ประเทศไทยเคยเกิดวิกฤตการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้างมาแล้วหลายครั้งหลายหน แต่ก็รอดพ้นมาได้จากบทเรียนและความร่วมมือร่วมใจของคนในชาติ หัวใจสำคัญที่นำพาให้ประเทศฝ่าวิกฤตไปได้ ก็คือนโยบายและมาตรการของรัฐ ที่จะต้องตอบสนองต่อวิกฤตินั้นอย่างมีประสิทธิภาพ และทำทุกอย่างให้อยู่ในภาวะปกติ โดยยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง
ประชาชนจะอยู่ได้ ก็ต้องมีงานทำ มีการหมุนเวียนของเงินตรา ประเทศจึงเดินต่อได้ ถึงแม้รัฐจะต้องเป็นหนี้ โดยการกู้เงินมาเพื่อทำนุบำรุงและบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชนในทางเศรษฐกิจก็ตาม แต่ก็เป็นแค่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง เมื่อวิกฤติผ่านพ้นไป เศรษฐกิจก็จะกลับมาดีขึ้นในที่สุด
ในอดีต มาตรการหนึ่งที่รัฐเคยใช้ในการหาเงินทุนมาแล้วหลายครั้ง ก็คือการออกพันธบัตรให้คนมากู้เงินในราคาถูก เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนช่วยชาติในยามคับขัน ถือเป็นความร่วมมือร่วมใจช่วยเหลือกันของรัฐและประชาชน อย่างเช่น การออกพันธบัตรเงินกู้ ในปี พ.ศ. 2483 และ พ.ศ. 2485 ที่จะกล่าวถึงนี้
หากย้อนกลับไปดูวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งที่ประเทศไทยเคยผ่านมา ก็คือ สงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การสูญเสียชีวิต ทำให้แรงงานลดลง การสูญเสียแหล่งผลิตต่าง ๆ รวมทั้งทรัพยากร และการเกิดภาวะเงินเฟ้อ ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งรัฐบาลต้องรับผิดชอบและมีพันธะผูกพันหลายอย่างที่เกิดขึ้นจากสงคราม อีกทั้งยังต้องใช้เงินฟื้นฟูบูรณะประเทศภายหลังสงครามให้กลับสู่ภาวะปกติ การออกพันธบัตรจึงเป็นการนำเงินไปชดเชยค่าใช้จ่ายดังกล่าว
หลังจากที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผลักดันให้มีการจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทยได้สำเร็จ ในปี พ.ศ. 2481 ก็หาเงินทุนแก่รัฐบาลด้วยการออก “บัตร์ช่วยชาติและพันธบัตรเงินกู้ช่วยชาติ พ.ศ. 2483” ซึ่งเป็นตราสารทางการเงินที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกู้เงินช่วยชาติ พ.ศ. 2483 และกฎกระทรวง ลงวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2484 เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายชดเชยงบประมาณประจำปี 2484 ในช่วงสงครามอินโดจีน ซึ่งต้องมีการใช้จ่ายเงินมากกว่าปกติ เป็นการเปิดโอกาสให้ราษฎรได้ช่วยชาติโดยการให้กู้เงิน มีวงเงินรวม 10,000,000 บาท แบ่งเป็น
- บัตร์ช่วยชาติ เป็นบัตรชนิดออกให้แก่ผู้ถือเพื่อเปลี่ยนมือได้สะดวก มีอายุ 10 ปีนับแต่วันขาย รัฐบาลจะรับซื้อคืนดังราคาต่อไปนี้
- บัตรช่วยชาติราคา 5 บาท ซื้อคืนในราคา 6 บาท
- บัตรช่วยชาติราคา 10 บาท ซื้อคืนในราคา 12 บาท
- บัตรช่วยชาติราคา 20 บาท ซื้อคืนในราคา 24 บาท
- พันธบัตรเงินกู้ช่วยชาติ เป็นบัตรชนิดลงทะเบียน อายุ 7 ปี ราคาขายหน่วยละ 100 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี
เมื่อประเทศไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง ราษฎรได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากภาวะสงคราม รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม พยายามช่วยแก้ปัญหาโดยรณรงค์ส่งเสริมให้ราษฎรทำสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ และมีการจัดประกวดเพื่อส่งเสริมการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ และการค้าเบ็ดเตล็ด ผู้ที่ส่งเข้าประกวดจะได้รับบัตรช่วยชาติ ซึ่งมีการโฆษณาชักชวนเพื่อรางวัลดังนี้
“...บัตรนี้เป็นบัตรเกียรติยศ เอาไว้ติดประดับบ้านว่าในยามคับขันนี้ เราผู้เป็นพลเมืองดีก็มีส่วนช่วยชาติ เลขที่ในบัตรทุกๆบัตร จะกลายเป็นเลขเสี่ยงโชครับรางวัลชั้นต่างๆ ยิ่งใครประกวดหลายประเภทก็ยิ่งมีโอกาสที่จะถูกสลากรางวัลมากขึ้น...” (หจช.สร.0201.18.1/4 “เรื่องบทสนทนาระหว่างนายมั่นกับนายคง แสดงวิทยุกระจายเสียง เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485”)
พันธบัตรทองคำ ราคา 50 บาท ภาพจากธนาคารแห่งประเทศไทย
ต่อมามีการออกพันธบัตรเงินกู้ พ.ศ. 2485 หรือ ”พันธบัตรทองคำ” เป็นพันธบัตรที่ออกตามพระราชบัญญัติกู้เงินในประเทศ พ.ศ. 2485 และกฎกระทรวง (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2486 เพื่อนำเงินไปชดเชยเงินคงคลัง เนื่องจากเงินเฟ้อที่สูงและภาระค่าใช้จ่ายจากสงครามโลกครั้งที่สอง ตราสารหนี้ชนิดนี้ เป็นการระดมทุนจากประชาชน วงเงินรวม 30,000,000 บาท โดยแบ่งการจำหน่ายเป็น 4 รุ่น ตามราคาหน้าบัตรดังนี้
- ราคา 50 บาท จำนวน 40,000 ฉบับ
- ราคา 100 บาท จำนวน 10,000 ฉบับ
- ราคา 1,000 บาท จำนวน 10,000 ฉบับ
- ราคา 10,000 บาท จำนวน 1,700 ฉบับ
พันธบัตรนี้มีอายุ 8 ปี ไถ่ถอนคืนตามราคาที่ตราไว้ หรือจะขอรับชำระเป็นทองคำก็ได้ ในอัตราทองคำบริสุทธิ์ กรัมละ 5.78 บาท ซึ่งการเลือกไถ่ถอนเป็นทองคำนี้เป็นที่มาของคำว่า “พันธบัตรทองคำ” ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
ในสถานการณ์ปัจจุบัน หากรัฐบาลจะมีการออกพันธบัตรกู้เงินในประเทศราคาถูก เพื่อรัฐจะนำเงินไปทำนุบำรุงเศรษฐกิจและช่วยเหลือประชาชนเหมือนในอดีตบ้าง ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม
เกร็ดเรื่องค่าเงิน
ในหนังสือ นานาอาชีพโบราณ พ.ศ.2475 บันทึกไว้ว่า “...ในขณะนั้นปลาทูเข่งละ 4 ตัว ราคา 3 อัฐ 1 สตางค์เท่ากับ 8 อัฐ 1 บาทก็ 800 อัฐ… อาชีพขายก๋วยเตี๋ยว...สมัยก่อนชามละ 2 สตางค์ จะใส่หมูต้มพร้อมตับเป็นพิเศษ ค้าขายที่โรงเรียนต้องชามละ 1 สตางค์.... อาชีพขายหนังสือพิมพ์...หนังสือพิมพ์รายวัน เช่น สยามราษฎร์ ศรีกรุง หลักเมือง ขายฉบับละ 3 สตางค์...”
เอกสารอ้างอิง
- ธนาคารแห่งประเทศไทย
- พรบ.กู้เงินช่วยชาติ พ.ศ.๒๔๘๓, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม ๕๘, ตอน ๐ก, หน้า ๑-๓
- กฎกระทรวงการคลัง พ.ศ.๒๔๘๓, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม ๕๘, ตอน ๐ก, หน้า ๕๙-๖๗
- ประเทศไทย เรื่องการได้ดินแดนคืน, กองโฆษณาการ, งานฉลองรัฐธรรมนูญ ๒๔๘๔, หน้า ๑๓๖