ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

การต่อสู้เพื่อความทรงจำร่วมทางประวัติศาสตร์ของสังคม

10
พฤษภาคม
2563

ความทรงจำทางประวัติศาสตร์มิใช่เรื่องบังเอิญ หากเป็นสิ่งที่ผลิตขึ้นโดยสังคม ตราบใดที่ยังไม่มีความทรงจำร่วมกันในสังคม การต่อสู้เพื่อปลูกผังความทรงจำชุดนั้นก็ยังคงดำรงอยู่โดยเฉพาะจากผู้ที่มีส่วนได้เสียจากชุดความทรงจำนั้นๆ

วันชาติ 24 มิถุนา  เป็นหนึ่งตัวอย่างของความทรงจำทางประวัติศาตร์ที่ถูกยกเลิกและทำให้ลืมหลังเป็นวันชาติมา 21 ปี โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นหลังที่โตไม่ทันการยกเลิก 24 มิถุนา วันชาติในปี 2503 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

เดือนพฤษภาคม 2563 นี้ก็ครบทศวรรษการลุกฮือและปราบปรามคนเสื้อแดงซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตร้อยศพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเสื้อแดง แต่ก็มีทหารและประชาชนทั่วไปด้วย ความทรงจำทางประวัติศาสตร์ชุดนี้ยังเป็นสิ่งที่คนเสื้อแดง นักวิชาการและสื่อมวลชนบางกลุ่มพยายามผลิตซ้ำ แต่ยังมิอาจถือได้ว่าเป็นความทรงจำร่วมกันของสังคมในวงกว้าง นี่ยังไม่พูดถึงบทบาทคนเสื้อแดงและสีเสื้อต่างๆว่าฝ่ายไหนสีใดเป็น ‘คนดี’ หรือ ‘พระเอก’ หรือ ‘ผู้ร้าย’ กันแน่

มนุษย์เลือกจำประวัติศาตร์ที่มีนัยยะสำคัญกับตน เป็นประโยชน์กับอุดมการณ์การเมืองตน ยกตัวอย่างเช่นกลุ่มบีอาร์เอ็นเวลาออกแถลงการณ์จะเรียกไทยว่าสยาม สะท้อนถึงการเลือกจำชุดความทรงจำที่โยงกลับไปสมัยที่สยามเป็นผู้รุกรานผนวกยึดเอาดินแดนปาตานีมาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม การใช้คำเรียกว่า ‘สยาม’ จึงมีนัยยะทางการเมืองอย่างเป็นสำคัญ

ในแง่นี้ ความทรงจำทางประวัติศาสตร์ถูกนำมาใช้เพื่อรับใช้ปัจจุบันและอนาคตเสมอ การหายไปอย่างลึกลับของหมุดคณะราษฎร ที่เป็นอนุสรณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนา 2475 ในปี 2560 และอนุสาวรีย์ปราบกบฎบวรเดช (อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ) ในปลายปี 2561 รวมทั้งการตั้งชื่อห้องประชุมบวรเดชโดยกองทัพบกในปี 2562 และการย้ายรูปปั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ฯลฯ ย่อมมีนัยยะสำคัญต่อความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎร ซึ่งมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำฝ่ายพลเรือน และก่อให้เกิดการถกเถียงอย่างกว้างขวางถึงเบื้องหลังและจุดประสงค์ของการกระทำเหล่านี้

การพยามยามจำ หรือลบความทรงจำโดยผ่านการทำลายถาวรวัตถุเช่นอนุสาวรีย์ รูปปั้น หรือแม้กระทั่งการยกเลิกวันสำคัญจึงไม่ใช่สิ่งบังเอิญ แต่เป็นส่วนหนึ่งของการพยายามทำให้ลืมประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎร

เช่นเดียวกัน การจดจำหรือพยายามจดจำก็มิใช่เรื่องบังเอิญ หากทำเพื่อประโยชน์ของผู้ต้องการจะจดจำ ดังเห็นได้จากผู้ประมูลออนไลน์นามบัตรพร้อมลายเซ็นของนายปรีดีเมื่อเดือนที่แล้วในราคาสูงถึง 77,000 โดยศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งนายปรีดีเป็นผู้ก่อตั้ง การประมูลจึงมิใช่เรื่องบังเอิญ หากย่อมนำมาซึ่งความภูมิใจของผู้ชนะการประมูลในการเป็นศิษย์เก่าธรรมศาสตร์

ชีวิตของบุคคลทางประวัติศาสตร์ย่อมมี after life หรือชีวิตหลังความตาย เดือนนี้ครบรอบ 120 ปี ชาตกาลนายปรีดี การต่อสู้เพื่อความทรงจำร่วมของสังคมว่าด้วยคณะราษฎรดูจะเข้มข้นขึ้น