ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

“เสี้ยวหนึ่งแห่งความทรงจำ” ของคุณหญิงแร่มฯ

14
พฤษภาคม
2563

เสี้ยวหนึ่งแห่งความทรงจำ[1]

คุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ[2]

 

 

 

ใครๆ ก็มักจะตั้งปัญหาถามเสมอว่า เมื่อดิฉันสอบไล่กฎหมายได้เป็นเนติบัณฑิตมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2473 ในสมัยโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม แล้วทำไมจึงมาห่วงใยกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นักหนา ไม่ว่าจะเป็นการเชียร์ฟุตบอลประเพณีก็ไม่เคยขาด หรือ งานธรรมศาสตร์ ไม่ว่านัดไหน นัดนั้นก็ไม่เคยขาดเช่นกัน

เป็นโอกาสอันดีเหลือเกินที่ดิฉันได้รับความกรุณาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะ 'อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ' รองอธิการบดี มธ. ผู้รวบรวมและจัดทำหนังสือธรรมศาสตร์ 50 ปี แจ้งมาให้เขียนเรื่องใดเรื่องหนึ่งลงในหนังสือสถาปนา 50 ปี ธรรมศาสตร์ และคอยพร่ำเตือนให้ส่งต้นฉบับ การที่ท่านพร่ำเตือนบ่อยๆ ทำให้เกิดพลังแรงกระตุ้นมุมานะเขียนให้จบจนได้

ย้อนหลังไปถึงปี พ.ศ. 2471 ดิฉันสมัครเข้าเรียนกฎหมายในโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม เป็นเรื่องโกลาหลกันพอสมควร เพราะเป็นหญิงไทยคนแรกที่ขอเข้าเรียนกฎหมายซึ่งไม่เคยมีมาแต่ก่อน แน่ละ ในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ จะต้องมีข่าววิพากษ์วิจารณ์ ทั้งทางดีและทางไม่ดี

การเรียนกฎหมายสมัยนั้น (สมัยไหนๆ ก็คงเหมือนกัน) ไม่ใช่ของง่าย จะเป็นเนติบัณฑิตได้จะต้องเรียนภาคหนึ่งและภาคสอง บางคนใช้เวลาเรียนถึง 10 ปีก็มี ส่วนใหญ่เป็นการเรียนเพื่อวินิจฉัยอุทาหรณ์ ผลที่ออกมาในปีแรก ก็คือ การสอบภาคหนึ่งตก ยอมรับว่า หมดกำลังใจท้อถอย จะไม่เรียนต่อเพราะในชีวิตที่ผ่านมา การเรียนจากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ไม่เคยสอบตก มีแต่เลื่อนชั้นกลางปี และสอบไล่มัธยม 8 (เทียบเตรียมอุดม) ได้คะแนนถึง 90 กว่าเปอร์เซ็นต์

ในระหว่างการเรียนภาคหนึ่งซ้ำ ได้รับความกรุณาจากท่านครูบาอาจารย์ทุกท่าน อาทิ 'เจ้าคุณลัดพลีธรรมประคัลภ์' 'คุณพระสารสาสน์ประพันธ์' 'คุณพระมนูภาณวิมลนาท' 'คุณหลวงประดิษฐ์มนูธรรม' (ท่านผู้ประศาสน์การ) เป็นต้น ได้แจ้งกับนักเรียนทุกคนว่า ถ้าสงสัยหรือติดขัดไม่เข้าใจในวิชาที่ท่านสอน ท่านอนุญาตให้ไปถามท่านได้ที่บ้านเวลาเลิกงานแล้ว พวกเราก็จับกลุ่มกันไปหาท่านอาจารย์ที่บ้าน และด้วยโอกาสอย่างนี้ เราจึงมีความสนิทสนมกับอาจารย์เกือบจะทุกท่าน นอกจากอาจารย์ชาวต่างประเทศเท่านั้น แต่เราก็คุ้นกับท่านผู้เป็นล่ามเป็นอย่างดี เช่น 'ดร.เสริม วินิจฉัยกุล' 'ศจ.วิจิตร ลุลิตานนท์' เป็นต้น 

พวกเราเป็นคนขี้สงสัยไม่เข้าใจกันเสียทุกวิชา เมื่อไปเป็นหมู่คณะ ได้ฟังเพื่อนคนอื่นถามอาจารย์และโต้ตอบกับอาจารย์ จึงทำให้ความรู้เพิ่มขึ้น ทั้งรู้วิธีการวินิจฉัยปัญหาต่างๆ ด้วยสมัยนั้นการเรียนกฎหมายไม่มีแต่หนุ่มสาวเท่านั้น อายุมากๆ หรือสอบตกหลายๆ ครั้ง ก็มีครูบาอาจารย์แต่ละท่านในครั้งนั้น มีความเมตตาเอ็นดูเราเหมือนลูกหลาน บางครั้งเราก็ได้ร่วมรับประทานอาหารกับท่าน เพราะพยายามไปหาท่านเวลาอาหารค่ำพอดี จะไม่ถึงอาหารค่ำได้อย่างไร เล่นไปหากันวันละหลายๆ อาจารย์ ก็ต้องพ้องเข้าสักแห่งในเวลาอาหารของท่าน โดยเฉพาะบ้านอาจารย์หลวงประดิษฐ์มนูธรรม จะพ้องกับเวลาอาหารค่ำบ่อยครั้งกว่าที่อื่น เพราะดิฉันถือวิสาสะว่า ได้เรียนที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟในสมัยเดียวกับท่านผู้หญิงพูนศุข และเคยไปมาหาสู่กันที่บ้านท่านตั้งแต่ก่อนที่ท่านจะสมรส

คณะที่จับกลุ่มเป็นหมู่ไปด้วยกันมีประมาณ 7-10 คน บางคนแตกฉานจริงๆ เพราะเรียนมานาน จึงแม่นยำในปัญหาต่างๆ ซักเอาอาจารย์งงไปก็มี แต่ท่านผู้นั้นจนแล้วจนรอด สอบไล่ตกทุกทีเขาพูดกันว่า เพราะตอบเกินธง

ปี พ.ศ. 2472 ดิฉันสอบไล่ได้ภาคที่ 1 พอถึงปลายปี พ.ศ. 2473 ดิฉันสอบไล่ได้ภาคสองได้เป็น "เนติบัณฑิตหญิงไทยคนแรก" อย่าถามเรื่องดีใจ ตื่นเต้นจนไม่รู้จะทำอย่างไรถูก ตั้งความหวังไว้ว่าจะเป็นตุลาการ แต่พอเปิด พ.ร.บ.ตุลาการ มีการกำหนดคุณสมบัติข้าราชการตุลาการว่าจะต้องเป็นชายไทยและมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี ถ้าเราเป็นหญิงไทยและอายุยังไม่ถึง 25 ปี เป็นตุลาการไม่ได้ และอัยการก็คงเป็นไม่ได้เช่นเดียวกัน จึงหันมาหาอาชีพทนายความ ซึ่งเป็นอาชีพเดียวที่จะใช้วิชาที่ตนเรียนมาและได้สมัครเข้าทำงานในสำนักงานทนายความชนชาติอังกฤษ มีชื่อว่า สำนักงานทนายความติลลิกีและกิบบินส์  ซึ่งในระยะนั้นไม่มีคนไทยเป็นทนายความประจำอยู่สำนักงานนี้เลย มีแต่เพียงเสมียนพิมพ์ดีด เสมียนไปกรมที่ดิน ไปกรมทะเบียนการค้า แต่ท่านเสมียนเหล่านี้ก็ไม่ใช่ย่อย เพราะมีประสบการณ์ในด้านการทำงานมานาน รู้วิธีการดีกว่าผู้จบปริญญาใหม่

ฉะนั้น การได้ปริญญาไม่ว่าในวิชาใดๆ ก็ตาม เป็นแต่เพียงทฤษฎีเท่านั้น จะต้องไปเรียนรู้ในทางปฏิบัติอีกมาก และในที่สุดได้ยึดอาชีพทนายความเป็นหลักมาจนบัดนี้ และเมื่อหวนกลับไปคิดถึงเรื่องความหลังว่าเคยเสียใจที่ไม่ได้เป็นตุลาการ แต่มาบัดนี้กลับคิดตรงกันข้ามว่าไม่เสียใจสักน้อยนิด เพราะการเป็นทนายความทำให้รู้จักคนมาก คบกับใครก็ได้ มีอาชีพอย่างอื่นอีกก็ได้ ไม่ต้องระวังหน้าระวังหลังเหมือนตุลาการ ซึ่งอยู่ในสถาบันที่ควรเคารพ ระหว่างเป็นทนายความ ความสัมพันธ์ซึ่งมีอยู่กับท่านอาจารย์ทั้งหลายที่กล่าวนามมาข้างต้นก็ไม่ได้เหินห่าง ไปมาหาสู่ท่านตลอดมา อย่างว่าเราเป็นลูกศิษย์ขี้สงสัย จึงยึดท่านอาจารย์เป็นที่พึ่ง คอยให้ความคิดเห็นในรูปคดีต่างๆ ด้วยตลอดมา

การที่ได้เรียนรู้กฎหมายขณะนั้น มีอะไรหลายอย่างที่ทำให้เกิดความรู้สึกถึงความไม่เสมอภาคในทางวัฒนธรรม ประเพณี และทางกฎหมาย เกี่ยวกับชายและหญิง และการปกครองประเทศ อาจเป็นเพราะการเข้าไปทำงานในสำนักงานทนายความของชาวต่างชาติ จึงมีความรู้ทั่วๆ ไปในกฎหมายของเขาด้วยซึ่งได้นำมาใช้เป็นบทเรียนเปรียบเทียบกับกฎหมายของเรา ก็พอดีในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะท่านอาจารย์หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ผู้ประศาสน์การ นั้น เป็นผู้นำฝ่ายพลเรือน

ความรู้สึกขณะนั้น เป็นเรื่องที่ตื่นเต้นจริงๆ และเริ่มคิดถึงสภาพความเป็นอยู่ของหญิงและเด็กทันที (ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีนักสังคมสงเคราะห์เหมือนขณะนี้) ถูกทอดทิ้ง ไม่มีใครเหลียวแล โดยเฉพาะโสเภณีซึ่งอยู่หน้าโรงหวย (สามยอด) ซึ่งดิฉันได้ถูกชวนจากแพทย์สตรี คือ 'คุณหญิงหมอเพียร' ให้เข้าไปเยี่ยมเยียนเพื่อหาทางช่วยเหลือ จึงได้รวบรวมสตรีผู้มีชื่อเสียงอยู่ในขณะนั้น เช่น 'คุณหมอใหญ่ คุณะดิลก' 'คุณพร้อม สำเร็จประสงค์' (นักประพันธ์สตรีนามปากกา กุหลาบขาว) สมัยนั้นมีสตรีที่มีชื่อเสียงมากมายเหมือนกันแต่ท่านขอตัวไม่ออกหน้า เพราะวัฒนธรรมประเพณียังกีดกันอยู่ ท่านยอมสนับสนุนอยู่ด้านหลัง การก่อตั้ง "สมาคมสตรีไทย" มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อช่วยสงเคราะห์สตรีและเด็กที่ไร้ผู้อุปถัมภ์ ได้เชิญคุณหมอใหญ่ คุณะดิลก เป็นนายกสมาคม และตัวเองเป็นอุปนายกสมาคมสตรีไทย ก็ได้มีชื่อเสียงทำคุณทำประโยชน์มาโดยนายกและคณะกรรมการหลายสมัย จนถึงบัดนี้ (ปีพ.ศ. 2527) เป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว

เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ท่านอาจารย์หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้เรียกพวกเราซึ่งเคยไปเรียนกับท่านเป็นส่วนตัวไปใช้งานต่างๆ โดยที่ท่านมีโครงการจะสร้างสรรค์ประเทศชาติให้ก้าวหน้า รวมทั้งการตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เท่าที่จำได้ เมื่อเลิกงานจากสำนักงานทนายความแล้ว ท่านก็ให้ไปขีดเขียนโครงการต่างๆ ตามคำสั่ง แต่ส่วนใหญ่ท่านจะประชุมเฉพาะผู้หลักผู้ใหญ่ เช่น 'ดร.เดือน บุนนาค' 'คุณวิจิตร ลุลิตานนท์' เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ใช่จะราบรื่น เกิดมีความขัดแย้งจากที่ราบสูงมีการต่อสู้กันขึ้นระหว่างสองฝ่าย คนไทยกับคนไทยรบกันเอง พวกเราวิตกทุกข์ร้อนทั่วกัน

เป็นเรื่องที่ประหลาดจริงๆ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ไม่ทราบว่าอะไรเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พวกเราเนติบัณฑิตรุ่นเดียวกัน 2473  รุ่น 2474  รุ่น 2475 รวมทั้งรุ่นที่กำลังเรียนในปี 2476 จึงมารวมใจและคบกันได้อย่างสนิทสนม และมีความคิดเป็นอย่างเดียวกันว่า เราจะช่วยประเทศชาติทุกวิถีทาง ถ้าจะถามความรู้สึกว่า เราเดือดร้อนอะไรหรือในการที่เราอยู่ในปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เราจะตอบทันทีว่า เรารักในหลวง เราไม่เคยเดือดร้อนอะไรเลย แต่คำว่า "ระบอบประชาธิปไตย" ซึ่งมีราษฎรมีสิทธิออกเสียงด้วยได้นั้น เป็นความรู้สึกที่พูดไม่ถูก เรารู้สึกกระหยิ่มยิ้มย่องขึ้นมาทันทีว่า "เรามีส่วนรับผิดชอบในชาติของเรา" แต่เรายังรักในหลวงของเราไม่เสื่อมคลาย

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2476  รัฐบาลจัดงานวันรัฐธรรมนูญ โดยมีการออกร้านในวังสราญรมย์ ขณะนั้น ดิฉันอายุเพียง 22 ปี เท่านั้น  ได้รวบรวมรุ่นน้องและรุ่นเสมอกันขึ้นจำนวนหนึ่งมี อาทิเช่น 'คุณชมพู อรรถจินดา' 'คุณปลูก วัชราภัย' 'คุณสมจิตร์ ยศสุนทร' 'คุณศักดิ์ ศรีเพ็ญ' 'คุณวิจิตร อินทรกุล' และท่านผู้อื่นอีกมากมายให้มาตั้งร้านด้วยกันให้ชื่อว่าร้าน “โรงเรียนกฎหมาย” ขายอาหาร โดยดิฉันเป็นเจ้าของร้าน เพราะขณะนั้นดิฉันทำงานอยู่ในสำนักงานทนายความ ได้เงินเดือน เดือนละ 120 บาท ต้องเป็นผู้ลงทุนส่วนคนอื่นจะลงแรง และมอบให้ คุณสมจิตร์ ยศสุนทร เป็นแคชเชียร์ เพราะเพื่อนๆ เห็นว่าคุณสมจิตร์เป็นคนละเอียดละออ เชื่อถือได้

เริ่มต้นตั้งแต่สร้างร้าน ทุกคนเต็มอกเต็มใจสร้างกันเองไม่ได้จ้างใครๆ ทั้งสิ้น ตั้งแต่มุงหลังคา จนยกพื้น ทำสำเร็จเสร็จสิ้นด้วยน้ำพักน้ำแรงของท่านเนติบัณฑิตเหล่านี้จริงๆ ดิฉันยังจำได้จนทุกวันนี้ ดิฉันนำเงินจำนวนนิดเดียว ตามมีตามเกิดมามอบให้คุณสมจิตร์ ยศสุนทร ทดรองจ่ายในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบในตำแหน่งเจ้าของร้าน

พอถึงวันงาน ร้านเสร็จทันเวลาเกือบจะคุยได้ว่า เป็นร้านที่สง่าภาคภูมิที่สุด เพราะกรรมการที่สร้างร้านมีความเจนจัดในการตบแต่ง และได้กลายเป็นบ๋อยเสริฟกิตติมศักดิ์นุ่งผ้าม่วงสีต่างๆ (ขณะนั้นยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงการใช้การเกง) ใส่เสื้อคอปิดกระดุม 5 เม็ด แบ่งหน้าที่ประจำกันทุกโต๊ะ ดิฉันในฐานะเจ้าของร้าน โล่งอก หายวิตก คุณสมจิตร์แคชเชียร์ก็ดีใจ เพราะมีผู้มารับประทานอาหารในร้านของเรามากที่สุด วิธีการขายอาหารของเราก็คือ ชวนหาบเร่ที่มีชื่อเสียงจากราชวงศ์มาขาย เช่น หมูสะเต๊ะ เนื้อสะเต๊ะ หูปลาฉลาม กระเพาะปลา เสียโป เย็นตาโฟ เป็นต้น ถ้าหากสั่งอาหารเป็นชามจากหาบไหน ก็ต้องส่งบัตรไปให้ เมื่อเสร็จสิ้นแต่ละคืน เขาก็จะนำบัตรนั้นมารับเงินจากแคชเชียร์

สองคืนแรกมีกำไรคุ้มค่า พอคืนที่สาม ในขณะที่มีแขกมานั่งเต็มทุกโต๊ะ บ๋อยกิตติมศักดิ์ของร้านซึ่งมีจำนวนกว่า 20 คน ก็วิ่งพรวดพราดกันออกไปจากร้าน  หายวับไปกับตาโดยไม่รู้สาเหตุ และตามที่กล่าวแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองมีการขัดแย้งเกิดขึ้น ฝ่ายรัฐบาลได้ส่งทหารไปปราบปรามและได้รับชัยชนะมาหมาดๆ แต่กระเส็นกระสายของการสู้รบยังพึ่งจะจางไปจึงทำให้แขกที่มานั่งกินอาหารพากันตระหนกตกใจไปด้วย ต่างวิ่งออกจากร้านไปหมด เงินทองไม่ได้จ่ายทิ้งให้เจ้าของร้านคือดิฉัน และคุณสมจิตร์ แคชเชียร์ ตื่นตระหนกจับต้นชนปลายไม่ถูก

แต่ในขณะเดียวกันนั้นเอง บรรดาบ๋อยกิตติมศักดิ์ของเราแห่กันเข้ามาโดยอุ้มท่านอาจารย์หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเข้ามาด้วย ปรากฏว่า ในขณะก่อนที่จะวิ่งกันออกไปนั้นมีเพื่อนมาส่งข่าวว่า อาจารย์ท่านเข้ามาในงาน พวกนี้ก็ไม่ฟังเสียงใครกันละ ต่างคนต่างวิ่งออกไปโดยไม่ได้นัดหมาย และอุ้มท่านเข้ามาจริงๆ ภาพนั้นยังประทับใจประทับตาดิฉันมาจนทุกวันนี้ ดิฉันคิดว่า คุณสมจิตร์ซึ่งกำลังหัวฟัดหัวเหวี่ยงว่า บ๋อยของเราขาดวินัย ก็คงจะมีความรู้สึกอย่างเดียวกัน มีคนเที่ยวในงานตามมาดูกันเต็มร้านหมด และเริ่มนั่งตามโต๊ะอาหาร เมื่อท่านอาจารย์หลวงประดิษฐ์มนูธรรมมาถึงร้าน ไม่ทันที่ท่านลงนั่ง ท่านเดินตรงมาที่ดิฉันอยู่ท่านบอกว่า 'คุณหลวงพิบูลสงคราม' กำลังเข้ามาในงานนี้เช่นเดียวกัน ขอให้คุณบอกเพื่อนๆ ของคุณไปต้อนรับหลวงพิบูลให้เหมือนที่รับผม

ดิฉันยังไม่ได้ทันหันไปสั่ง บ๋อยกิตติมศักดิ์ได้ยินด้วย ก็พากันวิ่งออกไปอีก บรรดาแขกที่สั่งอาหารกันใหม่ก็พลอยวิ่งตามกันไปด้วย ในทันทีทันใดนั้น บ๋อยกิตติมศักดิ์ก็อุ้มคุณหลวงพิบูลสงครามเข้ามาเช่นเดียวกับที่อุ้มท่านอาจารย์หลวงประดิษฐ์มนูธรรม และสองท่านพร้อมด้วยผู้ติดตามก็นั่งรับประทานอาหารในร้าน “โรงเรียนกฎหมาย” ของเรา เป็นที่ปลาบปลื้มกับพวกเราเป็นอย่างมาก ภาพที่ท่านทั้งสองได้คุยกันอย่างสนิทสนมในวันนั้น ทำให้เราชื่นชมเป็นอย่างยิ่งและเด็กๆ ขนาดเราก็ได้แต่สร้างมโนภาพว่า ประเทศไทยของเราได้มาถึงจุดพัฒนาโดยพลังสมองร่วมกันของท่านเหล่านั้นแต่ไม่นึกเลยว่า ต่อมาความฝันของเราจะสลาย อนาคตเป็นเรื่องไม่แน่นอน

ตั้งแต่นั้นมาใครๆ ก็เริ่มเรียก "พี่แร่ม" จนบางครั้งรู้สึกเขิน เพราะท่านผู้เรียกเราว่า “พี่” บางท่านดูจะแก่กว่า จนครั้งหนึ่งในสมัยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ท่านจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี บรรดา ส.ส. ทั้งหลายส่วนใหญ่เรียกว่า “พี่แร่ม” ท่านก็ชี้หน้า ส.ส.ท่านหนึ่งว่าอะไรกัน แก่กว่าเขาตั้งหลายปี ทำไมเรียกเขาว่า“พี่แร่ม” ท่านผู้นั้นตอบว่าใครๆ เขาก็เรียกว่า “พี่แร่ม” กันทั้งนั้น ผมก็พลอยเรียกไปด้วย รู้สึกว่าผมหนุ่มขึ้นถนัด ท่านจอมพลเลยพูดล้อๆ ว่า ถ้าอย่างนั้นผมขอเรียก “พี่แร่ม” ด้วยคนจะได้ทำให้ผมหนุ่มขึ้นบ้าง “พี่แร่ม” จึงกลายเป็นนามทั่วไป และในสมัยนั้น ดิฉันได้ทำกุศลให้สุภาพบุรุษหนุ่มขึ้นเมื่อเรียก “พี่แร่ม”

เมื่อ 27 มิถุนายน 2477 ท่านอาจารย์หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้ตั้ง "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง" สำเร็จ ซึ่งพวกเราผู้รับใช้ท่าน ช่วยท่านขีดๆเขียนๆ อยู่ มีความรู้สึกยินดีปราโมทย์กันทั่วหน้า รู้สึกรักมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองอย่างจับใจ โดยไม่รู้สึกตัวว่าความรักของเราเกิดขึ้นเมื่อใด ที่ไหน มันช่างค่อยๆ ซับซึมเข้ามาโดยไม่รู้ตัว สำหรับที่ไหนนั้น เรารู้แน่ๆ ว่าที่ท่าพระจันทร์ทรงกลดนี้เอง แต่ขณะเดียวกันเราก็รับข่าวไม่สู้ดีสำหรับพวกเราจากท่านอาจารย์หลวงประดิษฐ์มนูธรรมแจ้งว่า กรรมการมหาวิทยาลัยไม่ยอมให้เราเนติบัณฑิตของโรงเรียนกฎหมายทุกรุ่นจนถึงรุ่น 2476 เข้าเรียนปริญญาโทในมหาวิทยาลัยได้ เว้นแต่จะได้เข้าเรียนปริญญาตรีให้จบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เสียก่อน

เราเสียใจเมื่อมหาวิทยาลัยไม่เทียบปริญญาเนติบัณฑิตให้ แต่ก็เพราะความรักมหาวิทยาลัยอย่างว่า และเรารู้สึกว่าคงจะว้าเหว่ไม่น้อยถ้าไม่มีสถาบันการศึกษาของเราเองในอนาคตต่อไป เพราะเมื่อตั้งมหาวิทยาลัยก็ได้มีประกาศยกเลิกโรงเรียนกฎหมายเดิม เราจึงยกขบวนการเข้าสมัครในมหาวิทยาลัยเกือบจะเป็นรุ่นแรก และได้ผ่านการสอบไล่ได้ในปีที่หนึ่งเมื่อปลายปี พ.ศ. 2477 นั้นเอง แต่ขณะเดียวกันทางกรรมการมหาวิทยาลัยกลับประกาศ บรรดาผู้ที่สำเร็จเป็นเนติบัณฑิตจากโรงเรียนกฎหมายทุกรุ่น ให้เข้าเรียนปริญญาโทได้โดยไม่ต้องผ่านปริญญาตรี เราก็ยกขบวนไปสมัครเรียนปริญญาโทกันต่อไปอีก จำได้ว่า ตัวดิฉันกำลังฟิตจัด ไปสมัครเข้าเรียนปริญญาโทถึงสองปริญญา คือ ปริญญาโททางนิติศาสตร์  ได้เลขหมายประจำตัวที่ค้นได้คือ น.213 และ ปริญญาโททางการทูต แต่ผลคือ ไม่สำเร็จปริญญาโททั้งสองสาขา เพราะเกิดไปเบียดเสียก่อน

ในปี พ.ศ. 2477 มีงานรัฐธรรมนูญอีก พวกเราคณะเริ่มจับกลุ่มกันสร้างร้านชื่อว่า ร้านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง โดยไม่คำนึงว่าจะขออนุญาตจากใคร ทุกคนรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัย และครั้งนี้ไม่ได้สร้างร้านด้วยตนเอง เพราะแต่ละคนมีเงินเดือน และเอาเงินมาร่วมลงทุนทุกคนๆ ละเท่าๆ กัน ฝ่ายชายได้เปลี่ยนเครื่องแต่งตัวจากผ้าม่วงมาเป็นกางเกง ฝ่ายหญิงครั้งนั้นดิฉันได้รวมนักศึกษารุ่นใหม่ แต่งตัวกระโปรงสีขาว ตัวเสื้อสีน้ำเงินแขนยาวกระดุม 2 แถว เท่าที่จำได้ฝ่ายหญิงมี 'คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ' 'คุณหญิงอรุณวดี'  'คุณหญิงสัตยวดี' 'คุณศิริ จุตีรัตน์' เนติบัณฑิตปี 2474 ฯลฯ ร่วมด้วย เครื่องแบบของนักศึกษาหญิงดูสมาร์ทมาก เป็นความสำเร็จอย่างงดงาม กำไรและทุนทั้งหมดได้ยกให้มหาวิทยาลัยไป จำเดิมแต่นั้นมา งานรัฐธรรมนูญเกือบจะทุกปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือสมาคมธรรมศาสตร์ของเราไปตั้งร้านในงานตลอดมา จนถึงงานกาชาดในสมัยนี้

ขอกล่าวย้อนไปถึงสมาคมธรรมศาสตร์ เมื่อสมัย 'คุณชมพู อรรถจินดา' เป็นนายกสมาคม คุณชมพู สอบไล่ได้เนติบัณฑิตเมื่อปี พ.ศ. 2474 จากโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม แต่ก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเป็นนายกสมาคมธรรมศาสตร์จัดหาทุนให้นักศึกษาหลายสมัย คุณชมพู ได้เรียนมาในโรงเรียนกฎหมายร่วมกันและสอบไล่ได้เนติบัณฑิต จึงมีความสนิทสนมเหมือนพี่น้อง ดิฉันได้เป็นกรรมการอยู่ด้วยและมีท่านผู้ใหญ่อีกหลายท่านเป็นกรรมการ ได้ร่วมกันหาทุนเก็บเล็กผสมน้อยได้เงินเป็นจำนวนถึงห้าล้านบาท ซึ่งจำนวนเงินนี้ต่อมาได้ใช้เป็นฐานทุนสร้างสมาคมธรรมศาสตร์ซึ่งได้สำเร็จเป็นอาคารงดงามพร้อมด้วย “โดม” ธรรมศาสตร์ ในสมัย 'คุณบุญชู โรจนเสถียร' และ 'คุณวิโรจน์ เลาหะพันธ์' เป็นนายกตามลำดับ จึงขอแสดงความชื่นชมต่อนายกสมาคมธรรมศาสตร์ ทั้งสามท่านที่กล่าวนามมานี้ด้วย

“เสี้ยวหนึ่งแห่งความทรงจำ” เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ควรจะจบเพียงนี้แต่เป็นที่ทราบกันแล้วว่า ในความรู้สึกของพวกเรา ถ้ากล่าวถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็หมายถึง ท่านผู้ประศาสน์การ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ควบคู่กันไปด้วย ถ้าไม่เขียนครั้งนี้ก็ไม่ทราบว่าจะเขียนในโอกาสใด จึงขอผนวกเพิ่มเติมไว้ในโอกาสนี้อย่างย่อๆ เพราะเป็นเรื่องสำคัญในระดับชาติที่เกี่ยวกับท่านผู้ประศาสน์การ และขอสรุปเรื่องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สมัยใหม่ในปี พ.ศ. 2516 และต่อๆ มา ไว้ในบทส่งท้ายด้วย

เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองและตั้งมหาวิทยาลัยแล้ว ไม่ใช่ว่าเหตุการณ์ต่างๆ จะสงบและปลอดภัย รวมทั้งด้านเศรษฐกิจด้วย นอกจากการแก้ปัญหาเศรษฐกิจทางด้านอื่นๆ แล้ว ท่านผู้ประศาสน์การได้ดำริให้รัฐบาลออกพันธบัตรเพื่อขายให้แก่ประชาชนเป็นการระดมทุนจากประชาชนมารวมให้รัฐ สมัยนั้นเป็นสมัย 'เจ้าคุณทรงสุรเดช' เป็นผู้อำนวยการสำนักงานธนาคารชาติไทย ในการออกพันธบัตร ครั้งนั้นประชาชนไม่เข้าใจและไม่เชื่อถือ คำว่k "พันธบัตร" เป็นของใหม่ ท่านผู้ประศาสน์การได้เรียกดิฉันไปพบสั่งให้รวมพวกสตรีแบ่งออกเป็นสายๆ เดินตรงเข้าไปหาท่านคหบดีและคหปตานีทั้งหลาย ซึ่งมีระบุไว้ตามบัญชีที่ท่านส่งมาให้ เพื่อเรียนชี้แจงขอให้เกิดความศรัทธาซื้อพันธบัตร ทั้งนี้เพียงเพื่อเป็นตัวอย่างที่จะนำชื่อของท่านมาโฆษณาให้บุคคลอื่นได้ซื้อตาม

จำได้ว่า ได้ไปขอให้คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ มาร่วมงานด้วย บุคคลสองท่านแรกที่ไปหาคือ 'คุณนายเนียร ลพานุกรม' มารดาของ 'ท่านผู้หญิงมานวราชเสวี' และ 'คุณนายอุ่น โปษยะจินดา' มารดาของ 'คุณอรุณ จำรูญเนติศาสตร์' ได้รับความร่วมมือจากท่านด้วยดี ท่านเข้าใจดีและไม่ต้องรอให้ชี้แจง ท่านทั้งสองได้จ่ายเงินจำนวนมากซื้อพันธบัตรให้เป็นตัวอย่างทันที และตั้งแต่นั้นมา ท่านยังได้ให้ความกรุณาเหมือนลูกหลานในครอบครัวของท่านเอง ซึ่งดิฉันไม่เคยลืมพระคุณของท่านตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้

การขายพันธบัตรแบบเคาะทุกๆ ประตูบ้านในครั้งนั้น ได้ผลดีเกินความคาดหมาย เป็นที่ภูมิใจและยินดีทั้งศิษย์และท่านอาจารย์

เมื่อ พ.ศ. 2484 เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง เช้าวันที่ทหารญี่ปุ่นเข้าประเทศไทยโดยทันทีทันใดหลายๆ จุด รายละเอียดมีผู้เขียนไว้หลายท่านแล้ว จะไม่เขียนยืดยาว จะกล่าวแต่เฉพาะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เปลี่ยนสภาพเป็นที่คุมขังชนชาติเชลย อาทิเช่น ชนชาติอังกฤษ ฝรั่งเศส ฯลฯ หรือประเทศอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่พันธมิตรของญี่ปุ่นและเยอรมัน ต้องถูกจับกุมมาคุมขังที่มหาวิทยาลัยเป็นส่วนใหญ่

ในตอนต้นดิฉันได้เขียนไว้ว่า ดิฉันเป็นทนายความหญิงคนแรกของประเทศไทยที่ได้เข้าไปทำงานสำนักงานติลลิกีและกิบบินส์ของชนชาติอังกฤษ นายคนหนึ่งของเราก็ถูกจับมาถูกคุมขังอยู่ด้วย ในสำนักงานนี้มีผู้ถือหุ้นเป็นชาวอังกฤษอยู่ 3 คน คือ 1. นายเอส บริกเฮ้าส์ 2. นายอาร์. ดี. แอทกินสัน 3. นายวี.เอช.เจกษ์ ในระยะนั้นเป็นระยะพักร้อน ซึ่งหุ้นส่วน 2 ท่าน ครบเทอมไปพักผ่อนที่อังกฤษพอดี เหลือนายเอส บริกเฮ้าส์ กับครอบครัวที่ถูกจับกุม นายเอส บริกเฮ้าส์ เป็นชาวอังกฤษที่รักเมืองไทยอย่างยิ่ง อยู่มานานนับตั้ง 30-40 ปี รู้จักเจ้านาย พระราชวงศ์ และบุคคลสมัยเก่าชั้นผู้ใหญ่มากมายและเป็นที่นับถือของคนไทยทั่วๆ ไปด้วย

นอกจากจะเป็นนายแล้วยังเป็นพ่อทูนหัว (ไม่ทราบจะเปรียบอย่างไร เพราะท่านรักและไว้ใจดิฉันเหมือนบุตรของท่านคนหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้กันดีในสังคมแคบๆ ในสมัยนั้นได้เคยซื้อลอตเตอรี่ให้ท่านถูกรางวัลที่หนึ่งซึ่งเป็นเรื่องดังมาก เพราะเราเกิดไปใส่ชื่อจริงของท่านในต้นขั้วลอตเตอรี่ วิทยุประกาศชื่อท่านทุกสถานี) ดิฉันมาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เกือบจะทุกวันเพื่อเยี่ยมท่านและครอบครัว

ระหว่างนั้น ฝ่ายประเทศอังกฤษจับเชลยคนสำคัญๆ ของญี่ปุ่นไว้ได้ เขาจึงเจรจาขอแลกเชลย เผอิญนายเอส บริกเฮ้าส์ เป็นเพื่อนรักของท่านเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยในสมัยนั้นชื่อ 'เซอร์โจไซ ครอสบี้' ท่านได้หนีออกจากประเทศไทยและรอดพ้นกลับไปอังกฤษได้ ฝ่ายอังกฤษจึงได้ระบุขอแลกเชลยญี่ปุ่นกับนายเอส บริกเฮ้าส์ และภริยากับบุตรอีก 3 คน ล้วนแต่เป็นชนชาติอังกฤษทั้งนั้น

ท่านผู้ประศาสน์การได้ให้คนไว้ใจของท่านมาตามเข้าไปพบท่านที่บ้านท่าช้าง เวลาดึกพอสมควร เมื่อไปถึง เห็นท่านแล้ว รู้สึกตกใจ เพราะท่านดูทรุดโทรมผิดตา ท่านเดินไปเดินมา เหมือนคนมีทุกข์หนักๆ ท่านมุ่งถึงแต่ความเดือดร้อนของแผ่นดิน ความเดือดร้อนของคนไทยในชาติยามวิกฤติจนเห็นได้ชัด ท่านเรียกเข้าไปพบตัวต่อตัว ไม่มีผู้ใดอื่นเลย ท่านถามว่ารักชาติแค่ไหน ไม่ทันตอบ ท่านก็พูดต่อไปว่า จะใช้ให้ไปทำงานสักอย่าง ซึ่งอาจเป็นการเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตได้ เวลานั้นจับต้นชนปลายไม่ถูก งงๆ แต่ได้รับปากกับท่าน ท่านถามว่า มีอะไรที่เป็นห่วงบ้าง เรียนท่านว่าเป็นห่วงลูกสาว (เพราะเพิ่งได้ลูกสาวคนเดียวอายุเพียง 4-5 ขวบ เท่านั้น)

แล้วท่านก็แจ้งว่า ท่านกำหนดตัวให้ดิฉันเดินทางไปพร้อมกับนายเอส บริกเฮาส์ ในฐานะเป็นลูกสาวของนาย เพื่อแจ้งให้เสรีไทยนอกประเทศรู้ว่า ทางเรามีเสรีไทยเหมือนกัน ท่านให้ชื่อตัวท่านเป็นรหัสว่า “รู้ท” การส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดผิดเป้าหมาย ทำให้ประชาชนเดือดร้อนล้มตายมากและได้ส่งข้อความอื่นๆ อีกด้วย ขณะนั้นก็พึ่งจะรู้ว่า เรามี "เสรีไทย" เป็นของใหม่จริงๆ การสั่งงานของท่านในเรื่องเช่นนี้ปกปิดเป็นความลับของแต่ละคน เป็นเรื่องสั่งโดยเฉพาะ

ท่านสั่งให้เตรียมตัวเดินทางได้ไม่ต้องใช้กระเป๋าเดินทาง ให้ใช้ถุงผ้าใส่ของที่จำเป็นต้องใช้ และส่งคนของท่านมาตามปลุกในเวลาวิกาลให้ไปซ้อมวันดีเดย์ถึงสองครั้ง แต่บังเอิญมีเหตุพ้นวิสัยบางประการเกิดขึ้น ทำให้ไม่ได้เดินทางไป ความรู้สึกในขณะนั้นทั้งกลัวๆ กล้าๆ ยังสงสัยอยู่ว่า ถ้าได้ไปจริงๆ ญี่ปุ่นคงจับโยนลงทะเลเสียก่อนที่จะไปถึงจุดหมายปลายทาง เพราะหน้าตาแสนจะไม่มีกลิ่นไอของคนอังกฤษเสียเลย เมื่อเทียบกับนายและแหม่มกับลูกสาวของนาย

ต่อมาท่านผู้ประศาสน์การได้มอบหมายให้ไปประจำค่ายอังกฤษ เมื่อนายอีกท่านหนึ่งเดินทางเข้ามาทางเรือดำน้ำ คือ 'นายพลจัตวา วี.เอช.เจกษ์' ซึ่งระบุนามไว้แต่ต้น จึงได้เข้าปฏิบัติงานเสี่ยงกับภัยมืดอย่างจริงจัง เป็นระยะๆ จนเสร็จสิ้นสงคราม ซึ่งบัดนี้ก็เหลือความภูมิใจอันยิ่งใหญ่ไว้ในจิตใจในฐานะที่เกิดมาเป็นคนไทย และมีโอกาสได้สนองแผ่นดินที่ใหกำเนิดมาตามสมควร

ขอกลับมาเล่าเรื่อง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในสมัย 14 ตุลาคม 2516 และปีต่อๆ มาเป็นบทส่งท้าย เพื่อบันทึกไว้เป็นความรู้ส่วนหนึ่งของอนุชุนรุ่นหลัง เมื่อก่อน 14 ตุลาคม 2516 ได้มีเหตุการณ์นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงเดินขบวนขับไล่อธิการบดี มีจำนวนนักศึกษาประมาณหนึ่งหมึ่นคน และบรรยากาศคุกรุ่นว่า จะมีการขับไล่รัฐบาล ถึงแม้จะมีความรู้สึกกันทั่วๆ ไป จะมีแน่ แต่ก็ไม่ได้นึกว่าจะเอากำลังนักศึกษามหาศาลมาได้จากไหน

พอถึงรุ่งอรุณวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เขาเล่าว่า มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังเดินจากมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนหลายหมื่นคน ทำไมจึงเขียนว่า “เขาเล่าว่า” ก็เพราะบ้านที่พักอาศัยของดิฉันอยู่ในโรงแรมเวียงใต้ หลังกรมประชาสัมพันธ์ ใครๆ ที่วิ่งไปดูมา ก็มาเล่าต่อๆ ว่า มีการเดินขบวนจากมหาวิทยาลัย และมาตั้งขบวนชุมนุมอยู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นจำนวนเรือนแสน ประมาณสายหน่อย ก็มีรถบรรทุกทหารมาจอดอยู่ในซอยหน้าบ้านหลายคัน ทหารทั้งหลายก็วิ่งอ้อมไปเข้าทางหน้ากรมประชาสัมพันธ์ สักครูหนึ่งก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น มีนักศึกษาและไม่ใช่นักศึกษาวิ่งกันมาและที่จูงกันมาก็มาก ขอเข้ามาในโรงแรมเวียงใต้ เพื่อล้างหน้าในสระว่ายน้ำของโรงแรมเพราะโดนแก๊สน้ำตาจากฝ่ายปราบปราม ลืมตาไม่ขึ้น จึงได้จูงกันมาและขอล้างหน้า แล้วก็ขอนอนพักบนพื้นของโรงแรมประมาณเกือบ 100 คน ยังแสบตาไม่หาย กลับบ้านไม่ได้

ดิฉันได้จัดเลี้ยงดูตามมีตามเกิด ไม่ได้หาอาหารเตรียมไว้เพื่อคนมากๆ โชคดีที่มีอาหารเตรียมไว้สำหรับแขกพักในโรงแรม แต่ถึงกระนั้นก็ดี ก็ได้ไปซื้อไข่จากตลาดบางลำพูมาไว้เป็นพันฟอง ต้มไข่พะโล้และให้พ่อครัวหุงข้าว เช้าขึ้นใส่กระทงนำไปแจกทั้งทหาร ตำรวจ นักศึกษา

บรรดาพวกวัยรุ่นทั้งหลายที่ได้เข้ามาขอนอนบนพรมในห้องรับแขกโรงแรมในวันนั้น บัดนี้ระยะเวลาได้ล่วงเลยมานานแล้วกลายเป็นวัยไม่รุ่นและต่างคนต่างก็มีครอบครัว ทำงาน ทำการเป็นหลักฐาน และยังติดต่อสนิทสนมกับดิฉันตลอดมา ต่อมาเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งมีการขับไล่รัฐบาล ขณะนั้นดิฉันอยู่ในรัฐสภาในตำแหน่งวุฒิสมาชิก กำลังอภิปรายเรื่อง พ.ร.บ. งบประมาณ ซึ่งมี 'คุณเสวตร เปี่ยมพงษ์สานต์' (ท่านเป็นเนติบัณฑิต รุ่น 2473 เหมือนกันและเป็นผู้ที่ดิฉันเคารพนับถือ เชื่อถือในความสามารถของท่าน) เป็นรองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ชี้แจงแทนรัฐบาล ได้รับโทรศัพท์ว่า เวลานี้มีกลุ่มเดินขบวนเข้าไปหาท่านนายกรัฐมนตรีในทำเนียบ และสำหรับส่วนตัวดิฉันนั้น ถูกสงสัยว่าร่วมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยนำอาวุธขึ้นไปไว้บนชั้นดาดฟ้าของโรงแรม และตั้งปืนหันกระบอกไปที่วัดบวรฯ เพื่อเจาะจงทำลายวัดบวรฯ เพราะจอมพลถนอมฯ ท่านบวชอยู่ในวัดนั้น

และขณะนั้นเอง ก็มีโทรศัพท์เข้ามาอีกว่า ขณะนี้ทหารเข้ามาล้อมโรงแรมไว้แล้ว ดิฉันจึงรีบเขียนโน้ตสั้นๆ เรียนท่านรองนายกรัฐมนตรีทราบ ขอให้ท่านประธานปิดประชุม ดิฉันได้กลับมาที่โรงแรม ปรากฏว่ามีทหารมาควบคุมอยู่หน้าบริเวณโรงแรมเป็นจำนวนมาก และขณะเดียวกันก็มีตำรวจท้องที่มาอยู่ด้วย ได้พบกับนายทหารที่เป็นหัวหน้าได้ความว่าเป็นบุตรของท่านนายทหาร ผู้เป็นที่เคารพนับถือ มาตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ได้ความว่าก่อนที่ดิฉันจะไปถึง ตำรวจท้องที่ได้ทำความเข้าใจกับนายทหารผู้นั้นเรียบร้อยแล้ว เหตุการณ์จึงยุติแต่เพียงนั้น

ตามปกติที่สถานีตำรวจชนะสงครามนั้น เป็นระยะเวลากว่า 30 ปี มาแล้ว ตั้งแต่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ลงมา จนถึงชั้นผู้น้อย ได้มีความเอื้ออาทรกับโรงแรมเวียงใต้ด้วยความเป็นกันเอง เพราะถ้าไม่ใช่ลูกศิษย์พ่อ ซึ่งเคยเป็นอธิบดีกรมตำรวจมา ก็เป็นลูกศิษย์พี่ ซึ่งเคยเป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ฉะนั้น จึงเป็นการคบหากันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยโดยตลอดมา ตำรวจท้องที่จึงเข้าใจสภาพของดิฉันและโรงแรมเวียงใต้ดี จึงได้มาระงับเหตุการณ์ให้ และในวันนั้นเองรวมทั้งวันรุ่งขึ้น ดิฉันก็ถูกขอร้องจากน้องชายซึ่งเป็นตำรวจ ผู้ถูกสั่งให้ไปเฝ้าในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาขอข้าวผัดไปอีกเป็นร้อยๆ ห่อเข้าไปให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัย เพราะนักศึกษายังติดอยู่ในมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนหนึ่ง กลับบ้านไม่ได้ ค่ำแล้ว เกรงจะหลงผิด ตำรวจผู้เป็นน้องชายของดิฉันก็สำเร็จจากธรรมศาสตร์ใครจะทิ้งพวกรุ่นน้องได้ลงคอ

เหตุการณ์ทั้งสองครั้งเมื่อปี 2516 ก็ดีและ 2519 ก็ดี ดิฉันได้เข้าไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้มีโอกาสพบรู้จักกับท่านอธิการบดี 'คุณนงเยาว์ ชัยเสรี' ได้เห็นความห่วงใยของท่านที่มีต่อนักศึกษาในขณะนั้น ทำให้ดิฉันรู้สึกสบายใจ ที่อย่างน้อยก็ได้มีท่านผู้ใหญ่ในตำแหน่งรองอธิการบดีขณะนั้นและอาจารย์อื่นๆ ได้ร่วมกันห่วงใยต่อความเป็นความตายของนักศึกษา ตั้งแต่นั้นมาดิฉันมีแต่ความชื่นชมให้แก่ท่านในผลงานที่ท่านได้รับทุกโอกาส

ดิฉันได้ถูกเตือนจากเพื่อนๆ หลายครั้งเป็นระยะเวลาหลายสิบปีมาแล้วว่าถูกระแวงว่าเป็นผู้ฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์ หรือ โซเชียลลิสต์ หรือเป็นผู้ไม่หวังดีต่อประเทศชาติ ฯลฯ จนกระทั่งมีตำรวจลับมาติดตามก็เคยมี ทั้งนี้เพราะดิฉันมักจะมีเพื่อนธรรมศาสตร์รุ่นน้องๆ ไปมาหาสู่เป็นรุ่นๆ ต่อเนื่องอยู่เสมอ ทำไมจะต้องเป็นคอมมิวนิสต์ ทำไมจะต้องไม่หวังดีต่อชาติ แล้วจะไปไหน ดิฉันพอใจเป็นที่สุดในการที่ได้เกิดมาในแผ่นดินไทย -จะอยู่ที่นี่ -ตายที่นี่ -รุ่นน้องมีความใฝ่ดีและปรารถนาดีต่อประเทศชาติเคารพเทิดทูนพระมหากษัตริย์อย่างสุดหัวใจเหมือนกัน (โล่งอกทันทีได้ระบายเสียบ้าง)

ก่อนจบ ดิฉันได้นำชื่อของหลายๆ ท่านมากล่าวไว้ในข้อเขียนนี้ หากคลาดเคลื่อนไปบ้างหวังว่าคงได้รับอภัย

สุดท้าย เรามีแต่ความรักความหวงแหนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ "แด่ธรรมศาสตร์ด้วยดวงใจ"

 


[1] ในโอกาสวาระครบรอบ 120 ปี ชาตกาลนายปรีดี พนมยงค์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้นำบทความเรื่อง “เสี้ยวหนึ่งแห่งความทรงจำ” เขียนโดยคุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ เนติบัณฑิตหญิงคนแรกของประเทศไทย มาพิมพ์ใหม่ โดยบทความนี้ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2527 เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[2]  คุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ เกิดเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2454 หลังจากสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 8 จากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์เมื่อปี 2471 ก็เข้าศึกษาในโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม จนสอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตไทยเมื่อปี 2473 นับเป็นเนติบัณฑิตหญิงคนแรกของประเทศไทย ความเคารพนับถือและความสนิทสนมเป็นส่วนตัวที่มีต่อผู้ประศาสน์การปรีดีพนมยงค์ ได้ชักนำให้ท่านผูกพันรักใคร่ต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เรื่อยมา