ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ปรีดี พนมยงค์ : กรณีปัญหาค่าพาหนะของข้าราชการตำรวจชั้นประทวน

17
เมษายน
2565

นายปรีดี พนมยงค์ มีความสนใจเกี่ยวกับตำรวจมาตั้งแต่ครั้งยังอายุน้อย เฉกเช่นได้ปรากฏหลักฐานในสมุดบันทึก หัวข้อสังคมของอัตโน บทที่ ๑๑ ว่า ขณะเขาเป็นนักเรียนวิชากฎหมายในประเทศฝรั่งเศส เคยค้นคว้าเรื่องของ “ตำรวจชาวนา” หรือ “Le Gardes Champêtres” ซึ่งเป็นตำรวจที่คอยดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตปกครองท้องถิ่น โดยเฉพาะเขตเกษตรกรรม และยังนำไปเป็นหัวข้อกล่าวปาฐกถาจนได้รับรางวัลชมเชย เมื่อปี ค.ศ. 1923 (ตรงกับ พ.ศ. 2466)

มูลเหตุที่ นายปรีดี สนใจถึงกลุ่มคนเยี่ยง “ตำรวจชาวนา” แห่งฝรั่งเศส  คงเพราะเขาเคยสัมผัสวิถีชีวิตอันยากเข็ญของชาวนาแห่งประเทศสยาม จึงไม่แปลก หากตอนได้รับทุนกระทรวงยุติธรรมไปร่ำเรียนวิชากฎหมายในต่างแดน เขาจะสนอกสนใจวิถีชีวิต “ชาวนาฝรั่งเศส”  เช่นกัน  นั่นย่อมเปิดโอกาสให้ นายปรีดี ต้องทำความรู้จักอีกอาชีพหนึ่งที่พ่วงมาด้วยอย่างพวกตำรวจท้องถิ่นผู้ปฏิบัติหน้าที่คอยดูแลชาวนาตามชนบท 

 

ตำรวจชาวนา หรือ Le Gardes Champêtres ในประเทศฝรั่งเศส ภาพจาก vieux-metiers-outils.forumactif.com
ตำรวจชาวนา หรือ Le Gardes Champêtres ในประเทศฝรั่งเศส
ภาพจาก vieux-metiers-outils.forumactif.com

 

ครั้น นายปรีดี สำเร็จการศึกษาจากฝรั่งเศสและหวนย้อนกลับคืนเมืองไทย เข้ารับราชการ ณ กระทรวงยุติธรรมพร้อมเป็นอาจารย์สอนโรงเรียนกฎหมาย จนได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม”  ภาระการงานด้านกฎหมายทำให้เขาคลุกคลีกับพวกนายตำรวจจำนวนไม่น้อยราย มิเว้นกระทั่งนายตำรวจผู้มาเป็นลูกศิษย์ที่โรงเรียนกฎหมาย เช่น พลตำรวจตรี พัฒน์ นีลวัฒนานนท์ ซึ่งสนิทสนมถึงขั้นเคยติดตามมา “กวดวิชา” ต่อยอดเพิ่มเติมที่บ้านป้อมเพชร์จนเลิกเรียนตอนมืดค่ำ

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 รัฐบาลคณะราษฎร พยายามสร้างความสัมพันธ์ให้แนบแน่นกับข้าราชการตำรวจ ยิ่งต่อมาพอ หลวงอดุลเดชจรัส (บัตร พึ่งพระคุณ) สมาชิกคณะราษฎรสายทหารบก ขณะเป็นผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ได้โอนย้ายมารับราชการตำรวจแทน โดยดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมตำรวจ ซึ่ง นายปรีดี เองก็มีความสนิทกับ หลวงอดุลฯ 

กระทั่ง หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ช่วงปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2476 (หากนับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับมีนาคม พ.ศ. 2477) กิจการตำรวจจึงอยู่ในความควบคุมดูแลของเขา

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 21/2477 (สามัญ) สมัยที่ 2 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477 (นับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478) ซึ่งเริ่มต้นประชุมเวลา 15.45 น. ดำเนินการประชุมโดยรองประธานสภาคนที่ 1 คือ พระเรี่ยมวิรัชชพากย์ (เรี่ยม ทรรทรานนท์) ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภา คือ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) สมาชิกเข้าประชุมทั้งสิ้น 107 ราย ก่อนจะพักการประชุมและเริ่มประชุมอีกครั้งเวลา 17.30 น. โดยรองประธานสภาคนที่ 2 คือ พระประจนปัจจนึก (พุก มหาดิลก) มาดำเนินการประชุมแทน เนื่องจากรองประธานสภาคนที่ 1 มีกิจธุระ

ช่วงหนึ่งระหว่างการประชุม นายพันตรีหลวงศักดิ์รณการ (นาก ปิตะเสน) สมาชิกผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ลุกขึ้นตั้งกระทู้ถามเรื่อง การจ่ายค่าพาหนะให้แก่ข้าราชการตำรวจชั้นประทวน มีความว่า

“ข้าพเจ้าขอตั้งกะทู้ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ดังต่อไปนี้ ข้าราชการตำรวจตั้งแต่ชั้นประทวนขึ้นไป ซึ่งมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าสถานีตำรวจ ถ้าทางราชการสั่งย้ายให้ไปรับราชการที่อื่น ท่านเหล่านี้ได้รับค่าพาหนะบรรทุกครอบครัว ส่วนข้าราชการตำรวจชั้นประทวนเช่นเดียวกัน แต่ไม่ใช่ชั้นหัวหน้าสถานี  เมื่อทางราชการสั่งย้ายไปรับราชการที่อื่น ท่านเหล่านี้หาได้รับค่าพาหนะสำหรับบรรทุกครอบครัวไม่  ซึ่งเป็นการเดือดร้อนแก่ผู้ที่มีรายได้น้อย และเป็นการไม่เสมอหน้ากันด้วย ข้าพเจ้าขอถามรัฐบาลว่า เพื่อความเสมอหน้าจะจ่ายเงินค่าพาหนะให้ข้าราชการตำรวจชั้นประทวนซึ่งย้ายไปรับราชการที่อื่นให้เหมือนกันทุกคน จะขัดข้องประการใดหรือไม่”

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี  ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงให้คำตอบทำนอง “รัฐบาลเห็นว่าควรที่จะให้เสมอหน้ากัน ระหว่างนี้กรรมการคลังกำลังพิจารณาวางหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ ”

หลวงศักดิ์รณการ คงซักต่ออีก

“รัฐบาลจะจัดให้ได้เร็วสักแค่ไหน  ขอทราบ เพราะเวลานี้ตำรวจชั้นผู้น้อยเดือดร้อนมาก ถ้าย้ายไปตามอำเภอไกลๆ ก็จะต้องควักกระเป๋าตัวเองออกเป็นค่าพาหนะเดินทาง”

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม แจกแจงว่า

“เรื่องนี้กระทบถึงหลายปัญหา และกระทรวงการคลังจะต้องสังคายนาข้อบังคับว่าด้วยค่าพาหนะ และเบี้ยเลี้ยงเดินทางโดยทั่วไป แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีความปรารถนาที่จะให้ได้รับความเสมอหน้ากัน”

 

นายพันตรีหลวงศักดิ์รณการ (นาก ปิตะเสน) สมาชิกผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์คนแรกสุด
นายพันตรีหลวงศักดิ์รณการ (นาก ปิตะเสน)
สมาชิกผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์คนแรกสุด

 

นายพันตรีหลวงศักดิ์รณการ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกสุดของจังหวัดบุรีรัมย์ ผู้ได้รับตำแหน่งมาจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกของเมืองไทยในวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ซึ่งอาศัยวิธีเลือกตั้งแบบทางอ้อม โดยประชาชนต้องเลือกตั้งผู้แทนตำบลก่อน จากนั้นผู้แทนตำบลที่ได้รับเลือกจะไปเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระดับจังหวัด

ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ  คุณหลวง ส.ส. แห่งบุรีรัมย์ เคยรับราชการกระทรวงกลาโหม ครองสถานะ นายร้อยเอก นาก ปิตะเสน  ครั้นช่วงต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2467 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนศักดิ์รณการ” ถือศักดินา 600 ไร่ ต่อมาเลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นคุณหลวงและมียศทางทหารเป็นนายพันตรี หลวงศักดิ์รณการ มักอภิปรายและตั้งกระทู้ถามรัฐบาลคณะราษฎรใน “สภาหินอ่อน” หรือ พระที่นั่งอนันตสมาคม อยู่มิน้อยหน

“ข้าราชการตำรวจชั้นประทวน” ถือเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำในกิจการตำรวจของเมืองไทยเรื่อยมานับแต่อดีตตราบปัจจุบัน เพราะเป็นพวกผู้น้อย มิค่อยได้รับสิทธิพิเศษเทียบเท่าสิทธิ์ของพวกนายตำรวจระดับหัวหน้าผู้บังคับบัญชา ทั้งๆ ที่พวกเขาต้องออกปฏิบัติภารกิจจนชีวิตเสี่ยงภัยอันตราย และต้องกระทำตามบัญชาของเจ้านายอย่างเข้มงวดเคร่งครัด

ครอบครัวของตำรวจชั้นประทวนมักเผชิญความลำบาก เมื่อคราวที่พวกเขาโยกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ตามท้องถิ่นทุรกันดารต่างๆ  กระทั่งค่าใช้จ่ายในการเดินทางก็ต้องรับผิดชอบเสียเอง ขณะเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงที่ได้รับกลับน้อยมาก ไม่เคยเพียงพอต่อการยังชีพ

ถ้าลองนึกเทียบเคียงดู ตำรวจชั้นประทวนในประเทศสยามคงจะมีลักษณะคล้ายๆกับ “ตำรวจชาวนา” ในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งรับบทบาทดูแลบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับชาวบ้านตามพื้นที่ชนบท 

ครั้น หลวงศักดิ์รณการ สะท้อนให้เห็นถึงความเดือดร้อนของข้าราชการตำรวจชั้นประทวนแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเยี่ยง หลวงประดิษฐ์มนูธรรม จึงรับปากว่าจะนำไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อดำเนินการให้ตำรวจทุกนายไม่ว่าจะชั้นผู้ใหญ่หรือชั้นผู้น้อยล้วนได้รับการดูแลเอาใจใส่จากรัฐบาล นั่นเพราะในระบอบประชาธิปไตย ราษฎรทุกคนจะต้องมีสิทธิเสมอหน้ากันตาม “หลัก 6 ประการ” ว่าด้วยความเสมอภาคของคณะราษฎร

 

เอกสารอ้างอิง

  1. ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (๒๔๗๕-๒๕๑๗). กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ชุมนุมช่าง, 2517
  2. ปรีดี พนมยงค์. หัวข้อสังคมของอัตโนตั้งแต่บทที่ ๑๐ (สมุดบันทึก ยังไม่ตีพิมพ์)
  3. “พระราชทานบรรดาศักดิ์.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 41 (20 กรกฎาคม 2467). หน้า 1242-1263
  4. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ ๒ สามัญ พ.ศ. ๒๔๗๗. พระนคร: สำนักงานเลขาธิการสภา, 2478
  5. 78 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ.2477-2555) มองธรรมศาสตร์ผ่านเอกสารจดหมายเหตุ. สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ บรรณาธิการ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพ ฯ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, 2555.