ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

สิ่งที่ปรีดีกังวลมากที่สุดคืออนาคตของประเทศ

29
พฤษภาคม
2563

“ถ้าไม่มีนายปรีดี พนมยงค์ ประเทศไทยจะไม่มีประชาธิปไตย ถ้าไม่มีนายปรีดี พนมยงค์ ประเทศไทยก็จะเป็นเมืองขึ้น”

คำกล่าวในเชิงสดุดีจากปากของนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส. ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยามอันดับแถวหน้าสุดของประเทศเช่นนี้ สำหรับผู้ที่ติดตามประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทยด้วยความเที่ยงธรรมมาโดยตลอด ก็ไม่มีอะไรเป็นที่สงสัยเลยแม้แต่น้อย

แต่สำหรับบางคนที่ม่านแห่งอคติบดบังจนดวงตาและดวงใจมืดสนิท คำกล่าวของ ส. ศิวรักษ์ ข้างต้น ก็มีแต่ก่อความขึ้งเคียดถึงขนาดตีอกชกหัวเลยทีเดียว

นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นลำดับมา นามของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือนายปรีดี พนมยงค์ เป็นนามอันโดดเด่น ซึ่งตกเป็นเป้าทั้งในด้านยกย่องสดุดีและวิพากษ์โจมตีไปด้วยในขณะเดียวกัน 

เขาคือ “เทพเจ้า” ของคนกลุ่มหนึ่ง แต่เป็น “ปีศาจร้าย” ของคนอีกบางกลุ่ม

จริงแท้แล้วนายปรีดี พนมยงค์ เป็นไฉน ?

 


นายสุภา ศิริมานนท์ ถ่ายภาพนายปรีดีที่โต๊ะทำงาน เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2526

   

หัวหน้าคณะราษฎรแรกก่อตั้งเพียง 7 คน

การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 กระทำในนามของ “คณะราษฎร” ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสายทหารบก 32 คน มีนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นหัวหน้า  สายทหารเรือ 21 คน มีนายนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) เป็นหัวหน้า  สายพลเรือน 46 คน มีอำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นหัวหน้า

รวมสมาชิกผู้ก่อการ “คณะราษฎร” ทั้งสิ้น 99 คน

แต่กว่าจะมาถึง 99 คน และกว่าจะมีการชุมนุมทางการทหารเพื่อก่อการยึดอำนาจการปกครอง นายปรีดี พนมยงค์ ได้บันทึกไว้ในบทความชื่อ “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย” ว่า

“การประชุมเป็นทางการครั้งแรกของคณะราษฎรมีขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1927 (พ.ศ. 2470) ที่หอพักแห่งหนึ่งซึ่งเราเช่าห้องใหญ่ไว้เฉพาะการประชุมเท่านั้น”

ผู้เข้าร่วมประชุมมี 7 คน คือ ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี  ร.ท. แปลก ขีตตะสังคะ  ร.ต. ทัศนัย มิตรภักดี  นายตั้ว ลพานุกรม  หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี)  นายแนบ พหลโยธิน และนายปรีดี พนมยงค์

บันทึกของนายปรีดีกล่าวว่า “ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ข้าพเจ้าเป็นประธานและเป็นหัวหน้าคณะราษฎรจนกว่าจะมีบุคคลที่เหมาะสมเป็นหัวหน้าคณะราษฎรในกาลต่อไป”

เมื่อกลับมาเมืองไทยและคณะราษฎรได้ขยายสมาชิกออกไปกว้างขวางเป็นลำดับ ในที่สุดที่ประชุมมอบหมายให้ ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี เป็นผู้เชิญนายพันเอก พระพยาพหลพลพยุหเสนา เข้ามาเป็นหัวหน้าคณะราษฎรและดำเนินการยึดอำนาจ

นายปรีดี พนมยงค์ “มันสมอง” คณะราษฎร

ความที่เป็นนักเรียนกฎหมายและความที่เคยศึกษาทางเศรษฐศาสตร์มาอย่างเจนจบ กอปรกับเป็นนักเรียน “หัวดี” มาโดยตลอด  ขณะที่เพื่อนนักเรียนนอกเรียกร้อยโท แปลก ขีตตะสังคะว่า “กัปตัน”  ก็เรียกนายปรีดี พนมยงค์ว่า “อาจารย์”

อาจกล่าวได้ว่าในจำนวนสมาชิกคณะราษฎรทั้ง 99 คน นายปรีดีมีความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองในลักษณะที่เป็น “อุดมการณ์ประชาธิปไตย” ได้อย่างลึกซึ้งและเป็นจริงยิ่งกว่าใคร

จะเห็นได้จากแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ของคณะราษฎรที่พันเอก พระยาพหลฯ อ่านต่อทหาร ณ พระบรมรูปทรงม้า ซึ่งสร้างความแค้นเคืองให้กับกลุ่มอำนาจเก่าที่ถูกแย่งยึดอำนาจมาอย่างรุนแรง  คนเขียนแถลงการณ์ก็คือ นายปรีดี พนมยงค์

จะเห็นได้จากเมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับชั่วคราวและฉบับถาวร นายปรีดี พนมยงค์ล้วนเป็นผู้มีบทบาททั้งสิ้นและแม้แต่การร่างเค้าโครงเศรษฐกิจอย่างที่เรียกว่า “สมุดปกเหลือง” อันถือได้ว่าเป็นการปฏิวัติทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับการปฏิวัติทางการเมือง ก็เป็นการผลักดันและร่างด้วยมือของนายปรีดี พนมยงค์เอง

นายปรีดี พนมยงค์ คนแรกที่ถูกป้ายสีแดง

เนื่องจากบทบาทอันโดดเด่นโดยเฉพาะในฐานะ “มันสมอง” นายปรีดีจึงตกเป็นเป้าแห่งการทำลายทั้งจากกลุ่มพลังอำนาจเก่าและภายในคณะราษฎรเองที่เริ่มมองเห็นว่านายปรีดีก้าวไกลไปจากที่ตนคาดคิด

ภายหลัง “สมุดปกเหลือง” เพื่อจัดระบบทางเศรษฐกิจใหม่ปรากฏออกมา คำกล่าวหาเก่าที่นายปรีดีเคยถูกป้ายสีว่าเป็นคนหัวรุนแรงก็เริ่มเป็นที่กระซิบกระซาบและรุนแรงยิ่งขึ้นเป็นลำดับ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ มีพระราชวิจารณ์เค้าโครงเศรษฐกิจและลงความเห็นว่าเป็นการลอกมาจากร่างของสหภาพโซเวียตที่เป็นคอมมิวนิสต์

นายปรีดี พนมยงค์ ถูกบีบอย่างรุนแรงกระทั่งถูกเนรเทศออกจากประเทศเมื่อเดือนเมษายน 2476 ไล่หลังวันเดินทางไปฝรั่งเศสเพียงชั่ววันเดียว รัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็ออกพระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ออกมา !

ผมเป็นสังคมนิยม สังคมนิยมวิทยาศาสตร์

นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมาแม้จะมีการตั้งกรรมการสอบสวนแล้วก็ตามแต่ “สีแดง” ก้ติดกับนายปรีดี พนมยงค์ อย่างเช็ดถูไม่หาย ศัตรูทางการเมืองของนายปรีดี พนมยงค์ พยายามจะป้ายสีแดงให้กับนายปรีดีอยู่เสมอแม้กระทั่งทุกวันนี้ก็ตาม

สุภา ศิริมานนท์ ซึ่งได้สนทนากับนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมากล่าวกับ มติชน ถึงเนื้อหาบางตอนของการสนทนาว่า

อาจารย์ปรีดีกล่าวกับสุภา ศิริมานนท์ ศิษย์ซึ่งมิได้พบกันเป็นเวลาถึง 37 ปีว่า “ผมเป็นสังคมนิยมก็จริง แต่เป็นสังคมนิยมซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ และเป็นประชาธิปไตยแท้ไม่ใช่ประชาธิปไตยมีเงื่อนไข”

“ที่ว่าไม่ใช่ประชาธิปไตยมีเงื่อนไขนั้น อาจารย์หมายถึงไม่ใช่ประชาธิปไตยแผนใหม่ หรือประชาธิปไตยที่มีชื่อแปลก ๆ พ่วงท้ายทั้งสิ้น แต่เป็นประชาธิปไตยแท้” สุภาเน้น

“อาจารย์บอกด้วยว่าวิทยาศาสตร์แท้ต้องไม่เร็วไปไม่ช้าไปจากเงื่อนไขที่เป็นอยู่” สุภากล่าว “ราษฎรจึงจะได้รับความสุข”

ผู้รักประชาธิปไตย นักรักชาติผู้ยิ่งใหญ่

ภายหลังรัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476 โค่นรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาลงไป รัฐบาลก็ได้เชิญนายปรีดี พนมยงค์ กลับประเทศและได้เข้าร่วมรัฐบาลกับพระยาพหลพลพยุหเสนา และรัฐบาลของพลตรี หลวงพิบูลสงคราม

จนกระทั่งเมื่อญี่ปุ่นยกพลฯ ขอผ่านประเทศไทยในเดือนธันวาคม 2484 ภารกิจอันยิ่งใหญ่ของนายปรีดี พนมยงค์ จึงได้เริ่มขึ้นนั่นก็คือการจัดตั้งขบวนการเสรีไทยภายในประเทศ ทำงานประสานกับขบวนการเสรีไทยที่อยู่ต่างประเทศ

จากการต่อสู้กู้ชาติครั้งนี้นายปรีดีและขบวนการเสรีไทยไม่เพียงแต่สร้างคุณูปการที่รักชาติให้กับปิตุภูมิของตน แต่ได้มีส่วนหนุนช่วยขบวนการกู้ชาติอื่น ๆ ในอินโดจีนอย่างดียิ่ง

“ทุกวันนี้ในเวียดนามยังมีกองพันหนึ่งใช้ชื่อว่ากองพันสยาม ซึ่งโฮจิมินห์ตั้งขึ้นเพื่อรำลึกถึงสยามที่ให้การช่วยเหลือชาวเวียดนามในการกู้ชาติจากฝรั่งเศส” ลูกศิษย์นายปรีดีคนหนึ่งกล่าว “ที่บ้านของอาจารย์ปรีดีในชานกรุงปารีสยังมีเศษเหล็กจากเครื่องบิน บี.52 ลำสุดท้ายที่ถูกยิงตกในเวียดนามซึ่งประธานาธิบดีฟาม วัน ดง มอบให้เป็นที่ระลึกแก่อาจารย์ปรีดี”

จากการก่อตั้งขบวนการเสรีไทย ไม่เพียงแต่ได้ช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการยึดครองของสัมพันธมิตรภายหลังสงครามเท่านั้น ยังทำให้เกียรติภูมิของประเทศสูงเด่นขึ้นท่ามกลางผู้รักชาติในแหลมอินโดจีนอีกด้วย  

กังวลสุดท้ายของรัฐบุรุษอาวุโส

สุภา ศิริมานนท์ กล่าวถึงความห่วงใยของนายปรีดี พนมยงค์ ช่วงที่สนทนากันเมื่อปลายเดือนเมษายนว่า “สิ่งที่อาจารย์กังวลมากที่สุดคืออนาคตของประเทศ”

ที่เป็นเช่นนี้อาจจะเนื่องจากภายหลังความขัดแย้งระหว่างเวียดนาม-กัมพูชา, จีน-เวียดนาม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากเวียดนามได้บุกเข้าไปในกัมพูชา ได้ทำให้ประเทศไทยเป็นดินแดนที่ล่อแหลมทางการเมืองเป็นอย่างมาก

เวทีอันร้อนระอุนี้เป็นจุดที่อภิมหาอำนาจหลายประเทศได้ถือเป็นดินแดนต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างกันและกัน ซึ่งเป็นผลทำให้ไทยต้องดำเนินนโยบายต่างประเทศด้วยความระมัดระวัง

“อาจารย์เน้นอยู่เสมอว่า ไม่มีใครเขารักเมืองไทยเท่ากับคนไทย อย่าไปหลงคารมคนต่างประเทศโดยขายตัวโดยไม่รู้ตัว”

จากยุคแห่งการก่อตั้งขบวนการเสรีไทยเพื่อต่อสู้กับการยึดครองของญี่ปุ่นเรื่อยมาจนแม้แต่เมื่อเดินทางไปลี้ภัยในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและตราบเท่าปัจจุบัน ลมหายใจของนายปรีดี พนมยงค์ อัดระอุไว้ด้วยความคิดรักชาติอย่างแท้จริง

“คุณเขียนลงไปได้เลย” ศิษย์ที่ใกล้ชิดของนายปรีดี พนมยงค์ ท่านหนึ่งกล่าวว่า “เหตุผลสำคัญที่อาจารย์ปรีดีไม่สามารถร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้ก็เพราะท่านไม่ยอมชูธงและไม่ยอมรับใช้ตามที่เขาต้องการ”

“การตัดสินใจทำอะไรทุกอย่างของอาจารย์ปรีดีท่านคำนึงถึงชาติถึงราษฎรไทยเสมอ” ศิษย์ผู้นั้นสรุปด้วยความมั่นใจ

กรณีสวรรคต ปรีดีตกเป็นเหยื่อ

แม้จะมีความพยายามป้ายสีแดงติดป้าย “คอมมิวนิสต์” ให้ก็ไม่สามารถลิดรอนอำนาจทางการเมืองของนายปรีดี พนมยงค์ ลงได้ แต่เมื่อเกิดกรณีสวรรคตขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2489 ขณะที่นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี

จากกรณีสวรรคตอันมีเงื่อนงำนี้ ปรปักษ์ทางการเมืองของนายปรีดีได้ฉวยโอกาสกระพือเรื่องและสร้างข่าวกระทั่งจ้างวานคนไปร้องตะโกนในโรงภาพยนต์ว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง” และจากกรณีนี้เองทำให้นายปรีดีต้องลงจากเวทีทางการเมืองและเป็นสาเหตุหนึ่งในการอ้างเพื่อทำรัฐประหาร 2490 ของคณะทหาร

จากนั้นบทบาททางการเมืองของนายปรีดีก็เริ่มตกต่ำกระทั่งต้องลี้ภัยไปอยู่ประเทศจีน และจากจีนก็ต้องนิราศไปพำนักอยู่ฝรั่งเศสกระทั่งถึงแก่มรณกรรมอย่างสงบในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ช่วงทศวรรษหลัง นายปรีดีได้อาศัยศาลสถิตยุติธรรมเพื่อทำความกระจ่างในเรื่องนี้ จนแม้แต่ปรปักษ์ทางการเมือง เช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ต้องลงข้อความขอขมาต่อนายปรีดี พนมยงค์ ในกรณีสวรรคตนี้

ครองชีวิตวัยชราสง่างามและทรงเกียรติ

นายปรีดี พนมยงค์ มีรายได้ส่วนหนึ่งจากเงินบำนาญในฐานะ “รัฐบุรุษอาวุโส” เป็นเงินจำนวน 5,000 บาทต่อเดือน ไม่มีรายได้ทางด้านอื่นเลย 

“อาจารย์เป็นรัฐบุรุษพลัดถิ่นที่ไม่เคยรับเงินช่วยเหลือจากใครทั้งสิ้น นอกจากเงินบำนาญจากทางราชการไทย” ศิษย์นายปรีดีกล่าว “เงินค่าใช้จ่ายส่วนที่สำคัญระยะหลังอาจารย์ได้จากการขายที่ดินที่เคยมีย่านสาธรและย่านสีลม และรวมทั้งเงินในส่วนของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์”

บ้านชานกรุงปารีสของนายปรีดี พนมยงค์ ระยะหลังนอกจากเป็นแห่งหนึ่งที่นักเรียนไทยในฝรั่งเศสและบางประเทศแห่งยุโรปชอบแวะไปสนทนาแล้ว ยังมีบุคคลผู้มีชื่อเสียงจากประเทศไทยหลายคนไปเยี่ยมคารวะอยู่ไม่ขาดสาย 

“ตอนที่ผมไปพบกับอาจารย์ ท่านยังทำงานได้ตามปกติ คุยก็ปกติ” สุภา ศิริมานนท์กล่าว “ความจำอาจารย์ดีมาก แม่นมาก จำชื่อคน เวลาวันเดือนปีได้อย่างแม่นยำ” 

นายปรีดี พนมยงค์ ในวัยชราไม่เพียงแต่พร้อมจะสนทนาแลกเปลี่ยนทรรศนะทางการเมืองเท่านั้น เวลาส่วนหนึ่งยังใช้ไปเพื่อเขียนบันทึกความทรงจำและถกเถียงอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาสังคมไทยอีกด้วย บทความเกี่ยวกับสถานการณ์และเรื่องราวทางวิชาการจำนวนมากมีปรากฏออกมากเป็นระยะ ๆ

จากไปอย่างสงบ คงไว้แต่เกียรติภูมิ

วันที่ 2 พฤษภาคม นายปรีดี พนมงค์ ลูกชาวนาแห่งอยุธยาผู้เคยเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้เคยเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย ได้จากไปอย่างสงบด้วยหัวใจวาย

“อาจารย์สิ้นลมอย่างสงบ” สุภา ศิริมานนท์กล่าว “ท่านจากไปอย่างคนมีบุญ” 

ในฐานะที่เป็นผู้สนใจต่อวิทยาศาสตร์สังคม นายปรีดีให้ความสนใจต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอ การเขียนหนังสือ ความเป็นอนิจจังของสังคม สะท้อนถึงความพยายามที่จะติดตามกระบวนการทางสังคมของประเทศไทยอย่างเป็นวิทยาศาสตร์

“อาจารย์เคยขอร้องผู้ที่สนใจศึกษาชีวิตและงานของท่านว่า หากจะวินิจฉัยและประเมินอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับท่าน ก็ขอให้ดูอายุของท่านประกอบด้วย  ข้อบกพร่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเงื่อนไขของอายุ  แต่ถ้าจะดูกันจริง ๆ ต้องดูสุดท้ายของชีวิตเลยทีเดียว”

บทสรุปของชีวิตประการหนึ่งจากการศึกษาการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของนายปรีดี พนมยงค์ หรือของใครก็ตามอาจเป็นไปดังที่สุภา ศิริมานนท์ กล่าวว่า

“เรื่องของความเปลี่ยนแปลงท่านเน้นมาก ท่านบอกว่าบางคนยอมรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม แต่พอเกี่ยวกับตัวเองก็ไม่อยากเปลี่ยน”

 

นายปรีดี พนมยงค์ จากโลกนี้และประเทศไทยอันเป็นที่รักของท่านไปแล้ว แต่เกียรติภูมิและสิ่งที่ได้ทำเอาไว้ในชั่ว 80 กว่าปีของลูกชาวนาคนหนึ่งได้ส่งผลสะเทือนและหยั่งรากลงในสังคมไทยอย่างลึกซึ้งทีเดียว 

 

 

หมายเหตุ:

  • พิมพ์ครั้งแรก : มติชนรายสัปดาห์ 8 พฤษภาคม 2526
  • บทความนี้เคยเผยแพร่ในชื่อ กังวลสุดท้ายของนายปรีดี พนมยงค์ ตำนานแห่งตำนาน