ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ประชาธิปไตยสมบูรณ์ ของปรีดี พนมยงค์

17
กันยายน
2563

สรุป

  • ประชาธิปไตยสมบูรณ์เป็นความคิดของนายปรีดี พนมยงค์ ประกอบไปด้วยประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยทางการเมือง ทัศนะสังคมและวัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตย
  • ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ คือ ระบบเศรษฐกิจที่คนส่วนใหญ่ไม่ตกเป็นทาสหรือถูกครอบงำโดยคนส่วนน้อย และเป็นระบบที่ผู้ทำมากได้รับผลมาก และผู้ทำน้อยได้ผลน้อย โดยมีช่องว่างและความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ไม่มากนัก
  • ประชาธิปไตยทางการเมือง คือ การที่ราษฎรมีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่จัดสรรอำนาจอธิปไตยออกเป็นโครงสร้างต่างๆ มุ่งเน้นการจำกัดอำนาจของกลุ่มผู้ปกครองมิให้ใช้อำนาจไม่ถูกต้อง หรือละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคลอื่น
  • ทัศนะทางสังคมและวัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตย คือ ความคิดและจิตใที่เห็นประโยน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตยทางการเมือง
  • ประชาธิปไตยสมบูรณ์ปร:กอบด้วยประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจเป็นรากฐาน โดยมีประชาธิปไตยทางการเมืองและทัศนะสังคมและวัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตยสอดคล้องกับเศรฐกิจ

 

เมื่อได้ทำการทบทวนถึงแนวคิดการสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว พบว่า มีผลงานความคิดหรือภูมิปัญญาที่สําคัญของปรีดี พนมยงค์ ที่ได้ปรากฏอยู่ในงานเขียน บทความ บทสัมภาษณ์ และปาฐกถาจํานวนหลายชิ้น ต่างกรรมต่างวาระ ที่ได้มีการกล่าวถึง “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” ไว้อย่างน่าสนใจ อีกทั้งยังสอดรับกับประเด็นการสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ข้าพเจ้าจึงอยากจะหยิบยกประเด็นเรื่องประชาธิปไตยสมบูรณ์ มากล่าวไว้ ณ ที่นี้

 

1.

ข้อเขียนเรื่อง พิเคราะห์ศัพท์ “สังคม” “มนุษยสังคม” “ชาติ” “ประชาชาติ” “ปิตุภูมิ” “มาตุภูมิ” “รัฐ”[1] ได้มีการกล่าวถึงประเด็นขององค์ประกอบสําคัญของสังคม มนุษยชาติ โดยมีเนื้อหาที่สําคัญคือ ในสังคมของมนุษยชาติ นั้นประกอบด้วย

(1) เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นรากฐานของสังคม

(2) การเมือง เป็นโครงสร้างเบื้องบนจากรากฐานซึ่งสามารถสะท้อนไปยังรากฐานเศรษฐกิจ อํานวยให้เศรษฐกิจดําเนินการผลิตของสังคม

(3) ทรรศนะทางสังคม เป็น “จิตใจที่เกิดขึ้นหรือเพาะขึ้น” (Animi Cultura) จากระบบเศรษฐกิจที่เป็นรากฐานและจากระบบการเมืองที่เป็นโครงสร้างเบื้องบน เป็นหลักนำจิตใจของมนุษย์ในสังคมให้ปฏิบัติ

 

2.

ปาฐกถาในการชุมนุมสนทนาที่สามัคคีสมาคม (สมาคมนักเรียนไทย) ประเทศอังกฤษ วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม 2516 เรื่อง อนาคตของประเทศไทยควรดำเนินไปในรูปแบบใด[2] ได้กล่าวถึงประเด็นที่เป็นสาระสำคัญของประชาธิปไตยสมบูรณ์

ปรีดีฯ ได้เน้นย้ําให้เห็นว่าสังคมใด ๆ นั้น ย่อมประกอบด้วยระบบเศรษฐกิจ การเมือง และทัศนะสังคม ด้วยเหตุที่ว่านี้ การมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์จึงต้องประกอบด้วย ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยทางการเมือง และทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตยซึ่งเป็น “หลักนําทางจิตใจ”

สําหรับความสัมพันธ์เชื่อมโยงขององค์ประกอบทั้ง 3 ข้างต้น ปรีดีฯ เห็นว่า การมีระบบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นั้น ทุกองค์ประกอบจะต้องถูกขับเคลื่อนควบคู่กันไปเพื่อให้ระบบการเมืองและระบบสังคมได้ดุลยภาพในทุกมิติ กล่าวคือ การมีระบบประชาธิปไตยทางการเมืองนั้นจําเป็นต้องตั้งอยู่บนฐานของระบบประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เพื่อไม่ให้กระบวนการต่าง ๆ ทางการเมือง เช่น การเลือกตั้ง ฯลฯ ตกอยู่ภายใต้ผู้กุมอํานาจในทางเศรษฐกิจ ในทิศทางตรงกันข้าม การมีประชาธิปไตยทางการเมือง แต่ขาดซึ่งประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจนั้น ย่อมทำให้อำนาจทางการเมืองตกอยู่ภายใต้บงการของผู้กุมอํานาจในทางเศรษฐกิจ โดยลักษณะที่ว่านี้ สะท้อนได้ดีผ่าน กระบวนการเลือกตั้ง

เมื่อพิจารณาความหมายของระบบประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจในทัศนะของปรีดีฯ นั้นหาใช่หมายถึงระบบที่มีวิธีการริบทรัพย์สินเงินทองของทุกคนสังคมมาแบ่งเฉลี่ยเท่า ๆ กันไม่ หากแต่ย่อมหมายถึงระบบที่ราษฎรส่วนมากของสังคมต้องไม่ตกเป็นทาสของคนจํานวนน้อยที่อาศัยอํานาจผูกขาดทางเศรษฐกิจ และราษฎรทั้งปวงจะต้องร่วมมือกันฉันพี่น้องออกแรงกาย แรงสมอง ตามความสามารถเพื่อผลิตสิ่งอุปโภค บริโภคให้สมบูรณ์ และทุกคนจะต้องได้รับผลตอบแทนอย่างเป็นธรรมตามส่วนแรงงานที่ตนได้กระทําไป

ในส่วนระบบประชาธิปไตยทางการเมืองนั้น ปรีดีฯ เห็นว่ามีความเกี่ยวข้องกับระบบอํานาจรัฐที่ราษฎรมีสิทธิในการใช้อํานาจเหล่านั้นมากน้อยเพียงใดซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ เกี่ยวข้องโดยตรงกับรัฐธรรมนูญในการจัดสรรปันส่วนอํานาจ การออกแบบโครงสร้าง และกระบวนการต่าง ๆ ในทางการเมือง

สําหรับมิติสุดท้าย คือ ทัศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ในความเห็นของปรีดีฯ นั้นมองว่าระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ซึ่งประกอบด้วย ประชาธิปไตยทางการเมือง ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ จะต้องถูกขับเคลื่อน และผลักดันด้วยทัศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตยของราษฎรที่ได้ยึดถือเป็นหลักนําในการดําเนินกิจกรรมทางสังคม อธิบายได้ คือ ถ้าหากผู้ใดต้องการระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ ยึดถือทัศนะทางสังคมที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเป็นหลักนํา ก็ย่อมส่งผลให้สังคมการเมืองไม่สามารถจะเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้

แต่อย่างไรก็ตาม สําหรับปรีดีฯ แล้ว อะไรคือทัศนะประชาธิปไตยทางสังคมนั้น ก็ยังคงเป็นปัญหาที่จะต้องพิจารณาศึกษาค้นคว้าทั้งทางทฤษฎี และทางปฏิบัติกันต่อไป ซึ่งย่อมพิสูจน์จากผลแห่งการดําเนินทัศนะที่ยึดถือ ถ้าทัศนะนั้นนําไปสู่การปฏิบัติที่บังเกิดผลให้สังคมมีระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ หรือระบบประชาธิปไตยทางการเมืองเป็นเบื้องต้นแล้ว ทัศนะนั้นก็อยู่ในจําพวกประชาธิปไตย ถ้าไม่บังเกิดผลดังกล่าวก็สมควรวิเคราะห์พิจารณาว่า ทัศนะนั้นขัดต่อความเป็นประชาธิปไตย และเป็นทัศนะที่สนับสนุนให้ระบบที่มิใช่ประชาธิปไตยดํารงคงอยู่ตราบเท่าที่ทัศนะนั้นยังมีอิทธิพลอยู่ในสังคม

 

3.

ปาฐกถาเรื่อง จะมีทางได้ประชาธิปไตยโดยสันติวิธีหรือไม่ ในงานสมาคมนักเรียนไทยในสหพันธรัฐเยอรมัน[3] โดยปรีดีฯ ได้กล่าวถึงประเด็นในเรื่องเงื่อนไขในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบประชาธิปไตยโดยสันติวิธี บทเรียนจากประวัติศาสตร์ยุโรป โดยมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยสมบูรณ์ว่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบประชาธิปไตยโดยสันติวิธีในบริบทของประวัติศาสตร์ยุโรปนั้น พบว่า มีเงื่อนไขที่สําคัญ 2 ประการ คือ

ประการแรก เงื่อนไขฝ่ายราษฎรที่ตกทุกข์ได้ยากพร้อมที่จะรับการเปลี่ยนทุกข์โดยระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตกและมีกองหน้าเป็นขบวนนํา มีทัศนคติประชาธิปไตยยึดถือเป็นหลักนําการปฏิบัติของตน เพราะถ้าเพียงแต่คิดว่าอยากได้ ระบบประชาธิปไตยแต่ยึดถือทัศนะล้าหลังที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย สุดท้ายการเปลี่ยนแปลงเช่นว่านั้นก็จะวกไปสู่ความไม่เป็นประชาธิปไตย

ประการที่สอง เงื่อนไขฝ่ายผู้คุมอํานาจเศรษฐกิจ/การเมือง และผู้คุมอํานาจทางจิตใจของมวลราษฎรว่า จะพร้อมเสียสละผลประโยชน์ของตนให้แก่มวลประชาราษฎรได้มี ระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตกหรือไม่ เพื่อให้ระบบนั้นสมานกับพลังการผลิตที่พัฒนาขึ้นเพื่อเปลื้องทุกข์ของมวลราษฎร

 

4.

บทความเรื่อง จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม[4] โดยได้มีการกล่าวถึงการพิทักษ์รักษาเจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ มีเนื้อหาที่สามารถ สรุปสําคัญ ๆ ได้ดังนี้

ประการแรก ปรีดีฯ เน้นย้ําให้เห็นว่าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ตั้งแต่ยุคโบราณเป็นต้นมา แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจเป็นรากฐานสําคัญของสังคม ส่วนระบบการเมืองเป็นแต่เพียงโครงสร้างเบื้องบนที่จะต้องสมานกับความต้องการทางเศรษฐกิจของมวลมนุษย์ในสังคม ทั้งนี้ หากรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายแม่บทสอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจ วิกฤติการณ์ทางสังคมก็จะไม่เกิดขึ้น และประเทศชาติก็จะดำเนินก้าวหน้าไปตามวิถีทางวิวัฒน์ (Evolution) อย่างสันติ ในทางกลับกัน หากรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจของสังคม วิกฤติการณ์ก็ต้องเกิดขึ้นตามกฎธรรมชาติแห่งข้อขัดแย้งระหว่าง 2 สิ่งที่เป็นปฏิปักษ์กัน

ประการที่สอง ปรีดีฯ ได้เน้นย้ําให้ตระหนักว่าการได้มาซึ่งระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้น ทุกคนจะต้องยึดถือทัศนะให้มั่นคงบนรากฐานแห่งทัศนะประชาธิปไตยสมบูรณ์ บุคคลใดยึดถือทัศนะถึงประชาธิปไตย ก็จะได้เพียงระบบกึ่งประชาธิปไตย บุคคลใดยึดถือทัศนะที่ตกค้างมาจากระบบทาสก็จะได้เพียงระบบการปกครองเยี่ยงระบบทาส และท้ายที่สุด จะเป็นกําลังเกื้อกูลให้ระบบเผด็จการที่ปกครองสังคมเยี่ยงทาสกลับฟื้นขึ้นมาดังในอดีตของมนุษยชาติ

ประการสุดท้าย ปรีดีฯ ได้วิเคราะห์ถึงปัญหาความแตกแยกภายในคณะราษฎร และคณะอื่น ๆ ที่ปรากฏในประวัติศาสตร์อันนําไปสู่การไม่สามารถรักษาไว้ซึ่งชัยชนะ ทางการเมืองเอาไว้ได้ รวมทั้งไม่สามารถพัฒนาให้เป็นระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้ ด้วยบทเรียนที่ว่านั้น ปรีดีฯ จึงเตือนสติไว้ดังนี้

“สิ่งที่จะช่วยให้พรรคหรือศูนย์ฯ ดำรงคงอยู่ได้ แม้มีข้อขัดแย้งภายในอันเป็นไปตามกฎธรรมชาตินั้น คือ การยึดมั่นในทัศนคติประชาธิปไตยสมบูรณ์ เป็นหลักนําในการบรรลุถึงซึ่งเจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ อันเป็นสัมมาทิฐิ และการหมั่นสํารวจตนเองอยู่เนืองนิตย์เพื่อแก้ไขความผิดพลาด และหลงผิดของตนเอง และช่วยเพื่อนให้แก้ไข”

 

5.

บทความเรื่อง ความเป็นอนิจจังของสังคม[5] ได้มีการอภิปรายถึงประเด็นมนุษยสังคม ในบทที่ 5 สมุฏฐานของมนุษย์และมนุษยสังคม

ปรีดีฯ ได้อุปมาอุปไมยร่างกายมนุษย์กับมนุษยสังคม โดยเห็นว่า สังขารของมนุษย์นั้นย่อมประกอบด้วยร่างกายและจิตใจ สําหรับจิตใจของมนุษย์นั้นเป็นความคิดที่เกิดขึ้นจากความเคลื่อนไหวแห่งอวัยวะสมองอันเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ไม่มีร่างกาย ก็ไม่มีความคิดหรือจิตใจขึ้นมาได้

สําหรับมนุษยสังคมนั้น ปรีดีฯ เห็นว่า มนุษยสังคมก็มีกายาพยพ หรือนัยหนึ่ง ร่างกายสังคม ก็คือ สถาบันต่าง ๆ อันประกอบเป็นระบบของสังคม ทรรศนะทางสังคม หรือนัยหนึ่ง จิตใจทางสังคมก็เกิดจากกายาพยพของสังคม กล่าวคือ ร่างกายของสังคม คือ สถาบันทางสังคม ส่วนจิตใจทางสังคม คือ ทรรศนะทางสังคม

นอกจากนี้ในบทที่ 8 ที่ว่าด้วยทรรศนะทางสังคม ปรีดีฯ ได้ชี้ให้เห็นว่า ทรรศนะทางสังคมของมนุษย์นั้นเกิดขึ้นมาจากรากฐานแห่งสภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัย กล่าวคือ ในสังคมโบราณ (ระบบปฐมสหการและสังคมกิจ-สังคมนิยม) มนุษย์ก็มีทรรศนะในทางช่วยเหลือร่วมมือกันฉันพี่น้อง มิได้มีความคิดกดขี่หรือเบียดเบียนระหว่างกัน

สําหรับในระบบทาส ระบบศักดินา (และระบบธนานุภาพ) ซึ่งสมาชิกในสังคมมีฐานะและวิถีดํารงชีพที่แตกต่างกัน โดยสมาชิกในสังคมจําพวกหนึ่งมีอํานาจใช้สมาชิกในสังคมอีกจําพวกหนึ่งให้ทํางานเพื่อตน สมาชิกในสังคมก็จะมีทรรศนะแตกต่างกันตามจําพวกหรือวรรณะ กล่าวคือ พวกขี่ครอง (มีอํานาจ) ก็จะมีทรรศนะที่จะรักษาการขี่ครองของจําพวกตนไว้ และหาทางที่จะใช้วิธีขี่ครองให้ได้ประโยชน์มากที่สุด ในทางตรงกันข้าม วรรณะที่ถูกขี่ครองก็มีทรรศนะที่ต้องการหลุดพ้น

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สําคัญคือ “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” (หัวเลี้ยวหัวต่อ) จากระบบเก่าไปสู่ระบบใหม่ มีความเป็นไปได้ว่า บุคคลในวรรณะเก่าบางคนอาจมีทรรศนะก้าวหน้า และคนในวรรณะใหม่บางคนมีทรรศนะถอยหลัง

ดังนั้น ทรรศนะทางสังคมจึงมีเพื่อ

(1) ใช้รักษาจารีตและฟื้นระบบเก่าทั้งระบบหรือส่วนใดส่วนหนึ่ง และ

(2) ใช้พัฒนาระบบใหม่ โดยทรรศนะทั้งสองนี้ ปะทะกันอยู่ในการนําวิถีแห่งความเคลื่อนไหวของสังคม

 

6.

สุนทรพจน์ ของ นายปรีดี พนมยงค์ แสดงในสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 7 พฤษภาคม 2489[6] ได้มีการกล่าวถึงประเด็นเรื่องระบอบประชาธิปไตย โดยมีข้อความที่น่าสนใจ ดังนี้

“ระบอบประชาธิปไตยนั้น เราหมายถึงประชาธิปไตยอันมีระเบียบตามกฎหมายและศีลธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ใช่ประชาธิปไตยอันไม่มีระเบียบ หรือประชาธิปไตยที่ไร้ศีลธรรม เช่น การใช้สิทธิเสรีภาพอันมีแต่จะให้เกิดความปั่นป่วน ความไม่สงบเรียบร้อย ความเสื่อมศีลธรรม ระบอบชนิดนี้เรียกว่า อนาธิปไตย หาใช่ประชาธิปไตยไม่ ขอให้ระวัง อย่าปนประชาธิปไตยกับอนาธิปไตย อนาธิปไตยเป็นภัยอย่างใหญ่หลวงแก่สังคมและประเทศชาติ ระบอบประชาธิปไตยจะมั่นคงอยู่ได้ ต้องประกอบด้วยกฎหมาย ศีลธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต หรือในครั้งโบราณกาลเรียกว่า การปกครองโดยสามัคคีธรรม การใช้สิทธิโดยไม่มีขอบเขตภายใต้กฎหมายหรือศีลธรรม หรือใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ไม่ใช่หลักประชาธิปไตย ไม่ใช่หลักซึ่งคณะราษฎรขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ พระราชทานให้แก่ประชาชนชาวไทยนั้นไม่มีพระราชประสงค์ให้เป็นอนาธิปไตย…”

 

ประชาธิปไตยสมบูรณ์

จากผลงาน แนวคิดปรากฏตามที่ต่าง ๆ อาจกล่าวได้ว่า แนวคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ในทัศนะของปรีดี พนมยงค์ เป็นการให้ความหมายและคุณค่าของประชาธิปไตยในลักษณะที่เป็นแบบบูรณาการแบบองค์รวม[7] กล่าวคือ ปรีดีฯ ไม่ได้ระบุถึงแต่ประชาธิปไตยเฉพาะในด้านมิติทางการเมืองการปกครองแต่เพียงอย่างเดียวเฉกเช่นเดียวกับที่คนทั่ว ๆ ไปเข้าใจ แต่ได้มีการกําหนดเอาลักษณะความเป็นไปในทางเศรษฐกิจของสังคม หรือการมีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจว่า เป็นรากฐานความสัมพันธ์ทางสังคมที่สําคัญซึ่งจะมีความสัมพันธ์ทางอํานาจกับโครงสร้างทางการเมืองไปด้วยในลักษณะเดียวกัน อีกนัยหนึ่ง การมีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจย่อมปูทางไปสู่การมีระบอบการเมืองการปกครองและกฎหมายที่เป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นแม่บทของกฎหมายทั้งปวง

นอกจากนี้ “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” ปรีดีฯ ได้กําหนดให้หมายความรวมไปถึง “ทัศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย” อีกด้วย โดยปรีดี พนมยงค์ ได้ขยายความเชิงถ้อยคําโดยใช้ คําภาษาละตินว่า “Animi Cultura” โดยเป็นที่เข้าใจได้ว่า การมีระบบประชาธิปไตยนั้น ย่อมหมายความรวมไปถึง “ประชาธิปไตยในทางวัฒนธรรม” ด้วย กล่าวคือ พลเมืองในสังคมการเมืองประชาธิปไตยจะต้องมีทัศนคติ วิถีชีวิต และ วัฒนธรรมทางสังคมที่สอดคล้องกับระบบการเมืองประชาธิปไตยด้วย จึงจะสามารถทําให้เกิดประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้อย่างแท้จริง

จึงอาจกล่าวได้ว่า คุณลักษณะของประชาธิปไตยในแต่ละมิติของปรีดีฯ นั้นสามารถอธิบายความโดยสังเขปได้ ดังนี้

(1) ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ

ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจถือเป็นรากฐานสําคัญของสังคมการเมือง โดยในความหมายนี้ ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจจะต้องเอื้ออํานวยให้ราษฎรส่วนใหญ่ของสังคมไม่ตกเป็นทาสหรืออยู่ภายใต้การบงการของคนส่วนน้อยที่อาศัยอํานาจผูกขาดทางเศรษฐกิจของสังคม

(2) ประชาธิปไตยทางการเมือง

ประชาธิปไตยทางการเมืองนั้นมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับกฎหมายรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายแม่บทในการปกครองประเทศ โดยหัวใจสําคัญสามารถพิจารณาได้จากประเด็นสิทธิเสรีภาพของราษฎรว่ามีอยู่มากน้อยเพียงใด และสามารถปฏิสัมพันธ์ต่อรองอํานาจในระบบการเมืองในระดับใด

(3) ทัศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย

ทัศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตยถือเป็นอีกมิติหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง อัน เนื่องด้วยเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม การเมือง หรือวิธีปฏิบัติประจำวันของ พลเมืองภายในสังคม โดยวัฒนธรรมทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยเช่นว่านั้น จะ เป็นพลังผลักดันให้สังคมก้าวหน้าไปสู่ระบบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ กล่าวอีกนัยหนึ่ง การที่สังคมใด ๆ ประกอบด้วยประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตยทางการเมือง แต่หากขาดซึ่งทัศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว ย่อมไม่สามารถนำพาไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้อย่างแท้จริง

กล่าวได้ว่า ทัศนะทางสังคมในแนวคิดของปรีดีฯ นั้น[8] อาจเปรียบได้กับจิตใจหรือส่วนที่เป็นนามธรรมของชีวิตทางสังคม ซึ่งจะมีลักษณะประการสำคัญ คือ ซับซ้อน หยั่งลึก และมักเปลี่ยนแปลงได้ยาก แต่ก็มิใช่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงทัศนะสังคมต้องใช้เวลานานพอสมควร นอกจากนี้ ทัศนะสังคมไม่เพียงเป็นสิ่งบ่งชี้ลักษณะร่วมกันของสมาชิกในสังคม (People’s Common Character) หนึ่ง ๆ เท่านั้น แต่ปัจจัยเฉพาะตัวหรือส่วนบุคคลแต่ละคนยังเข้าผสมผสานกับทัศนะสังคมที่ตนยึดถืออยู่อีกด้วย โดยเหตุที่มีลักษณะเป็นนามธรรมเป็นความเคยชินหรือนิสัยทางสังคมที่สังเกตเห็นได้ชัด อีกทั้งยังรวมถึงวิธีคิด วิธีการแสดงออกต่าง ๆ ที่สืบทอดกันมาในทางวัฒนธรรมซึ่งมีส่วนกำกับวิถีชีวิตในตัวเองด้วย

ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงประสังคมชาธิปไตยที่แท้จริง ปรีดีฯ จึงใช้คำว่า “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” หมายความถึงสังคมหนึ่ง ๆ จะเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ก็จะต้องเป็นแบบบูรณาการ กล่าวคือ เป็นประชาธิปไตย ทั้งในทางเศรษฐกิจ ทั้งในทางการเมือง และสมาชิกในสังคมนั้นมีทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตยด้วย โดยในนี้ทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตยจึงมีความสำคัญ และเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ให้ลงหลักปักฐานในสังคม

โดยปรีดีฯ ได้อธิบายว่า “มนุษย์จะดำเนินไปสู่รูปใดนั้น ก็โดยความเคลื่อนไหวของมนุษย์ในสังคมนั้น ๆ มนุษย์จะสามารถผลักดันให้สังคมก้าวหน้าไปสู่ระบบประชาธิปไตยทั้งในทางเศรษฐกิจและในทางการเมืองได้นั้น ก็จำต้องมีทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตยยึดถือเป็นหลักนำในการดำเนินกิจกรรมทางสังคม ถ้าหากผู้ใดต้องการระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์หรือแม้แต่ต้องการเพียงระบบประชาธิปไตยการเมือง แต่ยึดถือทัศนะทางสังคมที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเป็นหลักนำแล้ว ก็ย่อมดำเนินกิจกรรมไปตามแนวทางที่ไม่อาจเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยตามความต้องการนั้นได้  อะไรคือทัศนะประชาธิปไตยทางสังคมก็เป็นปัญหาที่ต้องพิจารณาค้นคว้าทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งย่อมพิสูจน์จากผลแห่งการดำเนินทัศนะที่ยึดถือนั้น คือ ถ้าทัศนะนั้นนำไปสู่การปฏิบัติที่บังเกิดผลให้สังคมมีระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ หรือแม้แต่ระบบประชาธิปไตยทางการเมืองเบื้องต้นแล้ว ทัศนะนั้นก็อยู่ในจำพวกประชาธิปไตย หากแต่ไม่บังเกิดผลดังกล่าว ก็สมควรวิเคราะห์พิจารณาว่า ทัศนะนั้นขัดต่อความเป็นประชาธิปไตยและเป็นทัศนะที่สนับสนุนให้ระบบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยดำรงอยู่ได้ตราบเท่าที่ทัศนะนั้นยังมีอิทธิพลอยู่ในสังคม”[9]

ดังนั้น สำหรับปรีดีแล้ว ทัศนะสังคมอย่างใดบ้างจึงจะถือว่าเป็นประชาธิปไตย ก็จำต้องพิจารณาพิสูจน์และทดสอบเรียนรู้จากผลของการปฎิบัติของคนในสังคมเป็นสำคัญ

สำหรับข้าพเจ้าแล้วแนวคิดเรื่อง “ทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตย” ของปรีดีเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง เป็นการสร้างความเป็นประชาธิปไตยในสังคม เพื่อให้การดำเนินชีวิตของคนในสังคมและในทุก ๆ วันของการใช้ชีวิตสอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตย

 

ที่มา: วรรณภา ติระสังขะ. สังคมที่เป็นประชาธิปไตย: คุณค่า ความหวัง. ปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ประจำปี พ.ศ. 2559 ซึ่งวางจำหน่ายแล้วที่  https://shop.pridi.or.th/th/product/645041/product-645041

 

[1] โครงการปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย. รวมข้อเขียนของปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526), หน้า 25-38.

[2] เพิ่งอ้าง, หน้า 71-79.

[3] เพิ่งอ้าง, หน้า 397-411.

[4]  เพิ่งอ้าง, หน้า 413-448.

[5] ปรีดี พนมยงค์, ความเป็นอนิจจังของสังคม, พิมพ์ครั้งที่ 9 (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดําเนินงานฉลองคณะกรรมการดําเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์, 2542).

[6] ปรีดี พนมยงค์, แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552), หน้า 453-460.

[7] ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล “แนวคิดว่าด้วยประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปรีดี พนมยงค์” จากงานเสวนาเรื่อง “เค้าโครงเศรษฐกิจกับประชาธิปไตยสมบูรณ์” เนื่องในวันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2556 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์.

[8] ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, เพิ่งอ้าง.

[9] โครงการปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย, อ้างแล้ว, หน้า 73-74.