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ไกลตัว แล้วก็ซับซ้อนและเป็นของทางกฎหมาย แต่ต้องชวนมองใหม่ว่าด้วยความยุติธรรมมันเป็นเรื่องของทุกคน ถ้าเรามีมุมมองแบบนี้ ผมเชื่อว่ามันจะทำให้การทำงานของกระบวนการนี้อยู่ในสายตาของสังคม แล้วก็มุ่งที่จะแสดงความรับผิดชอบประชาชนมากขึ้น แล้วก็มีประโยชน์ต่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรมในระยะยาวด้วย ขอบคุณครับ

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง: วันนี้เราได้มาพูดถึงผู้ที่เสียสละ ผมคิดว่าอุปการะคุณของนักต่อสู้เสรีชนที่ได้มาเรียกร้องจนท่านได้เสียชีวิต แล้วก็มีครอบครัวได้รับผลกระทบ วันนี้อย่างน้อยที่สุดในเวทีของพวกเรา เราก็มาพูดถึงเรื่องของความเสียสละ พูดถึงคุณค่าและผมยังคิดว่าหลังจากนี้ สมาชิกที่อยู่ในนี้กับคนไทยทุกคนจะต้องมีการมุ่งมั่น เพื่อทำให้ประเทศไทยเรา

เราเชื่อมั่นในว่าในการแก้ปัญหาของชาติ แก้โดยเผด็จการ หรือแก้โดยระบบอุปถัมภ์ ไม่ได้ เราต้องทำอย่างไรที่จะปลดปล่อยให้คนไทยได้ใช้สติปัญญาความรู้ความสามารถ คือความเป็นประชาธิปไตย เราจะสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศชาติได้ วันนี้เราก็ถือว่าได้ร่วมสดุดี และสิ่งที่ทุกท่านได้อุทิศให้ อย่างน้อยก็มีการเดินทางไปข้างหน้า ผมคิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่มันเริ่มต้นมาแล้วและเริ่มต้นต่อไปที่จะทำให้บ้านเมืองมาสู่ประชาธิปไตย ขอบคุณมากครับ

พลโท ดร.พงศกร รอดชมภู: ประชาชนต่อสู้กับรัฐมานานแล้ว และประชาชนอยากได้เสรีภาพของเขา ซึ่งจะต้องมาตามความเปลี่ยนแปลง สิ่งแวดล้อมของไทยตอนนี้พร้อมที่จะเป็นประชาธิปไตยเต็มที่แล้ว ผมมองเห็นว่าจะเป็นอย่างนั้น มีอย่างเดียวคือประชาชนจะต้องยืนอยู่บนข้อมูลของหลักการและเหตุผล และสู้ด้วยความสุขุม สร้างความชอบธรรมให้มากที่สุดเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย

ผมก็ยังยืนยันว่า เราทำแบบสันติไปก่อนให้ได้ความชอบธรรม และถ้าเกิดเขาใช้กำลังเราค่อยว่ากัน ตรงนั้นเราก็สามารถต่อสู้แบบไม่สันติได้ ไปเขียนรัฐธรรมนูญเลยให้ประชาชนต่อสู้ได้โดยถูกกฎหมายแต่แรก ทหารไทยถอยเลย ฝากไว้เท่านี้ ขอบคุณครับ

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ: ต้องขอขอบคุณวิทยากรทุกท่านที่ได้สละเวลามาแสดงความคิดเห็นที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ก็ถือว่าเป็นการให้แนวทาง ให้สติปัญญากับสังคมไทยที่จะขับเคลื่อนต่อไป ไปสู่สังคมซึ่งเป็นธรรมมากขึ้น เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ประชาชนมีความเป็นเจ้าของประเทศ แต่ว่าการรณรงค์หรือการทำกิจกรรมหรือการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งให้ได้เป็นประเทศประชาธิปไตย และเป็นของประชาชน คงต้องใช้เวลา แล้วเรายิ่งถ้าเรายึดมั่นในแนวทางสันติวิธี ก็ยิ่งต้องใช้เวลาใหญ่ ถ้ามันไม่จบที่รุ่นเรา ก็เป็นลูกเราหลานเรา เราอย่าสิ้นความหวังเท่านั้นเอง 

 

ที่มา: เสวนาออนไลน์ PRIDI Talks #13 รำลึก 45 ปี 6 ตุลาฯ “จากทุ่งสังหารถึงสำนักงานตั๋วช้าง” ตำรวจ-ทหาร กองทัพของราษฎร, จัดขึ้น ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2564