ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
วันนี้ในอดีต

พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ “คณะราษฎร” ทหารเรือหัวใจประชาธิปไตย

1
ตุลาคม
2567

Focus

  • บทความนี้เสนอในวาระชาตกาล 123 ปี พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ นายทหารเรือคนสำคัญที่มีบทบาททางการเมืองตั้งแต่การเข้าร่วมเหตุการณ์การอภิวัฒน์สยาม เป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทย และบทบาทที่โดดเด่นกับการปกป้องนายปรีดี พนมยงค์ในเหตุการณ์รัฐประหาร 2490 และมีส่วนร่วมในขบวนการประชาธิปไตย โดยบทความนี้เล่าถึงชีวประวัติและผลงานของพลเรือตรี ทหาร ไว้อย่างรอบด้าน

 

“...ในทรรศนะของข้าพเจ้า กล่าวตามภาวะทางการเมืองงานของคณะราษฎรสิ้นสุดยุติลง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งควรจะถือว่าคณะราษฎรต้องประสบความปราชัยทางการเมือง แต่ความรับผิดชอบในส่วนตัวบุคคลยังไม่สิ้นสุด เปรียบด้วยหนี้สินบุคคลชาวคณะราษฎรยังชำระหนี้ไม่หมด คงเป็นลูกหนี้ประชาชนอยู่จนกว่าประชาชนชาวไทยจะได้รับการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ คุณกำลาภจากไปแล้ว คนอื่นที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องรับสนอง

ชาวคณะราษฎรที่ยังมีชีวิตอยู่นับว่าเป็นผู้โชคดี ที่ได้เห็นผลงานของตนซึ่งช่วยกันสร้างสรรค์เอาไว้ ทิ้งปัญหาที่เป็นบทเรียนอันควรแก่การศึกษาวิจัยวิจารณ์กันหลายบทที่นับว่าสำคัญมี ‘ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยนานหลายสิบปีแล้ว เพราะเหตุใดจึงยังมีความเห็นกันว่า เข้าไม่ถึงระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง’ อีกบทหนึ่ง ‘เพราะเหตุใด ประเทศไทยจึงยังอยู่ในฐานะที่เป็นประเทศด้อยพัฒนา ในทางการเมืองยังล้าหลังทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคม’...”

พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ[1]

 

 

คำโปรยข้างต้นคือคำรำลึกอุทิศโดย พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ (นามเดิม ทองหล่อ)  แด่นายเรือเอกกำลาภ (นามเดิม กุหลาบ) กาญจนสกุล หนึ่งในสหายร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง บทไว้อาลัยนี้มีความยาวขนาด 50 หน้าชื่อว่า “กุหลาบ เพื่อนตาย 24 มิถุนายน 2475” จัดพิมพ์ไว้ ภายในอนุสรณ์งานศพซึ่งนับเป็นบันทึกชิ้นประวัติศาสตร์อันฉายภาพได้อย่างละเอียดลออนับแต่ปฏิบัติการคณะราษฎรสายทหารเรือเมื่อก่อนย่ำรุ่งวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จนถึงวันสิ้นสลายของคณะผู้ก่อการ ถือเป็นหนึ่งในบันทึกที่ “ต้องอ่าน” สำหรับนักประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยของไทย

อย่างไรก็ตามภายในเจดีย์วัดพระศรีมหาธาตุ ณ ทุ่งบางเขน สถานที่ประดิษฐานอัฐิของเหล่าสมาชิกผู้ก่อการ 2475 กลับไม่พานพบรายนามของคณะราษฎรสายทหารเรือเรืองนามผู้นี้ บทความนี้จะนำพาผู้อ่านทำความรู้จักกับชีวิตนายทหารเรือหัวใจประชาธิปไตยท่านนี้ ตลอดจนตามรอยพิกัดปลายทางของสังขารชิ้นสุดท้ายของหนึ่งในผู้ได้ชื่อว่าเป็นที่มาของ “ซอยทองหล่อ” ว่ากลบฝังอยู่ ณ แห่งหนใด

 


คณะราษฎรสายทหารเรือ นายเรือเอก ทหาร ขำหิรัญ แถวหน้าคนที่ 2 จากซ้าย

 

 

กำเนิด “ไอ้หนูหล่อ[2]” นายพลเรือร่างเล็กใจเหล็กเพชร

นายพลเรือท่านนี้เป็นคนริมคลองบางกอกน้อยโดยกำเนิด บิดามารดาคือ นายถมยา ขำหิรัญ และ นางหลุยส์ สุวรรณชีพ เด็กชายทองหล่อเติบโตขึ้นมาพร้อมกับนายทหารคณะราษฎรคนสำคัญอีกท่านคือ หลวงสังวรยุทธกิจ ( สังวร สุวรรณชีพ) ซึ่งมีศักดิ์เป็นญาติฝ่ายมารดา ทั้งคู่เกิดปีเดียวกันเมื่อ พ.ศ. 2444 โดยคุณหลวงเกิดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ด้านเด็กชายทองหล่ออ่อนเดือนกว่าชาตะเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม สองเด็กชายมักพายเรือไปตามลำคลองบางกอกน้อยเพื่อไปเรียนที่โรงเรียนวัดศรีสุดารามด้วยกันตั้งแต่ปฐมวัย กระทั่งเมื่อเติบโตเป็นหนุ่มล้วนสามารถเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายเรือ ทองหล่อ ขำหิรัญ จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2468 และเริ่มเข้ารับราชการเป็นนายหมวดประจำกองร้อยที่ 3 กองพันพาหนะเมื่อปี พ.ศ. 2471 โดยมีความเจริญก้าวหน้าเป็นลำดับ

 


นายเรือตรี ทองหล่อ ขำหิรัญ ขณะอุปสมบทเป็นพระภิกษุ
      ณ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เมื่อ พ.ศ. 2472

 

ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

ด้วยวัยเพียง 31 ปี นายเรือเอก ทองหล่อได้ตัดสินใจเข้าร่วมปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อย่ำรุ่งวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ท่านได้บันทึกการตัดสินใจครั้งสำคัญนี้ในคำไว้อาลัยแด่หลวงสังวรยุทธกิจผู้เป็นน้าชายท่านนี้ไว้ว่า

“คุณหลวงไปพบที่สนามฝึกทหารด้านหลังกรมทหารเรือ ปรารภถึงสถานการณ์ของบ้านเมืองชวนให้ร่วมมือทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยมีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย พิจารณาคำชักชวนเห็นว่ามีเหตุผลข้าพเจ้าก็ปลงใจด้วย สรวงสวรรค์เป็นใจดลบันดาลให้การร้องขอรับพระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 มีผลสำเร็จลงด้วยความเรียบร้อย ไม่มีอุปสรรคให้เกิดความเสียหายอย่างใด” [3]

 


นายเรือเอก ทองหล่อ ขำหิรัญ ขณะอ่านประกาศคณะราษฎร
  เมื่อวันปฏิวัติ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

 

ทันทีที่ก่อการสำเร็จลุล่วงด้านการเมืองท่านได้รับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 สองวาระ คือ 28 กันยายน-8 ธันวาคม พ.ศ. 2476 และ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476-9 ธันวาคม พ.ศ. 2489 ด้านการทหารดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองร้อยที่ 2 กองพันนาวิกโยธิน กองชุมพลทหารเรือ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2475 สร้างผลงานต่อเนื่องจนก้าวถึงจุดสูงสุดในตำแหน่งรักษาราชการผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธิน (นับเป็นผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธินคนแรก)[4]และรักษาราชการนายทหารฝ่ายเสนาธิการสถานีทหารเรือสัตหีบ ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482 (กองทัพเรือจัดตั้ง “กรมนาวิกโยธิน” ขึ้นวันนี้เป็นครั้งแรก)[5] ถึงวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2485 ท่านได้วางรากฐานการพัฒนาและการศึกษาของนาวิกโยธินให้มีการจัดหน่วยคล้ายกองทัพบกจัดหายุทโธปกรณ์อันทันสมัย ขยายหน่วยเป็นกรมนาวิกโยธิน และเป็นผู้บัญชาการกองพลจันทบุรีร่วมรบโรมรันในสงครามอินโดจีนเมื่อปลายปี พ.ศ. 2483 ขณะครองยศเป็นนาวาตรี

ระยะเดียวกันนี้เองที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงครามได้ประกาศนโยบายรัฐนิยมจึงได้เปลี่ยนชื่อจาก “ทองหล่อ” เป็น “ทหาร” นามสกุลเดิม “ขำหิรัญ” โดยรัฐบาลในสมัยนั้นให้เหตุผลว่า “ชื่อนั้นจะต้องตรงตามบุคลิกภาพ และเพศของบุคคลนั้น ชายจะต้องชื่อเป็นชายหญิงจะต้องชื่อเป็นหญิง เช่น ชายชื่อประหยัดศรี ต้องเปลี่ยนเป็นประหยัดศอ หรือกุหลาบเปลี่ยนเป็นกำลาภ เป็นต้น”

ระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพารับหน้าที่เป็นนายทหารติดต่อประสานงานและร่วมงานกับแม่ทัพใหญ่สมัยนายกรัฐมนตรีนายควง อภัยวงศ์ เมื่อเกิดภาวะคับขันในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2487 ระยะเดียวกันนี้ท่านยังได้รับตำแหน่งรักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์ขณะเดียวกันยังควบหน้าที่รัฐมนตรีสั่งราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จนสิ้นสุดสงครามใหญ่นี้[6]รวมถึงการเข้าร่วมปฏิบัติการใต้ดินเสรีไทยที่นำมาสู่ความภาคภูมิใจจนนำมาใส่ไว้ในชีวประวัติว่า “ร่วมงานในขบวนการเสรีไทยกอบกู้เอกราชของชาติไทยระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2”[7]

 


พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ ในยุคเรืองรอง

 

ขบถ 2 ครั้ง “วังหลวง” และ “แมนฮัตตัน”

ชีวิตนายทหารร่างเล็กใจใหญ่ผู้นี้ถือว่ามีสีสันและยืนหยัดอยู่บนหลักการประชาธิปไตยเมื่อเกิดการล่วงรัฐธรรมนูญด้วยการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490[8] พลเรือตรี ทหารเป็นผู้คุ้มครองปกป้องนายปรีดี ณ ฐานทัพเรือสัตหีบ จนเมื่อนายปรีดี พนมยงค์ พยายามกลับมาช่วงชิงอำนาจคืนภายใต้ชื่อ “ขบวนการประชาธิปไตย” แต่ต้องพ่ายแพ้จนถูกตราชื่อว่า “กบฏวังหลวง”เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ครั้งนั้นพลเรือตรีทหารได้มีส่วนร่วมยืนหยัดต่อสู้กับนายปรีดี[9]แต่ต้องประสบชะตากรรมร่วมกันเมื่อเกิดการประนีประนอมกันซึ่งเท่ากับการยอมรับความพ่ายแพ้จากฝ่ายทหารเรือโดยปริยายทั้ง ๆ ที่กำลังคุมความได้เปรียบ  พลเรือตรีทหารได้จารึกถึงการปราชัยครั้งนั้นอย่างเจ็บช้ำไว้ว่า

“เหตุการณ์เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 อุบัติขึ้นความเด็ดเดี่ยว จริงจังของคุณหลวง (สังวรยุทธกิจ-ผู้เขียน) ผลักดันให้แสดงตัวชัดถึงความจงรักภักดีต่อทหารเรืออย่างบริสุทธิ์ใจเป็นที่น่าเสียดายท่านกลับถูกมองดูไปเสียในทางตรงข้าม

ความไม่จริงจังลังเลของกำลังฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลพาไปสู่ความล้มเหลว ทหารเรือยอมรับคำประนีประนอมด้วยความเขลาพาให้เกิดความวิบัติทั้งทหารเรือและพวกเสรีไทยบางส่วน[10]

ต่อมาอีก 2 ปี พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ ถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการก่อการจลาจลเมื่อบ่ายวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2494 ในปฏิบัติการจับกุมตัวนายกรัฐมนตรีคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นตัวประกันในเรือหลวงศรีอยุธยาเป็นระยะเวลากว่า 30 ชั่วโมง เหตุการณ์ครั้งนั้นถูกเรียกว่า “กบฏแมนฮัตตัน”[11] ซึ่งส่งผลให้นายพลเรือท่านนี้ต้องหลบหนีไปกบดานที่ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จนกระทั่งถูกจับกุมตัวในปีถัดมาเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2495[12] ลูกประดู่ขาลุยผู้นี้ถูกจองจำเป็นระยะเวลาครึ่งทศวรรษและได้รับนิรโทษกรรมเมื่อต้น พ.ศ. 2500 ด้วยวาระที่รัฐบาลจัดงานเฉลิมฉลอง 25 พุทธศตวรรษ

 


พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ ในสมุดภาพรัฐสภา พ.ศ. 2501

 

พบ “ปรีดี” ที่เมืองจีน กลับไทยเผชิญวิบากกรรมครั้งสอง

ภายหลังได้รับอิสรภาพไม่นาน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกลูกน้องคนสนิทคือจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารโค่นล้มเมื่อเย็นวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 เมื่อรัฐบาลจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 15 ธันวาคมปลายปีเดียวกันนั้น พลเรือตรีทหารตัดสินใจลงเลือกตั้งท้องที่จังหวัดธนบุรีในนามพรรคประชาธิปัตย์และได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก  ทว่าในปีถัดมาขณะดำรงตำแหน่ง ส.ส. ก็ถูกจับกุมอีกครั้งในข้อหาคอมมิวนิสต์หลังเดินทางกลับจากเยี่ยมเยือนสหภาพโซเวียตและจีน ทริปนั้นพลเรือตรี ทหารได้มีโอกาสเยี่ยมเยียนนายปรีดีโดยว่า

“พลเรือตรีทหาร ขำหิรัญ ได้แวะเยี่ยมคารวะ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ท่านต้อนรับด้วยความดีใจอย่างเห็นได้ชัดในฐานะเพื่อนร่วมกระบวนการต่อสู้ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา ท่านยังระลึกถึงเมืองไทยด้วยจิตใจจดจ่อและห่วงใจ หลังจากนั้นได้เลยไปเยี่ยมเรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช ซึ่งพักอยู่คนละเมือง”

ก่อนคณะของพลเรือตรีทหารจะกลับประเทศไทยไม่กี่วันจอมพลสฤษดิ์ได้ก่อการรัฐประหารตัวเองเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501  ดังนั้นทันทีพลเรือตรีทหารเดินทางกลับเข้าประเทศไทยก็ถูกสันติบาลควบคุมตัวดำเนินคดีด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์  ระหว่างเผชิญความอยุติธรรมครั้งหลังนี้ สุวัฒน์ วรดิลก เขียนถึงขณะใช้ชีวิตร่วมกันในคุกลาดยาวครั้งนั้นว่า

“เมื่อเช้า พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ มาแวะหาฉันที่ห้อง ปรกติท่านมาเสมอสัปดาห์หรือ 2 สัปดาห์ครั้ง เพราะท่านชอบน้ำชาจีนที่ฉันชงให้ท่านกิน กินน้ำชาแล้ว ท่านก็ขัดสมาธิ 2 ชั้นห้อยแว่นสายตาไว้ที่ดั้งจมูก สนทนาเรื่องต่าง ๆ ให้ฉันฟัง ส่วนมากเป็นเรื่องการทำงานของท่านก่อนจะออกจากราชการงานที่ท่านดูประทับใจและภูมิใจมาก ก็คือ การสร้างฐานทัพเรือสัตหีบให้เจริญรุ่งเรืองมาได้ทุกวันนี้

นายพลทหารเป็นคนที่มีระเบียบเรียบร้อยสมกับที่ได้มารับการอบรมมาจากราชนาวี อย่างที่เคยเล่าให้แม่ฟังมาแล้ว เรือนขังที่ท่านอยู่นั้นท่านถือเสมือนเรือรบของท่าน วันเว้นวันท่านจะต้องจ้างพวกนักโทษยาเสพติดเข้ามาล้างถูทำความสะอาด ผู้ต้องขังที่อยู่เรือนขังเดียวกับท่านหลายคนต้องร่วมกันรักษาความสะอาดไปด้วยกับท่านเพราะกระดากใจ ไปไหนต่อไหนภายในคุกท่านจะสวมกางเกงขาสั้นสีกากี (น้ำตาล) เสื้อยืดคอกลมแขนสั้นสีขาวเป็นประจำ ปากคาบบุหรี่ตะพานโพเอาไว้ บุหรี่ดับท่านก็ยังคาบอยู่ นึกได้จึงจุดเสียที…

นอกจากผลงานที่ท่านสร้างให้กองทัพเรือในอดีตและพูดถึงพรรคประชาธิปัตย์ที่ท่านสังกัดอยู่อีกผู้หนึ่งที่ท่านยกย่องอยู่เสมอทั้ง ๆ ที่ท่านเป็น สส. พรรคประชาธิปัตย์ ก็คือ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งใคร ๆ ก็รู้ว่า ขมิ้นกับปูน กับ นายควงฯ และ หม่อมเสนีย์ฯ[13]

 

“ลูกประดู่หัวใจประชาธิปไตย” ส.ส. ของประชาชน

ทองใบ ทองเปาด์ บันทึกไว้ว่าพลเรือตรีทหาร ขำหิรัญ พ้นจากการกักกันครั้งนั้นราวปี พ.ศ. 2505[14]ระหว่างนั้นรัฐบาลเผด็จการยังตั้งคณะร่างรัฐธรรมนูญอยู่ พลเรือตรีทหารได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาเทศบาลธนบุรีในปี 2511[15]ครั้นเมื่อรัฐธรรมนูญที่ได้รับการเขียนยาวนานสุดนับจากปี พ.ศ. 2501 ที่ทำให้พลเรือตรีทหารพ้นจากสถานะ ส.ส. ครั้งแรกดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อกลางปี พ.ศ. 2511 พลเรือตรีทหารได้รับการการเลือกตั้งเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งในปีถัดมาเมื่อ พ.ศ. 2512 และเมื่อหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ท่านก็ยังคงชนะการเลือกตั้งอีกครั้งในปี พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของชีวิต

กล่าวโดยสรุปในแง่สถานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในสมัยคณะราษฎรพลเรือตรีทหาร ขำหิรัญ ดำรงตำแหน่ง ส.ส. ประเภท 2 ระหว่าง พ.ศ. 2476-2489 และเมื่อพ้นยุคผู้นำคณะราษฎรแล้ว ยังสามารถชนะการเลือกตั้งทั่วไปอีก 3 วาระในนามพรรคประชาธิปัตย์ คือปี พ.ศ. 2500, พ.ศ. 2512 และ พ.ศ. 2518

ในการอาสาเป็นผู้แทนราษฎรครั้งสุดท้ายเมื่อการเลือกตั้งวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 พลเรือตรีทหารด้วยวัย 74 ปีได้แสดงมูลเหตุจูงใจต่อการสมัครลงเลือกตั้งทั่วไปไว้ว่า

“ด้วยสำนึกในภารกิจของคณะราษฎร์ที่ยังค้างอยู่รวมทั้งภาระหน้าที่ของคนไทยผู้รักชาติและมีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะให้มีระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตย และเพื่อขจัดความเสื่อมทราม ความบกพร่องผิดพลาดทางการเมือง”

 


เอกสารแนะนำตัว พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518

 

สาธุชน “ตัวตาย แต่ชื่อยัง”

พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ มีรูปร่างที่คนไทยเรียกว่า “สันทัด” หน้าตาคมคาย พูดน้อย แต่ทรงภูมิปัญญา น่าเชื่อถือ มีความรู้ทางการทหาร การเมือง และพระพุทธศาสนา ไปวัด รักษาศีลห้า ฟังธรรมที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหารทุกวันธรรมสวนะ มีบ้านที่ท่านให้ชื่อว่า “ทับขุนพล” หมายถึงกระท่อมของขุนพลผู้กล้าหาญ[16]

เมื่อถึงปัจฉิมวัยพลเรือตรีทหารสมาทานตนเป็นชาวพุทธที่เคร่งครัด “...นอกจากวันธรรมสวนะ ท่านยังเจียดเวลาไปเรียนธรรมที่วัดมหาธาตุฯ อย่างสม่ำเสมอ ท่านชอบศึกษาธรรมของท่านพุทธทาส...” และท้ายสุดได้อุทิศร่างกายเป็น “อาจารย์ใหญ่” ให้กับโรงพยาบาลศิริราช พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ นายพลทหารเรือชาว “คณะราษฎร” ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2524  จบชีวิตด้วยวัย 81 ปี อนุสรณ์งานศพถูกจัดพิมพ์ร่วมกับผู้บริจาคร่างท่านอื่น ๆ ตามธรรมเนียมของโรงพยาบาล ดังปรากฏข้อความท่อนหนึ่งว่า

“อาจารย์ใหญ่ท่านนี้คือพลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ ท่านเป็นผู้หนึ่งในคณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และเป็นนักการเมืองที่มือสะอาด มีความซื่อสัตย์สุจริต...” [17]

อัฐิของนาวิกโยธินท่านแรกบุรุษร่างเล็กใจใหญ่ไม่ได้ถูกบรรจุอยู่เคียงข้างกับเหล่าสหายผู้ก่อการ 2475 ที่วัดพระศรีมหาธาตุฯ แต่กลับเลือกที่จะประดิษฐานร่วมกับภริยา ณ วัดเครือวัลย์ ฝั่งธนบุรีอันเป็นวัดประจำของชาวลูกประดู่

 


ป้ายอัฐิ พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ ณ วัดเครือวัลย์

 

ปริศนาชื่อ “ซอยทองหล่อ”

เล่ากันว่านามเดิมของผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธินคนแรกนี้

“...ได้กลายมาเป็นชื่อ ‘ซอยทองหล่อ’ ถนนสุขุมวิท หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบ เพราะย่านนี้ในสมัยสงครามเคยมีบาร์ญี่ปุ่นตั้งอยู่ในเส้นทางสายตะวันออก เขตรับผิดชอบของทหารเรือ” [18]

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อมูลอีกแห่งหนึ่งซึ่งกล่าวถึงที่มาของชื่อ “ซอยทองหล่อ”  ไว้ภายในหนังสืออนุสรณ์งานศพคุณทองหล่อ ทองบุญรอด บันทึกไว้ว่า ชื่อซอยทองหล่อมาจากชื่อ “ทองหล่อ ทองบุญรอด” ซึ่งเกิดเมื่อ พ.ศ. 2439 เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2515 มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับทหาร ขำหิรัญ (ทองหล่อ ขำหิรัญ) ข้อมูลส่วนนี้ปรากฏในอนุสรณ์งานศพว่า ผู้วายชนม์มาจัดสรรที่ดิน ทำอสังหาริมทรัพย์ จนใช้ชื่อผู้จัดสรรเรียกถนนชื่อ “ซอยทองหล่อ” [19]

 


พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ ในปัจฉิมวัย

 

ป.ล. บุตรีพลเรือตรีทหารกับผู้ว่าฯ ชัชชาติ

พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ สมรสครั้งแรกกับนางสาวแฉล้ม ดิษฐ์สำอาง ให้กำเนิดธิดา 3 คน ต่อมาได้แต่งงานใหม่มีบุตรชาย 2 คนและบุตรหญิงอีก 1 คน ทั้งนี้ หนึ่งในธิดาของนายทหารเรือคณะราษฎรผู้นี้คือพยาบาลผู้ทำคลอดนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน โดยในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ขณะผู้ว่าฯ ท่านนี้ลงพื้นที่ย่านบางกอกน้อย ได้เดินผ่าน ‘นันทอุทยานสโมสร’ กองทัพเรือ  ระหว่างเดินเท้าในตรอกหลังวัดลครทำ ใกล้โรงพยาบาลธนบุรี มีผู้สูงวัย 2 รายเข้ามาพูดคุย รายหนึ่งอายุถึง 94 ปี โดยกล่าวว่า ตนคือลูกของ ‘พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ’ นายชัชชาติอุทาน ‘โอ้โห!’ พร้อมกล่าวว่า เป็นบุคคลในตำนาน ได้ยินชื่อมานานแล้ว นอกจากนี้ ยังระบุว่า น้องสาวของตนเป็นผู้ ‘ทำคลอด’ นายชัชชาติมากับมือ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 [20]

อนึ่ง ทายาทพลเรือตรีทหารยังมอบหนังสือ ‘ด้วยเกียรติและศักดิ์ศรี: พลเรือตรี ทหาร (ทองหล่อ) ขำหิรัญ’ เขียนโดย เฉลิมวงษ์ มากนวล และเฉลิม มากนวล หน้าปกเป็นภาพของพลเรือตรีทหารในวัยหนุ่ม ซึ่งมีอนุสาวรีย์ทหารนาวิกโยธิน ที่หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ณ ค่ายกรมหลวงชุมพร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เป็นภาพพื้นหลังคุณยายบอกว่า ‘อย่าเอาไปทิ้งนะ’ ผู้ว่าฯ รีบยืนยัน ไม่ทิ้งขว้างอย่างแน่นอน

 


ภาพปกหนังสือด้วยเกียรติและศักดิ์ศรี: พลเรือตรี ทหาร (ทองหล่อ) ขำหิรัญ เขียนโดย เฉลิมวงษ์ มากนวล และเฉลิม มากนวล ที่ทายาทของพลเรือตรี ทหาร ขำหิรัฐมอบให้ผู้ว่าชัชชาติ สิทธิพันธุ์

 

หมายเหตุ

  • คงอักขร การสะกด และรูปแบบการอ้างอิงตามต้นฉบับ

 

 


[1] ทหาร ขำหิรัญ, กุหลาบเพื่อนตาย 24 มิถุนายน 2475, อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.อ. กำลาภ กาญจนสกุล ร.น. ณ เมรุวัดธาตุทอง วันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2515, (กรุงเทพการพิมพ์), น. 48-49.

[2] เฉลิมวงษ์ มากนวล และเฉลิม มากนวล, ด้วยเกียรติและศักดิ์ศรี พลเรือตรี ทหาร(ทองหล่อ) ขำหิรัญ, พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2559, (อมรินทร์พริ้นติ้ง), น. 2.

[3] ทหาร ขำหิรัญ, คำไว้อาลัยในอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สุวรรณชีพ) ณ เมรุวัดธาตุทอง วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2516, (ชวนพิมพ์), น. (25).

[4] เฉลิมวงษ์ มากนวล และเฉลิม มากนวล, ด้วยเกียรติและศักดิ์ศรี พลเรือตรี ทหาร(ทองหล่อ) ขำหิรัญ, พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2559, (อมรินทร์พริ้นติ้ง), น. 116.

[5] เหมันต สีหศักกพงศ์ สุนทร, ประวัติหน่วยทหาร (ส่วนราชการในกองทัพเรือ), กองประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ทหาร กองบัญชาการสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2564, (สามดีออล์), น. 242.

[6] ประกาสตั้งและแต่งตั้งรัถมนตรี, ราชกิจจานุเบกสา วันที่ 2 สิงหาคม 2487 เล่ม 61 ตอนที่ 46 หน้า 733-736 จุดเชื่อมต่อ https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2487/A/046/733.PDF และ ดู ลำดับความเป็นมาของคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 11 (2 สิงหาคม 2487-31 สิงหาคม 2488) จุดเชื่อมต่อ https://www.soc.go.th/?page_id=5812

[7] ดูเอกสารแนะนำตัวผู้สมัคร ส.ส.2518 เลือกใครดี 9 เขตในกรุงเทพมหานคร วันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2518, จัดทำโดย “กลุ่มอาสาสมัคร ไอ.อาร์เอส”, (ส. พยุงพงศ์), (ไม่มีเลขหน้า).

[8] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, หลากเรื่องเล่า เมื่อปรีดีหนีครั้งแรก ดู https://www.the101.world/pridi-banomyong-first-asylum/

[9] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, ปรีดีหนี ครั้งหลัง พ.ศ. 2492 ดู https://www.the101.world/pridi-banomyong-last-asylum/

[10] ทหาร ขำหิรัญ, คำไว้อาลัยในอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สุวรรณชีพ) ณ เมรุวัดธาตุทอง วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2516, (ชวนพิมพ์), น. (35).

[11] นริศ จรัสจรรยาวงศ์ บรรณาธิการ, ทหารเรือกบฏแมนฮัตตัน ฉบับปรับปรุง, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2565, (มติชน).

[12] เฉลิมวงษ์ มากนวล และเฉลิม มากนวล, ด้วยเกียรติและศักดิ์ศรี พลเรือตรี ทหาร(ทองหล่อ) ขำหิรัญ, พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2559, (อมรินทร์พริ้นติ้ง), น. 74.

[13] ศิวะ รณชิต (สุวัฒน์ วรดิลก), จดหมายจากลาดยาว, พิมพ์ครั้งที่ 2  2537, (อารยะสาส์น), น. 213-215.

[14] ชีวิตและการทำงาน ทองใบ ทองเปาด์ ทนายประชาชน-ทนายแม็กไซไซ และงานเขียน คอมมิวนิสต์ลาดยาว, 2554, (เพชรประกาย), น. 262.

[15] นรนิติ เศรษฐบุตร, คนการเมือง เล่ม 4, พ.ศ. 2561, (ศูนย์การพิมพแก่นจันทร์), น. 71.

[16] เฉลิมวงษ์ มากนวล และเฉลิม มากนวล, ด้วยเกียรติและศักดิ์ศรี พลเรือตรี ทหาร(ทองหล่อ) ขำหิรัญ, พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2559, (อมรินทร์พริ้นติ้ง), น.120.

[17] เฉลิมวงษ์ มากนวล และเฉลิม มากนวล, ด้วยเกียรติและศักดิ์ศรี พลเรือตรี ทหาร(ทองหล่อ) ขำหิรัญ, พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2559, (อมรินทร์พริ้นติ้ง), น. 110.

[18] เฉลิมวงษ์ มากนวล และเฉลิม มากนวล, ด้วยเกียรติและศักดิ์ศรี พลเรือตรี ทหาร(ทองหล่อ) ขำหิรัญ, พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ.2559, (อมรินทร์พริ้นติ้ง),  น. 32 และอีกท่านที่อ้างว่าเป็นที่มาชื่อซอยนี้ ดู พุทธเจดีย์  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายทองหล่อ ทองบุญรอด วัดพุทธโคดม จ.ชลบุรี วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2529, (โรงพิมพมหามกุฏราชวิทยาลัย), น. ง.

[19] “ชื่อ “ซอยทองหล่อ” มาจากไหน? ฤๅจะเป็นชื่อทหารในคณะราษฎร หรือนักธุรกิจจัดสรรที่ดิน?” ดู https://www.silpa-mag.com/history/article_65512  และดู The People Story - ซอยทองหล่อ อนุสรณ์คณะราษฎร https://www.facebook.com/watch/?v=267985024506113

[20] “ชัชชาติ ไลฟ์ ‘พรานนก’ ไม่บอกล่วงหน้า ตะลึง! เจอพยาบาลทำคลอดเมื่อ 56 ปีก่อน” ดู https://www.matichon.co.th/heading-news/news_3448640 และ “‘ทหาร ขำหิรัญ’ 1 ในคณะราษฎร บุคคลในหนังสือที่ ‘ชัชชาติ’ รับจากครอบครัวพยาบาลทำคลอด 56 ปีก่อน” ดู https://www.matichon.co.th/local/news_3452540   และ “โลกกลม ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ปลื้มพบพยาบาลทำคลอด” ดู https://www.facebook.com/watch/?v=735628031014018