ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ปาฐกถาเรื่อง “ตำรวจชาวนา” ในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ (๑๙๒๓) โดยนักศึกษากฎหมาย ปรีดี พนมยงค์

5
พฤษภาคม
2563

เกริ่นนำ

เนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ ๗๘ แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี พ.ศ.๒๕๕๕ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยหอจดหมายเหตุและหอประวัติศาสตร์เกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดพิมพ์เอกสารอันทรงคุณค่าเล่มหนึ่งขึ้นเพื่อการนี้ กล่าวคือ หนังสือ “๗๘ ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ.๒๔๗๗-๒๕๕๕) มองธรรมศาสตร์ผ่านเอกสารจดหมายเหตุ” ซึ่งตามวัตถุประสงค์ที่ได้ยกขึ้นเป็นชื่อหนังสือข้างต้น เป็นการนำรูปภาพ ภาพถ่าย เอกสารในรูปแบบต่าง ๆ ที่จัดเก็บในคลังเอกสารหอจดหมายเหตุมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวของสถาบันแห่งนี้ นับแต่เวลาก่อนการสถาปนาในปี พ.ศ.๒๔๗๗ เล็กน้อยไปจนถึงวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๕

เนื่องจากหนังสือเล่มนี้เป็นเอกสารชิ้นแรกที่ได้จัดพิมพ์ออกสู่สาธารณะภายหลังที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับมอบเอกสารส่วนบุคคลจากทายาท ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย ฯ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕[1] อาจารย์ สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ บรรณาธิการและคณะผู้จัดทำ จึงได้นำเอกสารส่วนบุคคลบางชิ้นที่ได้รับมอบดังกล่าวมาจัดพิมพ์ประกอบเอกสารอื่น ๆ เป็นครั้งแรกด้วยเช่นกัน

เอกสารส่วนบุคคลของผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย ฯ ที่นำมาจัดพิมพ์ในตอนต้นของหนังสือ (หน้า ๘-๑๖)   ได้แก่ ๑) บัตรประจำตัวนักศึกษามหาวิทยาลัยปารีส (หน้า ๘) ซึ่งมีรูปถ่ายของนายปรีดี พนมยงค์ พร้อมลงลายมือชื่อแสดงให้เห็นการเปลี่ยนตัวสะกดชื่อสกุลจากเดิม Bhanomyonka มาเป็น Banomyong โดยมีข้อความระบุด้วยว่า เปลี่ยนแปลงตัวสะกดดังกล่าวในวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๘ (ค.ศ.๑๙๒๕) และที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้น ได้แก่ ๒) สมุดบันทึก (หน้า ๙-๑๖) ซึ่งมีข้อความบนปกเป็นภาษาจีน[2] ใต้รูปภาพและใต้ข้อความภาษาจีนนั้นยังมีข้อความลายมือเขียนของนายปรีดี พนมยงค์ว่า “หัวข้อสังคมของอัตโนตั้งแต่บทที่ ๑๐”[3]

ในเอกสารชิ้นที่ ๒ นี้เองที่ผู้เขียนจะหยิบยกประเด็นที่เป็นหัวข้อบทความของผู้เขียนมาสืบค้นข้อมูลและทำความเข้าใจเป็นลำดับไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อความที่ปรากฏอยู่ใน “บทที่ ๑๑ การเรียนในฝรั่งเศส”

จากภาพสมุดและเนื้อหาที่ยกมาข้างต้น มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ในข้อความลายมือเขียน ๔ บรรทัดสุดท้ายของหน้า ๑๑ ในที่นี้ ผู้เขียนจะพยายามถอดความจากต้นฉบับเท่าที่จะสามารถกระทำได้ หากข้อความใดที่ปรีดีได้โยงเพิ่มเติมเข้าไว้ ก็จะใส่ข้อความเหล่านั้นไว้ใน < … > และผู้เขียนจะแทรกข้อความใน [ … ] บางแห่ง เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

ปลายปี 1922 พ.ศ. (2465) เรียนปีที่ ๒    มิถุ [นายน] < 1923 ([๒๔]๖๖) > สอบได้เกียรตินิยมดี < มากนั้นมีกฎหมายใน [ข้อความไม่ชัดเจน] และประกาศนียบัตรรวมอยู่ด้วย > และรางวัลชมเชยในการทำปาฐกถาเรื่องตำรวจชาวนา < ใน [ข้อความไม่ชัดเจน] หลายวิชาที่ได้ > ได้ปริญญาบาเชอ [ลิ] เอร์ อองดรัว < (Bachelier en Droit) หลักสูตรสมัยนั้น ถ้าเปนตามสิทธิของคน ฝ[รั่งเศส]. มีสิทธิทำหน้าที่ทางกฎหมายได้บางประการ >

เสร็จ หยุดหน้าร้อนไปอังกฤษ พักใก บริเวณใกล้กับเมืองทอกี (Torguaj)

ข้อความที่ได้จากลายมือเขียนข้างต้น เมื่อพิจารณาประกอบกับระบบการศึกษานิติศาสตร์ของฝรั่งเศสในขณะนั้น[4]ย่อมแสดงว่า ปรีดีเข้าศึกษาวิชานิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยกอง (Caen)[5] ซึ่งเป็นหลักสูตรการศึกษาเพื่อรับปริญญาของรัฐชั้นที่ ๑ เรียกว่า บาเชอลิเอร์ ออง ดรัว (Bachelier en Droit) โดยตามหลักสูตรชั้นแรกนี้ จะต้องศึกษารายวิชาที่กำหนดเป็นเวลา ๒ ปีจึงจะสำเร็จการศึกษา ดังนั้น เมื่อสิ้นปีการศึกษาที่ ๑ แล้ว ปรีดีจึงศึกษารายวิชาตามหลักสูตรในปีการศึกษาที่ ๒ จนกระทั่งสอบไล่ผ่านตามเกณฑ์ของหลักสูตรในเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๖ พร้อมทั้งได้รับคำนิยม (mention) “ดีมาก (Très bien)” ก่อนที่จะเข้าศึกษาตามหลักสูตรเพื่อรับปริญญาของรัฐชั้นที่ ๒ ซึ่งเรียกว่า ลิซองสิเอ ออง ดรัว (Licencié en Droit) ในปีการศึกษาที่ ๓ เป็นลำดับต่อไป

นอกจากจะสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรชั้นที่ ๑ แล้ว จะเห็นว่า ปรีดีระบุในที่นี้ว่าได้รับ “รางวัลชมเชยในการทำปาฐกถาเรื่องตำรวจชาวนา” ด้วย

ประเด็นที่กล่าวถึงปาฐกถาเรื่องตำรวจชาวนานี้ ในภายหลังต่อมา แม้ปรีดีจะมิได้บันทึกลงไว้ในหนังสือ “ชีวประวัติย่อ” ของตนเองซึ่งตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๕๒๖ ทั้ง ๆ ที่เคยทบทวนความทรงจำในเรื่องนี้ไว้ดังปรากฏตามหลักฐานที่ผู้เขียนนำมาแสดงข้างต้น กรณีอาจเป็นไปได้ว่า ปรีดีเห็นว่า เป็นเพียงข้อเท็จจริงปลีกย่อยระหว่างการศึกษาที่ไม่สำคัญเท่าใดนัก หากจะเปรียบเทียบกับการบันทึกข้อเท็จจริงในเรื่องที่ตนเองสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรใดบ้างขณะที่ศึกษาอยู่ในประเทศฝรั่งเศส เช่นที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ “ชีวประวัติย่อ”[6] แต่ถึงกระนั้น ผู้เขียนกลับเห็นว่า ข้อเท็จจริงนี้มีความสำคัญในระดับหนึ่งทีเดียวที่จะแสดงให้เห็นความใฝ่ใจที่ปรีดีมีต่อเรื่องอื่น ๆ นอกเหนือจากการศึกษาวิชากฎหมายขณะที่ยังอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจะพยายามกำหนดประเด็นเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องปาฐกถานี้เป็นลำดับ

 

1. ตำรวจชาวนา คืออะไร[7]

ในปัจจุบัน ตำรวจชาวนา (La police des campagnes) มีฐานะเป็นหน่วยงานราชการมีชื่อเรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า เลอ การ์ด ช็องแป๊ต (Le Garde champêtre) สังกัดองค์กรปกครองท้องถิ่นของฝรั่งเศส[8] ภารกิจหลักของตำรวจชาวนา ได้แก่ การรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตเกษตรกรรมท้องถิ่น มีสายงานการบังคับบัญชาอยู่ภายใต้อำนาจของผู้ว่าการเมือง (Le Maire) และเป็นหน่วยงานหนึ่งของตำรวจท้องถิ่น (La police municipale) อีกทั้งยังเป็นหน่วยหนึ่งของกองกำลังรักษาความสงบแห่งชาติ (La Gendarmerie nationale) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เฉพาะในเขตท้องถิ่นชนบท[9]

เมื่อตรวจสอบพัฒนาการของตำรวจชาวนาในดินแดนฝรั่งเศสจนถึงปี พ.ศ.๒๔๖๖ (ค.ศ.๑๙๒๕)[10] ซึ่งเป็นปีที่ปรีดีหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นเป็นหัวข้อปาฐกถา เราอาจสรุปสาระสำคัญได้ว่า ตำรวจชาวนาเป็นหน่วยราชการที่มีหลักฐานการปรากฏตัวในดินแดนฝรั่งเศสมาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ ๑๐ โดยมักเรียกตำแหน่งกันในเวลานั้นว่า เมสสิเอร์ (Messier) ทั้งในบทบัญญัติกฎหมายหลายฉบับ[11] หรือแม้แต่ในจารีตประเพณีหลายเรื่องที่มีอยู่ในแว่นแคว้นการปกครองสมัยกลาง[12] มีภารกิจหลักในด้านการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในช่วงการเก็บเกี่ยวผลิตผลการเกษตรของเกษตรกร[13]

เมื่อผ่านเหตุการณ์การปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศสไม่นานนัก ในปี พ.ศ.๒๓๓๔/๑๗๙๑ สถานะของตำรวจชาวนาจึงมีลักษณะเป็นทางการมากขึ้น กล่าวคือ เป็นหน่วยราชการซึ่งปฏิบัติหน้าที่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายการเกษตร และในปี พ.ศ.๒๓๓๘/๑๗๙๕ มีกฎหมายกำหนดให้เป็นหน่วยงานที่จะต้องมีประจำอยู่ในท้องถิ่นทุกแห่งในฝรั่งเศส รวมไปถึงกำหนดคุณสมบัติต่าง ๆ ของผู้ที่จะเข้ามารับราชการในตำแหน่งนี้อย่างชัดเจน เช่น จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๕ ปีบริบูรณ์ สามารถอ่านและเขียนหนังสือได้ มีสุขภาพร่างกายผ่านเกณฑ์ที่กำหนด เป็นต้น

เมื่อก้าวเข้าสู่ต้นคริสตศตวรรษที่ ๑๙ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับแต่ปี พ.ศ.๒๓๖๓/๑๘๒๐ เป็นต้นมา สถานะการเป็นผู้รักษาความสงบเรียบร้อยในท้องถิ่นชนบทก็ยิ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างชัดเจน กล่าวคือ ในปี พ.ศ.๒๓๖๕/๑๘๒๒ กฎหมายรับรองให้ตำรวจชาวนาพกอาวุธปืนสั้นได้เช่นเดียวกับกองกำลังรักษาความสงบแห่งชาติ นอกจากนี้ ภารกิจของตำรวจชาวนายังขยายขอบเขตออกไปอย่างกว้างขวาง เช่น มีหน้าที่เพิ่มขึ้นในการตรวจตราการปลูกต้นไม้ (กฤษฎีกาฉบับปี พ.ศ.๒๓๕๔/๑๘๑๑) ยาสูบ (บทกฎหมายปี พ.ศ.๒๓๕๙/๑๘๑๖) เกลือ (บทกฎหมายปี พ.ศ.๒๓๖๐/๑๘๑๗) ตรวจตราการประมง (บทกฎหมายปี พ.ศ.๒๓๗๒/๑๘๒๙) ทางรถไฟ (บทกฎหมายปี พ.ศ.๒๓๘๘/๑๘๔๕) อีกทั้งมีอำนาจในลักษณะเดียวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยทั่วไป เมื่อพบเห็นการกระทำความผิดที่อยู่ในขอบข่ายงานที่ตนรับผิดชอบ เช่น การจับกุมและดำเนินคดีผู้ต้องหา เป็นต้น จนกระทั่งในราวปี พ.ศ.๒๔๒๗/๑๘๘๔ ปรากฏหลักฐานทางสถิติระบุว่า มีตำรวจชาวนา ๒๘,๕๘๙ นาย ทั่วดินแดนฝรั่งเศส

ครั้นถึงคริสตศตวรรษที่ ๒๐ ตำรวจชาวนาจึงกลายเป็นหน่วยงานรัฐประจำท้องถิ่นซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป[14]

ในที่นี้ ผู้เขียนจึงสันนิษฐานว่า สถานะและบทบาทของตำรวจชาวนาที่กล่าวโดยสังเขปข้างต้นนี้ย่อมจะเป็นข้อมูลที่ปรีดีน่าจะต้องทำความเข้าใจและจัดเตรียมล่วงหน้า เพื่อใช้เป็นหัวข้อในการกล่าวปาฐกถาในปี พ.ศ.๒๔๖๖/๑๙๒๓ ด้วยไม่มากก็น้อย

 

2. เพราะเหตุใด ปรีดีจึงเลือกหัวข้อตำรวจชาวนา

แม้ว่าจะมิได้ข้อมูลหรือหลักฐานอื่นใดอีกเลยใน “หัวข้อสังคมของอัตโนตั้งแต่บทที่ ๑๐” ที่จะแสดงว่า ปรีดีมีเหตุผลอย่างไรในการเลือกกล่าวปาฐกถาเรื่องนี้ก็ตาม แต่หากเราย้อนกลับไปพิจารณาถึงประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวปรีดีเองก่อนจะเดินทางมาศึกษาในประเทศฝรั่งเศส (ในปี พ.ศ.๒๔๖๓/๑๙๒๐) โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาของชาวนาที่ตนเองและบิดามารดาได้เคยประสบรับรู้มาก็น่าจะให้ร่องรอยได้พอสมควรว่า ความสนใจในเรื่องตำรวจชาวนาของปรีดีน่าจะเกิดจากสาเหตุใด

ระหว่างการให้สัมภาษณ์แก่ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ในวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๕ ปรีดีกล่าวถึงประสบการณ์ของตนเองในอดีตดังนี้

“ … ส่วนบิดาผมเลือกอาชีพทำนา จึงประสบชะตากรรมอย่างชาวนาซึ่งกระทบถึงความเป็นอยู่ของครอบครัว ผมประสบพบเห็นความอัตคัดของบิดามารดา และเมื่อไปอยู่กับบิดาก็พบเห็นความอัตคัดขัดสนของชาวนาทั่วไป ...”[15]

ปัญหาความอัตคัดขัดสนของชาวนาที่ปรีดีระบุข้างต้นนั้น จะเห็นจากคำให้สัมภาษณ์เองว่า มีอยู่ด้วยกันหลายประการ แต่หากพิเคราะห์เชื่อมโยงกับประเด็นเรื่องตำรวจชาวนาแล้ว ผู้เขียนเห็นว่า คำให้สัมภาษณ์ของปรีดีที่จะคัดมาต่อไปนี้ นับว่ามีนัยสำคัญอย่างยิ่ง

“ต่อมา ระหว่าง พ.ศ.๒๔๕๘-๕๙ ปรีดีได้ออกไปช่วยบิดาทำนาก่อนที่จะเข้าโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ... ปรีดีได้สัมผัสกับภาวะความเป็นอยู่ตามความเป็นจริง อันเป็นบทเรียนให้ปรีดีทราบความยากลำบากอัตคัดขัดสนของชาวนา อาทิ ... ๔.โจรผู้ร้ายชุกชุม เพราะมีคนมิจฉาชีพ ลักขโมยควายของชาวนา เพื่อเรียกค่าไถ่ ชาวนาก็ต้องกู้เงินมาไถ่ซึ่งเป็นการเพิ่มหนี้สินของตน ทางราชการก็ไม่สามารถช่วยได้ ...[16] ๘. ความอัตคัดขัดสนของชาวนามีอีกมากมายหลายประการ ที่แสดงว่าชาวนาไม่ได้รับความช่วยเหลือจากทางราชการ แต่ชาวนาก็มีภาระที่ต้องเสียเงินรัชชูปการ ถ้าไม่มีเงินเสียก็ต้องถูกเกณฑ์ไปทำงาน ประมาณปีละ ๑๕-๓๐ วัน และต้องเสียอากรค่านา ปรีดีจึงพูดกับชาวนาว่า ที่ผู้ปกครองบ้านเมืองกล่าวว่า ชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาตินั้น ก็พูดไปโดยตนเองไม่เห็นนั่นเองว่า ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังหัก ...”[17]

อนึ่ง ปรีดีได้ย้อนกลับมากล่าวถึงประสบการณ์ระหว่างที่ยังศึกษาในประเทศฝรั่งเศสด้วยว่า “... ต่อมา ผมได้เรียนจากสถานศึกษาสูงขึ้นตามลำดับแล้ว ได้ไปศึกษาต่อที่ในประเทศฝรั่งเศส จึงได้ประสบพบเห็นสภาพการเศรษฐกิจและการเมืองของสังคมไทยและสังคมต่างประเทศมากขึ้นตามลำดับ ...”[18]

จากคำให้สัมภาษณ์ข้างต้น ผู้เขียนมีข้อสังเกต ๒ ประการ กล่าวคือ ประการแรก ปรีดีเน้นย้ำหลายครั้งในที่นี้ว่า ชาวนาไม่ได้รับความช่วยเหลือจากทางราชการแต่อย่างใดเลย แต่กลับมีภาระหนักในอันที่จะต้องเสียเงินให้แก่รัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว ทั้งเงินรัชชูปการและค่าอากรที่นา นี่ยังไม่รวมคำกล่าวที่ว่า “ปรีดีจึงพูดกับชาวนาว่า ที่ผู้ปกครองบ้านเมืองกล่าวว่า ชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาตินั้น ก็พูดไปโดยตนเองไม่เห็นนั่นเองว่า ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังหัก” ซึ่งแสดงให้เห็นความรู้สึกของปรีดีที่มีต่อปัญหาในเวลานั้นได้อย่างชัดเจน และประการต่อมา การมีโอกาสเดินทางไปศึกษา ณ ประเทศฝรั่งเศส เป็นเหตุให้ปรีดีสามารถทบทวนและเปรียบเทียบสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและการปกครองของประเทศสยามกับต่างประเทศได้ชัดเจนขึ้นด้วยเช่นกัน

โดยนัยนี้เอง หากปรีดีจำต้องยอมรับข้อเท็จจริงอันน่าเศร้าในขณะนั้นว่า เป็นเวลาเนิ่นนานเพียงใดแล้วที่ชาวนาในมาตุภูมิของตนเองไม่เคยได้รับความช่วยเหลือด้วยวิธีการใด ๆ จากผู้ปกครองเลย แต่เมื่อมีโอกาสได้พินิจพิเคราะห์เปรียบเทียบกับต่างประเทศโดยเฉพาะฝรั่งเศส (ทั้งนี้ เราอาจจะยังไม่ต้องอภิปรายกันก่อนเลยด้วยซ้ำไปว่า ตำรวจชาวนาในฝรั่งเศสจะปฏิบัติหน้าที่ในความรับผิดชอบของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่เพียงใด) เพียงการดูแลใส่ใจหรือการที่ผู้ปกครองฝรั่งเศสให้ความสำคัญแก่ชาวนาซึ่งเป็นพลเมืองร่วมชาติด้วยการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นเป็นการเฉพาะในรูปแบบ “ตำรวจชาวนา” ก็คงเป็นข้อเท็จจริงซึ่งสร้างความสนใจใคร่รู้แก่นักศึกษาหนุ่มปรีดีไม่มากก็น้อย ถึงขนาดได้ลงมือค้นคว้าและนำเสนอปาฐกถาจนได้รับรางวัลในที่สุด

 

3. นัยของรางวัลชมเชยที่ได้รับ

จากข้อมูลที่นำเสนอมาทั้งหมด ผู้เขียนมีความเห็นว่า แม้ปาฐกถาจะได้รับเพียง “รางวัลชมเชย” แต่ก็เป็นสิ่งที่ปรีดีเองคงภาคภูมิใจอยู่ไม่น้อย พอ ๆ กับความสำเร็จทางการศึกษาของตนเองในชั้น “บาเชอลิเอร์ ออง ดรัว (Bachelier en Droit)” พร้อมคำนิยม “ดีมาก” ในเวลานั้น เพราะการที่ปรีดีเจาะจงบันทึกเรื่องปาฐกถาและรางวัลที่ได้รับไว้ก็คงเป็นพยานยืนยันได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว[19]

นอกจากนี้ ยังมีข้อน่าคิดในแง่เนื้อหาปาฐกถาด้วยว่า รางวัลที่ได้รับนี้คงจะมิได้หมายถึงการประเมินเนื้อหาปาฐกถาอันเป็นผลจากการเก็บรวบรวมข้อมูลและเสนอเรื่องราวของตำรวจชาวนาฝรั่งเศสให้ผู้ฟังรับทราบแต่เพียงถ่ายเดียว เพราะหากปรีดีนำเสนอเนื้อหาในแง่มุมเดียวเช่นนั้น ผู้รับฟังปาฐกถาซึ่งเป็นศาสตราจารย์และนักศึกษาชาวฝรั่งเศสเองก็อาจจะเห็นว่าเป็นปาฐกถาที่ไม่น่าสนใจเท่าใดนักก็เป็นได้ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมจะต้องมีผลกระทบต่อการประเมินเพื่อให้รางวัลอยู่พอสมควร แต่การได้รับรางวัลเพียงระดับ “ชมเชย” เป็นเหตุจูงใจให้ผู้เขียนสันนิษฐานต่อว่า แม้เนื้อหาปาฐกถาอาจไม่ถึงระดับ “ดี” หรือ “ดีเยี่ยม” แต่ปรีดีก็น่าจะได้นำเสนอและให้ข้อมูลเพิ่มเติมบางประการนอกเหนือจากรายละเอียดในเรื่องตำรวจชาวนาซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวฝรั่งเศสในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ ๒๐ รับรู้กันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว

ดังนั้น ที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดในกรณีนี้ก็คือ ปรีดีอาจจะนำเสนอเรื่องตำรวจชาวนาฝรั่งเศสในลักษณะการค้นคว้าและนำเสนอข้อมูลเชิงเปรียบเทียบ โดยเพิ่มเติมในส่วนสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศสยามเท่าที่ตนได้เคยประสบมาแล้วนั่นเองเป็นสำคัญ และแม้ว่าจนถึงปัจจุบัน (เมษายน พ.ศ.๒๕๖๓) เราจะไม่พบหลักฐานหรือบันทึกเนื้อหาปาฐกถาหัวข้อ “ตำรวจชาวนา” ของปรีดีในปี พ.ศ.๒๔๖๖/๑๙๒๕ คราวนี้ว่า ปรีดีได้อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างไรบ้างก็ตาม แต่ก็น่าสนใจมิใช่น้อยว่า หากจะต้องเตรียมเนื้อหาในเชิงเปรียบเทียบดังกล่าว ปรีดีจะนำเสนอและเปรียบเทียบสภาพการณ์ของประเทศสยามและฝรั่งเศสไว้ในลักษณะเช่นไร

 

บทส่งท้าย

“ข้าพเจ้าไม่ใช่คนกรุงเทพ ฯ จึงรู้หัวอกคนบ้านนอกเป็นอย่างดี โดยได้รับความลำบากยากจน เพื่อนในหัวเมืองยังยากจนอีกมาก … ผู้ที่ไม่เคยประสบแล้ว จะรู้สึกได้อย่างไร สำรวจที่ไหนเจ้าหน้าที่ก็เตรียมผัดหน้าไว้รับ แม้ข้าราชการในกรุง ฯ ออกไปก็ไม่เห็นของจริงแท้ และทั้งตนเองก็สบาย ไม่เคยทุกข์ร้อนเหมือนชาวนาที่ทนทุกข์อยู่ในเวลานี้”[20]

“ ... ผมมีความคิดก่อนที่ได้มาศึกษาในฝรั่งเศสแล้วว่า จะต้องค้นคว้าศึกษาเพิ่มเติมว่า มีวิธีใดที่จะทำให้ความเป็นอยู่ของราษฎรดีขึ้น ...”[21]

ปาฐกถาเรื่องตำรวจชาวนาและรางวัลชมเชยที่ได้รับปี พ.ศ.๒๔๖๖/๑๙๒๓ คงเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ในชีวิตของปรีดี พนมยงค์ที่ชนรุ่นต่อ ๆ ไปอาจไม่เคยล่วงรู้เลยก็เป็นได้ ถ้าปราศจากเอกสารหลักฐานชิ้นสำคัญที่หอจดหมายเหตุและหอประวัติศาสตร์เกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นำมาจัดพิมพ์และได้อภิปรายมาในบทความนี้ แต่สำหรับนักศึกษาหนุ่ม ปรีดี พนมยงค์ ในเวลานั้น ผู้เขียนเชื่อว่า นี่คือประจักษ์พยานยืนยันอีกคราหนึ่งถึงความตระหนักแน่แก่ใจในปัญหาพื้นฐานที่สำคัญของชาติบ้านเมือง อีกทั้งยังได้ส่อให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างไม่เสื่อมคลายของรัตนบุรุษผู้นี้ในอันที่จะกล่าวเตือนตนเองและเพื่อนร่วมชาติร่วมมาตุภูมิในอนาคตอันใกล้ว่า สยามประเทศจักต้องเปลี่ยนแปลงในเร็ววัน และนี่คือหนทางข้างหน้าที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไป

 

หมายเหตุ

* เกี่ยวกับผู้เขียน ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

อ้างอิง

[1] สารจากอธิการบดี ใน ๗๘ ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ.๒๔๗๗-๒๕๕๕) มองธรรมศาสตร์ผ่านเอกสารจดหมายเหตุ, สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ บรรณาธิการ, พิมพ์ครั้งที่ ๑, กรุงเทพ ฯ : บ.อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, ๒๕๕๕, น.๗.

[2] แปลว่า “สมุดแบบฝึกหัด” อาจารย์ ชิตวร วราศิริพงศ์ อาจารย์สอนภาษาจีน ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ได้กรุณาช่วยแปลข้อความดังกล่าวให้ จึงขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้

[3] มีข้อความของบรรณาธิการซึ่งอธิบายไว้ด้านล่างว่า “สมุดบันทึก หัวข้อสังคมของอัตโนตั้งแต่บทที่ ๑๐ ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ ทบททวนชีวิตสมัยที่เรียนอยู่ในประเทศฝรั่งเศสและเขียนร่างนี้ขึ้นในช่วงปี พ.ศ.๒๔๙๐-๒๔๙๒ ขณะที่ลี้ภัยอยู่ที่ประเทศจีน”

[4] ผู้สนใจโปรดดู ปรีดี พนมยงค์, “การเรียนกฎหมายในประเทศฝรั่งเศสโดยย่อ เรียบเรียงตามกฎประธานาธิบดีและกฎเสนาบดี,” บทบัณฑิตย์, เล่ม ๔, ตอน ๘ (สิงหาคม ๒๔๖๘) : ๖๖๐-๖๗๗ ซึ่งเป็นบทความที่เขียนขึ้นก่อนสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกเพียง ๑ ปี.

[5] ให้ดู หัวข้อ ๕. การศึกษาในประเทศฝรั่งเศส ใน ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ (จนถึง ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๒๕), โครงการ “ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย” จัดพิมพ์, พิมพ์ครั้งแรก, กรุงเทพ ฯ : อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๖, น.๔.

[6]ปรีดี พนมยงค์, เพิ่งอ้าง.

[7] M. Bianchi, La police rurale en France, Online, janvier 2006, modifié août 2008, http://www.fpip-police.fr/SIPM/POLICE%20RURALE.pdf. ; ผู้สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของหน่วยงาน กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสถานภาพของตำรวจชาวนาในปัจจุบัน ให้ดูใน เว็บไซต์ Fédération nationale des Gardes Champêtre de France (F.N.G.C.) (สหภาพตำรวจชาวนาแห่งประเทศฝรั่งเศส), http://www.gardechampetre-fngc.fr.

[8] ศาลสูงของฝรั่งเศสเคยให้คำนิยามอำนาจหน้าที่ของตำรวจชาวนาว่า “เป็นอำนาจการรักษาความสงบเรียบร้อยประเภทหนึ่งของผู้ว่าการเมือง (Le Maire) ภายใต้การกำกับขององค์กรปกครองบริหาร ตามนัยมาตรา L 2212-1 แห่งประมวลกฎหมายองค์กรปกครองมณฑลท้องถิ่น (Le code des collectivités territoriales)”, M. Bianchi, ibid., p.1.

[10] ต่อไปข้างหน้า จะใช้วิธีการแสดงปีศักราชควบคู่กันไป คือ พุทธศักราช/คริสตศักราช เช่น ปี พ.ศ.๒๔๖๖/๑๙๒๕

[11] เช่น ประกาศลงวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๑๘๖๒/๑๓๑๙ ของพระเจ้าฟิลลิปที่ ๕ ระบุว่า “เมสสิเอร์ (Messier) และเจ้าหน้าที่ตรวจป่าพึงปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันโดยปราศจากคำติฉินนินทาภายในอาณาเขตที่ดิน ๕ แปลง” ใน Les premiers gardes champêtre, Histoire, http://fr.wikipedia.org/wiki/Garde_champ%C3%AAtre_en_France, 2015.

[12] เช่น จารีตประเพณีที่พระเจ้าฟิลลิปที่ ๔ ทรงออกประกาศ ลงวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ.๑๘๔๑/๑๒๙๘ ระบุว่า “บรรดาตำรวจชาวนาทั้งหลายที่เพรียบพร้อมในด้านชีวิตส่วนตัวและชีวิตทางสังคม ด้วยทรงไว้ซึ่งอำนาจจับกุมเหล่าผู้ก่อเหตุร้ายทั้งปวง จักต้องผูกพันตนอย่างเคร่งครัดต่อฝ่ายปกครองและตุลาการผู้แทนองค์กษัตริย์” Ibid.

[13] Ibid.

[14] Ibid.

[15] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, (ผู้สัมภาษณ์), ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, พิมพ์ครั้งที่ ๓, จัดพิมพ์เนื่องในการจัดงานในวาระครบรอบ ๑๑๐ ปี รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (พ.ศ.๒๔๔๓-๒๕๔๓), กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์, ๒๕๕๒, น.๔๑-๔๒.

[16] ปรีดีให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ตนเองและบิดาก็ต้องเผชิญปัญหาในเรื่องเดียวกันนี้ กล่าวคือ “ ... บิดาผมมีควาย ๕-๖ ตัว ผมยังจำได้ว่าขโมยเอาไปหมดเลย ชาวนาจึงเดือดร้อนหลายอย่าง รวมทั้งถูกขโมยควาย ...” เพิ่งอ้าง, น.๔๕-๔๖. เน้นข้อความโดยผู้เขียนบทความ

[17] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, (ผู้สัมภาษณ์), อ้างแล้วเชิงอรรถที่ ๑๕, น.๖๔-๖๖. เน้นข้อความโดยผู้เขียนบทความ

[18] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, (ผู้สัมภาษณ์), อ้างแล้วเชิงอรรถที่ ๑๕, น.๔๒. เน้นข้อความโดยผู้เขียนบทความ

[19] มีข้อสังเกตที่น่าสนใจอย่างยิ่งด้วยว่า ในบรรดางานเขียนที่ตีพิมพ์เผยแพร่แล้ว ปรีดีกลับไม่เคยกล่าวถึงเรื่องปาฐกถาและรางวัลที่ได้รับในระหว่างที่ยังศึกษาอยู่ในประเทศฝรั่งเศสนี้มาก่อนเลย จนกระทั่งหอจดหมายเหตุ ฯ ธรรมศาสตร์ได้นำหลักฐานชิ้นนี้มาเปิดเผยและจัดพิมพ์เป็นส่วนหนึ่งในหนังสือ “๗๘ ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ.๒๔๗๗-๒๕๕๕) มองธรรมศาสตร์ผ่านเอกสารจดหมายเหตุ” ดังกล่าว

[20] รายงานการประชุมกรรมานุการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจ (๑๒ มีนาคม ๒๔๗๕) ใน หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์), เค้าโครงการเศรษฐกิจ, พิมพ์ครั้งแรก, เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส (๑๑ พฤษภาคม ๒๔๔๓-๒๕๔๓), กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, ๒๕๔๒, น.๑๑๑.

[21] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, (ผู้สัมภาษณ์), อ้างแล้วเชิงอรรถที่ ๑๕, น.๘๓. เน้นข้อความโดยผู้เขียน