ไม่เคยมีการปฏิวัติใด ประสบความสำเร็จได้เพียงชั่วข้ามคืน ในทางกลับกัน ขบวนการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้เป็นประชาธิปไตยทั่วโลก ล้วนเผชิญกับการโต้กลับหรือต่อต้านจากระบอบอำนาจเก่า ซึ่งเคยมีพื้นที่ทางอำนาจในการปกครองกดขี่ประชาชนมายาวนานทั้งสิ้น
เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เราไม่ปฏิเสธความไม่สมบูรณ์ของการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น อันเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่เพราะการสร้างประชาธิปไตยให้ลงหลักปักฐานในสังคมที่หยั่งรากลึกด้วยชนชั้นศักดินา ล้วนเป็นเรื่องใหญ่และยากในการรักษาไว้ซึ่งหลักการประชาธิปไตย
ดังเราจะเห็นว่าเพียงในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปีแรก หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ระบอบการเมืองที่มีรัฐธรรมนูญครั้งแรกของไทย ต้องเผชิญกับความท้าทายด้วยการรัฐประหารในวันที่ 1 เมษายน 2476 เมื่อ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ด้วยการตรา “พระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่”[1]
ที่สุดความพยายามในการต่อต้านการโต้กลับการปฏิวัติครั้งนั้นก็เกิดขึ้นสำเร็จ ในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน พระยาพหลพลพยุหเสนา “เชษฐบุรุษ” กำลังหลักสำคัญของคณะราษฎรก็ได้นำอำนาจคืนจากการรัฐประหารครั้งนั้น นักคิดบางคนเสนอว่า เหตุการณ์ครั้งนั้น ถือว่าเป็น “การใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญครั้งแรกของไทย”[2]
อะไรคือสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
แนวคิดสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ถือเป็นแนวคิดที่เติบโตขึ้นมาในบริบทของต่างประเทศ ซึ่งมีข้อถกเถียงกันถึงลักษณะทั่วไปของระบอบประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มเข้ามาแบ่งปันอำนาจในการปกครองได้ แม้กระทั่งคนที่เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตย ในบางครั้งอาจฉวยโอกาสเข้ามาล้มล้างประชาธิปไตยเสียเองก็ได้ ดังนั้น เพื่อป้องกันโอกาสการกลับมาของอุดมการณ์ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย จึงจำเป็นต้องสร้างหลักประชาธิปไตยที่ปกป้องตนเองได้ (Militant)
อย่างไรก็ตามจากการศึกษาของ ปูนเทพ เทพศิรินุพงศ์ พบว่าในกรณีของไทย แม้ว่าจะรับแนวคิดนี้มาใช้โดยปรากฏครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 สาระสำคัญคือ ข้อห้ามในการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ[3]
โดยปูนเทพเสนอว่า การใช้แนวคิดดังกล่าวสืบเนื่องเรื่อยมาถึงปัจจุบัน กลับพบว่า แนวคิดนี้กลับมีลักษณะ “กลายพันธุ์” อาทิ การใช้โดยไม่สะท้อนนัยของหลักรัฐธรรมนูญปกป้องตนเองได้ หรือ เปิดโอกาสให้มีการใช้ช่องทางดังกล่าวอย่างบิดเบือนเพื่อจุดมุ่งหมายทางการเมือง
การพิทักษ์รัฐธรรมนูญหลังการเปลี่ยนระบอบ
ข้อบ่งชี้ว่าการใช้กำลังใดที่ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว เพื่อระบุสาระสำคัญของเหตุการณ์นั้นๆ อาจจะต้องมีการทบทวนในทางวิชาการขึ้นใหม่ ดังเช่น เหตุการณ์ที่ตำรารัฐศาสตร์ในยุคหลังมักอธิบายเหตุการณ์ทางการเมือง
ตัวอย่างเช่น การพยายามธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญของพระยาพหลพลพยุหเสนาในเดือนมิถุนายน 2476 ว่าเป็นการ “รัฐประหาร” รวมไปถึงเหตุการณ์ที่มักเรียกกันว่า “กบฏวังหลวง” ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 ซึ่งคำอธิบายเหตุการณ์นั้น นายปรีดี พนมยงค์ เคยให้ถ้อยคำว่าไว้
“...พวกปรปักษ์ประชาธิปไตยเรียก “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์” ว่า “ขบถวังหลวง” บางคนก็พลอยเรียกเช่นนั้น โดยไม่พิจารณาตามหลักวิชาการแท้จริงว่า ขบวนการดังกล่าวนั้นเป็นขบถต่อระบบปกครองประชาธิปไตยที่ได้สถาปนาขึ้นโดยถูกต้องสมบูรณ์ตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ หรือเป็นขบวนการที่ต่อต้านพวกปฏิกิริยาที่ทำลายระบบประชาธิปไตยซึ่งได้สถาปนาถูกต้องสมบูรณ์ตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ…”[4]
กล่าวคือ ฐานะทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ทางการเมือง ควรอธิบายครอบคลุมไปถึงความพยายามรักษาปกปักไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย อันมีสาระสำคัญคือการพิทักษ์เจตจำนงตั้งต้นครั้งแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
ตัวอย่างที่มักถูกหยิบยกมาอภิปรายในการศึกษากระบวนการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในระดับสากล เช่น การปฏิวัติฝรั่งเศส ในปี 1789 เหล่าฝรั่งเศสชนต้องเผชิญกับการโต้กลับการเปลี่ยนแปลงการปกครองหลายระลอก อาทิ ให้หลังการปฏิวัติในวันที่ 14 กรกฎาคม 1789 การโต้กลับการอภิวัฒน์ครั้งแรกก็เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาด รัฐธรรมนูญฉบับแรกหลังการเปลี่ยนผ่านจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ต้องถูกท้าทาย ระบอบใหม่ที่เรียกว่า “ระบอบกษัตริย์ที่มีอำนาจจำกัด” (Constitutional Monarchy) เผชิญกับภาวะปั่นป่วนจนนำมาสู่การสถาปนาสาธารณรัฐที่ 1 และไม่นานจักรพรรดินโปเลียนก็ทำรัฐประหารยุติระบอบสาธารณรัฐที่ 1
ประชาชนต้องต่อสู้อีกนานหลายปี จนกระทั่งเกิดการลุกฮืออีกรอบ จึงทำให้ระบอบสาธารณรัฐที่ 2 เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 1948 ตัวอย่างนี้ คือข้อคิดที่สำคัญที่ชวนให้เรามองเห็นการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยในช่วงเวลาที่ยาวนานพอจะเห็นการขับเคี่ยวของอุดมการณ์ที่แตกต่างกันบนพื้นฐานเรียบง่ายที่ว่า ใครคือเจ้าของอำนาจอธิปไตย
หากต้องการสร้างระบอบประชาธิปไตยให้ลงหลักปักฐานได้ สิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย อาจจะนำกรณีศึกษาจากการใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญของพระยาพหลฯ และขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 มาอภิปรายกันต่อไปในอนาคต เพื่อทำความเข้าใจต่อฐานะทางประวัติศาสตร์ถึงเหตุปัจจัยการเกิดขึ้น
[1] ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 50 ลงวันที่ 1 เมษายน 2476. หน้า 1-2.
[3] ปูนเทพ ศิรินุพงศ์, “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ในกฎหมายรัฐธรรมนูญไทย: การกลายพันธุ์ของความคิดทางรัฐธรรมนูญที่รับเข้าจากต่างประเทศ?. ปีที่ 47 ฉบับที่ 1 (2561) : วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 81-108.
[4] ปรีดี พนมยงค์, ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 : ประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ไม่มีในหนังสือเรียน, สถาบันปรีดี พนมยงค์.