ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

Back to school เปิดเทอมวันแรก ณ ต.ม.ธ.ก.

6
มิถุนายน
2564

 

ในปี 2481 นอกจากจะมีวิวัฒนาการที่สำคัญของ ต.ม.ธ.ก. ในการเปิดการสอนเพื่อให้ประกาศนียบัตรทางการบัญชีแล้ว ยังมีการจัดตั้งโรงเรียนเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง หรือ ที่รู้จักกันดีว่า ต.ม.ธ.ก. อีกด้วย

ต.ม.ธ.ก. คือ โรงเรียนและนักเรียนระดับมัธยมบริบูรณ์ (2 ชั้นปี เตรียมปีที่ 1 และ เตรียมปีที่ 2) ที่เป็นปรากฏการณ์สำคัญของ ต.ม.ธ.ก. อยู่ 8 ปี มีนักเรียน 8 รุ่น ระหว่างปี 2481 - 2490 (ปี 2489 และ 2490 มิได้มีการรับนักเรียนเตรียมอีกต่อไป)

แต่ใน ต.ม.ธ.ก. ยังมีโรงเรียนเตรียมอยู่ เพราะรุ่น 8 ปี 2488 จะจบก็ต่อเมื่อ 2490) ทั้งหมดประมาณ 6,000 คน และมีผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรนี้ 5,898 คน (ในปี 2487 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการเปิด ต.ม.ธ.ก. รุ่นพิเศษขึ้นที่จังหวัดอุบลราชธานี มีนักเรียน 118 คน เรียนจบ 112 คน) ต.ม.ธ.ก. มีสถานที่เรียนเป็นตึก 2 ชั้น สร้างต่อจากตึกโดมไปด้านกำแพงชรา (ปัจจุบันคือที่ตั้งของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี) ด้านนอกของกำแพงชรานี้มีรถรางวิ่งผ่าน จนเป็นสิ่งที่นักเรียน ต.ม.ธ.ก. รำลึกกันว่า “อยู่เตรียม 2 ปีได้ยินแต่สาลี่รถราง” กล่าวได้ว่านักเรียน ต.ม.ธ.ก. ได้เพิ่มสีสันและชีวิตชีวาให้กับ ต.ม.ธ.ก. อย่างยิ่ง เพราะนี่เป็นนักเรียนรุ่นเยาว์กว่าและมีความเป็นสหศึกษา คือมีทั้งหญิงและชายเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้การศึกษาอย่างจริงจังเต็มเวลาเริ่มขึ้นจากนักเรียน ต.ม.ธ.ก. นี่เอง อันจะมีผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงภายในของมหาวิทยาลัยอย่างสูง ดังที่จะได้กล่าวต่อไปภายหลัง

การจัดตั้ง ต.ม.ธ.ก. นี้ ในแง่หนึ่งเกิดจากสาเหตุภายในของมหาวิทยาลัยเอง กล่าวคือ เมื่อเปิดการเรียนการสอนใน ม.ธ.ก. ไปได้ระยะหนึ่ง มหาวิทยาลัยเริ่มมองเห็นปัญหาว่าจะต้องพัฒนาการเรียนการสอนเพื่อเพิ่มความรู้ของนักศึกษา การเปิดตลาดวิชาและเปิดโอกาสให้มีนักศึกษาจำนวนมากในระยะแรกนั้น มหาวิทยาลัยประสบกับปัญหาที่นักศึกษาจำนวนมากเหล่านี้มีพื้นฐานของความรู้ไม่เพียงพอที่จะเรียนได้ ผลก็คือ มีนักศึกษาจำนวนมากที่ไม่สามารถผ่านเกณฑ์การสอบไล่ของมหาวิทยาลัย

ดังปรากฏหลักฐานว่า เมื่อเริ่มตั้งมหาวิทยาลัยมีจำนวนนักศึกษาเกือบหมื่นคน แต่เมื่อ ปี 2479 นั้น มีนักศึกษาจำนวนมากต้องขาดจากสภาพการเป็นนักศึกษา และมหาวิทยาลัยได้คัดชื่อออก ปัญหาดังกล่าวทำให้มหาวิทยาลัยต้องเริ่มวางมาตรการในอันที่จะยกระดับมาตรฐานความรู้ของนักศึกษาให้สูงขึ้น การจัดหลักสูตร ต.ม.ธ.ก. จึงเป็นมาตรการอันหนึ่งที่ตระเตรียมขึ้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาข้างต้น

การจัดหลักสูตร ต.ม.ธ.ก. ในอีกแง่หนึ่ง เป็นการจัดหลักสูตรโดยสอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ ปี 2479 อันเป็นแผนการศึกษาใหม่ของคณะราษฎรที่มุ่งจะปรับปรุงการศึกษาของ “ราษฎร” ในทุกระดับให้สอดคล้องกับการปกครองระบอบใหม่คือระบอบรัฐธรรมนูญ กล่าวคือไม่เพียงแต่จัดการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย แต่จะต้องจัดการศึกษาในระดับก่อนมหาวิทยาลัยให้ผู้เรียนมีความพร้อมที่จะเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย หลักสูตรเตรียมอุดมศึกษาจะเป็นหลักสูตรที่จัดการศึกษาตรงตามประเภทวิชาที่นักศึกษาจะเลือกเรียนในระดับอุดมศึกษาหรือกล่าวอีกในหนึ่งก็คือจะเป็นหลักสูตรที่เตรียมปูพื้นฐานความรู้สำหรับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ไม่ใช่การเรียนเฉพาะวิชาสามัญอย่างแต่ก่อน

ผลจากแผนการนี้ได้มีการยกเลิกหลักสูตรมัธยมปลาย ม.7 - ม.8 เดิมลงและจัดตั้งแผนเตรียมอุดมศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและแผนกเตรียมปริญญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขึ้นในปี 2481 ซึ่งทั้ง 2 แห่งจะจัดหลักสูตรของตนเพื่อตอบสนองความต้องการสำหรับการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเป็นการเฉพาะเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง วันที่ 23 มีนาคม 2480 ซึ่งกำหนดให้เปิดการศึกษาระดับเตรียมปริญญา นับตั้งแต่ปี 2481 และได้กำหนดคุณสมบัติและพื้นความรู้ของผู้สมัครว่าต้องมีอายุไม่เกินกว่า 20 ปีบริบูรณ์ เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย โดยต้องมีผู้รับรองคนหนึ่ง และต้องเป็นผู้สอบไล่ได้ประโยคมัธยมบริบูรณ์ (ม.8) ตามแผนการศึกษาแห่งชาติปี 2479 หรือเทียบเท่า

ที่สำคัญก็คือ จำนวนนักศึกษา ต.ม.ธ.ก. ที่มหาวิทยาลัยรับเข้าต้องผ่านการสอบคัดเลือก การจัดหลักสูตร ต.ม.ธ.ก. ในแง่หนึ่งหมายความว่า จะเป็นการเปิดยุคใหม่ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองที่จะเริ่มเข้มงวดกับการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยเริ่มตระเตรียมคนรุ่นใหม่ก่อนที่จะเข้ามาเป็นนักศึกษาระดับปริญญา คือเป็นคนวัยเรียนที่มีความพร้อมในการเล่าเรียนมากกว่ารุ่นเก่าๆ เป็นคนซึ่งทำหน้าที่เรียนอย่างเดียว

ขณะเดียวกันก็ถูกกลั่นกรองในด้านสติปัญญา จากการให้ผ่านระบบการสอบแข่งขัน คนเหล่านี้จะถูกนำมาฝึกฝนให้มีความรู้ความสามารถระดับพื้นฐาน คือ ตั้งแต่ระดับเตรียมก่อนที่จะเข้าเป็นนักศึกษาในระดับปริญญาจริงๆ ขณะเดียวกันหลักสูตร ต.ม.ธ.ก. ก็ถูกกำหนดให้ใช้เป็นมาตรฐานสำหรับการรับนักศึกษาเข้าศึกษาในระดับปริญญา

ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2480 ซึ่งแก้ไขข้อความเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัครเรียน ระบุว่าจะต้องเป็นผู้สำเร็จเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง หรือสอบความรู้อย่างอื่น ซึ่งมหาวิทยาลัยยอมเทียบให้เท่าวิทยฐานะของ ต.ม.ธ.ก. นั่น หมายความว่าผู้สำเร็จ ต.ม.ธ.ก. จะเข้าเรียนระดับปริญญาในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้ทันที โดยไม่ต้องสอบ ขณะที่บุคคลอื่นๆ ต้องสอบความรู้ซึ่งเทียบเท่ากับความรู้ระดับเตรียมตามหลักสูตร ต.ม.ธ.ก. ทั้งนี้มิได้หมายความว่า ต.ม.ธ.ก. ยกเลิกระบบตลาดวิชา แต่เป็นการจำกัดจำนวนนักศึกษาที่จะรับเข้าว่าจะต้องเป็นผู้จบระดับเตรียมอุดมศึกษา หาได้เปิดกว้างดังเช่นในกรณีของพระราชบัญญัติ ต.ม.ธ.ก. 2476 ดังที่กล่าวมาแล้ว

หลักสูตรของชั้นเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แบ่งออกเป็น 2 ชั้น มีหลักสูตร ดังนี้

ปีที่ 1 มีวิชาเรียนคือ ภาษาไทย ภาษาบาลี ศีลธรรมและจรรยา ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ โบราณคดี พลศึกษา ดุริยางคศาสตร์ สุขวิทยา

ปีที่ 2 มีวิชาเรียน คือ ภาษาไทย ศาสนศาสตร์ ภูมิศาสตร์แสดงชนชาติ ประวัติศาสตร์สากล ปรัชญา พลศึกษา ดุริยางคศาสตร์ ชวเลขและพิมพ์ดีด หลักภาษาละติน ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส

พิจารณาจากหลักสูตรมีข้อสังเกต ประการแรกว่าไม่มีการศึกษาวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ รวมถึงวิชาประเภทคณิตศาสตร์ ทั้งนี้เหตุผลก็คือหลักสูตรระดับปริญญาของ ม.ธ.ก. เป็นหลักสูตรที่เน้นวิชาทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ที่สำคัญคือ กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ และการเมืองการปกครอง ลักษณะของหลักสูตรข้างต้นอาจพิจารณาได้ใน 4 ประการด้วยกันคือ

-1-

เป็นหลักสูตรที่ปูพื้นฐานความรู้ด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาในระดับปริญญาของ ม.ธ.ก. ดังเห็นได้จากวิชา เช่น ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ โบราณคดี ศาสนศาสตร์ ภูมิศาสตร์แสดงชนชาติ ประวัติศาสตร์สากล และปรัชญา และเมื่อการศึกษาระดับปริญญาตรีของ ม.ธ.ก. ได้พัฒนายิ่งขึ้นมีการเปิดปริญญา 2 ทางคือ ธรรมศาสตรบัณฑิต และประกาศนียบัตรการบัญชี หลักสูตรของ ต.ม.ธ.ก. ก็ได้มีการเพิ่มเติมวิชาใหม่ๆ เพิ่มขึ้น คือ มีการศึกษาวิชากฎหมายเบื้องต้น เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น การบัญชีและพาณิชย์เลขคณิต

-2-

เน้นความสำคัญของการเรียนภาษาอย่างจริงจังจุดมุ่งหมายของการให้ความสำคัญกับการเรียนภาษาคือต้องการให้ผู้ที่สำเร็จมีความสามารถพอที่จะใช้ตำราต่างประเทศได้ในการศึกษาขั้นปริญญาของมหาวิทยาลัย หลักสูตรได้มุ่งให้ผู้เรียนมีความรู้แตกฉานทั้งในภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ จึงกำหนดให้เรียนภาษาเพื่อเข้าใจซาบซึ้งและใช้ได้ดี โดยเรียนถึงรากของภาษาทั้งภาษาไทย บาลี ละติน อังกฤษ และฝรั่งเศส ในการเรียนมหาวิทยาลัยกำหนดให้มีชั่วโมงฝึกฝนที่จะกวดขันด้านภาษาของนักศึกษาอย่างจริงจัง

-3-

มีการเพิ่มความรู้ทางด้านวิชาชีพเข้าไป โดยมีวัตถุประสงค์ว่า ในกรณีที่นักศึกษาไม่เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญา นักศึกษาก็สามารถออกไปประกอบอาชีพอิสระ หรือเป็นลูกจ้างในวิสาหกิจวิชาประเภทนี้ได้แก่ ชวเลข พิมพ์ดีดและดนตรี

-4-

นอกจากนั้น ตามหลักสูตรก็เป็นวิชาด้านที่จะสร้างคนให้เป็นผู้มีสุขภาพอนามัยดี โดยเฉพาะการส่งเสริมทางด้านกีฬา


 

อ้างอิง

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะ. “สำนักนั้นธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. ๒๔๗๗-๒๕๑๑”. (กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2535), หน้า 77-79.

หมายเหตุ:

  • บทความนี้ได้รับอนุญาตจากผู้เขียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
  • จัดรูปแบบอักษรและตั้งชื่อเรื่องโดยบรรณาธิการ