ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

บทบาทของเสรีไทยสตรีสายอังกฤษ

24
สิงหาคม
2563

เมื่อกองทัพญี่ปุ่นยาตราเข้าประเทศไทย เพื่อขอผ่านไปประเทศพม่า และรัฐบาลไทยขณะนั้นยอมเข้าข้างญี่ปุ่นแต่โดยดี เพราะมหามิตรมีพลังมากกว่า เกรงว่าบ้านเมืองและประชาชนชาวไทยจะย่อยยับและล้มตายมากมายถ้าหากสู้รบกับกองทัพญี่ปุ่น เหมือนเหล่าทหารกล้าและลูกเสือที่รับมือหน่วยทหารญี่ปุ่นที่ขึ้นบกที่หาดสงขลา ปัตตานี นครศรีธรรมราช ประจวบคีรีขันธ์ และแม้แต่บางปู ด้วยความกล้าหาญ จนกระทั่งได้รับคําสั่งให้หยุดรบ 

คนไทยในต่างแดน ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศอังกฤษหรือสหรัฐอเมริกา ต่างก็มีเลือดรักชาติเต็มตัว และต้องการขับไล่กองทัพญี่ปุ่นให้พ้นดินแดนไทย จึงสมัครเข้าเป็นเสรีไทย นักเรียนไทยในอังกฤษเหลือไม่มากแล้ว เพราะประเทศอังกฤษเข้าสู่สงครามในภาคพื้นยุโรปมาหลายปีแล้ว นักเรียนไทยจํานวนหนึ่งจึงเดินทางกลับประเทศไทยไปบ้างแล้ว  เมื่อประเทศไทยประกาศสงครามกับอังกฤษ ยิ่งมีนักเรียนอีกจํานวนหนึ่งกลับบ้านเมืองพร้อมคณะท่านทูต ฉะนั้น จึงมีนักเรียนไทยและข้าราชการสถานทูตจํานวนไม่มากที่มีความรักชาติอย่างแรงกล้าเข้าลงชื่อสมัครเป็นเสรีไทย 

ดังได้กล่าวมาแล้ว เสรีไทยในอังกฤษมีจํานวนไม่มากนัก ยิ่งสตรียิ่งมีน้อยเข้าไปใหญ่ แต่ทุกคนก็สมัครเข้าร่วมขบวนการด้วยจิตใจแน่วแน่ ดังมี รายพระนามและนาม ดังนี้ 

  1. สมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7
  2. หม่อมเจ้าผ่องผัสมณี (สวัสดิวัตน์) จักรพันธุ์ 
  3. หม่อมเสมอ สวัสดิวัตน ณ อยุธยา 
  4. คุณสุภาพ (รักตประจิต) ยศสุนทร 
  5. คุณบุปผา (แต้สุจิ) บุรี 
  6. คุณอนงค์ แต้สุจิ 

 

พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช, ม.จ.การวิก จักรพันธุ์, ป๋วย อึ๊งภากรณ์, ม.จ.ผ่องผัสมณี สวัสดิวัตน์, ม.จ.กอกษัตริย์ สวัสดิวัตน์, กำแหง พลางกูร, สำราญ วรรณพฤกษ์
พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช, ม.จ.การวิก จักรพันธุ์, ป๋วย อึ๊งภากรณ์, ม.จ.ผ่องผัสมณี สวัสดิวัตน์, ม.จ.กอกษัตริย์ สวัสดิวัตน์, กำแหง พลางกูร, สำราญ วรรณพฤกษ์

 

หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ซึ่งเป็นข้าฯ ในพระองค์ในสมเด็จพระรําไพพรรณีฯ ได้บันทึกไว้ในหนังสือชีวประวัติของท่านว่า 

“ทางคณะเสรีไทยยินดีรับผมเป็นสมาชิก…. ก่อนหน้านั้น ผมได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระอนุญาตจากสมเด็จพระบรมราชินี ก็โปรดเกล้าฯ พระราชทาน และรับสั่งว่า ‘ไปรบเถอะ ถ้าฉันเป็นผู้ชายก็จะสมัครกับเขาเหมือนกัน แต่นี่เป็นผู้หญิง ก็จะอยู่ที่นี่ ไม่ต้องเป็นห่วง ไปรบตามหน้าที่เถอะ’ ” 

สมเด็จพระบรมราชินี หม่อมเจ้าผ่องผัสมณีฯ และหม่อมเสมอฯ อยู่กันตามลําพังผู้หญิงและเด็ก เสด็จและไปลอนดอนโดยทางรถไฟ สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ฝ่าระเบิดจากเครื่องบินเยอรมัน เพื่อไปช่วยงานอาสาสมัครของกาชาดสากล เช่น พับสําลี และห่อของส่งให้เชลยศึก  นอกจากนั้น ได้เคยเห็นรูปถ่ายของหม่อมเสมอฯ เดินเรี่ยไรเงินช่วยทหารหาญในวันควีนอเล็กซานดรา (เหมือนวันทหารผ่านศึกของไทย)

คุณบุปผา และคุณอนงค์ แต้สุจิ สองพี่น้อง เป็นนักเรียนพยาบาล จึงรับหน้าที่เป็นพยาบาลในโรงพยาบาล สําหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการโจมตีทางอากาศ นับว่าเป็นงานที่หนักและเสี่ยงภัยไม่น้อยกว่าทหารเสรีไทยที่ปฏิบัติการในขบวนการลับในประเทศไทย 

ส่วนคุณสุภาพ (รักประจิต) ยศสุนทร ในระยะแรกทําหน้าที่เลขานุการให้ คุณมณี สาณะเสน ผู้แทนหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจํากรุงวอชิงตัน ผู้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา ให้มาช่วยจัดตั้งขบวนการเสรีไทยในอังกฤษ ต่อมา คุณสุภาพฯ ได้เดินทางไปกรุงนิวเดลีทำงานด้านวิทยุกระจายเสียง และมีผลงานดีเด่นในด้านสงครามจิตวิทยา

ขออนุญาตยกข้อเขียนของ คุณทศ พันธุมเสน ที่กล่าวถึงคุณสุภาพฯ สักเล็กน้อย

“ผมเห็นว่า ท่านชิ้น และป๋วย ทำผิดพลาดที่ไม่เสนอให้สุภาพเข้ากลุ่มช้างเผือก” (กลุ่มช้างเผือก คือ ผู้ฝึกการรบอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเข้าปฏิบัติการลับในประเทศไทย)

“สุภาพเป็นหญิงไทยใจเด็ด ผมเชื่อว่า สุภาพจะปฏิบัติงานของกลุ่มช้างเผือกได้ดีกว่าผู้ชายหลายคน รวมทั้งตัวผมเอง … น่าเสียดายนักหนาที่สุภาพไม่ได้รับใช้ชาติ เช่น ย่ามุก ย่าจัน และย่าโม”

 

คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร (คนกลาง) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร (คนกลาง) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

 

ที่มา: ม.ร.ว.สายสิงห์ สิริบุตร, “บทบาทของเสรีไทยสตรีสายอังกฤษ,” ใน 62 ปี วันสันติภาพไทย 16 สิงหาคม 2550, น. 19-21.