ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ก.ศ.ร. กุหลาบ และ เทียนวรรณ: สองปัญญาชนหัวก้าวหน้ากับการการท้าทายระบอบศักดินา

3
มิถุนายน
2564
“เทียนวรรณ” หรือ ต.ว.ส.วัณณาโภ เป็นนามปากกาของ เทียน วัณณาโภ
“เทียนวรรณ” หรือ ต.ว.ส.วัณณาโภ เป็นนามปากกาของ เทียน วัณณาโภ

 

‘ก.ศ.ร. กุหลาบ’ และ ‘เทียนวรรณ’ เป็นบุคคลร่วมสมัยที่เกิดในรัชกาลที่ 3 และเติบโตในขณะที่อิทธิพลของอารยธรรมตะวันตกกำลังแพร่สะพัดอยู่ในสังคมระดับสูง ถึงแม้ว่าบุคคลทั้งสองจะมิได้มีตำแหน่งหน้าที่ในทางราชการก็ตาม แต่มีโอกาสได้เรียนรู้ความก้าวหน้าของตะวันตก อันเนื่องจากที่ได้เคยบวชเรียนในพระพุทธศาสนากับนักปราชญ์คนสำคัญ รวมทั้งได้มี โอกาสคุ้นเคยกับรัชกาลที่ 5 และเจ้านายพระองค์อื่นที่มีความสัมพันธ์กับฝรั่งตะวันตก จึงทำให้บุคคลทั้งสองมีความสามารถในการติดต่อสื่อสารและรับเอาวิทยาการแผนใหม่จากตะวันตกได้เป็นอย่างดี

แนวความคิดของเทียนวรรณ และ ก.ศ.ร. กุหลาบ ถือได้ว่าเป็นนักคิดที่มีผลงานวิจารณ์สังคมในแนวทางที่ต้องการปฏิรูปบ้านเมืองให้มีความเจริญก้าวหน้าดังเช่นประเทศอื่นๆ ซึ่งถือว่ามีความเป็น “สมัยใหม่” มาก และจัดได้ว่าแนวความคิคของบุคคลทั้งสองเป็นแนวคิดที่รุนแรงเพื่อต่อต้านระบอบความเชื่อดังเดิม หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือเป็นการท้าทายอำนาจรัฐของพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมากสำหรับการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

 

ที่มา: เรือนไทยวิชาการ.com
ที่มา: เรือนไทยวิชาการ.com

 

งานเขียนของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ที่ให้นำเสนอนั้น แม้ว่าจะมิใช่เป็นการวิจารณ์สังคมและการปกครองที่รุนแรงอย่างเช่นเทียนวรรณ แต่ได้สะท้อนความคิคเห็นว่า การปกครองในอุคมคติหรือการปกครองที่ดีนั้น ควรจะเป็นการปกครองที่ยึดถือเอาความยุติธรรมเป็นหลักซึ่งได้แก่การปฏิบัติตามหลักธรรมะทางพุทธศาสนา และการนำคำสอนของพระพุทธศาสนามาเป็นหลักในการปกครอง และการบริหารราชการทุกระดับ (ชัยอนันต์ สมุทวณิช, 2524) เสนอการปฏิรูปผสมผสานแนวคิดพุทธศาสนาในแนวคิดทางการเมือง และความร่วมมือระหว่างกษัตริย์ ขุนนาง และราษฎร 

ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้กล่าวไว้ในหนังสือประเทศไทยประเภท ฉบับที่ 1 เกี่ยวกับ “ความเป็นเอกราชของบ้านเมือง” ว่าจะประกอบไปด้วยหลักประธาน 4 ประการ คือ จัตุเทวาภิบาลสี่องค์ คือ

1. พระซื่อเมือง ได้แก่ พระพุทธจักรหรือที่เรียกว่าพระไตรปิฎก อันได้แก่ คำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาพระพุทธเข้า

2. พระทรงเมือง ได้แก่ พระราชอาณาจักร (Kingdom) คือการปกครองเขตแดน โดยอาศัยพระราชกำหนดกฎกณฑ์ที่เรียกว่า “กฎหมาย” เป็นแนวทางในการปกครอง

3. พระหลักเมือง ได้แก่ เสวะกามาตรย์ราชบริพาร ที่มีหน้าที่พิพากษาตัดสินคดีของราษฎรหรือหากจะเรียกตามภาษาสมัยใหม่ก็คือรัฐมนตรีหรือรัฐบาล ซึ่งหากในความหมายปัจจุบันก็คือ “ราชาธิปไตย” และ

4. พระกาลเมือง ได้แก่ จัตุรงคะเสนามาตย์ ซึ่งหมายถึงปัจจัยที่ถือเป็นกำลังสำคัญของบ้านเมือง 4 อย่าง คือ ช้าง ม้า เกวียนระแทะ และไพร่พล

จากแนวความคิดของ ก.ศ.ร. กุหลาบ แสดงให้เห็นถึงหลักประธาน 4 ประการที่จะเป็นแนวทางของการปกครองประเทศ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดได้แก่ พระซื่อเมือง หมายถึงหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าอันเปรียบเสมือนหลักการปกครองบ้านเมือง และถือว่าเป็นที่มาของพระทรงเมือง (ตัวบทกฎหมาย)

เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับแนวความคิดในทางกฎหมายมหาชนสมัยใหม่แล้วจึงอาจอนุโลมเอาได้ว่าพระซื่อเมืองในความหมายของ ก.ศ.ร. กุหลาบ น่าจะหมายถึง “รัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์สูงสุด ที่กำหนดกติกา รูปแบบการปกครองของประเทศเอาไว้อย่างชัดเจน และถือว่าเป็นที่มาของอำนาจทั้งหมดภายในประเทศนั่นเอง เท่ากับว่าแนวความคิดดังกล่าวสนับสนุนให้จำกัดการใช้อำนาจรัฐของพระมหากษัตริย์ว่าควรจะต้องมีหลักเกณฑ์หรือกฎหมายสูงสุดที่มิใช่แต่เพียงหลักธรรมะในทางพระพุทธศาสนาเพียงอย่างเดียว จึงเป็นนัยของการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นแบบพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้กฎหมาย

หากแต่ความคิดเห็นของ ก.ศ.ร. กุหลาบ นั้น กลับเป็นที่รู้จักและเข้าใจว่าเป็นผู้ที่ดัดแปลงหรือปลอมแปลงประวัติศาสตร์ (ชัยอนันต์ สมุทวณิช, 2524) ฉะนั้น ผลงานของก.ศ.ร.กุหลาบ จึงมิได้รับการยอมรับเท่าที่ควร ในขณะที่ปราชญ์ที่มีชื่อเสียงแห่งยุคอีกท่านหนึ่ง ได้แก่ ‘เทียนวรรณ’ 

 

ภาพ: “ตุลยวิภาคพจนกิจ” ที่มา: กรมศิลปากร
ภาพ: “ตุลยวิภาคพจนกิจ”
ที่มา: กรมศิลปากร

 

‘เทียนวรรณ’ เป็นผู้มีแนวความคิดแบบสมัยใหม่ และได้เสนอแนวความคิดนั้นออกทางสื่อหนังสือพิมพ์ที่ตนเองเป็นบรรณาธิการอยู่ ชื่อว่า “ตุลยวิภาคพจนกิจ” และ “ศิริพจนภาค” ซึ่งมุ่งเสนอความเห็นในการปรับปรุงประเทศไทยให้เจริญรุ่งเรือง ขจัดขนบธรรมเนียมประเพณีและค่านิยมที่ไม่พึงปรารถนา แต่ด้วยความคิดเห็นที่ค่อนข้างจะก้าวหน้าล้ำสมัย จึงทำให้ความคิดของเขาไม่มีอิทธิพลแพร่หลายเท่าที่ควร เพราะในสมัยนั้นมีผู้รู้หนังสือเป็นจำนวนน้อย ข้อเขียนของเทียนวรรณจึงจำกัดอยู่แต่ในวงแคบเฉพาะคนชั้นปกครองและขุนนางบางคนเท่านั้น แต่ก็มิได้ถือเอาเป็นธุระมากมายนัก (ชัยอนันต์ สมุทวณิช, 2524)

‘เทียนวรรณ’ ได้เสนอความคิดในรูปแบบของการวิจารณ์สังคมและระบบการเมืองอย่างรุนแรงที่สุดคนหนึ่ง แม้จะมิได้วิจารณ์รัฐบาลของรัชกาลที่ 5 โดยตรง แต่ก็ได้อธิบายเปรียบเทียบธรรมะในทางพระพุทธศาสนาเพื่อนำมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการปกครองประเทศ ข้อเขียนของเทียนวรรณว่าด้วยกำลังใหญ่ 3 ประการหลักสำคัญที่ถือเป็นกำลังของบ้านเมืองประกอบไปด้วย 3 สิ่ง คือ วิชาความรู้ประการหนึ่ง ทรัพย์และบ่อเกิดแห่งทรัพย์ประการหนึ่ง และ ประชาชนพลเมืองที่มีความชำนาญทางการศึกอีกประการหนึ่ง

สิ่งสำคัญที่สุดใน 3 ประการหลักก็คือ “ประชาชนพลเมืองอันเป็นกำลังของประเทศ” เท่ากับชี้ให้พระมหากษัตริย์ในฐานะผู้ปกครองของประเทศในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต้องให้ความสำคัญกับราษฎรเพราะ

“ราษฎรเป็นแก้วตาของพระมหากษัตริย์ต้องระวังรักษาถนอมอย่างเอกที่สุด ต้องเอื้อเฟื้อ เห็นสิ่งใดจะเป็นอันตรายแก่ราษฎร ต้องรีบร้อนเอาใจใส่ตัดรอนเสียให้เหมือนเราเอาใจใส่บุตรภรรยาที่รักของเรา”

โดยเปรียบราษฎรเสมือน “สายโลหิตของแผ่นดิน” ดังนั้น เทียนวรรณจึงมีความฝันว่าสักวันหนึ่งต้องมีการเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีของบ้านเมือง

“จะตั้งปาลิเมนต์อนุญาตให้มีหัวหน้าราษฎรมาพูดธุระชี้แจงของตนแก่รัฐบาลได้ ในข้อที่มีคุณแลมีโทษทางความเจริญแลไม่เจริญนั้นๆ ได้ตามเวลาที่กำหนดอนุญาตไว้”

หรือ คำกลอนเรียกร้องให้มีการปกครองในระบอบรัฐสภาที่เทียนวรรณได้เสนอไว้เมื่อปี พ.ศ. 2448 ว่า

“ไพร่เป็นพื้นยืนร้องทำนองชอบ
ตามระบอบปาลิเมนต์ประเด็นขำ
แม้นิ่งช้าล้าหลังยังมิทำ
จะตกต่ำน้อยหน้าเวลาสาย

ขอให้เห็นเช่นเราผู้เฒ่าทัก
บำรุงรักษาชาติสะอาดศรี
ทั้งเจ้านายฝ้ายพหลและมนตรี
จะเป็นศิวิไลซ์จริงอย่านิ่งนาน

ให้รีบหาปาลิเมนต์ขึ้นเป็นหลัก
จะได้ชักน้อมใจไพร่สมาน
เร่งเป็นฟรีปรีดาอย่าช้านาน
รักษาบ้านเมืองเราช่วยเจ้านาย”

(ชัยอนันต์ สมุทวณิช, 2524)

ฉะนั้น แนวความคิดของเทียนวรรณที่ได้เสนอมานี้ แสดงให้เห็นว่าเทียนวรรณเป็นผู้ที่มีความคิดหัวก้าวหน้าตามแบบสมัยใหม่เป็นอย่างมาก กล่าวคือ ต้องการจะให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการปกครองทางการเมือง โดยให้เปลี่ยนแปลงประเพณีการปกครองแผ่นดินจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขและมีพระราชอำนาจเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียวมาเป็นแบบรัฐสภาหรือที่ในขณะนั้นเรียกว่า “ปาลิเมนต์” ซึ่งเท่ากับว่าอำนาจรัฐจะมิได้เป็นของพระมหากษัตริย์เหมือนอย่างเช่นในอดีต แต่ราษฎรส่วนใหญ่ของประเทศจะเป็นเจ้าของและเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ โดยผ่านทางหัวหน้าราษฎรที่ประชาชนได้ร่วมกันเสนอแต่งตั้งขึ้น

อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่าเทียนวรรณมิได้กล่าวถึงการจัดให้มีกฎหมายสูงสุดสำหรับเป็นเครื่องมือในการจำกัดการใช้อำนาจของผู้ปกครอง และกำหนดแนวทางการปกครองประเทศ หรือ รัฐธรรมนูญ ดังเช่นที่ปรากฏในคำกราบบังคมทูลฯ เมื่อ ร.ศ. 103 และความเห็นของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าการเสนอความคิดเพื่อวิจารณ์สังคมของเทียนวรรณนั้น จะเป็นไปในทางปฏิบัติที่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกคนในสังคมเป็นหลักสำคัญ

เขาจึงปรารถนาที่จะให้ประชาชนได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งในการปกครองประเทศซึ่งในที่สุดแล้ว ย่อมจะต้องมีรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นในฐานะของกฎหมายสูงสุดของประเทศ ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย เห็นได้จากแนวความคิดของกฎหมายมหาชนสมัยใหม่นั่นเอง

ในเรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตย ‘เทียนวรรณ’ เสนอความคิดในข้อเขียนเรื่อง “ว่าด้วยความฝันละเมอแต่มิใช่นอนหลับ”  ในข้อที่ 28 กล่าวไว้ว่า

“จะตั้งปาลิเมนอะนุญาตให้มีหัวหน้าราษฎรมาพูดธุระชี้แจงของตนแก่รัฐบาลได้, ในข้อที่มีคุณแลมีโทษทางความเจริญแลไม่เจริญนั้นๆ ได้ตามเวลาที่กำหนดอะนุญาตไว้, ในความฝันที่เราฝันมานี้, ในชั้นต้นจะโวดเลือกผู้มีสะติปัญญาเปนชั้นแรกคราวแรกที่เริ่มจัด, ให้ประจำการในกระทรวงทุกอย่างไปก่อนกว่าจะได้ดำเนินให้เปนปรกติเรียบร้อยได้,”

ต่อมาเทียนวรรณได้เขียนกลอนให้เห็นว่าราษฎรจำเป็นต้องมีผู้แทน มีรัฐสภา ซึ่งเทียนวรรณใช้คำทับศัพท์ว่า “ปาลิเมนต์” จะเห็นว่าข้อเสนอของเทียนวรรณก้าวหน้าไปกว่าคำกราบบังคมทูลของกลุ่มเจ้านายและข้าราชการใน ร.ศ. 103 เพราะได้เรียกร้องให้มีรัฐสภาซึ่งมาจากราษฎร

ภายหลังจากที่เทียนวรรณเรียกร้องให้มีรัฐสภา เพียง 27 ปี ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมาย ในปี พ.ศ. 2475 นั่นเอง

เทียนวรรณถึงแก่กรรมเมื่อ ร.ศ. 133 หรือ พ.ศ. 2457 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ขณะมีอายุได้ 73 ปี  และเป็นต้นสกุล “โปรเทียรณ์”

 

ที่มา: ศิรินภา โปรเทียรณ์. “อิทธิพลของวรรณกรรมของเทียนวรรณต่อการพัฒนากฎหมายมหาชนของไทย”, วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชากฎหมายมหาชน คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, มิถุนายน 2557, สืบค้นเมื่อ 31/05/2564

หมายเหตุ: 

  • บทความนี้ได้ทำการขออนุญาตผู้เขียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
  • ตั้งชื่อบทความ ตัดตอนเนื้อหาบางส่วน และเน้นข้อความ โดยบรรณาธิการ