

หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ และคณะผู้แทนไทย ในระหว่างเจรจาเลิกสถานะสงครามกับคณะผู้แทนอังกฤษ อินเดีย และออสเตรเลีย
ที่มา: digital.library.tu.ac.th
อังกฤษถือว่า การเจรจาเลิกสถานะสงครามกับไทยเป็นเรื่องของอังกฤษโดยเฉพาะ แต่เนื่องจากฝ่ายอเมริกันแสดงความสนใจมาตลอดเวลา อังกฤษจึงจำต้องส่งหัวข้อความตกลงที่เตรียมไว้จะทำกับไทยให้ฝ่ายอเมริกันทราบ ในโทรเลขลงวันที่ ๑๐ กันยายน แต่งตั้งนายเดนิ่งเป็นผู้แทนดำเนินการเจรจาเรื่องการเลิกสถานะสงครามกับไทย กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษเน้นว่า ข้อกำหนดที่ฝ่ายอังกฤษเสนอเป็นข้อกำหนดที่น้อยที่สุด ซึ่งไทยจะต้องยอมรับ แต่ก็ขอให้นายเดนิ่งหาทางทำให้ฝ่ายไทยรับโดยสมัครใจ มิใช่โดยการบีบบังคับ
เมื่อสหรัฐอเมริกาไม่ถือว่ามีสถานะสงครามกับประเทศไทยมาแต่ต้น และเมื่อไทยได้ประกาศสันติภาพให้ความพอใจในปัญหาเรื่องการให้ค่าทดแทนความเสียหายอันเกิดขึ้นต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในประเทศไทยตามความประสงค์แล้ว รัฐบาลอเมริกันจึงพิจารณาจะส่งทูตเข้าไปประจำ ณ กรุงเทพฯ อย่างเดิม อังกฤษขอให้รอไว้จนกว่าอังกฤษจะสิ้นสถานะสงครามกับไทยเสียก่อน แล้วจึงจะส่งทูตพร้อมกันไปประจำในประเทศไทย วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๔๘๘ กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันแจ้งต่อสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษว่า สหรัฐฯ จะไม่กลับสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทยโดยไม่แจ้งให้ฝ่ายอังกฤษทราบล่วงหน้า แต่การเจรจาของอังกฤษกับประเทศไทยจะต้องไม่ยืดเยื้อออกไปนาน สองหรือสามสัปดาห์น่าจะเพียงพอแล้ว สหรัฐฯ ดำริจะส่งนายจอร์ช แอจิสัน ที่ปรึกษาทางการเมืองของพลเอก แม็กอาเธอร์ ที่กรุงโตเกียว ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ก่อนที่นายแอจิสันจะออกจากกรุงโตเกียวได้ จะให้นายชาร์ล โยสต์ ที่ปรึกษาการเมืองของพลโท วีเลอร์ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตรสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำหน้าที่เป็นอุปทูตประจำกรุงเทพฯ เป็นการชั่วคราว โดยจะให้มีเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้นตามสมควร
กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษพิจารณาแล้ว มีความเห็นว่าไม่ควรกระทำตามฝ่ายอเมริกันที่เร่งรัดจะให้แต่งตั้งทูต สถานะสงครามจะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อไทยยินยอมลงนามในความตกลงสมบูรณ์แบบ และฝ่ายอเมริกันก็ไม่น่าจะรีบตั้งทูตก่อนที่อังกฤษจะพร้อม
ก่อนที่คณะผู้แทนฝ่ายไทยเดินทางถึงแคนดี พลโท วีเลอร์ขอร้องไปทางกองบัญชาการทหารสูงสุดมิให้อังกฤษทำความตกลงกับไทยก่อนที่จะทำ ความเข้าใจกับสหรัฐฯ ได้เรียบร้อย และขอให้นายเดนิ่งปรึกษาหารือกับนายโยสต์ ซึ่งกำลังจะเดินทางถึงแคนดีในวันที่ ๒๔ กันยายน ทั้งนี้ทำความไม่พอใจให้แก่นายเดนิ่งเป็นอย่างมาก เพราะนายเดนิ่งถือว่าได้รับมอบอำนาจเต็มจากรัฐบาลอังกฤษให้ดำเนินการเจรจากับคณะผู้แทนไทย หากฝ่ายอเมริกันจะพยายามก่ออุปสรรคบีบบังคับไทยประการใดแล้ว ก็จะเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง พอนายโยสต์เดินทางถึงแคนดี พลตรีทิมเมอร์แมน ผู้แทนฝ่ายทหารอเมริกันที่แคนดี ได้พาไปพบนายเดนิ่งทันทีและยํ้าว่า ถ้าอังกฤษไม่รอให้ตกลงกับฝ่ายอเมริกันก่อนที่จะเริ่มเจรจากับคณะผู้แทนไทยแล้ว นายโยสต์จะติดต่อกับคณะผู้แทนไทยเพื่อแจ้งให้ทราบว่า รัฐบาลอเมริกันไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของอังกฤษบางข้อ ทางกรุงวอชิงตัน นายมอฟเฟ็ตก็ได้ยืนยันต่อเซอร์จอร์ช แซนซัม ว่า รัฐบาลอังกฤษควรจะสั่งให้นายเดนิ่งรอการเจรจากับคณะผู้แทนไทยไว้ก่อน เพราะอังกฤษกับอเมริกันกำลังจะตกลงกันได้ในปัญหาที่ยังค้างอยู่
คณะผู้แทนไทยเดินทางถึงแคนดีวันที่ ๒๓ กันยายน เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา ฝ่ายอังกฤษให้ความสะดวกในการรับส่งจากสนามบินและจัดให้พำนัก ณ โรงแรมที่ดีที่สุดของเมืองแคนดี นายเดนิ่งนัดประชุมครั้งแรกในวันที่ ๒๕ เวลา ๑๑.๐๐ นาฬิกา ก่อนหน้านั้นเล็กน้อยนายโยสต์โทรศัพท์ถึงนายเดนิ่ง พยายามจะขอให้รอการประชุมไปก่อนจนกว่าอังกฤษและอเมริกันจะตกลงขจัดข้อขัดแย้งได้ทั้งหมด นายเดนิ่งหาเชื่อฟังไม่ คงจัดให้มีการประชุมกับผู้แทนไทยจนได้ ในการประชุมครั้งแรก ภายหลังที่ได้กล่าวต้อนรับคณะผู้แทนไทยตามอัธยาศัยแล้ว นายเดนิ่งสรุปความสัมพันธ์อันดีระหว่างอังกฤษกับไทยมาจนกระทั่งเกิดสงคราม ญี่ปุ่นเข้าโจมตีอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ไทยเข้าข้างญี่ปุ่นโดยไม่คำนึงถึงข้อตกลงไม่รุกรานที่มีอยู่กับอังกฤษ ตามปกติแล้วเมื่อสิ้นสุดสงคราม การกลับฟื้นความสัมพันธ์ต่อกันจะต้องกระทำด้วยสนธิสัญญาสันติภาพ แต่โดยที่มีขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นภายในประเทศให้ความร่วมมือกับอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษจึงจะถือเป็นกรณีพิเศษ ให้เลิกสถานะสงครามกับไทยโดยไม่ต้องทำสนธิสัญญาสันติภาพ เพียงแต่ทำความตกลงกันตามเอกสารที่จะมอบให้คณะผู้แทนไทยรับไปพิจารณา นายเดนิ่งกล่าวถึงเรื่องข้อกำหนดที่จะให้ไทยบริจาคข้าวจำนวน ๑.๕ ล้านตัน ซึ่งทราบว่า รัฐบาลไทยมีดำริจะเสนอให้โดยสมัครใจอยู่แล้ว ถ้าเช่นนั้นจริง นายเดนิ่งก็จะตัดข้อความเรื่องการให้ข้าวออกเสียจากหัวข้อความตกลง และเน้นรับรองว่า ข้าวจำนวนนี้จะไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของฝ่ายอังกฤษเท่านั้น หากจะใช้ช่วยบรรเทาความขาดแคลนอาหารทั่วโลก ขบวนการต่อต้านของไทยเคยเสนอจะเข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่นข้างฝ่ายสัมพันธมิตร หากสงครามไม่ยุติไปเสียก่อน ประเทศไทยจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการทำสงครามมากมาย การให้ข้าว ๑.๕ ล้านตัน นับเป็นการเสียสละเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ หัวหน้าคณะผู้แทนไทย รับสั่งว่า รัฐบาลไทยปรารถนาจะกลับสถาปนาความสัมพันธ์ฉันมิตรกับอังกฤษ ภายหลังที่จำต้องเป็นสมาชิกเขตที่เรียกว่า วงไพบูลย์ ร่วมกันมาเป็นเวลา ๓ ปีครึ่ง รัฐบาลไทยได้แต่ “วงร่วม” แต่ปราศจาก “ความไพบูลย์” รัฐบาลไทยมีดำริจะจัดสรรข้าวให้เปล่าเพราะตระหนักในความขาดแคลนทั่วโลก คณะผู้แทนไทยจะรับข้อเสนอไปพิจารณาด้วยความเชื่อมั่นในจิตสำนึกแห่งความยุติธรรมและความเป็นนักกีฬาของอังกฤษ
นายเดนิ่งถือโอกาสแจ้งต่อคณะผู้แทนไทยว่า รัฐบาลอินเดียจะขอเข้าร่วมในการเจรจาด้วย หัวหน้าคณะผู้แทนไทยรับสั่งว่า เรื่องนี้จะต้องขอคำสั่งไปทางกรุงเทพฯ เพราะตามปกติ สัญญาที่อังกฤษทำกับไทยมีบทบัญญัติให้ขยายใช้บังคับถึงประเทศในเครือจักรภพ นายเดนิ่งแจ้งว่า ตามข้อตกลงเวสต์มินสเตอร์ ประเทศในเครือจักรภพบริติชอาจแยกทำสัญญากับต่างประเทศได้ ถ้าต้องการ
นายเดนิ่งเลยกล่าวถึงความประสงค์ของรัฐบาลฝรั่งเศสที่จะทำความตกลงทำนองเดียวกันกับรัฐบาลไทย หัวหน้าคณะผู้แทนไทยทรงตอบว่า คณะผู้แทนไทยไม่ได้รับมอบอำนาจในเรื่องนี้ แต่ทรงพร้อมที่จะพบปะผู้แทนฝรั่งเศส เพื่อทราบว่ามีความต้องการอย่างใด
นายเดนิ่งกล่าวถึงความเข้าใจผิดที่ยังมีอยู่ระหว่างอังกฤษกับสหรัฐฯ โดยอังกฤษถือว่า ข้อตกลงที่จะทำกับไทยนี้เป็นข้อตกลงทวิภาคีระหว่างอังกฤษกับไทยเพื่อเลิกสถานะสงคราม โดยอาศัยฐานะที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดกัน อังกฤษได้ส่งสำเนาหัวข้อความตกลงให้ฝ่ายอเมริกันทราบ ฝ่ายสหรัฐฯ ถือว่าเนื่องจากกองบัญชาการทหารสูงสุดสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นกองบัญชาการของฝ่ายสัมพันธมิตร ฝ่ายอเมริกันจึงน่าจะมีส่วนในความตกลงที่อังกฤษจะทำกับไทยด้วย อังกฤษยืนยันว่าความตกลงที่จะทำกับไทยไม่มีผลผูกมัดสหรัฐฯ แต่ประการใด เวลานั้นมีผู้แทนของกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันอยู่ที่แคนดีแล้ว และแสดงความประสงค์จะพบปะพูดจากับคณะผู้แทนไทย
ในวันเดียวกัน ทั้งทางกรุงวอชิงตันและกรุงลอนดอน ฝ่ายอเมริกันขอร้องให้ฝ่ายอังกฤษรอการทำความตกลงกับไทยไว้ก่อนจนกว่าอังกฤษและอเมริกันจะตกลงกันได้ และกำชับว่า ถ้าอังกฤษไม่รอ อเมริกันจะแจ้งให้ไทยทราบว่า อเมริกันไม่เห็นด้วยฝ่ายอังกฤษถือว่า อเมริกันเข้าแทรกแซงมากเกินสมควร
รุ่งเช้าวันที่ ๒๖ หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ เสด็จไปพบนายเดนิ่งเป็นการส่วนองค์ ได้อยู่สนทนาด้วยเป็นเวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง ทรงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนายเดนิ่งเกี่ยวกับหัวข้อความตกลงและภาคผนวกที่ได้รับจากนายเดนิ่ง ทรงขอความกระจ่างแจ้งบางประการในถ้อยคำที่ไม่แน่ชัด เพื่อคณะผู้แทนไทยจะได้ร่วมกันพิจารณาต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ทรงเน้นว่า เมื่อนายเดนิ่งถือว่า ความตกลงที่จะกระทำกันนี้เป็นความตกลงระหว่างอังกฤษกับไทย เหตุใดจึงใช้คำว่าสัมพันธมิตรโดยตลอด นายเดนิ่งทูลชี้แจงว่า ตามการแบ่งเขตสมรภูมิของฝ่ายสัมพันธมิตร กองบัญชาการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสัมพันธมิตร จัดให้อยู่ใต้การบังคับบัญชาของฝ่ายเสนาธิการทหารอังกฤษ อังกฤษเป็นผู้ปฏิบัติการแทนสัมพันธมิตร หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ ทรงถามว่า เมื่อใช้ถ้อยคำเช่นนั้นจะหมายความว่า สิ่งใดที่ฝ่ายไทยยอมรับไปตามหัวข้อความตกลงเหล่านั้น สัมพันธมิตรอื่นอาจจะเข้ามาเรียกร้องสิทธิทำนองเดียวกันก็ได้หรือ เช่น จีนอาจจะเข้ามาขอทำความตกลงทางทหารทำนองเดียวกับไทยด้วย นายเดนิ่งทูลตอบว่า ตามหลักการแล้วก็น่าจะเป็นเช่นนั้น แต่นายเดนิ่งไม่คิดว่า ประเทศอื่นที่ไม่อยู่ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะอ้างเหตุเข้ามาเรียกร้องทำนองเดียวกับอังกฤษจากประเทศไทย นายเดนิ่งถือโอกาสยํ้าต่อองค์หัวหน้าคณะผู้แทนไทยว่า ข้อเรียกร้องของอังกฤษนั้นเป็นข้อเรียกร้องตํ่าสุดในการจะเลิกสถานะสงคราม ถ้ารัฐบาลไทยยอมรับ จะเป็นการส่งเสริมฐานะของไทยให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น มิใช่จะทำให้อ่อนลงไป
คณะผู้แทนไทยได้ประชุมปรึกษาหารือกันแล้วมีความเห็นว่า แม้นายเดนิ่งจะทูลให้เป็นที่เข้าใจชัดว่า ข้อเสนอของอังกฤษเป็นข้อเสนอตํ่าที่สุดที่จะเปลี่ยนแปลงในหลักการสาระสำคัญไม่ได้ จะเปลี่ยนได้ก็แต่ในเรื่องรูปแบบ วิธีเขียน และถ้อยคำที่ใช้เท่านั้น แต่ในฐานะที่เป็นตัวแทนรัฐบาลและประเทศไทย เราจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และพยายามขอให้มีการปรับปรุงแก้ไขทุกข้อที่เห็นว่าจะขัดต่อผลประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของไทย และจะต้องไม่ยอมรับข้อความใดที่อาจจะกระทบกระเทือนถึงเอกราชและอธิปไตยของไทย หากนายเดนิ่งไม่ยินยอม คณะผู้แทนไทยจะต้องรายงานขอคำสั่งจากกรุงเทพฯ ทุกเรื่อง
การประชุมสองฝ่ายครั้งที่ ๒ จัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน นายเดนิ่งเริ่มโดยแจ้งต่อคณะผู้แทนไทยว่า รัฐบาลอินเดียมีความประสงค์จะส่งผู้แทนมาร่วมเจรจาด้วยที่แคนดี ซึ่งหม่อมเจ้าวิวัฒน์ไชย ไชยันต์ ทรงตอบว่า ได้สอบถามขอคำสั่งไปทางกรุงเทพฯ แล้วนายเดนิ่งยกปัญหาเรื่องอำนาจของคณะผู้แทนไทย ซึ่งมีข้อทักท้วงอยู่สองข้อ คือ ในหนังสือมอบอำนาจเต็มที่ได้รับจากคณะผู้แทนไทยมีความว่า มอบให้เจรจากับเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารอังกฤษ ซึ่งความจริงไม่ใช่เช่นนั้น คณะผู้แทนไทยมาเจรจากับนายเดนิ่งในฐานะผู้แทนมีอำนาจเต็มของรัฐบาลอังกฤษ ส่วนอีกข้อหนึ่งในหนังสือมอบอำนาจของคณะผู้แทนไทยมีความว่า ความตกลงที่จะกระทำกันขึ้นนั้นจะใช้ได้เมื่อได้รับความเห็นชอบด้วย นายเดนิ่งรับถ้อยคำเช่นนั้นไม่ได้ ตนเองได้รับอำนาจเด็ดขาดจากรัฐบาลอังกฤษ ผู้แทนไทยก็ควรจะได้รับอำนาจเด็ดขาดทำนองเดียวกัน หัวข้อความตกลงที่จะกระทำกันนั้น เมื่อมีหนังสือแลกเปลี่ยนกันแล้ว ต้องถือว่าใช้บังคับทันที ส่วนข้อที่ว่าจะต้องทำความตกลงสมบูรณ์แบบตามหัวข้อความตกลง นายเดนิ่งได้หารือไปทางกรุงลอนดอนแล้วว่าจะให้ทำกันที่แคนดี หรือจะต้องมีคณะผู้แทนคณะใหม่
ฝ่ายไทยยืนยันว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สนธิสัญญาหรือความตกลงที่ประเทศไทยทำกับต่างประเทศ หากมีข้อความเปลี่ยนแปลงดินแดนหรือต้องออกกฎหมาย จะต้องได้รับอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรก่อน จึงจะให้สัตยาบันได้ อ่านตามหัวข้อความตกลงที่ได้รับจากนายเดนิ่ง เป็นที่แน่ชัดว่ามีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงดินแดนและต้องมีการออกกฎหมายเพื่อปฏิบัติตามข้อสัญญาบางข้อ ฉะนั้น จึงจำต้องเป็นไปตามข้อความในหนังสือมอบอำนาจที่คณะผู้แทนไทยได้รับมา ซึ่งเป็นสูตรที่ถอดมาจากแบบหนังสือมอบอำนาจในการเจรจาระหว่างประเทศตามปกติเท่านั้น อย่างไรก็ตามคณะผู้แทนไทยได้หารือเข้าไปทางกรุงเทพฯ แล้ว
แล้วที่ประชุมได้พิจารณาหัวข้อความตกลงและภาคผนวก หม่อมเจ้าวิวัฒนไชยทรงตั้งข้อสังเกตขอความกระจ่างแจ้งและเสนอข้อแก้ไขถ้อยคำสำหรับหัวข้อความตกลงรวม ๑๔ ข้อ และสำหรับภาคผนวกอีก ๑๕ ข้อ ซึ่งส่วนใหญ่นายเดนิ่งรับจะส่งไปให้กรุงลอนดอนพิจารณา แสดงให้เห็นว่า ที่นายเดนิ่งอ้างว่าได้รับอำนาจเต็มจากลอนดอนนั้น ความจริงนายเดนิ่งวินิจฉัยอย่างใดเองมิได้ ต้องรายงานขอคำสั่งจากรัฐบาลทั้งนั้น เมื่อคณะผู้แทนไทยไม่ยอมรับง่าย ๆ ตามที่คิดไว้ นายเดนิ่งทูลเชิญหม่อมเจ้าวิวัฒนไชยไปเสวยกลางวันที่บ้านพักโดยลำพัง เพื่อเน้นในปัญหา ๓ ข้อ คือ
๑. เรื่องหนังสือมอบอำนาจของคณะผู้แทนไทย นายเดนิ่งออกตัวว่าไม่ทราบถึงสถานะทางรัฐธรรมนูญของไทยว่าเป็นเรื่องของผู้สำเร็จราชการ หรือของรัฐบาล หรือของรัฐสภา แต่คณะผู้แทนไทยจะต้องมีอำนาจในการทำข้อตกลงเต็มที่อย่างเดียวกับที่นายเดนิ่งได้รับจากรัฐบาลอังกฤษ หาไม่แล้วก็จะไม่มีประโยชน์ที่จะเจรจากันต่อไป
๒. เรื่องฝรั่งเศส นายเดนิ่งยืนยันว่า ไทยจะต้องเจรจากับฝรั่งเศส ทั้ง ๆ ที่อาจจะไม่ชอบฝรั่งเศส ถ้าไทยขัดขืนไม่เจรจาแล้ว ไทยจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายใดเลย นายเดนิ่งพร้อมที่จะช่วยหาทางประนีประนอมให้ แต่ไทยไม่ควรจะหลีกเลี่ยง
๓. เรื่องข้าว นายเดนิ่งแจ้งว่าได้รับข่าวว่า ทางรัฐบาลไทยแสดงเจตจำนงจะให้ข้าวแก่สหประชาชาติเพียงจำนวนเล็กน้อย ถ้าเช่นนั้นรัฐบาลอังกฤษจะต้องยืนยันการขอข้าวเปล่าจากประเทศไทย ๑.๕ ล้านตัน เพื่อนำไปบรรเทาความขาดแคลนในตะวันออกไกล เพราะไทยมีข้าวเหลือเก็บเป็นจำนวนมาก น่าจะแสดงนํ้าใจกว้างขวางพอ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ภาวะทางเศรษฐกิจอันเกิดจากสงครามในเอเชีย ถ้ารัฐบาลตกลงจะเสนอให้เปล่าเอง อังกฤษจะไม่ติดใจให้กำหนดไว้ในหัวข้อความตกลงและภาคผนวก
ในช่วงนั้น ข้าพเจ้ารับหน้าที่อันมิสู้จะมีผู้ใดชอบนัก คือ เป็นพรายกระซิบเรื่องการเจรจากับเดนิ่งให้ฝ่ายอเมริกันทราบ ข้าพเจ้าเคยถูกส่งไปเจรจากับกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันในคณะของท่านทูตเสนีย์ ที่กรุงวอชิงตัน ได้ทำความรู้จักมักคุ้นกับข้าราชการในกระทรวงการต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ของ โอ.เอส.เอส. เป็นจำนวนมาก เมื่อทราบว่า ทางกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันส่งนายโยสต์มาสังเกตการณ์การเจรจาระหว่างอังกฤษกับไทยที่แคนดี ข้าพเจ้าก็เริ่มหาทางติดต่อด้วยทันที แต่ต้องกระทำด้วยความระมัดระวังพอสมควร ตามวิธีการที่ตกลงกัน คือ เมื่อข้าพเจ้าต้องการ จะมีรถจี๊ปทหารอเมริกันคันเก่า ๆ มาจอดรออยู่ในบริเวณโรงแรมควีนส์ ข้าพเจ้าเดินเล่น ไม่มีใครทันสังเกต ข้าพเจ้าขึ้นไปนั่งเคียงคนขับ แล้วแล่นออกจากโรงแรมพาข้าพเจ้าไปพบกับนายโยสต์ เพื่อแจ้งให้ทราบถึงการคลี่คลายของการเจรจากับฝ่ายอังกฤษ นายโยสต์ฟังข้าพเจ้าเล่าข้างเดียว หาได้แจ้งให้ข้าพเจ้าทราบไม่ว่า ฝ่ายอเมริกันไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของอังกฤษหลายต่อหลายข้อ มีการเจรจาโต้แย้งกันมาเป็นเวลานานแล้ว จนในที่สุดฝ่ายอังกฤษได้ผ่อนผันยอมตามข้อทักท้วงของรัฐบาลอเมริกันหลายประการ ประโยชน์ที่นายโยสต์ได้รับจากการติดต่อของข้าพเจ้าก็คือ ได้ทราบแน่ตระหนักถึงความคิดเห็นของฝ่ายไทย ส่วนข้าพเจ้าก็ได้รับประโยชน์เหมือนกัน เพราะได้สร้างความใกล้ชิดสนิทสนมกับนายโยสต์ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นอุปทูตอเมริกันประจำกรุงเทพฯ คนแรกหลังสงคราม ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตเป็นทางการ
หลังจากการพบปะระหว่างนายเดนิ่งกับหม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายนแล้ว มิได้มีการประชุมระหว่างผู้แทนทั้งสองฝ่ายอีก เพราะต่างฝ่ายต่างรอคำสั่งจากรัฐบาลของตนที่ยังมาไม่ถึง จึงไม่มีความคืบหน้าในการเจรจา ต่อมาต้นเดือนตุลาคม องค์หัวหน้าคณะผู้แทนไทยทรงได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้ชี้แจงปัญหาเรื่องหนังสือมอบอำนาจและเรื่องอินเดียขอเข้าร่วมการเจรจา จึงทรงมีลายพระหัตถ์ ๒ ฉบับ ลงวันที่ ๔ ตุลาคม ถึงนายเดนิ่ง ฉบับแรกตกลงให้แก้ถ้อยคำที่ว่า คณะผู้แทนไทยได้รับมอบอำนาจให้มาเจรจากับเจ้าหน้าที่ทหารอังกฤษเป็นการเจรจากับผู้แทนของรัฐบาลอังกฤษ และทรงชี้แจงยืนยันว่า หนังสือมอบอำนาจทำตามแบบสากลที่ใช้ในการเจรจาระหว่างประเทศ การทำความตกลงอย่างที่อังกฤษต้องการจะต้องได้รับอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎร มิใช่จากรัฐบาลเท่านั้น ฉบับที่ ๒ แก้เรื่องรัฐบาลอินเดียจะขอเข้าร่วมในการเจรจาที่แคนดีว่า การเจรจาดังกล่าวเป็นการเจรจาระหว่างอังกฤษกับไทยเพื่อเลิกสถานะสงคราม ประเทศไทยไม่มีสถานะสงครามกับอินเดีย อินเดียจึงไม่เข้าอยู่ในข่ายของการเจรจา แต่รัฐบาลไทยพร้อมที่จะแยกการเจรจากับรัฐบาลอินเดียในปัญหาใด ๆ โดยวิถีทางการทูต อนึ่ง โดยที่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแอฟริกาใต้ ได้ประกาศถือมีสถานะสงครามกับไทย รัฐบาลไทยยินดีที่จะให้ทั้งสามประเทศนั้นเข้าร่วมในการเจรจาที่แคนดีด้วยเพื่อเปิดทางให้มีการกลับสถาปนาความสัมพันธ์ตามปกติระหว่างกัน
นายเดนิ่งเริ่มแสดงบทบาทแข็งกร้าวต่อองค์หัวหน้าคณะผู้แทนไทยด้วยการตอบลายพระหัตถ์ทั้ง ๒ ฉบับ สำหรับฉบับที่ ๑ นายเดนิ่งแสดงความไม่พอใจในคำตอบของไทยว่า รัฐบาลไทยไม่อยู่ในฐานะที่จะสอนวิธีปฏิบัติระหว่างประเทศแก่นายเดนิ่ง ซึ่งจะไม่เปลี่ยนท่าทีไปจากที่ได้ทูลหม่อมเจ้าวิวัฒนไชยแล้วเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ในฉบับที่ ๒ นายเดนิ่งก็แสดงความไม่เห็นด้วยอีก เพราะรัฐบาลไทยไม่อยู่ในฐานะที่จะกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับส่วนหนึ่งส่วนใดของจักรภพบริติช
สำหรับปัญหาทางรัฐธรรมนูญของไทยเกี่ยวกับหนังสือมอบอำนาจ นายเดนิ่งไม่พยายามเข้าใจความจำเป็นของฝ่ายไทยเลย มัวแต่คิดไปเสียว่า ที่หนังสือมอบอำนาจเขียนข้อความว่าจะต้องได้รับความเห็นชอบก่อนเช่นนั้น เป็นวิธีที่ฝ่ายไทยจะใช้เพื่อหน่วงเหนี่ยวการทำความตกลงกับอังกฤษไว้ รอให้อเมริกันเข้ามาช่วยขัดขวาง เพื่อให้อังกฤษบรรเทาการเรียกร้องจากไทย เจ้าหน้าที่ภายในกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษเองก็ไม่สู้จะเห็นด้วยกับวิธีบีบบังคับหม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ของนายเดนิ่งนัก เมื่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญไทยกำหนดไว้ว่า สนธิสัญญาหรือความตกลงใดที่รัฐบาลไทยทำกับต่างประเทศ ถ้าเกี่ยวกับดินแดนไทย หรือจะต้องมีการออกกฎหมายเพื่อปฏิบัติตามสนธิสัญญา หรือความตกลงนั้นจะต้องได้รับอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน จึงจะใช้ได้ การที่จะเกณฑ์ฝ่ายไทยให้ปฏิบัติอย่างที่นายเดนิ่งต้องการ หมายความว่าจะต้องแก้ไขบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งมิใช่เรื่องที่จะกระทำได้ง่าย หากจะบังคับให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ออก หนังสือมอบอำนาจเด็ดขาดตามความประสงค์ของนายเดนิ่ง ฝ่ายค้านที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล จะยกขึ้นกล่าวอ้างได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่มีผลทางกฎหมาย เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ เป็นการเสียเวลาเปล่า ทางที่ดี นายเดนิ่งน่าจะฟังปัญหาข้อขัดข้องทางรัฐธรรมนูญของไทยและช่วยคณะผู้แทนและรัฐบาลไทยหาทางแก้ไข จะกระชับความเข้าอกเข้าใจและสันถวไมตรีระหว่างอังกฤษกับไทยดีกว่า ถ้าตกลงกันได้อย่างฉันมิตร เป็นที่แน่ว่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และรัฐบาลไทยจะพยายามกระทำทุกอย่างเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรผ่านอนุมัติการทำข้อตกลงกับอังกฤษโดยเรียบร้อย แต่ถ้าจะใช้วิธีหักหาญจะเอาตามใจให้ได้ ฝ่ายไทยคงไม่ยินยอมและจะถ่วงเวลาเรื่อยไป ในฐานะที่ประเทศอังกฤษเป็นแม่บทของรัฐบาลประชาธิปไตย จึงเป็นการไม่สมควรที่จะขู่เข็ญให้มีการละเมิดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอันชัดแจ้ง
เมื่อปัญหาเข้าตาจนเช่นนั้น กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษพยายามหาทางออกและตกลงส่งโทรเลขลงวันที่ ๗ ตุลาคม ถึงนายเดนิ่งว่า ตามปกติการเลิกสถานะสงครามจะต้องกระทำโดยสนธิสัญญาสันติภาพที่จะต้องมีการให้สัตยาบัน ประเทศไทยถือเป็นกรณีพิเศษ อังกฤษต้องการเลี่ยงความชักช้าต่าง ๆ และอยากจะทำความตกลงกับไทยในลักษณะเป็นมิตร มิใช่การบังคับโดยอาศัยสนธิสัญญาสันติภาพ ด้วยเหตุนี้จึงคิดจะจัดทำในรูปหัวข้อความตกลงระหว่างรัฐบาล ซึ่งใช้บังคับทันทีที่ได้ลงนามกันโดยไม่จำต้องรอการให้สัตยาบัน โดยดำริจะจัดประกาศหัวข้อตามตกลงเป็นทางการเพื่อเลิกสถานะสงครามกับไทย วิธีที่สะดวกที่สุด คือ จัดให้มีการแลกเปลี่ยนหนังสือระหว่างผู้แทนทั้งสองฝ่ายรับหัวข้อความตกลงกันไว้ชั้นหนึ่งก่อน แล้วจะได้ทำความตกลงสมบูรณ์แบบต่อกันภายหลัง แต่เมื่อมีความจำเป็นต้องรั้งรอมา กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษจึงตกลงจะยกร่างเป็นความตกลงสมบูรณ์แบบขึ้น ให้นายเดนิ่งใช้ลงนามกับคณะผู้แทนไทย
ในวันเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษตอบโทรเลขของนายเดนิ่งที่รายงานให้ทราบถึงข้อเสนอแก้ไขของคณะผู้แทนไทยในการประชุมเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน โดยยอมรับบางข้อ แต่ปฏิเสธไม่ยอมรับส่วนใหญ่ สำหรับหลายข้อขอเวลาพิจารณาต่อไปสักระยะหนึ่ง คงจะเป็นด้วยกำลังหาทางทำความตกลงกับฝ่ายอเมริกันอยู่
วันที่ ๘ ตุลาคม หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ เสด็จไปพบนายเดนิ่งอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ยืนยันว่า หัวข้อความตกลงเป็นข้อกำหนดที่ไม่อาจมีการเจรจากันได้ หากเป็นผลของการที่ไทยประกาศสงครามกับอังกฤษ นายเดนิ่งตอบว่า การแก้ไขในรูปแบบทำได้ แต่ต้องมิใช่ในสาระสำคัญ สำหรับปัญหาเรื่องหนังสือมอบอำนาจ หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ รับสั่งว่า ทางออกที่จะกระทำได้ก็คือ เสนอหัวข้อความตกลงให้สภาผู้แทนราษฎรอนุมัติเสียก่อนที่จะลงนาม ส่วนเรื่องอินเดียจะขอเข้าร่วมในการเจรจา นายเดนิ่งเตือนว่า ฝ่ายไทยไม่น่าจะอ้างว่าไม่มีสถานะสงครามกับอินเดีย เพราะกำลังทหารที่เข้าไปปฏิบัติการในประเทศไทย ได้แก่ กองพลอินเดียที่ ๗
รุ่งขึ้นวันที่ ๙ องค์หัวหน้าคณะผู้แทนไทยทรงมีลายพระหัตถ์อีกฉบับหนึ่งถึงนายเดนิ่ง แจ้งข้อเสนอขอแก้หัวข้อตกลงที่เพิ่งได้รับจากรัฐบาลไทย โดยทรงแบ่งแยกออกเป็น ๓ ประเภท นายเดนิ่งมีหนังสือตอบสวนทันทีว่าไม่สามารถจะรับฟังข้อแก้ไขเพิ่มเติมอีกได้ ทั้งไม่อาจที่จะเสนอไปให้รัฐบาลอังกฤษพิจารณา จึงไม่มีความจำเป็นที่องค์ท่านจะจัดแยกประเภทอย่างใด นายเดนิ่งกล่าวต่อไปด้วยว่า การที่รัฐบาลไทยส่งข้อแก้ไขอย่างยืดยาวและอาจจะส่งมาเพิ่มเติมอีก ทำให้เข้าใจว่า องค์ท่านยังไม่ทรงตระหนัก หรือไม่ทรงสามารถอธิบายให้รัฐบาลไทย ตระหนักในท่าทีของรัฐบาลอังกฤษ ตามที่นายเดนิ่งแถลงไว้ในวันเปิดประชุมครั้งแรก ดังปรากฏในบันทึกการประชุมที่ได้ถวายให้ทรงทราบหลายวันแล้ว รัฐบาลไทยดูจะยังมองไม่เห็นความร้ายแรงของการกระทำของรัฐบาลชุดก่อน และผลสะท้อนถึงความไว้วางใจที่ประเทศอังกฤษเคยมีต่อประเทศไทย นายเดนิ่งไม่เห็นด้วยกับข้ออ้างของหม่อมเจ้าวิวัฒนไชยที่ว่า ความช่วยเหลือที่ประเทศไทยให้แก่อังกฤษและสัมพันธมิตรมีอยู่ไม่น้อย และไม่พึงเน้นในความสลักสำคัญให้มากนัก เมื่อคำนึงเปรียบเทียบกับความเสียสละใหญ่หลวงของประเทศอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ถูกข้าศึกยึดครอง คณะผู้แทนไทยออกมาอยู่แคนดีเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว ในฐานะที่เป็นผู้แทนรัฐบาลอังกฤษ นายเดนิ่งยังมิได้รับคำตอบที่เป็นที่พึงพอใจหรือกระจ่างแจ้งสักข้อหนึ่งต่อปัญหาต่าง ๆ ที่ยกขึ้นทูล ทั้งนี้นอกจากหัวข้อความตกลงแล้ว รวมถึงปัญหาเรื่องหนังสือมอบอำนาจของคณะผู้แทนไทย การเข้าร่วมในการเจรจาของรัฐบาลอินเดีย การเจรจากับฝรั่งเศส และการให้ข้าวเปล่า ๑.๕ ล้านตัน นายเดนิ่งกล่าวสำทับในตอนท้ายของหนังสือว่า การพยายามเหนี่ยวรั้งการเจรจาไว้ให้ล่าช้าเช่นนั้น ทำให้นายเดนิ่งจำต้องรายงานต่อรัฐบาลว่ามีสาเหตุสืบเนื่องจากการขาดความเข้าใจในข้อเท็จจริง หรือมิฉะนั้นก็ความปรารถนาที่จะหลบเลี่ยงข้อเท็จจริง ถ้าเป็นในกรณีแรก ก็มิใช่เป็นเพราะนายเดนิ่งมิได้ให้ความกระจ่างแจ้งเพียงพอ ถ้าเป็นกรณีหลัง ก็จำต้องกลับไปพิจารณาใหม่ทั้งหมด
การใช้ถ้อยคำที่เลือกเฟ้นของนายเดนิ่งเช่นนี้ ทำให้คณะผู้แทนไทยทั้งคณะรู้สึกไม่พอใจเป็นธรรมดา ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้นำความไปแจ้งให้นายโยสต์ทราบ เพื่อเป็นพยานหลักฐานในการบีบคั้นของอังกฤษ
ในวันที่ ๙ วันเดียวกัน นายฮิวส์ เบิร์ด ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาทางการเมืองของผู้บัญชาการกองกำลังทหารอังกฤษในประเทศไทย ได้เข้าพบท่านนายกรัฐมนตรีเสนีย์ ปราโมช เพื่อเตือนถามถึงเรื่องการเจรจาที่แคนดี ได้รับคำชี้แจงว่า นายกรัฐมนตรีกำหนดเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ ๑๐ และเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรในบ่ายวันที่ ๑๑ เพื่อขออนุมัติทำความตกลงกับอังกฤษ โดยที่เสรีภาพมีมากขึ้นในการแสดงความคิดเห็นและในการชุมนุม ท่านนายกรัฐมนตรียังยืนยันไม่ได้ว่า ข้อเสนอของรัฐบาลจะได้รับเสียงข้างมากสนับสนุนในสภาฯ เพียงพอที่จะอนุมัติให้รัฐบาลมอบข้าวให้แก่อังกฤษถึง ๑.๕ ล้านตัน ซึ่งตามราคาในขณะนั้นตกเป็นเงินถึง ๗.๘ ร้อยล้านบาทหรือไม่ คณะรัฐมนตรีอาจจะประสบความยุ่งยากทางสภาฯ และอาจต้องพ้นจากตำแหน่งไปก็ได้ ปัญหาเงินเฟ้อเป็นเรื่องสำคัญ ท่านนายกรัฐมนตรีถามนายเบิร์ดว่า รัฐบาลอังกฤษจะยินยอมให้ไทยกู้เงินสเตอร์ลิงเพื่อการนี้หรือไม่ ซึ่งนายเบิร์ดตอบว่าไม่สามารถจะพูดจาเรื่องนี้ได้ ตราบเท่าที่สถานะสงครามระหว่างสองประเทศยังไม่สิ้นสุดลง ในโทรเลขรายงานกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษเรื่องนี้ ลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม นายเบิร์ดกล่าวว่า ท่านนายกรัฐมนตรีแสดงไมตรีจิตมิตรภาพเป็นอันดี แต่นายเบิร์ดยังไม่แน่ใจในความจริงใจของนายกรัฐมนตรี
กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษส่งโทรเลขถึงนายเดนิ่งเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ผ่อนเรื่องหนังสือมอบอำนาจของคณะผู้แทนไทยลงไปบ้างเล็กน้อย โดยขอให้เลิกยืนยันให้ฝ่ายไทยเปลี่ยนถ้อยคำในหนังสือมอบอำนาจเรื่องต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรก่อนการใช้บังคับหัวข้อความตกลง แต่ยังยืนยันว่า ความตกลงสมบูรณ์แบบที่จะกระทำกันนั้นต้องไม่อยู่ในเงื่อนไขของการให้สัตยาบัน ฉะนั้น จึงจำต้องเปิดทางให้ฝ่ายไทยเสนอเรื่องต่อสภาฯ เพื่ออนุมัติก่อน โดยจะจัดให้มีการลงนามย่อในตัวบทความตกลงแล้วให้เสนอสภาฯ เมื่อได้รับอนุมัติจากสภาฯ แล้ว จึงจัดให้มีการลงนามเป็นทางการต่อไป
วันที่ ๑๗ ต่อมา นายเดนิ่งรายงานกระทรวงต่างประเทศว่า หัวหน้าคณะผู้แทนไทยรับสั่งว่า ฝ่ายไทยกำลังจัดทำหนังสือมอบอำนาจให้ใหม่แล้ว โดยตัดถ้อยคำที่นายเดนิ่งท้วงติงออกเสีย และยินยอมให้อินเดียมีผู้แทนเข้าร่วมการเจรจาที่แคนดีได้
ในวันเดียวกัน นายเดนิ่งต้องเดินทางไปเมืองปัตตาเวีย เพื่อเข้าร่วมในการลงนามยอมจำนนของทหารญี่ปุ่น ก่อนจะไปได้ทูลเชิญให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทยเสด็จไปพบอีก ทูลสำทับว่า หวังว่าเมื่อกลับมาแล้วรัฐบาลไทยจะไม่พยายามหน่วงเหนี่ยวการเจรจาต่อไป ถ้าไม่รั้งไว้แต่แรกการเจรจาควรจะสำเร็จเสร็จสิ้นไปก่อนที่เขาจะมีกำหนดการไปเมืองปัตตาเวีย
ในช่วงนั้น เป็นอันไม่มีการเจรจาระหว่างไทยกับอังกฤษ คณะผู้แทนไทยอยู่ในฐานะตกงาน ความจริงการไปแคนดีคราวนั้น แม้เราจะไปอย่างตัวแทนของประเทศผู้ที่อังกฤษถือว่าเป็นศัตรู ฝ่ายอังกฤษยังกรุณารับเป็นแขกของเขา จัดให้คณะเราพำนักในโรงแรมควีนส์ซึ่งเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งของแคนดี โดยเขารับภาระจ่ายค่าที่พักและอาหารให้ทั้งสามมื้อ เมื่อว่างงานพวกเราจำต้องจับกลุ่มกันอยู่ในโรงแรม เขาจะเรียกประชุมเมื่อใดก็ได้ เราต้องพร้อมเสมอ เราปรึกษาหารือถึงคารมและเหตุผลที่จะตอบโต้กับนายเดนิ่ง แต่การตอบโตแท้จริงเป็นภาระขององค์หัวหน้าคณะซึ่งทรงปฏิบัติได้ยอดเยี่ยม การเลือกใช้ศัพท์แสงภาษาอังกฤษจัดได้ว่าหาที่เปรียบมิได้ ทรงใช้ปฏิภาณโวหารน่าขบขันด้วยพระพักตร์เคร่งขรึม ทำเอาพวกเราอดขันมิได้ แต่นายเดนิ่งไม่แสดงปฏิกิริยาออกนอกหน้าอย่างใด นอกจากจะพยายามคาดคั้นให้ไทยยอมรับตามความต้องการของเขาเท่านั้น เมื่อไทยยังหัวรั้น นายเดนิ่งจึงใช้วิธีทรมานเงียบโดยไม่เรียกประชุม บางทีใช้วิธีติดต่อทางจดหมายโดยใช้สำนวนเหมือนมะนาวไม่มีนํ้าให้ไทยรู้สึกเจ็บแสบ ที่ไม่เรียกประชุมเพราะนายเดนิ่งเองก็ยังรอคำสั่งจากกรุงลอนดอนเหมือนกัน ส่วนทางกรุงลอนดอนยังต้องหาทางสมานนํ้าใจฝ่ายอเมริกันอยู่
ท่านหัวหน้าคณะผู้แทนไทยต้องประทับอยู่ในโรงแรมตลอดวันตลอดคืน ไม่ทรงทราบว่า นายเดนิ่งจะโปรดให้เสด็จไปพบเมื่อใด รอนาน ๆ เข้า อาหารของโรงแรมชั้นหนึ่งชักจะสิ้นรสชาติ เมื่อต้องรับประทานซํ้าทุกมื้อ เริ่มมีสัญญาณแสดงความเบื่อหน่าย ตามปกติคนไทยเราขาดข้าวแกงของเผ็ดร้อนไม่สู้จะได้อยู่แล้ว โรงแรมมีแต่อาหารฝรั่ง มีเนื้อแกะเป็นประจำ จนกระทั่งแกงจืดก็พลอยมีกลิ่นแกะแฝงอยู่ด้วย อาจเป็นอุปาทานของพวกเราก็ได้ องค์หัวหน้าคณะโปรดเนื้อแกะเป็นพิเศษตั้งแต่สมัยทรงเป็นนักเรียนอยู่ในประเทศอังกฤษ เสวยได้เรื่อยทุกมื้ออย่างน่าเอร็ดอร่อย พวกเราได้แต่มองตากันปริบ ๆ ไม่กี่วันก็พากันหลบหน้าหายไปทีละคนสองคน ไปโผล่โดยบังเอิญที่ภัตตาคารจุงกิงกลางเมือง ยอมเสียเงินดีกว่ารับประทานอาหารของโรงแรมที่ได้เปล่า พวกเราพยายามสอดแสวงหาวิธีแก้เหงาตามถนัด พวกที่ชอบเล่นไพ่บริดจ์ก็จับกลุ่มกันไปตามแต่โอกาสจะอำนวย บางคนหาทางออกไปทัศนศึกษาหาความรู้เรื่องเมืองลังกาตามควรแก่กรณี
ข้าพเจ้าจำได้ว่า วันหนึ่งเคยบินจากแคนดีไปเมืองทริงโกมาลี ฐานทัพเรืออังกฤษบนเกาะลังกา รับประทานอาหารกลางวันแล้วบินกลับ อีกครั้งหนึ่งขอรถจี๊ปจากฝ่ายอเมริกันได้ ข้าพเจ้าพาพันเอก หม่อมเจ้าชิดชนก กฤดากร และนาวาโท หม่อมเจ้าอุทัยเฉลิมลาภ วุฒิชัย ไปเที่ยวเมืองรัตนบุรี อันเป็นแหล่งผลิตพลอยสำคัญของลังกา ท่านทั้งสองแต่งเครื่องแบบทหารตามสังกัด ข้าพเจ้าแต่งเครื่องแบบพลเรือนสีกากี ถึงเมืองรัตนบุรีเห็นร้านขายพลอยตั้งอยู่เป็นทิวแถว คนขายในร้านออกมาเชิญชวนให้ซื้อพลอยอย่างเอะอะ เกือบจะเรียกได้ว่ายื้อแย่งฉุดลากให้เข้าไปในร้านทีเดียว นำห่อพลอยมาเปิดให้ดู มีพลอยแสงรุ้งขนาดใหญ่พอใช้ ๕ เม็ด ในขั้นแรกพวกเราไม่สนใจ คิดว่าไปเที่ยวเล่นดูสภาพบ้านเมือง เพชรพลอยระหว่างว่างงานก็ดีแล้ว แต่ตอนหลังทนความคะยั้นคะยอไม่ได้ แขกผู้ขายพูดภาษาอังกฤษสำเนียงแปร่งเต็มที พูดเร็วฟังหูดับตับไหม้ ท่านชิดชนกทรงตกหลุมพรางเป็นองค์แรก ถามราคาผู้ขาย แทนที่จะทูลตัวเลขตัวเดียว เขากลับสาธยายสรรพคุณของพลอย ๕ เม็ดอย่างยาวเหยียด แล้วเสนอราคาให้พิเศษเพียง ๑๐๐ รูปี ท่านชิดชนกรับสั่งว่าแพงไป จะเสด็จออกจากร้าน แขกผู้ชายติดตามดึงองค์ท่านกลับเข้าไปในร้านอีกครั้ง ทูลถามว่าจะโปรดให้ราคาเท่าใด ยังต่อได้ ท่านชิดชนกทรงตัดราคาลงไปครึ่งหนึ่งเหลือ ๕๐ รูปี แขกผู้ขายบ่นอุบอิบอยู่นานว่า ของดี ๆ อย่างนี้ ไฉนท่านพร่าราคาไม่ไว้หน้า ขายได้อย่างไรกัน ขาดทุนแน่ ตอบโต้กันอยู่กว่า ๑๐ นาที แล้วเขาตกลงขายให้ในราคาที่ทรงต่อ แขกได้ใจหันไปทางท่านอุทัยฯ เสนอให้ซื้ออีกห่อหนึ่งอย่างเดียวกัน ท่านอุทัยฯ ทรงเริ่มปฏิเสธทันควัน แขกไม่ฟังเสียงยืนยันถามว่าให้ราคาเท่าใด ท่านอุทัยฯ ทรงตอบเฉย ๆ ว่า ๒๕ รูปี แขกผู้ขายโวยวายชั่วครู่ พลอยหรู ๆ ๕ เม็ดอย่างนี้มีหรือราคา ๒๕ รูปี ท่านอุทัยฯ พระทัยเด็ดเสด็จออกจากร้าน แขกวิ่งตามมาทูลเชิญกลับเข้าไปใหม่ แล้วยอมขายให้ ๒๕ รูปี ทำเอาท่านชิดชนกทรงงุนงง เคืองแค้นแขกผู้ขายคนเดียวกันว่า ทำ ไมทำกับท่านเช่นนั้น ขายให้ท่านอุทัยฯ ถูกกว่าพระองค์ท่านถึงครึ่งหนึ่ง แต่ก็ไม่รู้ว่าจะกระทำอย่างใด เพราะทรงจ่ายเงินลงหีบเหล็กไปแล้ว แบบอ้อยเข้าปากช้างไม่มีทางเรียกคืนได้ เมื่อขายได้เป็นรายที่ ๒ แขกเกิดกำเริบ หันมาหาข้าพเจ้าเสนออย่างเดียวกันอีก ข้าพเจ้ายังโสดอยู่ ไม่ทราบว่าจะเอาพลอยไปฝากใคร จึงปฏิเสธเด็ดขาดไม่ยอมซื้อ แขกผู้ขายเกิดใจดีคาดไม่ถึงขอมอบพลอย ๕ เม็ด ในห่อที่ ๓ ให้แก่ข้าพเจ้าเปล่า ๆ ไม่เอาเงิน ทำเอาท่านเจ้าทั้งสององค์ทรงพิโรธที่ถูกแขกต้ม บางทีเขาอาจนึกว่า ข้าพเจ้าเป็นมัคคุเทศก์พานักทัศนาจรต่างชาติเที่ยวซื้อของละกระมัง เขาจึงคิดปูนบำเหน็จรางวัลความเหนื่อยยากของข้าพเจ้าที่ช่วยพาท่านทั้งสองมาตกหลุมพรางของเขา
ทางกรุงเทพฯ เมื่อได้รับตัวบทแน่นอนของหัวข้อความตกลงจากคณะผู้แทนไทย รัฐบาลมิได้นิ่งนอนใจ มีการพิจารณาอย่างละเอียดลออถี่ถ้วน เกิดความรู้สึกว่าอังกฤษจะบีบไทยทุกวิถีทาง อเมริกันเท่านั้นที่จะช่วยผ่อนคลายการกดดันของอังกฤษได้ แต่ก็คงจะหวังได้ไม่มากนัก เพราะผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศทั้งสองมีอยู่กว้างขวางทั่วโลก จะมาเสียมิตรไมตรีเพื่อประโยชน์ของประเทศไทยที่เล็กกระจิริดกระไรอยู่ ฉะนั้น เราเองก็ต้องยอมเสียสละบ้างเท่าที่จะพอรับได้โดยไม่ถึงแก่เสื่อมเสียอิสรภาพ อธิปไตยและเอกราชอันหวงแหนของประเทศชาติ สิ่งที่ฝ่ายสหประชาชาติร่วมกันติดใจอยู่ข้อหนึ่ง คือ ปัญหาเรื่องอาชญากรสงคราม ซึ่งเขาถือว่าจะต้องเอาตัวมาลงโทษตามกฎหมายพิเศษของเขาให้ได้ เพื่อเป็นเยี่ยงอย่างมิให้มีการปฏิบัติผิดมิชอบเยี่ยงนั้นต่อไปอีกในอนาคต สำหรับประเทศไทย เขามีบัญชีผู้ที่เขาถือเป็นอาชญากรสงครามอยู่แล้ว ในหัวข้อความตกลงจึงมีกล่าวข้อหนึ่งว่า รัฐบาลไทยจะต้องให้ความร่วมมือในการจับตัวผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรสงคราม หรือเป็นผู้ให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจังแก่ญี่ปุ่นหรือศัตรูอื่นของสัมพันธมิตรนำขึ้นศาล ฝ่ายสหประชาชาติเริ่มจับตัวนายวิจิตร วิจิตรวาทการ เอกอัครราชทูตไทยซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในประเทศญี่ปุ่นไว้คนหนึ่งก่อนแล้ว
เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มส่งเครื่องบินเข้าทำการทิ้งระเบิดกรุงโตเกียว ทำเนียบเอกอัครราชทูตไทย ณ ตำบลเมกุโระ ต้องระเบิดเพลิง บ้านญี่ปุ่นภายในบริเวณถูกทำลายลงสิ้นเชิง และในขณะเดียวกันระบบการไฟฟ้าและนํ้าประปาต้องเสียหายด้วย ท่านเอกอัครราชทูตจำต้องโยกย้ายออกไปพำนักนอกกรุงโตเกียวพร้อมกับบรรดาเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต เพื่อความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน โดยเช่าห้องอยู่ในโรงแรมฟูจิย่า ที่เมืองฮาโกเน ใช้เป็นที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตพร้อมไปด้วย ครั้นเมื่อญี่ปุ่นยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ภายหลังไม่กี่วัน เจ้าหน้าที่สารวัตรทหารอเมริกันเข้าพบท่านเอกอัครราชทูตแจ้งให้ทราบว่า จะต้องควบคุมตัวไว้ชั่วคราวในฐานะเป็นผู้ต้องหาอาชญากรรมสงครามก่อนที่จะจัดส่งตัวกลับประเทศไทย สำหรับครอบครัวของท่านเอกอัครราชทูตและบรรดาข้าราชการในสถานเอกอัครราชทูตไม่อยู่ในข่ายต้องควบคุมอย่างใด เขาย้ายท่านเอกอัครราชทูตจากโรงแรมฟูจิย่าไปอยู่โรงแรมโฮร่าแล้วส่งตัวไปกรุงเทพฯ โดยเครื่องบินทหาร
ทางรัฐบาลคิดเป็นห่วงเกรงฝ่ายสหประชาชาติบังคับเอาตัวผู้ที่เขาถือว่าเป็นอาชญากรสงครามไทยไปขึ้นศาลระหว่างประเทศที่ฝ่ายสัมพันธมิตรจัดตั้งขึ้นในประเทศญี่ปุ่นร่วมกับอาชญากรสงครามญี่ปุ่น มีหวังที่คนไทยเพื่อนร่วมชาติของเราหลายคนจะต้องประสบจุดจบที่ศาลพิเศษ ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจของผู้ชนะเป็นแน่แท้ ถ้าจะเทียบกันแล้ว ความผิดของฝ่ายไทยไม่น่าจะถึงขั้นอาชญากรสงครามญี่ปุ่น รัฐบาลไทยรีบออกกฎหมายอาชญากรสงครามเพื่อใช้เป็นข้ออ้างจะจัดการกับอาชญากรสงครามไทยเอง ร่างพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามเร่งยกขึ้นเสนอสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๘๘ เดชะบุญสมัยนั้นประเทศไทยมีสภานิติบัญญัติสภาเดียว ถ้ามีสองสภาคงจะต้องใช้เวลานาน สภาผู้แทนราษฎรผ่านอนุมัติให้ตราเป็นพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามภายหลังที่มีการแก้ไขบางข้อความเกี่ยวกับบทนิยามศัพท์ “อาชญากรสงคราม” เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม เราทำการจับกุมตัวผู้ที่เราทราบว่า ฝ่ายสหประชาชาติถือเป็นอาชญากรสงครามเพื่อส่งศาลพิเศษของเรา ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ใช้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณา ช่วงชิงทำเสียก่อนที่ฝ่ายสหประชาชาติจะยื่นมือเข้ามาเรียกร้องเอาตัว สมัครพรรคพวกของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งยังมีอยู่ไม่น้อย แสดงความไม่พอใจเป็นอย่างมาก เข้าใจไปว่า คนไทยด้วยกันจับผู้นำในอดีตขึ้นศาล สำหรับการกระทำที่ช่วยบ้านเมืองให้รอดพ้นจากความพินาศภายใต้กำลังทหารญี่ปุ่นที่ไหลบ่าเข้าประเทศไทย โดยหาได้ทราบไม่ว่า ถ้ารัฐบาลไม่รีบจัดการเสียเองแล้ว ฝ่ายสหประชาชาติอาจจะเรียกร้องให้ส่งตัวไปดำเนินการพิจารณาที่ศาลกรุงโตเกียวตามตัวบทกฎหมายของสหประชาชาติก็ได้ แล้วยังถือโอกาสโจมตีกระบวนการต่อต้านญี่ปุ่นและเสรีไทยว่าจะยอมขายประเทศไทยให้แก่ต่างชาติ โดยยอมผูกมัดตามหัวข้อความตกลงที่อังกฤษเรียกร้องเอา
ระหว่างนั้น รัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช พิจารณาเห็นว่า ผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามานั่งในสภาเมื่อปี ๒๔๘๑ ได้รับการขยายเวลาให้อยู่ในตำแหน่งถึง ๒ ครั้งติดต่อกัน เนื่องด้วยเหตุสงคราม จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปไม่สะดวก เมื่อสงครามเสร็จสิ้นลงแล้ว น่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ เพื่อให้ราษฎรสามารถเลือกผู้แทนที่ต้องการ จึงตกลงให้ยุบสภาเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม กำหนดให้มีการเลือกทั่วไปในวันที่ ๖ มกราคม ๒๔๘๙
การเจรจาทางแคนดีไม่มีการคืบหน้า วันที่ ๒๖ ตุลาคม กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันแจ้งต่อสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษว่า ฝ่ายอเมริกันจะรอการแต่งตั้งอุปทูตประจำประเทศไทยไว้ไม่ได้แล้ว มีดำริจะส่งนายโยสต์เข้ากรุงเทพฯ ในต้นเดือนพฤศจิกายน กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษสั่งเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ให้สถานเอกอัครราชทูตที่กรุงวอชิงตันประท้วงการกระทำเช่นนั้น เพราะจะมีผลทำให้การเจรจาระหว่างประเทศไทยกับอังกฤษต้องยืดเยื้อไปอีก ลอร์ดแฮลิแฟ็กซ์ถึงกับขอพบนายเบิร์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้ยับยั้งการกลับสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยไว้ก่อน งดการส่งอุปทูตไปกรุงเทพฯ จนกว่าอังกฤษจะอยู่ในฐานะกระทำเช่นเดียวกันภายหลังการลงนามในความตกลงระหว่างไทยกับอังกฤษเลิกสถานะสงคราม ฝ่ายอเมริกันจำต้องผ่อนลงมาว่าจะส่งนายโยสต์เข้ากรุงเทพฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อีก ๒ คน โดยยังไม่ให้มีฐานะเป็นนักการทูตหรือกงสุล และจะรอไม่เปิดทำการสักเดือนหนึ่ง
ต้นเดือนพฤศจิกายน รัฐบาลแสดงความประสงค์ใคร่ทูลเชิญให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทยเสด็จกลับกรุงเทพฯ ชั่วคราว เพื่อปรึกษาหารือระหว่างที่รอการประชุมกับฝ่ายอังกฤษครั้งต่อไป นายเบรน ผู้แทนนายเดนิ่ง โทรเลขแจ้งให้นายเดนิ่งทราบที่เมืองปัตตาเวีย นายเดนิ่งไม่อยากให้หัวหน้าคณะเสด็จกลับ เกรงจะทำให้การเจรจายืดเยื้อ แต่ก็ให้ขอคำสั่งจากกระทรวงการต่างประเทศ ทางกระทรวงการต่างประเทศพิจารณาแล้วสั่งการเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายนว่า ที่จะขัดข้องไม่ยอมให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทยเสด็จกลับชั่วคราวตามความประสงค์ของรัฐบาลไทยนั้นย่อมจะลำบาก เพราะตัวนายเดนิ่งเองก็ไม่อยู่ที่แคนดี การเจรจาชะงักมาเป็นเวลานานแล้ว ควรให้เสด็จกลับกรุงเทพฯ เป็นการชั่วคราวได้ แต่ขอให้ยํ้าให้แน่ชัดว่า ไทยจะต้องรีบเจรจาทำความตกลงกับอังกฤษโดยเร็วที่สุด ข้าพเจ้าตามเสด็จท่านหัวหน้าคณะกลับกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๑ ต่อมาเมื่อทางกองบัญชาการสูงสุดฝ่ายสหประชาชาติตกลงโยกย้ายที่ทำการจากแคนดีไปสิงคโปร์ ทางอังกฤษจึงสั่งอนุญาตให้คณะผู้แทนไทยที่ยังเหลืออยู่เดินทางกลับประเทศไทยด้วย โดยขอเชิญให้ไปประชุมต่อภายหลังที่สิงคโปร์ ทางฝ่ายออสเตรเลียถือโอกาสขอเข้าร่วมในการเจรจากับไทย โดยได้ส่งพันเอก อีสต์แมน เป็นผู้แทน เดินทางไปสิงคโปร์
วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน นายกรัฐมนตรีเสนีย์แจ้งต่อนายเบิร์ดว่า ถ้าอังกฤษยืนยันต่อไทยเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ข้อกำหนดต่าง ๆ ในหัวข้อความตกลงและภาคผนวกเป็นบทบังคับซึ่งไทยจะเจรจาต่อรองอย่างใดไม่ได้เลยแล้ว ฝ่ายไทยก็จะยินยอมลงนามด้วย แต่ได้เตือนว่า เพื่อความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับไทยในอนาคต ไม่น่าจะกระทำเช่นนั้น
วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน นายฟรังฟอร์ด แห่งสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ณ กรุงลอนดอน เข้าพบนายสเตอร์นเดล เบ็นเน็ทท์ อธิบดีกรมกิจการตะวันออกไกล ให้ความเห็นว่า การที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีดำริจะกราบบังคมทูลเชิญให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัตประเทศไทย อาจจะมีความประสงค์จะทำให้การเจรจาระหว่างอังกฤษกับไทยยืดเยื้อนานขึ้น นายเบ็นเน็ทท์ปฏิเสธว่าคงไม่ใช่เช่นนั้นสาเหตุคงเนื่องจากจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญมากกว่าความล่าช้าของการเจรจาที่แคนดี จะโทษฝ่ายไทยข้างเดียวมิได้ เพราะนายเดนิ่งเองต้องเดินทางออกไปปฏิบัติงานที่ปัตตาเวีย การเจรจาย่อมต้องค้างอยู่ และบัดนี้อังกฤษกับสหรัฐอเมริกันก็สามารถทำความเข้าใจกันดีแล้วในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย ฉะนั้น จึงคาดว่าคงมีการลงนามในข้อตกลงกันได้ในไม่ช้าที่สิงคโปร์
ฝ่ายอเมริกันยื่นบันทึกช่วยจำต่อฝ่ายอังกฤษเกี่ยวกับประเทศไทยอีกสองฉบับ ฉบับหนึ่งเมื่อวันที่ ๒๓ อีกฉบับหนึ่งเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน และฝ่ายอังกฤษได้ตอบเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ทำความเข้าใจระหว่างกัน ลอร์ดแฮลิแฟ็กซ์แจ้งต่อนายแอจิสัน ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ว่า อังกฤษกำลังพยายามจะเจรจากับไทยให้สำเร็จ และได้ยอมรับข้อเสนอแก้ไขของฝ่ายอเมริกันบางข้อแล้ว แต่ฝ่ายไทยยังคงดึงเรื่องไว้โดยหวังว่าอเมริกันจะช่วยอีก ถ้าหากรัฐบาลอเมริกันอยากจะแต่งตั้งอุปทูตประจำประเทศไทยเป็นทางการ ก็ควรแนะนำให้ไทยรีบทำตามความตกลงกับอังกฤษเสีย
วันที่ ๘ ธันวาคม อังกฤษส่งเครื่องบินมารับคณะผู้แทนไทยไปสิงคโปร์เพื่อประชุมต่อ ข้าพเจ้าเป็นผู้เดียวในคณะผู้แทนไทยที่ไม่ได้ออกไปกับคณะ เพราะภาระหน้าที่ของข้าพเจ้าในฐานะผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ไม่สู้จะเหลือเท่าใดแล้ว ความคิดเห็นในด้านกระทรวงการต่างประเทศ ข้าพเจ้าได้ให้ไปหมดแล้ว งานถึงขั้นที่ไม่มีการต่อรองกัน เป็นแต่ฝ่ายอังกฤษจะยินยอมผ่อนผันให้ฝ่ายไทยเพียงใดหรือไม่ ในตอนนั้นนายโยสต์ ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน ก็ได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยแล้ว แม้จะยังไม่มีฐานะเป็นผู้แทนการทูต แต่ก็เป็นคนของกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน หากฝ่ายไทยมีความคิดเห็นหรือความประสงค์อย่างใด ซึ่งต้องระบายให้รัฐบาลอเมริกันทราบ ข้าพเจ้าเป็นผู้ติดต่อกับนายโยสต์อย่างที่ปฏิบัติมาแล้วที่แคนดี ยิ่งกว่านั้น เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนคร ต้นเดือนธันวาคม ๒๔๘๘ ทรงสนพระราชหฤทัยในปัญหาการเจรจาระหว่างไทยกับอังกฤษมาก ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้มอบหมายให้ข้าพเจ้าเป็นผู้เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลถวายรายงานให้ทรงทราบถึงภูมิหลังและการคลี่คลายของการเจรจาโดยละเอียดทุกระยะ เมื่อศึกษาอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ข้าพเจ้าเคยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่เมืองโลซานน์ และเมืองอื่นเวลาเสด็จพระราชดำเนินไปร่วมการประชุมประจำปีของสมาคมนักเรียนไทยในยุโรปอย่างใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทและพระประยูรญาติทุกพระองค์ ทุกครั้งที่ข้าพเจ้ากราบบังคมทูลถวายรายงานการเจรจากับอังกฤษ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ซักถามเพื่อความกระจ่างแจ้งด้วยความสนพระราชหฤทัย สมเด็จพระอนุชาก็ทรงประทับอยู่ด้วยและทรงฟังโดยตลอด เมื่อพระราชทานพระกระยาหารเลี้ยงแขกต่างประเทศผู้มีเกียรติยศที่เข้าเฝ้าพระยุคลบาท ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าเข้าร่วมโต๊ะเสวยในบางโอกาส นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้
การประชุม อังกฤษ-ไทย ครั้งที่ ๓ ซึ่งจัดให้มีขึ้นที่สิงคโปร์เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคมนี้ ปัญหาที่คั่งค้างยังตกลงกันไม่ได้ มีเรื่องฝรั่งเศสและข้าว สำหรับเรื่องแรก นายเดนิ่งหารือไปทางกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษว่า ถ้าไทยยืนยันไม่ยอมเจรจากับฝรั่งเศส ควรจะร่างเป็นข้อกำหนดในหัวข้อความตกลงเกี่ยวกับปัญหาเรื่องดินแดนอินโดจีนหรือไม่ กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษสั่งให้นายเดนิ่งตั้งเป็นข้อสงวนไว้ว่า ฝ่ายอังกฤษอาจจะมีข้อกล่าวถึงเรื่องนี้ในความตกลงระหว่างอังกฤษกับไทย แต่กระทรวงการต่างประเทศไม่แน่ใจว่า การกระทำเช่นนั้น จะสมควรหรือเป็นประโยชน์ในทางปฏิบัติหรือไม่ ข้อสำคัญอยู่ที่ท่าทีของฝ่ายอเมริกัน ถ้าอังกฤษและอเมริกันสามารถตกลงกันได้ในเรื่องข้าวไทย อังกฤษจะอยู่ในฐานะขอร้องให้สหรัฐอเมริกาให้ความเห็นแก่ฝ่ายไทยเรื่องดินแดนทางอินโดจีน
สำหรับเรื่องข้าว องค์หัวหน้าคณะผู้แทนไทยเสนอตัวเลขและข้อมูลว่า ข้าวที่อังกฤษประสงค์จะได้เป็นข้าวดีชนิดที่ ๑ ยากที่ไทยจะสนองได้ ระหว่างปี ๒๔๘๐-๒๔๘๔ รวม ๕ ปี ประเทศไทยส่งข้าวออกขายต่างประเทศเฉลี่ยปีละ ๑,๓๖๘,๓๔๕ ตัน เป็นข้าวดีครึ่งหนึ่ง คือ ๗๖๗,๖๒๘ ตัน ในระยะ ๕ ปีนั้น มีเพียง ๒ ปี ที่ไทยส่งข้าวออกถึง ๑.๕ ล้านตัน ความขัดข้องในการที่ไทยมีข้าวไม่เพียงพอแก่ความต้องการของอังกฤษในปี ๒๔๘๘ สืบเนื่องจากการผลิตข้าวลดน้อยลง อุทกภัยปี ๒๔๘๕ ทำให้ควายต้องล้มตายเป็นจำนวนมาก เมื่อญี่ปุ่นยึดครองประเทศ ไทยก็ต้องสูญเสียควายไม่น้อย ตัวเลขสถิติแสดงว่า ในปี ๒๔๘๘ ปริมาณผลิตข้าวทั่วประเทศลดลงเหลือ ๒,๕๙๔,๐๐๐ ตัน ตํ่ากว่าผลผลิตถัวเฉลี่ย ๕ ปี ซึ่งมีจำนวนปีละ ๓,๕๕๒,๐๐๐ ตัน สาเหตุขัดข้องอีกประการหนึ่งอยู่ที่การขนส่ง ข้าวที่ผลิตทางภาคเหนือและภาคตะวันออก ต้องขนส่งทางรถไฟและถนน ระบบการรถไฟได้รับการกระทบกระเทือนจากการสงคราม รถจักรและรถตู้ถูกทำลายจากการทิ้งระเบิดทางเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตร พร้อมกับสะพานหลายแห่ง การขนส่งทางบกยากลำบาก เพราะขาดนํ้ามันเชื้อเพลิง ยางรถยนต์ และอุปกรณ์อื่น ๆ การขาดเชื้อเพลิงส่งผลสะท้อนถึงการขนส่งทางนํ้า เมื่อขนส่งลำบาก การผลิตก็กระทบกระเทือน ในจำนวนผลผลิตข้าวปี ๒๔๘๘ ต้องหักปริมาณที่จำเป็นสำหรับการบริโภคภายในประเทศออก ๒,๑๖๘,๐๐๐ ตัน เหลือพอจะส่งออกเพียง ๔๒๖,๐๐๐ ตัน เป็นข้าวดี ๒๓๙,๐๐๐ ตัน เท่ากับประมาณ ๑ ใน ๖ ของจำนวนที่อังกฤษเรียกร้อง ราคาข้าวดีคิดเป็นเงินประมาณ ๔๙๓ บาท ต่อตัน ถ้าไทยต้องให้เปล่า ๑.๕ ล้านตัน จะเป็นการเพิ่มภาระทางการเงินถึง ๗๔๐ ล้านบาท รายได้สาธารณะไม่รวมเงินกู้ และรายจ่ายสาธารณะในปี ๒๔๘๗ เป็นเงิน ๒๖๗ ล้านบาท และ ๓๖๗ ล้านบาทโดยลำดับ ในปี ๒๔๘๘ รายได้สาธารณะมีจำนวน ๒๔๙ ล้านบาท รายจ่ายสาธารณะ ๖๑๘ ล้านบาท มูลค่าข้าวที่อังกฤษจะเอาเท่ากับ ๓ เท่าของรายได้ประจำปี เป็นภาระตกหนักแก่ผู้เสียภาษี เงินตราไทยและระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอาศัยการส่งข้าวออกเป็นสำคัญ รายได้จากการส่งข้าวออกบางปีขึ้นถึงร้อยละ ๗๐ ของสินค้าออกทั้งหมด ด้วยรายได้จากการขายข้าว ประเทศไทยสามารถรักษาเสถียรภาพของเงินตรา ซื้อสินค้าจากต่างประเทศ และชำระหนี้เงินกู้ต่างประเทศ การให้ข้าวเปล่า ๑.๕ ล้านตัน จะทำให้ขาดเงินตราต่างประเทศจำนวนมหาศาล ประเทศไทยจะต้องตัดค่าใช้จ่ายในต่างประเทศลงอย่างหนัก การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจจะกระทำได้ยากและล่าช้า จึงใคร่จะขอความเห็นใจจากอังกฤษ อย่าทำลายภาวะเศรษฐกิจไทยเลย
นายเดนิ่งส่งข้อคิดเห็นของฝ่ายไทยไปยังกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ ซึ่งตอบเมื่อวันที่ ๑๓ ตกลงไม่เอาข้าวดีทั้งหมด ให้รวมข้าวหักด้วย แต่ยังยืนยันตัวเลข ๑.๕ ล้านตันอยู่ อ้างว่า เมื่อ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ผ่านกรุงลอนดอนกลับกรุงเทพฯ ได้แจ้งต่อนายสเตอร์นเดล เบ็นเน็ทท์ เองว่า ประเทศไทยมีข้าวเหลือสะสมอยู่จากปีก่อน ๆ ๑.๕ ล้านตัน ที่อังกฤษร้องขอจึงได้แก่จำนวนข้าวที่เหลือสะสมไว้นั้น มิใช่ผลิตผลของปี ๒๔๘๘ อังกฤษเห็นใจในความยุ่งยากของการขนส่ง และกำลังพิจารณาหาทางช่วยเหลืออยู่
ในการประชุมเมื่อวันที่ ๑๑ นั้น นายเดนิ่งยังคงวางท่าทีแข็งกร้าวอยู่ โดยยืนยันว่า หัวข้อความตกลงมิใช่เอกสารที่จะมีการเจรจาต่อรองกัน และลำเลิกว่า ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นของไทยมิได้รับการฝึกซ้อมเพียงพอที่จะออกปฏิบัติการอย่างมีประสิทธิภาพ จึงไม่สามารถจะมีส่วนร่วมในชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร ไทยจะนำเอาปัญหาเรื่องบริจาคข้าวให้เปล่ามาเป็นการแลกเปลี่ยนกับข้อผ่อนปรนของอังกฤษในปัญหาอื่น ๆ หาได้ไม่ ถ้าไทยเหนี่ยวรั้งการให้ข้าวไว้ อังกฤษจำต้องประกาศเปิดเผยให้ประชากรที่หิวโหยของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทราบว่า ความเดือดร้อนสืบเนื่องมาจากการโยกโย้ของไทย ถ้ารัฐบาลไทยขืนทำโฆษณาชวนเชื่อเพื่อหาทางผ่อนคลายข้อกำหนดของอังกฤษ ก็มีแต่จะทำให้ข้อกำหนดเข้มงวดหนักขึ้น ประเทศไทยจะไม่สามารถเข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติตราบใดที่ยังไม่ทำความตกลงกับอังกฤษและฝรั่งเศส และไทยไม่มีทางจะทำการติดต่อกับโลกภายนอกตราบเท่าที่ยังไม่เลิกสถานะสงครามกับอังกฤษ นายเดนิ่งลงเอยด้วยการสำทับว่า การประชุมต่อไปไม่มีประโยชน์ สมาชิกในคณะผู้แทนไทยควรจะกลับกรุงเทพฯ เพื่อขอคำสั่งโดยพลันจากรัฐบาลไทยว่า จะยินยอมลงนามในหัวข้อความตกลงกับอังกฤษหรือไม่ ถ้าจะพูดอย่างสำนวนชาวบ้าน นายเดนิ่งขับไล่ให้คณะผู้แทนไทยกลับบ้าน หากไม่ยอมลงนามในหัวข้อความตกลงที่อังกฤษเสนอ นายเดนิ่งยื่นตัวบทหัวข้อความตกลงให้คณะผู้แทนใหม่ซึ่งตรวจดูแล้วมีข้อความตามหัวข้อความตกลงที่ได้รับที่แคนดี จะมีแก้ไขก็เฉพาะบางข้อในภาคผนวกเกี่ยวกับการทหาร เพื่ออนุวัติตามความประสงค์ของสหรัฐอเมริกา
หม่อมวิวัฒนไชย ไชยันต์ เสด็จกลับกรุงเทพฯ เพื่อรายงานให้รัฐบาลทราบถึงท่าทีของนายเดนิ่ง และเพื่อขอรับคำวินิจฉัยว่า รัฐบาลจะตกลงให้ยอมรับตามข้อเสนอของอังกฤษหรือไม่
นายกรัฐมนตรีเสนีย์ ปราโมช ขอทราบความเห็นของสหรัฐอเมริกาในเรื่องนี้ ซึ่งนายโยสต์ไม่อยู่ในฐานะที่จะแนะนำว่าสมควรลงนามหรือไม่ เป็นแต่เน้นในความสนใจของรัฐบาลอเมริกันที่มุ่งจะธำรงไว้ซึ่งอธิปไตยและฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และยํ้าว่า การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับอังกฤษยังดำเนินอยู่ไม่ทันเสร็จสิ้น นายโยสต์รายงานกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันเมื่อวันที่ ๑๒ ว่า เว้นเสียแต่นายเดนิ่งจะปฏิบัติการไปโดยพลการ มิได้รับคำสั่งจากลอนดอน ดูอังกฤษจะพยายามเร่งรัดให้ไทยยินยอมโดยไม่นำพาต่อข้อคิดเห็นของอเมริกัน เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนั้น นายโยสต์เสนอให้รัฐบาลอเมริกันรีบเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทยทันที และแจ้งให้ทั้งฝ่ายไทยและอังกฤษทราบว่า ไม่ว่าไทยจะยอมลงนามหรือไม่ก็ตาม รัฐบาลอเมริกันจะขัดขวางการล่วงละเมิดอธิปไตยของไทย การกำหนดภาระอันไม่สมควรแก่เศรษฐกิจของประเทศไทย และการจำกัดการติดต่อระหว่างประเทศไทยกับโลกภายนอกโดยการกระทำฝ่ายเดียว
ในโทรเลขอีกฉบับหนึ่ง ลงวันที่ ๑๓ ถึงกระทรวงการต่างประเทศ นายโยสต์รายงานว่า การที่รัฐบาลอเมริกันรั้งรอการกลับเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยทำให้คนแปลความหมายไปได้ว่า รัฐบาลอเมริกันจะไม่รับรองรัฐบาลไทยจนกว่าจะมีการลงนามในความตกลงที่เป็นที่พอใจของอังกฤษ คนไทยโดยทั่วไปหาได้ทราบไม่ว่ารัฐบาลอเมริกันไม่เห็นด้วยกับหัวข้อความตกลงของอังกฤษหลายข้อ และได้พยายามคาดคั้นให้อังกฤษลดความรุนแรงลงไปได้บ้างแล้ว
ในวันเดียวกันนั้น กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันตอบโทรเลขของนายโยสต์ลงวันที่ ๑๒ สั่งให้เสนอแนะต่อรัฐบาลไทยมิให้ลงนามกับอังกฤษในระหว่างที่การเจรจาระหว่างสหรัฐอเมริกากับอังกฤษยังดำเนินอยู่ อังกฤษได้อนุวัติตามข้อขัดข้องของอเมริกาบางข้อแล้ว แต่ยังไม่หมดทีเดียว ในขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันส่งเอกอัครราชทูตที่กรุงลอนดอน ให้แจ้งต่อกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษว่า วอชิงตันอยากจะเชื่อว่า นายเดนิ่งยื่นคำขาดต่อคณะผู้แทนไทยโดยไม่ได้รับคำสั่งจากลอนดอน รัฐบาลอเมริกันได้ให้คำแนะนำต่อรัฐบาลไทยมิให้ลงนามกับอังกฤษจนกว่าอังกฤษและอเมริกันจะได้เจรจาตกลงกันก่อน ถ้าหากนายเดนิ่งยังคงดื้อดึงขู่เข็ญไทยต่อไป รัฐบาลอเมริกันย่อมไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะกลับเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทยที่ได้รอมาตามคำขอของอังกฤษ และจะแถลงท่าทีของรัฐบาลอเมริกันให้โลกภายนอกทราบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัญหาเรื่องข้าวที่อังกฤษต้องการเรียกร้องเอาเปล่าจากประเทศไทย
รุ่งขึ้นวันที่ ๑๔ นายโยสต์โทรเลขรายงานกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันว่า รัฐบาลไทยตกลงยินยอมจะลงนามกับอังกฤษแล้ว เพราะเห็นว่า ไทยเป็นประเทศเล็ก ต้องเผชิญหน้ากับประเทศใหญ่ ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะยอมคล้อยตาม เท่าที่เป็นมาสามารถหน่วงรั้งการทำความตกลงกับอังกฤษไว้นานกว่าสามเดือนแล้ว หากจะถ่วงต่อไปเกรงว่าจะทำให้ข้อกำหนดของอังกฤษรุนแรงหนักยิ่งขึ้น ทั้งนี้โดยมีเงื่อนไขสองประการ คือ (๑) ขอให้นายเดนิ่งมีหนังสือเป็นหลักฐานแจ้งต่อคณะผู้แทนไทยว่า หัวข้อความตกลงเป็นข้อกำหนดตํ่าที่สุดที่อังกฤษจะยอมเลิกสถานะสงครามกับไทย อังกฤษไม่ยอมให้มีการเจรจา และยืนยันให้ไทยต้องลงนามตามที่อังกฤษเสนอ หนังสือยืนยันของนายเดนิ่งนี้จะมีการประกาศเปิดเผยพร้อมกับตัวบทหัวข้อความตกลง ถ้านายเดนิ่งไม่ยอมทำหนังสือเช่นนั้นให้ ไทยก็จะยอมลงนามและจะประกาศข้อความดังกล่าวเอง และ (๒) ถ้านายเดนิ่งจะเอาเรื่องของฝรั่งเศสมาพัวพันด้วย คณะผู้แทนไทยจะต้องเสนอเรื่องทั้งหมดกลับไปให้รัฐบาลพิจารณาก่อน
เมื่อทราบรายงานของนายโยสต์ฉบับนี้แล้ว กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันรีบโทรเลขสั่งกงสุลที่สิงคโปร์ให้ติดต่อกับหม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ ทูลให้ทรงทราบถึงความประสงค์ของรัฐบาลอเมริกันที่จะไม่ให้ไทยยอมลงนามกับอังกฤษก่อนที่อังกฤษจะทำความเข้าใจกับอเมริกันได้ทุกข้อ ส่วนทางนายโยสต์ได้ขอพบท่านรัฐบุรุษอาวุโสและนายกรัฐมนตรีเสนีย์ ปราโมช เพื่อแจ้งท่าทีของรัฐบาลอเมริกันให้ทราบ นายกรัฐมนตรีโทรเลขทูลหม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ ให้เลื่อนการลงนามไปพลางก่อน
ในการประชุมครั้งที่ ๔ เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม หัวหน้าคณะผู้แทนไทยรับสั่งต่อนายเดนิ่งว่า เมื่ออังกฤษถือข้อเสนอทั้งหมดของอังกฤษเป็นข้อกำหนดน้อยที่สุดในการที่จะเลิกสถานะสงคราม รัฐบาลไทยไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากยอมรับหัวข้อความตกลงและให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติตามทุกข้อ แต่เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรต้องยุบไป กำลังรอการเลือกตั้งทั่วไปและการเปิดสภาฯ ใหม่ ฉะนั้น เรื่องใดที่จะต้องอาศัยการออกตัวบทกฎหมาย ยังจะปฏิบัติไม่ได้ ต้องรอการอนุมัติของสภาฯ ใหม่ก่อน
เมื่อมีความจำเป็นเช่นนี้ นายเดนิ่งจึงเสนอให้ตัดข้อความเกี่ยวกับการเรียกข้าว ๑.๕ ล้านตัน ออกจากหัวข้อความตกลง โดยจะให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทยเป็นผู้เสนอให้ข้าวเปล่าเองในหนังสือแลกเปลี่ยนที่จะกระทำต่อกัน หัวหน้าคณะผู้แทนไทยทรงขอให้เก็บข้อความเรื่องข้าวไว้ในหัวข้อความตกลง
ก่อนเสร็จการประชุม หัวหน้าคณะผู้แทนไทยรับสั่งต่อนายเดนิ่งว่า เมื่อได้ตกลงกันแล้ว ฝ่ายไทยจำต้องโฆษณาหนังสือแลกเปลี่ยนและหัวข้อความตกลงเพื่อให้ประชาชาวไทยทราบ ทรงเกรงเหลือเกินว่า ผลที่จะบังเกิดขึ้น ก็คือความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่ออังกฤษอย่างแพร่หลาย นายเดนิ่งจึงสั่งให้กองพลอินเดียที่ ๗ คงอยู่ในประเทศไทยต่อไปก่อน
ในวันเดียวกันนั้นเอง หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ เสด็จประชุมกับพันเอก เอ. เจ. อีสต์แมน ผู้ได้รับมอบอำนาจจากรัฐบาลออสเตรเลียให้เจรจากับฝ่ายไทยเพื่อเลิกสถานะสงครามต่อกัน แยกเป็นส่วนหนึ่งจากการเจรจาของอังกฤษ แต่ก็เอาตามแบบอังกฤษ กล่าวคือขอให้มีการแลกเปลี่ยนหนังสือกำหนดให้ฝ่ายไทยต้องปฏิบัติการบางอย่าง และยอมรับผิดชอบตามแนวของหัวข้อความตกลงของอังกฤษ
วันที่ ๑๗ หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ เสด็จกลับกรุงเทพฯ เพื่อทรงรายงานผลของการเจรจาให้รัฐบาลทราบ หากรัฐบาลเห็นชอบด้วย จะเสด็จกลับมาทำพิธีลงนามต่อไป
ทางกรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม เนื่องจากเซอร์จอร์ชป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ นายมอฟเฟ็ตอุตส่าห์ไปพบถึงที่บ้านพัก แจ้งให้ทราบว่า รัฐบาลอเมริกันเสียใจมากที่นายเดนิ่งยื่นคำขาดให้คณะผู้แทนไทยลงนามในหัวข้อความตกลงระหว่างที่การเจรจาระหว่างอเมริกันกับอังกฤษยังดำเนินการอยู่ หนังสือพิมพ์อเมริกันจะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นอภิปราย รัฐบาลอเมริกันตกอยู่ในฐานะลำบาก เกรงจะเป็นผลร้ายต่อความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกันกับอังกฤษ นายมอฟเฟ็ตเน้นว่า รัฐบาลอเมริกันมีความห่วงใยในปัญหาเรื่องข้าวและปัญหาเรื่องความมั่นคงโดยเฉพาะ ทั้งนี้ ทำให้กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษต้องโทรเลขสอบถามนายเดนิ่งว่า ได้ยื่นคำขาดต่อคณะผู้แทนไทยจริงหรือไม่
เมื่อได้รับคำสอบถามนี้ นายเดนิ่งเกิดเดือดดาลเป็นธรรมดา มีโทรเลขประชดกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๑๗ ปฏิเสธว่ามิได้ยื่นคำขาดต่อคณะผู้แทนไทย หากเพียงปฏิบัติตามคำสั่งของกระทรวงเท่านั้น นายเดนิ่งแสดงความเห็นต่อไปว่า เรื่องใดที่กรุงเทพฯ นำออกเผยแพร่เป็นการขัดต่อประโยชน์ของอังกฤษ ฝ่ายอเมริกันมักจะนิยมชมชอบ หากความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับอเมริกันต้องเสื่อมทรามไป นายเดนิ่งทราบดีว่า ใครเป็นผู้รับผิดชอบ ถ้าสามารถจะทำได้ ฝ่ายอเมริกันจะต้องพยายามขัดขวางมิให้อังกฤษทำความตกลงกับไทยได้สำเร็จ หากกระทรวงการต่างประเทศเห็นควรปล่อยให้พฤติการณ์เป็นเช่นนั้น ขอให้สั่งนายเดนิ่งเสียให้แน่ชัด ถ้าไม่เห็นควร นายเดนิ่งหวังว่า กระทรวงการต่างประเทศจะไม่เพิ่มภาระที่นายเดนิ่งมีหนักอยู่แล้วในการเจรจากับไทย ให้หนักยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยการขอให้ชี้แจงการปฏิบัติงานของนายเดนิ่งต่อฝ่ายอเมริกันเป็นระยะ ๆ ไป
ในวันที่ ๑๘ ธันวาคม นายแอจิสันแห่งสถานเอกอัครราชทูตอเมริกัน ณ กรุงลอนดอน ยื่นบันทึกถึงกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษประท้วงการยื่นคำขาดของนายเดนิ่งให้ฝ่ายไทยต้องลงนามโดยไม่มีการเจรจา รัฐบาลอเมริกันไม่เห็นด้วยกับการที่ไทยจำยอมลงนามปัญหาเรื่องข้าว และเรื่องความมั่นคงเกี่ยวพันถึงสหรัฐอเมริกาด้วย มิใช่เรื่องของอังกฤษเท่านั้น อเมริกันพร้อมจะรอการกลับทำความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยไว้จนกว่าจะได้รับคำตอบของอังกฤษเกี่ยวด้วยบันทึกช่วยจำของสหรัฐอเมริกาลงวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ถ้ารัฐบาลอังกฤษไม่ยอมรับความคิดเห็นของสหรัฐอเมริกา รัฐบาลอเมริกันจะเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยทันที และจะวิจารณ์ข้อเสนอของอังกฤษโดยเสรีและเปิดเผย
ในวันเดียวกันนั้น กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้ตกลงให้ปรับปรุงภาคผนวกของหัวข้อความตกลงโดยตัดออกหลายข้อ และปรับปรุงถ้อยคำใหม่ตามที่อเมริกายืนยันร้องขอ และได้สั่งให้นายเดนิ่งดำเนินการตามนั้น
วันที่ ๒๐ หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ เสด็จกลับกรุงเทพฯ พร้อมด้วยตัวบทหัวข้อความตกลงและภาคผนวกว่าด้วยการทหารใหม่ที่เพิ่งได้รับจากนายเดนิ่ง ปรากฏว่ามีข้อความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหลายประการ และตามความรู้สึกขององค์ท่าน นายเดนิ่งมีทีท่าจะอะลุ้มอล่วยขึ้นมาก รัฐบาลไทยตกลงให้ลงนามในเอกสารชุดใหม่ หากฝ่ายอเมริกันพึงพอใจแล้ว
วันที่ ๒๑ กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษสั่งให้สถานเอกอัครราชทูตที่กรุงวอชิงตัน แจ้งกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันว่า เพื่อสนองความประสงค์ของรัฐบาลอเมริกัน อังกฤษตกลงให้ปรับปรุงข้อความในหัวข้อความตกลง โดยให้รวมข้อซี ๑ และซี ๒ เข้าเป็นข้อเดียวกัน เป็นการตัดปัญหาที่อาจจะทำให้เข้าใจไปได้ว่า อังกฤษประสงค์จะยึดเอาประเทศไทยอยู่ในอารักขาของอังกฤษ ส่วนเรื่องข้าว อังกฤษรับว่าจะพยายามป้องกันมิให้เกิดเป็นภาระแก่ประเทศไทยถึงขั้นทำลายเศรษฐกิจและเงินตราของไทย
วันที่ ๒๒ ธันวาคม สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ณ กรุงวอชิงตัน รายงานกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษว่า เมื่ออังกฤษยอมรับข้อเสนอของอเมริกัน ฝ่ายอเมริกันเป็นอันเห็นด้วยกับอังกฤษทุกข้อแล้ว ฝ่ายอังกฤษควรพยายามทำความเข้าใจกับฝ่ายไทยให้ดียิ่งขึ้น และถ้าต้องการก็พร้อมจะให้นายโยสต์ช่วยอธิบายแก่ฝ่ายไทยด้วย
เมื่อทราบจากนายโยสต์ว่า ทางอังกฤษยินยอมแก้ไขหัวข้อความตกลงและภาคผนวกตามที่ฝ่ายอเมริกันคัดค้านไว้หมดทุกข้อ ฝ่ายอเมริกันจึงไม่ขัดข้องต่อการที่ไทยจะตกลงลงนามกับฝ่ายอังกฤษได้ และทั้ง ๆ ที่ไทยยังคงติดใจในหัวข้อความตกลงบางข้ออยู่ ก็เห็นว่า ฝ่ายไทยได้พยายามมากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้แล้ว
วันที่ ๒๖ นายกรัฐมนตรีเสนีย์ ปราโมช แจ้งต่อนายเบิร์ดว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้คณะผู้แทนไทยลงนามในหัวข้อความตกลงตามที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขแล้ว การเลือกตั้งทั่วไปจะกระทำกันในวันที่ ๖ มกราคม ๒๔๘๙ เชื่อว่าคงไม่มีปัญหา สภาผู้แทนราษฎรคงจะอนุมัติ แต่ก็ไม่กล้ารับรอง ถึงอย่างไรก็ยังดีกว่าที่จะให้เลื่อนการลงนามออกไป ซึ่งจะทำให้เกิดความผิดหวัง ค่าของเงินบาทจะตกตํ่าลงไปอีก ราคาสินค้าจะเพิ่มสูงขึ้น นายกรัฐมนตรีเห็นว่าควรยอมเสี่ยงกับการที่สภาผู้แทนราษฎรจะปฏิเสธ ดีกว่าเลื่อนการลงนามออกไป ในวันเดียวกันนั้นองค์หัวหน้าคณะผู้แทนไทยทรงแจ้งต่อนายเดนิ่งว่า พร้อมจะลงนามได้แล้ว ถ้าความตกลงสมบูรณ์แบบยังตกลงกันได้ไม่ทัน ฝ่ายไทยจะประกาศหัวข้อความตกลงและภาคผนวกที่ทำกับอังกฤษก่อน นายเดนิ่งไม่ขัดข้องและโทรเลขขอให้ลอนดอนรีบส่งตัวบทสุดท้ายของความตกลงสมบูรณ์แบบมาภายใน ๒๔ ชั่วโมง โดยนายเดนิ่งคาดว่าคงจะลงนามกันได้ในวันสิ้นปี
วันที่ ๒๘ กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษตอบอนุมัติให้ลงนามในความตกลงสมบูรณ์แบบได้ตามที่นายเดนิ่งเสนอ รุ่งขึ้นวันที่ ๒๙ หัวหน้าคณะผู้แทนไทยรับสั่งต่อนายเดนิ่งว่า เห็นด้วยกับการที่จะให้มีการลงนามความตกสมบูรณ์แบบในวันขึ้นปีใหม่ แต่รัฐบาลไทยใคร่จะขอให้เลื่อนการประกาศความตกลงออกไปสักสองวัน เพราะจะต้องทำคำแปลภาษาไทย และรอให้คณะผู้แทนกลับถึงกรุงเทพฯ แล้ว นายเดนิ่งเกรงว่า การเลื่อนการประกาศออกไปจะล่อแหลมต่อการเกิดข่าวลือรั่วจากทางใดก็ได้ จึงน่าจะประกาศเสียในวันที่ลงนามซึ่งกำหนดแน่นอนในวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๘๙
วันที่ ๓๑ ธันวาคม เจ้าหน้าที่ในกรมกิจการตะวันออกไกล กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ ทำบันทึกความเห็นเสนอกระทรวงว่า ในการอนุมัติให้มีการลงนามในความตกลงสมบูรณ์แบบได้นั้น ฝ่ายอังกฤษย่อมเสี่ยงในข้อที่ว่า รัฐสภาไทยอาจจะไม่อนุมัติความตกลงก็ได้ ในกรณีเช่นนั้นผลจะมีว่า รัฐบาลอังกฤษยอมรับเลิกสถานะสงครามกับประเทศไทยแล้ว แต่รัฐบาลไทยชุดใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นหลังการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร อาจจะปฏิเสธไม่รับการกระทำของรัฐบาลเก่าได้ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ผู้นั้นหวังและเชื่อว่า ประเทศไทยต้องการจะมีความสัมพันธ์เป็นปกติกับอังกฤษ รัฐสภาคงจะไม่ปฏิเสธการกระทำของรัฐบาลเสนีย์ และถึงอย่างไร อังกฤษยังยึดเงินของรัฐบาลไทยจำนวน ๑๓ ล้านปอนด์อยู่ จะไม่ยอมปล่อยจนกว่ารัฐสภาไทยจะอนุมัติความตกลง
ในที่สุด โอกาสที่อังกฤษรอมาเป็นเวลานานก็ได้มาถึงเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๘๙ อันเป็นวันขึ้นปีใหม่ ตอนเช้าที่สิงคโปร์ได้มีการแลกเปลี่ยนหนังสือระหว่างนายเดนิ่งกับหม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยยันต์ ตกลงรับหัวข้อความตกลงและภาคผนวก มีข้อความดังตามคำแปลภาษาไทยต่อไปนี้
(คำแปล) หนังสือแลกเปลี่ยนหัวข้อความตกลง
(หนังสือจากนาย เอ็ม. อี. เดนิ่ง ทูลหม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์)
สิงคโปร์
วันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๖
ฝ่าพระบาท
เนื่องจากการสนทนาระหว่างเราได้สิ้นสุดลงแล้วอย่างเป็นที่พอใจ ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติที่จะขอแนบสำเนาหัวข้อความตกลงและภาคผนวกมา ณ ที่นี้ ซึ่งเป็นการจัดวางข้อกำหนดที่รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรและรัฐบาลอินเดียพร้อมที่จะเลิกสถานะสงครามกับประเทศไทย ข้าพเจ้ายินดีที่จะทราบจากท่านว่า รัฐบาลไทยพร้อมที่จะลงนามโดยไม่ชักช้าในความตกลงสมบูรณ์แบบ ฉบับหนึ่งหรือหลายฉบับ ซึ่งรวบรวมบทบัญญัติที่แสดงไว้ในเอกสารที่แนบมา และว่าในระหว่างที่ยังมิได้มีการลงนามเช่นว่านั้น รัฐบาลไทยจะกระทำการทั้งปวงตามบทบัญญัติเหล่านั้น
ข้าพเจ้าใคร่ขอกล่าวเสริมเป็นการแจ้งให้ท่านทราบเพิ่มเติมว่า คำว่า “บริติช” ในหัวข้อความตกลง จะได้รับการนิยามไว้ในความตกลงสมบูรณ์แบบฉบับหนึ่งหรือหลายฉบับ ให้รวมถึงบรรดาคนในบังคับและบุคคลในอารักขาบริติช บรรดาอาณาเขตใด ๆ ในอธิปไตย อธิราชย์อารักขา หรืออาณัติของสมเด็จพระจักรพรรดิมหากษัตริย์ และบรรดาคำมั่นสัญญาที่ได้ตั้งขึ้นไว้ โดยถูกต้องตามกฎหมายของอาณาเขตใด ๆ เช่นว่านั้นด้วย
ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้แสดงความนับถืออย่างสูงมายังฝ่าพระบาท
(ลงนาม) เอ็ม. อี. เดนิ่ง
หัวข้อความตกลง
ท่าทีของรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรและรัฐบาลอินเดียต่อประเทศไทย ย่อมแล้วแต่ว่า ประเทศไทยร่วมมือเพียงใดในเรื่องซึ่งเกิดขึ้นจากการเลิกศึกต่อญี่ปุ่นและประเทศไทยพร้อมเพรียงเพียงใด (ก) ที่จะทำการใช้คืนให้แก่สหราชอาณาจักรและอินเดีย และบรรดาพันธมิตรสำหรับความเสียหายที่ได้กระทำ เนื่องจากประเทศไทยเข้าร่วมกับญี่ปุ่น และ (ข) ที่จะจัดประกันความมั่นคงและความสัมพันธ์ฐานเพื่อนบ้านที่ดีในกาลต่อไป
กิจการโดยเฉพาะที่รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรและรัฐบาลอินเดียคาดหมายให้รัฐบาลไทย จัดในฐานะที่เป็นเงื่อนไขในการยอมรับนับถือรัฐบาลไทยและในการยอมตกลงเลิกสถานะสงครามนั้น มีดังต่อไปนี้
ก. กระบวนการบอกปฏิเสธ
๑. บอกปฏิเสธการประกาศสงคราม ซึ่งได้กระทำเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๒ (ซึ่งทำให้สถานะสงครามเกิดขึ้นระหว่างสหราชอาณาจักรและอินเดียฝ่ายหนึ่ง กับประเทศไทยอีกฝ่ายหนึ่ง) พร้อมทั้งบรรดากระบวนการเนื่องจากการประกาศนั้น อันอาจมีผลเป็นการเสื่อมประโยชน์ของสหราชอาณาจักร อินเดีย และบรรดาพันธมิตร
๒. บอกปฏิเสธพันธไมตรีซึ่งประเทศไทยได้กระทำกับญี่ปุ่นเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ และบรรดาสนธิสัญญา กติกาสัญญา หรือความตกลงอื่น ๆ ซึ่งได้กระทำไว้ระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น
๓. ยอมรับนับถือว่าเป็นโมฆะ บรรดาการได้มาซึ่งอาณาเขตบริติชที่ประเทศไทยได้กระทำหลังจากวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ และบรรดาหลักสิทธิ สิทธิ ทรัพย์สิน และผลประโยชน์ซึ่งรัฐบาลไทยหรือคนในบังคับไทยได้มาในอาณาเขตดังกล่าวหลังจากวันที่ว่านั้น
ข. กระบวนการใช้คืนและปรับปรุง
๑. จัดกระบวนการทางนิติบัญญัติและทางปกครองตามที่จำเป็น เพื่อให้เป็นผลตามความในมาตรา ก. ข้างบนนี้ รวมทั้งการต่อไปนี้โดยเฉพาะ
(ก) ยกเลิกบรรดากระบวนการทางนิติบัญญัติและทางปกครองเกี่ยวกับการซึ่งนับว่าเป็นการผนวกหรือรวมเข้าในประเทศไทยแห่งอาณาเขตบริติช ซึ่งได้กระทำหลังจากวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑
(ข) ถอนบรรดาเจ้าหน้าที่ทหารไทยตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน หรือฝ่ายทหารผู้มีอำนาจออกจากบรรดาอาณาเขตเช่นว่า กับทั้งบรรดาข้าราชการและคนชาติไทยซึ่งได้เข้าไปในอาณาเขตเหล่านี้หลังจากที่ได้ผนวกหรือรวมเข้าในประเทศไทยแล้ว
(ค) คืนบรรดาทรัพย์สินที่ได้เอาไปจากอาณาเขตเหล่านี้ รวมทั้งเงินตรา เว้นแต่เท่าที่แสดงหลักฐานได้ว่า ได้ให้ค่าอันเป็นธรรมเป็นการแลกเปลี่ยนกันแล้ว
(ง) ให้ค่าทดแทนเพื่อความวินาศหรือความบุบสลายแห่งทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ในอาณาเขตเหล่านี้ อันเกิดขึ้นจากการที่ประเทศไทยยึดครองอาณาเขตเหล่านี้
(จ) ไถ่ถอนเป็นเงินสเตอร์ลิงจากทุนสำรองสเตอร์ลิงที่เคยมีอยู่ ซึ่งธนบัตรไทยที่เดินสะพัดอยู่ อันเจ้าหน้าที่บริติชได้เก็บรวบรวมไว้ในอาณาเขตบริติชที่ประเทศไทยได้ยึดครองภายหลัง วันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑
๒. (ก) จัดการทุกอย่างที่จะกระทำได้ เพื่ออำนวยความอุปการะและบรรเทาทุกข์โดยเร็วให้แก่บรรดาเชลยศึกและผู้ต้องกักคุมบริติช ซึ่งถูกกักคุมอยู่ในประเทศไทยหรืออาณาเขตใด ๆ อันมีนัยว่า ได้ผนวกหรือรวมเข้าในประเทศไทย และโดยฝ่ายไทยออกค่าใช้จ่าย จะจัดให้ได้รับอาหาร เสื้อผ้า การรักษาพยาบาล กับการสุขลักษณะและการขนส่งที่เพียงพอ โดยปรึกษาหารือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารของพันธมิตร
(ข) รับว่าจะทำความตกลงกับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรและรัฐบาลอินเดียเพื่อต่างฝ่ายต่างบำรุงรักษาที่ฝังศพสงคราม
๓. ยอมรับผิดชอบในการพิทักษ์รักษา และคืนในสภาพไม่เสื่อมเสีย บรรดาทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ทุกชนิดของฝ่ายบริติชในประเทศไทย และในการใช้ค่าทดแทนเพื่อความวินาศหรือความบุบสลายที่ได้รับ คำว่า “ทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์” ให้กินความรวมตลอดถึงทรัพย์สินทางราชการของรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรและรัฐบาลอินเดีย ทรัพย์สินที่ได้โอนกรรมสิทธิ์หลังจากสงครามได้อุบัติขึ้น บำนาญที่ให้แก่คนชาติบริติช สต็อกดีบุก ไม้สัก และอื่น ๆ ซึ่งให้ไว้แก่ห้างและเอกชนบริติชก่อนวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ และยังคงสมบูรณ์อยู่ในวันนั้น
๔. เลิกการพิทักษ์ธุรกิจการธนาคารและการพาณิชย์ฝ่ายบริติช และยอมให้กลับดำเนินธุรกิจต่อไป
๕. ยอมรับผิดโดยบวกดอกเบี้ยตามอัตราส่วนร้อยที่สมควรในส่วนการใช้เงินค้างจ่ายเกี่ยวกับเงินกู้และเกี่ยวกับการใช้เงินบำนาญเต็มจำนวน ตั้งแต่วันที่หยุดใช้เงินตามระเบียบ
๖. รับว่า โดยวิธีและในเวลาที่ผู้บัญชาการสูงสุดฝ่ายพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องการ หรือโดยวิธีอื่นใดอันจะเป็นที่พอใจแก่รัฐบาลของสมเด็จพระมหากษัตริย์ จะทำความตกลงฉบับเดียวหรือหลายฉบับ เพื่อให้ครอบคลุมถึงเรื่องต่าง ๆ ทั้งหมด หรือเรื่องหนึ่งเรื่องใดที่ได้ระบุไว้ในภาคผนวกแห่งเอกสารนี้
ค. กระบวนการร่วมมือทางยุทธศาสตร์ภายหลังสงคราม
๑. ยอมรับนับถือว่า กระบวนเหตุการณ์ในสงครามกับญี่ปุ่น แสดงให้เห็นความสำคัญของประเทศไทยเนื่องในการป้องกันมลายา พม่า อินเดีย และอินโดจีน และความมั่นคงของมหาสมุทรอินเดีย และเขตแคว้นทางแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้ และตกลงว่า จะร่วมมือเต็มที่ในบรรดาข้อตกลงเพื่อความมั่นคงระหว่างประเทศ ซึ่งองค์การสหประชาชาติหรือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การนั้นเห็นชอบแล้วและหากจะเกี่ยวเนื่องถึงประเทศไทย และเฉพาะอย่างยิ่งในบรรดาข้อตกลงเพื่อความมั่นคงระหว่างประเทศ ซึ่งหากจะเกี่ยวกับประเทศหรือเขตแคว้นเหล่านั้น
๒. รับว่า จะไม่ตัดคลองข้ามอาณาเขตไทยเชื่อมมหาสมุทรอินเดียกับอ่าวไทย โดยรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรมิได้เห็นพ้องด้วยก่อน
ง. กระบวนการร่วมมือทางเศรษฐกิจภายหลังสงคราม
๑. ตกลงว่า จะจัดกระบวนการทุกอย่างที่จะกระทำได้ เพื่อกลับสถาปนาการค้าขาเข้าและขาออกระหว่างประเทศไทยฝ่ายหนึ่ง กับอาณาเขตบริติชที่ใกล้เคียงอีกฝ่ายหนึ่ง และจะยึดถือและรักษานโยบายฐานเพื่อนบ้านที่ดีในส่วนที่เกี่ยวกับการเดินเรือชายฝั่ง
๒. รับว่า จะเจรจากับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรโดยเร็วที่สุดที่จะกระทำได้เพื่อทำสนธิสัญญาการตั้งถิ่น การพาณิชย์ และการเดินเรือ ฉบับใหม่ และทำอนุสัญญาการกงสุลโดยอาศัยการถ้อยทีถ้อยใช้หลักการในข้อ ๔ ข้างล่างนี้เป็นมูลฐาน
๓. รับว่า จะเจรจากับรัฐบาลอินเดียโดยเร็วที่สุดที่จะกระทำได้ เพื่อทำสนธิสัญญาการพาณิชย์และการเดินเรือฉบับใหม่ โดยอาศัยการถ้อยทีถ้อยใช้หลักการในข้อต่อไปนี้เป็นมูลฐาน
๔. ระหว่างที่ยังไม่ได้ทำสนธิสัญญา และอนุสัญญาดังกล่าวในข้อ ๒ และ ๓ ข้างบนนี้ รับว่าจะถือตามบทบัญญัติแห่งสนธิสัญญาการพาณิชย์และการเดินเรือ ซึ่งลงนามกัน ณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๗ และเว้นไว้แต่ในเรื่องซึ่งสนธิสัญญามีบทบัญญัติไว้โดยจำเพาะเป็นอย่างอื่น (ทั้งนี้อาจมีข้อยกเว้นตามแต่จะได้ตกลงกันระหว่างรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร หรือรัฐบาลอินเดียกับรัฐบาลไทย) รับว่า จะไม่ใช้กระบวนการใด ๆ บังคับอันเป็นการอาศัยเหตุสัญชาติกีดกันผลประโยชน์ทางพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม ฝ่ายบริติช หรือผู้ประกอบวิชาชีพฝ่ายบริติช จากการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจและการค้าของไทย หรือกระบวนการใด ๆ บังคับให้รักษาไว้ซึ่งสต็อกหรือส่วนสำรองเกินกว่าที่ปฏิบัติกันอยู่โดยปกติในการพาณิชย์ การเดินเรือ การอุตสาหกรรม หรือการธุรกิจ แต่ทว่าถ้าไม่ได้ทำสนธิสัญญาและอนุสัญญากันภายในระยะเวลาสามปี คำมั่นสัญญาข้อนี้ก็เป็นอันตกไป เว้นแต่จะได้ยืดเวลาออกไปด้วยความตกลงพร้อมกัน ความในข้อนี้ไม่ให้ถือว่า เป็นการตัดทางที่จะให้ผลปฏิบัติที่ให้ประโยชน์อนุเคราะห์เท่าเทียมกันแก่คนชาติและภาระธุระของสหประชาชาติทั้งหมด หรือแก่ชาติหนึ่งชาติใด
๕. รับว่า จะเจรจาทำความตกลงทางการบินพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับบรรดาสายการเดินอากาศฝ่ายพลเรือนของจักรภพบริติช ซึ่งจะให้ประโยชน์อนุเคราะห์ไม่น้อยกว่าความตกลงฉบับ ค.ศ. ๑๙๓๗ ในส่วนที่เกี่ยวกับอิมพีเรียล แอร์เวย์
๖. รับว่า จะมีส่วนร่วมในข้อตกลงระหว่างประเทศทั่วไปใด ๆ เกี่ยวกับดีบุกและยาง ซึ่งอนุโลมตามหลักการเกี่ยวกับข้อตกลงว่าด้วยโภคภัณฑ์ ตามแต่องค์การสหประชาชาติหรือคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งองค์การนั้นจะได้ตกลงกัน
จ. การยังฐานะของประเทศไทยให้เข้าระเบียบในส่วนที่เกี่ยวกับสนธิสัญญาสองฝ่ายและหลายฝ่าย และสมาชิกภาพของไทยในองค์การระหว่างประเทศ
๑. ตกลงถือว่า ยังคงใช้อยู่ซึ่งบรรดาสนธิสัญญาสองฝ่ายระหว่างสหราชอาณาจักรกับประเทศไทย และระหว่างอินเดียกับประเทศไทย ตามแต่รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรหรือรัฐบาลอินเดียจะได้ระบุ แล้วแต่กรณี ภายใต้บังคับแห่งข้อแก้ไขใด ๆ ที่รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร หรือรัฐบาลอินเดียจะแจ้งให้ทราบ และถือว่าสนธิสัญญาใด ๆ ซึ่งมิได้ระบุไว้ดังกล่าวนั้น เป็นอันเลิกไป
๒. ตกลงถือว่า ยังคงใช้อยู่ระหว่างสหราชอาณาจักรกับประเทศไทยและอินเดียกับประเทศไทย ซึ่งสนธิสัญญา อนุสัญญา หรือความตกลงหลายฝ่าย ซึ่งทำไว้ก่อนวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ (ก) ที่ประเทศไทยและสหราชอาณาจักรหรืออินเดีย แล้วแต่กรณี เป็นภาคีอยู่ในขณะนั้น (ข) ที่ประเทศไทยมิได้เป็นภาคีอยู่ในขณะนั้น แต่หากจะได้ระบุในบัญชีที่จะยื่นให้แก่รัฐบาลไทย อนึ่ง ตกลงด้วยว่าจะสนองตามข้อแก้ไขใด ๆ ในหนังสือสัญญานั้น ซึ่งหากจะบังคับตามข้อกำหนดแห่งตราสารดังกล่าวหลังจากวันที่ว่านั้น
๓. ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับให้เข้าเป็นภาคีแห่งองค์การระหว่างประเทศใด ๆ ซึ่งตั้งขึ้นภายหลังวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๕๔๑ อันเป็นองค์การที่สหราชอาณาจักรหรืออินเดียเป็นสมาชิกอยู่ ตกลงว่า จะปฏิบัติตามข้อผูกพันใด ๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากหรือเนื่องด้วยองค์การนั้น ๆ หรือเอกสารที่จัดตั้งองค์การนั้น ๆ ขึ้นตามแต่รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรหรือรัฐบาลอินเดียแล้วแต่กรณีจะได้ระบุในเวลาใด ๆ
ภาคผนวก
ข้อความที่จะอยู่ในกรอบแห่งความตกลงฉบับเดียวหรือหลายฉบับกับผู้บัญชาการสูงสุดฝ่ายพันธมิตร หรือโดยวิธีอื่น ๆ อันจะเป็นที่พอใจแก่รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรและรัฐบาลอินเดีย
รัฐบาลไทยจะได้ตกลงว่า
๑. จะยอมรับผิดชอบในการพิทักษ์รักษา และคืนในสภาพไม่เสื่อมเสียบรรดาทรัพย์สิน สิทธิและผลประโยชน์ทุกชนิดของฝ่ายพันธมิตรในประเทศไทย และในการใช้ค่าทดแทนเพื่อความวินาศหรือความบุบสลายที่ได้รับ
๒. จะเลิกการพิทักษ์ธุรกิจการธนาคารและการพาณิชย์ฝ่ายพันธมิตรและยอมให้กลับดำเนินธุรกิจต่อไป
๓. จะเอาบรรดาทรัพย์สินของญี่ปุ่นและของศัตรูอื่นไว้ให้พันธมิตรใช้
๔. จะร่วมมือในการจับกุมและชำระบุคคลที่ต้องหาว่าได้กระทำอาชญากรรมสงครามหรือขึ้นชื่อว่าให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นกิจเป็นการแก่ญี่ปุ่น
๕. จะมอบตัวบรรดาผู้ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นผู้ทรยศซึ่งมีสัญชาติพันธมิตรให้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารของพันธมิตร
๖. ตราบเท่าที่จำเป็นในอันที่จะจัดเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการทหารของพันธมิตร ซึ่งเกิดขึ้นจากการระงับสงครามกับญี่ปุ่นให้เสร็จสิ้นไป
(ก) จะให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารของพันธมิตรใช้เมืองท่าและความสะดวกในการไปมาโดยเสรีในและบนอาณาเขตไทยตามแต่จะต้องการ
(ข) โดยไม่คิดมูลค่า จะจัดให้ได้รับบรรดาสัมภาระและแรงงานอื่น ๆ เพื่อใช้ในประเทศไทย และบรรดาเงินตราไทยที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารของพันธมิตรต้องการ
(ค) จะจัดให้สมประสงค์แก่ความต้องการทางปกครองแห่งกองทหารพันธมิตรในประเทศไทยในส่วนที่เกี่ยวกับการกรรมกร การใช้ภาระธุระอุตสาหกรรม และการขนส่งอุปกรณ์การคมนาคมสื่อสาร กำลังไฟฟ้า เชื้อเพลิง และสัมภาระอื่น ๆ ตามที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารของพันธมิตรผู้มีอำนาจจะได้ร้องขอในการปฏิบัติตามภารกิจของตน
(ง) จะเจรจาทำความตกลงให้ความคุ้มกันทางศาลและทางอื่นสำหรับกองทหารของพันธมิตรในประเทศไทย ทำนองเดียวกับบรรดาความตกลงที่ฝ่ายพันธมิตรได้ทำไว้ต่อกันและกันแล้ว
๗. จนกระทั่งวันที่ ๒ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ หรือวันใดก่อนวันดังกล่าวซึ่งจะได้กำหนดในการหยุดการจัดรวมเป็นกองกลางของพันธมิตร จะจัดส่งบรรดาเรือพาณิชย์ของไทยให้สำหรับความต้องการฝ่ายพลเรือนของประเทศไทยก่อน ภายใต้คำอำนวยของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารของพันธมิตรผู้มีอำนาจ
๘. จะควบคุมธนาคารและธุรกิจ การปริวรรตต่างประเทศ และการทำธุรกิจทางพาณิชย์และการคลังกับต่างประเทศตามแต่ฝ่ายพันธมิตรจะต้องการตราบเท่าที่เป็นการจำเป็น เพื่อสำเร็จกิจในการทหาร การเศรษฐกิจ และการคลัง อันเกี่ยวกับฝ่ายพันธมิตร ซึ่งเกิดขึ้นจากการระงับสงครามต่อญี่ปุ่น
๙. จนกระทั่งวันซึ่งจะเป็นวันเดียวหรือต่อวันกันก็ได้ แต่ไม่ช้ากว่าวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๗ รับว่า นอกจากจะได้เป็นไปตามคำแนะนำของคณะกรรมการประสมหรือองค์คณะใด ๆ ที่จะมาทำการแทน และในกรณีข้าว นอกจากจะได้เป็นไปตามคำอำนวยขององค์การพิเศษที่จะจัดตั้งขึ้นเพื่อการนั้นแล้ว จะห้ามบรรดาการส่งข้าว ดีบุก ยาง และไม้สัก ออกนอกประเทศ และจะจัดระเบียบการค้า และเร้าการผลิตโภคภัณฑ์เหล่านี้
๑๐. (ก) โดยเร็วที่สุดที่พอจะกระทำได้ โดยเอาข้าวไว้ให้เพียงพอแก่ความต้องการภายในของไทยแล้ว จะจัดให้มีข้าวสาร ณ กรุงเทพฯ โดยไม่คิดมูลค่า เพื่อให้องค์การที่รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรจะได้แจ้งให้ทราบนั้น ใช้ประโยชน์ได้เป็นปริมาณเท่ากับข้าวส่วนที่เหลือซึ่งสะสมไว้และมีอยู่ในประเทศไทย ณ บัดนี้ แต่ไม่เกินหนึ่งกับกึ่งล้านตันเป็นอย่างมาก จำนวนอันแน่นอนนั้น เจ้าหน้าที่ซึ่งแต่งตั้งขึ้นเพื่อรับมอบข้าวสารจะเป็นผู้กำหนด ข้าวสารนั้นจะได้อนุโลมตามมาตรฐานคุณภาพอันเป็นที่ตกลงกัน ตามที่เจ้าหน้าที่ซึ่งแต่งตั้งขึ้นเพื่อรับมอบข้าวสารจะได้กำหนด ถ้าเป็นที่ตกลงกัน อาจจะรับข้าวเปลือกและข้าวกล้องในปริมาณอันมีค่าเท่ากันแทนข้าวที่สีแล้วก็ได้
(ข) จนกระทั่งวันที่ไม่ช้ากว่าวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๗ จะจัดให้องค์การข้าวดังกล่าว ในข้อ ๙ และ ๑๐ (ก) ใช้ประโยชน์ในข้าวทั้งหมดอันเป็นส่วนที่เหลือจากความต้องการภายในประเทศ ข้าวเช่นว่านี้ นอกจากข้าวที่ส่งมอบโดยไม่คิดมูลค่าตามข้อ ๑๐ (ก) นั้น จะได้ส่งให้โดยวิธีที่องค์การพิเศษดังกล่าวในข้อ ๙ จะได้แจ้งให้ทราบและตามราคาที่กำหนดด้วยความตกลงกับองค์การนั้น ทั้งนี้ โดยคำนึงราคาข้าวที่ควบคุมในเขตแคว้นอื่น ๆ ในเอเชีย ซึ่งส่งข้าวออกนอกประเทศ
(ลายพระหัตถ์ของหม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ ถึงนาย เอ็ม. อี. เดนิ่ง)
สิงคโปร์
วันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๖
ท่านผู้แทน
ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติที่จะตอบรับหนังสือของท่านลงวันนี้ นำส่งสำเนาหัวข้อความตกลงและภาคผนวก ซึ่งจัดวางข้อกำหนดตามที่รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรและรัฐบาลอินเดียพร้อมที่จะเลิกสถานะสงครามกับประเทศไทยแล้ว
ในการตอบข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติที่จะแถลงตามคำสั่งจากรัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมที่จะลงนามโดยไม่ชักช้าในความตกลงสมบูรณ์แบบ ฉบับหนึ่งหรือหลายฉบับตามที่แจ้งไว้ในหนังสือของท่าน และในระหว่างที่ยังมิได้มีการลงนามเช่นว่านั้น รัฐบาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะกระทำการทั้งปวงตามบทบัญญัติเหล่านั้น
รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับทราบด้วยว่า คำว่า “บริติช” ในหัวข้อความตกลงจะได้รับการนิยามไว้ในความตกลงสมบูรณ์แบบฉบับหนึ่งหรือหลายฉบับ ให้รวมถึงบรรดาคนในบังคับและบุคคลในอารักขาบริติช บรรดาอาณาเขตใด ๆ ในอธิปไตย อธิราชย์อารักขา หรืออาณัติของสมเด็จพระจักรพรรดิมหากษัตริย์ และบรรดาคำมั่นสัญญาที่ได้ตั้งขึ้นไว้โดยถูกต้องตามกฎหมายของอาณาเขตใด ๆ เช่นว่านั้นด้วย
ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้แสดงความนับถืออย่างสูงมายังท่าน
(ลงพระนาม) วิวัฒน
ตอนบ่ายมีการลงนามในความตกลงสมบูรณ์แบบระหว่างนายเดนิ่งผู้แทนอังกฤษ และนายอาเนย์ ผู้แทนอินเดียฝ่ายหนึ่ง กับหม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ พลโท พระยาอภัยสงคราม และนายเสริม วินิจฉัยกุล ผู้แทนประเทศไทย มีข้อความละเอียดตามคำแปลเป็นภาษาไทยดังนี้
(คำแปล) ความตกลงสมบูรณ์แบบ
โดยที่ตามประกาศซึ่งได้กระทำ ณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งประเทศไทยได้ประกาศในพระปรมาภิไธยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งประเทศไทยว่า การประกาศสงครามซึ่งประเทศไทยได้กระทำเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๒ ต่อสหราชอาณาจักรเป็นโมฆะ ด้วยเหตุที่ได้กระทำไปโดยขัดกับเจตจำนงของประชาชนชาวไทย และเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและกฎหมายของประเทศไทย และ
โดยที่ในวันเดียวกัน ประกาศลงวันที่ ๑๖ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ ดังกล่าวแล้ว ได้รับความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์จากสภาผู้แทนราษฎรของประเทศไทย และ
โดยที่รัฐบาลไทยได้บอกปฏิเสธพันธไมตรี ซึ่งประเทศไทยได้กระทำกับญี่ปุ่นเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ กับทั้งบรรดาสนธิสัญญา กติกาสัญญา หรือความตกลงอื่น ๆ ซึ่งได้กระทำไว้ระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่น และ
โดยที่รัฐบาลไทยมีความใฝ่ใจที่จะเข้ามีส่วนอย่างเต็มที่ในการบรรเทาผลแห่งสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการดำเนินบรรดากระบวนการอันมีความมุ่งหมายที่จะช่วยเหลือในการกลับสถาปนาความมั่นคงระหว่างประเทศและสวัสดิภาพทางเศรษฐกิจทั่วไป และ
โดยที่รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรและรัฐบาลอินเดียอาศัยข้อคำนึงเนื่องด้วยการกระทำในการบอกปฏิเสธซึ่งรัฐบาลไทยได้ปฏิบัติไปแล้ว และระลึกอยู่ด้วยเหมือนกันถึงความอุปการะที่ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านในประเทศไทยได้อำนวยให้ระหว่างสงครามกับญี่ปุ่น จึงมีความปรารถนาที่จะให้สถานะสงครามสิ้นสุดลงโดยทันที
ฉะนั้น รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรและรัฐบาลอินเดียฝ่ายหนึ่ง กับรัฐบาลไทยอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งมีความปรารถนาที่จะกลับเจริญความสัมพันธ์ทางไมตรีกันสนิทสนมซึ่งมีอยู่ก่อนสงคราม จึงตกลงกระทำความตกลงเพื่อความมุ่งประสงค์ดังกล่าว และเพื่อการนี้ ได้แต่งตั้งผู้มีอำนาจเต็ม คือ
ฝ่ายรัฐบาลสหราชอาณาจักรแห่งบริเตนใหญ่ และไอร์แลนด์เหนือ
นาย เอ็ม. อี. เดนิ่ง, ซี.เอ็ม.จี., โอ.บี.อี.
ฝ่ายรัฐบาลอินดีย
นาย เอ็ม. เอส. อาเนย์
ฝ่ายรัฐบาลไทย
หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์
พลโท พระยาอภัยสงคราม
นายเสริม วินิจฉัยกุล
ผู้ซึ่ง เมื่อได้ส่งหนังสือมอบอำนาจเต็มที่ให้แก่กันและกัน และได้ตรวจเห็นว่าเป็นไปตามแบบที่ดีและถูกต้องแล้ว ได้ทำความตกลงกันดังต่อไปนี้
การใช้คืนและการปรับปรุง
ข้อ หนึ่ง รัฐบาลไทยตกลงว่าจะบอกปฏิเสธบรรดากระบวนการเนื่องจากการประกาศสงครามอันได้กระทำเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๒ ดังกล่าวแล้วข้างต้น และจะจัดกระบวนการทางนิติบัญญัติและทางปกครองที่จำเป็น เพื่อให้เป็นผลแก่การบอกปฏิเสธนั้น
ข้อ สอง รัฐบาลไทยแถลงว่าเป็นโมฆะบรรดาการที่นัยว่าได้มาซึ่งอาณาเขตบริติชที่ประเทศไทยได้กระทำหลังจากวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ กับทั้งบรรดาหลักสิทธิ สิทธิ ทรัพย์สิน และผลประโยชน์ ซึ่งรัฐบาลไทยหรือคนในบังคับไทยได้มาในอาณาเขตดังกล่าวหลังจากวันที่ว่านั้น รัฐบาลไทยตกลงว่า จะจัดกระบวนการทางนิติบัญญัติที่จำดป็น เพื่อให้เป็นผลตามคำแถลงข้างบนนี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง
(ก) จะยกเลิก และแถลงว่าเป็นโมฆะตั้งแต่ต้น บรรดากระบวนการทาง
นิติบัญญัติและทางปกครองเกี่ยวกับการซึ่งนัยว่าเป็นการผนวกหรือรวมเข้าในประเทศไทยแห่งอาณาเขตบริติช ซึ่งได้กระทำหลังจากวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑
(ข) จะถอนบรรดาเจ้าหน้าที่ทหารไทยตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนหรือฝ่ายทหารผู้มีอำนาจออกจากบรรดาอาณาเขตบริติช ตลอดจนบรรดาข้าราชการและคนชาติไทยซึ่งได้เข้าไปในอาณาเขตเหล่านี้หลังจากที่นัยว่าได้ผนวกหรือรวมเข้าในประเทศไทยแล้ว
(ค) จะคืนบรรดาทรัพย์สินที่ได้เอาไปจากอาณาเขตเหล่านี้ รวมทั้งเงินตรา เว้นแต่เท่าที่แสดงหลักฐานได้ว่า ได้ให้ค่าอันเป็นธรรมเป็นการแลกเปลี่ยนกันแล้ว
(ง) จะให้ค่าทดแทนเพื่อความวินาศหรือความบุบสลายแห่งทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ในอาณาเขตเหล่านี้ อันเกิดขึ้นจากการที่ประเทศไทยยึดครองอาณาเขตเหล่านี้
(จ) จะไถ่ถอนเป็นเงินสเตอร์ลิงจากทุนสำรองสเตอร์ลิงที่เคยมีอยู่ซึ่งธนบัตรไทยที่เดินสะพัดอยู่ อันเจ้าหน้าที่บริติชได้เก็บรวบรวมไว้ในอาณาเขตบริติชที่ประเทศไทยได้ยึดครองภายหลังวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑
ข้อ สาม รัฐบาลไทยตกลงว่าจะยอมรับผิดชอบในการพิทักษ์รักษาและคืนในสภาพไม่เสื่อมเสีย บรรดาทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ทุกชนิดของฝ่ายบริติชในประเทศไทย และในการใช้ค่าทดแทนเพื่อความวินาศ หรือความบุบสลายที่ได้รับ คำว่า “ทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์” ให้กินความรวมตลอดถึงทรัพย์สินทางราชการของรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรและรัฐบาลอินเดีย ทรัพย์สินที่ได้โอนกรรมสิทธิหลังจากสงครามได้อุบัติขึ้น บำนาญที่ให้แก่คนชาติบริติช สต็อก ดีบุก ไม้สักและโภคภัณฑ์อื่น ๆ เรือและท่าเทียบ และสัญญาเช่า และสัมปทานเกี่ยวกับดีบุก ไม้สัก และอื่น ๆ ซึ่งให้ไว้แก่ห้างและเอกชนบริติชก่อนวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ และยังสมบูรณ์อยู่ในวันนั้น
ข้อ สี่ รัฐบาลไทยตกลงว่าจะเลิกการพิทักษ์ธุรกิจการธนาคารและการพาณิชย์ฝ่ายบริติช และยอมให้กลับดำเนินธุรกิจต่อไป
ข้อ ห้า รัฐบาลไทยตกลงว่าจะยอมรับผิด โดยบวกดอกเบี้ยตามอัตราส่วนร้อยที่สมควรในส่วนการใช้เงินค้างจ่ายเกี่ยวกับเงินกู้ และเกี่ยวกับการใช้เงินบำนาญเต็มจำนวนตั้งแต่วันที่หยุดใช้เงินตามระเบียบ
ความมั่นคง
ข้อ หก รัฐบาลไทยยอมรับนับถือว่า กระบวนเหตุการณ์ในสงครามกับญี่ปุ่นแสดงให้เห็นความสำคัญของประเทศไทยเนื่องในการป้องกันมลายา พม่า อินเดีย และอินโดจีน และความมั่นคงของมหาสมุทรอินเดียและเขตแคว้นแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้ และรัฐบาลไทยตกลงว่าจะร่วมมือเต็มที่ในบรรดาข้อตกลงเพื่อความมั่นคงระหว่างประเทศ ซึ่งองค์การสหประชาชาติหรือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การนั้นเห็นชอบแล้ว และหากจะเกี่ยวเนื่องถึงประเทศไทยและเฉพาะอย่างยิ่งในบรรดาข้อตกลงเพื่อความมั่นคงระหว่างประเทศ ซึ่งหากจะเกี่ยวกับประเทศหรือเขตแคว้นเหล่านั้น
ข้อ เจ็ด รัฐบาลไทยรับว่าจะไม่ตัดคลองข้ามอาณาเขตไทยเชื่อมมหาสมุทรอินเดียกับอ่าวไทย โดยรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรมิได้เห็นพ้องด้วยก่อน
การร่วมมือทางพาณิชย์และทางเศรษฐกิจ
ข้อ แปด รัฐบาลไทยตกลงว่าจะจัดกระบวนการทุกอย่างที่จะกระทำได้ เพื่อกลับสถาปนาการค้าขาเข้าและขาออกระหว่างประเทศไทยฝ่ายหนึ่ง กับอาณาเขตบริติชที่ใกล้เคียงอีกฝ่ายหนึ่งและจะยึดถือและรักษานโยบายฐานเพื่อนบ้านที่ดีในส่วนที่เกี่ยวกับการเดินเรือชายฝั่ง
ข้อ เก้า รัฐบาลไทยรับว่าจะเจรจากับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรโดยเร็วที่สุดที่จะกระทำได้เพื่อทำสนธิสัญญาการตั้งถิ่นฐาน การพาณิชย์และการเดินเรือฉบับใหม่ และทำอนุสัญญาการกงสุลโดยอาศัยการถ้อยทีถ้อยใช้หลักการในข้อสิบเอ็ดข้างล่างนี้เป็นมูลฐาน
ข้อ สิบ รัฐบาลไทยรับว่าจะเจรจากับรัฐบาลอินเดียโดยเร็วที่สุดที่จะกระทำได้ เพื่อทำสนธิสัญญาการพาณิชย์และการเดินเรือฉบับใหม่ โดยอาศัยการถ้อยทีถ้อยใช้หลักการในข้อต่อไปนี้เป็นมูลฐาน
ข้อ สิบเอ็ด (๑) ระหว่างที่ยังไม่ได้ทำสนธิสัญญาและอนุสัญญาดังกล่าวในข้อเก้าและสิบข้างบนนี้และภายใต้บังคับแห่งวรรค (๒) ของข้อนี้ รัฐบาลไทยรับว่าจะถือตามบทบัญญัติแห่งสนธิสัญญาการพาณิชย์และการเดินเรือ ซึ่งลงนามกัน ณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๗ กับทั้งรับว่านอกจากสนธิสัญญานั้นจะอนุญาตให้กระทำได้โดยชัดแจ้งแล้ว จะไม่ใช้กระบวนการใด ๆ บังคับ อันเป็นการอาศัยเหตุสัญชาติ กีดกันผลประโยชน์ทางพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมฝ่ายบริติชหรือผู้ประกอบวิชาชีพฝ่ายบริติช จากการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจและการค้าของไทย หรือกระบวนการใด ๆ ที่บังคับให้รักษาไว้ซึ่งสต็อกหรือส่วนสำรองเกินกว่าที่ปฏิบัติกันอยู่โดยปรกติในการพาณิชย์ การเดินเรือ การอุตสาหกรรม หรือการธุรกิจ
(๒) คำมั่นสัญญาของรัฐบาลไทยดังกล่าวข้างบนนี้ (ก) ให้มีข้อยกเว้นใด ๆ ได้ ตามแต่จะได้ตกลงกันในเวลาใด ๆ ระหว่างรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร หรือรัฐบาลอินเดีย แล้วแต่กรณีกับรัฐบาลไทย (ข) นอกจากจะได้ยืดเวลาออกไปด้วยความตกลงพร้อมกัน จะเป็นอันตกไป ถ้าหากว่าสนธิสัญญาและอนุสัญญาดังกล่าวในข้อเก้าและสิบไม่ได้กระทำกันภายในกำหนดเวลาสามปี นับแต่วันใช้ความตกลงนี้
(๓) ความในข้อนี้ไม่ให้ถือว่าเป็นการตัดทางที่จะให้ผลปฏิบัติซึ่งให้ประโยชน์อนุเคราะห์เท่าเทียมกันแก่คนชาติ และภาระธุระของสหประชาชาติทั้งหมด หรือแต่ชาติหนึ่งชาติใด
ข้อ สิบสอง การรัฐบาลไทยรับว่าจะมีส่วนร่วมในข้อตกลงระหว่างประเทศทั่วไปใด ๆ เกี่ยวกับดีบุกหรือยาง ซึ่งอนุโลมตามหลักการเกี่ยวกับข้อตกลงว่าด้วยโภคภัณฑ์ตามแต่องค์การสหประชาชาติหรือคณะมนตรีเศรษฐกิจและการสังคมแห่งองค์การนั้นจะได้ตกลงกัน
ข้อ สิบสาม จนกระทั่งวันซึ่งจะเป็นวันเดียวหรือต่างวันกันก็ได้ แต่ไม่ช้ากว่าวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๗ รัฐบาลไทยรับว่า นอกจากจะได้เป็นไปตามคำแนะนำของคณะกรรมการประสม ณ วอชิงตัน หรือองค์คณะใด ๆ ที่จะมาทำการแทน และในกรณีข้าว นอกจากจะได้เป็นไปตามคำอำนวยขององค์การพิเศษที่จะจัดตั้งขึ้นเพื่อการนั้นแล้ว จะห้ามบรรดาการส่งข้าว ดีบุก ยาง และไม้สัก ออกนอกประเทศ และจะจัดระเบียบการค้าและเร่งการผลิตโภคภัณฑ์เหล่านี้
ข้อ สิบสี่ รัฐบาลไทยรับว่า โดยเร็วที่สุดที่พอจะกระทำได้ โดยเอาข้าวไว้ให้เพียงพอแก่ความต้องการภายในของไทยแล้ว จะจัดให้มีข้าวสาร ณ กรุงเทพฯ โดยไม่คิดมูลค่า เพื่อให้องค์การที่รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรจะได้แจ้งให้ทราบนั้นใช้ประโยชน์ได้เป็นปริมาณเท่ากับข้าวส่วนที่เหลือซึ่งสะสมไว้และมีอยู่ในประเทศไทย ณ บัดนี้ แต่ไม่เกินหนึ่งกับกึ่งล้านตันเป็นอย่างมาก หรือจะตกลงกันให้เป็นข้าวเปลือกหรือข้าวกล้องในปริมาณอันมีค่าเท่ากันก็ได้ เป็นที่ตกลงกันว่าจำนวนข้าวสารอันแน่นอนที่จะจัดให้มีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ได้ตามความในข้อนี้นั้น องค์การดังกล่าวข้างต้นจะเป็นผู้กำหนด และข้าวสาร ข้าวเปลือก หรือข้าวกล้องที่ส่งมอบตามความในข้อนี้ จะได้อนุโลมตามมาตรฐานคุณภาพอันเป็นที่ตกลงกันตามที่เจ้าหน้าที่ดังกล่าวจะได้กำหนด
ข้อ สิบห้า จนกระทั่งวันที่ไม่ช้ากว่าวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๗ รัฐบาลไทยตกลงว่าจะจัดให้องค์การข้าวดังกล่าวในข้อสิบสามและข้อสิบสี่ใช้ประโยชน์ในข้าวทั้งหมดอันเป็นส่วนที่เหลือจากความต้องการภายในประเทศไทย ข้าวเช่นว่านี้ นอกจากข้าวที่ส่งมอบโดยไม่คิดมูลค่าตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในข้อสิบสี่นั้น จะได้ให้โดยวิธีการพิเศษดังกล่าวในข้อสิบสามและข้อสิบสี่จะได้แจ้งให้ทราบ และตามราคาที่กำหนดด้วยความตกลงกับองค์การนั้น ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงราคาข้าวที่ควบคุมในเขตแคว้นอื่น ๆ ในเอเชียซึ่งส่งข้าวออกนอกประเทศ
การบินพลเรือน
ข้อ สิบหก รัฐบาลไทยจะให้สายการเดินอากาศฝ่ายพลเรือนแห่งจักรภพประชาชาติบริติชได้รับผลปฏิบัติ โดยความตกลงอันจะได้เจรจากันกับรัฐบาลแห่งสมาชิกของจักรภพประชาชาติบริติชในเรื่องการจัดตั้ง บำรุงรักษา และเดินสายการเดินอากาศเป็นระเบียบประจำ ซึ่งให้ประโยชน์อนุเคราะห์ไม่น้อยกว่าที่ได้ให้แก่ อิมพีเรียล แอร์เวย์ ตามหนังสือที่ได้แลกเปลี่ยนกัน ณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๗
ที่ฝังศพสงคราม
ข้อ สิบเจ็ด รัฐบาลไทยรับว่าจะทำความตกลงกับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรและรัฐบาลอินเดียเพื่อต่างฝ่ายต่างบำรุงรักษาที่ฝังศพสงคราม ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แก่การจัดตั้งถาวรและการดูแลในภายหน้าแห่งที่ฝังศพสงครามของฝ่ายอินเดีย และที่ฝังศพสงครามของฝ่ายไทยในอาณาเขตของแต่ละฝ่าย
ปกิณกะ
ข้อ สิบแปด รัฐบาลไทยตกลงถือว่ายังคงใช้อยู่ซึ่งบรรดาสนธิสัญญาสองฝ่ายระหว่างสหราชอาณาจักรกับประเทศไทย และระหว่างอินเดียกับประเทศไทยตามแต่รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรและรัฐบาลอินเดียจะได้ระบุแล้วแต่กรณีภายใต้บังคับแห่งข้อแก้ไขใด ๆ ที่รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรหรือรัฐบาลอินเดียจะแจ้งให้ทราบ และถือว่าสนธิสัญญาใด ๆ ซึ่งมิได้ระบุไว้ดังกล่าวนั้นเป็นอันยกเลิกไป
ข้อ สิบเก้า รัฐบาลไทยตกลงถือว่ายังคงใช้อยู่ระหว่างสหราชอาณาจักรกับประเทศไทย และระหว่างอินเดียกับประเทศไทย บรรดาสนธิสัญญา และ
อนุสัญญาหรือความตกลงหลายฝ่ายซึ่งทำไว้ก่อนวันที่ วันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ (ก) ที่ประเทศไทยและสหราชอาณาจักรหรืออินเดียแล้วแต่กรณี เป็นภาคีอยู่ในขณะนั้นและยังคงเป็นภาคีอยู่ (ข) ที่สหราชอาณาจักรหรืออินเดียแล้วแต่กรณี เป็นภาคีอยู่ในขณะนั้นและยังคงเป็นภาคีอยู่ แต่ประเทศไทยมิได้เป็นภาคี ทั้งนี้รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรหรือรัฐบาลอินเดียจะได้แจ้งให้รัฐบาลไทยทราบ เมื่อได้รับคำแจ้งความดังกล่าว รัฐบาลไทยจะได้จัดการที่จำเป็นโดยทันทีตามความในสนธิสัญญา อนุสัญญา หรือความตกลงดังกล่าว ซึ่งประเทศไทยมิได้เป็นภาคีผู้ทำสัญญาอยู่นั้น เพื่อเข้าเป็นภาคี หรือถ้าเข้าเป็นภาคีไม่ได้ ก็จะได้ปฏิบัติให้เป็นผลตามบทบัญญัติแห่งหนังสือสัญญานั้น ๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับสหราชอาณาจักร อินเดีย แล้วแต่กรณี โดยวิธีนิติบัญญัติหรือทางปกครองตามแต่จะเหมาะสม รัฐบาลไทยตกลงด้วยว่าจะสนองตามข้อแก้ไขใด ๆ ในหนังสือสัญญานั้น ซึ่งหากจะได้ใช้บังคับ ตามข้อกำหนดแห่งตราสารดังกล่าวหลังจากวันที่ว่านั้น
ข้อ ยี่สิบ ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับให้เข้าเป็นภาคีแห่งองค์การระหว่างประเทศใด ๆ ซึ่งตั้งขึ้นภายหลังวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ อันเป็นองค์การที่สหราชอาณาจักรหรืออินเดียเป็นสมาชิกอยู่ รัฐบาลไทยตกลงว่าจะปฏิบัติตามข้อผูกพันใด ๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากหรือเนื่องด้วยองค์การนั้น ๆ หรือเอกสารที่จัดตั้งองค์การนั้น ๆ ขึ้นตามแต่รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรหรือรัฐบาลอินเดีย แล้วแต่กรณีจะได้ระบุในเวลาใด ๆ
ข้อ ยี่สิบเอ็ด โดยคำนึงถึงคำมั่นสัญญาซึ่งรัฐบาลไทยให้ไว้ข้างบนนี้ รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรและรัฐบาลอินเดียตกลงถือว่าสถานะสงครามเป็นอันสุดสิ้นลง และจะดำเนินการโดยทันทีในอันจะกลับเจริญความสัมพันธ์ทางไมตรีกับประเทศไทย และแลกเปลี่ยนผู้แทนทางการทูตกัน
ข้อ ยี่สิบสอง รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรและรัฐบาลอินเดียรับรองด้วยว่าจะสนับสนุนการที่ประเทศไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกแห่งสหประชาชาติ
วิเคราะห์ศัพท์และวันใช้ความตกลง
ข้อ ยี่สิบสาม ภาคีผู้ทำสัญญานี้ตกลงกันว่า คำว่า “บริติช” ในความตกลงนี้
(๑) เมื่อใช้แก่บุคคลธรรมดา หมายความว่า บรรดาคนในบังคับของสมเด็จพระมหากษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่ ไอร์แลนด์ และอาณาจักรบริติชอันโพ้นทะเลทั้งหลาย จักรพรรดิแห่งอินเดีย ตลอดจนบรรดาบุคคลในอารักขาของสมเด็จพระมหากษัตริย์
(๒) เมื่อใช้แก่อาณาเขต หมายความว่า บรรดาอาณาเขตใด ๆ ในอธิปไตยอธิราชย์อารักขา หรืออาณัติของสมเด็จพระมหากษัตริย์ แล้วแต่กรณี
(๓) เมื่อใช้แก่นิติบุคคล หมายความว่า บรรดานิติบุคคลซึ่งได้รับสถานภาพเช่นนั้นจากกฎหมายที่ใช้อยู่ในอาณาเขตใด ๆ ดังกล่าวแล้ว และ
(๔) เมื่อใช้แก่ทรัพย์สิน สิทธิ หรือผลประโยชน์ หมายความว่าทรัพย์สิน สิทธิ หรือผลประโยชน์ของบุคคลดังระบุไว้ใน (๑) หรือ (๓) ข้างบนนี้ แล้วแต่กรณี
ข้อ ยี่สิบสี่ ความตกลงนี้ให้ใช้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
เพื่อเป็นพยานแก่การนี้ ผู้ลงนามข้างท้ายนี้ได้ลงนามและประทับตราความตกลงนี้ไว้เป็นสำคัญ
ทำควบกันเป็นสามฉบับ เป็นภาษาอังกฤษ ณ สิงคโปร์ เมื่อวันที่หนึ่ง มกราคม คริสต์ศักราช พันเก้าร้อยสี่สิบหก ตรงกับพุทธศักราช สองพันสี่ร้อยแปดสิบเก้า
ฝ่ายบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ
(ลงนาม) เอ็ม. อี. เดนิ่ง
ฝ่ายอินเดีย
(ลงนาม) เอ็ม. เอส. อาเนย์
(ลายมือชื่อนี้ได้ลงไว้ด้วยความตกลงกับผู้แทนของสมเด็จพระราชาธิบดีในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจในความสัมพันธ์กับบรรดารัฐอินเดียน)
ฝ่ายไทย
(ลงพระนาม) วิวัฒน
(ลงนาม) พระยาอภัยสงคราม พลโท
(ลงนาม) ส. วินิจฉัยกุล
ในวันเดียวกัน ยังมีการแลกเปลี่ยนหนังสือระหว่าง พันเอก เอ. เจ. อีสต์แมน ผู้แทนออสเตรเลีย กับคณะผู้แทนไทย กำหนดเงื่อนไขในการเลิกสถานะสงครามระหว่างสองประเทศมีข้อความตามคำแปลภาษาไทยดังนี้
(คำแปล) หนังสือแลกเปลี่ยน
(หนังสือของพันเอก เอ. เจ. อีสต์แมน ทูลหม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์)
สิงคโปร์
วันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๘๖
ท่านผู้แทน
เนื่องจากการเจรจาที่ได้กระทำกันที่ทำเนียบรัฐบาล ณ เมืองสิงคโปร์ เมื่อวันที่ ๑๑ วันที่ ๑๕ วันที่ ๑๙ และวันที่ ๓๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ และความตกลงด้วยวาจาที่เราได้กระทำกัน ในวันทีที่กล่าวหลังที่สุด ข้าพเจ้าใคร่ขอในนามรัฐบาลของจักรภพแห่งออสเตรเลียให้ท่านส่งมอบหนังสือซึ่งท่านและบรรดาผู้แทนที่มีอำนาจเต็มอื่น ๆ ในคณะผู้แทนของท่านได้ลงนามแล้ว ให้แก่ข้าพเจ้าเพื่อยืนยันคำมั่นสัญญาของรัฐบาลแห่งประเทศไทยว่า
๑. จะกระทำการทุกอย่างที่จำเป็นโดยเร็วเพื่อบอกปฏิเสธโดยบริบูรณ์ซึ่งการประกาศสงครามที่ได้ทำต่อบริเตนใหญ่ เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๒ พันธไมตรีกับญี่ปุ่นที่ได้ทำ เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ และบรรดากระบวนการที่มีผลเป็นการเสียหายแก่บริเตนใหญ่ ออสเตรเลียและบรรดาพันธมิตร
๒. เมื่อได้รับคำขอร้องในเวลาใดก่อนวันที่ ๑๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ จะทำสนธิสัญญากับรัฐบาลของจักรภพแห่งออสเตรเลีย
(ก) รับรองว่า รัฐบาลแห่งประเทศไทยได้กระทำการทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อบอกปฏิเสธโดยบริบูรณ์ ซึ่งการประกาศสงครามและพันธไมตรีกับบรรดากระบวนการดังกล่าวแล้วในข้อ ๑ ข้างบนนี้ และ
(ข) ผูกพันรัฐบาลแห่งประเทศไทยให้ (๑) ยอมรับผิดชอบในการรักษาและบำรุงรักษาด้วยดีบรรดาที่ฝังศพสงครามฝ่ายออสเตรเลียในประเทศไทย (๒) ยอมรับผิดชอบในการปฏิบัติตามคำอำนวยแห่งรัฐบาลของจักรภพแห่งออสเตรเลีย ในส่วนที่เกี่ยวกับสวัสดิภาพและผลประโยชน์ของบรรดาผู้มีถิ่นที่อยู่ชาวออสเตรเลีย ซึ่งถูกกักหรือกักคุมในประเทศไทยภายหลังวันที่ ๘ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ (๓) รับจะให้ความช่วยเหลือเต็มที่ในการจับกุมและลงโทษบุคคลที่กระทำความผิดทางอาชญากรสงครามต่อชาวออสเตรเลีย (๔) ยอมรับผิดชอบที่จะใช้ค่าทดแทนแก่รัฐบาลของจักรภาพแห่งออสเตรเลีย และพลเมืองออสเตรเลีย เพื่อบรรดาความวินาศและความบุบสลายที่ได้รับทั้งทางตรงและทางอ้อม ภายหลังวันที่ ๘ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ ในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการที่ไทยได้กระทำนอกประเทศไทย (๕) รับจัดกระบวนการร่วมมือทางภูมิภาคทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ ซึ่งชอบด้วยหลักการแห่งกฎบัตรสหประชาชาติ และมีความมุ่งหมายที่จะจัดประกันความมั่นคงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเขตแคว้นแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้ และ (๖) ปฏิบัติตามบรรดาข้อผูกพันที่ได้ระบุไว้ในความตกลงสมบูรณ์แบบที่ได้กระทำกันวันนี้ระหว่างรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร และรัฐบาลแห่งประเทศอินเดียฝ่ายหนึ่ง กับรัฐบาลแห่งประเทศไทยอีกฝ่ายหนึ่ง (มีสำเนาซึ่งข้าพเจ้าได้ลงอักษรนามไว้แนบมากับหนังสือนี้) เท่าที่รัฐบาลของจักรภพแห่งออสเตรเลียพิจารณาเห็นว่า เป็นอันใช้ได้ในหลักการแก่นโยบายและผลประโยชน์ของออสเตรเลีย และเรียกร้องให้รัฐบาลแห่งประเทศไทยยอมรับปฏิบัติ
สนธิสัญญาดังกล่าวจะได้ผูกพันรัฐบาลของจักรภพแห่งออสเตรเลียให้เลิกสถานะสงคราม ซึ่งมีอยู่ระหว่างออสเตรเลียกับประเทศไทย
ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า ในเมื่อได้กระทำการที่กล่าวในข้อ ๑ ข้างต้นบริบูรณ์ และเมื่อใช้สนธิสัญญาที่กล่าวในข้อ ๒ แล้ว รัฐบาลของจักรภพแห่งออสเตรเลียพร้อมที่จะเลิกสถานะสงครามซึ่งมีอยู่ระหว่างรัฐบาลนั้นกับรัฐบาลแห่งประเทศไทย
ข้าพเจ้าขอแสดงความนับถืออย่างสูงมายังท่าน
(ลงนาม) เอ. เจ. อีสต์แมน
ผู้แทนผู้มีอำนาจเต็มของรัฐบาลจักรภพแห่งออสเตรเลีย
ในการทำข้อตกลงเกี่ยวกับการเลิกสถานะสงครามกับประเทศไทย
(ลายพระหัตถ์ของหม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ ถึงพันเอก เอ. เจ. อีสต์แมน)
สิงคโปร์
วันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๖
ท่านผู้แทน
เราได้รับหนังสือของท่านลงวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๖ แล้ว และขอแจ้งว่าเราได้รับคำสั่งจากรัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้รับรองในนามของรัฐบาลว่า
๑. จะกระทำการทุกอย่างที่จำเป็นโดยเร็วเพื่อบอกปฏิเสธโดยบริบูรณ์ซึ่งการประกาศสงครามที่ได้ทำต่อบริเตนใหญ่ เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๒ พันธไมตรีกับญี่ปุ่นที่ได้ทำ เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ และบรรดากระบวนการที่มีผลเป็นการเสียหายแก่บริเตนใหญ่ ออสเตรเลีย และบรรดาพันธมิตร
๒. เมื่อได้รับคำขอร้องในเวลาใดก่อนวันที่ ๑๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ จะทำสนธิสัญญากับรัฐบาลของจักรภพแห่งออสเตรเลีย
(ก) รับรองว่า รัฐบาลแห่งประเทศไทยได้กระทำการทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อบอกปฏิเสธโดยบริบูรณ์ซึ่งการประกาศสงคราม และพันธไมตรีกับบรรดากระบวนการดังกล่าวแล้วในข้อ ๑ ข้างบนนี้ และ
(ข) ผูกพันรัฐบาลแห่งประเทศไทยให้ (๑) ยอมรับผิดชอบในการรักษาและบำรุงรักษาด้วยดี บรรดาที่ฝังศพสงครามฝ่ายออสเตรเลียในประเทศไทย (๒) ยอมรับผิดชอบในการปฏิบัติตามคำอำนวยแห่งรัฐบาลของจักรภพแห่งออสเตรเลีย ในส่วนที่เกี่ยวกับสวัสดิภาพและผลประโยชน์ของบรรดาผู้มีถิ่นที่อยู่ชาวออสเตรเลีย ซึ่งถูกกักหรือกักคุมในประเทศไทยภายหลังวันที่ ๘ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ (๓) รับจะให้ความช่วยเหลือเต็มที่ในการจับกุมและลงโทษบุคคลที่กระทำความผิดทางอาชญากรรมสงครามต่อชาวออสเตรเลีย (๔) ยอมรับผิดชอบที่จะใช้ค่าทดแทนแก่รัฐบาลของจักรภพแห่งออสเตรเลียและพลเมืองออสเตรเลีย เพื่อบรรดาความวินาศ และความบุบสลายที่ได้รับทั้งทางตรงและทางอ้อมภายหลังวันที่ ๘ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ ในประเทศไทยหรือเนื่องจากกิจการที่ไทยได้กระทำนอกประเทศ (๕) รับจัดกระบวนการร่วมมือทางภูมิภาคทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ ซึ่งชอบด้วยหลักการแห่งกฎบัตรสหประชาชาติ และมีความมุ่งหมายที่จะจัดประกันความมั่นคงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเขตแคว้นแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้ และ (๖) ปฏิบัติตามบรรดาข้อผูกพันที่ได้ระบุไว้ในความตกลงสมบูรณ์แบบที่ได้กระทำกันวันนี้ระหว่างรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรและรัฐบาลแห่งประเทศอินเดียฝ่ายหนึ่งกับรัฐบาลแห่งประเทศไทยอีกฝ่ายหนึ่ง (มีสำเนาซึ่งข้าพเจ้าได้ลงอักษรนามไว้แนบกับหนังสือนี้) เท่าที่รัฐบาลของจักรภพแห่งออสเตรเลียพิจารณาเห็นว่า เป็นอันใช้ได้ในหลักการแก่นโยบายและผลประโยชน์ของออสเตรเลียและเรียกร้องให้รัฐบาลแห่งประเทศไทยยอมรับปฏิบัติ
สนธิสัญญาดังกล่าวจะได้ผูกพันรัฐบาลของจักรภพแห่งออสเตรเลียให้เลิกสถานะสงคราม ซึ่งมีอยู่ระหว่างออสเตรเลียกับประเทศไทย
ในเรื่องนี้เราขอยืนยันว่า รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้กระทำการทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อบอกปฏิเสธการประกาศสงครามและพันธไมตรีที่กล่าวถึงในข้อ ๑ และบรรดาสนธิสัญญา กติกาสัญญา และความตกลงอื่น ๆ ระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นแล้ว และในระยะเวลาระหว่างวันที่ของหนังสือนี้กับวันที่ลงนามสนธิสัญญาที่กล่าวในข้อ ๒ รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ดำเนินการในทันทีเท่าที่จะกระทำได้เพื่อใช้ข้อกำหนดที่บ่งไว้ในข้อนั้นและปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของข้อกำหนดนั้นทุกประการ
รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับทราบว่า ในเมื่อได้กระทำการที่กล่าวในข้อ ๑ ข้างต้นบริบูรณ์ และเมื่อใช้สนธิสัญญาที่กล่าวในข้อ ๒ แล้ว รัฐบาลของจักรภพแห่งออสเตรเลียพร้อมที่จะเลิกสถานะสงครามซึ่งมีอยู่ระหว่างรัฐบาลนั้นกับรัฐบาลแห่งประเทศไทย
(ลงพระนาม) วิวัฒน
(ลงนาม) พระยาอภัยสงคราม
(ลงนาม) ส. วินิจฉัยกุล
ผู้แทนผู้มีอำนาจเต็มของรัฐบาลแห่งประเทศไทยในการทำข้อตกลง
เกี่ยวกับการเลิกสถานะสงคราม ระหว่างออสเตรเลียกับประเทศไทย

หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ และนายเอ็ม. อี. เดนิ่ง (ตรงกลางแถวหน้า) พร้อมทั้งคณะผู้แทนของแต่ละประเทศ ระหว่างเจรจาเลิกสถานะสงคราม
ที่มา: digital.library.tu.ac.th
ภายหลังทีได้ลงนามในเอกสารทั้งสามฉบับดังกล่าวข้างต้นแล้ว คณะผู้แทนไทยเดินทางกลับกรุงเทพฯ เพื่อรายงานผลของการเจรจาให้คณะรัฐมนตรีทราบ คณะรัฐมนตรีมีมติขอบพระทัยหม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ และขอบใจคณะผู้แทนไทยในผลงานที่ได้ปฏิบัติไปทั้ง ๆ ที่มีข้อกำหนดผูกมัดประเทศไทยฝ่ายเดียวหลายข้อหลายประการ ซึ่งเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้เนื่องด้วยสถานะสงครามที่มีอยู่ระหว่างประเทศไทยกับอังกฤษ ออสเตรเลีย และอินเดีย คณะผู้แทนไทยได้พยายามอย่างดีที่สุดแล้ว
ภายหลังที่คณะผู้แทนออกจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไป นายกรัฐมนตรีเสนีย์ ปราโมช เสนอต่อที่ประชุมว่า หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ ทรงเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ผู้ได้รับมอบหมายให้ไปดำเนินการเจรจาอันยากยิ่งคราวนี้ ต้องทรงทนต่อการปฏิบัติอย่างดูแคลนของนายเดนิ่ง โดยมิได้ปริพระโอษฐ์โต้ตอบแต่ประการใด ทรงพยายามเอาอกเอาใจนายเดนิ่งเพื่อให้ผ่อนปรนการเรียกร้องและการคาดคั้นของฝ่ายอังกฤษเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ นับเป็นความดีความชอบซึ่งน่าจะพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ คณะรัฐมนตรีมีมติให้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่สมาชิกทุกคนในคณะผู้แทน เมื่อข้าพเจ้าทราบมติคณะรัฐมนตรีนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกไม่สบายใจในฐานะที่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการพิจารณาความดีความชอบคราวนั้นด้วย ในทันทีภายหลังการประชุม ข้าพเจ้าขอเข้าพบท่านนายกรัฐมนตรีเพื่อกราบเรียนความคิดเห็นของข้าพเจ้าว่า แม้ผลงานของคณะผู้แทนไทยจะเป็นประโยชน์ตกได้แก่ประเทศไทยบ้างในทางที่ได้ลดการเรียกร้องของอังกฤษลงไป และสามารถปกปักรักษาเอกราชอธิปไตยของชาติไว้เท่าที่จะทำได้ แต่หัวข้อความตกลงและความตกลงสมบูรณ์แบบที่ทำนั้น ล้วนมีข้อความสร้างภาระให้แก่ประเทศไทยอย่างหนัก ไม่น่าจะถือเป็นเหตุให้มีการพิจารณาปูนบำเหน็จความชอบให้แก่คณะผู้แทน ข้าพเจ้าตระหนักดีว่า การปฏิบัติของนายเดนิ่งต่อหม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ มีไม่งามหลายสถาน ไม่คู่ควรแก่ความเป็นนักการทูตชั้นสูงของรัฐบาลอังกฤษ แต่เขาทำกับเราในฐานะที่เราเป็นศัตรูแพ้สงคราม เขาย่อมบีบบังคับจะเอาอย่างใจ การที่หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ ทรงทนต่อการทรมานของนายเดนิ่ง ทั้ง ๆ ที่พระองค์ท่านทรงเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ดำรงตำแหน่งสูงในราชการไทย หากจะไม่ได้รับบำเหน็จความชอบในรูปเลื่อนชั้นเครื่องราชอิสริยาภรณ์คราวนี้ ข้าพเจ้าเชื่อเหลือเกินว่าพระองค์ท่านคงไม่ทรงเสียพระทัยอย่างใด โอกาสหน้ายังมีอยู่ ข้าพเจ้าไม่อยากจะให้ประชาชนคนไทยเห็นว่า ผู้ที่มีส่วนร่วมในการไปตกลงรับภาระจำต้องยอมให้แก่ฝ่ายอังกฤษ กลับมารับบำเหน็จความความดีความชอบเป็นการส่วนตัวแต่ละคน ข้าพเจ้าขออภัยที่ตัดสินใจมากราบเรียนท่านนายกรัฐมนตรีเช่นนั้น เนื่องจากข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งที่อยู่ในข่ายจะได้รับประโยชน์จากมติของคณะรัฐมนตรีด้วย
ท่านนายกรัฐมนตรีฟังข้าพเจ้าแล้วแสดงความเห็นด้วย รับว่าท่านไม่ทันได้คำนึงถึงอย่างที่ข้าพเจ้ามอง เมื่อท่านเป็นผู้เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีและได้รับอนุมัติโดยไม่มีผู้ใดขัดข้องแล้ว จะให้ท่านเสนอแก้เปลี่ยนมติเองจะไม่งาม ขอให้ข้าพเจ้าหาทางติดต่อกับรัฐมนตรีผู้อื่นที่คงเห็นด้วยกับข้าพเจ้า เขาอาจจะรับเป็นผู้เสนอขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีในการประชุมครั้งต่อไปได้
ออกจากทำเนียบนายกรัฐมนตรี ข้าพเจ้ารีบไปพบพลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส รองนายกรัฐมนตรี และคุณทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งข้าพเจ้ามีความใกล้ชิดตลอดเวลาที่ทำงานต่อต้านญี่ปุ่น ทั้งสองท่านเห็นพ้องด้วยกับความรู้สึกของข้าพเจ้า ฉะนั้น ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งต่อมา ท่านรองนายกรัฐมนตรียกเรื่องขอให้คณะรัฐมนตรีทบทวนมติ โดยมีคุณทวี บุณยเกตุ เป็นผู้สนับสนุน คณะรัฐมนตรีมีมติให้รอการกราบบังคมทูลขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่คณะผู้แทนไทยไว้ก่อน ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้จารึกขออภัยเพื่อนสมาชิกในคณะผู้แทนไทย ในการที่เป็นต้นเหตุให้มิได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์คราวนั้น นาวาโท หม่อมเจ้าอุทัยเฉลิมลาภ วุฒิชัย ทรงเป็นผู้หนึ่งที่เคยทรงถามข้าพเจ้าว่า คณะรัฐมนตรีมีมติจะขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่คณะผู้แทน แต่เหตุใดเรื่องจึงเงียบไป ข้าพเจ้าไม่กล้าทูลให้ทราบว่า ข้าพเจ้าเองเป็นต้นเหตุแห่งการเงียบไปนั้น ข้าพเจ้ายังเชื่อมั่นอยู่จนทุกวันนี้ว่า ที่ข้าพเจ้าทักท้วงตอนนั้น มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดเลย เพราะถึงอย่างไรทุกคนต่างก็ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เลื่อนชั้นตามเกณฑ์ปกติอยู่แล้ว สำหรับสมาชิกในคณะผู้แทนเมื่อต่างคนต่างได้ประกอบภาระหน้าที่ให้แก่บ้านเมืองอย่างเต็มความสามารถ ก็น่าจะมีความพึงพอใจเป็นบำเหน็จสูงอยู่แล้ว
หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ มิได้ทรงถือโทษโกรธเคืองนายเดนิ่งอย่างใดเลย เมื่อเสร็จการเจรจาแล้ว กลับทรงเชิญให้นายเดนิ่งมาเยือนประเทศไทย ซึ่งนายเดนิ่งตอบรับว่า ก็ดีเหมือนกัน เพราะเขาดูจะแสดงบทบาทเป็นผู้ร้ายสำหรับประเทศไทยมาชั่วระยะเวลาหนึ่ง การไปเยือนประเทศไทยอาจจะปรับความเข้าอกเข้าใจระหว่างไทยกับอังกฤษก็ได้ นายเดนิ่งมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๘ มกราคม พำนักอยู่จนกระทั่งวันที่ ๑๑ จึงเดินทางกลับสิงคโปร์ ฝ่ายไทยให้การต้อนรับเป็นอย่างดี จัดเป็นแขกของรัฐบาล ในวันแรกได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศควบกันไป และคํ่าวันที่ ๘ มีการเลี้ยงรับรองให้เป็นเกียรติที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีผู้แทนออสเตรเลียและอินเดียเข้าร่วมด้วย กลางวันวันรุ่งขึ้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลี้ยงนายเดนิ่งในพระบรมมหาราชวัง ตอนเย็นนายเดนิ่งได้รับเชิญไปรับประทานอาหารกับท่านรัฐบุรุษอาวุโส วันที่ ๑๐ รับประทานอาหารกลางวันกับหม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ แล้วจบกำหนดการเยือนด้วยการรับประทานอาหารคํ่าที่สถานทูตอังกฤษ
นายเดนิ่งโทรเลขรายงานให้กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษทราบว่า ประเทศไทยประสบความยุ่งยากในทางการเมืองและการเศรษฐกิจอยู่ไม่น้อย อัตราค่าครองชีพถีบสูงขึ้น ทำให้ข้าราชการของรัฐที่มิได้รับเงินเดือนเพิ่ม ต้องหาทางแสวงประโยชน์อันมิชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกตำรวจ รัฐบาลเสนีย์เป็นรัฐบาลรักษาการระหว่างที่รอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งเพิ่งจัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ ๖ ก่อนหน้านายเดนิ่งไปถึง ๒ วัน นายเดนิ่งไม่พบนักการเมืองผู้ใดที่มีความกล้าหาญพอรับเข้าแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง ความยุ่งยากทางการเมือง ส่งผลสะท้อนไปถึงการจัดหาข้าวให้แก่อังกฤษตามข้อกำหนดในความตกลงสมบูรณ์แบบ นายเดนิ่งถือโอกาสเน้นความสำคัญในเรื่องนี้ต่อนายกรัฐมนตรี และหม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ บริษัทข้าวไทยจะต้องดูดดึงเอาข้าวมาให้ได้ ฝ่ายไทยให้คำมั่นสัญญาอย่างหนักแน่นแต่นายเดนิ่งยังไม่สู้จะเชื่อถือถ้อยคำของนายกรัฐมนตรีเท่าใดนัก
นายเดนิ่งรายงานด้วยว่า หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ เคยปรารภกับนายดอลล์ว่า เสียดายที่อังกฤษมิได้ยึดครองประเทศไทย และกำหนดมาตรการเข้มงวด เมื่อทัศนาจรกรุงเทพฯ ทางนํ้า นายเดนิ่งทูลองค์ท่านว่า อังกฤษมีส่วนสงวนราชนาวีไทยไว้ให้ ทรงมีรับสั่งตอบว่า น่าเสียดาย เพราะมิฉะนั้นแล้ว จะเป็นทางให้สามารถลดงบประมาณของราชนาวีลงไม่มากก็น้อย นายเดนิ่งอนุมานเอาว่า คนไทยในตำแหน่งหน้าที่รับผิดชอบนิยมโยนความรับผิดไปให้ผู้อื่น นายเดนิ่งสรุปในตอนท้ายของรายงานว่า แม้การรับรองของฝ่ายไทยจะหาตำหนิมิได้ ในใจจริงคนไทยยังเก็บความรู้สึกขุ่นเคืองอยู่ หนังสือพิมพ์ไทยลงข่าวและบทบรรณาธิการต้อนรับดีพอใช้แต่จะเป็นการผิดพลาดหากถือว่าความนิยมชมชอบอังกฤษไม่มีผู้แข่งขัน เพราะมีแนวโน้มมองเห็นเด่นชัดแล้วว่า ไทยกำลังหันไปพึ่งสหรัฐอเมริกามากยิ่งขึ้นทุกที
หากหม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ เคยรับสั่งดังที่ปรากฏในรายงานทางราชการของนายเดนิ่งต่อกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษจริง ก็คงเป็นเพื่อประชดนายเดนิ่ง ผู้บำเพ็ญตนระหว่างการเจรจาอังกฤษ-ไทย เป็นเสมือนหนึ่งจะหํ้าหั่นเฉือนอธิปไตยของชาติไทยลงไปบ้างภายหลังสงคราม
เมื่อสิ้นสุดสถานะสงคราม อังกฤษพร้อมที่จะกลับคืนสู่ความสัมพันธ์ฉันมิตรกับประเทศไทยอย่างเดิมตามสหรัฐอเมริกาซึ่งปรารถนามานาน หากต้องรั้งรอมาเนื่องงจากเกรงใจอังกฤษในฐานเพื่อนพันธมิตร นายโยสต์และนายเบิร์ดได้รับแต่งตั้งเป็นอุปทูตของทั้งสองประเทศประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ ๕ มกราคม นายเจฟฟรีย์ ทอมสัน ได้รับแต่งตั้งเป็นอัครราชทูตอังกฤษเข้าถวายพระราชสาส์นตราตั้งเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๔๘๙ และนายเอ็ดวิน สแตนตัน เป็นอัครราชทูตอเมริกันในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน ทั้งสองท่านนี้ต่อมาได้มีการตกลงกันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอังกฤษและอเมริกันยกสถานะเป็นเอกอัครราชทูตในเดือนมีนาคม ๒๔๙๐
ทางอินเดียได้ตั้งให้นาย เอ็ม. เอส. อาเนย์ เป็นอุปทูต จนกระทั่งนายดายาลเข้ารับตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตคนแรกประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๔๙๑
ส่วนทางออสเตรเลียนั้นได้ตกลงเปิดสถานกงสุลใหญ่ประจำประเทศไทยตามความตกลงสันติภาพฉบับที่สุดลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๔๘๙ โดยได้ส่งพันเอก เอ. เจ. อีสต์แมน มาดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ ทางฝ่ายไทยเห็นว่า การตั้งกงสุลจะมีอำนาจจำกัด ตั้งทูตจะดีกว่า จะได้ปฏิบัติงานได้กว้างขวางรวมทั้งงานกงสุลและงานดูแลนักเรียน ไทยเสนอความดำรินี้ต่อออสเตรเลียมาแต่ปี ๒๔๙๐ หากทางออสเตรเลียอ้างว่ายังขาดบุคคลที่ได้รับการอบรมทางการทูตเพียงพอ ประกอบกับยังมีเรื่องการชดใช้ความเสียหายอันเกิดจากสงครามซึ่งยังค้างการพิจารณาอยู่ น่าจะรอให้สำเร็จเสร็จสิ้นเรียบร้อยก่อน
ต่อมาเมื่อกันยายน ๒๔๙๐ เมื่อพันเอก อีสต์แมนจะเดินทางกลับออสเตรเลียชั่วคราว ฝ่ายไทยขอให้ยกเรื่องขึ้นพูดกับ ดร.เอวัตต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายนอก แต่ ดร.เอวัตต์ต้องบินออกไปกรุงวอชิงตันเสียก่อนที่พันเอก อีสต์แมนจะได้มีโอกาสพูด หากได้ปรารภกับปลัดกระทรวง ปลัดกระทรวงยอมให้พันเอกอีสต์แมนตอบไทยว่าไม่ขัดข้องที่ไทยจะมีกงสุลใหญ่ ฝ่ายไทยจึงสั่งให้เอกอัครราชทูตณ กรุงวอชิงตัน พูดกับเอกอัครราชทูตออสเตรเลียอีกทางหนึ่ง
เดือนกันยายน ๒๔๙๐ ไทยยกเรื่องขึ้นเจรจากับข้าหลวงใหญ่ออสเตรเลียที่กรุงลอนดอนอีกทางหนึ่ง โดยอ้างว่าจะเป็นไปตามที่ไทยทำกับอินเดีย พม่า และฟิลิปปินส์ และทางออสเตรเลียเองก็ยอมให้ประเทศเล็ก ๆ อาทิ เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดนมีสถานทูตประจำออสเตรเลียได้ ฝ่ายออสเตรเลียก็เบี่ยงบ่ายเรื่อยมาจนเดือนเมษายน ๒๔๙๔ กงสุลใหญ่ออสเตรเลียจึงแจ้งความประสงค์ของออสเตรเลียจะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย คราวนี้เป็นโอกาสให้ฝ่ายไทยรั้งรอการตอบตกลงบ้างจนวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๙๔ จึงได้ตอบตกลงยอมแต่งตั้งทูตประจำต่อกัน
หมายเหตุ :
- กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศแล้ว
- ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล, เรื่อง “การเจรจาเลิกสถานะสงคราม”, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕ (กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ๒๕๖๖), น. 335-389.
บรรณานุกรม :
- ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล, เรื่อง “การเจรจาเลิกสถานะสงคราม”, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕ (กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ๒๕๖๖), น. 335-389.
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 1 : สงครามโลกครั้งแรก
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 2 : สงครามโลกครั้งที่ ๒
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 3 : วิเทโศบายของไทย
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 4 : การเรียกร้องดินแดนคืน
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 5 : การรักษาความเป็นกลางของประเทศไทย
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 6 : ประเทศไทยเข้าสงครามข้างญี่ปุ่น
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 7 : ผลกระเทือนของการร่วมมือกับญี่ปุ่น
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 8 : สองปีในญี่ปุ่น ภาค 1 การต่างประเทศไทย หลัง ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯ
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 8 : สองปีในประเทศญี่ปุ่น ภาค 2 ภารกิจหลังการตั้งกระทรวงกิจการมหาเอเชียบูรพา
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 9 : ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นภายในประเทศไทย
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 10 : เสรีไทยเข้าประเทศไทย
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 11 : ท่าทีของอังกฤษต่อประเทศไทย
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 12 : ความคลี่คลายของเหตุการณ์ภายในประเทศไทย
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 13 : ความพยายามติดต่อทางการเมืองกับอังกฤษ
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 14 : นายสุนี เทพรักษา
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 15 : การกระชับงานต่อต้าน
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 16 : อวสานของสงครามภาคแปซิฟิก
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 17 : ไทยประกาศสันติภาพ
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 18 : การทำข้อตกลงทางทหารกับฝ่ายสหประชาชาติ
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 19 : ท่านทูตเสนีย์ ปราโมช เดินทางกลับประเทศไทย
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 20 : การเสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนคร
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 21 : กำลังทหารบริติชเข้าประเทศไทย
- กนต์ธีร์ ศุภมงคล
- การวิเทโศบายของไทย
- 80 ปีวันสันติภาพไทย
- สงครามโลกครั้งที่สอง
- ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
- หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์
- พระยาอภัยสงคราม
- ส.วินิจฉัยกุล
- เอ็ม. อี. เดนิ่ง
- เอ็ม. เอส. อาเนย์
- เอ. เจ. อีสต์แมน
- การเจรจาเลิกสถานะสงครามระหว่างไทยกับอังกฤษ
- ข้อตกลงเกี่ยวกับการเลิกสถานะสงครามระหว่างไทยกับอังกฤษ
- เมืองแคนดี