ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 23 : ฝรั่งเศสแซงเรียกร้องจากไทย

25
กรกฎาคม
2568

ดินแดนที่ไทยได้คืนจากกรณีพิพาทอินโดจีน และจากการยึดครองและโอนถ่ายอำนาจให้โดยฝ่ายญี่ปุ่น ซึ่งส่วนที่เคยเป็นของฝรั่งเศส (ในประเทศลาวและกัมพูชา) ไทยต้องคืนให้กับฝรั่งเศส ตามข้อเรียกร้องภายหลังสงคราม
ที่มา: Facebook

 

ภายหลังที่เยอรมันส่งกำลังทหารรุกเข้าไปทางประเทศเดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยมเลยถึงประเทศฝรั่งเศสในเดือนพฤษภาคม ๒๔๘๓ รัฐบาลฝรั่งเศสภายใต้นายกรัฐมนตรีโปล เรย์โนด์ เชิญจอมพล เปแตง เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสเปนกลับมารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี จอมพล เปแตงเริ่มหาทางเจรจาสงบศึกกับเยอรมัน เนื่องจากเห็นว่าสู้ไปก็มีแต่จะเสียหาย เยอรมันบุกอ้อมกำแพงมาจิโนต์จะถึงกรุงปารีสแล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสสั่งประกาศยกกรุงปารีสเป็นเมืองเปิด ยินยอมให้เยอรมันเข้ายึดโดยไม่มีการต่อสู้ รัฐบาลอพยพโยกย้ายออกจากนครหลวงไป นายโปล เรย์โนด์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จอมพล เปแตงขึ้นดำรงตำแหน่งแทนเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ฝรั่งเศสขอยุติสงครามกับเยอรมันวันรุ่งขึ้น และได้ลงนามในสัญญาสงบศึก เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน นายพลชาร์ล เดอโกล หลบหนีไปอยู่กรุงลอนดอนประกาศชักชวนให้ชาวฝรั่งเศสคงสู้รบเยอรมันต่อไป กองทัพเยอรมันรุกคืบหน้าเข้ายึดครองดินแดนสองในสามของฝรั่งเศส ในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม รัฐสภาแห่งชาติฝรั่งเศส ซึ่งต้องโยกย้ายตามรัฐบาลออกจากกรุงปารีสไป มีมติมอบอำนาจเด็ดขาดให้จอมพล เปแตงทำการปกครองประเทศและแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส รัฐบาลย้ายไปตั้งทำการที่เมืองวิชี โดยมีจอมพล เปแตงเป็นประธานาธิบดีและนายปิแอร์ ลาวัล เป็นนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนแนววิเทโศบายใหม่เป็นร่วมมือกับเยอรมัน บรรดาประเทศที่มิได้ทำสงครามกับเยอรมัน มีความสัมพันธ์กับรัฐบาลเปแตงในฐานะเป็นรัฐบาลของประเทศฝรั่งเศส

ส่วนนายพลเดอโกล ซึ่งหลบหนีไปอังกฤษ ประกาศตั้งคณะกรรมการฝรั่งเศสเพื่ออิสรภาพแห่งชาติขึ้นเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๔๘๗ ครั้นเมื่อสัมพันธมิตรสามารถเข้ายึดกรุงปารีสคืนจากเยอรมันในวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๔๘๗ นายพลเดอโกลจึงเปลี่ยนฐานะของคณะกรรมการฯ ขึ้นเป็นรัฐบาลชั่วคราวของฝรั่งเศส ประกาศไม่ยอมรับรู้การปฏิบัติการใด ๆ ของรัฐบาลจอมพล เปแตง ตลอดจนนำตัวจอมพลขึ้นฟ้องศาลสูงในฐานะเป็นผู้ทรยศต่อชาติ ศาลตัดสินลงโทษประหารชีวิต แต่นายพลเดอโกลในฐานะประธานาธิบดีของรัฐบาลชั่วคราวสั่งเปลี่ยนเป็นจำคุกตลอดชีวิต เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๔๘๘ จอมพล เปแตงต้องคุมขังอยู่บนเกาะดีเออ จนกระทั่งถึงแก่กรรมในปี ๒๔๙๔ มีอายุ ๙๕ ปี

โดยอาศัยเหตุผลทางการเมืองภายในประเทศฝรั่งเศสดังกล่าวข้างต้น และด้วยความมุ่งหวังจะกลับเข้าไปมีอำนาจในอินโดจีนตามเดิม ทั้ง ๆ ที่ประชากรในญวน กัมพูชา และลาว กำลังตื่นตัวจะกู้อิสรภาพ รัฐบาลชั่วคราวของฝรั่งเศสภายใต้นายพลเดอโกลจึงยึดหลักไม่ยอมรับรู้การกระทำของรัฐบาลวิชีกับประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย โดยเฉพาะฝรั่งเศสปฏิเสธอนุสัญญาสันติภาพกับประเทศไทย ลงวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๔ และถือว่ายังมีสถานะสงครามกับประเทศไทย พร้อมทั้งเรียกร้องเอาดินแดนที่ต้องเสียให้แก่ประเทศไทยโดยอนุสัญญาฉบับนั้นคืน

ดังกล่าวมาแล้วในบทที่ ๖ ทั้งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษไม่สนับสนุนการที่ไทยเรียกร้องดินแดนทางอินโดจีนคืนจากฝรั่งเศสในยามที่ฝรั่งเศสตกอยู่ในฐานะเป็นผู้แพ้สงครามกับเยอรมัน แต่ภายหลังที่รัฐบาลฝรั่งเศสที่วิชีทำอนุสัญญาสันติภาพกับไทยเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๔ ภายใต้การไกล่เกลี่ยของญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และอังกฤษมิได้ยกเรื่องนี้ขึ้นพูดกับรัฐบาลไทยอีกเลย ประกอบกับเกิดสถานะสงครามระหว่างญี่ปุ่นกับฝ่ายสัมพันธมิตร เรื่องดินแดนในอินโดจีนเป็นอันเงียบไป ต้องรอมาจนกระทั่งวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๔๘๗ จึงได้มีการเท้าถึงเรื่องนี้ ในคณะกรรมการโครงการหลังสงครามของฝ่ายสัมพันธมิตร มีข้อความตอนหนึ่งว่า เนื่องจากการโอนดินแดนอินโดจีนบางส่วนให้แก่ไทยเกิดขึ้นภายหลังที่ญี่ปุ่นริเริ่มวางแผนรุกรานในมหาสมุทรแปซิฟิก และฝรั่งเศสต้องปราชัยแก่เยอรมันแล้ว การโอนเช่นนั้นไม่พึงถือว่าสมบูรณ์ ควรกลับคืนสถานะก่อนหน้านั้นใหม่ โดยไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของฝ่ายใด ๆ ที่จะเรียกร้องให้มีการเจรจาปรับปรุงดินแดนในอนาคตโดยสันติวิธี

วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๔๘๗ สถานเอกอัครราชทูตอเมริกัน ณ กรุงลอนดอน ได้รับคำสั่งจากกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันให้ยืนยันต่อนายอีเดน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษว่า รัฐบาลอเมริกันไม่ยอมรับนับถือการที่ประเทศไทยได้รับดินแดนจากอินโดจีน มลายู และพม่าว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย และควรจะส่งมอบคืนให้แก่เจ้าของเดิม ถ้าจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกันต่อไปในภายหน้า ก็ควรจะดำเนินกันโดยสันติวิธี ฉะนั้น เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ เอกอัครราชทูตอเมริกันที่กรุงปารีส จึงได้รับคำสั่งให้สอบถามท่าทีของรัฐบาลฝรั่งเศสเป็นการภายในว่า (๑) รัฐบาลฝรั่งเศสถือว่ามีสถานะสงครามกับประเทศไทยหรือไม่ (๒) ถ้าถือว่ามีสถานะสงครามกับไทย รัฐบาลฝรั่งเศสถือว่าสถานะสงครามนั้นเริ่มแต่เมื่อใด (๓) รัฐบาลฝรั่งเศสยอมรับนับถือความสมบูรณ์ของอนุสัญญาลงวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๔ เพียงใด (๔) ถ้าไม่ยอมรับนับถืออนุสัญญานั้น รัฐบาลฝรั่งเศสจะยืนยันว่า ความตกลงที่รัฐบาลวิชีทำกับต่างประเทศใด ๆ จะถือเป็นโมฆะทั้งหมดหรือไม่

คำถามในข้อ ๔ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสหรัฐอเมริกาเองด้วย เพราะนับแต่วันที่ประเทศฝรั่งเศสแยกทำสัญญาสงบศึกกับเยอรมัน และรัฐบาลฝรั่งเศสย้ายไปตั้งที่เมืองวิชี สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงวอชิงตันเป็นตัวแทนของรัฐบาลวิชีเรื่อยมา จนกระทั่งเกิดสถานะสงครามระหว่างสหรัฐฯ กับเยอรมันภายหลังเพิร์ลฮาเบอร์ สหรัฐอเมริกาจึงรับรองรัฐบาลชั่วคราวของฝรั่งเศสที่เมืองอัลเช่ ปัญหามีว่าการติดต่อระหว่างวิชีกับวอชิงตันก่อนหน้านั้นจะต้องจะถือเป็นโมฆะตามไปด้วยหรือไม่

วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๔๘๘ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ณ กรุงวอชิงตัน มีบันทึกชี้แจงท่าทีของรัฐบาลฝรั่งเศสว่า ประเทศฝรั่งเศสถือว่ามีสิทธิตามกฎหมายที่จะกลับเข้าปกครองดินแดนในกัมพูชาและลาวที่ไทยฉกฉวยไปจากฝรั่งเศสด้วยการใช้กำลัง เป็นการกระทำของประเทศไทยที่ขัดสนธิสัญญาที่ทำกับฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๔๘๓ การผนวกดินแดนดังกล่าวสำเร็จได้ด้วยการสนับสนุนของญี่ปุ่น หนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ณ กรุงโตเกียวกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๔๘๓ แสดงให้เห็นชัดว่า รัฐบาลญี่ปุ่นแนะให้รัฐบาลฝรั่งเศสยอมรับแผนการขจัดข้อพิพาทระหว่างฝรั่งเศสกับไทยของญี่ปุ่น ฝรั่งเศสถือว่าถูกญี่ปุ่นบังคับให้ยินยอม ฉะนั้นอนุสัญญาลงวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๔ จึงไม่มีผลตามกฎหมาย คณะกรรมการแห่งชาติฝรั่งเศสที่กรุงลอนดอน และรัฐบาลชั่วคราวของสาธารณรัฐฝรั่งเศสไม่เคยยอมรับนับถืออนุสัญญานั้นเลย

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๔๘๘ สถานเอกอัครราชทูตอเมริกัน ณ กรุงปารีส โทรเลขรายงานคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่ในกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส ต่อข้อถามของฝ่ายอเมริกันว่า ถึงแม้จะไม่มีประกาศสงครามเป็นทางการ ประเทศฝรั่งเศสถือว่าอยู่ในสถานะการศึกกับประเทศไทยตั้งแต่เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๔๘๓ อันเป็นเวลาที่เครื่องบินของกองทัพอากาศไทยเข้าทำการทิ้งระเบิดในดินแดนอินโดจีน รัฐบาลใหม่ของฝรั่งเศสไม่เคยรับรู้อนุสัญญาลงวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๔ ฉะนั้น สถานะการศึกอันเกิดจากการรุกรานของไทย จึงยังไม่สิ้นสุด รัฐบาลฝรั่งเศสไม่ยอมรับนับถือสัญญากับต่างประเทศใด ๆ ที่รัฐบาลวิชีทำไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาที่ฝรั่งเศสถูกญี่ปุ่นบังคับเอา ฝ่ายฝรั่งเศสหวังว่า รัฐบาลไทยจะยินยอมคืนดินแดนในอินโดจีนให้แก่ฝรั่งเศส

 


ฝูงเครื่องบินทิ้งระเบิดของกองทัพอากาศไทยขณะกำลังเข้าโจมตีเมืองศรีโสภณ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอินโดจีนฝรั่งเศสในขณะนั้น ในกรณีพิพาทอินโดจีน
ที่มา: หนังสือไทยในสมัยสร้างชาติ

 

ทางกรุงลอนดอน สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสพยายามเรียกร้องขอความร่วมมือจากรัฐบาลอังกฤษในปัญหาเรื่องดินแดนอินโดจีนกับประเทศไทย โดยอาศัยปฏิญญาร่วมปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ สมัยล่าอาณานิคม ที่แบ่งเขตอิทธิพลในประเทศไทยตามเส้นแม่นํ้าเจ้าพระยาให้แก่ฝรั่งเศสและอังกฤษเป็นหลัก แล้วทึกทักเอาว่า ทั้งสองประเทศมีผลประโยชน์ร่วมกันในประเทศไทย จะต้องปรึกษาหารือเพื่อกำหนดท่าทีร่วมในการเรียกร้องเอาดินแดนที่เสียให้แก่ประเทศไทยคืน การกำหนดค่าปฏิกรรมสงคราม และการควบคุมประเทศไทยในทางการเมือง การเศรษฐกิจและการทหาร แล้วแจ้งให้รัฐบาลอเมริกันทราบ นายปารีส ที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ได้ตั้งปัญหาถามนายสเตอร์นเดล เบ็นเน็ทท์ เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๔๘๘ ว่า รัฐบาลอังกฤษจะปรึกษาหารือกับฝรั่งเศสหรือไม่ก่อนที่จะเริ่มการเจรจากับไทย

นายสเตอร์นเดล เบ็นเน็ทท์ ออกตัวว่า เหตุการณ์ได้ผันแปรไปอย่างรวดเร็ว อังกฤษจะต้องรีบทำความเข้าใจกับไทย ในการนี้อังกฤษต้องปรึกษาหารือกับบรรดาประเทศจักรภพ ถึงเงื่อนไขที่จะเจรจากับไทย ตามคำประกาศสันติภาพของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายสเตอร์นเดล เบ็นเน็ทท์ ไม่แน่ใจว่า รัฐบาลอังกฤษจะเห็นด้วยกับการที่จะให้ใช้ปฏิญญา ปี ค.ศ. ๑๘๙๘ บังคับแก่กรณีปัจจุบันหรือไม่ ในถ้อยแถลงของนายเนวินภายหลังประกาศสันติภาพของไทย ได้กล่าวถึงผลประโยชน์ของสัมพันธมิตรเช่นเดียวกับผลประโยชน์ของอังกฤษ อังกฤษจะพยายามรักษาผลประโยชน์ของฝรั่งเศสจนสุดความสามารถ นายเบ็นเน็ทท์ยืนยันว่า เมื่ออังกฤษตกลงในเงื่อนไขที่จะยกขึ้นเจรจากับไทยอย่างใด จะแจ้งให้ฝ่ายฝรั่งเศสทราบล่วงหน้า

อีกสองวันต่อมา นายปารีสเข้าพบนายวิลสัน ยัง แห่งกรมการตะวันออกไกล กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ เพื่อแจ้งให้ทราบถึงท่าทีของรัฐบาลฝรั่งเศสที่กำหนดแน่นอนรวม ๓ ข้อ ดังนี้

(๑) ฝรั่งเศสเรียกร้องให้ไทยคืนดินแดนที่ได้ไปในปี ๒๔๘๔ และประกาศอนุสัญญาลงวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๔ เป็นโมฆะ

(๒) รัฐบาลฝรั่งเศสถือว่ามีสถานะสงครามกับไทย จนกว่าจะได้รับคำรับรองตามข้อ ๑

(๓) รัฐบาลฝรั่งเศสจะแจ้งทัศนะของฝรั่งเศสในส่วนที่เกี่ยวกับค่าปฏิกรรมสงครามที่จะเรียกร้องเอาจากประเทศไทย และขอบเขตการควบคุมประเทศไทยทางการเมืองและการทหารเมื่อได้รับความพอใจตามข้อ ๑ แล้ว

ความมุ่งหมายของฝรั่งเศสในชั้นนั้น ก็เพื่อที่จะผูกพันการเรียกร้องของฝรั่งเศสเข้าไว้กับการเรียกร้องของอังกฤษ และให้มีการปรึกษาหารือประสานงานระหว่างสองฝ่ายในการติดต่อกับประเทศไทย แล้วแจ้งให้ฝ่ายอเมริกันทราบ นายปารีสยืนยันว่า ฝรั่งเศสปรารถนาที่จะให้ไทยลงนามทำความตกลงกับฝรั่งเศสพร้อมกันกับที่จะทำกับอังกฤษ

วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๔๘๘ นายสเตอร์นเดล เบ็นเน็ทท์ เชิญนายปารีสมาพบที่กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ เพื่อมอบร่างหัวข้อความตกลงและภาคผนวกที่ดำริจะทำกับไทยให้พร้อมทั้งชี้แจงว่า ตามร่างนี้การกำหนดให้ประเทศไทยคืนดินแดน ไม่รวมถึงกรณีฝรั่งเศส เพราะฝรั่งเศสคงประสงค์จะเจรจากับไทยโดยตรง นายปารีสจึงขอร้องให้กระทรวงการต่างประเทศแจ้งให้รัฐบาลไทยทราบด้วยว่า รัฐบาลฝรั่งเศสจะส่งผู้แทนไปแคนดี เพื่อเจรจาทำความตกลงกับไทยด้วย ซึ่งนายเบ็นเน็ทท์เพียงรับความประสงค์ของฝรั่งเศสไว้พิจารณาว่าจะทำได้อย่างไร เพราะอังกฤษเองเวลานั้นยังไม่มีการติดต่อเป็นทางการกับรัฐบาลไทย

เมื่อทราบความดำริของฝรั่งเศส นายเดนิ่งส่งโทรเลขลงวันที่ ๑ กันยายน เตือนกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษให้ระมัดระวังในการดำเนินงานของฝ่ายฝรั่งเศส นายเดนิ่งมองไม่เห็นว่าจะให้มีผู้แทนฝรั่งเศสมาทำการเจรจากับฝ่ายไทยพร้อมกับนายเดนิ่งอย่างไรได้ เกรงว่า ฝรั่งเศสจะอาศัยอังกฤษเป็นเครื่องมือรักษาผลประโยชน์ของฝรั่งเศส อันจะทำให้การเจรจาระหว่างอังกฤษกับไทยต้องล่าช้าลงไป สำหรับอังกฤษเอง จำต้องรีบตกลงกับไทยเสียโดยเร็ว ในหลักการนายเดนิ่งเห็นว่า ฝรั่งเศสควรจะได้รับดินแดนที่ไทยได้ไปโดยอาศัยการบีบบังคับของญี่ปุ่นคืน แต่ก็พอทำนายได้ว่า ฝรั่งเศสจะไม่ยอมให้มีการเจรจาปัญหาดินแดนใหม่กับไทยอีก การที่ฝรั่งเศสอ้างว่า มีสถานะสงครามกับไทยนั้นก็เพื่อสนับสนุนฐานะของฝรั่งเศสในการเรียกร้องจากไทย ทั้ง ๆ ที่ฝรั่งเศสมิได้แสดงบทบาทอย่างใดในสงครามกับญี่ปุ่น จริงอยู่ พึงจัดให้มีการประสานงานระหว่างประเทศไทยกับดินแดนอังกฤษและฝรั่งเศสที่อยู่ใกล้ แต่นายเดนิ่งยังไม่สู้มั่นใจว่า ฝรั่งเศสจะสามารถช่วยในการนี้ได้เท่าใดนัก และข้อสำคัญก็คือ สหรัฐอเมริกันกำลังติดตามสถานการณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างจดจ่อ และคงตำหนิติเตียนการกระทำใด ๆ ที่จะแสดงให้เห็นว่าเป็นการที่อังกฤษสนับสนุนจักรวรรดินิยมของฝรั่งเศส

วันที่ ๒ กันยายน โฮจิมินห์ ประกาศการจัดตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามขึ้นในตอนเหนือของอินโดจีน และคงตั้งตัวต่อสู้เพื่ออิสรภาพของเวียดนาม ขัดแข็งต่อการปกครองของฝรั่งเศสไม่น้อยกว่าต่อต้านญี่ปุ่นระหว่างสงคราม โดยได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนจาก โอ.เอส.เอส. ฝรั่งเศสคิดหาทางจะกลับไปปกครองอินโดจีนเช่นแต่เดิมเมื่อก่อนเกิดสงครามซึ่งฝ่ายอเมริกันไม่สู้จะเห็นด้วยนัก วิธีที่ฝรั่งเศสเชื่อว่าจะส่งเสริมฐานะของฝรั่งเศสในสายตาของกัมพูชาและลาวก็คือจะต้องเรียกร้องดินแดนคืนจากไทยให้ได้

วันที่ ๔ กันยายน นายปารีสเข้าพบนายสเตอร์นเดล เบ็นเน็ทท์ อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้พานายคลารักและนายแซงมเลอผู้ได้รับมอบหมายให้ไปแคนดีเพื่อเจรจากับฝ่ายไทยมาด้วย และยื่นร่างเงื่อนไขที่ฝรั่งเศสจะขอให้ไทยรับให้ทราบ ปรากฏว่ามีข้อความที่พยายามคัดลอกแบบหัวข้อความตกลงและภาคผนวกของอังกฤษนั่นเอง โดยมีข้อแตกต่างออกไปก็ในเรื่องที่กล่าวถึงดินแดนอินโดจีน และที่แปลกที่สุด ก็คือ ฝรั่งเศสได้สอดข้อความกำหนดให้ไทยส่งมอบพระแก้วมรกตคืนให้แก่ลาว นายปารีสยืนยันว่า รัฐบาลฝรั่งเศสต้องการจะให้มีการเจรจากับฝ่ายไทยพร้อมกับอังกฤษ และขอให้อังกฤษสนับสนุนให้ไทยยอมรับตามข้อเสนอของฝรั่งเศส นายคลารักถึงกับกล่าวแทรกว่า ตามคำสั่งที่ได้รับจากรัฐบาลฝรั่งเศส ไทยจะต้องรับหรือไม่รับข้อเสนอของฝรั่งเศส โดยไม่มีการเจรจาอย่างใด นายเบ็นเน็ทท์พยายามชี้แจงว่า แม้ข้อเสนอของอังกฤษที่จะยื่นแก่ฝ่ายไทยเอง ก็ยังไม่แน่นอน เพราะยังอยู่ในระหว่างการปรึกษาหารือกับประเทศจักรภพและรัฐบาลอเมริกันอยู่ เมื่อนายคลารักเดินทางไปถึงแคนดีแล้ว หวังว่าจะได้ติดต่อโดยใกล้ชิดกับนายเดนิ่ง

 


พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต
ที่มา : guidebangkok.net

 

เจ้าหน้าที่ในกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษรู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างมากในท่าทีของรัฐบาลฝรั่งเศส ที่หาญแทรกสอดคำเรียกร้องเอาพระแก้วมรกตจากประเทศไทยไปให้ลาว เป็นการฉวยโอกาสแสดงความยิ่งใหญ่ของฝรั่งเศสให้คนลาวเห็น โดยฝรั่งเศสเองไม่ต้องเสียอะไรเลย และไม่คำนึงถึงผลร้ายอันจะเกิดขึ้นแก่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส รวมทั้งประเทศฝ่ายตะวันตกที่สมรู้เป็นหูเป็นตาด้วย คาดคะเนกันว่า รัฐบาลอเมริกันคงจะขอคำชี้แจงอย่างถี่ถ้วนจากฝรั่งเศสในข้อนี้ และคงคัดค้านอย่างหนักหน่วง อังกฤษเองจะต้องเสื่อมเสียด้วย เพราะเท่าที่เป็นมา อังกฤษอยู่ในลักษณะเข้าข้างฝรั่งเศสอยู่แล้ว ดีไม่ดีจะพลอยถูกหาว่าสนับสนุนฝรั่งเศสในคำเรียกร้องที่วิตถารนั้นก็ได้ แต่ฝ่ายอังกฤษไม่กล้าที่จะคัดค้านฝรั่งเศสโดยตรง เพราะยังอยากจะถนอมนํ้าใจกันไว้เพื่อประโยชน์ในการดำเนินวิเทโศบายที่ต้องร่วมกันในด้านอื่น ๆ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ อังกฤษมองเห็นความสำคัญในความร่วมมือระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส ยิ่งกว่าระหว่างอังกฤษกับไทย แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่อยากจะให้ฝรั่งเศสเข้ามาเหนี่ยวรั้งการเจรจาที่อังกฤษจะทำกับไทย เนื่องจากความต้องการของอังกฤษในตอนนั้นอยู่ที่เรื่องข้าวซึ่งจะเรียกร้องเอาจากไทยไปช่วยบรรเทาความอดอยากของดินแดนในความปกครองและอารักขาของอังกฤษโดยทันที

เพียงแต่ข่าวที่ฝรั่งเศสอยากจะเข้ามาเจรจาขนานกันไปกับอังกฤษเพื่อเลิกสถานะสงครามกับไทย ก็ทำให้รัฐบาลไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งแล้ว เพราะไทยถือว่า ไม่มีสถานะสงครามกับฝรั่งเศส ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ทางการทูตกันไม่ขาดสาย การศึกระหว่างสองประเทศเกี่ยวกับปัญหาเรื่องดินแดนทางอินโดจีนในปี ๒๔๘๓ ได้สุดสิ้นไปแล้วโดยอนุสัญญาสันติภาพที่ไทยทำกับรัฐบาลวิชี ซึ่งสหประชาชาติส่วนใหญ่ยอมรับนับถือสมัยนั้นว่า เป็นรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายของฝรั่งเศส ฉะนั้น คณะผู้แทนที่ไทยจะส่งไปแคนดี จึงไม่ได้รับมอบหมายให้เจรจากับฝ่ายฝรั่งเศส หากจะให้มีการพบปะกัน ก็ต้องเป็นมิใช่ทางการ

เมื่อนายสเตอร์นเดล เบ็นเน็ทท์ พบกับนายฟรังฟอร์ดแห่งสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในวันที่ ๒๒ กันยายน ได้ถือโอกาสปรารภถึงความห่วงใยในการที่ฝรั่งเศสจะเรียกร้องเอาพระแก้วมรกตจากประเทศไทย เพราะไม่เกี่ยวกับปัญหาดินแดน เป็นคนละเรื่องกัน ฝรั่งเศสจะหาเหตุผลสนับสนุนได้ยาก นายฟรังฟอร์ดให้ความเห็นว่า ฝรั่งเศสอาจจะถอนเสียได้โดยถือเป็นข้อผ่อนให้แก่ไทย นายเบ็นเน็ทท์ยืนยันว่า ไม่ควรรวมไว้ในข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสจะดีกว่า เพราะมีแต่จะก่อให้เกิดความยุ่งยากในการเจรจาเท่านั้น เมื่อเสนอเข้าไปแล้วก็อาจจะถอนลำบาก

ครั้นเมื่อคณะผู้แทนไทยเดินทางไปถึงแคนดี ในการประชุมครั้งแรก นายเดนิ่งทูลต่อหม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ ทันทีถึงเรื่องฝรั่งเศสส่งผู้แทนมาเจรจากับไทยตามนัยของคำสั่งจากลอนดอน นายคลารักขอเฝ้าหม่อมเจ้าวิวัฒนฯ ซึ่งทรงชี้แจงว่า คณะผู้แทนไทยออกมาแคนดีเพื่อเจรจาอังกฤษเท่านั้น มิได้รับมอบหมายให้เจรจากับฝรั่งเศส กระนั้นก็ตาม นายคลารักขอถวายร่างหัวข้อความตกลงที่ฝรั่งเศสเตรียมไว้ ทรงอ่านพบข้อความเกี่ยวกับพระแก้วมรกต ก็รับสั่งต่อนายคลารักว่า รัฐบาลไทยใดที่ยอมปฏิบัติตามความประสงค์ของฝรั่งเศสคงอยู่ในอำนาจได้ไม่ถึง ๒๔ ชั่วโมง นายคลารักยอมรับกับนายเดนิ่งเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายนว่า ตัวเองก็ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องข้อนี้นัก และจะพยายามขอร้องให้รัฐบาลตัดออกเสีย ซึ่งนายเดนิ่งแนะว่า ควรจะตัดออกเสียก่อนที่จะเสนอร่างเป็นทางการต่อคณะผู้แทนไทย

ความโอหังของฝรั่งเศสในการเรียกร้องนี้ ก่อให้เกิดความไม่พอใจในคณะผู้แทนไทยเป็นธรรมดา ทั้งคุณเสริม วินิจฉัยกุล และข้าพเจ้า ซึ่งได้ผ่านการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลาหลายปี ไม่เว้นที่จะรู้สึกอดสูในความรุ่มร่ามของฝรั่งเศส เฉพาะอย่างยิ่งข้าพเจ้าที่ภายหลังจากการไปประจำที่กรุงโตเกียวกลับมารับตำแหน่งหัวหน้ากองการเมืองในกรมการเมืองตะวันตก ต้องทำการติดต่อกับสถานทูตฝรั่งเศส ณ กรุงเทพฯ ตลอดเวลา สถานทูตฝรั่งเศสต้องการสิ่งใดที่ชอบจะได้ ข้าพเจ้าก็ช่วยจัดการให้ และจะถือว่าไทยกับฝรั่งเศสมีสถานะสงครามต่อกันตลอดเวลานั้นได้อย่างใด ดูเป็นสิ่งที่มาเหนือเมฆ มิใช่เป็นไปตามหลักตรรกวิทยาซึ่งกล่าวกันว่าเป็นอุปนิสัยของชาวฝรั่งเศส พันตรี บาเธอร์ส นายทหารติดต่อที่นายเดนิ่งส่งมาประจำคณะผู้แทนไทย รายงานต่อนายเดนิ่งว่า คืนวันที่นายคลารักเข้าเฝ้าหม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ ทั้งคืน คณะผู้แทนไทยทุกคนต่างบริภาษการกระทำของฝ่ายฝรั่งเศสอย่างกว้างขวาง พวกเราทุกคนมองเห็นว่า ฝรั่งเศสเป็นผู้ยอมแพ้สงครามเป็นประเทศแรกภายหลังที่รบเยอรมันได้ไม่เท่าใด ทางด้านเอเชีย ฝรั่งเศสมีแต่ยอมตามคำเรียกร้องของญี่ปุ่นทุกอย่าง เปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นเข้ายึดหัวหาดในอินโดจีนเพื่อขยายตัวลงไปทางใต้ผ่านประเทศไทยไปพม่าและมลายู ฝรั่งเศสมิได้ทำการขัดขวางการก้าวหน้าของกองทัพญี่ปุ่นเลยแม้แต่น้อย ครั้นญี่ปุ่นต้องยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ฝรั่งเศสกลับถือโอกาสวางก้ามเป็นผู้พิชิต จะกลับเข้าไปปกครองอินโดจีนอย่างเดิม ยังไม่พอ เผลอเผยโฉมหน้าจะสับโขกเอาประโยชน์จากประเทศไทยอย่างไม่สำนึกตน ถึงอย่างไรไทยก็ยอมไม่ได้เด็ดขาด

ร้อนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษต้องยกเรื่องขึ้นปรารภกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสด้วยตนเองที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม นายบิโดรับว่า ไม่ทราบรายละเอียด เข้าใจว่า พระแก้วมรกตนี้ถูกไทยลักลอบเอาไปจากลาว ถ้ายอมประนีประนอมในข้ออื่น ๆ ฝรั่งเศสอาจถอนข้อเรียกร้องข้อนี้ และอีกไม่กี่วันต่อมา ก็มีคำสั่งออกจากกรุงปารีสให้ถอน แต่ก็ไม่ทำให้ไทยสิ้นความหมั่นไส้และลืมความทะเยอทะยานอย่างไร้เหตุผลของฝรั่งเศส ถึงอย่างไรไทยก็ยังยึดมั่นว่า ไม่มีสถานะสงครามกับฝรั่งเศส อนุสัญญาสันติภาพฉบับลงวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๔ ทำโดยรัฐบาลฝรั่งเศสที่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้ารัฐบาลใหม่ของฝรั่งเศสไม่รับรู้และไม่รับรองการกระทำของรัฐบาลเก่า อย่างน้อยก็จะต้องเจรจากันใหม่ ไม่ใช่บังคับให้ไทยยอมส่งมอบดินแดนให้เฉยๆ เมื่อตอนที่ไทยได้มา ก็ได้จ่ายค่าตอบแทนเป็นจำนวนไม่น้อยตามความตกลงระหว่างรัฐบาลทั้งสอง เรื่องคาราคาซังเช่นนี้ต่อมาช้านาน ในชั้นแรกฝรั่งเศสต้องการจะให้การเจรจาระหว่างฝรั่งเศสกับไทยดำเนินขนานกันไปกับการเจรจาระหว่างอังกฤษกับไทย ซึ่งอังกฤษตระหนักดี ถ้าให้การเจรจาทั้งสองผูกพันกัน อังกฤษจะพลอยไม่ได้ความตกลงกับไทยโดยเร็วอย่างที่ประสงค์ ฝรั่งเศสจึงลดลงมาเป็นว่า อังกฤษไม่พึงลงนามกับไทยเมื่อไทยยังไม่ยอมเริ่มเปิดการเจรจากับฝรั่งเศส ก็ไม่สำเร็จผลอีก วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๘ รัฐบาลฝรั่งเศสแลกเปลี่ยนหนังสือกับกษัตริย์กัมพูชามีข้อความตอนหนึ่งว่า “การเจรจาเรียกดินแดนคืนจากประเทศไทยกำลังก้าวหน้าอย่างน่าพึงพอใจ” ทั้ง ๆ ที่ความจริงยังไม่ได้เริ่มการเจรจาแม้แต่น้อย

สำหรับฝ่ายอเมริกันนั้น เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม นายวินเซนท์ อธิบดีกรมกิจการตะวันออกไกล เชิญนายลาคอสต์ ที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ไปพบเพื่อแจ้งท่าทีของรัฐบาลอเมริกันเกี่ยวกับดินแดนของอินโดจีนว่า เพื่อประโยชน์แห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความสงบสุขในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัฐบาลอเมริกันใคร่จะขอแนะให้รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศคำมั่นอย่างเปิดเผยว่า ในทันทีที่ประเทศไทยยอมคืนดินแดนให้ ฝรั่งเศสจะยอมรับให้มีการพิจารณาปัญหาเรื่องเขตแดนระหว่างไทยกับอินโดจีนโดยสันติวิธีและเป็นระเบียบ เพื่อป้องกันความระสํ่าระสายในอนาคตและความไม่พอใจระหว่างประเทศ โดยคำนึงถึงประณิธานและท่าทีของประชากรที่เกี่ยวข้องเป็นเกณฑ์ ในการทำข้อเสนอแนะนี้ ฝ่ายอเมริกันไม่ประสงค์จะวิพากษ์วิจารณ์ ปัญหาเขตแดนระหว่างไทยกับอินโดจีน และไม่ต้องการสนับสนุนการเรียกร้องใด ๆ ของฝ่ายไทย แต่อเมริกันเชื่อว่าการให้คำมั่นของฝรั่งเศสจะมีส่วนช่วยสถาปนาสันติภาพ เสถียรภาพ และความสงบสุขในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผลดีต่อความรู้สึกโดยทั่วไปในท่าทีของรัฐบาลฝรั่งเศส ทั้งจะส่งเสริมเกียรติภูมิของประเทศฝ่ายตะวันตกในสายตาของประชากรตะวันออกไกล นายลาคอสต์ตอบนายวินเซนท์ว่า กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสคงจะไม่สามารถให้คำมั่นอย่างที่ฝ่ายอเมริกันเสนอแนะโดยไม่ทราบล่วงหน้าถึงขอบเขตแห่งความต้องการของไทย

ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๖ นายลาคอสต์นำคำตอบของกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสมาแจ้งต่อนายมอฟเฟ็ต หัวหน้ากองกิจการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า การที่จะให้ฝรั่งเศสให้คำมั่นว่าจะมีการพิจารณาปัญหาเรื่องดินแดนกับไทยต่อไปนั้น จะเป็นทางส่งเสริมการโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มนิยมทหารว่า การเรียกร้องดินแดนคืนเป็นสิ่งที่ชอบธรรม เป็นการเกื้อกูลให้ฝ่ายไทย พยายามแสวงหาความพึงพอใจต่อไป ทั้งจะเป็นการแปลไปได้ด้วยว่า ฝรั่งเศสไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ในฐานะผู้คุ้มครองลาวและกัมพูชา นายลาคอสต์อธิบายเพิ่มเติมว่า ลาวและกัมพูชามีความแตกต่างในทางเชื้อชาติกับไทย มีความเป็นอยู่และรัฐบาลตลอดจนราชวงศ์ที่ปกครองแยกต่างหากจากประเทศไทย การที่จะให้รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศผูกพันให้มีการปรับปรุงเขตแดนใหม่ จะก่อให้เกิดความระสํ่าระสายและความไม่สงบขึ้นในดินแดนที่ไทยจะต้องคืน เพราะจะทำให้คิดไปว่าดินแดนเหล่านั้นอาจจะกลับไปขึ้นอยู่กับประเทศไทยอีก คนเขมรเป็นจำนวนมากได้เริ่มหลบหนีออกจากเมืองพระตะบอง เข้าไปอยู่ในเขตปกครองของฝรั่งเศสแล้ว ฉะนั้นอย่างมากที่รัฐบาลฝรั่งเศสจะรับได้ก็คือ ให้คำมั่นว่า ภายหลังที่ไทยคืนดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสแล้ว ฝรั่งเศสพร้อมพิจารณาปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่กับไทยด้วยเจตนารมณ์แห่งความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี

ส่วนทางรัฐบาลไทย ก็เริ่มมองเห็นแล้วว่า ดินแดนที่ไทยได้จากอินโดจีนโดยการไกล่เกลี่ยของญี่ปุ่น คงจะต้องคืนให้แก่ฝรั่งเศส เพราะหลักการสำคัญของสัมพันธมิตรที่ไม่ยอมรับรู้การเปลี่ยนแปลงทางดินแดนระหว่างสงคราม ในการให้สัมภาษณ์ต่อผู้แทนหนังสือพิมพ์เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม นายกรัฐมนตรีเสนีย์ ปราโมช ยอมรับว่า ภายหลังที่ไทยตกลงกับอังกฤษเพื่อเลิกสถานะสงครามแล้ว คงจะต้องถึงเวลาเจรจากับฝรั่งเศส ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้ไปแจ้งแก่นายโยสต์ว่า เมื่ออเมริกันและอังกฤษยืนยันจะให้ไทยคืนดินแดนให้ได้ ไทยอยากจะหาทางออกให้เหมาะสม เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชนคนไทยและคนพื้นเมืองในดินแดนที่เกี่ยวข้อง ต่างคอยมองดูท่าทีของไทยต่อฝรั่งเศสอยู่ ไทยอาจจะกระทำได้ ถ้าการเรียกคืนนั้นเป็นความประสงค์ของสัมพันธมิตร หรือมิฉะนั้น ก็ต้องอาศัยเป็นมติของสหประชาชาติ โดยในระหว่างการพิจารณาของสหประชาชาติ ไทยจะยอมให้มีคณะกรรมาธิการสหประชาชาติเข้าควบคุมการปกครองดินแดนเหล่านั้น เพราะการจะปล่อยให้ฝรั่งเศสเข้ามาปกครองทันทีทันใด จะก่อให้เกิดความปั่นป่วนในบรรดาคนไทย ญวน เขมร และลาวที่อาศัยอยู่ในเขต

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม นายกรัฐมนตรีเสนีย์ ปราโมช เชิญนายโยสต์ไปพบเพื่อยืนยันความดำริว่า จะประกาศไม่รับรู้การได้ดินแดนสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ด้วยความร่วมมือของญี่ปุ่น และจะเสนอเรื่องให้สหประชาชาติพิจารณา ระหว่างนั้นให้ดินแดนอยู่ในการปกครองของคณะกรรมาธิการสหประชาชาติหรือสัมพันธมิตร นายกรัฐมนตรีแจ้งต่อนายโยสต์ว่า หากแผนการนี้ได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาลอเมริกัน ก็เชื่อว่ารัฐบาลไทยจะยอมรับ

นายโยสต์รายงานข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีไปยังกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน พร้อมด้วยเสนอความเห็นเพิ่มเติมว่า ฝรั่งเศสคงไม่ยอมรับนอกจากไทยจะยินยอมให้ฝรั่งเศสกลับเข้าปกครองดินแดนทันที และเมื่อสามารถเข้าปกครองแล้ว ฝรั่งเศสก็คงหาทางขัดขวางมิให้สหประชาชาติเข้าเกี่ยวข้อง นายโยสต์แนะให้รัฐบาลอเมริกันแจ้งต่อฝรั่งเศสว่า รัฐบาลอเมริกันจะขอให้ไทยคืนดินแดนให้ฝรั่งเศส ถ้าฝรั่งเศสยินยอมให้สหประชาชาติเป็นผู้พิพากษาปัญหาเรื่องดินแดนถ้าไทยร้องขอ

การที่ไทยยืนกรานไม่ยอมคืนดินแดน เรามีเหตุผลสนับสนุนที่มีนํ้าหนักไม่น้อย แต่ต่อมาเรายอมผ่อนลงไปว่า ถ้าจะให้คืนก็ต้องเป็นโดยคำขอของสหประชาชาติ ไม่มีรัฐบาลไทยใดที่สามารถวินิจฉัยเรื่องนี้ได้นอกจากจะเป็นความประสงค์ขององค์การโลก ซึ่งไทยอยากจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกอยู่ แต่ต้องมีเงื่อนไขว่า ฝรั่งเศสรับจะพิจารณาปรับปรุงดินแดนระหว่างอินโดจีนฝรั่งเศสกับไทยให้เป็นไปโดยยุติธรรมและตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ฝรั่งเศสถึงกับสำทับว่า ถ้าไทยไม่ยอมตามความต้องการของฝรั่งเศส ฝรั่งเศสอาจใช้กำลังเข้ายึดดินแดนเหล่านั้นเองก็ได้ การปฏิบัติตามคำขู่นั้น มิใช่จะสะดวกง่ายดายนัก ฝรั่งเศสใช่จะมีอำนาจเด็ดขาดถึงเพียงนั้นก็หาไม่ ดินแดนอินโดจีนฝรั่งเศสเองต้องแบ่งแยกอยู่ในเขตปฏิบัติการของกองบัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตรสองฝ่ายด้วยกัน คือ ตั้งแต่ตอนเหนือจากเขตแดนประเทศจีนติดต่อกับลาวและญวนลงมาถึงเส้นละติจูดที่ ๑๖ อยู่ในการบังคับบัญชาของการทหารจีนภายใต้จอมพล เจียงไคเช็ค ตํ่าจากเส้นนั้นลงมา อยู่ในการบังคับบัญชาของกองทหารบริติชภายใต้ลอร์ดหลุยส์ เมานต์แบตตัน การกวาดล้างกำลังทหารญี่ปุ่นอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกองกำลังทหารทั้งสองนั้น ฝรั่งเศสไม่มีส่วนด้วยเลย เมื่อการรับการจำนนของญี่ปุ่นเรียบร้อยแล้ว จึงจะถึงเวลาที่ฝรั่งเศสจะเข้ารับมอบการปกครองอินโดจีนจากจีนและอังกฤษ สำหรับอังกฤษคงไม่มีปัญหา เพราะอังกฤษและฝรั่งเศสต่างเป็นประเทศล่าอาณานิคมด้วยกัน จึงอาจจะเห็นอกเห็นใจเกื้อกูลกัน แต่จีนนั้นไม่แน่ เพราะจีนเป็นชาติเอเชีย จะยินยอมให้ฝรั่งเศสกลับมาควบคุมอนาคตของญวน ลาว และกัมพูชาซึ่งเป็นชาวเอเชียด้วยกันหรือ ประกอบกับจีนก็มีผลประโยชน์ของจีนโดยเฉพาะในดินแดนเหล่านั้นด้วย หากสมมุติว่า ไทยยอมคืนดินแดนส่วนทางราชอาณาจักรลาว จะตกเข้าอยู่ชั่วคราวของลอร์ดหลุยส์ เมานต์แบตตัน จะเพิ่มปัญหาให้แก่ฝรั่งเศสไม่น้อย แต่ถ้าดินแดนทั้งสองส่วนนั้นอยู่กับประเทศไทย ก็จะขึ้นตรงต่อกองบัญชาการทหารสูงสุดของลอร์ดหลุยส์ เมานต์แบตตัน แต่ผู้เดียว ในตอนนั้น แม้ฝรั่งเศสจะอยากสักเพียงใดก็ตาม ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะเข้ายึดดินแดนทั้งสองส่วนจากประเทศไทยได้ เพราะจะต้องพบกับกำลังของกองบัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตร ถ้าลอร์ดหลุยส์ เมานต์แบตตัน ทำหลับหูหลับตาเสีย ปล่อยให้ฝรั่งเศสล่วงลํ้าเข้ามา ก็อาจจะสร้างความสะเทือนใจแก่สัมพันธมิตรอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา เพราะจะกลายเป็นว่า อดีตประเทศล่าเมืองขึ้นทั้งสองสมรู้ร่วมคิดเข้ายึดแย่งดินแดนจากประเทศไทยไป โดยไม่ใช่การเจรจาด้วยสันติวิธี อันมิใช่แนวทางที่สมควรภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ฉะนั้น ตลอดเวลาที่อังกฤษใช้เวลาหลายเดือนเจรจาเลิกสถานะสงครามกับไทย ตั้งแต่ที่เมืองแคนดีมาจนกระทั่งที่เมืองสิงคโปร์ จนสามารถลงนามในความตกลงสมบูรณ์แบบเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๘๙ ฝรั่งเศสก็ยังไม่พบความก้าวหน้าในการเจรจากับไทยแต่ประการใด นอกจากจะมีข้อความในหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างนายเดนิ่งกับหม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ ว่า อังกฤษไม่รับรู้การที่ไทยได้ดินแดนทางอินโดจีนอาศัยการไกล่เกลี่ยของญี่ปุ่นตามอนุสัญญากรุงโตเกียว ลงวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๔ ส่วนทางฝ่ายอเมริกันก็มีเพียงการยืนยันของกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน ในบันทึกลงวันที่ ๔ มกราคม ๒๔๘๙ ว่า รัฐบาลอเมริกันไม่รับรองความสมบูรณ์ของการโอนดินแดนอินโดจีนให้แก่ประเทศไทยเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๔ รัฐบาลไทยควรคืนดินแดนนั้น ทั้งนี้โดยไม่กระทบกระเทือนต่อ การปรับปรุงเขตแดนโดยสันติวิธีในภายหลัง แล้วความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาก็กลับคืนเข้าสู่ภาวะปกติ มีการแลกเปลี่ยนทูตต่อกันแล้ว ฝรั่งเศสยังคงโดดเดี่ยวอยู่โดยลำพังประเทศเดียว ประกอบกับรัฐบาลของพลเอก เดอโกล ต้องพ่ายแพ้พ้นจากตำแหน่งไป มีรัฐบาลพลเรือนขึ้นมาแทนที่ ความดำริที่จะใช้กำลังเข้ายึดดินแดนที่ไทยครองอยู่จึงต้องเลือนลางลงไป ตกเป็นหน้าที่ของนายคลารักที่ต้องวิ่งเต้นหาทางเจรจากับไทยทุกวิถีทาง และพร้อมกับต้องอาศัยอังกฤษเป็นผู้สนับสนุน

ระหว่างเวลาที่นายเดนิ่งมาเยือนประเทศไทยตอนต้นเดือนมกราคม ๒๔๘๙ นายเดนิ่งรายงานต่อกระทรวงการต่างประเทศว่า ฝ่ายไทยพร้อมที่จะส่งผู้แทนไปพบกับผู้แทนฝรั่งเศสที่สิงคโปร์ นายเดนิ่งยกเรื่องพูดกับพลเรือเอก ดาร์ฌังลิเออ ข้าหลวงใหญ่ประจำอินโดจีน ซึ่งขอเวลาหารือรัฐบาลที่กรุงปารีส เพราะเกรงว่าจะเป็นการเสียเกียรติของฝรั่งเศสที่จะไปเจรจาที่สิงคโปร์ อันมิใช่ในดินแดนของฝรั่งเศสเอง นายคลารักยืนยันสนับสนุนการเจรจาที่สิงคโปร์เต็มที่ เห็นว่า ฝรั่งเศสไม่ควรจะเกี่ยงงอนเรื่องสถานที่ที่จะพบกับไทย ในที่สุดเป็นอันตกลงว่า ฝรั่งเศสจะส่งผู้แทนไปพบกับไทยที่สิงคโปร์ บังเอิญตอนนั้นเกิดความปั่นป่วนในอินโดจีนเหนือ ซึ่งอยู่ในเขตอาณัติของกองบัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตรภายใต้จอมพล เจียงไคเช็ค พวกญวนกู้ชาติเข้าจู่โจมตีกำลังทหารฝรั่งเศส จีนเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เสีย อังกฤษเห็นว่า เมื่อการยอมจำนนของญี่ปุ่นสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว กำลังทหารจีนควรจะถอนตัวออกไปจากอินโดจีน นายคลารักได้รับคำสั่งให้เดินทางไปเมืองฮานอยเพื่อเจรจากับจีน แล้วเลยไปจุงกิง ต้องวางมือเรื่องการเจรจากับไทยไประยะหนึ่ง ฝ่ายไทยเข้าใจว่า ฝรั่งเศสไม่สนใจในเรื่องเจรจาที่สิงคโปร์

ทางประเทศไทย ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๔๘๙ ตกลงเลือกนายควง อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เข้าว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายคลารักเห็นเรื่องยังเงียบอยู่ ไทยยังไม่ส่งผู้แทนไปสิงคโปร์ตามที่ตกลงกัน จึงวิ่งทางลอร์ดหลุยส์ เมานต์แบตตัน เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคมว่า ฝ่ายฝรั่งเศสพร้อมที่จะทำความตกลงกับไทยตามแบบของอังกฤษ และรับที่จะแจ้งให้ฝ่ายไทยทราบหรือจะมีการเปลี่ยนหนังสือกันก็ได้ว่า ฝรั่งเศสรับจะปรับปรุงเขตแดนระหว่างอินโดจีนกับไทย เพื่อประโยชน์ของการเดินเรือ การคมนาคม และหมู่ประชากรในท้องถิ่นตามชายแดน โดยไม่ขัดต่อสนธิสัญญาระหว่างฝรั่งเศสกับไทยปี ค.ศ. ๑๙๐๔-๑๙๐๗ ไทยพิจารณาแล้วเห็นว่าจะรับข้อแม้นั้นไม่ได้ เพราะจะเป็นการจำกัดขอบเขตของการเจรจาปรับปรุงเขตแดนให้ทำการเปลี่ยนแปลงอย่างใดไม่ได้เลย และถ้าไทยยอมรับข้อเสนอของฝรั่งเศส โดยไม่มีการรับหลักการว่าจะต้องมีการปรับปรุงเขตแดนกันใหม่ รัฐบาลไทยก็อยู่ไม่ได้ ขัดต่อความต้องการของประชาชนชาวไทย ลอร์ดหลุยส์ เมานต์แบตตัน จึงยกเรื่องขึ้นพูดกับพลเรือเอก ดาร์ฌังลิเอออีก เห็นพ้องกันว่า ควรจะหาวิธีรักษารัฐบาลไทยไว้ ดีกว่าที่จะปล่อยให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ซึ่งไม่ทราบว่าจะได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี อาจจะทำให้เรื่องยุ่งยากยิ่งขึ้นอีกก็ได้ ฝ่ายฝรั่งเศสรับว่าจะยอมให้ไทยประกาศการเจรจาปรับปรุงเขตแดนกับฝรั่งเศสได้ ถ้าหากผู้แทนของทั้งสองประเทศสามารถไปประชุมที่สิงคโปร์ก่อนสิ้นเดือนมีนาคม

วันที่ ๑๘ มีนาคม รัฐบาลควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่ง ท่านรัฐบุรุษอาวุโสเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๓ เป็นระยะเวลาที่มีความยุ่งยากทางการเมืองภายในประเทศไทยมากพอใช้ ความสนใจจะเจรจากับฝรั่งเศสจึงลดระดับความสำคัญลงไป นายคลารักไม่เว้นติดตามเรื่อง โดยรับจะพบผู้แทนไทยที่ไซ่ง่อนหรือที่กรุงปารีสก็ได้ และยืนยันในหลักการจะให้ออกแถลงการณ์เรื่องการปรับปรุงเขตแดนภายหลังที่ไทยตกลงคืนดินแดนให้อินโดจีน

วันที่ ๒ เมษายน รัฐบาลไทยตกลงส่งคณะผู้แทนประกอบด้วยคุณเชียด อภัยวงศ์ น้องชายคุณควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้า พร้อมด้วยหลวงวิสูตรวิรัชชเทศ อธิบดีกรมการเมืองตะวันออก และคุณบุณย์ เจริญไชย เป็นเลขานุการ ออกไปปรึกษาหารือเบื้องต้นกับนายคลารักที่ไซง่อน คุณเชียดเสนอวิธีแก้ปัญหาให้ฝ่ายฝรั่งเศสเลือกเอา ๓ วิธีคือ เสนอเรื่องให้สหประชาชาติพิจารณา หรือจัดให้มีการออกเสียงแสดงประชามติในดินแดนที่เกี่ยวข้องว่า ประชาชนต้องการเลือกอยู่กับประเทศไทยหรือจะกลับไปขึ้นอยู่กับฝรั่งเศส หรือไทยมอบดินแดนให้ฝรั่งเศสทันที โดยมีเงื่อนไขว่า ฝรั่งเศสยอมคืนกลับให้แก่ไทยแลกกับข้าวที่ไทยรับจะส่งให้แก่อินโดจีน เพื่อแก้ความขาดแคลนปีละ ๒๐,๐๐๐ ตัน เป็นเวลา ๑๐ ปี คุณเชียดขอให้นายคลารักส่งข้อเลือกทั้งสามนี้ไปให้รัฐบาลฝรั่งเศสพิจารณาแล้วแต่จะเลือกเอาวิธีใด นายคลารักปฏิเสธไม่ยอมส่งปารีส อ้างว่าไม่เป็นมูลฐานที่ฝรั่งเศสจะรับพิจารณาได้ คณะผู้แทนไทยเดินทางกลับกรุงเทพฯ พร้อมด้วยความผิดหวังในการปรึกษาหารือเบื้องต้น ตรงกันข้ามดูจะทำให้ท่าทีของฝรั่งเศสแข็งกร้าวยิ่งขึ้น นายคลารักถึงกับแจ้งแก่กงสุลใหญ่อังกฤษที่ไซ่ง่อนว่า ถ้าไทยไม่ยอมเปลี่ยนท่าทีปรองดองกับฝรั่งเศส ฝรั่งเศสพร้อมจะใช้กำลังเข้ายึดดินแดนคืน คำขู่ของนายคลารักนี้อังกฤษเองมองไม่เห็นว่าจะทำได้เพียงใด เพราะในระยะนั้นกองกำลังทหารจีนยังไม่ได้ถอนตัวออกไปจากลาว ถ้าเกิดการสู้รบระหว่างไทยกับฝรั่งเศสขึ้น จีนอาจจะเข้าข้างไทยก็ได้ ฝรั่งเศสไม่อยู่ในฐานะที่จะเดินเข้าไปยึดดินแดนในความปกครองของไทยได้ง่าย ๆ อังกฤษจึงเตือนรัฐบาลฝรั่งเศสให้ทราบถึงความห่วงใยของอังกฤษ และขอให้ฝรั่งเศสใคร่ครวญให้รอบคอบก่อนที่จะดำเนินการรุนแรงต่อไทย

วันที่ ๒๔ เมษายน นายคลารักชี้แจงต่อกงสุลใหญ่อังกฤษที่ไซ่ง่อนว่า รัฐบาลฝรั่งเศสไม่สามารถรับข้อเสนอให้เลือกของไทยทั้งสามข้อ เพราะเหตุดังนี้ คือ

(๑) ข้อพิพาทเรื่องดินแดนเป็นเรื่องระหว่างฝรั่งเศสกับไทย ไม่เกี่ยวกับสหประชาชาติ จะต้องตกลงกันระหว่างฝรั่งเศสกับไทย ตราบใดที่ยังตกลงกันไม่ได้ ฝรั่งเศสจะคัดค้านไม่ยอมให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ

(๒) การจะจัดแสดงประชามติของประชากรในดินแดนที่เกี่ยวข้อง ฝรั่งเศสอ้างว่าไทยได้โยกย้ายผู้คนเข้าไปในดินแดนและมีการโฆษณาชวนเชื่อเป็นปฏิปักษ์ต่อฝรั่งเศสเรื่อยมา การแสดงประชามติจึงจะไม่ได้ผลที่แท้จริง

(๓) การที่ฝ่ายฝรั่งเศสเสนอให้ไทยคืนดินแดนโดยฝรั่งเศสให้คำมั่นว่าจะมีการพิจารณาปรับปรุงเขตแดนกันใหม่ เป็นข้อเสนอมากที่สุดที่ฝรั่งเศสจะรับได้

 


Diplomatic emblem of France
ที่มา: wikipedia

 

เมื่อคณะผู้แทนไทยต้องเดินทางกลับจากไซง่อนด้วยความล้มเหลว คุณดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แจ้งต่อนายทอมสัน เอกอัครราชทูต เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคมว่า ไทยพยายามจะหาทางออกที่เหมาะสมพอจะรับได้ แต่ฝรั่งเศสไม่ยอมพิจารณาอย่างใดเลย การขอให้สหประชาชาติเป็นผู้พิจารณาเรื่อง ก็เพื่อจะเป็นเหตุผลให้รัฐบาลสามารถชี้แจงต่อประชาชนไทยได้ว่า เป็นความประสงค์ขององค์การโลกที่ไทยจำต้องคล้อยตาม การจัดแสดงประชามติ ถ้าฝรั่งเศสมีความห่วงใย ความเที่ยงธรรม ไทยพร้อมจะให้อังกฤษหรืออเมริกันเป็นผู้ควบคุม แต่ต้องไม่ใช่ฝรั่งเศสเป็นผู้ควบคุม ประการสุดท้าย ถ้าฝรั่งเศสตัดสินใจจะใช้กำลังบังคับไทย ไทยก็คงสู้ไม่ได้โดยลำพัง แต่ก็คงมีการเสียเลือดเนื้อกันบ้าง และอาจจะมีความยุ่งยากสลับซับซ้อนเกิดขึ้นทางอื่น นายทอมสันรายงานกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ ๔ ขอให้เตือนรัฐบาลฝรั่งเศสให้ตระหนักในสถานการณ์ที่กำลังคลี่คลายไปในทางร้าย ถ้าฝรั่งเศสตกลงดำเนินการรุนแรงต่อไทย จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่ฝ่ายอเมริกันซึ่งไม่ชอบวิธีการแสดงออกของจักรวรรดินิยมในเอเชียอยู่แล้ว นอกจากนี้ในไม่ช้า จะมีคณะทูตโซเวียตและจีนเข้าไปตั้งในประเทศไทย ฝรั่งเศสอาจจะได้ชัยชนะทางทหาร แต่จะประสบความยุ่งยากทางการเมืองที่แก้ไขไม่ง่าย

ในวันเดียวกันนั้น ลอร์ดคีลเลอร์น ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำสิงคโปร์ รายงานกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษว่า ฝรั่งเศสทำตนเสมือนหนึ่งว่า ไม่เคยมีรัฐบาลวิชีเลย ฝรั่งเศสต้องการเสมอเท่าเทียมกับอังกฤษในส่วนที่เกี่ยวกับไทย แต่ความจริงนั้น เนื่องด้วยความล้มเหลวของฝรั่งเศส และการร่วมมือของรัฐบาลวิชีที่ทำให้ญี่ปุ่นสามารถผ่านเข้ามาคุมประเทศไทย และบังคับให้ไทยต้องเข้าสงครามข้างฝ่ายญี่ปุ่น

หลังจากนั้น เริ่มมีกรณีเหตุการณ์ชายแดนขึ้น โดยเฉพาะด้านบริเวณจังหวัดนครพนม มีการยิงปืนข้ามแม่นํ้าโขงเข้ามาเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ฝรั่งเศสต้องการให้ไทยส่งผู้อพยพลี้ภัยจากอินโดจีนเข้ามาอาศัยในประเทศไทยคืนไปให้ฝรั่งเศส ซึ่งไทยทำไม่ได้ นายกรัฐมนตรีไทยมีโทรเลขถึงนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสและผู้สำเร็จราชการอินโดจีนส่งผ่านทางฝ่ายอเมริกันขอร้องให้ป้องกันเหตุการณ์ทำนองนี้ และระงับการดำเนินการทางทหาร ฝรั่งเศสไม่ตอบสาส์นของนายกรัฐมนตรี อ้างว่าไม่มีความสัมพันธ์ต่อกัน อังกฤษเสนอให้นายคลารักเดินทางเข้ามาประเทศไทย เพื่อหาลู่ทางเจรจา นายคลารักปฏิเสธ คิดว่าคงไม่เป็นประโยชน์ ฝรั่งเศสยอมสนองความห่วงใยของไทยอย่างที่สุดแล้ว การไม่สามารถตกลงกับไทย ทำให้ฝรั่งเศสต้องกระอักกระอ่วนมากในความสัมพันธ์กับลาวและกัมพูชา ฝรั่งเศสจึงจำต้องดำเนินการรุนแรงขึ้น

วันที่ ๒๒ พฤษภาคม นายทอมสันรายงานกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษว่า เป็นที่น่ายินดีที่ฝ่ายฝรั่งเศสดูจะมีท่าทีไม่ดำเนินการทางทหาร อย่างน้อยก็จนกว่าจะสิ้นฤดูฝนในปลายเดือนตุลาคม นายคลารักปฏิบัติการไม่ถูกต้องในการปฏิเสธไม่ยอมไปกรุงเทพฯ เพื่อปรึกษาหารือกับฝ่ายไทยอย่างไม่เป็นทางการก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฝ่ายไทยกำลังจะยกเรื่องการคุกคามของฝรั่งเศสขึ้นทางสหประชาชาติ ฝรั่งเศสจะไม่ได้ประโยชน์อย่างใดโดยไม่ยอมผ่อนปรนเลยและขู่แต่จะใช้กำลังบังคับ นายทอมสันเห็นว่า ประเทศเล็กสามารถเรียกร้องความเห็นใจของโลกภายนอกด้วยการรํ่าร้องว่า จักรวรรดินิยมตะวันตกกำลังจะขยายตัวอีก

การทำนายของนายทอมสันเกี่ยวกับท่าทีที่ดีขึ้นของฝรั่งเศสยังไม่ทันจะสิ้นเสียงดี ในวันที่ ๒๔ ฝรั่งเศสส่งกำลังทหารเข้าโจมตีไทยด้านจังหวัดหนองคายที่ตำบลท่าบ่อ ฝ่ายไทยทำการต่อต้าน มีการล้มตายและบาดเจ็บด้วยกันทั้งสองข้าง เมื่อเหตุการณ์รุนแรงขึ้นเช่นนั้นเป็นโอกาสให้ฝ่ายค้านโจมตีรัฐบาลไทยอย่างหนัก รวมทั้งสมัครพรรคพวกของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และคุณควง อภัยวงศ์ ตำหนิการดำเนินงานของรัฐบาลปรีดี พนมยงค์ ว่าไม่สามารถจะคุมสถานการณ์ให้เป็นปกติได้ ทั้งคุณดิเรก ชัยนาม และท่านปรีดี พนมยงค์ เชิญทูตอังกฤษ และอุปทูตอเมริกันเข้าพบ ขอร้องให้รัฐบาลช่วยแนะให้ฝรั่งเศสเลิกการรุกรานประเทศไทยเสีย และในขณะเดียวกันได้สั่งการให้ร้องเรียนไปทางสหประชาชาติ

วันที่ ๒๗ นายกรัฐมนตรีปรีดี พนมยงค์ ส่งโทรเลขถึงประธานาธิบดีทรูแมน มีข้อความสำคัญว่า ในวันที่ ๒๔, ๒๕ และ ๒๖ พฤษภาคม กองทหารฝรั่งเศสข้ามแม่น้ำโขงเข้ายึดดินแดนไทยด้วยการใช้กำลังและยังคงยึดอยู่ การโจมตีเหล่านี้ถือเป็นการล่วงละเมิดอธิปไตยของไทย และการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ ต่อการรุกรานอันไม่มีเหตุผลนี้ ประเทศไทยพยายามไม่ต่อต้าน ราษฎรในเขตที่ถูกรุกรานและในเขตข้างเคียงต้องละทิ้งบ้านช่องไร่นา ในยามที่รัฐบาลกำลังพยายามสุดขีดที่จะปฏิบัติตามพันธกรณี ผลิตและมอบข้าวให้แก่เขตที่ขาดแคลนอาหาร การที่ราษฎรต้องโยกย้ายที่อยู่ และถูกรบกวนจากการรุกรานของฝรั่งเศส ย่อมเป็นอุปสรรคต่อความพยายามของไทยที่จะช่วยหาอาหารให้แก่เขตที่อยู่ในภาวะขาดแคลน เพื่อประโยชน์ของสันติภาพและในนามของประชากรที่อดอยากในเขตนี้ นายกรัฐมนตรีวิงวอนขอความเห็นอกเห็นใจ ความช่วยเหลือ และความร่วมมือเพื่อกลับสถาปนามูลฐานของสันติภาพและมนุษยธรรม และได้ส่งสาส์นทำนองเดียวกันไปยัง นายกรัฐมนตรีอังกฤษแอ็ตลี จอมพล สตาลิน จอมพล เจียงไคเช็ค และเลขาธิการสหประชาชาติ

 

หมายเหตุ :

  • กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับหนังสือการวิเทโศบายของไทย จากศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศแล้ว
  • ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล, เรื่อง “ฝรั่งเศสแซงเรียกร้องจากไทย”, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕ (กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ๒๕๖๖), น. 390-409.

บรรณานุกรม :

  • ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล, เรื่อง “ฝรั่งเศสแซงเรียกร้องจากไทย”, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕ (กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ๒๕๖๖), น. 390-409.

 

บทความที่เกี่ยวข้อง :