บทความชิ้นนี้มีชื่อว่า “กลไกประชาธิปไตย” เขียนโดย “กุหลาบ สายประดิษฐ์” เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2492 ปรากฏหลักฐานการตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมม์รายวัน “นครสาร”
“กลไกประชาธิปไตย” เป็นหนึ่งในบทความที่ถูกนำมารวมเล่มในหนังสือ “มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ” ข้อเขียนการเมืองในฐานะนักหนังสือพิมพ์ บรรณาธิการโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี ซึ่งได้บันทึกเป็นหมายเหตุบรรณาธิการของบทความนี้ว่า
[ตัดตอนมาจากหมายเหตุบรรณาธิการ โดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี]
“...นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ กลับจากออสเตรเลียมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ซึ่งบังเอิญเป็นวันเดียวกับนายปรีดี พนมยงค์ และคณะทหารเรือได้ใช้พระบรมมหาราชวังบางส่วนเป็นศูนย์บัญชาการเพื่อหวังล้มล้างรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามที่ได้อำนาจมาจากการทำรัฐประหารของคณะทหารบกโดยการนำของพลโทผิน ชุณหะวัณ เมื่อ 2 ปีก่อน แต่การเข้ายึดอำนาจของคณะทหารเรือที่ต่อมาเรียกว่า “กบฏวังหลวง” หรือที่นายปรีดีเรียกว่า “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์” ครั้งนี้ได้ถูกฝ่ายรัฐบาลจอมพล ป. ปราบปรามอย่างรุนแรง…
สำหรับบทความเรื่อง กลไกประชาธิปไตย ชิ้นนี้ สืบค้นได้ว่านายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ใช้นามจริงเขียน โดยลงตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ นครสาร ฉบับวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2492 กล่าวได้ว่านี่คือข้อเขียนแบบ “กึ่งวิชาการ” ที่ผู้เขียนได้ระบุว่า “...ไม่ถือเปนการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองแต่ละเรื่องละราย....” แต่กระนั้นก็ยังเรียกข้อเขียนชิ้นนี้ว่า เป็น “ข้อเขียนการเมืองของข้าพเจ้า” สรุปความสำคัญก็คือเตือนสติให้ผู้มีอำนาจทางการเมือง (ซึ่งได้อำนาจมาจากการยึดอำนาจ) พึงสำนึกถึงการใช้ “กลไกประชาธิปไตย” เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา โดยทุกๆ ฝ่ายต้องยึดหลัก “ถ้อยทีปฏิบัติต่อกัน” และปิดท้ายด้วยการอ้างหลักธรรมทางศาสนาที่บอกว่า “อย่าทำต่อเขาในสิ่งที่เราไม่ประสงค์ให้เขาทำต่อเรา”
กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์
กลไกประชาธิปไตย
ข้อเขียนการเมืองของข้าพเจ้าในลำดับต่อนี้ไป จะไม่ถือการวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์การเมือง แต่ละเรื่องละรายเปนแนวทางสำคัญในการเขียน ด้วยพิเคราะห์ดูเห็นว่ากลไกการปกครองประชาธิปไตยในประเทศของเรา นับแต่ได้ตั้งระบอบนี้มาเปนเวลา ๑๕ ปีก็ยังไม่มีความมั่นคงอะไร จักรกลต่างๆ ที่จำเปนจะต้องมีและควรจะมีสำหรับระบอบนั้น ก็ยังไม่มีครบถ้วนสมบูรณ์ และที่มีอยู่ก็ล้วนแต่ยังโยกคลอน
แลเมื่อมีปฏิกิริยาที่จะก่อการจลาจลหรือการใช้กำลังบังคับเปลี่ยนรัฐบาล ปรากฏเช่นนั้นแล้วก็เปนธรรมดาที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการป้องกันโดยเข้มงวด เพื่อจะรักษาความสงบเรียบร้อยภายในบ้านเมืองและรักษาฐานะของรัฐบาลเองด้วย ในการดำเนินการเช่นนั้น รัฐบาลก็จะต้องเพ่งเล็งไปในการปราบปรามปรปักษ์ทางการเมือง ซึ่งจะบังเกิดผลใหญ่ๆ ๒ ประการ
คือหนึ่ง รัฐจะต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ไปในการปราบปราม ซึ่งถ้าไม่มีเหตุอันจะต้องพะวงในทางปราบปรามปรปักษ์ทางการเมืองแล้ว เงินก้อนใหญ่นั้นก็อาจจะได้นำไปใช้ในการทำนุบำรุงประเทศ อันจะเปนผลนำความก้าวหน้ามาสู่ประเทศและเพิ่มพูนความผาสุกแก่ประชาชน
ประการที่ ๒ เมื่อรัฐบาลตกอยู่ในฐานะที่จะต้องระวังภัยอย่างเข้มงวดจากการจู่โจมล้มรัฐบาล โดยการใช้กำลังบังคับจากคณะนักการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามแล้ว รัฐบาลก็มักจะหลีกเลี่ยงการใช้พระเดชอย่างเข้มงวดและการใช้มาตรการอันมิใช่เปนลักษณะธรรมดาของประชาธิปไตยไปไม่ได้ เปนต้นว่าจะต้องปกครองโดยอาศัยพระราชกฤษฎีกาภาวะฉุกเฉิน จะต้องตรวจข่าวหนังสือพิมพ์ จะต้องคอยระดมกำลังตำรวจออกล่าตัวผู้ต้องสงสัยในคดีการเมืองโดยไม่เลือกขนาดน้ำหนักแห่งความสงสัย และจะต้องจัดการระวังป้องกันในวิธีการพิเศษอื่นๆ อีก ซึ่งมิใช่เปนเหตุการณ์ปรกติวิสัยของประเทศประชาธิปไตย
นอกจากผลใหญ่ๆ ๒ ประการดังกล่าวข้างต้นนี้แล้ว ยังมีผลในทางกระทบกระเทือนศีลธรรมและจิตต์ใจของประชาชน ซึ่งเปนผลยังความเสียหายร้ายแรง แต่ก็มิใคร่มีผู้คำนึงถึง อันที่จริงรัฐบาลทุกรัฐบาลย่อมถือตัวว่ามีหน้าที่ในอันจะรักษาไว้ซึ่ง “ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน” แต่บางทีการกระทำบางอย่างของรัฐบาลนั้นเอง ได้ก่อภาวะอันไม่เปนที่ปรารถนาขึ้น จะโดยสำนึกหรือไร้สำนึกก็ตาม การดำเนินการปราบปรามปรปักษ์ทางการเมืองโดยเข้มงวดนั้น บางทีก็ปรากฏออกในรูปที่ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุหรือบางทีก็อาจจะเลยขอบเขตต์ของกฎหมายไปทีเดียว ในขณะที่มีการล่าจับผู้ต้องสงสัยในคดีการเมืองอย่างจ้าละหวั่นนั้น ศีลธรรมและจิตต์ใจของบุคคลก็ สท้านสเทือนไป ในยามเช่นนั้น ความระแวงสงสัยก็แผ่กว้างออกไปแทบไม่มีที่สิ้นสุด
ในขณะเดียวกันทราบกันดีทุกฝ่ายว่า รัฐบาลที่ปกครองอยู่ในขณะนั้นเปนรัฐบาลที่แทนประชาชนฝ่ายข้างมาก ถ้าจะให้รัฐบาลที่อยู่ในฐานะเช่นนั้นลาออกแล้วก็จะเปนการผิดหลักประชาธิปไตยเสียช้ำ การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลนั้นตราบใดที่ยังไม่มีการวัดกันด้วยการออกเสียงของราษฎรแล้ว ก็จะถือได้แต่เพียงว่าเปนการวิพากษ์ของชนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ยังหาใช่เปนมติของชนส่วนมากไม่
ในออสเตรเลีย รัฐบาลพรรคเลเบ้อได้ปกครองประเทศมา ในท่ามกลางเสียงวิพากษ์อึงคนึงของฝ่ายค้าน แต่เมื่อถืงกำหนดออกและมีการเลือกผู้แทนราษฎรทั่วประเทศ ผลปรากฏว่าราษฎรยังคงพอใจให้รัฐบาลพรรคเลเบ้อปกครองต่อไป และรัฐบาลพรรคเลเบ้อก็ได้ปกครองประเทศต่อเนื่องกันมาเปนเวลาถึง ๙ ปีแล้ว ในราวเดือนพฤศจิกายนปีนี้ จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในออสเตรเลียและราษฎรออสเตรเลียนก็จะใช้ความวินิจฉัยของเขาอีกครั้งหนึ่งว่า จะเลือกโชชะลิสต์ให้ปกครองประเทศต่อไปอีก ๓ ปีหรือจะเปลี่ยนเอาลิเบอรัลเปนรัฐบาลเสียบ้าง ในอเมริกา พรรคเดโมแครตก็ได้อำนาจปกครองประเทศต่อเนื่องกันมาเปนเวลา ๑๒ ปี เมื่อเดือนที่แล้วราษฎรอเมริกันก็ได้วินิจฉัยให้พรรคนั้นปกครองประเทศสืบต่อไปอีก ๔ ปี
อย่างไรก็ดี ใช่ว่ารัฐบาลจะไม่รับเอาเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาคำนึงเสียทีเดียว เพราะว่าถ้ารัฐบาลทำการพลาดพลั้งลงไป ความนิยมในรัฐบาลอาจเสื่อมลง และไปเพิ่มความนิยมของฝ่ายค้านหรือฝ่ายข้างน้อยได้ เหตุฉะนั้นรัฐบาลที่ปกครองประเทศในมติของประชาชนจึงคำนึงถึงเสียงวิพากษ์หรือเสียงค้านอยู่เสมอ เพื่อจะรักษาน้ำหนักประชานิยมไว้ โดยที่กลไกประชาธิปไตยได้กำหนดให้พรรคการเมืองทุกฝ่ายต้องแสวงความเห็นชอบจากประชาชนในการบริหารรัฐกิจ ฉะนั้นพรรคการเมืองจึงแข่งขันกันที่จะประกอบคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศและประชาชนอยู่เปนนิจ รวมทั้งคอยระวังรักษาชื่อเสียงของพรรคเต็มกำลัง การที่จะแถลงบริการของตนว่ามีคุณค่าเพียงใดนั้น ก็จะต้องแถลงโดยมีหลักฐาน มิฉะนั้นประชาชนก็ไม่เชื่อถือและจะไม่เลือกให้ปกครองประเทศต่อไป
อนึ่ง เนื่องด้วยการปกครองแบบนี้จะต้องมีการวิพากษ์ คัดค้านโต้เถียงกันอยู่เปนนิจ ซึ่งล้วนเปนมูลยั่วให้เกิดโทษะและก่อความร้าวฉานระหว่างฝ่ายต่างๆ ได้ง่าย ซึ่งถ้าไม่มีเครื่องกำกับเหนี่ยวรั้งอารมณ์ฉุนโกรธของแต่ละฝ่ายไว้แล้ว เมื่อโทษะและโมหะจริตเข้าครอบงำ พวกนักการเมืองก็อาจหันเข้าหาการใช้กำลังเข้าบังคับการให้เปนไปตามประสงค์ของตน ถ้าการณ์เปนไปดังนั้น การต่อสู้จะเปลี่ยนจากการต่อสู้กันในทางความคิดเห็นมาเปนการต่อสู้โดยศัตราวุธและการแข่งขันช่วงชิง ก็จะไม่ใช่เปนการช่วงชิงประชามติ แต่จะเปนการช่วงชิงบาซูก้า รถถัง สเตน คาไบน์หรือตืกรามที่จะใช้เปนป้อมปราการเพื่อจะป้องกันชีวิตของตนเอง ในขณะที่หมายมั่นจะเอาชีวิตของอีกฝ่ายหนึ่งในสภาวะการณ์เช่นนั้น วิญญานและสถาบันประชาธิปไตยก็จะอาบเลือดไปด้วย
เหตุฉะนั้น เพื่อจะหลีกเลี่ยงเหตุการณ์น่าทุเรศและน่าสลดใจดังว่า นักการเมืองในประเทศประชาธิปไตยจึงต้องอบรมบ่มนิสสัยให้เปนผู้ประกอบด้วยขันติธรรม ตระหนักในคุณค่าของการปรานีประนอมและวินัยของการต่อสู้ ปราศจากคุณธรรมสำคัญๆ ดังกล่าวนี้ ประชาธิปไตยยากจะดำรงอยู่และดำเนินไปได้โดยราบรื่น
การที่นักการเมืองในประเทศประชาธิปไตยไม่ลุอำนาจโทษะหันเข้าหาการใช้กำลังบังคับล้มรัฐบาลก็ดี หรือถ้าเปนฝ่ายรัฐบาลไม่ใช้พลการหรืออำนาจตามอำเภอใจเข้าประหัสประหารฝ่ายปรปักษ์หรือฝ่ายค้านก็ดี ความข้อนี้หาใช่เปนเรื่องเคล็ดลับอะไรไม่ เปนเรื่องมองดูความจริงด้วยความสำนึกธรรมดาเท่านั้น การที่ฝ่ายค้านไม่ใช้กำลังบังคับล้มรัฐบาล ก็เพราะทราบดีว่าถ้าทำดังนั้นแล้วก็จะเสียความสนับสนุนจากประชาชนหมดสิ้น และก็จะไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่จะได้อำนาจปกครองประเทศชั่วคราว โดยปราศจากความสนับสนุนของประชาชน
อนึ่งเล่าหากนำเอาวิธีการใช้กำลังบังคับล้มรัฐบาลมาใช้แล้ว ครั้นฝ่ายของตนเปนรัฐบาลขึ้นมา ก็จะต้องคาดหมายว่า ในวันหนึ่งตนก็อาจจะถูกล้มโดยวิธีเดียวกัน จะไม่มีเวลานอนตาหลับสนิทได้ ทั้งจะต้องจ่ายเงินแผ่นดินมากมาย ในการสอดส่องปราบปรามปรปักษ์ทางการเมือง เมื่อตีความพวักพวนอยู่ดังนี้ก็จะบริหารประเทศให้เจริญก้าวหน้าไปได้ยาก การใช้กำลังบังคับเปลี่ยนรัฐบาลอาจเปนคุณประโยชน์ และได้รับสนับสนุนจากประชาชน ก็ต่อเมื่อเปนการล้มรัฐบาลเพื่อจะเปลี่ยนจากระบอบหนึ่งไปสู่อีกระบอบหนึ่ง เช่น จากระบอบฟัสซิสต์หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย การเปลี่ยนระบอบเช่นนั้น ออกจะการจำเปนต้องใช้กำลังบังคับล้มรัฐบาลเพราะยากจะทำได้โดยทางอื่น ในส่วนระบอบประชาธิปไตยนั้น การล้มหรือเปลี่ยนรัฐบาลย่อมทำได้โดยทางมติหรือทางออกเสียงของประชาชน และก็ถือวิธีการเช่นนั้นเปนปรกติวิสัยในการล้มหรือเปลี่ยนรัฐบาล
ดังนั้นฝ่ายค้านหรือฝ่ายปรปักษ์จึงไม่หันเข้าใช้กำลังบังคับล้มรัฐบาล เพราะรู้ได้ว่าการกระทำดังนั้นจะเปนการทำลายหลักการประชาธิปไตยและก็จะปกครองประเทศยั่งยืนไปไม่ได้ ด้วยจะไม่ได้รับสนับสนุนจากประชาชนเลย เหตุฉะนั้น ในประเทศประชาธิปไตยเช่นในออสเตรเลียและอเมริกาดังยกมากล่าวข้างต้น แม้พรรคการเมืองฝ่ายหนึ่งจะได้ชนะการเลือกตั้งมาหลายยกและได้อำนาจปกครองประเทศติดต่อกันมาหลายปี พรรคฝ่ายตรงกันข้ามก็อดทนคอยเวลาของตนและหากเพียรที่จะเอาชนะปรปักษ์แต่โดยทางสติปัญญาอย่างเดียว ไม่เคยคำนึงถึงวิธีการใช้กำลังบังคับเลย ในประเทศอังกฤษพรรคกรรมกรได้พากเพียรต่อสู้โดยทางสติปัญญากับพรรคฝ่ายนายทุนมาเปนเวลานานปี กว่าจะชนะประชามติและได้อำนาจปกครองประเทศ
ในทางกลับกันพรรคที่เปนรัฐบาล ถึงแม้ได้รับการวิพากษ์รุนแรงหรือไม่เปนธรรมเพียงใด ก็ไม่หันเข้าหาการใช้พลการหรืออำนาจตามอำเภอใจเพื่อกำราบปราบปรามปรปักษ์ทางการเมือง เพราะรัฐบาลตระหนักดีว่า ถ้าตนประพฤตินอกลู่นอกทางไปแล้ว ถึงแม้ประชาชนจะไม่พอใจฝ่ายค้านเพียงไรก็ดี ก็จะมีความชิงชังทีเดียว ถ้ารัฐบาลละเสียซึ่งขันติธรรมและหันเข้าหาการใช้พลการปราบปรามปรปักษ์ของตน อีกประการหนึ่ง รัฐบาลย่อมทราบอยู่ว่า ในระบอบประชาธิปไตยนั้น พรรคฝ่ายค้านอาจที่จะกลับมาเปนรัฐบาลได้เสมอ และรัฐบาลที่จะต้องกลับไปอยู่ในฐานะของฝ่ายค้านเหมือนกัน เหตุฉะนั้น ถ้ารัฐบาลปฏิบัติแก่ฝ่ายค้านในอาการอย่างไร ตนก็ต้องหมายว่าจะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกัน
สรุปก็คือ ในประเทศประชาธิปไตย ความชั่วร้ายต่างๆ มีโอกาสเกิดขึ้นได้ยาก เพราะเหตุประชาธิปไตยนี้กลไกมหัศจรรย์ที่คอยเตือนนักการเมืองทุกฝ่ายให้สำนึกอยู่เสมอว่า ฐานะของตนอาจถูกสับเปลี่ยนได้เสมอ สิ่งใดที่ตนไม่ปรารถนาจะได้รับเมื่อตนอยู่ในฐานะอย่างหนึ่ง ตนก็จะต้องไม่ปฏิบัติแก่อีกฝ่ายหนึ่ง ในเมื่อตนอยู่ในฐานะตรงกันข้าม กล่าวคือ เมื่อตนเปนฝ่ายค้านไม่ปรารถนาให้รัฐบาลเล่นพวกเล่นพ้อง ไม่ปรารถนาให้ใช้อำนาจราชการเอาเปรียบฝ่ายค้าน ในกรณีเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ไม่ปรารถนาให้ประกาศภาวะฉุกเฉิน เซนเซอร์หนังสือพิมพ์ จับกุมคุมขังด้วยข้อสงสัยอันไม่มีน้ำหนัก หรือเมื่อจับไปแล้วก็ห้ามเยี่ยม ห้ามประกัน ห้ามพูด ห้ามอ่านหนังสือ และให้อยู่ในห้องสกปรกทุเรศ เปนที่ทรมานใจนานาประการ ดังนั้นเมื่อตนได้เปนรัฐบาลเมื่อใด ก็จะต้องไม่กระทำการเช่นนั้นแก่ฝ่ายค้าน และจะต้องปรับปรุงแก้ไขความน่าทุเรศต่างๆ ที่เคยมีอยู่ให้หมดไป อนึ่ง เมื่อตนเปนฝ่ายรัฐบาลไม่ปรารถนาให้ฝ่ายค้านก่อการจราจลหรือก่อรัฐประหาร ไม่ปรารถนาให้ฝ่ายค้านวิพากษ์โจมตีรัฐบาลด้วยการปลุกปั่นข่าวโป้ปดมดเท็จ ส่อเสียดยุยง และทำการต่างๆ ที่ไม่เปนธรรมต่อรัฐบาล ดังนั้นเมื่อตนกลับไปอยู่ในฐานะของฝ่ายค้าน ตนก็จะต้องไม่กระทำการเช่นนั้นต่อรัฐบาลเหมือนกัน
เราจะเห็นว่าประชาธิปไตยมีกลไกที่จัดให้ฝ่ายต่างๆ ยึดหลักถ้อยทีปฏิบัติต่อกัน และก็ตรงกับหลักธรรมของพุทธศาสนาและคริสตศาสนาที่สอนว่า อย่าทำต่อเขาในสิ่งที่เราไม่ประสงค์ให้เขาทำต่อเรา
กลไกประชาธิปไตย
ข้อเขียนการเมืองของข้าพเจ้าในลำดับต่อนี้ไป จะไม่ถือการวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์การเมือง แต่ละเรื่องละรายเป็นแนวทางสำคัญในการเขียน ด้วยพิเคราะห์ดูเห็นว่ากลไกการปกครองประชาธิปไตยในประเทศของเรา นับแต่ได้ตั้งระบอบนี้มาเป็นเวลา 15 ปีก็ยังไม่มีความมั่นคงอะไร จักรกลต่างๆ ที่จำเป็นจะต้องมีและควรจะมีสำหรับระบอบนั้น ก็ยังไม่มีครบถ้วนสมบูรณ์ และที่มีอยู่ก็ล้วนแต่ยังโยกคลอน
และเมื่อมีปฏิกิริยาที่จะก่อการจลาจลหรือการใช้กำลังบังคับเปลี่ยนรัฐบาล ปรากฏเช่นนั้นแล้วก็เป็นธรรมดาที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการป้องกันโดยเข้มงวด เพื่อจะรักษาความสงบเรียบร้อยภายในบ้านเมืองและรักษาฐานะของรัฐบาลเองด้วย ในการดำเนินการเช่นนั้น รัฐบาลก็จะต้องเพ่งเล็งไปในการปราบปรามปรปักษ์ทางการเมือง ซึ่งจะบังเกิดผลใหญ่ๆ 2 ประการ
คือหนึ่ง รัฐจะต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ไปในการปราบปราม ซึ่งถ้าไม่มีเหตุอันจะต้องพะวงในทางปราบปรามปรปักษ์ทางการเมืองแล้ว เงินก้อนใหญ่นั้นก็อาจจะได้นำไปใช้ในการทำนุบำรุงประเทศ อันจะเป็นผลนำความก้าวหน้ามาสู่ประเทศและเพิ่มพูนความผาสุกแก่ประชาชน
ประการที่ 2 เมื่อรัฐบาลตกอยู่ในฐานะที่จะต้องระวังภัยอย่างเข้มงวดจากการจู่โจมล้มรัฐบาล โดยการใช้กำลังบังคับจากคณะนักการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามแล้ว รัฐบาลก็มักจะหลีกเลี่ยงการใช้พระเดชอย่างเข้มงวดและการใช้มาตรการอันมิใช่เป็นลักษณะธรรมดาของประชาธิปไตยไปไม่ได้ เป็นต้นว่าจะต้องปกครองโดยอาศัยพระราชกฤษฎีกาภาวะฉุกเฉิน จะต้องตรวจข่าวหนังสือพิมพ์ จะต้องคอยระดมกำลังตำรวจออกล่าตัวผู้ต้องสงสัยในคดีการเมืองโดยไม่เลือกขนาดน้ำหนักแห่งความสงสัย และจะต้องจัดการระวังป้องกันในวิธีการพิเศษอื่นๆ อีก ซึ่งมิใช่เป็นเหตุการณ์ปรกติวิสัยของประเทศประชาธิปไตย
นอกจากผลใหญ่ๆ 2 ประการดังกล่าวข้างต้นนี้แล้ว ยังมีผลในทางกระทบกระเทือนศีลธรรมและจิตใจของประชาชน ซึ่งเป็นผลยังความเสียหายร้ายแรง แต่ก็มิใคร่มีผู้คำนึงถึง อันที่จริงรัฐบาลทุกรัฐบาลย่อมถือตัวว่ามีหน้าที่ในอันจะรักษาไว้ซึ่ง “ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน” แต่บางทีการกระทำบางอย่างของรัฐบาลนั้นเอง ได้ก่อภาวะอันไม่เป็นที่ปรารถนาขึ้น จะโดยสำนึกหรือไร้สำนึกก็ตาม การดำเนินการปราบปรามปรปักษ์ทางการเมืองโดยเข้มงวดนั้น บางทีก็ปรากฏออกในรูปที่ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุหรือบางทีก็อาจจะเลยขอบเขตของกฎหมายไปทีเดียว ในขณะที่มีการล่าจับผู้ต้องสงสัยในคดีการเมืองอย่างจ้าละหวั่นนั้น ศีลธรรมและจิตใจของบุคคลก็สะท้านสะเทือนไป ในยามเช่นนั้น ความระแวงสงสัยก็แผ่กว้างออกไปแทบไม่มีที่สิ้นสุด
ในขณะเดียวกันทราบกันดีทุกฝ่ายว่า รัฐบาลที่ปกครองอยู่ในขณะนั้นเป็นรัฐบาลที่แทนประชาชนฝ่ายข้างมาก ถ้าจะให้รัฐบาลที่อยู่ในฐานะเช่นนั้นลาออกแล้วก็จะเป็นการผิดหลักประชาธิปไตยเสียช้ำ การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลนั้นตราบใดที่ยังไม่มีการวัดกันด้วยการออกเสียงของราษฎรแล้ว ก็จะถือได้แต่เพียงว่าเป็นการวิพากษ์ของชนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ยังหาใช่เป็นมติของชนส่วนมากไม่
ในออสเตรเลีย รัฐบาลพรรคเลเบอร์ได้ปกครองประเทศมา ในท่ามกลางเสียงวิพากษ์อึงคะนึงของฝ่ายค้าน แต่เมื่อถืงกำหนดออกและมีการเลือกผู้แทนราษฎรทั่วประเทศ ผลปรากฏว่าราษฎรยังคงพอใจให้รัฐบาลพรรคเลเบอร์ปกครองต่อไป และรัฐบาลพรรคเลเบอร์ก็ได้ปกครองประเทศต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาถึง 9 ปีแล้ว ในราวเดือนพฤศจิกายนปีนี้ จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในออสเตรเลียและราษฎรออสเตรเลียนก็จะใช้ความวินิจฉัยของเขาอีกครั้งหนึ่งว่า จะเลือกโซเชียลลิสต์ให้ปกครองประเทศต่อไปอีก 3 ปีหรือจะเปลี่ยนเอาลิเบอรัลเป็นรัฐบาลเสียบ้าง ในอเมริกา พรรคเดโมแครตก็ได้อำนาจปกครองประเทศต่อเนื่องกันมาเป็นเวลา 12 ปี เมื่อเดือนที่แล้วราษฎรอเมริกันก็ได้วินิจฉัยให้พรรคนั้นปกครองประเทศสืบต่อไปอีก 4 ปี
อย่างไรก็ดี ใช่ว่ารัฐบาลจะไม่รับเอาเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาคำนึงเสียทีเดียว เพราะว่าถ้ารัฐบาลทำการพลาดพลั้งลงไป ความนิยมในรัฐบาลอาจเสื่อมลง และไปเพิ่มความนิยมของฝ่ายค้านหรือฝ่ายข้างน้อยได้ เหตุฉะนั้นรัฐบาลที่ปกครองประเทศในมติของประชาชนจึงคำนึงถึงเสียงวิพากษ์หรือเสียงค้านอยู่เสมอ เพื่อจะรักษาน้ำหนักประชานิยมไว้ โดยที่กลไกประชาธิปไตยได้กำหนดให้พรรคการเมืองทุกฝ่ายต้องแสวงความเห็นชอบจากประชาชนในการบริหารรัฐกิจ ฉะนั้นพรรคการเมืองจึงแข่งขันกันที่จะประกอบคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศและประชาชนอยู่เป็นนิจ รวมทั้งคอยระวังรักษาชื่อเสียงของพรรคเต็มกำลัง การที่จะแถลงบริการของตนว่ามีคุณค่าเพียงใดนั้น ก็จะต้องแถลงโดยมีหลักฐาน มิฉะนั้นประชาชนก็ไม่เชื่อถือและจะไม่เลือกให้ปกครองประเทศต่อไป
อนึ่ง เนื่องด้วยการปกครองแบบนี้จะต้องมีการวิพากษ์ คัดค้านโต้เถียงกันอยู่เป็นนิจ ซึ่งล้วนเป็นมูลยั่วให้เกิดโทษะและก่อความร้าวฉานระหว่างฝ่ายต่างๆ ได้ง่าย ซึ่งถ้าไม่มีเครื่องกำกับเหนี่ยวรั้งอารมณ์ฉุนโกรธของแต่ละฝ่ายไว้แล้ว เมื่อโทษะและโมหะจริตเข้าครอบงำ พวกนักการเมืองก็อาจหันเข้าหาการใช้กำลังเข้าบังคับการให้เป็นไปตามประสงค์ของตน ถ้าการณ์เป็นไปดังนั้น การต่อสู้จะเปลี่ยนจากการต่อสู้กันในทางความคิดเห็นมาเป็นการต่อสู้โดยศัสตราวุธและการแข่งขันช่วงชิง ก็จะไม่ใช่เป็นการช่วงชิงประชามติ แต่จะเป็นการช่วงชิงบาซูก้า รถถัง สเตน คาไบน์หรือตึกรามที่จะใช้เป็นป้อมปราการเพื่อจะป้องกันชีวิตของตนเอง ในขณะที่หมายมั่นจะเอาชีวิตของอีกฝ่ายหนึ่งในสภาวการณ์เช่นนั้น วิญญาณและสถาบันประชาธิปไตยก็จะอาบเลือดไปด้วย
เหตุฉะนั้น เพื่อจะหลีกเลี่ยงเหตุการณ์น่าทุเรศและน่าสลดใจดังว่า นักการเมืองในประเทศประชาธิปไตยจึงต้องอบรมบ่มนิสสัยให้เป็นผู้ประกอบด้วยขันติธรรม ตระหนักในคุณค่าของการประนีประนอมและวินัยของการต่อสู้ ปราศจากคุณธรรมสำคัญๆ ดังกล่าวนี้ ประชาธิปไตยยากจะดำรงอยู่และดำเนินไปได้โดยราบรื่น
การที่นักการเมืองในประเทศประชาธิปไตยไม่ลุอำนาจโทษะหันเข้าหาการใช้กำลังบังคับล้มรัฐบาลก็ดี หรือถ้าเป็นฝ่ายรัฐบาลไม่ใช้พลการหรืออำนาจตามอำเภอใจเข้าประหัตประหารฝ่ายปรปักษ์หรือฝ่ายค้านก็ดี ความข้อนี้หาใช่เป็นเรื่องเคล็ดลับอะไรไม่ เป็นเรื่องมองดูความจริงด้วยความสำนึกธรรมดาเท่านั้น การที่ฝ่ายค้านไม่ใช้กำลังบังคับล้มรัฐบาล ก็เพราะทราบดีว่าถ้าทำดังนั้นแล้วก็จะเสียความสนับสนุนจากประชาชนหมดสิ้น และก็จะไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่จะได้อำนาจปกครองประเทศชั่วคราว โดยปราศจากความสนับสนุนของประชาชน
อนึ่งเล่าหากนำเอาวิธีการใช้กำลังบังคับล้มรัฐบาลมาใช้แล้ว ครั้นฝ่ายของตนเป็นรัฐบาลขึ้นมา ก็จะต้องคาดหมายว่า ในวันหนึ่งตนก็อาจจะถูกล้มโดยวิธีเดียวกัน จะไม่มีเวลานอนตาหลับสนิทได้ ทั้งจะต้องจ่ายเงินแผ่นดินมากมาย ในการสอดส่องปราบปรามปรปักษ์ทางการเมือง เมื่อตีความพะวักพะวนอยู่ดังนี้ก็จะบริหารประเทศให้เจริญก้าวหน้าไปได้ยาก การใช้กำลังบังคับเปลี่ยนรัฐบาลอาจเป็นคุณประโยชน์ และได้รับสนับสนุนจากประชาชน ก็ต่อเมื่อเป็นการล้มรัฐบาลเพื่อจะเปลี่ยนจากระบอบหนึ่งไปสู่อีกระบอบหนึ่ง เช่น จากระบอบฟัสซิสต์หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย การเปลี่ยนระบอบเช่นนั้น ออกจะการจำเป็นต้องใช้กำลังบังคับล้มรัฐบาลเพราะยากจะทำได้โดยทางอื่น ในส่วนระบอบประชาธิปไตยนั้น การล้มหรือเปลี่ยนรัฐบาลย่อมทำได้โดยทางมติหรือทางออกเสียงของประชาชน และก็ถือวิธีการเช่นนั้นเป็นปรกติวิสัยในการล้มหรือเปลี่ยนรัฐบาล
ดังนั้นฝ่ายค้านหรือฝ่ายปรปักษ์จึงไม่หันเข้าใช้กำลังบังคับล้มรัฐบาล เพราะรู้ได้ว่าการกระทำดังนั้นจะเป็นการทำลายหลักการประชาธิปไตยและก็จะปกครองประเทศยั่งยืนไปไม่ได้ ด้วยจะไม่ได้รับสนับสนุนจากประชาชนเลย เหตุฉะนั้น ในประเทศประชาธิปไตยเช่นในออสเตรเลียและอเมริกาดังยกมากล่าวข้างต้น แม้พรรคการเมืองฝ่ายหนึ่งจะได้ชนะการเลือกตั้งมาหลายยกและได้อำนาจปกครองประเทศติดต่อกันมาหลายปี พรรคฝ่ายตรงกันข้ามก็อดทนคอยเวลาของตนและหากเพียรที่จะเอาชนะปรปักษ์แต่โดยทางสติปัญญาอย่างเดียว ไม่เคยคำนึงถึงวิธีการใช้กำลังบังคับเลย ในประเทศอังกฤษพรรคกรรมกรได้พากเพียรต่อสู้โดยทางสติปัญญากับพรรคฝ่ายนายทุนมาเป็นเวลานานปี กว่าจะชนะประชามติและได้อำนาจปกครองประเทศ
ในทางกลับกันพรรคที่เป็นรัฐบาล ถึงแม้ได้รับการวิพากษ์รุนแรงหรือไม่เป็นธรรมเพียงใด ก็ไม่หันเข้าหาการใช้พลการหรืออำนาจตามอำเภอใจเพื่อกำราบปราบปรามปรปักษ์ทางการเมือง เพราะรัฐบาลตระหนักดีว่า ถ้าตนประพฤตินอกลู่นอกทางไปแล้ว ถึงแม้ประชาชนจะไม่พอใจฝ่ายค้านเพียงไรก็ดี ก็จะมีความชิงชังทีเดียว ถ้ารัฐบาลละเสียซึ่งขันติธรรมและหันเข้าหาการใช้พลการปราบปรามปรปักษ์ของตน อีกประการหนึ่ง รัฐบาลย่อมทราบอยู่ว่า ในระบอบประชาธิปไตยนั้น พรรคฝ่ายค้านอาจที่จะกลับมาเป็นรัฐบาลได้เสมอ และรัฐบาลที่จะต้องกลับไปอยู่ในฐานะของฝ่ายค้านเหมือนกัน เหตุฉะนั้น ถ้ารัฐบาลปฏิบัติแก่ฝ่ายค้านในอาการอย่างไร ตนก็ต้องหมายว่าจะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกัน
สรุปก็คือ ในประเทศประชาธิปไตย ความชั่วร้ายต่างๆ มีโอกาสเกิดขึ้นได้ยาก เพราะเหตุประชาธิปไตยนี้กลไกมหัศจรรย์ที่คอยเตือนนักการเมืองทุกฝ่ายให้สำนึกอยู่เสมอว่า ฐานะของตนอาจถูกสับเปลี่ยนได้เสมอ สิ่งใดที่ตนไม่ปรารถนาจะได้รับเมื่อตนอยู่ในฐานะอย่างหนึ่ง ตนก็จะต้องไม่ปฏิบัติแก่อีกฝ่ายหนึ่ง ในเมื่อตนอยู่ในฐานะตรงกันข้าม กล่าวคือ เมื่อตนเป็นฝ่ายค้านไม่ปรารถนาให้รัฐบาลเล่นพวกเล่นพ้อง ไม่ปรารถนาให้ใช้อำนาจราชการเอาเปรียบฝ่ายค้าน ในกรณีเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ไม่ปรารถนาให้ประกาศภาวะฉุกเฉิน เซนเซอร์หนังสือพิมพ์ จับกุมคุมขังด้วยข้อสงสัยอันไม่มีน้ำหนัก หรือเมื่อจับไปแล้วก็ห้ามเยี่ยม ห้ามประกัน ห้ามพูด ห้ามอ่านหนังสือ และให้อยู่ในห้องสกปรกทุเรศ เป็นที่ทรมานใจนานาประการ ดังนั้นเมื่อตนได้เป็นรัฐบาลเมื่อใด ก็จะต้องไม่กระทำการเช่นนั้นแก่ฝ่ายค้าน และจะต้องปรับปรุงแก้ไขความน่าทุเรศต่างๆ ที่เคยมีอยู่ให้หมดไป อนึ่ง เมื่อตนเป็นฝ่ายรัฐบาลไม่ปรารถนาให้ฝ่ายค้านก่อการจลาจลหรือก่อรัฐประหาร ไม่ปรารถนาให้ฝ่ายค้านวิพากษ์โจมตีรัฐบาลด้วยการปลุกปั่นข่าวโป้ปดมดเท็จ ส่อเสียดยุยง และทำการต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรมต่อรัฐบาล ดังนั้นเมื่อตนกลับไปอยู่ในฐานะของฝ่ายค้าน ตนก็จะต้องไม่กระทำการเช่นนั้นต่อรัฐบาลเหมือนกัน
เราจะเห็นว่าประชาธิปไตยมีกลไกที่จัดให้ฝ่ายต่างๆ ยึดหลักถ้อยทีปฏิบัติต่อกัน และก็ตรงกับหลักธรรมของพุทธศาสนาและคริสต์ศาสนาที่สอนว่า อย่าทำต่อเขาในสิ่งที่เราไม่ประสงค์ให้เขาทำต่อเรา
ที่มา : กุหลาบ สายประดิษฐ์. มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ในฐานะนักหนังสือพิมพ์. ม.ป.ท.: คณะกรรมการดำเนินงานจัดสร้างสวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ “ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย”, 2548. หน้า 197 - 203.
หมายเหตุ:
- คงอักขรวิธีสะกดตามเอกสารชั้นต้น
- ตัดตอน, แก้ไขเล็กน้อย และตั้งชื่อบทความใหม่โดยกองบรรณาธิการ