Focus
- บทความนี้นำเสนอชีวประวัติย่อและบทบาทด้านสิทธิสตรีของคุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ ผู้เป็นเนติบัณฑิตหญิงคนแรกของประเทศไทย เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และอุปนายกคนแรกของสมาคมสตรีไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 และเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันมาตรา 28 ซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ว่า “หญิงและชายมีสิทธิเท่าเทียมกัน” และยังสะท้อนให้เห็นสิทธิสตรีสมัยใหม่ในทศวรรษ 2470 ซึ่งเป็นยุคเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจการเมืองที่สำคัญของสยามโดยเฉพาะการให้โอกาสสตรีได้เข้าเรียนโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม เป็นครั้งแรก
ชีวประวัติย่อของคุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ
คุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ ม.ป.ช., ม.ว.ม., ต.จ. เป็นธิดาคนโตของ พ.ต.อ.พระยาบุเรศผดุงกิจ (รวย พรหโมบล) อดีตอธิบดีกรมตํารวจ และนางพร้อม พรหโมบล (อินธํารงค์) เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๔ ณ บ้านตําบลหลังวังบูรพา กรุงเทพฯ มีน้องชาย-หญิงรวม ๕ คน ซึ่งถึงแก่กรรมไปก่อนหน้า และยัง มีพี่-น้องต่างมารดาอีก ๑๓ คน
คุณหญิงแร่มสมรสกับนายอุดม บุณยประสพ บุตรพระยาบุณยธรรมธาดา (บุญ บุณยประสพ) และคุณหญิงเสี้ยน บุณยธรรมธาดา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ มีบุตร-ธิดา ๒ คน คือ
๑. นางอรนุช โอสถานนท์ อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง พาณิชย์ ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ สมรสกับนายวีระ โอสถานนท์ อดีตรองเลขาธิการสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
๒. พล.ต.กฤษฎา บุณยประสพ อดีตเสนาธิการประจําผู้บังคับบัญชา หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (พล.อ.สุนทร ฉายเหมือนวงศ์)
ด้านการศึกษา
พ.ศ. ๒๔๗๑ เป็นนักศึกษากฎหมายหญิงคนแรกของประเทศไทย
พ.ศ. ๒๔๗๓ จบวิชากฎหมายชั้นเนติบัณฑิตไทย เป็นสตรีคนแรกของประเทศไทย
พ.ศ. ๒๕๓๑ ได้รับพระราชทานปริญญารัฐประศาสนศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ได้รับประกาศเกียรติคุณจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะศิษย์เก่าผู้บําเพ็ญคุณประโยชน์ ใน พ.ศ. ๒๕๔๗
ประวัติการทํางาน
- เป็นสตรีคนแรกแห่งประเทศไทยที่มีอาชีพทนายความเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ (กฎหมายยังไม่อนุญาตให้สตรีเป็นตุลาการ)
- เป็นทนายความในสํานักงานทนายความติลลิกและกิบบินส์ ๙ ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๓-๒๔๘๑
- พ.ศ. ๒๔๘๓ เข้ารับราชการในสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงการคลัง ในตําแหน่งที่ปรึกษากฎหมาย และได้รับตําแหน่งหัวหน้ากองกฎหมายและหัวหน้ากองกลาง รวมเป็นระยะเวลา ๑๐ ปี ลาออกเพื่อสมัครผู้แทนราษฎร
- เป็นทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย สํานักงานทนายความนิติธารณ์ และสํานักงานทนายความแร่มและเพื่อน
ด้านการเมือง
- พ.ศ. ๒๔๗๓ ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการวิสามัญในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยกร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว มีเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์เป็นประธานกรรมาธิการ
- พ.ศ. ๒๔๘๙ สมัครพฤฒิสภา เป็นสตรีคนแรกที่เข้าสมัครทางด้านการเมือง
- พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๕๐๐ ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต
- พ.ศ. ๒๕๐๐ สมัครผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต ไม่ได้รับเลือกตั้ง แต่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท ๒
- พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เป็นครั้งที่ ๒
- พ.ศ. ๒๕๑๒, ๒๕๑๘, ๒๕๑๙ ได้สมัครเป็นผู้แทนอีก ๓ ครั้ง ไม่ได้รับเลือกตั้ง
- พ.ศ. ๒๕๑๖ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ และเป็นกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ
- พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษากฎหมายสํานักนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาฝ่ายนิติบัญญัติของนายกรัฐมนตรี
- พ.ศ. ๒๕๑๙ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา
- พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษากฎหมายนายกรัฐมนตรี
- พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ เป็นกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ และเป็นที่ปรึกษากฎหมายนายกรัฐมนตรี
ด้านสังคม
- ร่วมเป็นผู้ก่อตั้งสมาคมสตรีไทย เพื่อยกฐานะสตรีและสังคม เป็นอุปนายกคนแรกของสมาคม ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕
- ร่วมเป็นผู้ก่อตั้งสมาคมโรงแรมและเป็นนายกสมาคมโรงแรมไทย ร่วมเป็นผู้ก่อตั้งสมาคมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
- นายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมาย
- กรรมการบริหารสมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย
- กรรมการที่ปรึกษาของสภาสังคมสงเคราะห์
- ประธานกรรมการอํานวยการของกลุ่มสมาชิกสมทบสภาสตรีฯ ในการปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรม
ด้านกฎหมาย
- เป็นกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติหลายฉบับในรัฐสภา กรรมการร่างกฎหมายในคณะกรรมการกฤษฎีกา
- กรรมการมารยาททนายความ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๒๖
- กรรมการสอบไล่เนติบัณฑิต
ด้านการบุญ
คุณหญิงมีพระพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจตลอดมา เป็นพุทธศาสนิกชน ที่ดี ได้บริจาคข้าวสารให้วัดราชบพิธฯ และวัดชนะสงครามเป็นประจําทุกเดือน เป็นระยะเวลายาวนานมากกว่า ๑๐ ปี จนถึงปัจจุบัน เป็นเจ้าภาพกฐิน บริจาคเงินเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลฯ ให้ทุนการศึกษาทั้งระดับมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัย บริจาคให้สภากาชาด โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ฯลฯ สร้างพระพุทธรูปถวายวัดต่าง ๆ ทําบุญตักบาตรทุกวัน และร่วมทําบุญทุกครั้งที่มีผู้บอกบุญ รับเป็นธุระถวายปิ่นโตแก่พระภิกษุนวกะที่วัดบวรนิเวศวิหารเป็นประจํา เป็นแบบอย่างที่ดีของลูกหลานซึ่งได้เข้าร่วมปฏิบัติธรรมตั้งแต่อายุยังน้อย
งานพิเศษระดับชาติ
- พ.ศ. ๒๔๗๗ เศรษฐกิจของไทยกําลังตกอยู่ในภาวะทรุดโทรมประชาชนขัดสน รัฐบาลได้จัดจําหน่ายพันธบัตรเงินกู้ช่วยชาติ เพื่อระดมทุน จากประชาชน (ซึ่งเป็นของใหม่สําหรับคนไทย และไม่มีผู้เชื่อถือ) จึงได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลให้เป็นหัวหน้าคณะกรรมการเฉพาะกิจ ไปติดต่อจําหน่ายบัตรจนถึงตัวของผู้ซื้อพันธบัตร แบบเคาะทุก ๆ ประตูบ้านของคหบดีคหปตานี ในยุคนั้น เพื่อชี้แจงและทําความเข้าใจ นับว่าเป็นหญิงคนแรกซึ่งได้รับความไว้วางใจให้ปฏิบัติหน้าที่นี้ โดยไม่ได้เป็นข้าราชการหรือตําแหน่งใด ๆ ของรัฐ
- พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นหญิงคนแรกจากประเทศไทยที่ได้พูดเรื่องรัฐสภา และเหตุการณ์ทั่วไปของประเทศไทยในรัฐสภาอเมริกัน ในคราวประชุมสหภาพรัฐสภา และมีส่วนจูงใจให้รองประธานรัฐสภาของประเทศไทยขณะนั้นได้รับการเลือกตั้งให้เป็นมนตรีคนแรกของสหภาพรัฐสภา
เนติบัณฑิตหญิงคนแรกของสยาม
ในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง ฉบับวันเสาร์ที่ ๑๔ มีนาคม ๒๔๗๓ ได้กล่าวต้อนรับและแสดงความยินดีแก่นางสาวแร่ม พรหมโมบล เนติบัณฑิตหญิงคนแรกของสยามไว้ดังนี้
“ต้อนรับ น.ส. แร่ม พรหโมบล ไว้ในประวัติการณ์
เป็นธรรมเนียมอันหนึ่งของชาติที่เจริญแล้ว ย่อมยินดีต้อนรับผู้ที่ทําประวัติไว้ในชาติ เช่นเมื่อไม่ช้าไม่นานมานี้ ประเทศชาวตะวันออกมีประเทศญี่ปุ่น จีน พม่า และอินเดียได้มีสตรีสอบไล่ได้กฎหมายเป็น เนติบัณฑิตของชาติบ้าง สอบไล่ได้บัณฑิตบ้าง ล้วนแต่เป็นคนแรกที่ทําประวัติให้แก่ชาติและประเทศนั้น ๆ ก็ได้บรรจุสตรีเหล่านั้นไว้ในประวัติการณ์ เพื่อเป็นเครื่องระลึกและหนุนน้้ำใจประชาชนให้เกิดความมานะยิ่งยวด และบรรดาหนังสือพิมพ์ก็เป็นปากเสียงสนับสนุนให้ความแพร่หลาย ล่วงรู้ถึงกันทั่วสากล ดังเราเคยนําลงไว้แล้วเนือง ๆ
ฉะนั้น ถึงคราวที่ประเทศเราได้มีสตรีสอบไล่ได้กฎหมายเป็นเนติบัณฑิตสยามคนแรกดังนี้ ก็เป็นหน้าที่เราที่จะต้องต้อนรับไว้ในประวัติการณ์ดุจเดียวกัน
นางสาวแร่ม พรหโมบล ผู้นี้เป็นบุตรีนายพันตํารวจเอกพระยาบุเรศร์ผดุงกิจ (รวย พรหโมบล) อายุ ๘ ขวบ ได้เข้าเป็นนักเรียนคอนเวนท์เรียนอยู่จนถึงอายุ ๑๖ ปี ก็สอบได้ชั้น 8 บริบูรณ์ นางสาวแร่มได้พยายาม เรียนสําเร็จทั้งสองภาษา คือ อังกฤษและฝรั่งเศส ครั้น วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ได้ออกจากคอนเวนท์ มาเข้าเรียนกฎหมาย สอบกฎหมายภาค ๑ ได้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ พอ พ.ศ. ๒๔๗๓ นี้ สอบไล่ได้ภาค ๒ เป็น เนติบัณฑิตสยามทีเดียว นับว่าเธอเรียนในเวลารวดเร็วมาก ซึ่งสมควรเทอดไว้ในประวัติการณ์ด้วย
นอกนั้นยังปรากฏว่า นางสาวแร่มมีนิสสัยชอบหนังสือมาตั้งแต่เล็ก ๆ กล่าวคือ เมื่อเธออายุได้ ๑๒ ขวบ ได้ประพันธ์หนังสือออกจําหน่ายเรื่องหนึ่ง ซึ่งเวลานี้ยังมีจําหน่ายอยู่ในท้องตลาด นิสสัยอันนี้เองย่อมบ่งความไหวพริบในการเรียนกฎหมายได้อย่างรวดเร็วดังนี้
โอกาสนี้ เราขอให้นางสาวแร่ม พรหโมบล จงประสพผลสัมฤทธิ์สมมโนรถทุกประการ เทอญ”
บทบาทด้านสิทธิสตรีของคุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ
อาริยา สินธุ ได้เขียนบทความเรื่องสิทธิสตรีไทย จากวันวาน.....ถึงวันนี้ ไว้ในนิตยสารสกุลไทย พร้อมทั้งกล่าวถึงการสมัครเข้าเรียนโรงเรียนกฎหมายของคุณหญิงแร่มไว้ด้วยว่า
ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ๒๔๗๕ การศึกษาวิชากฎหมายของไทยยังอยู่ที่กระทรวงยุติธรรม ซึ่งเปิดสอนแต่เฉพาะผู้ชาย สมัยเจ้าพระยาอภัยราชาฯ เป็นเสนาบดี ได้มีนางสาวผ่องศรี บุตรขุน/หลวง/พระยาไกรศรี เป็นหญิงไทยคนแรกที่แสดงความจํานงขอสมัครเข้าเรียนกฎหมายแต่ไม่ได้รับอนุญาต จวบจนถึงยุคเจ้าพระยาพิชัยญาติ เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม นางสาวแร่ม พรหโมบล ขอสมัครเข้าเรียนกฎหมายก็ได้รับอนุญาตต่อมาคุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังถึงนาทีสําคัญครั้งนั้นว่า
“วันนั้น ดิฉันใส่เสื้อคอปิดมิดชิด นุ่งผ้าซิ่นยาว ยืนอยู่หน้าห้องด้วยความหวั่นเกรง แต่ก็สูดหายใจเข้าแรง เตรียมตัวให้กล้า ประตูสมัยก่อนเปิดกว้าง แต่มีม่านเป็นไม้เปิดปิดกั้นบังตาการเข้าออก ก็เพียงแต่ผลัก เมื่อท่านเสนาบดีเอ่ยปากส่งเสียงให้เข้ามาได้ดิฉันไม่ได้ผลักม่านไม้นั้นแล้วเดินเข้าไป
แต่ดิฉันก้มลอดใต้ม่านแล้วก็คลานคุกเข่าเข้าไปนั่งพับเพียบกับพื้นอยู่หน้าโต๊ะท่าน พร้อมกับกราบลงกับพื้น เมื่อท่านถามความประสงค์ที่มาพบ ก็กราบเรียนว่า อยากจะขอเข้าเรียนกฎหมาย และได้เอ่ย ชื่อบิดาและการเรียนจบชั้นมัธยมให้ท่านทราบ รอสักพักใหญ่ แต่รู้สึกเหมือนนานมาก ท่านก็พยักหน้า พร้อมกับบอกว่า อนุญาตให้เข้าเรียนได้ จําได้ว่าดีใจจนแทบร้องไห้ ก้มลงกราบขอบพระคุณท่าน แล้วก็คลานลอดใต้ประตูม่านไม้นั้นออกมาเหมือนตอนเข้าไป”
เหตุที่นํามาบันทึกไว้นี้เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า บทบาทและสิทธิของสตรีไทย อันกิริยามารยาทที่อ่อนน้อมถ่อมตนแบบไทย ๆ ของนางสาวแร่มนั่นเอง อาจเป็นจุดสําคัญที่ทําให้ท่านเสนาบดีเกิดความเมตตาเอ็นดูจนถึงกับอนุญาตให้เข้าเรียนได้ นับเป็นคุณความดีของเจ้าพระยาพิชัยญาติที่สตรีไทยจึงจดจําไว้ว่า
ท่านได้เปิดโอกาสให้หญิงไทยได้เข้าเรียนวิชากฎหมาย โดยนางสาวแร่มเรียนจนเป็นเนติบัณฑิตหญิงคนแรกในปี ๒๔๗๓
หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ๒๔๗๕ แล้ว มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ชื่อเดิม) หรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน ได้โอนโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมมาเปิดสอนเป็นคณะนิติศาสตร์ขึ้น และเปิดโอกาสให้นักเรียนหญิงเข้าเรียนกันหลายคน ผู้สําเร็จเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตหญิงคนแรกคือ นางสาวบรรเลง กันตะบุตร หรือคุณหญิงบรรเลง ชัยนาม กลุ่มสตรี ที่เรียนจบกฎหมายก่อนสงครามมหาเอเซียบูรพา (ญี่ปุ่น) ได้แก่ คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ ม.ร.ว.เสริมศรี เกษมศรี คุณประชุม ชัยรัตน์ คุณสลวย สังขจันทร์ คุณนันทกา สวัสดิ-ชูโต เป็นต้น
นอกจากนี้บทบาทสำคัญด้านสิทธิสตรีของคุณหญิงแร่มคือ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และอุปนายกคนแรกของสมาคมสตรีไทย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕
ผาณิต พูนศิริวงศ์ นายกสมาคมสตรีไทยแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ พ.ศ. ๒๕๓๓-๒๕๔๖ ได้เขียนรำลึกถึงบทบาทด้านนี้ของคุณหญิงแร่มไว้ดังนี้
จะมีใครคิดบ้างไหมว่า ความตื่นตัวของเหล่าสตรีในยุคปัจจุบันที่มีต่อสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และความก้าวหน้าทางอาชีพการงาน เพื่อให้มีความทัด เทียมกับเพศชายนั้น ได้มีการต่อสู้ เรียนรู้ และเรียกร้องกันมานับตั้งแต่แรกเริ่ม มาจนถึงวันนี้ เป็นเวลาที่ผ่านมาถึง ๗๖ ปีแล้ว
ผู้ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจุดประกายเพื่อเริ่มต้นในการเรียกร้อง ต่อสู้ และเสริมสร้างคุณค่าให้แก่สตรี คือ คุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ อุปนายกคนแรกของสมาคมสตรีไทยฯ เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๕
ในครั้งนั้น คุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ ยังดํารงสถานภาพเป็นนางสาวแร่ม พรหโมบล บุตรีของพันตํารวจเอกพระยาบุเรศผดุงกิจแห่งกรมตํารวจ ซึ่งได้ร่ำเรียนมาทางด้านกฎหมาย จากโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม สําเร็จเป็นเนติบัณฑิตหญิงคนแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓ และได้ทํางานประกอบวิชาชีพเป็นทนายความอยู่ที่บริษัทติลลิก แอนด์ กิบบิ้นส์ ซึ่งเป็นของชนชาติอังกฤษ นับเป็นหมอความหญิงที่โด่งดังมากในสังคมยุคนั้น
จากความเด่นดังของทนายหญิงแร่ม พรหโมบล ทําให้ได้คลุกคลีและสนิทสนมกับแพทย์หญิงใหญ่ คุณะดิลก ซึ่งตั้งสํานักงานแพทย์ช่วยเหลือคนไข้อยู่ในขณะนั้น และจากการคลุกคลีใกล้ชิดกับแพทย์หญิงใหญ่นั่นเอง ทําให้ท่านได้เห็นสภาพของ คนไข้ที่มาหาคุณหมอใหญ่ว่า นอกเหนือจากการมาปรึกษาเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บทางร่างกายแล้ว คนไข้เหล่านั้นยังมักที่จะนําเอาปัญหาทางสังคม และครอบครัวมาขอคําแนะนําจากคุณหมอด้วย
ด้วยความรู้ทางด้านกฎหมายและประสบการณ์จากการเป็นทนายความทําให้คุณหญิงแร่ม พรหมโมบล เกิดแนวคิดที่จะหาทางช่วยเหลือสตรีผู้ที่มีปัญหาเหล่านั้น จึงได้รวมตัวกับกลุ่มเพื่อนผู้หญิงในยุคนั้น จัดตั้งเป็นสมาคมเพื่อช่วยเหลือส่งเสริม และสนับสนุนกลุ่มสตรีเพศขึ้น เป็นสมาคมที่เกี่ยวกับผู้หญิง โดยมีนางสาว แร่มเป็นทนายไปจดทะเบียนใช้ชื่อในการจดทะเบียนว่า “สมาคมสตรีแห่งกรุงสยาม” เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๔๗๕
ต่อมาในเดือนธันวาคม ๒๔๘๒ ได้เปลี่ยนชื่อตามการเปลี่ยนชื่อของประเทศไทย เป็น “สมาคมสตรีไทยแห่งประเทศไทย” นับ เป็นสมาคมสตรีอันดับแรกของประเทศไทย โดยมีแพทย์หญิงใหญ่ คุณะดิลก เป็นนายกสมาคม และนางสาวแร่ม พรหโมบล เป็นอุปนายกคนแรกของสมาคม นับเป็นการรวมตัวร่วมใจกันระหว่าง ๒ สตรีผู้มีหัวคิดก้าวหน้าคือ หมอความ (นางสาวแร่ม พรหโมบล) กับหมอรักษาโรค ที่สร้างฐานแห่งความเสมอภาคเกี่ยวกับชายและหญิง
นอกจากนี้คุณหญิงแร่มยังรู้สึกถึงความเป็นอยู่และด้อยโอกาสของสตรีและเด็ก โดยเฉพาะหญิงอาชีพบริการบางประเภทที่ถูกทอดทิ้ง การตั้งสมาคมสตรีไทยก็เพื่อสงเคราะห์สตรีและเด็กที่ไร้ผู้อุปถัมภ์
เป้าหมายของการจัดตั้งสมาคมสตรีไทยในครั้งนั้น ระบุเอาไว้ว่า จะเป็นการรวมผู้หญิงทุกคน ต่างวัยต่างอาชีพเข้าด้วยกัน เพื่อให้ผู้หญิงรู้จักที่จะก้าวหน้าในวิชาชีพ และปรับปรุงตัวเองในด้านสังคม ครอบครัวให้อยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาคในสังคม ซึ่งรวมไปถึงการจัดวางกําหนดในการทําอาชีพระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายให้เสมอเท่าเทียมกันด้วย
สตรีไทย ซึ่งเคยถูกวางกรอบให้เป็นเสมือนช้างเท้าหลังของผู้ชายมาตั้งแต่กาลสมัยจึงเริ่มเปลี่ยนแปลง และมีความทัดเทียมกับผู้ชายมากยิ่งขึ้น จนทําให้ปมด้อยที่ผู้หญิงเคยมีอยู่แต่ยุคโบราณ ค่อย ๆคลี่คลายออกไปในทางที่ดีมากยิ่งขึ้น จากวัน นั้นมาจนถึงวันนี้ ผลพวงแห่งการวางรากฐานเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของผู้หญิงให้หลุดพ้นจากแอกของผู้ชายในยุคดั้งเดิมถูกปลดออกไป โอกาสของผู้หญิงจึงเปิด กว้างขึ้นทัดเทียมกับสตรีสากลโดยทั่วไป
ต่อมาเมื่อคุณหญิงเป็นผู้สูงวัย ทราบข่าวคราวสมาคมสตรีไทยฯ ถูกมรสุม คือการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเวนคืนที่ดิน เพื่อสร้างทางด่วนสายแจ้งวัฒนะ-บาง โคล่ เมื่อสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ตึกที่ทําการและตึกต่างๆถูกทุบทิ้ง ต้องสร้างโรงเรียน ชั่วคราวให้นักเรียนในบริเวณกองพันสารวัตรทหารบกที่ ๑๑ ขณะเดียวกันสมาคม สตรีไทยฯ ก็ต้องรณรงค์หาทุนสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษามหาราชินี ซึ่งประกอบด้วยห้องเรียนและที่ทําการของสมาคมใหม่ ในที่เดิมซึ่งเหลือเพียง ๑ ใน ๓ จาก ๔ ไร่ คุณหญิงแร่มในฐานะกรรมการที่ปรึกษาของดิฉัน ก็ยังบริจาคเงิน เพื่อสร้างห้องเรียนหนึ่งห้องเป็นเงินถึง ๒๕๐,๐๐๐ บาทด้วย
จากชีวประวัติย่อและบทบาทข้างต้นเสนอฉากชีวิตของคุณหญิงแร่มว่าเป็นบุคคล ๕ แผ่นดิน ตลอดชีวิตอันยาวนานถึง ๙๗ ปี คุณหญิงแร่มไม่เคยใช้เวลาโดยเปล่าประโยชน์ และอุทิศตนในการพัฒนาสิทธิของสตรีไทยให้ได้รับความรู้ และมีความสามารถทัดเทียมกับบุรุษ ทั้งทางพฤตินัยและนิตินัย มีความภูมิใจต่อการเป็นผู้บุกเบิกให้สตรีไทยตื่นตัวในศักยภาพของตนเอง ได้เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสมาคมสตรีไทย สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย สมาคม บัณฑิตสตรีทางกฎหมาย สมาคมโรงแรมไทย สมาคมอุตสาหกรมการท่องเที่ยวฯ คุณหญิงแร่มภูมิใจในความเป็นนักกฎหมายได้ใช้วิชาความรู้ด้านนี้ประกอบอาชีพทนายความ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต ได้อุทิศตนทําประโยชน์ให้สังคมและประเทศชาติตลอดมาทําให้สตรีไทยรุ่นหลังได้ถือเป็นแบบอย่างให้สตรีมีความเชื่อมั่นในการศึกษาที่จะทําให้ตนเองสามารถพัฒนา มีความก้าวหน้าในอาชีพ และเป็นที่ยอมรับของสังคม
ชีวิต ๙๗ ปีของท่านเต็มไปด้วยคุณค่า ร่วมสมัย ทันโลก ไม่ตกยุค พร้อมที่จะช่วยให้ คําปรึกษาในฐานะที่เคยเป็นผู้แทนราษฎร แม้เมื่อพ้นจากตําแหน่งมาแล้ว หากมีผู้ใดติดต่อขอให้ท่านช่วยเหลือท่านจะยินดีทําให้ด้วยความเต็มใจ โดยมิได้หวังผลตอบแทนใด ๆ และคุณหญิงแร่มยังมีเพื่อนรักทุกระดับ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ เป็น “พี่แร่ม” ของทุกคน
คุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ ถึงแก่กรรมด้วยอาการหัวใจล้มเหลวและไตวายเฉียบพลัน เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ เวลา ๑๔.๔๐ น. สิริรวมอายุ ๙๗ ปี ๓ เดือน ๑๒ วัน
หมายเหตุ :
- ภาพประกอบจากต้นฉบับ
- คงอักขร การสะกดคำ และเลขไทยตามต้นฉบับ
บรรณานุกรม
- อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ ม.ป.ช., ม.ว.ม., ต.จ. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร, วันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2551. กรุงเทพฯ: หอรัตนชัยการพิมพ์, 2551.