ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ปฏิบัติการฆาตกรรมทางการเมือง : พ.ต.โผน อินทรทัต

1
มีนาคม
2564

 

พ.ต.โผน อินทรทัต

 

พ.ต.โผน อินทรทัต เกิดเมื่อ พ.ศ.2454 เป็นบุตรของ พ.อ.พระยาพิชัยภูเบนทร์ (ผ่าน-ได้รับพระราชทาน “อินทรทัต” เมื่อครั้งมีบรรดาศักดิ์ป็นหลวงสรจักรานุกิจ) กับ คุณหญิงน้อม พิชัยภูเบนทร์

'พ.ต.โผน อินทรทัต' สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 และได้เลื่อนยศเป็นนายร้อยโทเมื่อปี 2478 หลังจากนั้นได้สมรสกับ ม.ล.กันยกา สุทัศน์ ธิดาของ พล.ท.พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว.สิทธิ์ สุทัศน์) อดีตแม่ทัพภาคที่ 1 กับ ม.ร.ว.วงษ์ขนิษฐ์ (สิงหรา) เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2478 ต่อมาประมาณปี 2480 โผน อินทรทัต ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงกลาโหมให้ไปศึกษาต่อที่ฟิลิปปินส์และสหรัฐอเมริกาจนสำเร็จวิศวกรรมเคมีจากมหาวิทยาลัย

เมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา 'ร.ท.โผน อินทรทัต' อาสาสมัครเป็นทหารเสรีไทยและได้รับการฝึกตามหลักสูตรของสำนักบริการยุทธศาสตร์หรือ “โอ.เอส.เอส.” ในรุ่นที่ 1 แล้วจึงได้ยศนายทหารเสรีไทยเป็นร้อยเอก ต่อมาในกลางเดือนมีนาคม 2486 ก็ออกเดินทางโดยเรือ “อับราฮัม คลาร์ค” พร้อมกับนายทหารเสรีไทยอีก 19 นาย จากเมืองท่าบัลติมอร์เข้าคลองปานามาออกไปสู่มหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ แล้วตัดไปอ้อมทางใต้ของทวีปออสเตรเลีย เข้าสู่มหาสมุทรอินเดียไปขึ้นบกที่นครบอมเบย์กลางเดือนมิถุนายน รวมเวลาเดินทางในทะเล 95 วัน นายทหารเสรีไทยรุ่นที่ 1 อยู่ในความควบคุมดูแลของ ร.อ.นิคอล สมิธ แห่งโอ.เอส.เอส. ร.ท.โผนมีชื่อรหัสว่า “พอล”

ในระหว่างเดินทาง ร.ท.โผนพำนักอยู่ในห้องเดียวกับ ร.อ.นิคอล สมิธ ผู้ขียนหนังสือ “สู่สยาม, ประเทศใต้ดิน” (Into Siam, Underground Kingdom) ที่ตีพิมพ์หลังสงคราม นิคอล สมิธกล่าวถึง “พอล” ไว้ในบางตอนว่า

“พอล ซึ่งอยู่ร่วมห้องนอนเดียวกับข้าพเจ้า ไม่พอใจที่จะอาบน้ำวันละครั้ง เขาอาบอย่างน้อยวันละสองครั้ง และโดยมากสามครั้ง ข้าพเจ้าเคยว่าเขาว่าไม่มีอะไรทำก็อาบน้ำ ภายหลังอาหารทุกมื้อเขาต้องเข้าไปหยิบแปรงสีฟันจากห้องนอน และเลือกเอายาสีฟันซึ่งมีหลายชนิด แล้วเข้าห้องน้ำแปรงฟัน เขาหวีผมดำขลับ, ใส่บริลเลียน ทีน, รีดเสื้อผ้าจนชั้นกางเกงใน ข้าพเจ้าจึงเข้าใจว่าทำไมคนไทยจึงดูแต่งตัวประณีต แม้อยู่ในเรือที่แสนจะสกปรก”

นิคอล สมิธบันทึกไว้ด้วยว่า “พอล” เป็นคนผิวคล้ำ และสนใจศึกษาภาษาจีน เพราะทราบว่าจะต้องปฏิบัติภารกิจในประเทศจีน

เมื่อเดินทางถึงประเทศอินเดียแล้ว นายทหารเสรีไทยสายอเมริการุ่นที่ 1 ก็เดินทางไปเข้าค่ายฝึกของปฏิบัติการ 101 ของ โอ.เอส.เอส.ที่เมืองนาซีราซึ่งอยู่ชายแดนอัสสัมใกล้พม่า ภายหลังการฝึกอย่างทรหดที่ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนเสร็จสิ้นลงแล้ว ร.อ.นิคอล สมิธ จึงนำนายทหารเสรีไทยซึ่งมี ร.อ. โผน อินทรทัต รวมอยู่ด้วยเดินทางโดยเครื่องบิน ซี 47 ผ่านเทือกเขาหิมาลัยไปลงที่สนามบินนครจุงกิงเมืองหลวงและที่มั่นในยามสงครามของรัฐบาลจีนคณะชาติเมื่อเดือนสิงหาคม 2486 พ.ท.หม่อมหลวงขาบ กุญชร ซึ่งเดินทางล่วงหน้าจากวอชิงตันโดยเครื่องบินมารอรับ ต่อมาคณะนายทหารเสรีไทยได้พบ นายสงวน ตุลารักษ์ กับคณะที่เล็ดลอดออกมาจากกรุงเทพฯ และทราบข่าวการถึงแก่กรรมของ นายจำกัด พลางกูร ผู้แทนขององค์การใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทยที่เล็ดลอดเดินทางมาถึงจุงกิงตั้งแต่เดือนมีนาคมศกเดียวกัน

ร.อ.โผน อินทรทัต และเพื่อนร่วมตายจากอเมริกาพำนักอยู่ที่จุงกิงประมาณ 3 เดือน จึงเดินทางไปเมืองคุนหมิงในเดือนพฤศจิกายน ต่อมาเมื่อได้ตกลงใจว่าจะใช้เมืองซือเหมาป็นฐานปฏิบัติการสำหรับส่งนายทหารเสรีไทยเดินทางเข้าสู่ตอนเหนือของประเทศไทยโดยทางบกแล้ว กลางเดือนมกราคม 2487 คณะนายทหารเสรีไทยสายอเมริการุ่นที่ 1 กับม.ล.ขาบ กุญชรและนายทหารโอ.เอส.เอส. จึงเดินทางมาซือเหมา

เมื่อจัดตั้งฐานปฏิบัติการเรียบร้อยแล้ว ม.ล.ขาบ กุญชรได้คัดเลือกเสรีไทยชุดแรกที่จะส่งเข้าประเทศไทย 5 นาย คือ ร.อ.การะวก ศรีวิจารณ์ กับ ร.ท.สมพงษ์ ศัลยพงษ์ คู่หนึ่ง, ร.ท.การุณ เก่งระดมยิง กับ ร.ท.เอี่ยน ขัมพานนท์ อีกคู่หนึ่ง ส่วนร.อ.โผน อินทรทัตซึ่งเป็นนายทหารอาชีพที่มีอาวุโสมากกว่าผู้อื่นจะเดินทางเข้าประเทศไทยโดยลำพัง

 

(จากซ้าย) ม.ล.ขาบ กุญชร  จินตนา ยศสุนทร และ โผน อินทรทัต ที่สหรัฐอเมริการะหว่างสงคราม
(จากซ้าย) ม.ล.ขาบ กุญชร  จินตนา ยศสุนทร และ โผน อินทรทัต
ที่สหรัฐอเมริการะหว่างสงคราม

 

นายทหารเสรีไทยทั้ง 5 พร้อมด้วย พ.ท.หม่อมหลวงขาบ กุญชร และ นายพลโซะของจีนเดินทางจากซือเหมาบุกป่าฝ่าเขามุ่งไปยังเมืองเชียงรุ้งโดยปลอมตัวเป็นพ่อค้าจีน จากเมืองเชียงรุ้งคนนำทางที่ทางการจีนจัดให้พาร.อ. โผนและนายทหารเสรีไทยอีก 4 นายออกเดินทางไปสู่แม่น้ำโขงเมื่อประมาณวันที่ 10 มีนาคม 2487 ตามที่ได้ตกลงกันนั้นการเดินทางจากเชียงรุ้งไปถึงเมืองลาจะใช้เวลาประมาณ 7 วัน และจากเมืองลาไปถึงแม่น้ำโขงก่อนข้ามเข้าเขตไทยจะใช้เวลา อีกประมาณ 15 วัน แต่การณ์มิได้เป็นไปเช่นนั้น

ประมาณกลางเดือนเมษายน 2487 ขณะที่ม.ล.ขาบ กุญชร และนายทหารโอ.เอส.เอส.กำลังรอรับสัญญาณวิทยุจากเสรีไทยทั้ง 5 นาย ซึ่งในช่วงเวลานั้นควรจะอยู่ในประเทศไทยแล้ว ร.อ.โผน อินทรทัตกลับมาซือเหมา และรายงานว่าร.ท.การุณ เก่งระดมยิงกับร.ท.เอี่ยน ขัมพานนท์เดินทางกลับมาเชียงรุ้งอีก ทั้งๆ ที่ได้ออกเดินทางมุ่งไปเมืองลาแล้ว ส่วนร.อ.โผน และ ร.อ.การะเวก ศรีวิจารณ์ กับ ร.ท.สมพงษ์ ศัลยพงษ์ ยังติดค้างอยู่ที่เชียงรุ้ง เพราะคนจีนผู้นำทางไม่ยอมพาไป โดยอ้างข้อขัดข้องสารพัดอย่างและที่สุดก็บอกว่าต้องการยารักษาโรค ทำให้ร.ท.โผนต้องเดินทางบุกป่ากลับมาที่ฐานปฏิบัติการซือเหมา รวมเวลาที่ร.อ.โผน อินทรทัตออกเดินทางไปเชียงรุ้งพร้อมกับม.ล.ขาบ กุญชรและเพื่อนเสรีไทยสายอเมริกา 4 นายเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ จนกระทั่งกลับคืนสู่ฐานที่ซือเหมาประมาณเดือนครึ่ง ซึ่งต้องใช้ชีวิตอยู่ในป่าที่ทุรกันดาร และเต็มไปด้วยภยันตรายรอบด้านเกือบตลอดเวลา

 

ร.อ.โผน อินทรทัต กับ เด็กๆ ที่ซือเหมา ถ่ายเมื่อต้นปี 2487
ร.อ.โผน อินทรทัต กับ เด็กๆ ที่ซือเหมา ถ่ายเมื่อต้นปี 2487

 

เมื่อร.อ.โผนรวบรวมยาได้แล้วก็เดินทางไปเชียงรุ้งตามลำพังอีกครั้งหนึ่งโดยใช้เวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์ ความบิดพลิ้วของคนจีนผู้นำทางที่ร.อ.โผนรายงานทำให้ม.ล.ขาบและร.อ.คอล สมิธต้องไปขอร้องบาทหลวงอิวยีน ดุงให้เป็นผู้นำทางนายทหารเสรีไทยเข้าประเทศไทยอีก 5 นาย คือ ร.ท.เป้า ขำอุไร คู่กับ ร.ท.พิสุทธิ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา, ร.ท.บุญเย็นศศิรัตน์ คู่กับ ร.ท.สวัสดิ์ เชี่ยวสกุล ส่วน ร.ท.อานนท์ ณ ป้อมเพชร เดินทางโดยลำพังในลักษณะเดียวกับร.อ.โผน อินทรทัต

พ.ท.หม่อมหลวงขาบ กุญชร, ร.อ.นิคอล สมิธ กับ นายทหารโอ.เอส.เอส.และนายทหารเสรีไทยอีก 8 นายออกเดินทางจากซือเหมาวันที่ 27 เมษายน 2487 โดยมีจุดหมายที่เมืองเชียงรุ้งเป็นแห่งแรก จากนั้นต่างก็แยกย้ายกันไปตามแผนที่กำหนดไว้ ร.ท.โผนเดินทางจากเชียงรุ้งไปเมืองลา แล้วล้มป่วยอยู่ที่นั่นจนกระทั่งกลางเดือนพฤษภาคมจึงสามารถเดินทางต่อไปได้

ร.อ.โผน อินรทัต เดินทางโดยทางเท้าตามลำพังจากเมืองลาซึ่งอยู่ตอนใต้ของจีนเข้าสู่ลาวทางแขวงพงสาลี แล้วข้ามแม่น้ำโขงเข้าสู่ประเทศไทยทางจังหวัดน่าน และเดินทางต่อไปยังจังหวัดแพร่ ร.อ.โผนเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่นั่น โดยขอให้ส่งตัวมาพบพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส เข้าใจว่าจะเป็นช่วงเวลาหลังการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2487 หรือภายหลังที่หลวงอดุลเดชจรัสเข้าร่วมในขบวนการเสรีไทยอย่างเต็มตัวแล้ว เพราะอธิบดีตำรวจนำร.อ.โผน อินทรทัตเข้าพบนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย หลังจากนั้นพล.ต.อ.อดุลจึงให้ตำรวจสันติบาลพาร.อ.โผนไปส่งที่อำเภอเชียงของจังหวัดเชียงราย เพื่อเดินทางกลับไปประเทศจีนอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะเดินทางไปประสานกับม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชที่กรุงวอชิงตัน

เมื่อมาถึงเชียงรายร.อ.โผน อินทรทัตควรจะได้พบกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่แห่งกองทัพพายัพบางนายซึ่งได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจของขบวนการเสรีไทยด้วย อาทิ พล.ต.พิชัย หาญสงคราม เสนาธิการกองทัพพายัพ เป็นต้น การได้ประสานกับทางกองทัพพายัพของร.อ.โผนมีส่วนช่วยให้การเดินทางเข้าประเทศไทยของร.ต.อายุส อิศรเสนา ณ อยุธยา นายทหารเสรีไทยสายอมริการุ่นที่ 2 ซึ่งปฏิบัติการอยู่กับกองทัพพายัพมีความสะดวกและราบรื่นยิ่งขึ้น ร.ต.อายุส พบกับ ร.อ.โผน ที่ซือเหมาก่อนที่ ร.ต.อายุสจะออกเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย

ร.อ.โผน อินทรทัต เดินทางไปกรุงวอชิงตันเพื่อรายงานให้ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชทราบถึงเรื่องราวของขบวนการเสรีไทยภายในประเทศไทยซึ่งมีนายปรีดี พนมยงค์ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นหัวหน้า และพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจเป็นรองหัวหน้า ตลอดจนแนวทางการประสานงานระหว่างกองบัญชาการเสรีไทยภายในประเทศกับเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา รายงานจากนายทหารเสรีไทยสายอเมริกาที่ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยแล้วกลับไปกรุงวอชิงตัน 2 นาย คือ พ.ต.โผน อินทรทัต และ ร.อ.การุณ เก่งระดมยิง ทำให้ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชเข้าใจถึงสถานการณ์ของประเทศไทย รวมทั้งสถานภาพของขบวนการเสรีไทยภายในประเทศดียิ่งขึ้น จนสามารถประสานกับผู้แทนของกองบัญชาการเสรีไทย ภายในประเทศที่นายปรีดี พนมยงค์ให้เดินทางมากรุงวอชิงตันในปี 2488 คือ นายกนต์ธีร์ ศุภมงคล, พระพิศาลสุขุมวิท และ หลวงสุขุมนัยประดิษฐได้อย่างดียิ่ง ก่อให้เกิดคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อการรักษาเอกราชและอธิปไตยของประเทศไทยภายหลังสงคราม

เมื่อเสร็จภารกิจที่กรุงวอชิงตันแล้ว ร.อ.โผน อินทรทัตจึงมาประจำอยู่ที่ศูนย์ฝึกของโอ.เอส.เอส.ที่ทรินโกมาลีบนเกาะลังกา และปฏิบัติงานอยู่ ณ ที่นั้นจนกระทั่งวันสันติภาพ 16 สิงหาคม 2488 จึงเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย ร.อ.โผนได้รั[พระราชทานยศทหารไทยเป็นพันตรี และเป็นทหารเสรีไทยสายอเมริกาคนเดียวที่ได้ยศพันตรี ยกเว้นพ.ต.การะเวก ศรีวิจารณ์ และ พ.ต.สมพงษ์ ศัลยพงษ์ที่ได้สละชีพเพื่อชาติไปในระหว่างเดินทางเข้าประเทศไทยเมื่อเดือนมิถุนายน 2487

ภายหลังสงคราม พ.ต.โผน อินทรทัต กับ ร.อ.อานนท์ ณ ป้อมเพชรเดินทางไปที่แม่น้ำโขง เขตอำเภอเชียงแมน จังหวัดลานช้าง ตรงจุดที่พ.ต.การะเวก, พ.ต.สมพงษ์ และพ่อค้าชื่อนายบุญช่วย ถูกตำรวจไทยฆาตกรรม เพื่อสืบสวนสอบสวนค้นหาความจริงที่เกิดขึ้น และได้นำอัฐิของพ.ต.การะเวก ศรีวิจารณ์มากรุงเทพฯด้วย ส่วนพ.ต. สมพงษ์ ศัลยพงษ์ จมแม่น้ำโขงหายไปหาศพไม่เจอ

พ.ต.โผน อินทรทัต ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงงานยาสูบกระทรวงการคลัง เพราะมีคุณวุฒิทางวิศวกรรมเคมีจากสหรัฐฯ ไปจนเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490

 

พ.ต.โผน อินทรทัต พิสิทธิ์ และ ม.ล.กันยกา อินทรทัต
พ.ต.โผน อินทรทัต
พิสิทธิ์ และ ม.ล.กันยกา อินทรทัต

 

ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492” พ.ต.โผน อินทรทัตถูกตำรวจยิงเสียชีวิตขณะควบคุมตัวไปสอบสวนที่วังปารุสกวัน ขณะนั้นหม่อมหลวงกันยกาภรรยาของ พ.ต.โผนกำลังตั้งครรภ์บุตรชายคนสุดท้องได้ประมาณ 2 เดือนเศษ ทั้งนี้โดยไม่มีการเปิดเผยหรือให้คำอธิบายที่โปร่งใสจากทางการ ต่อเหตุการณ์อันน่าสลดใจที่เกิดขึ้นกับนายทหารเสรีไทยสายสหรัฐฯ ผู้นี้แต่อย่างใด

แม้ว่า พ.ต.โผน อินทรทัตจะล่วงลับไปนานแล้ว แต่ชื่อเสียงและเกียรติคุณแห่งความเป็นวีรบุรุษที่ได้เสี่ยงชีวิตรับใช้ชาติบ้านเมืองอย่างเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญซึ่งยากที่จะหาผู้ใดมาเปรียบเทียบได้ จำเป็นจะต้องได้รับการบันทึกเอาไว้อย่างถาวรในหน้าประวัติศาสตร์ไทย

 

โผน กิ่งเพชร ภาพจาก วิกิพีเดีย
โผน กิ่งเพชร ภาพจาก วิกิพีเดีย

 

นอกจากนั้น นายทองทศ อินทรทัต พี่ชายของ พ.ต.โผน อินทรทัต ยังได้นำชื่อ “โผน” ไปใช้เป็นชื่อของนักมวยที่ได้เป็นแชมเปี้ยนโลกคนแรกของไทย คือ “โผน กิ่งเพชร” ซึ่งมีนามจริงว่ามานะ ศรีดอกบวบ

 

ที่มา: วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. “พันตรีโผน อินทรทัต” ใน “ตำนานเสรีไทย”, (กรุงเทพฯ: ยูโรปา เพรส, 2546), หน้า 1173-1178

หมายเหตุ: ตั้งชื่อเรื่อง จัดรูปแบบประโยคโดยบรรณาธิการ