ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ทัศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย

18
กันยายน
2563

การบ่มเพาะ การสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตย  (Democratic Society) หรือทําให้ทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตยของปรีดีฯ เกิดขึ้นได้จริงนั้น จําเป็นต้องให้สมาชิกในสังคม/พลเมือง มีความต้องการร่วมกัน มีศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะนําพาสังคมนั้น ๆ ไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย

ดังที่ John Stuart Mill ได้กล่าวไว้ว่า “ก่อนที่ประชาธิปไตยจะมีขึ้นได้นั้น พลเมืองในประเทศจะต้องมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะปกครองตนเองเสียก่อน ความปรารถนานี้ สะท้อนทัศนคติที่ว่า ประชาธิปไตยเป็นของดีและสมควรจะทําให้เกิดมีขึ้น”

อย่างไรก็ดี หากมองย้อนกลับทบทวนสภาพของสังคมไทย เราคงต้องยอมรับว่า บริบทของสังคมไทยในหลาย ๆ ประการยังคงไปไม่ถึงสังคมที่เป็นประชาธิปไตยได้ อันเนื่องมาจากหลาย ๆ ทัศนคติ หลาย ๆ สาเหตุที่เราต่างก็ยอมรับกัน เช่น

วัฒนธรรมทางการเมืองแบบอํานาจนิยม (Authoritative political culture) โดยวัฒนธรรมการเมืองแบบอํานาจนิยมนี้ เป็นลักษณะแนวโน้มที่สมาชิกในสังคมต่างเห็นว่า “อํานาจคือความถูกต้อง” กล่าวคือ กลุ่มคนที่มีสถานะอํานาจทางเศรษฐกิจและทางการเมืองเป็นผู้ที่ถูกต้องเสมอ ได้รับการยกย่องเชิดชูและจําเป็นที่ผู้อยู่ในลําดับชั้นต่ํากว่าก็จะต้องปฏิบัติตาม เคารพเชื่อฟัง และเกรงกลัวต่อกลุ่มอภิสิทธิ์ชนเหล่านั้น

ระบบความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ (Patronage system) เป็นวัฒนธรรมที่สําคัญอย่างหนึ่งของสังคมไทย กล่าวคือ เป็นระบบวัฒนธรรมความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยฝ่ายหนึ่งยอมรับอิทธิพลและความคุ้มครองของฝ่ายที่มีอํานาจเหนือกว่า เช่น เด็กกับผู้ใหญ่ ผู้ที่มีตําแหน่งสูงกว่ากับผู้มีตําแหน่งต่ํากว่า ผู้ที่มีอาวุโสกว่ากับผู้ที่มีอาวุโสน้อยกว่า โดยความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์นี้ ดํารงอยู่ได้ในสังคมไทย โดยเฉพาะได้รับการเกื้อหนุนด้วยหลักธรรมเรื่องความกตัญญูกตเวที การตอบแทนบุญคุณ และความเชื่อเรื่องบุญกรรม โดยสะท้อนผ่านวัฒนธรรมอื่น ๆ เช่น วัฒนธรรมการให้ของขวัญ วัฒนธรรมวงศาคณาญาติ เป็นต้น

“มนุษย์ทุกคนซึ่งก็เหมือนกับผู้ปกครองทุกคน ต่างก็คิดถึงผลประโยชน์ส่วนของตน ของครอบครัว และของเพื่อนตน มนุษย์มีแนวโน้มของธรรมชาติที่จะให้ผลประโยชน์ส่วนตนมาก่อนผลประโยชน์ส่วนรวม ในระบอบประชาธิปไตย ผู้ปกครองที่โกงกันหรือมักใหญ่ใฝ่สูง สามารถฉกฉวยผลประโยชน์ต่าง ๆ ได้อย่างมหาศาลจากการทรยศ หรือจากสงครามกลางเมือง แต่เขาจะได้ประโยชน์น้อยมากจากความสมบูรณ์พูนสุขของสาธารณชน”

Thomas Hobbes

ดังนั้น การเสริมสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตย จําเป็นต้องพิจารณาถึงเงื่อนไขหรือแนวทางทางสังคมอยู่หลายประการ  ประการหนึ่ง นอกจากจะปฏิรูปเปลี่ยนแปลง โครงสร้างทางการเมือง การใช้อํานาจทางการเมือง ผ่านองค์กรทางการเมืองโดยการออกแบบรัฐธรรมนูญแล้ว การสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตยผ่านการเสริมสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สําคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการออกแบบรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งการมีวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตยจะมีความสําคัญยิ่งที่ทําให้เกิดสังคมที่เป็นประชาธิปไตยเป็นจริงขึ้นมาได้

แน่นอนว่า “เครื่องมือ” ที่สําคัญที่จะทําให้วัฒนธรรมประชาธิปไตยแผ่ขยายไปอย่างกว้างขวางในสังคมจนพัฒนาเป็น จิตวิญญาณประชาธิปไตย เป็นปทัสถานที่เป็นประชาธิปไตยได้ ก็จําต้องอาศัยการขัดเกลาทางสังคม (Socialization) และการกล่อมเกลาเรียนรู้ทางการเมือง (Political Socialization) โดยกระบวนการกล่อมเกลาทางการเมืองนี้ ถือได้ว่าเป็นตัวกลางที่เชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมกับมนุษย์ กล่าวคือ เป็นการดึงเอาวัฒนธรรมเข้าไปมีส่วนหรือมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ หรือเป็นการขัดเกลาทางสังคมที่มีผลต่อพฤติกรรมทางการเมืองด้วย การกล่อมเกลาทางการเมืองเป็นกระบวนการที่สําคัญที่ทําให้บุคคลในสังคมได้รู้จักเรียนรู้แบบแผนพฤติกรรมและอุปนิสัยในทางที่เกี่ยวเนื่องกับทางการเมืองโดยผ่านสื่อกลาง รวมถึงสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ทางสังคมที่ดํารงอยู่ เช่น ครอบครัว กลุ่มเพื่อนฝูง โรงเรียน สมาคม และสื่อสารมวลชนในรูปแบบต่าง ๆ[1]

สร้างทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตย/สร้างสังคมประชาธิปไตยอย่างไร จากใคร ? คงเป็นคําถามหลักที่เกิดขึ้นว่า ณ วันนี้ เราจะเป็นส่วนหนึ่งในการทําให้ทัศนะที่เป็นประชาธิปไตย สังคมประชาธิปไตยเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่อย่างไร

แน่นอนว่า สิ่งที่สําคัญที่สุด เพื่อให้ทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นได้จริงในสังคมไทย จําเป็นต้องให้สมาชิกในสังคม สามารถเข้าถึง “ปัญญาญาณ” ของประชาธิปไตยด้วยจิตใจตนเอง โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้และขัดเกลาทางสังคม ผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ที่แท้จริง และตั้งคําถามกับสิ่งที่เรารับรู้และถูกกําหนดให้รู้โดยผู้มีอํานาจในสังคมต้องการว่า นั่นเป็นทัศนะที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมประชาธิปไตยหรือไม่ โดยพิเคราะห์ว่า ทัศนะนั้นสามารถทําให้สมาชิกในสังคมได้ ตระหนักรู้ถึง “คุณค่า” ของความเป็นสังคมประชาธิปไตยที่ว่า อํานาจเป็นของประชาชนทุกคน เราทุกคนเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน เราต่างเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ต้องมีสิทธิหน้าที่ความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน เรายึดถือกฎกติกาเป็นใหญ่ ไม่ใช่คนเป็นใหญ่ และการใช้อํานาจต่าง ๆ ที่ไปกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของคนในสังคม ต้องมีอํานาจโดยชอบธรรมและสามารถตรวจสอบได้

ดังนั้น เมื่อทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตย เริ่มจากความคิดประชาธิปไตยที่สามารถเข้าสู่จิตใจของคนในสังคมได้แล้ว ก็จะส่งผลให้เกิดพฤติกรรม การปฏิบัติหรือการแสดงออกที่ยึดมั่น สอดคล้องและส่งเสริม ให้สังคมมีความเป็นประชาธิปไตยขึ้นได้ด้วยเช่นเดียวกัน

อาจกล่าวได้ว่า การเข้าถึง “ทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตย” ตามแนวความคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปรีดีฯ จึงไม่ได้หมายความถึงความเข้าใจของบุคคลที่ผ่านคําอธิบายความหมายของประชาธิปไตยตามหลักการตัวอักษร จากนักคิดนักปรัชญาหรือในตําราเรียนเท่านั้น หากแต่ยังหมายความลึกลงไปถึงการสร้างความตระหนักรู้และสํานึกในคุณค่าของประชาธิปไตยที่มีต่อบุคคลและสังคมขึ้นมาจากภายในจิตใจของตนเอง โดยผ่านกระบวนการคิดอย่างแท้จริง การวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งและรอบด้าน ถึงขนาดเรียกได้ว่า ความคิดและการกระทําได้บรรจบเข้าด้วยกันอย่างเป็นเอกภาพในตัวบุคคลนั้น ๆ นับเป็นการใช้เสรีภาพทางความคิดและการใช้เสรีภาพนี้เอง ย่อมเป็นสิ่งยืนยันศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้อย่างเต็มความหมาย และนี่เองจึงอธิบายได้ว่า เหตุใด ปรีดีฯ จึงใช้ภาษาละติน Animi Cultura อธิบายถึงทัศนะทางสังคมที่มีลักษณะเป็นจิตใจที่เกิดขึ้นหรือเพาะขึ้นจากปัจจัยภายนอก และบุคคลได้ใช้เป็นหลักนําในการปฏิบัติหรือตัดสินใจในเรื่องราวต่าง ๆ อีกนัยหนึ่ง เป็นกระบวนการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยขึ้นในทางสังคมให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยทางการเมืองด้วยอีกประการหนึ่ง[2]

เมื่อพิเคราะห์แล้ว การสร้างทัศนะที่เป็นประชาธิปไตย หาได้ยากไม่เท่ากับการ “สมาทาน” ความเป็นประชาธิปไตยอยู่ในการดําเนินชีวิตของเราในทุก ๆ วันไม่ ตัวอย่างเช่น แนวคิดเรื่องปัจเจกชนนิยม (Individualism) ที่ว่า คนแต่ละคนต่างมีคุณค่าในตัวเอง มีเสรีภาพในการตัดสินใจ ในการเลือกของตน (Freedom of Choice) มีความเป็นอิสระชน ที่สามารถพึ่งตนเอง รับผิดชอบตนเองได้ และไม่ยอมตกอยู่ในภายใต้อิทธิพลอำนาจ หรือภายใต้ระบบอุปถัมภ์ของผู้ใด ผ่านการยึดถือปฏิบัติโดย...

(1) “เคารพความแตกต่างหลากหลายและเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง” ภายใต้สังคมที่เป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ เราแต่ละคนจึงมีสิทธิเสรีภาพได้ จึงจําเป็นต้องยอมรับความหลากหลายของสมาชิกในสังคมว่า ไม่ว่าจะมีอาชีพ วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ความเชื่อทางศาสนาหรือความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน ก็เป็นเรื่องปกติและไม่นํามาซึ่งความแตกแยก ความรุนแรงของคนในสังคม เราก็จะต้อง “เคารพ” ต่อความแตกต่างหลากหลายนั้นเพื่อให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้

หากเมื่อมองย้อนกลับมาที่สังคมไทยทุกวันนี้ เราก็จะเห็นสภาพของการที่เมื่อไรมีคนที่คิดเห็นต่างจากเรา เราก็จะผลักคนนั้นออกจากพวกของเราและชี้นิ้วว่า เขาเป็นคนเลว ไม่รักชาติ ไม่เป็นคนไทย ฯลฯ อีกมากมาย ซึ่งเป็นการขัดต่อทัศนะที่เป็นประชาธิปไตย  นั่นเพราะโดยแท้จริงแล้ว ทัศนะที่เป็นประชาธิปไตย/วัฒนธรรมประชาธิปไตยเรียกร้องให้เราเคารพซึ่งกันและกันในความคิดที่แตกต่างและอดทนอดกลั้นที่จะฟังกันและกัน นั่นคือ “หลักความยุติธรรมตามธรรมชาติ” (audi altera partem) คือ การรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น เพราะแน่นอนว่า ไม่มีใครคิดเหมือนกันไปทั้งหมด หากเราอยากให้ใครเคารพเราอย่างไร เราก็ควรจะให้เกียรติและเคารพคนอื่น แน่นอนว่า เรามีสิทธิที่จะพูดเท่า ๆ กับที่มีหน้าที่จะต้องฟังคนอื่น สังคมประชาธิปไตยเป็นการฝึกให้เรารู้จักมองจากมุมและจากใจของคนอื่นเท่า ๆ กับที่เรามองจากมุมของตนเอง

การเคารพความแตกต่างหลากหลายและความคิดเห็นที่แตกต่าง ย่อมทําให้เข้าใจว่า ความขัดแย้งนั้นเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย แน่นอนว่า เราไม่สามารถบังคับใครให้คิดและทําเหมือนกันได้หมด นั่นไม่ใช่สังคมประชาธิปไตย เราจําเป็นต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ความขัดแย้งทั้งหลาย ความไม่เห็นพ้องต้องกันในสังคมประชาธิปไตย ไม่ใช่เกิดขึ้นระหว่างถูกหรือผิด (clear-cut/ right-wrong) แต่เพียงอย่างเดียว แต่มันเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้จากมุมมองของแต่ละคนที่ตีความและมองประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ของปัจเจกชนหรือประโยชน์ของตนอย่างไร ที่ต้องทําให้สมาชิกในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยจําต้องเรียนรู้ที่จะอดทนอดกลั้น และโต้แย้งด้วยเหตุและผลอย่างสันติ ไม่ใช้ความรุนแรงต่อคนที่เห็นต่างจากเรา เพราะเราไม่มีสิทธิไปทําร้ายใคร เพราะเขาคิดเห็นไม่เหมือนเรา และนั่นจึงทําให้เราต้องเรียนรู้ยอมรับที่จะอยู่ในโลกนี้ที่มีความแตกต่างหลากหลายแบบนี้ให้ได้

(2) “เห็นคนเท่ากัน” ภายใต้สังคมที่เป็นประชาธิปไตย มนุษย์ทุกคนต่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน เพราะประชาธิปไตย คือ การปกครองที่อํานาจสูงสุดในประเทศเป็นของประชาชนทุกคน แน่นอนว่า สภาพทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา เพศสภาพ เชื้อชาติ ลักษณะภายนอกทําให้เรามีความแตกต่างกัน แต่เราทุกคนก็มีความเสมอภาค ศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์เท่า ๆ กัน การเห็นคนเท่ากัน จึงเป็นการเห็นคนในแนวระนาบเดียวกัน ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากสังคมลักษณะแนวดิ่ง เป็นสังคมที่เป็นแบบอํานาจนิยมในระบอบเผด็จการหรือสังคมระบบอุปถัมภ์ที่ประชาชนไม่เสมอภาค ไม่เท่าเทียมกัน ไม่มีอิสระเสรี มีคนที่อยู่สูงกว่าและมีคนที่อยู่ต่ํากว่า โดยคนที่อยู่สูงกว่าก็จะดูถูกเหยียดหยามคนที่อยู่ต่ำกว่า แต่หากการเห็นคนเท่ากันในสังคมประชาธิปไตย จึงเป็นการที่ตระหนักถึงว่า เราทุก ๆ คนต่างมีหน้าที่ในสังคมที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะมีอาชีพอะไร มีฐานะอย่างไร มีระดับการศึกษาอย่างไร เราทุก ๆ คนเป็นคนเท่ากันที่มีคุณค่า และรวมกันประกอบสร้างเป็นสังคม ดังนั้น การสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยง่าย ๆ โดยเริ่มปฏิบัติจากการที่เลิกดูถูกคนอื่นโดยมองเพียงแค่จากฐานะทางเศรษฐกิจ การศึกษา หรือเพศสภาพแต่เพียงอย่างเดียว เพราะทุก ๆ คนในสังคมต่างมีสิทธิ์มีเสียงและเป็นเจ้าของอํานาจอธิปไตยอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกัน

(3) “รับผิดชอบต่อประโยชน์สาธารณะร่วมกัน” (Public spirit / Common interest / Public interest) ความรับผิดชอบต่อส่วนรวมย่อมเกิดขึ้นจากสํานึกของสมาชิกในสังคม ที่ว่าเราทุกคนต่างเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน ดังนั้น การใช้ประโยชน์จากสาธารณสมบัติร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติ เงินภาษีประชาชน พื้นที่สาธารณะ ต่างก็ต้องเคารพความเป็นเจ้าของของคนอื่น ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน การสร้างวัฒนธรรมที่เคารพการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน เช่น ทางเดินเท้า ทางสาธารณะที่เราทุกคนต่างเป็นเจ้าของร่วมกัน เราเคารพกฎกติกามารยาทของการใช้ถนนร่วมกันไหม เราติดเครื่องยนต์ขณะอยู่ในที่จอดรถไหม เราทิ้งขยะสิ่งของลงทางสาธารณะแม่น้ําลําคลองไหม เรามีการเคารพการใช้พื้นที่สาธารณะบนสื่อสาธารณะและสื่อออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ อย่างไม่สร้างสรรค์สร้างให้เกิดความเกลียดชังหรือไม่ เป็นต้น

นอกจากนี้ ความรับผิดชอบต่อประโยชน์สาธารณะร่วมกันยังสามารถยึดถือปฏิบัติได้ผ่านหลักแนวคิดเรื่อง “ภราดรภาพนิยม” ด้วยเช่นกัน

แนวคิดเรื่องภราดรภาพนิยมเป็นแนวคิดที่ปรีดีฯ ได้นํามาใช้ในงานเค้าโครงการเศรษฐกิจที่นําเสนอในช่วงปี พ.ศ. 2476 เป็นสิ่งที่น่าสนใจและต้องให้ความสําคัญยิ่งในฐานะที่เป็นหนึ่งในแนวทางปฏิบัติที่จะสามารถนําพาสังคมไปสู่สังคมที่เป็นประชาธิปไตยได้ กล่าวคือ แนวคิดเรื่องภราดรภาพนิยม เป็น แนวคิดพื้นฐานที่มีรากฐานมาจากเรื่อง “dette sociale” หนี้ทางสังคม (พันธะทางสังคมต่อกัน) ที่คนในสังคมต่างมีสัดมีส่วน มีสิทธิมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน โดยรัฐจะต้องทําหน้าที่บังคับตามกฎหมายเพื่อให้ทุก ๆ คนเคารพต่อพันธะหน้าที่ต่อกัน นอกจากนี้ ทฤษฎีเรื่อง “quasi-contract” สัญญาร่วมในทางกฎหมายแพ่ง ก็เป็นหนึ่งในแนวคิดพื้นฐานของภราดรภาพนิยมเช่นกัน

แนวคิดเรื่องภราดรภาพนิยมเป็นแนวคิดที่ก่อให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกันของคนหลาย ๆ คน เป็นความเชื่อมโยง ความสัมพันธ์ของความเป็นพี่น้อง ของเพื่อนมนุษย์กับคนอื่น ๆ ในการทําหน้าที่ให้ความช่วยเหลือในความโชคร้าย ความเสี่ยงภัยอันตรายของคนอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น ภราดรภาพนิยมเป็นการต่อสู้กับกระแสโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้น รวมถึงสู้กับความเป็นทุนนิยม แต่ขณะเดียวกัน ภราดรภาพนิยมก็เป็นแนวคิดที่เติมเต็ม เสรีนิยม มาร์กซิสต์ และสังคมนิยม มันอยู่ตรงกลางของหลาย ๆ แนวคิด โดยมีหน้าที่เพื่อสร้างความสมดุลให้กับสังคม แนวคิดเรื่องภราดรภาพนิยมถูกนํามาใช้ในการกําหนดนโยบายของหลายประเทศ โดยผ่านการกําหนดนโยบาย การออกกฎหมาย หลาย ๆ ด้าน ผ่านรูปแบบนโยบายของ “รัฐสวัสดิการ” นั่นเอง

สิ่งที่เห็นได้ชัดของการนําแนวคิดเรื่องภราดรภาพนิยมมาปรับใช้อยู่ในสังคมอื่น ๆ เช่น ในกฎหมายปกครอง ที่เราเรียกว่า “responsabilité sans faute” ความรับผิดของรัฐโดยปราศจากความผิด และ “justice Sociale” ความยุติธรรมทางสังคม

ความรับผิดของรัฐโดยปราศจากความผิดเป็นการขยายความรับผิดของรัฐที่จากเดิม รัฐ หรือฝ่ายปกครองเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นโดยที่รัฐหรือฝ่ายปกครองไม่ได้เป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหาย รัฐหรือฝ่ายปกครองก็ไม่ต้องรับผิด แต่ต่อมา เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป อาจเกิดเหตุการณ์ความเสียหายที่ไม่ได้เป็นความผิดของผู้ใดเลย เช่น ความเสียหายที่เกิดจากงานโยธาสาธารณะ ถนนยุบ เป็นหลุมบ่อ วัตถุอันตราย ความเสียหายทางการแพทย์ หรือเหตุการณ์ทางภัยพิบัติ แนวคิดเรื่องภราดรภาพนิยมจึงเป็นรากฐานของความคิดที่ว่า เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นโดยไม่ได้เป็นความรับผิดของผู้ใด แต่จําเป็นต้องมีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ได้รับความเสียหาย ผู้ประสบภัย รัฐก็จะเข้ามาทําหน้าที่ในการชดเชยให้ เพราะการที่รัฐชดเชยให้ก็เท่ากับว่า พวกเราในสังคมทุก ๆ คนต่างรับผิดในเหตุการณ์นั้น ๆ ร่วมกัน

นอกจากนี้ แนวคิดเรื่องภราดรภาพนิยมก็ถูกนํามาใช้ ในเรื่อง “Justice Sociale” การสร้างความยุติธรรมทางสังคม เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลและรับผิดชอบร่วมกันต่อคุณภาพในการใช้ชีวิตของคนในสังคม ผ่านนโยบายที่สําคัญมาก คือ เรื่อง “รัฐสวัสดิการ” โดยเป็นการมอบความช่วยเหลือให้กับผู้อื่นในสังคมที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไปให้ได้มีคุณภาพในการใช้ชีวิตได้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือจากรัฐในเรื่องการศึกษา ที่อยู่อาศัย สาธารณสุข ขนส่ง สาธารณะ ครอบครัว หรือไปตลอดจนการเข้าถึงวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ เพื่อให้คนในสังคมได้มีคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานในลักษณะที่ใกล้เคียงกันมากที่สุด ผ่านวิธีการของการเก็บภาษีด้านต่าง ๆ ซึ่งการเก็บภาษีลักษณะเฉพาะนี้เอง ไม่ว่าจะเป็นภาษีมรดก หรือภาษีที่ดิน ก็ล้วนแล้วแต่สามารถอธิบายถึงความจําเป็นได้ โดยผ่านแนวคิดภราดรภาพนิยม เพราะการที่เรามีทรัพย์สินเงินทองเพิ่มมากขึ้น เรามีที่ดินที่วันหนึ่งมันมีมูลค่าสูงขึ้น นั่นไม่เฉพาะแต่เราที่ทําให้ทรัพย์สินเงินทองมันงอกเงย หรือทําให้มูลค่าที่ดินสูงขึ้นเองในท้องตลาด แต่คนในสังคมต่างหากที่มีส่วนทําให้ทรัพย์สินเรา ที่ดินเรา มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ การพัฒนาที่ดินรอบ ๆ ที่ดินของเรา ก็ล้วนแล้วแต่ทำให้ทรัพย์สินนั้นมันมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น จึงไม่เป็นการแปลกแต่อย่างใดเลย เมื่อมีการถือครองทรัพย์สินที่คนอื่น ๆ ในสังคมทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เราก็จำเป็นที่จะต้องตอบแทนสังคม หรือคนเหล่านั้นผ่านในรูปแบบของภาษีนั่นเอง

อาจกล่าวได้ว่า แนวคิดเรื่องภราดรภาพนิยมนั้นไม่เคยเหือดแห้งไปจากจิตใจมนุษย์ นอกจากนี้ เรากลับพบว่ามีสิ่งที่เป็นแก่น เป็นใจกลางของแนวคิดเรื่องภราดรภาพนิยม คือ “การหยิบยื่นความเป็นมนุษย์ ให้แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน” โดยที่เป็นการให้ที่ไม่ได้หมายถึงแต่แค่ทรัพย์สินเงินทอง แต่เป็นทรัพย์สินที่ติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิด นั่นคือ “ชีวิต” “เสรีภาพ” “เสมอภาค” “ความเท่าเทียม” “ความมั่นคงของชีวิต” ที่ทำให้เราเห็นคนเป็นคน ที่ทำให้เราต้องเคารพต่อผู้อื่น และที่ทำให้คนเท่ากันนั่นเอง

 

ที่มา: วรรณภา ติระสังขะ. สังคมที่เป็นประชาธิปไตย: คุณค่า ความหวัง. ปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ประจำปี พ.ศ. 2559 ซึ่งวางจำหน่ายแล้วที่  https://shop.pridi.or.th/th/product/645041/product-645041

 

[1] Kenneth P. Langton. Political Socialization (Oxford University Press, 1969).

[2] ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล “แนวคิดว่าด้วยประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปรีดี พนมยงค์” จากงานเสวนาเรื่อง “เค้าโครงเศรษฐกิจกับประชาธิปไตยสมบูรณ์” เนื่องในวันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2556 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์.