ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สรุปประเด็นสำคัญจาก PRIDI Talks #13 รำลึก 45 ปี 6 ตุลาฯ “จากทุ่งสังหารถึงสำนักงานตั๋วช้าง” ตำรวจ-ทหาร กองทัพของราษฎร

6
ตุลาคม
2564

เวลา 13.00 น. เริ่มกิจกรรมเสวนาออนไลน์ PRIDI Talks #13 รำลึก 45 ปี 6 ตุลาฯ “จากทุ่งสังหารถึงสำนักงานตั๋วช้าง” ตำรวจ-ทหาร กองทัพของราษฎร ถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live เพจสถาบันปรีดี พนมยงค์ Pridi Banomyoung Institute ดำเนินรายการโดย นายประวิตร โรจนพฤกษ์

 

 

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ให้เกียรติปาฐกถานำในหัวข้อ “ภราดรภาพนิยม: แนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างสันติธรรมในวิกฤตขัดแย้งและสังคมเห็นต่าง”

 

 

อธิบายแนวทางการทำให้เกิดสังคมภราดรภาพ ที่นำมาสู่สันติสุข ลดความขัดแย้ง เห็นต่างกันได้โดยสามารถอยู่ร่วมกันได้ ต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

ประการแรก ต้องสถาปนา รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ประการที่สอง ปลูกฝัง ค่านิยมและวัฒนธรรมประชาธิปไตยผ่านระบบการศึกษาทั้งในระบบและระบบการศึกษาตามอัธยาศัย บรรจุบทเรียนความรุนแรงทางการเมืองและเหตุการณ์นองเลือดให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ และ กระทรวงอุดมศึกษาฯ เพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตความรุนแรงในอนาคต

ประการที่สาม ต้องผลักดันให้เกิด “รัฐสวัสดิการ” “สวัสดิการถ้วนหน้า” ด้วยการเก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้าเพื่อนำมาจัดสรรเป็นสวัสดิการให้กับประชาชน อันเป็นไปตามแนวคิด “ภราดรภาพนิยม”

ประการที่สี่ ส่งเสริมให้ใช้ “ระบบคุณธรรม” แทน “ระบบอุปถัมภ์” ในระบบราชการโดยเฉพาะในกลุ่มข้าราชการ ตำรวจ ทหาร ซึ่งมีปัญหาแต่งตั้งโยกย้ายที่มีลักษณะการดำเนินการที่มีการเล่นพรรคและเล่นพวกมาโดยตลอด

ประการที่ห้า เสนอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณจัดสร้างพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการถาวร เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานและการเรียนรู้เพื่อเป็นบทเรียน เป็นสิ่งที่เตือนสติ เป็นสิ่งที่สังคมได้เรียนรู้ว่า เราจะอยู่ร่วมกันอย่างมีสันติธรรม มีศักดิ์ศรีและมีเสรีภาพได้อย่างไร

 

พลโท ดร.พงศกร รอดชมภู อดีตประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ สภาผู้แทนราษฎร และ รองประธานกรรมการมูลนิธิคณะก้าวหน้า เสวนาหัวข้อ “วัฒนธรรมอำนาจนิยม ระบบอุปถัมภ์ และบทบาทกองทัพ”

 

 

กล่าวถึง อำนาจนิยมที่อยู่กับวัฒนธรรมทางการเมืองไพร่ฟ้า การยึดอยู่ฝั่งของนายตนเอง ขณะที่ประชาธิปไตยจะอยู่กับประเทศที่ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมือง ประชาธิปไตยจะเกิดได้จะต้องมีการบีบให้การฉ้อฉลลดลง และจะต้องตรวจสอบได้ทั้งระบบ จะต้องมีความโปร่งใส กรณีการยึดอำนาจของทหารเกิดจากการปะทะกันระหว่างกลุ่มเก่า ส่งผลให้ทหารที่มีระบบระเบียบเข้ามาควบคุม การส่งคนของตนเองไปยังหน่วยงานต่างๆ และการนำอุตสาหกรรมใหญ่มาอยู่ภายใต้ทหาร สิ่งที่เกิดขึ้นคือทหารไม่จำเป็นต้องเป็นทหารแล้ว ทำให้ข้าราชการอื่นๆ เดินตามทหาร โดยประเทศที่มีการตื่นตัวทางการเมืองมาก จะมีค่านิยมที่ไม่ยินยอมให้ทหารเข้ามาแทรกแซง แต่ภาวะเศรษฐกิจสำคัญมาก หากสภาวะทางเศรษฐกิจตกต่ำคนจะโอนอ่อนผ่อนตามทหาร  เนื่องจากทหารกับประชาธิปไตยแปรผันตรง หากทหารสนับสนุนประชาธิปไตย ประชาธิปไตยก็จะเติบโตรุ่งโรจน์ และพบว่าในโลกเสรีที่ทหารทำหน้าที่ของตนเอง ประเทศนั้นประชาชนอยู่ได้อย่างสุขสมบูรณ์ นอกจากนี้ สถิติจำนวนครั้งของการพยายามทำรัฐประหารของประเทศไทยสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก และจำนวนครั้งของการทำรัฐประหารสำเร็จสูงเป็นอันดับที่ 1 ของโลก คือทำสำเร็จ 13 ครั้ง เนื่องจากพวกเขามั่นใจว่าการทำรัฐประหารเสร็จแล้วไม่ติดคุก เพราะมีการรับรองการรัฐประหารแล้ว และเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ทหารได้กลับมาเป็นทหารอาชีพอย่างแท้จริง

 

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หัวข้อ “การปฏิรูปตำรวจ และ ความคืบหน้า พ.ร.บ. ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย”

 

 

ชี้แนวทางในการพัฒนาตำรวจให้เป็นตำรวจของประชาชน ตำรวจกลายเป็นกองทัพตำรวจ และเมื่อตำรวจเป็นปรปักษ์กับประชาชน จึงเกิดการใช้ความรุนแรง ปัญหาเกิดจากการจัดโครงสร้างของตำรวจเป็นกองทัพ การแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจที่มีโครงสร้างเป็นกองทัพเป็นเรื่องที่ยาก เนื่องจากผู้ที่เขียนเป็นผู้ที่ทำให้ตำรวจเป็นกองทัพ การมองเรื่องตำรวจจึงควรจะมอง 3 มิติ

1. โครงสร้างปัจจุบันที่พัฒนาตำรวจไปเป็นทหาร ทั้งที่งานตำรวจและงานทหารต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยงานของตำรวจะต้องใช้วิจารณญานและตัดสินตามลำพัง ขณะที่ทหารเป็นกองทัพ

2. จะต้องเริ่มจากตำรวจสายสืบ จราจร และขึ้นไปข้างบน ไม่ใช่สั่งการลงมา จะต้องติดต่อกับประชาชน 24 ชม.

3. การแต่งตั้ง การเป็นข้าราชการตำรวจ การมอบตำแหน่งเป็นการทำลายวัฒนธรรมของตำรวจ ทุกตำแหน่งเกิดจากการวิ่งเต้น ตำรวจจะเป็นตำรวจของประชาชนจึงทำได้ยาก 

 

ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หัวข้อ “มุมมองกระบวนการยุติธรรมกับความเห็นต่างทางการเมือง”

 

 

ชวนขบคิดว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญาควรเข้าไปเกี่ยวข้องกับมุมมองความเห็นต่างทางการเมืองหรือไม่ กระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ทำให้เกิดประโยชน์แก่สังคมคือ คนทำผิดไม่ลอยนวล และดูเรื่องสิทธิเสรีภาพของผู้ที่ถูกกล่าวหา สิทธิพื้นฐานเป็นสิ่งที่สำคัญมาก สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อความเชื่อมั่นที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมไทย พบมาไม่ได้มีความช่วยเหลือมาก (จากการสำรวจได้คะแนน 2.5/5) อีกทั้งเมื่อมีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นอีก ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นน้อยลงยิ่งขึ้น (จากการสำรวจได้คะแนน 1.9/5) และการนำกระบวนการยุติธรรมเข้ามาควบคู่ในการจัดการความเห็นต่าง โดยแท้จริงแล้วกระบวนการยุติธรรมควรจะใช้สำหรับผู้ที่ละเมิดกฎหมาย เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมนั้นมีการใช้ต้นทุนและทรัพยากรสูง แต่ในความเป็นจริงกระบวนการยุติธรรมก็เป็นหนึ่งในองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งการทำงานจึงไม่ได้ปราศจากอคติโดยสิ้นเชิง การใช้บุคลากรที่ตรงกับความรู้ความสามารถจึงยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทาย และการนำกระบวนการยุติธรรมอาญามาใช้กับความเห็นต่างทางการเมืองจะส่งผลในระยะยาว เนื่องจากความเห็น ความเชื่อนั้นไม่ใช่ความผิด การใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาจึงมีข้อจำกัดสูง และประเทศไทยมีบทเรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้และมีการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ เพื่อทำให้สังคมได้เรียนรู้และเกิดประโยชน์

 

นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หัวข้อ “การบังคับสูญหาย: อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ”

 

 

อธิบายตามกฎหมายสากลการบังคัญสูญหายเป็นการทำลายตัวตนการทำลายอัตลักษณ์ คุณค่าของคนนั้นด้วย เป็นเรื่องที่รุนแรงมาก ในภาพรวมประวัติศาสตร์ความรุนแรงภายในภาพรวมของประเทศไทยตั้งแต่มีการบันทึกไว้ เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2490 เป็นต้นมา มีการลงตามหนังสือพิมพ์ แต่ไม่มีการบันทึกลงภายในหนังสือเรียน ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ได้รู้สึกกลัวที่จะกระทำผิดเนื่องจากไม่มีผู้ที่ได้รับผิดชอบจากการกระทำดังกล่าว อีกทั้งเรื่องของการลงโทษตามความผิด ความรุนแรง การบังคับสูญหายและความรุนแรงกับเพศ เป็นความรุนแรงที่ไม่สามารถนิรโทษกรรมได้ ทำให้เรื่องของการเยียวยามีความสำคัญมาก ประเทศไทยมีการเยียวยาผู้เสียหายครั้งแรกเมื่อรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ และหลังจากนั้นไม่เคยได้รับการเยียวยาอีกเลย จากที่การต่อสู้ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของผู้หญิงและครอบครัวในการมีบทบาทที่ออกมาเรียกร้อง ถึงแม้จะถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ และอีกประเด็นที่สำคัญคือการเยียวยาทางด้านกฎหมายไม่เคยเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาของรัฐซ้อนรัฐจะต้องแก้ผ่านการปฎิรูปให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและประชาชนมีสิทธิตรวจสอบ 

 

นายสุธรรม แสงประทุม อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง หัวข้อ “ทุ่งสังหาร 6 ตุลาฯ กับความรุนแรงที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง”

 

 

ชี้ให้เห็นถึงการกระทำในวันนี้เมื่อผู้มีอำนาจพยายามจะกดดันปิดบังมากเท่าไหร่ ประชาชนยิ่งมีความต้องการที่จะอยากรู้มากขึ้นเท่านั้น วันนี้เราตามหาแค่ผู้สูญหายเท่านั้น แต่ไม่ได้ตามหาผู้ถูกกระทำ และสาวไปหาต้นเหตุต้นตอ อีกทั้งกล่าวถึงเรื่องการสูญหาย ที่นับว่าเป็นการสังหารอย่างหนึ่ง โดยการยกตัวอย่างการอุ้มหายและการทำร้ายผู้ที่มีความเห็นต่าง นอกจากนี้มีการแบ่งแยกประชาชนให้เกลียดกัน กลไกที่ใช้ไม่สัมพันธ์ต่อความรู้สึกของประชาชน ชี้ไปให้เห็นถึงสาเหตุแท้จริงของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่ไม่ใช่เป็นเพียงการรวมเหตุการณ์ความรุนแรงที่อัดอั้นทั้งหมดมาลงภายในวันเดียว แต่รวมไปถึงความพยายามในการต้องการฆ่าประชาธิปไตยที่ได้มาจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และชี้ให้เห็นโครงสร้างการเมืองไทยเป็นโครงสร้างอุปถัมภ์เป็นผลให้ประชาชนอ่อนแอ เมื่อภาคประชาชนเข้มแข็งเมื่อไหร่ จะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายมาจับกุมคุมขังผู้ที่กระทำผิด

 

นายชานันท์ ยอดหงษ์ นักเขียน นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย หัวข้อ “สันติวิธีกับการชุมนุม: อุปสรรคและความหวังของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย”

 

 

เริ่มต้นเสวนาจากการกล่าวถึงปาฐกถาของปรีดี พนมยงค์ เกี่ยวกับทางได้ประชาธิปไตยโดยวิธีสันติ และยกตัวอย่างขบวนการเคลื่อนไหวด้วยสันติวิธีในปัจจุบันของภาคประชาชน ยกตัวอย่างเช่น การอดอาหารของเพนกวินและรุ้ง แสดงให้เห็นว่าหากรัฐไม่ออกมาเคลื่อนไหวอะไรเลย แสดงให้เห็นถึงความไม่มีมนุษยธรรมของภาครัฐ นำมาสู่การประท้วงโดยการโกนผมของแม่เพนกวิน โดยเฉพาะผู้หญิงนั้นทรงพลังและมีคุณค่าภายใต้โลกของชายเป็นใหญ่ การกำหนดการมีผมที่ยาวของผู้หญิง แล้วการแก้ผ้าของป้าเป้า แสดงให้เห็นถึงการลดทอนอำนาจคุณค่าของรัฐ การใช้อาวุธต่อสู้กับประชาชนตัวเปล่า ปัญหาของการเคลื่อนไหวของสันติวิธีมักจะยึดโยงกับพุทธศาสนา การเคลื่อนไหวผ่านการทำลาย พ่นสีหรืออะไรก็แล้วแต่ อาจเป็นการทำร้ายทางจิตใจ แต่มิได้มีความผิดทางกฎหมาย ทางออกที่ดีที่สุดในตอนนี้คือการเจรจากัน หากประชาชนออกมาเคลื่อนไหวน้อยลง ความเป็นไปได้ที่จะมีความรุนแรงมากขึ้น และการที่มีการใช้ความรุนแรงการฉีดน้ำครั้งแรก ผู้คนเกิดความโมโหและออกมาประท้วงมากขึ้น แต่สิ่งที่น่ากลัวคือความเคยชินเกี่ยวกับความรุนแรง และการทำให้ความรุนแรงดังกล่าวเป็นเรื่องปกติ

 

กิจกรรมช่วงถามตอบ