ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

กฎหมายและการเมือง มุมมองของคุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ

22
กรกฎาคม
2565

มูลเหตุที่เลือกเรียนกฎหมาย

คุณแร่มได้เล่าให้ฟังว่า เดิมทีมิได้คิดจะเรียนกฎหมาย ตั้งใจจะเรียนแพทย์ เมื่อจบประโยคมัธยมบริบูรณ์ได้ไปสมัครสอบเข้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไว้แล้วด้วย แต่เผอิญรอฟังผลการสมัครสอบเข้าอยู่นาน เนื่องจากมิได้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนรัฐบาล (ขณะนั้นผู้ที่สำเร็จมัธยมศึกษาจากโรงเรียนรัฐบาลสามารถเข้าศึกษาต่อในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้โดยไม่ต้องสอบเข้า) และเกรงว่าจะเข้าไม่ได้ด้วย จึงได้ไปสมัครเข้าโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม โดยได้รับการสนับสนุนจากบิดาเป็นผู้พาไปสมัครต่อเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น คือเจ้าพระยาพิชัยญาติ ซึ่งหลังจากถูกซักถามและอบรมอยู่วันหนึ่งเต็มๆ ก็ได้รับอนุมัติให้เข้าเรียนในเดือนมีนาคม 2471

นับว่าคุณแร่มได้เป็นผู้บุกเบิกทางเข้าศึกษาวิชากฎหมายให้แก่สตรีคนอื่นๆ ด้วย เพราะหลังจากคุณแร่มได้รับอนุมัติให้เข้าเรียนได้ ก็มีผู้หญิงไปสมัครเรียนอีกหลายคน เมื่อถึงเดือนพฤษภาคมอันเป็นเดือนเปิดการศึกษา ปรากฏว่ามีเพื่อนร่วมรุ่นเป็นผู้หญิงถึงประมาณ 10 คน ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนมากทีเดียวสำหรับการเรียนกฎหมายครั้งแรกของผู้หญิงไทย

 

โรงเรียนกฎหมายและบรรยากาศชั้นเรียน

โรงเรียนกฎหมายที่คุณแร่มได้เข้าเรียนนี้มีชื่อเต็มว่า “โรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม” ตั้งอยู่ที่ถนนราชดำเนิน ณ ที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน เป็นโรงเรียนกฎหมายที่เก่าแก่ ตั้งขึ้นสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีหลักการเช่นเดียวกับสถานศึกษากฎหมายสำหรับ Barrister-at-Law หรือ เนติบัณฑิตของประเทศอังกฤษ เนื่องจากเป็นโรงเรียนผู้ใหญ่ นักเรียนส่วนมากเป็นผู้ทำงานแล้ว จึงมิได้กำหนดระยะเวลาการเรียนว่าจะต้องสำเร็จการศึกษาเมื่อใด นักเรียนไม่จำเป็นต้องมาฟังคำบรรยาย เมื่อถึงเวลาสอบก็มาสอบ บรรยากาศในห้องเรียนไม่มีอะไรหนักใจเพราะเป็นการเรียนแบบผู้ใหญ่ เข้าฟังคำบรรยายเพียงวันละ 2 ชั่วโมง จาก 10.00 - 12.00 น. เท่านั้น หลักสูตรนั้นแบ่งเป็น 2 ภาค ใช้เวลาเรียนภาคละ 1 ปี ซึ่งถ้าเรียนและมีความเข้าใจแล้วก็อาจจะจบได้ในเวลา 2 ปี

คุณแร่มเล่าว่า การเรียนกฎหมายในสมัยนั้นต้องตีปัญหาในทางกฎหมายต่างๆ ให้เข้าใจทุกอย่าง เช่น กฎหมายทั่วไป กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา อาจารย์ผู้สอนวิชากฎหมายจะตั้งอุทาหรณ์ให้นักเรียนวินิจฉัยแบบผู้พิพากษาพิจารณาคดี และเนื่องจากกฎหมายมีมาตราต่างๆ มากมาย ต้องวิเคราะห์มาตรานั้นมาตรานี้เกี่ยวโยงกันด้วย คุณแร่มจึงใช้เวลาเรียน 3 ปี จึงสำเร็จเป็น “เนติบัณฑิตสตรีคนแรกของประเทศไทย” เมื่อ พ.ศ. 2473 มีเพื่อนสตรีจบอีก 2 คน ในปี พ.ศ. 2474 และ พ.ศ. 2475 ตามลำดับ

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโรงเรียนกฎหมายก็โอนไปรวมอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอันว่ามีเนติบัณฑิตสตรีที่จบจากโรงเรียนกฎหมายนี้เพียง 3 คน

 

ทนายความหญิงคนแรก

ทั้งๆ ที่สำเร็จเนติบัณฑิตไทย แต่คุณแร่มก็ยังไม่มีโอกาสได้สวมเสื้อครุยเนติบัณฑิตไทยในวันรับปริญญา เพราะอายุยังไม่ถึง 20 ปี และได้ไปจดทะเบียนเป็นทนายความหญิงคนแรกในปีนั้นด้วย เพราะขณะนั้นกฎหมายไม่เปิดโอกาสให้สตรีเป็นตุลาการหรืออัยการ

สตรีสาร ได้เรียนถามถึงความรู้สึกทั่วไปของคนไทยในสมัยนั้น ในการที่ผู้หญิงไปเรียนวิชากฎหมายและเป็นทนายความ ซึ่งนับเป็นเรื่องแปลกใหม่ไม่เคยมีมาก่อนเลย คุณแร่มได้เล่าว่า หนังสือพิมพ์ทุกฉบับในเวลานั้นพากันลงข่าวและเขียนข่าวทำนองประชดประชันว่า ต่อไปนี้ผู้หญิงจะเป็นผู้พิพากษา เป็นอัยการ และเป็นทนายความ และเผอิญในช่วงนั้นมีข่าวใหม่ๆ เกี่ยวกับผู้หญิงอยู่หลายข่าว เช่น ผู้หญิงขับรถรับจ้างคนแรก มีผู้หญิงได้เป็นข้าราชการในสำนักงาน ก.พ. คนแรก และมีผู้หญิงสอบชิงทุนรัฐบาลได้เป็นคนแรกไปศึกษาวิชาแพทย์ ขณะนั้นข่าวเกี่ยวกับผู้หญิงจึงเฟื่องฟูมาก และถูกกล่าวหาว่าจะมาแย่งตำแหน่งหน้าที่การงานของผู้ชาย มีการเขียนการ์ตูนล้อในหน้าหนังสือพิมพ์

 

ชีวิตการทำงาน

เนื่องจากขณะนั้นทางราชการยังไม่อนุญาตให้สตรีเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการ จึงได้สมัครเข้าทำงานในสำนักงานทนายความ ชื่อ ทิลเลกี แอนด์ กิบบินส์ (Tilleke & Gibbins) ซึ่งเป็นสำนักงานของชาวอังกฤษ ไม่มีคนไทยทำเลย (ปัจจุบันสำนักงานทนายความแห่งนี้ก็ยังเปิดดำเนินกิจการอยู่) และได้ทำอยู่ถึง 9 ปี ในช่วงนี้เองที่คุณแร่มได้แต่งงานกับคุณอุดม บุณยประสพ เพื่อนนักเรียนกฎหมายรุ่นเดียวกัน ใน พ.ศ. 2477 มีบุตรด้วยกัน 2 คน

เนื่องจากสามีรับราชการเป็นข้าหลวงจังหวัดส่วนภูมิภาค จึงได้ลาออกจากงานเพื่อติดตามสามีที่ย้ายไปรับราชการในจังหวัดต่างๆ จนถึง พ.ศ. 2482 จึงได้กลับมาเข้าทำงานอีกครั้งหนึ่ง เป็นข้าราชการตำแหน่งหัวหน้ากองกลางและหัวหน้ากองกฎหมายของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รวมเวลารับราชการอยู่ประมาณ 8 ปี

 

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2516 - 2518 นั่งกลางคือคุณ ไพโรจน์ ชัยนาม (ประธาน) คุณหญิงอัมพร มีศุข และคุณหญิงแร่ม (นั่งด้านขวาและซ้ายของท่านประธาน)
คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2516 - 2518
นั่งกลางคือคุณ ไพโรจน์ ชัยนาม (ประธาน)
คุณหญิงอัมพร มีศุข และคุณหญิงแร่ม (นั่งด้านขวาและซ้ายของท่านประธาน)

 

เส้นทางสู่รัฐสภา

เนื่องจากเป็นผู้มีความรู้ทางกฎหมายใน พ.ศ. 2477 จึงได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการวิสามัญในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อร่างแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และ พ.ศ. 2489 ได้เป็นสมาชิกพฤฒิสภา คุณแร่มเล่าให้สตรีสารฟังว่า เนื่องจากได้มีโอกาสติดตามสามีไปอยู่จังหวัดต่างๆ ทำให้ได้เห็นความเป็นไปของประชาชนในชนบทต่างๆ อย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้คุณแร่มสนใจอยากมีส่วนช่วยเหลืออย่างจริงจัง จึงได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จังหวัดภูเก็ตเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2495 (ที่เลือกจังหวัดนี้เพราะมีความคุ้นเคยเป็นพิเศษจากการที่สามีมาเป็นข้าหลวงอยู่นาน) ผลปรากฏว่าได้รับเลือกเข้าสภาฯ ใน พ.ศ. 2500 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2501 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดภูเก็ตอีกเป็นครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2516 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติและในปี พ.ศ. 2517 ได้รับแต่งตั้งเป็นวุฒิสมาชิก

ในวิถีการเมืองและรัฐสภา คุณแร่มได้มีประสบการณ์ในการสมัครรับเลือกตั้งถึง 6 ครั้ง (สมัครที่ภูเก็ตทุกครั้ง) และได้สนับสนุนการสมัครของบุคคลอื่นอีก 3 ครั้ง ร่วมการรณรงค์ทางการเมืองที่ได้เกี่ยวข้อง 9 ครั้ง คุณแร่มได้ยอมรับว่าการเป็นนักการเมืองนั้นก็อาจทำความหนักใจให้ครอบครัวบ้างเหมือนกัน โดยเฉพาะสามีซึ่งเป็นข้าราชการ และผู้หญิงไทยส่วนใหญ่ก็ได้รับการอบรมสั่งสอนให้เป็นกุลสตรีเลี้ยงดูลูกอยู่กับบ้าน แต่คุณแร่มให้ความเห็นว่า ถ้าหากทำความเข้าใจกันได้ระหว่างแม่บ้านพ่อบ้านแล้ว ก็ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรค

ขณะที่อยู่ในรัฐสภา คุณแร่มเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาและแพ่ง เป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 2 (2495) เคยเป็นกรรมาธิการเศรษฐกิจและกรรมาธิการการปกครองของสภา คุณแร่มเป็นผู้อภิปรายในรัฐสภาที่มีหลักการและคารมดีผู้หนึ่ง เคยอภิปรายคัดค้านการเพิ่มภาษีน้ำมันเมื่อ พ.ศ. 2517 เคยเสนอร่าง พ.ร.บ. ให้โอนการทำงบประมาณจากสำนักนายกรัฐมนตรีไปกระทรวงการคลัง แต่ร่างนั้นตกไป

 

ความรู้สึกในการเป็นผู้แทนราษฎร

สตรีสารได้เรียนถามถึงความรู้สึกที่ได้รับเลือกตั้งครั้งแรก คุณแร่มกล่าวว่ามีความรู้สึกภาคภูมิใจมาก เพราะกว่าจะได้รับเลือกตั้งต้องรณรงค์กันอย่างเข้มแข็ง ได้ไปเยี่ยมเยียนประชาชนเกือบจะทุกบ้าน หลังจากได้รับเลือกตั้งแล้วได้ช่วยทางด้านการศึกษา การคมนาคม และการทำมาหากินของประชาชน การเป็นผู้แทนครั้งแรกได้อยู่ครบ 4 ปี แต่ครั้งที่ 2 อยู่เพียง 8 เดือน มีการรัฐประหารและยุบสภาในที่สุด

เมื่อเรียนถามว่าได้ผ่านการสมัครรับเลือกตั้งมาถึง 6 ครั้งแล้ว คิดว่าจะวางมือทางการเมืองหรือไม่

คุณแร่มได้กล่าวว่าเป็นเรื่องใจรักและเห็นว่าการช่วยประชาชนได้ดีที่สุด คือการมีบทบาทในสภาผู้แทนราษฎร ถ้ามีการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะสมัครอีกอย่างแน่นอน

 

คุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ

 

นักการเมืองในทัศนะของอดีต ส.ส.

“ดิฉันมีความเห็นว่านักการเมืองควรจะต้องเป็นผู้เสียสละ และไม่ควรถือเป็นอาชีพ เพราะคำว่าอาชีพหมายถึงการทำงานที่ได้รับประโยชน์ แต่นักการเมืองมิได้เป็นเช่นนั้น นักการเมืองควรเป็นผู้เสียสละให้กับประเทศชาติมากกว่าและควรทำอาชีพอื่นประกอบด้วย ถ้าไม่มีอาชีพอื่น อาศัยเงินเดือนเพียงอย่างเดียวไม่พอ และควรจะสร้างฐานะให้ดีพอควรที่จะช่วยตัวเองได้ และช่วยคนอื่นได้ด้วย”

 

งานธุรกิจโรงแรม

นอกจากการมีบทบาททางการเมือง คุณแร่มยังมีผลสำเร็จทางธุรกิจโรงแรมอีกส่วนหนึ่งด้วย เธอเล่าถึงเหตุจูงใจให้ทำกิจการโรงแรม ซึ่งนับว่าเป็นอาชีพใหม่ที่สตรีได้เป็นผู้บริหาร ว่าอันที่จริงไม่เคยคิดทำอาชีพธุรกิจการค้าเลย เพราะอยู่ในครอบครัวข้าราชการมาตลอด สามีก็เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ถึงระดับข้าหลวงภาค แต่เพราะเพื่อนๆ มาชักชวนและสนับสนุนให้ทำ เนื่องจากในระยะนั้นยังไม่มีโรงแรมดีๆ สำหรับนักท่องเที่ยว หรือผู้เดินทางจากต่างจังหวัดที่ไม่มีบ้านญาติมิตรในกรุงเทพฯ เลย จึงได้รวมทุนกันขึ้น ซื้อบ้านเก่าหลังหนึ่ง ตำบลบางลำพู ดัดแปลงเป็นโรงแรมขนาด 1 ห้องในปี พ.ศ. 2494

พอดำเนินกิจการไปได้เพียง 6 เดือน ผู้ร่วมทุนขอถอนตัวแต่ไม่ถอนทุน คือให้คุณแร่มเป็นผู้ดำเนินกิจการคนเดียว และถ้ามีผลกำไรจึงจะขอคืนทุน คุณแร่มเล่าว่าเป็นภาระที่หนักมากในตอนนั้น เพราะความที่ไม่เคยทำธุรกิจและไม่สันทัดการจัดการโรงแรม แต่ก็พยายามจนในที่สุดก็สามารถชำระคืนทุนให้เพื่อนๆ ได้ และกลายเป็นเจ้าของโรงแรมเวียงใต้คนเดียว ซึ่งขณะนั้นนับได้ว่าเป็นโรงแรมชั้นดีแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ และได้รับทุนช่วยจากธนาคาร ขณะนี้โรงแรมเวียงใต้มีห้องพัก 140 ห้อง ในช่วงหลังมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น และขณะที่เกิดสงครามเวียดนาม มีทหารอเมริกันเข้ามาเช่าถึง 120 ห้อง เพื่อใช้เป็นที่พักชั่วคราว กิจการของโรงแรมจึงเริ่มดีขึ้นตามลำดับ และเมื่อสงครามเวียดนามยุติ โรงแรมเวียงใต้ก็ได้กลายเป็นโรงแรมที่คนในต่างจังหวัดนิยมมาพักมาก ทุกวันนี้กิจการของโรงแรมก็นับว่ามั่นคง ห้องพักเต็มอยู่เสมอ

กิจการโรงแรมของไทยกลายเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว คุณแร่มเห็นความสำคัญของอาชีพนี้ จึงเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสมาคมโรงแรมขึ้นในประเทศไทย โดยเป็นผู้ร่างระเบียบการและไปจดทะเบียนด้วยตนเอง และได้ดำรงตำแหน่งอุปนายกของสมาคม

 

ผู้แทนราษฎรหญิง

เนื่องจากในการเลือกตั้งที่ผ่านมาแต่ละครั้งนั้น ปรากฏว่ามีสตรีได้เข้ามาสู่รัฐสภาเป็นจำนวนที่น้อยมาก คือครั้งละไม่ถึง 10 คน สตรีสารจึงได้เรียนถามว่าเป็นเพราะเหตุใด คุณแร่มได้ให้คำตอบที่น่าคิดว่า

“ผู้แทนราษฎรไม่ใช่อาชีพที่สงวนไว้สำหรับผู้ชาย ประชากรของประเทศมีกว่า 40 ล้านคน เป็นหญิงเสียเกือบครึ่งหนึ่ง จึงน่าเสียดายที่เรามี ส.ส. หญิงน้อยเกินไป น่าจะมีกันมากๆ จะได้ช่วยกันหลายๆ แรง ขณะนี้ผู้หญิงไทยตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น และจะมีการศึกษามากขึ้น เป็นที่หวังว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะมีผู้หญิงสมัครผู้แทนและได้รับเลือกตั้งในจำนวนที่มากกว่าที่เคยมีมา”

 

กลวิธีหาเสียง

“การหาเสียงไม่ว่าสมัยก่อนหรือสมัยนี้ก็ยากเหมือนกันทั้งนั้น ยิ่งสำหรับผู้หญิงการหาเสียงจะยากเป็นทวีคูณ พอลงสมัครแข่งขันคู่ต่อสู้ก็เริ่มอัดเทป คุณนายโรงแรม ไปปิดเป็นแบ็คกราวด์ มีการสร้างเรื่องใส่ร้ายป้ายสีกันอย่างชนิดคิดไม่ถึง กว่าจะรู้ตัวและไปแก้ไขชี้แจงก็แทบจะหมดเวลาและหมดหนทาง ผู้หญิงมักจะเสียเปรียบที่ไม่สามารถตอบโต้ได้อย่างหยาบๆ และไม่สันทัดในชั้นเชิงการปั้นเรื่อง จึงทำให้ประชาชนเขวและหลงเชื่อไปได้เพราะบุคคลส่วนมากก็มักฟังคำใส่ร้ายยิ่งกว่าคำชม และถึงแม้ตัวผู้สมัครเองไม่มีเรื่องจะให้ว่ากล่าวโจมตี ก็จะหันไปเอาพรรคการเมืองที่สังกัดมาสับโขก หรือประจานด่าหัวหน้าพรรคแทนก็มี”

สตรีสารได้เรียนถามว่า จริงหรือไม่ที่กล่าวกันว่าถ้าไม่มีเงินก็เป็น ส.ส. ไม่ได้ได้รับคำตอบว่า

“ในการเลือกตั้งที่ผ่านๆ มา ผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่ก็เป็นคนไม่มั่งมีมากกว่าครึ่ง แต่ว่าที่จริงแล้วผู้แทนราษฎรนั้นควรจะมีฐานะอยู่บ้าง ถ้าหากไม่มีอะไรเลยช่วยตัวเองไม่ได้ จะไปช่วยผู้อื่นได้อย่างไร อีกอย่างหนึ่ง ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงนั้น ไม่ใช่ว่าผู้สมัครอยากจะจ่ายอย่างทุ่มเท ต้องการจะให้รัฐบาลวางกำหนดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงไว้ด้วยซ้ำ ได้ยินว่ารัฐบาลก็กำลังดำริไว้ในกฎหมายเลือกตั้งฉบับใหม่ เพื่อความเป็นธรรมของทุกฝ่าย ป้องกันการทุ่มเทเลี้ยงดูแบบซื้อคะแนนเสียง ถึงแม้จะเรียกค่าสมัครให้สูงคุ้มกับค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ผู้สมัครก็ยินดีให้”

 

พรรการเมืองควรช่วยสร้างประชาธิปไตย

สตรีสารได้เรียนถามถึงพรรคการเมือง และการย้ายพรรคของผู้สมัคร ส.ส. ว่ามีผลอย่างไรบ้าง และโดยปกติประชาชนพอใจเลือกพรรคหรือเลือกตัวบุคคล คุณแร่มได้ตอบคำถามข้อนี้ว่า 

“ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2519 ประชาชนเริ่มเข้าใจระบบพรรคการเมืองมากขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าพรรคบางพรรคมีสมาชิกได้รับเลือกตั้งเข้ามามาก และบางพรรคซึ่งเคยมีผู้นิยมกลับไม่ได้รับเลือก แต่ถึงกระนั้นก็ตามประชาชนยังฝังแน่นกับตัวบุคคลมากกว่าพรรค เพราะเขายังเข้าใจว่า บุคคลที่เขาเลือกเข้าไปนั้นจะช่วยเหลือเขาได้ ผู้สมัคร ส.ส. จึงควรจะทำความเข้าใจกับประชาชนให้เข้าใจว่าระบบรัฐสภาคืออะไร ผู้แทนราษฎรนั้นมีหน้าที่ทำอะไรบ้าง และงานหน้าที่ ส.ส. นั้นจะต้องมุ่งประโยชน์ของส่วนรวม แต่ถ้าหากบ้านเมืองของเรามีระบบเศรษฐกิจดี ให้บริการแก่ประชาชนได้ทั่วถึง เช่น มีที่ให้เด็กเรียนหนังสือได้สะดวก เขาก็ไม่ต้องมาพึ่งผู้แทนให้ฝากลูกเข้าโรงเรียน เข้าทำงาน ฯลฯ”

 

สภาผู้แทนที่เหมาะสำหรับประเทศไทย

เนื่องจากคุณแร่มมีประสบการณ์ในรัฐสภาทั้งโดยการเลือกตั้งและแต่งตั้ง สตรีสารจึงได้เรียนถามถึงทัศนะส่วนตัวว่าชอบระบบสภาแบบไหน และคิดว่าแบบไหนเหมาะสมกับประเทศไทย ได้รับคำตอบว่า

“สำหรับประเทศไทย ถ้าหากจะมีสมาชิก 2 ประเภท ชอบให้มีสภาเดียวมากกว่าคือ มี ส.ส. ประเภทที่ 1 ได้รับการเลือกตั้ง และ ส.ส. ประเภทที่ 2 ได้รับการแต่งตั้ง แต่ถ้าจะมี 2 สภา สมาชิกวุฒิสภาก็ควรจะมาจากการเลือกตั้งด้วย”

 

การเลือกตั้งครั้งใหม่

สตรีสารได้เรียนถามว่า คิดว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ และคิดว่าประชาชนจะให้ความสนใจมากน้อยเพียงไร คุณแร่มได้ตอบคำถามข้อนี้ไว้อย่างน่าฟังว่า

“การเลือกตั้งนั้นคงจะมี เพราะเหตุว่าธรรมนูญการปกครองเขียนไว้อย่างนั้น แต่ถ้าจะพูดกันจริงๆ แล้ว ในสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ รัฐบาลปัจจุบันมีระยะเวลาอันสั้นในการบริหารบ้านเมือง น่าจะให้โอกาสรัฐบาลทำงานได้มากกว่านี้ก็คงจะเป็นการดีไม่น้อย สำหรับความสนใจของประชาชนนั้น คิดว่า ขณะนี้คนส่วนใหญ่เป็นห่วงเรื่องปากท้องของตนเองมากกว่าที่จะคิดถึงการเลือกตั้ง คือ ประชาชนต้องการที่จะมีงานทำ มีท้องอิ่ม มากกว่าอย่างอื่น ซึ่งถ้าปัญหา 2 ประการนี้ยังไม่ลุล่วง ประชากรก็ไม่สนใจการเมืองหรือการเลือกตั้งเท่าใดนัก เว้นแต่ในบางแห่งเท่านั้นที่อาจมีความสนใจเป็นพิเศษ

บางคนบอกว่าถ้ามีการเลือกตั้งแล้วเหตุการณ์จะคลี่คลาย ก็ต้องคอยดูกันต่อไป อีกอย่างหนึ่งถ้ามีการเลือกตั้งจริงๆ เปอร์เซ็นต์ความสนใจของประชาชนที่จะมาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งก็คงจะไม่เพิ่มขึ้นนัก เพราะว่าถึงแม้จะสนใจแต่ตราบใดที่ท้องเขายังหิวอยู่ ก็จะสนใจกับการทำมาหากินยิ่งกว่าการเลือกตั้ง และถ้าการเลือกตั้งนั้นประชาชนยังไม่ค่อยได้รับความสะดวกในการเดินทางมายังหน่วยเลือกตั้งเขาก็จะยิ่งหมดความสนใจไปเลย”

 

คุณแร่มเป็นทั้งนักการเมืองและนักธุรกิจที่แทบจะไม่มีเวลาว่างเลย เมื่อครั้งที่สามีถึงแก่กรรมใหม่ๆ ก็ต้องเป็นทั้งพ่อและแม่ เลี้ยงดูบุตร 2 คน และได้ยืนหยัดต่อสู้ตามวิถีทางของการเมืองไทยในระบอบประชาธิปไตยมาทุกสมัยโดยไม่ย่อท้อ และขณะเดียวกันก็ประกอบอาชีพธุรกิจโรงแรมจนได้รับความสำเร็จในที่สุด

ถ้าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมีขึ้น คุณแร่มคงเป็นผู้หนึ่งที่กระโดดเข้าสู่เวทีการเลือกตั้งเหมือนดังที่ปรารถนาไว้ และชาวจังหวัดภูเก็ตจะได้พบกับ คุณแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ ที่ออกหาเสียงไปถึงทุกประตูบ้านอีกครั้งหนึ่งอย่างแน่นอน

 

หมายเหตุ : คัดจากคำสัมภาษณ์ในนิตยสารสตรีสาร ประมาณปี พ.ศ. 2520

อ้างอิง : “กฎหมายและการเมือง มุมมองของคุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ.” ใน “อนุสรณ์ พระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ”. (กรุงเทพฯ: หอรัตนชัยการพิมพ์). หน้า 30 - 36.