“คุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ” หรือ “พี่แร่ม” ของดิฉัน เป็นผู้หญิงเก่งคนหนึ่ง ที่ดิฉันยึดเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตหลายๆ แง่มุม
ท่านเป็นคนดังมาตั้งแต่ดิฉันยังเรียนหนังสืออยู่ต่างจังหวัด จึงไม่แปลกที่ดิฉันรู้จักชื่อเสียงของท่านมานานมาก ก่อนที่จะมีโอกาสได้รู้จักตัวจริงของท่าน เนื่องจากครอบครัวของดิฉันเป็นครอบครัวนักกฎหมาย พ่อ พี่ชาย และพี่เขยสองคน ล้วนมีอาชีพเป็นทนายความ ตั้งแต่เด็กดิฉันจึงมักได้ยินท่านผู้ใหญ่คุยกันเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นในแวดวงกฎหมายเสมอๆ เรื่องหนึ่งที่จำได้ไม่ลืมคือ เมื่อหนังสือพิมพ์ลงข่าวว่า น.ส.แร่ม พรหโมบล เรียนกฎหมายจบ เป็นเนติบัณฑิตหญิงคนแรกของประเทศไทย ข่าวนี้นับว่าเป็นข่าวใหญ่ที่ทำให้พ่อ เพื่อนพ่อ และพี่ๆ ฮือฮากันมาก ทุกคนพากันวิพากษ์วิจารณ์เพราะคิดไม่ถึงว่าจะมีผู้หญิงที่เก่งกาจจนสามารถสอบเป็นเนติบัณฑิตได้
ส่วนตัวดิฉันเองนั้น นอกจากจะรู้สึกตื่นเต้นและภูมิใจในตัวท่าน ที่ได้แสดงให้ทุกคนเห็นกันทั่วหน้าว่า ถ้าให้โอกาสผู้หญิงก็มีความสามารถที่จะทำได้เท่าเทียมกับผู้ชาย ยังเกิดแรงบันดาลใจที่จะดำเนินรอยตามท่านอีกด้วย ดิฉันคิดจะเรียนกฎหมาย ทั้งๆ ที่ก่อน หน้านี้ ถึงแม้จะชอบอ่านหนังสือกฎหมายของพ่อ และสนใจฟังผู้ใหญ่คุยกันเกี่ยวกับแง่มุมต่างๆ ของกฎหมาย แต่ไม่เคยคิดแม้แต่น้อยว่าสังคมจะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเรียนได้ การที่ต่อมาภายหลังดิฉันได้เรียนกฎหมาย และได้ใช้วิชานี้ทำประโยชน์ให้กับตนเอง กับครอบครัวและกับสังคม จนกระทั่งทุกวันนี้ก็เพราะได้ท่านเป็นต้นแบบนั่นเอง จึงไม่เคยลืมว่าท่านเป็นผู้แผ้วถางทางให้ดิฉันสามารถเดินตามรอยได้อย่างภาคภูมิ
ดิฉันได้รู้จักพี่แร่มเมื่อแต่งงานกับคุณศิริ สันตะบุตร เพราะเพื่อนรักของคุณศิริคือคุณสมพร บุณยประสพ เป็นน้องชายของคุณอุดม สามีของพี่แร่ม คุณศิริรักใคร่คุ้นเคยกับพี่ๆ น้องๆ ของคุณสมพรเสมือนญาติสนิท ทำให้ดิฉันพลอยได้รู้จักทุกคนในครอบครัวไปด้วย เมื่อได้พบพี่แร่มครั้งแรกนั้นดิฉันจำความรู้สึกของตัวเองได้ว่าตื่นเต้นดีใจมาก เพราะนอกจากจะเป็น “แฟนคลับ” ของท่านตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนแล้ว ในเวลานั้นท่านยังเป็นผู้มีชื่อเสียงในสังคม ทำให้ดิฉันภูมิใจที่ได้รู้จักกับผู้หญิงเก่งแถวหน้าของประเทศ จนแอบฝันอยากจะเป็นอย่างท่านบ้าง
หลังจากนั้นเมื่อได้พบกันครั้งใด ท่านก็จะพูดจาด้วยอย่างดีเสมอ แต่ที่ประทับใจมากที่สุดก็คือ เมื่อเราทั้งสองเข้าร่วมเป็นสมาชิกสโมสรวัฒนธรรมหญิง ซึ่งท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ก่อตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมบรรดาภรรยาของข้าราชการให้มาพบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และร่วมใจกันทำงานให้เป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ ในขณะนั้นดิฉันเพิ่งย้ายตามสามีเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ หลังจากประจำอยู่ตามจังหวัดต่างๆ นานหลายปี จึงรู้สึกเคอะเขินเมื่อต้องเข้าสังคมเมืองหลวงเป็นครั้งแรก
พี่แร่มคงสังเกตเห็นความอึดอัดไม่สบายใจของดิฉัน ท่านกรุณาเดินเข้ามาทักทายและพูดคุยด้วยอย่างเป็นกันเอง ทำให้ดิฉันคลายความประหม่าเก้อเขินไปได้ ขณะเดียวกันก็รู้สึกขอบคุณและซาบซึ้งในความเมตตาและไมตรีจิตที่ท่านหยิบยื่นให้ ดิฉันคิดว่าตัวเองโชคดีที่ได้รู้จักท่าน และได้ยึดท่านเป็นแบบอย่างในการเข้าสังคม เพราะในสายตาของดิฉันท่านเป็นสุภาพสตรีที่สามารถวางตัวได้เหมาะสมสวยงามในทุกสถานการณ์
นอกจากที่ได้ร่วมทำงานกับท่านที่สโมสรวัฒนธรรมหญิงแล้ว เหตุการณ์ที่ทำให้ดิฉันได้ใกล้ชิดท่านมากที่สุดก็คือ เมื่อท่านและดิฉันเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิสตรีระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๒-๒๕๑๙ พี่สุภัทร (คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ) ซึ่งขณะนั้นเป็นนายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมาย และเป็นผู้จุดประกายในการเรียกร้องสิทธิให้กับสตรีไทย ได้เขียนเล่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ในหนังสือ “สิทธิสตรี ประวัติและวิวัฒนาการของการเรียกร้องสิทธิสตรีไทย” เอาไว้อย่างน่าสนใจ
ดิฉันขอลำดับเหตุการณ์โดยคัดลอกข้อความบางตอนมาลงไว้ในที่นี้ เพื่อให้เห็นภาพของการต่อสู้ในการให้ได้มาซึ่งสิทธิของสตรี ซึ่งพี่แร่มมีส่วนร่วมมาตั้งแต่แรกเริ่ม จนประสบความสำเร็จในที่สุด ดังต่อไปนี้
การเรียกร้องสิทธิสตรีนั้นได้เกิดขึ้นมาช้านานแล้ว โดยพวกเราสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายฯ ได้ค้นคว้าและพูดกันขึ้นเมื่อปี ๒๔๙๒ แต่ขณะนั้นเรายังไม่ได้พูดเป็นเรื่องเป็นราวอึกทึก จนกระทั่งมาปี ๒๕๑๒ ในปีนั้นข้าพเจ้าเป็นนายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายฯ มีคุณแร่มเป็นอุปนายก และคุณจันทนีเป็นกรรมการเราได้ร่วมออกข่าวในหนังสือพิมพ์ให้คนทั้งปวงทราบถึงปัญหาที่หญิงซึ่งทำการสมรสแล้ว ถูกจำกัดสิทธิหลายอย่างหลายประการ อันก่อความเดือดร้อนและความไม่เสมอภาค ทำให้เกิดความขัดข้องในด้านเศรษฐกิจนานาประการ ตลอดจนการที่สตรีถูกจำกัดสิทธิไม่เท่าเทียมชายอีกหลายประการ
ขณะนั้นความคิดเห็นของผู้หญิงแยกออกเป็น ๓ พวก
๑. เห็นด้วย
๒. ยังลังเล
๓. คัดค้าน
พวกที่เชื่อก็ตามเรามา ร่วมมือกัน ช่วยกันพูด พวกที่ไม่เชื่อ กล่าวตำหนิติเตียน พวกที่สงสัยนิ่งเฉยอยู่
แต่ขณะเดียวกัน ก็มีหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่ล้อเลียน และเห็นว่าการที่เราลุกขึ้นพูดเรียกร้องสิทธิสตรีนี้ไม่ถูกต้อง เป็นเรื่องที่ผู้หญิงอยากจะมีสามีมาก ผู้หญิงอยากจะเป็นใหญ่ เป็นช้างเท้าหน้า ตัวดิฉันเองนี้ถูกวาดภาพเป็นผู้หญิงอ้วน รับประทานหมากและพ่นน้ำหมากออกมาปลิวกระจาย คือเป็นตัวตลก บางทีก็เป็นตัวช้างทำท่าจะก้าวไปข้างหน้า
พวกเราหลายคนที่ออกไปพูดตามสถานที่ต่างๆ ถูกล้อเลียน มีคุณแร่ม คุณวิมลศิริ คุณจันทนี ตัวเก็งสำคัญๆ ในขณะนั้นก็ออกพูดกันบ่อยๆ เราทำการคัดเลือกคนของเราที่เป็นนักพูด ออกช่วยกันหาเสียง
หลักสำคัญที่เราต้องการก็คือ เราขอสิทธิเสมอภาคให้กับผู้หญิงทั้งปวง เราขออย่างพินอบพิเทา และไม่ได้ขออะไรมากเลย เราขอเท่าที่พวกเราพบความเดือดร้อน
การที่พวกเราพูดหาเสียงและขณะที่เราทุกคนรวมกัน เราก็อ้างว่ากฎบัตรสหประชาชาติได้ประกาศให้สิทธิเสรีภาพแก่มนุษยชนทั่วโลกแล้ว การที่ผู้ชายจะไม่ให้สิทธิผู้หญิงเสมอภาคนี้ ก็นับเป็นส่วนหนึ่งของการกดไม่ให้ความเจริญเกิดขึ้นกับประเทศของตนเลย เรื่องนี้เป็นความจริง ในขณะนี้จะเห็นได้ว่าเมื่อผู้ชายยกผู้หญิงขึ้นมาให้มีสิทธิมีเสียง มีความเจริญมากขึ้นเท่าใดก็ตาม ประเทศเราก็จะเจริญขึ้น มีหน้ามีตาด้วย
พวกเราได้ร่วมกันร่างจดหมายขึ้นฉบับหนึ่ง ขอแก้กฎหมายเพื่อยกฐานะสตรีให้ดีขึ้น หนังสือฉบับนี้พวกเราบัณฑิตสตรีทางกฎหมายได้ร่วมมือกันค้นคว้าเหน็ดเหนื่อยหลายวัน ในการประชุมคราวนี้ ส่วนใหญ่เราได้ประชุมที่เวียงใต้ อันเป็นโรงแรมของคุณแร่ม และตัวคุณแร่มเป็นเรี่ยวแรงสำคัญช่วยร่างหนังสือฉบับนี้กว่าจะเสร็จเราก็ใช้เวลาเป็นเดือนๆ และได้ยื่นจดหมายฉบับนี้ต่อนายกรัฐมนตรี คือท่านนายกถนอม กิตติขจร เมื่อ ๕ มกราคม ๒๕๑๓ หลังจากยื่นแล้วพวกเราก็ได้ช่วยกันออกอภิปรายเขียนบทความ และต่อมาได้รับความร่วมมือจากสมาคมต่างๆ มากขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งผู้หญิงที่ไม่เห็นด้วยแต่เดิมก็เริ่มกลับมาเห็นด้วย และผู้ที่สงสัยก็กลับมาเห็นด้วย เสียงของผู้หญิงรวมกันแน่นขึ้นทุกที จนกระทั่งเป็นผลดี ทำให้สุภาพบุรุษทั้งหลายซึ่งแต่เดิมนั้นก็ไม่ค่อยเห็นด้วยอ่อนลง และให้การสนับสนุนในที่สุด
เหตุการณ์สำคัญ
มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น คือจะว่าเป็นเรื่องบังเอิญฟลุ๊คหรืออะไรก็ไม่ทราบ เมื่อเราเริ่มพูดเริ่มรณรงค์กันแต่แรกนั้น เรานึกไม่ออกเลยว่าสิ่งที่เราทำนี้จะสำเร็จลงได้ในอายุของพวกเรานี้ ตัวดิฉันนึกว่าตายไปก่อนแน่ ก็เตรียมถ่ายทอดงานไว้ให้เพื่อนรุ่นน้องๆ รับทำต่อ เพราะรู้สึกว่ายาก แต่ต้องเรียกว่าฟลุ๊คจริงๆ คือได้เร็วเกินกว่าที่เราคาดมากทีเดียว เกิดเรื่องสำคัญขึ้น เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ มีการจลาจลวุ่นวาย มีการตั้งสภาผู้แทนฯ ขึ้นที่เรียกว่าสภาผู้แทนสนามม้า หวังว่าท่านคงยังจำเหตุการณ์นั้นได้ เมื่อตั้งสภาแล้วมีการเลือกตั้งขึ้น เราได้รัฐบาลขึ้นมา ก็ทำการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นฉบับหนึ่ง รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความสำคัญเหลือเกิน เวลานั้นผู้หญิงได้มีโอกาสได้รับการแต่งตั้งเข้าไปอยู่ในสภาผู้แทนหลายคน ซึ่งเป็นนักกฎหมายด้วย เช่น คุณแร่ม คุณจันทนี และนับเป็นโชคดีอย่างยิ่ง ที่ผู้หญิงทุกคนในสภาช่วยกันอย่างแข็งขันเป็นอันหนึ่งอันเดียว
เรื่องขอสิทธิเสมอภาคนี้ได้พูดกันว่า รัฐธรรมนูญนั้นควรจะได้แก้ไขประการสำคัญคือว่า ให้สิทธิเสมอภาค บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเลย ผลก็ออกมาว่า สภาผ่านให้ร่างไว้ในรัฐธรรมนูญ คุณแร่มมีโอกาสเข้าไปเป็นกรรมาธิการด้วย ก็เป็นเสียงสำคัญของฝ่ายผู้หญิงเรา การโต้เถียงกันในที่ประชุมซึ่งเป็นวงแคบนั้นก็ได้ผลออกมาว่า สภาได้ผ่านให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมา โดยมีมาตรา ๒๘ บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ว่า “หญิงและชายมีสิทธิเท่าเทียมกัน” และบทบัญญัติใดๆ ซึ่งกดไม่ให้ผู้หญิงเท่าเทียมชายแล้ว ให้เลิกให้หมดภายใน ๒ ปี นับตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๑๗ หมายความว่าภายใน ๒ ปีก็ต้องเป็นปี ๒๕๑๙ ในระหว่างนั้นมีการแก้ไขเรื่องราวต่างๆ กันตลอดมา
เมื่อรัฐธรรมนูญได้ประกาคใช้ออกมาแล้ว รัฐบาลก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อแก้ไขกฎหมายประมวลแพ่งฯ ให้เสร็จทันให้ได้ การแก้ไขนี้ผ่านมาตามลำดับ คือผ่านมาทางสภาล่าง ในสภานี้มีผู้หญิงหลายคนช่วยกันมาก ผู้หญิงที่เป็นผู้แทนราษฎรได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน และมาผ่านสภาสูง ซึ่งเป็นสภาที่ได้รับการแต่งตั้ง ไม่ใช่เลือกตั้ง มีนักกฎหมายเข้าไปเป็นวุฒิสมาชิกขณะนั้น ๓ คนคือ ดิฉันคุณแร่ม และคุณจันทนี เราทั้ง ๓ คนโชคดีมาก เพราะว่าเราติดตามงานเรื่องสิทธิสตรีของเรานี้มาตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเมื่อเราโชคดีได้เข้าไปอยู่ในวุฒิสภา ก็มีโอกาสที่จะได้ช่วยเรื่องนี้ ในขณะที่กฎหมายนี้ผ่านสภาล่างไปถึงสภาสูงก็ไปเจอพวกเรา ๓ คน ตั้งป้อมจ้องกันอยู่แล้ว เราได้ช่วยกันมากมายที่จะให้กฎหมายนี้ออกมาให้เร็วที่สุด ให้ทันวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๑๙ ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นอีก
วันประวัติศาสตร์
ในที่สุดประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับครอบครัวที่แก้ไขแล้วก็มีสถานะเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้สมบูรณ์ เมื่อได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๑๙
นอกจากนี้สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญปี ๒๕๑๗ ที่ให้สตรีมีสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมกับบุรุษ ก็ส่งผลให้มีการแก้ไขบทบัญญัติและหลักการสำคัญหลายเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิสตรี เช่น กระทรวงมหาดไทย แก้กฎกระทรวงให้สิทธิสตรีรับราชการเป็นอัยการ ปลัดอำเภอ นายอำเภอ ได้เช่นเดียวกับชาย กระทรวงยุติธรรมแก้ไขพระราชบัญญัติ เปิดโอกาสให้สตรีเป็นผู้พิพากษาได้ทุกศาล กระทรวงกลาโหมแก้ข้อบังคับ ซึ่งเดิมกำหนดให้ทหารหญิงมียศสูงสุดได้เพียงขั้นพันโท นาวาโท และนาวาอากาศโท เปลี่ยนเป็นให้ทหารหญิงสามารถมียศสูงสุดได้ตามยศทหารที่มีอยู่ (ขั้นจอมพล) หรือแม้แต่พระราชบัญญัติท้องที่ก็กำหนดใหม่ให้ผู้หญิงเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้เช่นเดียวกับผู้ชาย เป็นต้น
ทั้งหมดทั้งปวงนี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยอย่างใหญ่หลวง ผู้หญิงไทยมีโอกาสได้ประกอบอาชีพหลากหลาย ที่ก่อนหน้านี้ไม่อาจทำได้และยังสามารถก้าวไกลในหน้าที่การงานของตนเอง เท่าเทียมกับผู้ชายได้อย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน และเมื่อเปิดโอกาสให้ สังคมไทยในปัจจุบันจึงมีผู้หญิงดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ทัดเทียมกับผู้ชาย เช่น เป็นรัฐมนตรี วุฒิสมาชิก ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้พิพากษา อัยการ เอกอัครราชทูต ทหารระดับนายพล ผู้ว่าราชการจังหวัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ สตรีไทยที่เดิมเปรียบเปรยกันว่าเป็นช้างเท้าหลัง ก็ได้ก้าวขึ้นมาเดินเดียงคู่กับบุรุษ รวมกันเป็นพลังสองแรงเพื่อผลักดันสังคมและประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรือง
พี่แร่มเป็นบุคคลที่มีคุณูปการต่อผู้หญิงไทยทุกคน เพราะถ้าปราศจากท่านซึ่งเป็นผู้หนึ่งซึ่งทุ่มเทแรงกายแรงใจต่อสู้ฟันฝ่ามาอย่างยาวนาน เพื่อให้สตรีไทยมีสิทธิเท่าเทียมกับบุรุษแล้ว สังคมไทยก็อาจจะยังไม่ให้โอกาสผู้หญิงได้ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ชาย และได้มีโอกาสเจริญก้าวหน้าอย่างทุกวันนี้
ดิฉันเชื่อว่าพี่แร่มของดิฉันต้องมีความสุขสงบในสัมปรายภพอย่างแน่นอน เพราะในช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ท่านเป็น “ผู้ให้” มากกว่าผู้รับ[1]
หมายเหตุ :
- ภาพประกอบจากต้นฉบับ
บรรณานุกรม
- จันทนี สันตะบุตร, “ระลึกถึงพี่แร่ม ผู้มีส่วนร่วมในการเรียกร้องสิทธิสตรีไทย” ใน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ ม.ป.ช., ม.ว.ม., ต.จ. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร, วันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2551. กรุงเทพฯ: หอรัตนชัยการพิมพ์, 2551.
[1] จันทนี สันตะบุตร, “ระลึกถึงพี่แร่ม ผู้มีส่วนร่วมในการเรียกร้องสิทธิสตรีไทย” ใน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ ม.ป.ช., ม.ว.ม., ต.จ. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร, วันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2551 (กรุงเทพฯ: หอรัตนชัยการพิมพ์, 2551), 135-140.