ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

การปฏิเสธอำนาจรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และการเรียกร้องต้องการรัฐธรรมนูญของคณะร.ศ. 103

2
มิถุนายน
2564

ร.ศ. 103 ตรงกับ พ.ศ. 2427 เป็นปีที่ 17 ของการครองราชย์รัชกาลที่ 5 ได้มีเจ้านายและข้าราชการจำนวนหนึ่งที่รับราชการ ณ สถานทูตไทย กรุงลอนดอนและกรุงปารีส ได้ร่วมกันลงชื่อในเอกสารกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103

 


ที่มา: หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงเอนกนยวาท (ม.ร.ว.นารถ ชุมสาย)

 

‘พระองค์เจ้าปฤษฎางค์’ ได้ทรงมีบันทึกไว้ว่า “ตกลงกันเป็นอันจะทูลเกล้าฯ ถวายความเห็นร่วมกันรับผิดชอบด้วยกัน ซึ่งเป็นความเห็นของพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณมากข้อ ข้าพเข้าเป็นผู้เรียบเรียง กรมหมื่นนเรศร์พระองค์โสณบัณฑิตฯ พระองค์สวัสดิ์ฯเป็นผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมทำ 4 ฉบับ ส่งเข้าไปให้สมาชิกสโมสรหลวง สุดแต่จะมีผู้ใดเต็มใจลงนามร่วมเห็นพ้องด้วยทูลเกล้าถวาย 1 ฉบับ สำหรับพระราชทานลงนาม ทูลเกล้าถวาย 1 สำหรับสำนักทูตทั้ง 2 เมืองสำนักละฉบับให้นายเสน่ห์ หุ้มแพร นำเข้าไปทูลเกล้า ฯ ถวายและชักชวนผู้อื่นให้ลงนามด้วย”

 


ภาพ: หนังสือกราบบังคมทูลของ “นักปฏิรูป ร.ศ. 103” ลงพระนามเจ้านาย 4 พระองค์ และนามข้าราชการสถานทูตสยามกรุงลอนดอน 7 คน ที่เข้าชื่อถวายหนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5
ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม

 

แนวความคิดในการเรียกร้องให้ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบประชาธิปไตยนั้น เกิดขึ้นจากเจ้านาย 4 พระองค์ และ ข้าราชการอีก 7 คน ซึ่งประกอบไปด้วย

1. พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากฤดาภินิหาร กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์
2. พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต
3. พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ 
4. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์
5. พระยาดำรงราชพลขันธ์ (นกแก้ว คชเสนี) 
6. หลวงเดชนายเวร (สุ่น สาตราภัย)
7. นายเสน่ห์ หุ้มแพร (บุศย์ เพ็ญกุล) 
8. ขุนปฏิภาณพิจิตร (หรุ่น)
9. นายร้อยเอกเปลี่ยน หัสดิเสวี
10. หลวงวิเศษสาลี (นาค ณ ป้อมเพชร) 
11. สับเลฟ ติแนนต์ สอาด สิงหเสนี

ซึ่งทั้งหมดได้เสี่ยงต่อการถูกลงโทษฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กราบบังคมทูลถวายความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินต่อรัชกาลที่ 5 ว่า สถานการณ์ของโลกในเวลานั้น มีลักษณะเป็นที่น่าวิตกว่าจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยได้เมื่อเห็นว่าจะเกิดภยันตรายขึ้นจึงได้กราบบังคมทูลตามที่รู้เห็นข้อเท็จจริงโดยเจ้านายและ ข้าราชการกลุ่มนี้เห็นว่า “ถ้ามิได้กราบบังคมทูลพระกรุณาตามรู้เห็นแล้ว ก็เป็นการขาดจากความกตัญญูและน้ำพิพัฒน์ ทั้งความรักใคร่ในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทและทั้งพระราชอาณาเขตซึ่งเป็นของข้าพระพุทธเจ้าประเทศไทยทั่วกันหมด”

จะเห็นได้ว่าเจ้านายและข้าราชการเหล่านี้ ได้กล่าวถึงประเทศหรือแผ่นดินประเทศไทยว่าเป็นของชาวไทยทั้งหมด ซึ่งเป็นการสอดแทรกแนวความคิดที่ว่าชาวไทยทุกคนมีส่วนร่วมกันเป็นเจ้าของมิใช่พระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวเท่านั้น เพราะเมื่อมีผู้กล่าวถึงประเทศไทย ก็มักจะพูดแต่เพียงว่าเป็น “พระราชอาณาจักรอันได้แก่อาณาจักรของพระเจ้าแผ่นดิน” แต่ในครั้งนี้เจ้านายและข้าราชการกลุ่มนี้ได้เน้นย้ำว่า “พระราชอาณาเขตนั้นเป็นของชาวไทยทุกคน” ซึ่งเป็นข้อพิจารณาเบื้องต้นอันเป็นฐานของความคิดที่จะตามมาภายหลังว่า ทุกคนจะต้องรับผิดร่วมกันในการทำนุบำรุงชาติ มิใช่เฉพาะแต่พระเจ้าอยู่หัวเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น อันเป็นการแทรกสอดความคิดแเบบประชาธิปไตยที่ต้องการให้ประชาชนทุกคนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศนั่นเอง

สาระสำคัญของคำกราบบังคมทูลฯ นี้มีอยู่สามข้อ กล่าวคือ

1. ภัยอันตรายจะมาถึงบ้านเมือง เนื่องจากการปกครองในขณะนั้น

2. การที่จะรักษาบ้านเมืองให้พ้นอันตราย ต้องอาศัยความเปลี่ยนแปลงบำรุงรักษาบ้านเมืองแนวเดียวกับที่ญี่ปุ่นได้ทำตามแนวการปกครองของประเทศในยุโรป

3. การที่จะจัดการตามข้อ 2 ให้สำเร็จ ต้องลงมือจัดให้เป็นจริงทุกประการ ภัยอันตรายที่จะมาถึงบ้านเมือง คือ ภัยอันตรายที่จะมีมาจากประเทศที่มีอำนาจมากกว่าประเทศไทย ถ้ามหาอำนาจในยุโรปประสงค์จะได้เมืองใดเป็นอาณานิคม ก็จะต้องอ้างเหตุผลว่าเป็นภารกิจของชาวผิวขาวที่มีมนุษยชาติ ต้องการให้มนุษย์มีความสุขความเจริญ ได้รับความยุติธรรมเสมอกัน ประเทศที่มีการปกครองแบบเก่านอกจากจะกีดขวางความเจริญของประเทศในเอเชียแล้วยังยืดขวางความเจริญของประเทศที่เจริญรุ่งเรืองแล้วด้วย

สรุปว่ารัฐบาลที่มีการปกครองแบบเก่าจัดการบ้านเมืองไม่เรียบร้อย เกิดอันตรายทำให้อันตรายนั้นมาถึงชาวยุโรป นับว่าเป็นช่องทางที่ชาวยุโรปจะเข้าจัดการให้หมดอันตราย และอีกประการหนึ่ง ถ้าปิดประเทศไม่ค้าขายก็จะเข้ามาเปิดประเทศค้าขายให้เกิดประโยชน์ ทั้งหมดเป็นเหตุผลที่ประเทศในยุโรปจะยึดเอาเป็นอาณานิคม การป้องกันอันตรายที่จะบังเกิดขึ้นอยู่หลายทาง แต่คิดว่าใช้ไม่ได้ คือ (ชัยอนันต์ สมุทวณิช, 2518)

1. การใช้ความอ่อนหวานเพื่อให้มหาอำนาจสงสาร ประเทศญี่ปุ่นได้ใช้ความอ่อนหวานมานานแล้วจนเห็นว่าไม่ได้ประโยชน์ จึงได้จัดการเปลี่ยนการบริหารประเทศให้ยุโรปนับถือ จึงเห็นว่าการใช้ความอ่อนหวานนั้นใช้ไม่ได้

2. การต่อสู้ด้วยกำลังทหารซึ่งก็เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง กำลังทหารของไทยมีไม่เพียงพอทั้งยังต้องอาศัยซื้ออาวุธจากต่างประเทศถ้าได้รบกันจริงๆ กับประเทศในยุโรป

3. การอาศัยประโยชน์ที่ประเทศไทยมีเขตแดนติดต่อกับประเทศที่เป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษและประเทศฝรั่งเศส อาจให้ประเทศไทยเป็นรัฐกันชน (Buffer state) และก็คงให้มีอาณาเขตแดนเพียงเป็นกำแพงกั้นระหว่างอาณานิคมประเทศไทยก็จะเดือดร้อนเพราะเหตุนี้

4. การจัดการบ้านเมืองเพียงเฉพาะเรื่อง ไม่ได้จัดให้เรียบร้อยตั้งแต่ฐานราก ไม่ใช่การแก้ปัญหา

5. สัญญาทางพระราชไมตรีที่ทำไว้กับต่างประเทศ ไม่เป็นหลักประกันว่าจะคุ้มครองประเทศไทยได้ ตัวอย่างที่สหรัฐอเมริกาสัญญาจะช่วยประเทศจีน ครั้นมีปัญหาเข้าจริงสหรัฐอเมริกาก็มิได้ช่วย และถ้าประเทศไทยไม่ทำสัญญาให้ผลประโยชน์แก่ต่างประเทศ ประเทศนั้นๆ ก็จะเข้ามากดขี่ให้ประเทศไทยทำสัญญาอยู่นั่นเอง

6. การค้าขายและผลประโยชน์ของชาวยุโรปที่มีอยู่ในประเทศไทย ไม่อาจช่วยคุ้มครองประเทศไทยได้ถ้าจะมีชาติที่หวังผลประโยขน์มากขึ้นมาเบียดเบียน

7. คำกล่าวที่ว่าประเทศไทยรักษาเอกราชมาได้ ก็คงจะรักษาได้อย่างเดิม คำกล่าวอย่างนั้นใช้ไม่ได้ในสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งเป็นเวลาที่ประเทศในยุโรปกำลังแสวงหาเมืองขึ้นและประเทศที่ไม่มีความเจริญก็ตกเป็นอาณานิคมไปหมดแล้ว ถ้าประเทศไทยไม่แก้ไขก็อาจจะเป็นไปเหมือนกับประเทศที่กล่าวมา

8. กฎหมายระหว่างประเทศจะคุ้มครองประเทศที่เจริญและมีขนบธรรมเนียมคล้ายคลึงกัน ประเทศญี่ปุ่นได้แก้ไขกฎหมายให้คล้ายกับยุโรปก็จะได้รับความคุ้มครอง  ประเทศไทยต้องปรับปรุงการจัดบ้านเมืองให้เป็นที่ยอมรับเช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น มิฉะนั้นกฎหมายระหว่างประเทศก็ไม่ช่วยประเทศไทยให้พ้นอันตราย

ในหนังสือกราบบังคมทูล ได้เสนอความเห็นที่เรียกว่าจัดการบ้านเมืองตามแบบยุโรปรวม 7 ข้อ ดังนี้

1. ให้เปลี่ยนการปกครองจาก “แอบโสลูดโมนากี”  ให้เป็นการปกครองที่เรียกว่า “คอนสติติวชั่นแนลโมนากี” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเข้าอยู่หัวทรงเป็นประธานของบ้านเมือง มีข้าราชการรับสนองพระบรมราชโองการเหมือนสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์ในยุโรปที่มิต้องทรงราชการเองทั่วไปทุกอย่าง

2. การทำนุบำรุงแผ่นดินต้องมีพวก “คาบิเนต” รับผิดชอบและต้องมีพระราชประเพณีจัดสืบสันตติวงศ์ให้เป็นที่รู้ทั่วกัน เมื่อถึงคราวเปลี่ยนแผ่นดินจะได้ไม่ยุ่งยากและป้องกันไม่ให้ผู้ใดคิดหาอำนาจเพื่อตัวเองด้วย

3. ต้องหาทางป้องกันคอร์รัปชั่นให้ข้าราชการมีเงินเดือนพอใช้ตามฐานานุรูป

4. ต้องให้ประชาชนมีความสุขเสมอกัน มีกฎหมายให้ความยุติธรรมแก่ประชาชนทั่วไป

5. ให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขขนบธรรมเนียมและกฎหมายที่ใช้ไม่ได้ที่กีดขวางความเจริญของบ้านเมือง

6. ให้มีเสรีภาพในทางความคิดเห็นและให้แสดงออกได้ในที่ประชุมหรือในหนังสือพิมพ์ การพูดไม่จริงจะต้องมีโทษตามกฎหมาย

7. ข้าราชการทุกระดับชั้นต้องเลือกเอาคนที่มีความรู้ มีความประพฤติดี อายุ 20 ขึ้นไป ผู้ที่เคยทำชั่วถูกถอดยศศักดิ์หรือเคยประพฤติผิดกฎหมาย ไม่ควรรับเข้ารับราชการอีกและถ้าได้ข้าราชการที่รู้ขนบธรรมเนียมยุโรปได้ยิ่งดี

ในข้อเสนอนั้นได้ระบุว่า

“ทางที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบบังคมทูลพระกรุณาว่าเป็นคอนสติติวชั่นยุโรปนั้น หาได้ประสงค์ที่จะมีปาลิเมนต์ในเวลานี้ ไม่หมายความผู้เสนอขอให้มีรัฐธรรมนูญ ยังไม่ได้ต้องการรัฐสภาเหมือนดังกรุงอังกฤษฤาอเมริกา ซึ่งอำนาจและความผิดชอบอยู่ในเนื้อมือราษฎรทั้งสิ้นให้มีเคาเวอนเมนต์และกำหนดกฎหมายความยุติธรรมอันแน่นอน”

หมายถึง ให้มีคณะรัฐบาล ซึ่งประกอบด้วยเสนาบดี หรือ รัฐมนตรีพร้อมทั้งมีกฎหมายที่ให้ความยุติธรรม รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำรัสตอบความเห็นของคณะที่กราบบังคมทูลจะให้เปลี่ยนแปลงการปกครองว่า

“พระองค์ทรงตระหนักในอันตรายที่กล่าวมานั้น และไม่ต้องห่วงว่าพระองค์จะทรงขัดขวางในการที่จะเสียอำนาจซึ่งเรียกว่าแอบโซลูด”

พระองค์ทรงกล่าวต่อไปอีกว่า “เมื่อพระองค์ทรงครองราชสมบัติใหม่ ทรงไม่มีอำนาจอันใดเลย ขณะพระองค์ทรงมีอำนาจบริบูรณ์ในเวลาที่ทรงมีอำนาจน้อยก็มีความลำบาก เวลานี้มีอำนาจมากก็มีความลำบาก พระองค์จึงทรงปรารถนาอำนาจปานกลาง ได้ทรงครองราชย์มาถึง 17 - 18 ปี ได้ทรงศึกษาเหตุการณ์บ้านเมืองอื่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่เหมือนคางคกในกะลาครอบหรือทรงอยู่เฉยๆ ไม่ได้ทรงทำอะไรเลย ที่เรียกร้องให้มีรัฐบาล (คอเวอนเมนต์) ก็มีเสนาบดีเป็นรัฐบาลแล้วแต่ยังไม่ดี สิ่งที่พระองค์ทรงต้องการคือ คอเวอนเมนตรีฟอม

หมายถึง ให้พนักงานของราชการแผ่นดินทุกๆ กรม ทำการให้ได้เต็มที่ ให้ได้ประชุมปรึกษากัน ติดต่อกันง่ายและเร็ว อีกประการหนึ่งทรงหาผู้ทำกฎหมายสละที่ปรึกษากฎหมายการกระทำทั้งสองประการต้องได้สำเร็จก่อน การอื่นๆ ก็จะสำเร็จตลอด

เพราะฉะนั้น การเรียกร้องให้มีรัฐบาลและรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายปกครองประเทศตามความหมายของระบอบประชาธิปไตยเป็นไปได้ยาก

 

บรรณานุกรม:

  • ชัยอนันต์ สมุทวณิช. (2517). “สรรนิพนธ์ของเทียนวรรณ”. กรุงเทพฯ: องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง

ที่มา:

หมายเหตุ: 

  • บทความนี้ได้ทำการขออนุญาตผู้เขียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
  • ตั้งชื่อบทความ ตัดตอนเนื้อหาบางส่วน และเน้นข้อความ โดยบรรณาธิการ