ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

อ่านคำพิพากษาคดีฆาตกรรมทางการเมือง “สี่อดีตรัฐมนตรี”

4
มีนาคม
2566

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทุกคนเป็นตำรวจประจำการเมื่อระหว่างเวลากลางคืน (หลังเที่ยง) ของวันที่ 3 มีนาคม 2492 ถึงเวลากลางคืน (ก่อนเที่ยง) ของวันที่ 4 มีนาคม 2492 ซึ่งเป็นเวลากลางคืนติดต่อกัน จำเลยได้บังอาจกระทำผิดต่อกฎหมาย กล่าวคือ ขณะนั้นจำเลยที่ 1 (พลตำรวจจัตวา ผาด ตุงคะสมิต) รับราชการเป็นรองผู้กำกับการ กอง 4 กองตำรวจสันติบาล จำเลยที่ 2 (พลตำรวจจัตวา ทม จิตรวิมล) รับราชการเป็นผู้กำกับการ กอง 2 กองตำรวจสันติบาล จำเลยที่ 3 (ร้อยตำรวจโท จำรัส ยิ้มละมัย)  ที่ 4 (ร้อยตำรวจโท ธนู พุกใจดี) รับราชการเป็นนายสิบตำรวจประจำกองตรวจตำรวจนครบาลใต้ จำเลยที่ 5 (สิบตำรวจเอก แนบ นิ่มรัตน์) รับราชการเป็นพลตำรวจสมัคร ประจำกองตรวจตำรวจนครบาลใต้ จำเลยกับพวกซึ่งตายไปแล้วหนึ่งคน และที่ยังหลบหนีอยู่อีกหลายคน เป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจสืบสวนคคีอาญาได้สมคบร่วมกันกระทำการอันมิควรกระทำในตำแหน่งหน้าที่ของตน คิดร้ายต่อนายทองเปลว ชลภูมิ  นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์  นายถวิล อุดล และนายจำลอง ดาวเรือง ซึ่งถูกจับและควบคุมไว้โดยเจ้าพนักงานตำรวจ

ตามวันเวลาดังกล่าวแล้วข้างต้น จำเลยกับพวกได้สมคบร่วมกันกระทำเพทุบายไปขอรับตัวนายทองเปลว ชลภูมิ จากที่คุมขังกองตำรวจสันติบาล รับตัวนายจำลอง ดาวเรือง จากที่คุมขังสถานีตำรวจยานนาวา รับตัวนายถวิล อุดล จากที่คุมขังสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง และจับตัวนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ จากที่คุมขังสถานีตำรวจจนครบาลสามเสน จัดการควบคุมคนทั้งสี่ออกเดินทางโดยรถยนต์ไปตามถนนพหลโยธิน

ต่อมาได้ให้รถยนต์หยุด แล้วจำเลยกับพวกได้สมคบร่วมกัน ใช้อาวุธปืนยิงคนทั้งสี่ ขณะที่ถูกใส่กุญแจมืออยู่นั้นรวมหลายนัด โดยมีเจตนาฆ่าคนทั้งสี่ให้ถึงแก่ความตายทันทีหรือเกือบทันที สมดั่งเจตนาของจำเลยกับพวก ทั้งนี้จำเลยกับพวกได้กระทำโดยได้ไตร่ตรองไว้ก่อน และโดยพยายามด้วยความพยาบาทมาดหมาย ทั้งเป็นการกระทำโดยทรมานทารุณโหดร้าย หรือแสดงความดุร้ายแก่ผู้ตายทั้งสี่ให้ได้รับความลำบากอย่างแสนสาหัส รายการบาดแผลของผู้ตายทั้งสี่ปรากฏตามรายงานชันสูตรพลิกศพ ซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำไว้ เหตุเกิดที่ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร

เมื่อได้กระทำผิดดังกล่าวแล้วโดยเจตนาที่จะช่วยให้ตนเองและให้ผู้อื่นพ้นอาญา จำเลยกับพวกได้เพทุบายกระทำสิ่งซึ่งเป็นสักขีพยานโดยเป็นเท็จขึ้น และเอาเนื้อความที่รู้อยู่ว่าเป็นเท็จมาบอกเล่าต่อผู้บังคับบัญชา ต่อประชาชน และแจ้งต่อเจ้าพนักงานสถานีตำรวจนครบาลบางเขน เพื่อให้หลงเชื่อไปในทางที่เป็นข้อเท็จว่า การที่คนทั้งสี่ถูกยิงตายนี้ เนื่องในระหว่างทาง ตำรวจได้เอาขึ้นรถยนต์ไป เพื่อเอาผู้ตายไปฝากควบคุมที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน มีผู้ร้ายดักแย่งชิงเกิดยิงต่อสู้กันกระสุนปืนถูกคนทั้งสี่ตาย คนร้ายหลบหนีไปได้

ขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 63, 249, 250 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 288, 289 และนับโทษจำเลยที่ 2 ติดต่อกับสำนวนของศาลจังหวัดชัยนาทคดีอาญาหมายเลขดำที่ 125/2501 จำเลยทั้งห้าให้การรับว่าเป็นเจ้าพนักงานจริง แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิดดังฟ้อง

ศาลอาญาพิจารณา แล้วพิพากษาว่านายพลตำรวจจัตวาผาด นายพลตำรวจจัตวาทม และนายสิบตำรวจเอกแนบ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 มีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 249 ซึ่งบัญญัติโทษไว้เท่ากันกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ให้วางโทษจำคุกจำเลยทั้งสามคนนี้ไว้ตลอดชีวิต ส่วนนายร้อยตำรวจโทจำรัส และนายร้อยตำรวจโทธนู จำเลยที่ 3 และที่ 4 หลักฐานคำพยานโจทก์ยังไม่มั่นคง จึงยกประโยชน์ให้เป็นผลดีแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสองนี้ ที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากคดีของศาลจังหวัดชัยนาทนั้น ปรากฏว่าคดีนั้นยังไม่ได้ตัดสิน ให้ยกคำขอนั้นเสีย

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ที่ 4 ด้วย และให้ลงโทษจำเลยทุกคนในสถานหนัก

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง อ้างว่าพยานหลักฐานโจทก์ ไม่มีน้ำหนักพอฟังว่าจำเลยกระทำความผิด และไม่ปรากฏว่าได้มีการชันสูตรพลิกศพโดยถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 เพราะไม่มีผู้พิพากษาร่วมทำการชันสูตรพลิกศพด้วย ทั้งจำเลยควรจะได้รับนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499 มาตรา 4 แล้ว

 

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ฎีกาต่อมา โดยอธิบดีกรมอัยการรับรองฎีกาของโจทก์

ศาลฎีกาได้ฟังพนักงานอัยการ โจทก์และทนายจำเลยแถลงการณ์ด้วยวาจา และตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า นายทองเปลว ชลภูมิ  นายจำลอง ดาวเรือง  นายถวิล อุดล  นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ได้ถูกยิงตายในระหว่างทางที่ตำรวจซึ่งมีจำเลยกับพวกควบคุมไปสถานตำรวจนครบาลบางเขน ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 14-15 ถนนพหลโยธิน เมื่อคืนวันที่ 3 ต่อกับวันที่ 4 มีนาคม 2492 เวลาประมาณ 2 นาฬิกา ผู้ตายทั้งสี่คนนี้เป็นนักการเมืองต่างเคยเป็นผู้แทนราษฎร และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมาแล้ว นายทองเปลว เป็นนักการเมืองสังกัดพรรคแนวรัฐธรรมนูญ และเป็นเลขาธิการพรรค นายจำลอง นายถวิล นายทองอินทร์เป็นนักการเมืองสังกัดพรรคสหชีพ นายทองอินทร์เป็นรองหัวหน้าพรรค นายถวิลเป็นเลขาธิการพรรค พรรคแนวรัฐธรรมนูญกับพรรคสหชีพเคยร่วมกันเป็นรัฐบาลสมัยหนึ่ง ซึ่งมีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ผู้ตายทั้งสี่เคยเป็นเสรีไทยและเป็นนักการเมืองทางฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นนักการเมืองคนละฝ่ายกับจอมพล แปลก พิบูลสงคราม และนายพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ในระหว่างที่หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่นั้น ได้เกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 เป็นเหตุให้รัฐบาลชุดหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ต้องหลบหนี และได้มีการตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่โดยมีจอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินแทน

ในระหว่างที่จอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้เกิดกบฏขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2491 ครั้งหลัง เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 การกบฏครั้งหลังนี้ได้ถูกปราบปรามเสร็จสิ้นในวันรุ่งขึ้น คือในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2492 ครั้นต่อมาในวันที่ 28 เดือนนี้เอง นายจำลอง นายถวิล นายทองอินทร์ ได้ถูกจับตัวโดยนายพลตำรวจเอกเผ่า ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมตำรวจ เป็นผู้สั่งให้ออกหมายจับ และในวันที่ 1 มีนาคม 2492 นายทองเปลว ซึ่งได้หลบหนีออกไปอยู่ปีนังอาณาเขตประเทศสหพันธรัฐมะลายู และกลับเข้ามาโดยทางเครื่องบิน ก็ได้ถูกรับที่สนามบินดอนเมืองด้วย แล้วคนทั้งสี่ได้ถูกแยกย้ายควบคุมไว้ในที่ต่างๆ

ครั้นในคืนวันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 23 นาฬิกาเศษ นายพันตำรวจเอกหลวงพิชิตธุระการ (ยศขณะนั้น) ได้ใช้รถยนต์ของตำรวจ 3 คัน กับนายตำรวจ นายสิบและพลตำรวจรวมประมาณ 20 คนเศษ รถคันที่ 1 เป็นรถจิ๊บก็มีพลตำรวจอรินทร์ เป็นผู้ขับขี่ ซึ่งบัดนี้ได้ตายเสียแล้ว และมีนายพันตำรวจเอกหลวงพิชิตธุระการกับจำเลยที่ 1  ที่ 2  ที่ 3  ที่ 5 และตำรวจอีกคนหนึ่งหรือสองคนนั่งไป รถคันที่ 2 เป็นรถยนต์สเตชั่นแวกก้อน มีนายสิบตำรวจเอกสุธีร์ เปรมกมล ซึ่งขณะนั้นเป็นพลตำรวจเป็นผู้ขับ มีนายร้อยตำรวจเอกพุฒ บูรณสมภพ กับนายร้อยตำรวจโทบุญสม ประไพ (ยศขณะนั้น) นั่งข้างหน้าจำเลยที่ 4 กับตำรวจอีกประมาณ 2-3 คนนั่งข้างหลังรถคันที่ 3 เป็นรถยนต์สเตชั่นแวกก้อนมีนายสิบตำรวจเอกเกียรติศักดิ์ พึ่งเที่ยง ขณะนั้นมียศเป็นนายสิบตำรวจตรีเป็นผู้ขับ มีนายพันตำรวจตรีสุรินทร์ วีระรัตน์ กับมีตำรวจนั่งข้างหลังอีกประมาณ 7-8 คน นายสิบและพลตำรวจดังกล่าวต่างมีปืนคาร์ไบน์ และปืนทอมสันติดตัวไป รถยนต์สองคันหลังแล่นออกจากสวนอัมพร พบรถจิ๊บคันแรกที่ลานพระบรมรูปทรงม้าแล้วแล่นตามกันไป

รถได้ไปรับตัวนายทองเปลวที่กองตำรวจนครบาลปทุมวัน รับตัวนายจำลองที่สถานีตำรวจนครบาลยานนาวา รับตัวนายถวิลที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง และรับตัวนายทองอินทร์ ที่สถานีตำรวจนครบาลสามเสน โดยหลวงพิชิตธุระการอ้างว่าจะนำตัวไปทำการสอบสวน นายทองเปลว นายจำลอง นายถวิล นายทองอินทร์ นั่งรวมกันไปตอนกลางรถยนต์คันที่สองและก่อนที่รถจะออกจากสถานีตำรวจนครบาลสามเสนนั้น หลวงพิชิตธุระการได้เดินเข้าไปข้างหน้ารถยนต์คันที่ 2 พูดสั่งให้นายร้อยตำรวจเอกพุฒ กับนายร้อยตำรวจโทบุญสม เอากุญแจมือใส่มือคนทั้งสี่นั้น โดยใส่กุญแจรวมมือทั้งสองติดกันทุกคน รถยนต์ที่หลวงพิชิตธุระการนั่งได้แล่นนำไปทางถนนริมคลองประปาสามเสน แล้วไปออกถนนพหลโยธิน เมื่อรถยนต์แล่นไปถึงริมคลองประปาสามเสนนั้น ได้มีการตั้งให้ดับดวงไฟหน้ารถคันที่ 2 และที่ 3 เสีย โดยใช้ไฟหรี่แทน

ครั้นเวลาประมาณ 2 นาฬิกา เมื่อรถยนต์แล่นไปถึงที่เกิดเหตุ รถยนต์คันหน้าที่หลวงพิชิตธุระการนั่งไปได้ขับช้าลงแล้วมีเสียงปืนลั่นขึ้น 1 หรือ 2 นัด แล้วรถยนต์คันนั้นก็หยุด นายร้อยตำรวจเอกพุฒได้บอกนายสิบตำรวจเอกสุธีร์ผู้ขับรถยนต์คันที่สองว่า รถยนต์คันหน้าถูกยิง และสั่งให้รถหยุด ส่วนรถคันที่ 3 เมื่อเห็นรถยนต์คันข้างหน้าหยุดก็หยุดบ้าง เมื่อรถยนต์หยุดแล้วพวกเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ลงจากรถหมด หลวงพิชิตธุระการกับตำรวจอีกหลายคนรวมทั้งจำเลยทุกคนได้เดินเข้ามาที่รถยนต์คันที่ 2 ที่ผู้ตายนั่งไป หลวงพิชิตธุระการได้บอกให้ผู้ตายทั้ง 4 คนลงจากรถโดยพูดว่ารถคันหน้าถูกยิง แต่ผู้ตายไม่มีใครยอมลง และได้มีคนหนึ่งในพวกผู้ตายได้พูดขอชีวิต แต่หลวงพิชิตธุระการกลับพูดขยั้นขยอให้ลงจากรถให้ได้ ทั้งได้พูดรับรองว่า ลงจากรถจะเป็นการปลอดภัย ถ้าหากอยู่ในรถจะไม่ปลอดภัย แต่ผู้ตายก็คงไม่มีใครยอมลงจากรถ

ขณะนั้นจำเลยที่ 1 ได้พูดขึ้นว่า “อ้ายพวกนี้กบฏแบ่งแยกดินแดน เอาไว้ทำไม” แล้วจำเลยที่ 2 ก็พูดว่า “อ้ายพวกนี้เป็นกบฏเอาไว้ทำไม” ต่อจากนั้นจำเลยที่ 1 ก็ได้ร้องเรียกชื่อจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 5 ได้วิ่งเข้ามาทางข้างหลังหลวงพิชิตธุระการ หลวงพิชิตธุระการได้เดินหลบออกไป ทั้งได้ตะโกนบอกให้นายร้อยตำรวจเอกพุฒหลบออกไปด้วย แล้วจำเลยที่ 2 ได้ประทับปืนยิงผู้ตาย 1 ชุด และข้างจำเลยที่ 5 นั้นยังมีจำเลยที่ 3 และที่ 4 ยืนอยู่ในท่าเตรียมยิงเหมือนกัน ต่อจากนั้นยังมีการยิงผู้ตายอีก 2-3 ชุด

เมื่อสิ้นเสียงปืนแล้ว จำเลยที่ 1 กับหลวงพิชิตธุระการได้เรียกหาคนขับที่ขับรถยนต์คันที่ 2 นายสิบตำรวจเอกสุธีร์ ผู้ขับรถให้วิ่งเข้าไปหา หลวงพิชิตธุระการได้สั่งให้ไปเปิดไฟในรถขึ้นดูว่า ผู้ตายได้ตายหมดทุกคนหรือยัง เมื่อปรากฏว่าได้ตายหมดทุกคนแล้ว นายร้อยตำรวจเอกพุฒได้สั่งให้นายสิบตำรวจเอกสุธีร์ลากเอาศพผู้ตายลงจากรถ นายสิบตำรวจเอกสุธีร์ได้ลากศพลงจากรถทีละศพ เมื่อลากศพแรกลงไปแล้ว พอลากเอาศพที่ 2 ลงไป นายร้อยตำรวจเอกพุฒได้เอาปืนพกประจำตัวยิงศพนั้น 2 นัด แล้วนายสิบตำรวจเอกสุธีร์ ได้ลากศพลงวางที่พื้นดินอีกหนึ่งศพรวมเป็น 3 ศพด้วยกัน ส่วนศพนายทองเปลวคงเหลืออยู่บนรถ ต่อจากนั้นนายร้อยตำรวจโทบุญสมได้เอา ลูกกุญแจให้นายสิบตำรวจเอกสุธีร์ไขกุญแจออกจากมือผู้ตาย ปรากฏว่าศพหนึ่งกุญแจที่ใส่มือข้างหนึ่งหักเพราะถูกกระสุนปืน

นอกจากนั้นหลวงพิชิตธุระการ ยังได้สั่งให้ใช้ปืนยิงที่ข้างรถคันหน้ากับคันที่ผู้ตายนั่งไปอีก เพื่อให้เห็นว่าได้ถูกคนร้ายยิงมาจากด้านนอกรถ แล้วหลวงพิชิตธุระการกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ไปแจ้งเหตุที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขนว่าได้ควบคุมตัวผู้ตายมาถึงที่เกิดเหตุ ได้มีคนร้ายหลายคนมาดักแย่งชิง ได้เกิดยิงต่อสู้กัน กระสุนปืนได้ถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย และขอกำลังตำรวจออกติดตามจับตัวคนร้าย ส่วนในที่เกิดเหตุนั้น นายร้อยตำรวจเอกพุฒกับนายร้อยตำรวจโทบุญสม ได้ช่วยกันเอาปลอกกระสุนปืนกับบุหรี่ ให้ตำรวจเอาไปโรยตามโคนต้นไม้ตามบริเวณนั้นและให้ตำรวจ ทั้งตัวนายร้อยตำรวจโทบุญสมเอง ลงเดินลุยย่ำในคูริมถนนที่มีน้ำขัง เพื่อให้เห็นว่ามีคนคอยดักอยู่ เมื่อได้ใช้ปืนยิงต่อสู้กันแล้วได้ลุยน้ำข้ามคูหนีไป

ครั้นเมื่อหลวงพิชิตธุระการ กลับจากไปแจ้งเหตุที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขนแล้ว ก็ได้ให้นายร้อยตำรวจโทบุญสม ไปแจ้งเหตุต่อนายพลตำรวจเอกเผ่าที่วังปารุสกวัน และในคืนนั้นได้มีนายพลตำรวจเอกเผ่า หลวงแผ้วพาลชนซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสอบสวนกลาง และขุนจำนงค์รักษา ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจนครบาลเหนือ ไปดูที่เกิดเหตุ แล้วนำศพผู้ตายไปทำการชันสูตรพลิกศพที่โรงพยาบาลกลาง ในเช้าวันรุ่งขึ้นนายร้อยตำรวจโทบุญสมได้นั่งรถจิ๊บไปหานายสิบตำรวจเอกสุธีร์ ยังที่พักสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย และเอานั่งรถไปด้วย ไปที่ท่าน้ำเทเวศร์เอากุญแจมือที่ไขออกจากมือผู้ตายลงไปทิ้งน้ำในลำแม่น้ำเจ้าพระยา ครั้นต่อมาประมาณ วันที่ 8 เดือนนั้นจำเลยที่ 2 ได้นำเอาไฟฉาย 1 ดวงกับรองเท้ายางสีน้ำตาล 1 ข้าง ไปมอบให้แก่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขน โดยไปแจ้งว่าเก็บได้จากที่เกิดเหตุ

ต่อมาได้มีคำแถลงการณ์ ของทางราชการตำรวจออกแถลงว่า การที่ผู้ตายทั้ง 4 คนถูกยิงตายนั้น  ก็เพราะมีคนร้ายมาดักแย่งชิง ได้เกิดยิงต่อสู้กับเจ้าพนักงานตำรวจผู้ควบคุม ลูกกระสุนปืนได้ถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย ในครั้งนั้นนายพันตำรวจตรียงยุทธ ดำรงค์ชัย ซึ่งขณะนั้นมียศเป็นนายร้อยตำรวจเอก และดำรงตำแหน่ง สารวัตรสถานีตำรวจนครบาลบางเขนได้รับคำสั่งจากหลวงสัมฤทธิ์สุขุมวาท ให้เป็นผู้ทำการสอบสวนคดีที่เกิดขึ้นนั้น โดยการสอบสวนมุ่งไปว่าผู้ตายได้ถูกกระสุนปืนที่คนร้ายมาคอยดักแย่งชิง แล้วเกิดยิงต่อสู้กับเจ้าพนักงานตำรวจ และทางตำรวจให้เอานายร้อยตำรวจเอกพุฒเป็นผู้ร้องทุกข์ เจ้าหน้าที่ได้เขียนคำร้องทุกข์ไว้แล้ว และได้ติดต่อให้นายร้อยตำรวจเอกพุฒไปเซ็นชื่อในคำร้องทุกข์แต่นายร้อยตำรวจเอกพุฒก็มิได้ไปเซ็นชื่อจนบัดนี้

ส่วนเรื่องการสอบสวนนั้น ได้ทำการสอบสวนแล้ว แต่เมื่อยังไม่ได้ตัวคนร้ายมาฟ้องร้องซึ่งเป็นคดีอุกฉกรรจ์เช่นนี้ ตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยจะต้องรอสำนวนไว้เป็นเวลา 1 ปี แต่ได้รอสำนวนอยู่ประมาณ 6 เดือน นายพลตำรวจเอกเผ่าก็มีคำสั่งให้เสนอสำนวนนั้นต่อผู้บังคับบัญชาขึ้นไปตามลำดับชั้น และได้มีการสั่งเห็นชอบให้งดทำการสอบสวนเสีย ครั้นเมื่อได้ส่งสำนวนไปยังอธิบดีกรมอัยการ อธิบดีกรมอัยการได้มีคำสั่งว่า การสอบสวนยังไม่สมบูรณ์ส่งสำนวนคืนให้ทำการสอบสวนเพิ่มเติมอีก แต่แล้วสำนวนนั้นก็เลยหายไปโดยไม่รู้ว่าหายไปอย่างไร ทั้งของกลางบางอย่างรวมทั้งรองเท้ายางกับไฟฉายที่จำเลยที่ 2 นำมอบให้ภายหลังก็ได้หายไปด้วย

ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ผู้ตายทั้ง 4 คน ถูกเจ้าพนักงานตำรวจพาตัวไป แล้วถูกยิงตายระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 14-15 ถนนพหลโยธิน ศาลฎีกาจะวินิจฉัยเสียก่อนว่า การที่ผู้ตายถูกเจ้าพนักงานตำรวจพาตัวไปแล้วถูกยิงตายนั้น เป็นเพราะมีคนร้ายมาดักยิงหรือมิใช่

ศาลได้พิเคราะห์ข้อเท็จจริงประกอบด้วยเหตุผลตลอดแล้ว ไม่เห็นมีเหตุใดจะเชื่อว่าได้มีคนร้ายมาแย่งชิงแล้วเกิดสู้กับเจ้าพนักงานตำรวจ กระสุนปืนจึงไปถูกผู้ตายทั้ง 4 ถึงแก่ความตาย ดังคำแถลงการณ์ของทางราชการตำรวจ

โดยข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้ตายทั้ง 4 คน เป็นนักการเมืองทางฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลในขณะนั้น ทั้งเป็นบุคคลสำคัญในพรรคฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลและเคยเป็นรัฐมนตรีมาแล้ว ได้มีการกบฏขึ้นในระหว่างที่จอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตร์ในระยะติดๆ กันถึง 2 ครั้ง ย่อมเป็นที่เข้าใจว่าเพราะพรรคพวกของฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้ก่อขึ้นและมีรายงานว่าผู้ตายได้ร่วมในการกบฏจึงมีเหตุเพ่งเล็งถึงผู้ตายว่าได้มีส่วนร่วมอยู่ด้วยแล้วผู้ตายก็ถูกจับกุมในระยะเวลาใกล้ชิดนั้น และถูกแยกย้ายควบคุมไว้ตามสถานที่ต่างๆ กัน ซึ่งมีเจ้าพนักงานตำรวจควบคุมอยู่อย่างแข็งแรง ไม่มีเหตุที่จะต้องย้ายไปทำการควบคุมที่อื่นรวมกันไว้ทั้ง 4 คน

อนึ่งเมื่อเกิดเหตุแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางเขน ได้ออกสืบสวนถามราษฎรในบริเวณที่เกิดเหตุ ก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดได้พบเห็นคนร้าย ตามคำนายพันตำรวจตรี ยงยุทธ ดำรงชัย ผู้สอบสวนคดีในครั้งนั้นก็ว่าวิถีกระสุนยิงผู้ตายแสดงว่าผู้ยิงยืนยิง ไม่ใช่หมอบหรือนั่งยิง ซึ่งถ้าผู้ยิงเป็นคนรายอื่นที่จะมายิงผู้ตาย จะมายิงในลักษณะเช่นนั้นไม่ได้ ทั้งร่องรอยในบริเวณที่เกิดเหตุก็ไม่แสดงว่ามีคนร้าย มาดักยิงแล้วหนีไป ตามรูปคดีน่าเชื่อว่าผู้ตายทั้ง 4 คน ถูกนำตัวไปกำจัดเสีย ตามความประสงค์ของผู้เมาอำนาจขณะนั้น และผู้ตายถูกยิงถึงแก่ความตายด้วยน้ำมือของเจ้าพนักงานตำรวจที่ควบคุมตัวผู้ตายไปนั้นเอง

ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยได้สมคบกันกระทำความผิด ดังโจทก์ฟ้องหรือไม่ ในข้อนี้ข้อเท็จจริงเป็นอันรับกันว่า จำเลยทุกคนได้ร่วมไปในคณะควบคุมผู้ตายด้วย จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้ร่วมทำการรัฐประหารล้มล้างรัฐบาล ซึ่งมีผู้ตายร่วมเป็นรัฐมนตรีอยู่ แล้วต่อมาได้โอนมารับราชการอยู่ในกรมตำรวจในคราวเดียวกับนายพลตำรวจเอกเผ่า ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญมีอำนาจอยู่ในกรมตำรวจในสมัยรัฐบาลใหม่ ซึ่งมีจอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้นต่อมาเมื่อได้มีผู้ก่อการกบฏเพื่อล้มล้างรัฐบาลที่จอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และฝ่ายรัฐบาลได้ปราบปรามกบฏเสร็จสิ้นแล้ว ได้มีการจับกุมผู้ที่ถูกหาว่าก่อการกบฏ และทางราชการได้ตั้งกองอำนวยการสอบสวนขึ้น จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้มีตำแหน่งหน้าที่อยู่ในกองนี้

ฝ่ายโจทก์นำสืบว่า ก่อนที่รถยนต์ขบวนควบคุมผู้ตายจะหยุด ได้มีเสียงปืนดังขึ้นทางรถจิ๊บคันหน้า 1 หรือ 2 นัด พยานบุคคลของโจทก์ที่สำคัญมีดังนี้ คือนายสิบตำรวจเอกสุธีร์เบิกความว่า เมื่อเสียงปืนดังขึ้นแล้ว นายร้อยตำรวจเอกพุฒ ได้สั่งให้พยานหยุดรถคันที่พาผู้ตายไป โดยบอกว่ารถคันหน้าถูกยิง ครั้นหยุดรถแล้วเห็นนายร้อยตำรวจเอกพุฒกับนายร้อยตำรวจโทบุญสมลงจากรถ และบอกให้พยานและตำรวจทางท้ายรถลงจากรถ พยานจึงลงจากรถเอากุญแจรถไปด้วย ไฟหรี่หน้ารถไม่ได้ดับเพราะลืม ลงจากรถไปยืนทางขวาของรถ ห่างจากรถประมาณ 3-4 เมตร แล้วหลวงพิชิตธุระการกับตำรวจเดินตามมา 4-5 คน มาทางรถด้านขวา

หลวงพิชิตธุระการพูดว่าให้คนในรถลงมาข้างล่าง เพราะรถคันหน้าถูกยิง ตำรวจที่ตามมาจำได้เป็นนายร้อยตำรวจเอกผาด นายร้อยตำรวจเอกทม นายสิบตำรวจตรีแนบ อีก 2-3 คนจำไม่ได้ หลวงพิชิตธุระการพูดขาดคำ ได้ยินเสียงคนหนึ่งพูดว่าอย่าทำผมเลย คุณหลวง นึกว่าสงสารกับผมลูกนกลูกกาตาดำๆ ลูกผมมาก หลวงพิชิตธุระการว่า ลงมาเถอะครับ ไม่มีอะไร อยู่บนรถไม่ปลอดภัย นอกจากนี้ ได้ยินนายร้อยตำรวจเอกผาดพูดว่า อ้ายพวกนี้กบฏแบ่งแยกดินแดน เอาไว้ทำไม นายร้อยตำรวจเอกทมพูดว่า อ้ายพวกนี้กบฏเอาไว้ทำไม

พอขาดคำได้ยินเสียงนายร้อยตำรวจเอกผาดพูดว่าแนบๆ จากนี้นายสิบตำรวจตรีแนบวิ่งเข้ามาทางหลัง หลวงพิชิตธุระการเดินทางซ้ายมือ ห่างรถประมาณ 1 เมตร ถือปืนกลทอมสันแล้วหลวงพิชิตธุระการเดินหลบไปทางหน้ารถแล้วพูดตะโกนว่าพุฒหลบ นายร้อยตำรวจเอกพุฒไปทางหน้ารถ ทันใดนั้นหมู่แนบประทับปืนยิงไปที่รถ 1 ชุด คือรถที่ผู้ต้องหานั่งมา หลังจากนั้นพยานได้ฟุบหน้าลงที่ขอบถนนด้านขวา และไม่ได้เงยหน้าขึ้น อยู่ตรงข้ามกับรถจอดในระยะติดๆ กันได้ยินเสียงปืนกลดัง 2 หรือ 3 ชุดติดๆ กัน ดังที่เดียวกับหมู่แนบยิง 

พอสิ้นเสียงปืนแล้ว ได้ยินนายร้อยตำรวจเอกผาดพูดว่า คนรถอยู่ไหนๆ หลวงพิชิตธุระการก็พูดว่าคนรถอยู่ในรถหรือเปล่า พยานจึงลุกขึ้นและตอบอยู่นี่ครับๆ แล้วพยานจึงวิ่งไปทางที่หลวงพิชิตธุระการยืนอยู่ เห็นหมู่แนบยืนอยู่ที่ข้างรถกับตำรวจอีกสองคนถือปืนอยู่ข้างรถติดๆ กับหมู่แนบคนหนึ่งเป็นตำรวจที่นั่งมาทางท้ายรถพยาน อีกคนหนึ่งนั่งมากับรถคันหน้า (พยานชี้ตัวนายร้อยตำรวจโทจำรัสจำเลยที่ 3 ว่าเป็นคนที่นั่งมาบนรถหลวงพิชิตธุระการและชี้ตัวนายร้อยตำรวจโทธนูจำเลยที่ 4 ว่าเป็นคนที่ให้การมาแล้ว)

ต่อมานายร้อยตำรวจเอกพุฒ ใช้ให้พยานนายร้อยลากศพลงจากรถ ครั้นลากศพที่สองลงมาไว้ติดกับศพที่หนึ่ง นายร้อยตำรวจเอกพุฒก็ควักปืนออกจากเอวยิงไปยังศพที่ 2 นัดและมีนายพันตำรวจตรีสุรินทร์ วีระรัตน์ พยานโจทก์เบิกความว่า พยานนั่งมาในรถยนต์สเตชั่นแวกก้อนคันสุดท้าย เมื่อได้ยินเสียงปืนและรถหยุดแล้ว พยานได้วิ่งลงหมอบอยู่ริมคูด้านซ้ายของถนนห่างจากรถที่พยานนั่งมาประมาณ 1 เมตรเศษ หมอบอยู่ประมาณ 5 นาที ได้ยินเสียงปืนดังเสียงเหมือนปืนกลดังเป็นชุดๆ ประมาณ 2 หรือ 3 ชุด ข้างหน้ารถพยานแถวรถคันที่ 2 ก่อนได้ยินเสียงปืนกลดัง ได้ยินเสียงคนพูดเอะอะแต่ไม่ได้ยินว่าพูดอะไร เมื่อเสียงปืนกลดังหมดไปประมาณ 1 นาที ได้ยินเสียงปืนพกดังขึ้นอีก 1 นัดหรือ 2 นัด

เมื่อสิ้นเสียงปืนแล้วพยานได้เดินเข้าไปที่รถยนต์คันที่ผู้ตายนั่งไปนั้นเพื่อว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น เดินไปถึงท้ายรถด้านซ้ายเห็นมีคนยืนอยู่ทางด้านหน้าและด้านซ้ายรถ ด้านซ้ายรถคันนั้นหลายคน ประมาณร่วม 10 คน เท่าที่จำได้เห็นนายร้อยตำรวจเอกพุฒ หลวงพิชิตธุระการ นายร้อยตำรวจโทบุญสม นายพลตำรวจจัตวาผาด นายพลตำรวจจัตวาทมจำเลยที่ 1 ที่ 2 นายร้อยตำรวจโทธนู จำเลยที่ 4 นอกนั้นจำไม่ได้ เข้าใจว่าเป็นนายตำรวจเพราะเห็นแต่เครื่องแบบ

กับมีนายสิบตำรวจโทเสาร์ โตวิเศษ พยานโจทก์เบิกความว่า พยานนั่งมาในรถยนต์สเตชั่นแวกก้อนคันสุดท้ายซึ่งมีนายร้อยตรีสุรินทร์ ยศขณะนั้น กับตำรวจอื่นอีกหลายคนร่วมไปด้วย ก่อนเกิดเหตุได้ยินเสียงปืนทางด้านหน้ารถคันที่นั่งไป 2-3 นัด แล้วรถทั้ง 3 คันก็หยุด แล้วพวกที่นั่งรถคันหลังได้ลงจากรถทุกคน พยานไปยืนทางรถด้านขวา จำได้ว่านายร้อยตำรวจตรีสุรินทร์ลงจากรถแล้วลงไปดูด้านซ้าย พยานลงจากรถแล้วได้ยินเสียงชายคนหนึ่งอยู่ทางหน้ารถพยาน ร้องขึ้นว่าโอยอย่าทำผมเลย ลูกผมหลายคน พอสิ้นเสียงร้องได้ยินเสียงปืนกลดังรัวติดๆ กัน 2 หรือ 3 ชุด

ทางหน้ารถคันที่พยานนั่งไป ได้ยินเสียงปืนกลดังชุดแรกแล้ว ได้มองดูไปทางข้างหน้ารถของพยาน เห็นคนสองคนยืนอยู่ในท่าเตรียมยิง ยืนห่างด้านขวาของรถคันที่ 2 ค่อนไปทางหน้า สองคนนั้นพยานจำได้คือนายร้อยตำรวจโทจำรัสและนายร้อยตำรวจโทธนูจำเลยนี้ ขณะนั้นเป็นนายสิบทั้งสองคน แล้วเสียงปืนกลรัวขึ้นอีก 1 ชุดใครจะเป็นคนยิงจำไม่ได้ คนทั้งสองห่างจากรถคันที่ 2 ราว 1 เมตร ขณะนั้นเห็นนายร้อยตำรวจโทจำรัสและนายร้อยตำรวจโทธนู พยานได้เห็นคนยืนทางหน้ารถคันที่สอง 6-7 คน ที่จำได้มีนายร้อยตำรวจเอกพุฒ กับนายร้อยตำรวจโทบุญสม นอกนั้นจำไม่ได้ จากนี้มีเสียงปืนกลดังขึ้นอีก 1 ชุด ทางด้านของรถคันที่สอง ไม่ได้สังเกตุว่าใครเป็นคนยิง เสียงปืนกลชุดที่สองดังขึ้นนั้นดังทางด้านขวาของรถคันกลาง ด้านนั้นเห็นนายร้อยตำรวจโทจำรัส นายร้อยตำรวจโทธนูยืนอยู่ เสียงปืนกลทั้ง 3 ชุดสิ้นไปแล้ว อีก 2-3 นาทีมีเสียงปืนเล็กดังขึ้นที่หน้ารถคันกลาง 2-3 นัด ใครเป็นผู้ยิงไม่ได้สังเกตุ ต่อจากนั้นราว 2-3 นาที นายร้อยตำรวจตรีสุรินทร์มาบอกพยานกับตำรวจอีกหลายคนให้ไปกั้นรถ ตอนจะไปกั้นรถ ยังไม่ถึงที่นั้น ได้ยินเสียงปืนเล็กทางหน้ารถคันที่พยานนั่ง 2-3 นัด

ศาลฎีกาพิเคราะห์คำพยานโจทก์เห็นว่าพยานโจทก์ดังกล่าวนั้นได้ไปในขบวนรถที่ควบคุมผู้ตายไปฆ่าจริง ไม่มีข้อสงสัย ศาลฎีกาจะวินิจฉัยข้อกล่าวหา เฉพาะตัวจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ซึ่งศาลอาญาและศาลอุทธรณ์พิพากษาต้องกันมาว่า กระทำความผิดเสียก่อนว่า พยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้เพียงไร ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ร่วมมือรู้เห็นในการฆ่าผู้ตายครั้งนี้

พยานโจทก์เหล่านี้เบิกความเจือสมต้องกันว่า เมื่อก่อนที่รถยนต์ขบวนที่ควบคุมพาผู้ตายไปนั้นจะหยุด ได้มีเสียงปืนลั่นขึ้นที่รถจี๊ปคันหน้า แล้วขบวนรถก็หยุด ครั้นเมื่อนายสิบตำรวจเอกสุธีร์ คนขับรถที่ควบคุมผู้ตายไปหยุดรถตามคำสั่งของนายร้อยตำรวจเอกพุฒแล้ว นายสิบตำรวจเอกสุธีร์เบิกความว่า หลวงพิชิตธุระการกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และตำรวจอื่นอีก 2-3 คน ได้เดินเข้ามาที่รถคันที่ผู้ตายนั่ง และหลวงพิชิตธุระการบอกให้ผู้ตายลงจากรถ ในขณะนั้นเองผู้ตายคนหนึ่งได้พูดอ้อนวอนหลวงพิชิตธุระการขอชีวิตตนไว้ แต่หลวงพิชิตธุระการก็คงขยั้นขยอให้ผู้ตายลงจากรถ

ต่อจากนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พูดเป็นทำนองให้ฆ่าเสียเพราะเป็นพวกกบฏ แล้วจำเลยที่ 1 ได้เรียกจำเลยที่ 5 เข้าไปหา ต่อจากนั้นจำเลยที่ 5 ก็ใช้ปืนกลยิงเข้าไปในรถที่ผู้ตายนั่ง คำเบิกความของนายสิบตำรวจเอกสุธีร์ ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 และที่ 5 และตำรวจอื่นเดินเข้ามาที่รถคันที่ผู้ตายนั่งนั้น มีคำนายพันตำรวจตรีสุรินทร์เบิกความว่า หมอบอยู่นานพอประมาณ 10 นาที ได้เดินเข้าไปที่รถยนต์คันที่ผู้ตายนั่งไป ได้เห็นจำเลยที่ 1 ที่ 2 ยืนอยู่รวมกับหลวงพิชิตธุระการ นายตำรวจเอกพุฒและตำรวจอื่นๆ ทางด้านหน้าและด้านซ้ายรถคันนั้น และคำเบิกความของนายสิบตำรวจเอกสุธีร์ที่ว่า ผู้ตายคนหนึ่งได้พูดอ้อนวอนหลวงพิชิตธุระการ ขอชีวิตตนไว้ก็มีคำนายสิบตำรวจโทเสาร์ เบิกความว่าได้ยินเสียงพูดเช่นนั้นเหมือนกัน

ถึงแม้คำพูดของผู้ร้องขอชีวิตจะพูดว่าอย่างไร ซึ่งพยานทั้งสองเบิกความผิดเพี้ยนกันไปบ้าง ก็ไม่ใช่ข้อแตกต่างอันสำคัญ ถึงกับจะไม่รับฟังว่านายสิบตำรวจเอกสุธีร์ ได้ยินผู้ตายพูดเช่นนั้นจริง เพราะเป็นการได้ยินคำพูดผิดเพี้ยนกันเพียงเล็กน้อย และเป็นเวลาที่เนิ่นนานมาแล้ว ทั้งพยานก็อยู่ในที่คนละแห่งย่อมเบิกความแตกต่างผิดเพี้ยนกันไปบ้างเป็นธรรมดา

นายสิบตำรวจเอกสุธีร์ เบิกความยืนยันว่าก่อนที่จำเลยที่ 5 จะใช้ปืนกลยิงไปที่รถคันที่ผู้ตายนั่ง จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้พูดเป็นทำนองว่า ผู้ตายเป็นพวกกบฏเอาไว้ทำไม แล้วจำเลยที่ 1 ได้เรียกจำเลยที่ 5 เข้าไปหาและจำเลยที่ 5 ก็ได้วิ่งเข้าไปในทันทีทันใด แล้วก็เห็นจำเลยที่ 5 ประทับปืนยิงไปทางรถที่ผู้ตายนั่ง ที่จำเลยกล่าวว่าคำเบิกความของนายสิบตำรวจเอกสุธีร์ ตอนตอบทนายจำเลยถามค้านขัดกันกับตอนตอบคำถามของอัยการโจทก์ แสดงว่าพยานฟุบหน้าไม่ได้เห็นจำเลยที่ 5 เป็นผู้ยิงนั้น ความจริงนายสิบตำรวจเอกสุธีร์ เบิกความตอบคำถามทั้งสองคราวตรงกันว่า เห็นจำเลยที่ 5 ยิงปืนไปแล้วพยานจึงได้ฟุบหน้าลง คำเบิกความของพยานหาขัดกันดังจำเลยกล่าวไม่

ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ที่ 2 ก็ให้การว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 เดินเข้าไปหาหลวงพิชิตธุระการก่อนจะมีการยิงเข้าไปที่รถคันที่ผู้ตายนั่ง และจำเลยที่ 2 เชื่อว่าตำรวจที่ควบคุมผู้ตายไปนั้นเป็นผู้ยิง แม้จำเลยจะกลับเบิกความชั้นศาลว่าความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น ที่ให้การไปก็โดยถูกหลอกว่าจะกันไว้เป็นพยานก็มีเหตุอันควรเชื่อไม่ เพราะพนักงานสอบสวนล้วนแต่เป็นผู้ชอบพอกับจำเลยทั้งสอง และที่เคยอยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยทั้งสองก็มี ส่วนนายพลตำรวจเอกไสว ไสว แสนยากร อธิบดีกรมตำรวจ และนายพลโทประเสริฐ รุจิรวงศ์ รองอธิบดีกรมตำรวจ ก็เป็นผู้ร่วมอยู่ในคณะรัฐประหารมากับจำเลยทั้งสอง ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกัน ไม่มีเหตุผลอันใดที่พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนเรื่องนี้โดยกลั่นแกล้งจำเลย จำเลยให้การต่อสู้ขึ้นมาลอยๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานมาสืบประกอบไม่มีทางที่จะรับฟังการสอบสวนเรื่องนี้จะไม่เป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม

คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ดังกล่าว เป็นหลักฐานประกอบ ทำให้คำเบิกความของนายสิบตำรวจเอกสุธีร์พยานโจทก์ที่ว่า ขณะที่มีการยิงกันนั้น จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยืนอยู่ใกล้ๆ กับหลวงพิชิตธุระการ ผู้เป็นหัวหน้าควบคุมผู้ตายไปฆ่าน่าเชื่อยิ่งขึ้น ที่จำเลยกล่าวว่านายสิบตำรวจเอกสุธีร์พยานโจทก์ตกอยู่ในฐานะเป็นจำเลยผู้สมรู้ร่วมคิดด้วย พยานจึงจำเป็นต้องให้การปรักปรำซัดทอดผู้อื่นเพื่อเอาตัวรอดนั้น ตามพยานหลักฐานในสำนวน ไม่ได้ความว่าพยานผู้นี้สมรู้ร่วมคิดในการฆ่าผู้ตายด้วย คงปรากฏจากคำของพยานปากนี้เพียงว่า หลังจากที่ผู้ตายถูกฆ่าแล้ว พยานได้ทำตามคำสั่งที่ให้ช่วยลากศพลงจากรถและอื่นๆ จนกระทั่งเอากุญแจมือไปโยนทิ้งน้ำ จะถือว่านายสิบตำรวจเอกสุธีร์พยานตกอยู่ในฐานะเป็นจำเลยสมรู้ร่วมคิดในการกระทำผิดในคดีนี้ด้วยยังไม่ได้ และทางพิจารณาก็ไม่ได้ความว่านายสิบตำรวจเอกสุธีร์ ให้การไปโดยถูกบังคับ ขู่เข็ญ หรือมีหวังจะได้รับความดีความชอบเป็นการตอบแทนอย่างหนึ่งอย่างใด

ที่จำเลยกล่าวว่าเหตุเกิดมาเป็นเวลาถึง 10 ปี นายสิบตำรวจเอก สุธีร์ไม่เคยรายงานให้ใครทราบ และเมื่อเกิดเหตุใหม่ๆ นายร้อยตำรวจเอกยงยุทธสารวัตรสถานีตำรวจนครบาลบางเขนได้สอบสวนพยาน นายสิบตำรวจเอกสุธีร์ก็ให้การว่าไม่รู้ไม่เห็นอะไรเลย มาในวันนี้กลับให้การรู้เห็นอันเป็นการตรงข้ามกับคำให้การครั้งก่อน จะฟังเป็นหลักฐานไม่ได้นั้น เมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ในขณะนั้นจะหวังอะไรให้นายสิบตำรวจเอกสุธีร์ กล้าให้การไปตามความจริงที่ตนรู้เห็นมา โดยที่ปรากฏว่าเมื่อเกิดเหตุฆ่าคนทั้งสี่ตายแล้ว ทางฝ่ายเจ้าพนักงานตำรวจที่ควบคุมไป ได้ทำหลักฐานเป็นเท็จขึ้นเพื่อจะให้หลงเชื่อว่ามีคนร้ายดักแย่งชิงเกิดยิงต่อสู้กัน แล้วกระสุนปืนถูกคนทั้งสี่ถึงแก่ความตาย คนร้ายหลบหนีไปได้ ต่อมายังได้มีแถลงการณ์ของทางราชการ ตำรวจรับรองความเท็จที่ได้ก่อขึ้นนั้นอีก อันแสดงความประสงค์ของทางราชการที่จะให้เชื่อว่าเป็นเช่นนั้นจริง

พยานโจทก์บางคนซึ่งขณะนั้นมียศและตำแหน่งสูงกว่านายสิบตำรวจเอกสุธีร์ก็ไม่กล้าให้การตามความจริง เพราะเกรงกลัวจะเป็นภัยแก่ตน เช่นนายร้อยตำรวจเอกยงยุทธซึ่งในขณะนั้น เป็นสารวัตรสถานีตำรวจนครบาลบางเขน และเป็นผู้ทำการสอบสวนก็ไม่เชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องคนร้ายมาแย่งชิง แต่ก็ไม่กล้าทำความเห็นลงในสำนวนการสอบสวน ตามความเห็นอันแท้จริงของตนได้ ขณะนั้นนายสิบตำรวจเอกสุธีร์เป็นตำรวจชั้นผู้น้อย จะไม่เกรงกลัวอิทธิพลของผู้ร่วมคิดกันนำเอาคนทั้งสี่ไปฆ่าและกล้าให้การไปตามความจริงที่ตนรู้เห็นอย่างไรได้ จึงน่าเห็นใจที่นายสิบตำรวจเอกสุธีร์ ต้องปกปิดในข้อความจริงที่ตนรู้เห็น

ต่อมาเมื่อได้มีการรัฐประหารกำจัดผู้มีอิทธิพลซึ่งพัวพันกับการกระทำรายนี้พ้นอำนาจไป และเห็นว่าทางราชการตำรวจสมัยต่อมาได้พยายามสืบสวนสอบสวนเพื่อค้นหาความจริงและไม่มีเหตุที่จะเกรงกลัวอิทธิพลของผู้กระทำความผิดต่อไปแล้ว นายสิบตำรวจเอกสุธีร์ย่อมจะกล้าให้การไปตามความจริงที่ตนรู้เห็นมาได้

ที่จำเลยกล่าวว่านายสิบตำรวจเอกสุธีร์เบิกความถึงเหตุการณ์บางตอนและถ้อยคำที่ได้ยินพูดกัน แตกต่างกับพยานปากอื่นๆ นั้น ก็มิใช่เป็นการแตกต่างในข้อสำคัญ อันจะทำให้น้ำหนักถ้อยคำของพยานปากนี้เสียไปจนเชื่อว่าไม่ได้ว่าได้รู้เห็น ในการกระทำของจำเลยดังพยานเบิกความนั้น โดยพยานได้อยู่ในที่เกิดเหตุ และรู้จักจำเลยมาก่อน ย่อมจำหน้าตากิริยาอาการของจำเลยได้ ทั้งก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่พยานจะแกล้งใส่ความปรักปรำจำเลยในข้อหาอุกฉกรรจ์เช่นเรื่องนี้

สำหรับตัวจำเลยที่ 5 นั้น นายสิบตำรวจเอกสุธีร์ก็เบิกความว่าได้เห็นจำเลยที่ 5 ประทับปืนกลยิงไปทางรถคันที่ผู้ตายนั่ง พยานเป็นตำรวจรู้จักจำเลยที่ 5 มาก่อน และได้อยู่ในที่เกิดเหตุใกล้ชิดกัน ย่อมจำจำเลยที่ 5 ได้แม่นยำ และไม่มีเหตุอย่างใดที่พยานจะแกล้งใส่ความปรักปรำจำเลยที่ 5 ทั้งพยานโจทก์ก็หลายคนก็เบิกความรับรองว่า ได้เห็นจำเลยที่ 5 ยืนอยู่ทางด้านขวาของรถคันที่ผู้ตายนั่ง ที่จำเลยที่ 5 กล่าวว่าตามคำเบิกความของนายสิบตำรวจเอกสุธีร์แสดงว่า นายสิบตำรวจเอกสุธีร์ไม่เห็นจำเลยที่ 5 ยิงนั้น ความจริงนายสิบตำรวจเอกสุธีร์เบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 5 เป็นผู้ยิง และเมื่อจำเลยที่ 5 ยิงแล้ว นายสิบตำรวจเอกสุธีร์จึงได้ฟุบหน้า หาได้ฟุบหน้าลงก่อนที่จำเลยที่ 5 ลงมือยิงไม่

ส่วนในข้อที่จำเลยยกเหตุกล่าวอ้างว่า พยานโจทก์เบิกความไม่เป็นความจริง เพราะแม้แต่การที่เจ้าพนักงานตำรวจรับตัวจำเลยไปจากที่ใดบ้างก็ไม่น่าเชื่อเสียแล้ว พยานโจทก์จึงไม่น่ารับฟังนั้นเห็นว่า ฝ่ายจำเลยก็นำสืบสมโจทก์ว่า เจ้าพนักงานตำรวจรับตัวนายทองเปลวจากกองตำรวจสันติบาล นายถวิลจากสถานนีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง นายทองอินทร์ จากสถานีตำรวจนครบาลสามเสน ดังนั้นการรับตัวผู้ตายทั้งสามนี้จากที่ใด จึงไม่มีปัญหา คงมีปัญหาแต่เฉพาะการรับตัวนายจำลอง ซึ่งฝ่ายโจทก์นำสืบว่าเจ้าพนักงานตำรวจไปขอรับตัวนายจำลองจากสถานีตำรวจนครบาลยานนาวา แต่ฝ่ายจำเลยนำสืบว่าเจ้าพนักงานตำรวจไปรับตัวนายจำลองจากกองสันติบาลพร้อมกับนายทองเปลว

พยานโจทก์ก็มีนายพันตำรวจตรีหิรัญซึ่งขณะนั้นมียศนายร้อยตำรวจโท ประจำอยู่สถานีตำรวจนครบาลยานนาวาเบิกความยืนยันว่าในวันเกิดเหตุได้มีนายพันตำรวจเอกหลวงพิชิตธุระการไปขอรับตัวนายจำลอง และยังมีนายพันตำรวจตรีสุรินทร์ผู้นั่งรถยนต์ในขบวนสุดท้าย นายสิบตำรวจเอกเกียรติศักดิ์ผู้ขับรถยนต์ที่นายพันตำรวจตรีสุรินทร์นั่ง และนายสิบตำรวจเอกสุธีร์ผู้ขับรถยนต์ในขบวนคันที่บรรทุกผู้ตายทั้ง 4 คน ไปเบิกความรับรองต้องกันว่าได้ไปรับตัวนายจำลองจากสถานีตำรวจนครบาลยานนาวา

พยานโจทก์เบิกความประกอบกัน น่าเชื่อว่าได้มีการไปรับตัวนายจำลองจากสถานีตำรวจนครบาลยานนาวาจริง อย่างไรก็ดี ในเรื่องเจ้าพนักงานตำรวจได้รับตัวผู้ตายไปจากที่ใดบ้างนั้น มิใช่เหตุจะยกขึ้นกล่าวอ้างเป็นข้อสำคัญว่าพยานโจทก์มิได้รู้เห็นเหตุการณ์จริงดังที่เบิกความมานั้น เพราะข้อเท็จจริงฟังได้แน่ชัดว่า พยานโจทก์ก็ดี ผู้ตายก็ดี จำเลยก็ดี ต่างอยู่ในที่เกิดเหตุทั้งสิ้น ตามพยานหลักฐานและเหตุผลดังได้วินิจฉัยกล่าวมาแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าคดีฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ได้ร่วมกันกระทำความผิดดังที่ศาลอาญา และศาลอุทธรณ์รับฟังมา พยานจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้

ต่อไปนี้จะได้วินิจฉัยข้อกล่าวหาสำหรับตัวจำเลยที่ 3 ที่ 4 ว่าควรยกฟ้องตามคำพิพากษาศาลอาญาและศาลอุทธรณ์หรือไม่

โจทก์ก็มีพยานรู้เห็นเกี่ยวแก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 คือ นายพันตำรวจตรีสุรินทร์เบิกความว่าเมื่อสิ้นเสียงปืนแล้วพยานเดินไปที่รถ เห็นจำเลยที่ 4 ยืนรวมอยู่ในหมู่คนประมาณ 10 คน ทางด้านหน้าและด้านซ้ายรถคันที่บรรทุกผู้ตายมา จำเลยที่ 4 ถือปืนยาวแบบปืนกลห้อยอยู่ที่มือ นายสิบตำรวจโทเสาร์เบิกความว่า เมื่อได้ยินเสียงปืนกลดังชุดแรกแล้ว เห็นจำเลยที่ 3 ที่ 4 ยืนถือปืนกลในท่าเตรียมยิงอยู่ทางด้านขวา ค่อนไปทางหน้ารถคันที่บรรทุกผู้ตายไปรวมหมู่อยู่กับคน 6-7 คน จากนี้มีเสียงปืนกลดังขึ้นอีก 1 ชุดทางด้านเดียวกันนั้น ไม่ได้สังเกตว่าใครเป็นคนยิง

นายสิบตำรวจเอกสุธีร์เบิกความว่า เมื่อจำเลยที่ 1 เรียกจำเลยที่ 5 เข้าไป และจำเลยที่ 5 ยิงไปทางรถผู้ตายแล้ว 1 ชุด ในระยะติดๆ กันนั้น ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นอีก 2-3 ชุด ตรงที่เดียวกับที่จำเลยที่ 5 ยิง แต่ไม่รู้ว่าใครยิง ต่อมาเมื่อถูกเรียกหาคนขับรถ พยานจึงวิ่งไปที่หลวงพิชิตธุระการยืนอยู่ เห็นจำเลยที่ 3 ที่ 4 ถือปืนยืนอยู่ข้างรถติดๆ กับจำเลยที่ 5 พยานโจทก์ที่รู้เห็นเกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ที่ 4 มีเพียงเท่านี้ ศาลฎีกาเห็นว่าคำพยานโจทก์ได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 อยู่ในกลุ่มคนซึ่งมีจำเลยที่ 5 กับหลวงพิชิตธุระการ เพียงแต ไปยืนอยู่ในหมู่ด้วยจะถือว่าเป็นการเข้าร่วมมือยังไม่ได้

แม้พยานโจทก์คนหนึ่งจะว่าเห็นจำเลยที่ 3 ที่ 4 ถือปืนอยู่ในท่าเตรียมยิง แต่ก็ไม่มีพยานอื่นใดรู้เห็นว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 ได้ลงมือยิงผู้ตายขณะถือปืนอยู่ในท่าเตรียมยิงเช่นนั้นเลย นายสิบตำรวจโทเสาร์พยานโจทก์ที่เบิกความว่าได้เห็นจำเลยที่ 3 ที่ 4 ยืนถือปืนในท่าเตรียมยิงนั้นก็ว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 ยืนรวมหมู่อยู่กับคน 6-7 คนในกาลเวลาและสภาพเช่นนี้ นายสิบตำรวจโทเสาร์อาจจะเห็นตัวบุคคลหรือลักษณะอาการของบุคคลผิดพลาดไปก็ได้

อนึ่ง การตายของผู้ตายทั้งสี่คนนั้น เกิดจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนกล ซึ่งฟังได้แล้วว่าจำเลยที่ 5 ได้ใช้ปืนกลยิง บาดแผลที่ผู้ตายทั้งสี่คนได้รับนั้น อาจเกิดจากกระสุนปืนกลที่จำเลยที่ 5 ยิงแต่ผู้เดียวไปก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเกิดจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนคนอื่นร่วมยิงด้วย ทางพิจารณาก็ได้ความว่า จำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นตำรวจชั้นผู้น้อยในขณะนั้น มิได้อยู่ในฐานะเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 อันจะเห็นได้ว่า น่าจะรู้เห็นร่วมมือกับจำเลยอื่นๆ ในการกระทำความผิดตามฟ้องของโจทก์ พยานหลักฐานโจทก์ยังมีเหตุสงสัย ฟังไม่ได้ถนัดว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 ได้สมคบร่วมมือกับจำเลยอื่นๆ กระทำผิดรายนี้ ศาลอาญาศาลอุทธรณ์ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นผลดีแก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นการชอบแล้ว

ส่วนเรื่องกำหนดโทษของจำเลยตามข้อฎีกาของโจทก์นั้น โจทก์ก็ยืนยันคัดค้านแต่เฉพาะว่า จำเลยได้กระทำผิดฐานเป็นตัวการฆ่าคนทั้งสี่โดยไตร่ตรองไว้ก่อน และโดยพยายามด้วยความพยาบาทมาดหมาย ทั้งเป็นการกระทำโดยทรมานโดยกระทำทารุณโหดร้ายหรือแสดงความดุร้ายแก่ผู้ตายทั้งสี่ให้ได้รับความลำบากอย่างสาหัส เข้าลักษณะตามกฎหมายอาญา มาตรา 13, 250 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 289 ดังที่โจทก์ฟ้อง จึงขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายบทหนักตามฟ้องของโจทก์

ศาลฎีกาได้พิจารณาตามข้อฎีกาของโจทก์นั้นเห็นว่าในข้อว่าได้ฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนนั้น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาโดยเฉพาะ แต่คดีนี้เป็นกรณีที่เกิดขึ้นก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญา และตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญาก็ไม่เป็นคุณแก่จำเลยผู้กระทำความผิดในทางใด จึงนำความในข้อว่า “ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน” ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 (4) มาใช้ไม่ได้

ส่วนในข้อที่ว่าได้ฆ่าผู้ตายโดยพยายามด้วยความพยาบาทมาดหมาย ทั้งเป็นการกระทำโดยทรมานโดยกระทำทารุณโหดร้ายหรือแสดงความดุร้ายแก่ผู้ตายทั้งสี่ให้ได้รับความลำบากอย่างสาหัส ซึ่งมีบัญญัติเป็นความผิดไว้ในกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 250 (3) และ (4) เว้นแต่การฆ่าโดยกระทำทารุณโหดร้ายนั้น ตามพยานหลักฐานในสำนวนไม่ได้ความชัดว่า จำเลยผู้กระทำความผิดคนใดได้ร่วมรู้ในแผนการที่จะกำจัดผู้ตายมาก่อน ผู้ตายกับจำเลยผู้กระทำความผิดทุกคนไม่มีสาเหตุโกรธเคืองอะไรกัน และจำเลยผู้กระทำความผิดบางคนก็ไม่เคยรู้จักผู้ตายมาก่อน ทั้งการกระทำของจำเลยผู้กระทำความผิดเหล่านี้พอเห็นได้ว่าเป็นเครื่องมือของผู้อื่นที่ใช้ให้กระทำ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำโดยพยายามด้วยความพยาบาทมาดหมาย

ส่วนในข้อที่ว่าเป็นการกระทำโดยทรมานหรือแสดงความดุร้ายแก่ผู้ตายให้ได้รับความลำบากอย่างสาหัสนั้น ก็ปรากฏว่า ผู้ตายทั้งสี่ถูกยิงด้วยปืนกล กระสุนปืนถูกผู้ตายทั้งสี่ถึงแก่ความตายในทันทีนั้นเอง ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำโดยทรมานหรือแสดงความดุร้ายแก่ผู้ตายทั้งสี่ให้ได้รับความลำบากอย่างสาหัส

ศาลทั้งสองพิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์จำเลยไม่มีเหตุจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น อาศัยเหตุดังกล่าวแล้ว ศาลฎีกาจึงพิพากษายืนให้ยกฎีกาโจทก์จำเลยเสีย

ชวน สิงหลกะ
หลวงอนุสสรนิติสาร
สำราญ ศิริพันธ์

 

ที่มา : คำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับคดี 4 อดีตรัฐมนตรี, ใน, ทองอินทรานุสรณ์, (กรุงเทพฯ: ม.ป.พ.), น. 133 - 166 

หมายเหตุ :

  • ตั้งชื่อบทความโดยกองบรรณาธิการ
  • อักขรวิธีสะกดตามเอกสารชั้นต้น