ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

“ปรีดีกับพวกยังอยู่ในกรุงเทพฯ นี่เอง” จอมพล ป. เอ่ยถึงนายปรีดี พนมยงค์ หลังเหตุการณ์ 26 กุมภาพันธ์ 2492

27
กุมภาพันธ์
2566

ย่อมจะเป็นที่ทราบกันดีในหมู่ผู้สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่า “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์” ภายใต้การนำของ นายปรีดี พนมยงค์ เพื่อต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยกลับคืนมาจากรัฐบาลเผด็จการทหารนั้นประสบความล้มเหลว หลังจากที่กองกำลังของเขาอันประกอบด้วยอดีตเสรีไทยและลูกศิษย์เข้ายึดพื้นที่เมืองหลวง และประกาศยึดอำนาจ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม พร้อมทั้งประกาศจัดตั้งรัฐบาลใหม่ผ่านทางวิทยุในคืนวันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492

เริ่มต้นจากการมุ่งหน้าไปยังมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อเวลาราว 21.00 น. ก่อนจะสั่งการให้กองกำลังส่วนหนึ่งไปปลดอาวุธกองทหารผู้รักษาพระบรมมหาราชวัง เพื่อหมายจะเข้าไปตั้งกองบัญชาการขึ้น ทว่าได้เกิดการปะทะกับกองกำลังทหารบกของฝ่ายรัฐบาล มิหนำซ้ำแผนการที่จะให้ทหารเรือยกกำลังพลจากสัตหีบมาช่วยสนับสนุนก็ไม่เป็นไปตามคาด โดยฝ่ายทหารเรืออ้างเหตุว่าเรือเกยตื้นเพราะน้ำลงที่บางปะกง จนท้ายสุด ขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของนายปรีดีในครั้งนี้จึงพ่ายแพ้ราบคาบ

 

จอมพล ป. พิบูลสงคราม คนชุดสูทสีขาว และ พลโทผิน ชุณหะวัณ (ผู้สวมชุดทหารด้านหลังจอมพล ป.)
จอมพล ป. พิบูลสงคราม คนชุดสูทสีขาว และ พลโทผิน ชุณหะวัณ (ผู้สวมชุดทหารด้านหลังจอมพล ป.)

 

ช่วงเดือนมีนาคมปีเดียวกัน แม้สถานการณ์กรณี “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์” เข้ายึดวังหลวงและการปะทะกันด้วยกำลังอาวุธจะสงบลง บรรดาหน่วยทหารต่างๆ แยกย้ายกลับคืนสู่กรมกองภายในเวลากำหนดตามคำสั่งของรัฐบาล แต่บรรยากาศทางการเมืองยังคงไม่ผ่อนคลายความตึงเครียด ฝ่ายรัฐบาลได้แถลงถึงการใช้งบประมาณจำนวนมากในการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือที่ใช้คำเรียกว่า “ปราบจลาจล” คราวนี้ ดังที่ พลเรือตรี หลวงพลสินธวาณัติก์ (ยศขณะนั้น) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวแก่คณะผู้แทนหนังสือพิมพ์ว่า ในการปราบปรามเหตุจลาจล ทางกองทัพบกใช้จ่ายงบประมาณไปหนึ่งล้านบาท กองทัพเรือก็ใช้จ่ายงบประมาณไปหนึ่งล้านบาท ส่วนตำรวจยังประมาณไม่ถูก แต่คาดว่าคงจะไม่ถึงหนึ่งล้าน

ด้านชนวนของเหตุการณ์ ทางฝ่ายรัฐบาลมองว่ามีการยุแหย่ให้ทหารบกและทหารเรือเกิดแตกแยกกันจนนำไปสู่การปะทะรุนแรงด้วยกำลังอาวุธ รัฐมนตรีช่วยยังเปิดเผยต่ออีกว่า นายทหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งสามกองทัพจะได้จัดงานเลี้ยงเพื่อความปรารถนาที่ให้จะสมานสามัคคีกันในวันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2492 ณ กระทรวงกลาโหม

 

หลวงพลสินธวาณัติก์
หลวงพลสินธวาณัติก์

 

ทางด้าน พลโท ผิน ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) ผู้บัญชาการทหารบก ก็ออกมากล่าวทำนองว่า การป้องกันประเทศชาตินั้น กองทัพบกไม่สามารถจะทำได้สำเร็จโดยลำพัง จำเป็นต้องอาศัยกองทัพเรือและกองทัพอากาศ ตลอดจนประชาชนพลเมืองทุกคน ฉะนั้น การวิพากษ์วิจารณ์ว่าใครสำคัญกว่าใคร กองทัพใดวิเศษกว่ากัน ทหารเหล่าใดเป็นของบุคคลหรือคณะบุคคลใด จะสร้างความกระทบกระเทือนต่อจิตใจ ขอให้ระงับการวิพากษ์วิจารณ์ทำนองนี้ ส่วนปัญหาเรื่องที่ทำให้กองทัพบกและกองทัพเรือกระทบกระทั่งกัน ก็กำลังสอบสวนอยู่เพื่อดำเนินการอย่างเที่ยงธรรม จึงขอให้ทุกฝ่ายอย่าได้คิดอาฆาตเจ็บแค้นต่อกันเป็นส่วนตัวอีกเลย

ขณะเดียวกัน พลตำรวจโท หลวงชาติตระการโกศล (เจียม ลิมปิชาติ) (ยศขณะนั้น) อธิบดีกรมตำรวจ ได้กล่าวกับผู้แทนหนังสือพิมพ์ถึงหลักเกณฑ์ในการจับกุมผู้ก่อการเข้ายึดวังหลวงในคืนวันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ ตามที่ยินข่าวลือหนาหูว่า มีคำสั่งให้จับตายนั้น ไม่เป็นความจริง ทางตำรวจมิได้สั่งให้จับตายเลย

 

หลวงชาติตระการโกศล (เจียม ลิมปิชาติ)
หลวงชาติตระการโกศล (เจียม ลิมปิชาติ)

 

นั่นคือ สิ่งที่นายตำรวจระดับสูงแถลงต่อสื่อ แต่ตามข้อเท็จจริง หลังจากรัฐบาลเผด็จการทหารสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ ก็หมายมั่นจะกวาดล้างพวก “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์” รวมถึงพวกฝ่ายค้านและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอย่างรุนแรงและไม่เป็นธรรม ขั้นแรกสุดคือ กองบัญชาการปราบจลาจลได้มีคำสั่งให้ประกาศจับทั่วราชอาณาจักรต่อคณะผู้ก่อการจำนวน 18 ราย ได้แก่

  1. นายปรีดี พนมยงค์
  2. เรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช
  3. สิบตำรวจตรีสิงโต ไทรย้อย
  4. ร้อยตำรวจเอก เชื้อ สุวรรณศร
  5. ร้อยตำรวจเอก สมศักดิ์ พัวเวช
  6. พลตรี สมบูรณ์ ศรานุชิต
  7. ดร.ทวี ตะเวทิกุล
  8. นายประสิทธิ์ ลุลิตานนท์
  9. นายพูล พุกกะรัตน์
  10. นายปราโมช พึ่งสุนทร
  11. หลวงอรรถสารประสิทธิ์
  12. นายไสว สุทธิพิทักษ์
  13. ร้อยตรี นาม วุฒิตาภัย
  14. นายเนื่อง สุขพูล
  15. ร้อยตรี อำนวย สุวรรณกิจบริหาร
  16. นายอันดับ รองเดช
  17. นายจำรัส สืบพิทักษ์
  18. พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ

นอกจากนี้ ก็มีความพยายามจับกุมบรรดาอดีตรัฐมนตรี นักการเมือง ข้าราชการ รวมถึงกลุ่มพลเรือนที่ให้การสนับสนุน นายปรีดี เช่น นายเดือน บุนนาค, นายชิต เวชประสิทธิ์, นายเยื้อน พานิชวิทย์, นายเตียง ศิริขันธ์ และ นายวิจิตร ลุลิตานนท์

ในการจับกุมผู้สนับสนุนนายปรีดีบางราย เจ้าหน้าที่รัฐก็ใช้ความรุนแรงจนถึงแก่ชีวิต ดังกรณีที่นายตำรวจอัศวินภายใต้การบังคับบัญชาของ พล.ต.ต.เผ่า ศรียานนท์ ไปจับกุม พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข โดยจับตายและอ้างว่าเพราะ พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ต่อสู้ไม่ยอมจำนน จึงจำเป็นต้องวิสามัญฆาตกรรมเมื่อวันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ หรือกรณีของ 4 รัฐมนตรีอีสาน ได้แก่ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายจำลอง ดาวเรือง, นายถวิล อุดล และ นายทองเปลว ชลภูมิ ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปสังหารอย่างเหี้ยมโหดย่านบางเขน แต่ฝ่ายตำรวจกลับอ้างว่าสี่รัฐมนตรีตายเพราะมีโจรมลายูมาบุกชิงตัวจนเกิดการปะทะต่อสู้กันเมื่อวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม

สำหรับกรณีเหล่านี้ หลวงชาติตระการโกศล แถลงว่า เรื่องคนร้ายที่ยิง 4 รัฐมนตรีอีสาน ตำรวจกำลังสอบสวนอยู่อย่างกวดขัน ส่วนข่าวลือที่ว่า นายวิจิตร ลุลิตานนท์ ถูกสังหารไปแล้ว ตนไม่เชื่อว่าเป็นความจริง พร้อมทั้งยืนยันว่าไม่ได้มีคำสั่งให้จับกุม พล.ร.ต.สังวร สุวรรณชีพ และไม่ได้สั่งให้จับกุมเสรีไทยทั้งหลาย จะจับกุมเฉพาะเสรีไทยที่ทำความผิด

บุคคลหนึ่งที่คณะผู้แทนหนังสือพิมพ์รวมถึงประชาชนทั่วไปอยากจะทราบความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์” เข้ายึดวังหลวงมากที่สุด นั่นคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี อีกทั้งยังเป็นสมาชิกคณะราษฎรผู้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ร่วมกับนายปรีดี

ผ่านไปราวสามสัปดาห์ภายหลังเหตุการณ์ 26 กุมภาพันธ์ จอมพล ป. ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษแก่หนังสือพิมพ์ เกียรติศักดิ์ และหนังสือพิมพ์ นครสาร เกี่ยวกับสถานการณ์คืนนั้น โดยกล่าวว่าเรื่องนี้ไม่มีอะไรเป็นความลับ เพราะ “ปิดไว้วันนี้ วันหน้าก็จะต้องแดงอย่างไม่มีปัญหา”

จอมพล ป. ยังกล่าวถึงการจับกุมผู้ที่ร่วมกันก่อการ โดยในวันเกิดเหตุนั้น ทางกองทัพเรือรายงานมายังรัฐบาลว่า ทหารเรือสามารถจับพวกผู้ก่อการไว้ได้จำนวนกว่า 30 คน รัฐบาลจึงมีหนังสือแจ้งให้เจ้าหน้าที่กองทัพเรือส่งตัวผู้ที่ถูกจับได้ทั้งหมดแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินคดี แต่ต่อมากองทัพเรือตอบกลับหนังสือของรัฐบาลว่า ผู้ก่อการที่จับได้หลบหนีไปหมดแล้ว เพราะการควบคุมของทหารเรือไม่แน่นหนา ประกอบกับขณะนั้นเป็นเวลาฉุกเฉิน เลยชุลมุน อย่างไรก็ตาม ทางกองทัพเรือได้ตั้งกรรมการขึ้นสอบสวนกรณีแล้ว ส่วนการที่นายปรีดีและสมัครพรรคพวกหลบหนีไปได้ ก็เพราะทางด้านกองเรือกลไม่มีตำรวจประจำอยู่ จอมพล ป. กล่าวย้ำอีก “ปรีดีกับพวกยังอยู่ในกรุงเทพฯ นี่เอง”

การเดินทางออกนอกประเทศของนายปรีดีภายหลังก่อการ 26 กุมภาพันธ์ 2492 ไม่สำเร็จ นับเป็นสิ่งที่ยากลำบากยิ่ง เขาต้องคอยหลบหนีการจับกุมของทางการและหลบซ่อนตัวตามบ้านญาติมิตรในกรุงเทพฯ อย่างเร้นลับ แต่ก็เกรงจะไม่ปลอดภัยหากเจ้าหน้าที่บุกมาตรวจค้น ท่านผู้หญิงพูนศุข ภริยา จึงต้องพาไปซ่อนตัวที่บ้านฉางเกลือฝั่งธนบุรี จอมพล ป. คงพอจะทราบเรื่องความพยายามหลบซ่อนตัวของนายปรีดี จึงกล่าวกับสื่อที่มาสัมภาษณ์

 

บ้านฉางเกลือ
บ้านฉางเกลือ

 

เมื่อผู้แทนหนังสือพิมพ์ถาม จอมพล ป. ทำนอง นายปรีดีจะกลับเข้ามาก่อการอีกหรือไม่ จอมพล ป. ตอบว่า

 

“เป็นเรื่องพูดยาก ประการหนึ่งเพราะ ปรีดียังมีชีวิตอยู่ ถ้าจะว่ากลับมาไม่ได้ก็ใช่ที่ อีกประการหนึ่งเพราะปรีดีอ่อนกว่าผม ๓ ปี ถ้าผมตายไปแล้ว ปรีดีกลับมาได้อีก ผมจะกลายเป็นคนพูดโกหก”

 

ภายหลัง “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์” พ่ายแพ้ในการต่อสู้ทวงคืนประชาธิปไตยมาจากรัฐบาลเผด็จการทหาร นายปรีดีก็แทบจะหมดสิ้นบทบาททางการเมือง ต้องระหกระเหินลี้ภัยในต่างแดน มิหนำซ้ำ ยังถูกประโคมโจมตีให้กลายเป็นผู้ร้ายในสายตาชาวไทยอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะที่ผู้ก่อการเข้ายึดพระบรมมหาราชวังเป็นศูนย์บัญชาการนั้น ก็มีกระแสใส่ความว่า เพราะนายปรีดีมักใหญ่ใฝ่สูงจะเปลี่ยนแปลงประเทศเป็นสาธารณรัฐ

นายปรีดี มิได้กลับเข้ามาปฏิบัติการอะไรในเมืองไทยอีกเลย ด้าน จอมพล ป. ครั้นเวลาล่วงเลยไปนานหลายปีก็อาจจะระลึกขึ้นได้ว่า ที่ผ่านมา ตนต้องประคับประคองอำนาจเอาไว้ท่ามกลางกลุ่มศักดินาและคณะเผด็จการทหารอย่างมิค่อยจะราบรื่นเท่าใดนัก เพราะผองเพื่อนคณะราษฎรที่เคยร่วมแรงร่วมใจด้วยกันก็ล้วนถูกตนกำจัดออกไปจากวิถีทางการเมืองจนแทบจะไม่เหลือใครเคียงข้าง

ช่วงปลายรัฐบาล โดยเฉพาะภายหลังปี พ.ศ. 2500 แล้ว จอมพล ป. จึงพยายามจะติดต่อสื่อสารในทางลับกับนายปรีดี มิตรสหายเก่า ซึ่งกำลังพำนักอยู่ในเมืองจีน เพื่อจะให้กลับคืนประเทศมาช่วยกันต่อสู้กับกลุ่มศักดินา ดังที่ ปาล พนมยงค์ บุตรชายของนายปรีดี เคยเล่าให้เพื่อนหนุ่มอย่าง ประจวบ อัมพะเศวต ฟังว่า ก่อนที่เขาจะอุปสมบท ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2500 เขาได้เข้าพบ จอมพล ป. นายกรัฐมนตรี ซึ่งจอมพลอนุโมทนาและกล่าวขึ้นกับปาลก่อนลากลับทำนอง “บอกคุณพ่อของหลานด้วยนะว่า ลุงอยากจะให้กลับมาช่วยลุงทำงานให้ชาติ ลุงคนเดียวสู้ศักดินาไม่ไหวแล้ว”

อนึ่ง ครั้นเมื่อจอมพล ป. พยายามจะรื้อฟื้นคดีสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ขึ้นมาพิจารณาใหม่ ทั้งนี้ก็เพื่อหาหนทางให้นายปรีดี เดินทางกลับมาเมืองไทย แต่ยังมิทันที่จะสำเร็จ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลเสียก่อนเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพล ป. ต้องลี้ภัยทางการเมืองไปพำนักอยู่ประเทศญี่ปุ่น ช่วงเวลานั้น จอมพล ป. ได้เขียนจดหมายติดต่อสื่อสารกับนายปรีดีที่อยู่ประเทศจีน

ในปี พ.ศ. 2507 จอมพล ป. ส่งจดหมายพร้อมการ์ด ส.ค.ส. ฉบับหนึ่งถึงนายปรีดี โดยตอนลงท้ายจดหมาย เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “Please อโหสิกรรม” กระทั่ง จอมพล ป. ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน ปีเดียวกัน นับแต่นั้นนายปรีดีก็มิได้กลับบ้านเกิดเมืองนอน ตราบจนหมดสิ้นลมหายใจในฝรั่งเศสเมื่อวันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526

การเอ่ยถึง นายปรีดี พนมยงค์ โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายหลังเหตุการณ์คืนวันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 สะท้อนให้เห็นว่าสมาชิกคณะราษฎรทั้งสองที่เคยเป็นเพื่อนกันมา ตั้งแต่ครั้งเป็นนักเรียนในฝรั่งเศส เคยร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ด้วยกันมา เคยร่วมดำเนินงานบริหารประเทศมาอย่างแน่นแฟ้น คงถึงคราวจะต้องห่างเหินกันในทางการเมืองเพราะอุดมการณ์ในขณะนั้นมีความแตกต่างกันมากเสียแล้ว

 

เอกสารอ้างอิง :

  • ชานันท์ ยอดหงษ์. หลังบ้านคณะราษฎร : ความรัก ปฏิวัติ และการต่อสู้ของผู้หญิง. กรุงเทพฯ: มติชน, 2564.
  • ไทยน้อย (เสลา เรขะรุจิ). ๒๕ คดีกบฏ. พระนคร : ประมวลสาส์น, 2513.
  • ประจวบ อัมพะเศวต. พลิกแผ่นดิน : ประวัติศาสตร์การเมืองไทย 24 มิถุนายน 2475-14 ตุลาคม 2516. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2543.
  • พูนศุข พนมยงค์, ท่านผู้หญิง. ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น ๙๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน พูนศุข พนมยงค์. บรรณาธิการ วาณี พนมยงค์-สายประดิษฐ์. กรุงเทพฯ: ตถาตาพับลิเคชั่น, 2551.
  • สยามสมัยรายสัปดาห์. 2 (95), (7 มีนาคม 2492).
  • สยามสมัยรายสัปดาห์. 2 (96), (14 มีนาคม 2492).
  • สยามสมัยรายสัปดาห์. 2 (97), (21 มีนาคม 2492).
  • สยามสมัยรายสัปดาห์. 2 (98), (28 มีนาคม 2492).
  • สุเพ็ญ ศิริคูณ. กบฏวังหลวง (26 กุมภาพันธ์ 2492). วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2518.