ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ นักเสรีนิยมที่รักความเป็นธรรม

28
กรกฎาคม
2567

Focus

  • 28 กรกฎาคม คือครบวาระการอนิจกรรมของนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ บุคคลสำคัญผู้หนึ่งที่ได้สร้างคุณูปการแก่ประเทศไว้อย่างมากมาย อาทิ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจการคลัง, คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นศิษย์เก่าคนแรกที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • บทความของชาญวิทย์ เกษตรศิริ และรังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ได้ค้นคว้าและเรียบเรียงชีวประวัติและผลงานสำคัญของ “นายป๋วย อึ๊งภากรณ์” ไว้ในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญต่อวงการเศรษฐศาสตร์และเศรษฐกิจของไทยท่ามกลางยุคสมัยแห่งความตกต่ำของระบอบประชาธิปไตยอันเกิดจากการรัฐประหารของเหล่าผู้นำเผด็จการทหาร และป๋วยยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างมากมาย จากยุคแรกเริ่มก่อตั้งโดยนายปรีดี พนมยงค์ จนระบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยได้มีรูปแบบที่เป็นอยู่จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ในฐานะอธิการบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงเวลาของประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวประชาธิปไตยของขบวนการนักศึกษาในพ.ศ. 2519
  • ที่สำคัญคือ แนวคิดของ “นายป๋วย อึ๊งภากรณ์” ยังเป็นแนวคิดหนึ่งที่เสริมสร้างรากฐานอันสำคัญของการนำพาประเทศไปสู่ “รัฐสวัสดิการ” โดยที่มีความหวังว่าจะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างเสมอภาคให้แก่ประชาชนผู้เป็นพลเมืองของประเทศ บนงานเขียนที่เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีความสัมพันธ์กับแนวคิดการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้เคยเสนอไว้เมื่อนานมาแล้วบนเค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือสมุดปกเหลือง

 

ในบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ของเมืองไทยที่มีอายุอยู่ในราว 60 ปีและมีเกียรติประวัติในการทํางานเพื่อสังคมและส่วนตัวอันดีงามแล้ว นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ หรือที่คนทั่ว ๆ ไปเรียกว่าอาจารย์ป๋วยนั้นก็เป็นบุคคลหนึ่งในจํานวนน้อยคนนักที่มีผลงานและอุทิศตนเพื่อประโยชน์ของสังคมเสมอมา

 

 

นายป๋วยเป็นครูสอนหนังสือเป็นนักเศรษฐศาสตร์เป็นนักพัฒนาเป็นนักมนุษยธรรมให้ความสนใจต่ออนาคตและโชคชะตาของประเทศชาติและท้ายที่สุดเป็นบุคคลสําคัญทั้งในวงการภายในประเทศและวงการระหว่างประเทศ

ที่ถูกกล่าวขวัญถึงอยู่เป็นประจํานายป๋วย อึ๊งภากรณ์ เกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2459/1917 ที่ ตลาดน้อย ใจกลางย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ บิดาชื่อ นายซา เป็นชาวจีนที่อพยพเข้ามาเมืองไทยเพื่อทําอาชีพขายส่งปลา มารดาชื่อ นางเซาะเซ็ง มีเชื้อสายไทย-จีน ครอบครัวของนายซาและนางเซาะเซ็ง มีบุตรทั้งหมด 7 คน เป็นชาย 5 และหญิง 2

ถ้าจะว่ากันโดยชาติกําเนิด นายป๋วยก็เป็น “ลูกจีน” และประสบปัญหา ในเรื่องนี้เหมือน ๆ กับคนไทยเชื้อจีนจํานวนมากในประเทศของเรา นายป๋วยเล่าว่า

“เพราะชื่อเราก็เป็นจีน นามสกุลก็เป็นจีน เพื่อน ๆ ที่โรงเรียนก็ล้อว่าเป็นเด็กเขาตั้งฉายาต่าง ๆ ให้เจ็บอาย เช่น เรียกผมว่าไอ้ตี๋ เวลาเตี่ยต้องลงชื่อรับทราบรายงานความประพฤติและผลสอบในสมุดประจําตัวนักเรียน เตี่ยก็เขียนภาษาไทยไม่ได้ต้องลงชื่อภาษาจีน ก่ำมีความอายเรื่องนี้มากกว่าผมตอนหลัง ๆ ถึงกับปลอมลายมือเตี้ยเขียนเป็นภาษาไทยและเปลี่ยนชื่อให้เป็นไทยเสร็จเตี่ยเป็นลูกชายคนที่สามของปู่ใคร ๆ เรียกว่า “ชา” ก่ำก็เปลี่ยนให้ เป็น “สา” ฟังดูแล้วเป็นชื่อไทย

ช่วงที่อยู่โรงเรียน เราทั้งสองพยายามนักที่จะให้เพื่อน ๆ รับเราว่าเป็นคนไทยพอกลับมาบ้านและโดยเฉพาะเมื่อไปหาลุงกับเตี้ยที่แพปลา บรรดาญาติทางเตี่ยที่มาร่วมทํางานหากินกับลุงก็มักจะล้อเลียนพวกเราว่ากลายเป็นคนไทยไปเสียแล้วพูดภาษาจีนก็ไม่ชัดกลายเป็น “ฮวนเกี๊ย” คือลูกชาวป่าเถื่อน เรายังเด็กอยู่รู้สึกอึดอัดเป็นกําลัง เพราะโดนขนาบทั้งสองด้านทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน แม่เป็นคนปลอบและให้กําลังใจแก่เรา ท่านว่า “ฮวนเกี๊ย” ซิดีเกิดเมืองไทยอยู่เมืองไทยต้องเป็นไทยถ้าอยู่เมืองจีนเป็นคนจีนดีแล้วเข้ามาหากินในเมืองไทยกันทําไมท่านว่าท่านเลี้ยงลูกของท่านให้เป็นคนไทยจะได้ไม่ต้องเป็นจับกัง คือ กรรมกรแบกหามอย่างญาติที่ช่างล้อเราไม่ต้องหาบก๋วยเตี๋ยวขายอย่างเด็ก ๆ เพื่อนบ้านและเพื่อนเล่นของเรา และไม่ต้องเป็นอั้งยี่สมาชิกสมาคมลับของจีนที่เป็นอันธพาล

ปัญหาเรื่องลูกจีนในประเทศไทยนั้นพวกเราโดยมากมักจะมองไปในทํานองว่า ลูกจีนเป็นตัวปัญหา หาได้คํานึงไม่ว่าลูกจีนนั้นเองมีปัญหาของตัวอยู่เพราะถูกอัดก๊อบปี้ทั้งด้านไทยและด้านจีนผมคิดว่าปัญหาของลูกจีนนั้นถ้าเราแก้ไขให้แล้วจะช่วยแก้ไขป้องกันปัญหาเรื่องลูกจีนสําเร็จไปด้วยในตัว สําหรับผมเอง แม่ ได้ช่วยแก้ปัญหาให้เสร็จด้วยคาถาที่ว่า เกิดเมืองไทยอยู่เมืองไทย ต้องเป็นไทย ต้องจงรักภักดีต่อไทย แม้จะถูกเย้ยหยันต่อว่า ว่าทิ้งขนบธรรมเนียมภาษาจีน ของปู่ย่าและพ่อไป ก็ทนไหวเพราะแม่ชี้ทางให้ แม่เองก็ชื่อจีน มีเชื้อจีนและพูด ภาษาจีนได้คล่องรู้ขนบธรรมเนียมจีนตี เช่น เซ่นไหว้ปู่ย่าตายายพระภูมิเจ้าที่แบบจีน นั่นเป็นเรื่องของครอบครัวของสังคม ไม่ใช่เรื่องสัญชาติ และความจงรักภักดี ซึ่งเป็นของไทยเด็ดขาด เมื่อครั้งสงครามญี่ปุ่น ผมและเพื่อน ๆ ลูกจีนอย่างผมอีกหลายคนไม่เคยลังเลใจเลยที่จะสละชีพเพื่อชาติไทยเพราะนอกจากจะเกิดเมืองไทย กินข้าวไทยแล้ว ยังได้รับทุนเล่าเรียนรัฐบาลไทย คือเงินของชาวนาชาวเมืองไทย ไปเมืองนอกแล้วผูกพันใจว่าจะรับราชการไทยด้วย

 

นายซาผู้บิดาถึงแก่กรรมเมื่อนายป๋วยมีอายุได้ 10 ขวบ ดังนั้นจึงตกเป็นหน้าที่ของนางเซาะเซ็ง ที่จะต้องเลี้ยงดูบุตรธิดาทั้งหมด มารดานั้นมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะให้ลูก ๆ ได้รับการศึกษาอย่างดีเลิศและก็ฝ่าฟันปัญหานั้นมาอย่างหนักหน่วง

นายป๋วยเข้าศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญในแผนกภาษาฝรั่งเศส และก็ทําคะแนนได้อย่างดีในวิชาฝรั่งเศสและวิชาคณิตศาสตร์ อันเป็นผลให้เมื่อจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2475/1932 นั้น ทางโรงเรียนเก็บนายป๋วยไว้เป็นครูสอนหนังสือต่อ

อาชีพเริ่มแรกของการเป็นครูได้รับเงินเดือน 40 บาท ซึ่งเป็นเงินจํานวนมากในสมัยนั้น (เสมียนพนักงานที่รับราชการได้รับเงินเดือนขั้นต้น 15 บาท) ดังนั้นนายป๋วย ซึ่งเป็นครูหนุ่มอายุ 17 ปี ก็สามารถช่วยเหลือครอบครัวได้โดยแบ่งให้มารดาเดือนละ 30 บาท และเก็บไว้ใช้เองส่วนตัวเพียง 10 บาท

ในปี พ.ศ. 2477/1934 มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้น มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในสมัยนั้นเป็นตลาดวิชาที่เปิดโอกาสทางการศึกษาให้แก่คนไทยอย่างกว้างขวาง นักศึกษาไม่จําเป็นจะต้องเข้าเรียนเป็นประจําและก็สามารถหาซื้อคําบรรยายไปศึกษาได้ด้วยตนเองในราคาวิชาละ 2 บาท นายป่วยก็เป็นคนหนึ่งในจํานวนคนไทยหลายพันคนที่เข้าเป็นนักศึกษาของ มธก. และศึกษาไปพร้อมกับการทํางานอาชีพครู

นายป๋วยจบบปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิตในปี พ.ศ. 2480/1937 และได้เริ่มงานอาชีพใหม่ในธรรมศาสตร์ โดยเป็นล่ามให้กับอาจารย์ฝรั่งเศส

ในปี พ.ศ. 2481/1938 เมื่ออายุได้ 23 ปี นายป๋วยสอบแข่งขันได้ทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อทางเศรษฐศาสตร์และการคลังที่ London School of Economics ของมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ นางเซาะเซ็งมารดาก็ถึงแก่กรรมในปีเดียวกันนั้นแต่ก็ได้ทราบแล้วว่าบุตรชายกําลังจะได้มีโอกาสไปศึกษาต่อในต่างประเทศ

ในระหว่างที่ศึกษาอยู่ที่ London School of Economics นั้น นายป๋วยมีผลการเรียนดีเด่น และเป็นศิษย์เอกของศาสตราจารย์ไลออนเนล รอบบินส์ ศาสตราจารย์เฟรดเดอริก ฮาเย็ก (ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขา เศรษฐศาสตร์ในปี 2517/1974) และศาสตราจารย์ฮาโรลด์ ลาสกี้ จนในที่สุด สําเร็จปริญญาตรีในปี 2484/1941 โดยได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง นับเป็น นักเรียนไทยคนเดียวที่ได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากสถาบันแห่งนี้ เกียรติ ประวัติทางการศึกษาดังกล่าวนี้ ทําให้ได้รับทุน Leverhulme Studentship เพื่อ ศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกทันที

ในระยะนั้นสงครามโลกครั้งที่สองได้เกิดขึ้นในยุโรปและต่อมาสงครามก็ขยายตัวขึ้นในเอเชียโดยประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นตัวแทนของฝ่ายอักษะเริ่มรุกรานประเทศต่างๆ ในขณะเดียวกันรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็เข้าร่วมกับ ญี่ปุ่น และประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485/1942 ดังนั้นประเทศไทยและประเทศอังกฤษจึงอยู่ในฐานะของประเทศคู่สงครามบรรดาคนไทยในอังกฤษจะต้องถูกส่งตัวกลับประเทศทั้งหมด

การประกาศสงครามของรัฐบาลไทยได้รับการคัดค้านอย่างกว้างขวางและเริ่มมีขบวนการต่อต้านทั้งภายในและภายนอกประเทศซึ่งรู้จักกันดีต่อมาในนามของ ขบวนการเสรีไทย ขบวนการเสรีไทยภายในประเทศมีนายปรีดี พนมยงค์เป็นผู้นําขบวนการเสรีไทยในสหรัฐฯ มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตเป็นผู้นํา

ขบวนการเสรีไทยในประเทศไทยและในสหรัฐฯ ได้รับการรับรองให้มีฐานะอย่างเป็นทางการจากทางฝ่ายสัมพันธมิตรทั้งนี้เพราะนายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ สามารถติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรได้ และ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เองปฏิเสธการประกาศสงครามของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งทำให้สหรัฐฯ รับรองฐานะของขบวนการนั้น แต่ในอังกฤษปรากฏว่าอัครราชทูตไทยยอมเดินทางกลับประเทศตามคําสั่งรัฐบาลและอังกฤษเองก็ถือว่ามีสภาพสงครามกับประเทศไทย ดังนั้นขบวนการเสรีไทยในอังกฤษจึงมิได้รับการรับรองฐานะเป็นทางการ คนไทยที่ต้องการทํางานเพื่อประเทศชาติ จึงต้องอาสาสมัครเข้าทํางานในกองทัพอังกฤษ

 

 

นายป่วยก็เป็นบุคคลหนึ่งที่อาสาเข้าทํางานนั้นใน British Army Pioneers Corps เพื่อจุดประสงค์ในการทํางานติดต่อระหว่างไทยกับสัมพันธมิตรและมีชื่อรหัสว่า “เข้ม”

จากบทความเรื่อง “ทหารชั่วคราว” ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสืองานศพพันเอกสรรค์ ยุทธวงศ์ น้องเขย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2496/1953 นายป๋วย ได้เล่าว่า เสรีไทยในอังกฤษกลุ่มหนึ่งถูกส่งไปฝึกสงครามจรยุทธที่เมืองปูนา ประเทศอินเดีย เสรีไทยกลุ่มของนายป๋วยนี้มีฉายาว่า “ช้างเผือก” (The White Elephant) ในเดือนกันยายน 2486/1943 นายป่วยได้รับเลือกให้อยู่ในหนึ่งในจํานวนสามคนแรกที่จะถูกส่งเข้าประเทศไทย เสรีไทยทั้งสามได้รับการฝึกฝนการ การส่งวิทยุและการสืบราชการลับ และท้ายที่สุดคือ ฝึกการขึ้นบกจากเรือดําน้ำ ดังนั้นงานชิ้นแรกของนายป่วยก็คือ เดินทางไปกับเรือดําน้ำจากลังกาเข้าอ่าวไทยเรือดําน้ำดังกล่าวต้องจอดซุ่มอยู่ถึงหนึ่งสัปดาห์ กลางวันต้องกบดานอยู่ใต้ผิวน้ำเป็นส่วนใหญ่และจะโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำในตอนกลางคืนนายป๋วยเล่าเหตุการณ์ในตอนนี้ว่า

“...การเดินทางด้วยเรือใต้น้ำนี้มิใช่ว่าจะปราศจากเหตุการณ์ก็หามิได้ เราได้มีเวลาตื่นเต้นอยู่บ้างในเมื่อทราบว่ามีเรือใหญ่อยู่เหนือผิวน้ำ ใกล้เคียงกับ ที่เราจมอยู่ อาจจะเป็นเรือญี่ปุ่นหรือเรือไทยก็เป็นได้ แล้วเราก็ไม่ทราบแน่ว่าเรือลํานั้นเป็นเรือของเราหรือไม่ แต่เราได้พยายามรักษาความเงียบสงบไว้เพื่อความปลอดภัยในเวลาเช่นนั้นทุกคนในเรือใต้น้ำจะต้องนั่งเงียบ ๆ ไม่ทําเสียงอย่างหนึ่งอย่างใดและข้าพเจ้าเองแทบจะไม่กล้าหายใจเพราะรู้สึกว่าลมหายใจเป็นเสียงดังอย่างไม่น่าเชื่อ...บางทีไม่จําเป็นที่จะต้องพูดมากไปว่า เรือใต้น้ํานั้นร้อน ชีวิตน่าเบื่อหน่าย ไม่มีอะไรจะทํานอกจากนอน กิน และทอดลูกเต๋า เรานอน ในเวลากลางวัน และตื่นในเวลากลางคืน เมื่อเวลาเรือลอยลําขึ้นมาเช่นนั้น ผู้ โดยสารก็ได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปบนดาดฟ้ารับอากาศบริสุทธิ์ได้..ข้าพเจ้ายังมีความรู้สึกจําได้อยู่ข้อหนึ่งคือ เมื่อส่องกล้องดูฝั่งไทยจากเรือใต้น้ํานั้น ข้าพเจ้าจําได้ว่าได้เห็นแผ่นดินอันเป็นที่รักของเราสวยงามมาก หาดทรายขาวและมีกระท่อมคนหาปลาอยู่ มีต้นไม้เป็นอันมากตําบลที่เราตั้งใจจะขึ้นบกนั้นรู้สึกว่า เปลี่ยวอยู่มาก ข้าพเจ้าไม่เคยไปในตําบลนั้นเลย แต่ยังรู้สึกว่าที่นั่นเป็นแผ่นดินที่รักของเรา และมีคนร่วมชาติที่รักของเราอาศัยอยู่

แผนการขึ้นบกประเทศไทยครั้งแรกนี้ไม่ประสบความสําเร็จ เพราะไม่ได้รับสัญญาณติดต่อจากฝ่ายที่มาคอยรับในประเทศไทย ดังนั้น เรือดําน้ำและคณะเสรีไทยของนายป๋วยจึงต้องเดินทางกลับไปลังกา

เมื่อแผนการเรือดําน้ำล้มเหลวสัมพันธมิตรก็หันไปหาวิธีใหม่ คราวนี้วางแผนส่งเสรีไทยเข้าประเทศโดยทางอากาศใช้เครื่องบินไปทิ้งพลร่ม ดังนั้นนายป๋วยและทีมจึงต้องกลับไปฝึกการโดดร่มอีกครั้งที่อินเดีย

ในตอนนี้ นายป๋วยได้รับยศเป็นร้อยโทแห่งกองทัพบกอังกฤษ และถูกส่งเข้ามาโดดร่มลงในประเทศไทย อย่างไรก็ตามแผนการโดดร่มครั้งแรกล้มเหลวเพราะนักบินไม่สามารถจะค้นหาตําแหน่งทิ้งพลร่มได้เนื่องจากเป็นเวลากลางคืน แสงจันทร์ข้างขึ้นไม่สว่างพอ นายป๋วยเล่าถึงเหตุการณ์ตอนนี้ว่า

“เราสามคนก็นั่งรออยู่เหนือช่องกระโดดในเครื่องบินพร้อมที่จะไถลตัวกระโดดลงในท่ามกลางความมืด ช่องที่ว่างนั้นอยู่บนพื้นเครื่องบิน มีประตูเปิดออกใกล้ตัวเครื่องของเครื่องบิน ช่องนั้นใหญ่พอที่จะให้ผู้กระโดดไถลตัวลงไปได้ พร้อมด้วยเครื่องหลังและร่มชูชีพอยู่บนหลัง ถ้าคําสั่ง “ลง” มีมาเมื่อใดเราก็จะ “กระโดด” ลงไปสู่ความมืด และไปสู่ยถากรรม เราคงได้นั่งอยู่ที่นั้น คือที่ขอบเหวนั้น เป็นเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง...ข้าพเจ้ารู้สึกว่าจะเป็นหนึ่งปี...คํานึงถึงชีวิตและมรณะ คํานึงถึงอนิจจาและอนัตตาและจากช่องกระโดดนั้น ลมเย็นกระโชกพัดเข้ามาอยู่ตลอดเวลา คงจะมีประโยชน์สําหรับจะทําให้เราแน่ใจว่า ที่จะลงไปนั้นไม่ใช่นรกเพราะว่าไม่มีเปลวเพลิงอันร้อน มีแต่ลมเย็นเครื่องบินวนเวียนอยู่เรื่อย ๆ รู้สึกว่าจะไม่หยุด แต่ว่าคําสั่งให้เตรียมตัวกระโดดไม่มีเข้าหู เราเลย ผลสุดท้ายมีผู้มาตบไหล่เบา ๆ และเราได้ยินว่าเลิกกันได้ เพราะเหตุว่า นักบินไม่สามารถจะหาที่ที่เราจะลงไปได้ แผนที่ก็เลวและอากาศก็มืด พวกเรากําลังเดินทางกลับไปกัลกัตตา”

จนกระทั่งการโดดร่มครั้งที่สองนั่นแหละ ทีมเสรีไทยทั้งสามคนจึงประสบความสําเร็จและโดดลงมาที่ทุ่งนาใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดชัยนาทซึ่งก็เป็นการลงผิดที่ที่กําหนดไว้ว่าจะลงไปในป่า

 

 

ทีมเสรีไทยทั้งสามถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่บ้านเมืองในเวลาต่อมา และถูกนําตัวส่งเข้ากรุงเทพฯ โดยมีข้อหาฉกรรจ์ว่าทรยศชาติ และทําจารกรรม นายป๋วยกล่าวไว้ว่า

“ต่อมาสักหนึ่งนาทีหลังจากข้าพเจ้าได้ยอมแพ้ เห็นมีประมาณ 30 คน เขามัดมือข้าพเจ้าด้วยผ้าขาวม้า ต่อไปนี้ก็เป็นเวลาที่ผู้จับข้าพเจ้าจะรู้สึกสนุก โดยตะโกนร้องส่งเสียงที่ฟังเอาศัพท์ไม่ได้ ข้าพเจ้าไม่รู้ว่า เขาพูดว่าอย่างไรบ้าง เพราะต่างคนต่างก็พูดพร้อม ๆ กัน แต่คนที่ใกล้ข้าพเจ้าที่สุดดูเหมือนจะบอก ข้าพเจ้าว่า ครอบครัวของข้าพเจ้าเป็นสัตว์ชั้นต่ํา และพ่อแม่ของข้าพเจ้าคงจะไม่แต่งงาน ซึ่งข้าพเจ้าเคราะห์ดีที่ยอมแพ้ มิฉะนั้น...ฯลฯ คนที่เขามาทีหลังเมื่อ ได้เห็นแน่ชัดว่า มือของข้าพเจ้าถูกมัดไพล่หลังแล้ว ก็หาความสนุกได้ด้วยการตบตีข้าพเจ้า และถือโอกาสสั่งสอนข้าพเจ้าด้วยถ้อยคําอันหยาบคาย....ข้าพเจ้า ได้ยินเจ้าหน้าที่ถกเถียงกันอยู่บ้าง และรู้สึกว่าความเห็นของเจ้าหน้าที่ในเรื่องข้าพเจ้านั้นแตกแยกออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าข้าพเจ้าเป็นนักโทษอุกฉกรรจ์ เป็นคนทรยศต่อชาติ พยายามทําลายชาติและฆ่าเพื่อนร่วมชาติด้วยกัน อีกฝ่าย หนึ่งรู้สึกจะเป็นจํานวนเท่า ๆ กันกับฝ่ายแรกมีความกรุณา และหลังจากที่ข้าพเจ้าได้บอกเขาโดยไม่ได้บอกชื่อของข้าพเจ้าเองว่า ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนของรัฐบาลที่รัฐบาลส่งไปอังกฤษ เขาก็เชื่อข้าพเจ้าและตั้งคําถามข้าพเจ้าหลายข้อด้วยกันถึง เรื่องอนาคตและสถานะแห่งสงคราม”

งานสําคัญของนายป๋วยในครั้งนี้ก็คือ การติดต่อส่งข่าวทางวิทยุให้กับสัมพันธมิตรและนําจดหมายจากกองบัญชาการสัมพันธมิตรไปมอบให้ผู้ถือรหัสว่า “รูธ” ซึ่งก็คือนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ และเป็นหัวหน้าเสรีไทยภายในประเทศ

นายป๋วยทําการติดต่อกับสัมพันธมิตรอยู่จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม

2488/1945 จึงได้รับอนุญาตให้กลับไปพักในอังกฤษ และได้รับเลื่อนยศให้เป็นพันตรีแห่งกองทัพอังกฤษเมื่อเดือนมิถุนายน 2488/1945 (ได้เลื่อนเป็นร้อยเอกมาแล้วในเดือนกันยายน 2487/1944)

การไปอังกฤษคราวนี้ มีจุดหมายที่จะเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกให้เสร็จ ในระหว่างนั้นได้แต่งงานกับนางสาวมาร์กาเรต สมิธ ซึ่งเป็นเพื่อนนักศึกษากันมาตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี โดยฝ่ายหญิงศึกษามาทางสังคมวิทยา ซึ่งต่อมาได้อุทิศเวลาให้แก่งานสังคมสงเคราะห์สามีภรรยาคู่นี้มีบุตรชายรวม 3 คน คือ จอน ไมตรี และใจ ตามลําดับ

วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง “เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการควบคุมดีบุก” ได้เริ่มเขียนตั้งแต่ปี 2489 เขียนเสร็จและสอบปากเปล่าเสร็จในปลายปี 2491 แต่มรสุมทางการเมืองทําให้ต้องเลื่อนเวลารับปริญญาเอกมาเป็นปี 2492 ดังที่นายป๋วยได้เล่าไว้ว่า

“เวลานั้นทางการเมืองไทยโจษกันอย่างชวนเสียหายว่า ผมได้โดดร่มเข้ากรุงเทพฯ เพื่อร่วมปฏิวัติหรือปฏิวัติซ้อน พี่น้องทางกรุงเทพฯ เดือดร้อนใจ เขียนจดหมายไปบอกทางลอนดอน ว่าอย่าเพิ่งเดินทางกลับจะเป็นอันตราย เพราะเพื่อนฝูงก็ถูกจับไปหลายคน ผมจึงเข้าหาศาสตราจารย์รอบบินส์ (Lionel Robbins) ขออย่าเพิ่งให้มหาวิทยาลัยประกาศผลสอบไล่ได้ เพราะถ้าสอบไล่ได้แล้วก็ต้องเดินทางกลับ ถ้าเดินทางกลับตอนนั้นก็อาจจะอันตราย ศาสตราจารย์รอบบินส์บอกว่า หมอนี่พิกล นับตั้งแต่มหาวิทยาลัยมามีแต่คนมาเร่งให้ประกาศผลสอบไล่ได้ นี่มาขอให้หน่วงไว้ แต่ท่านก็หน่วงให้หลายเดือน....”

นักเรียนทุนรัฐบาลนั้นมีข้อผูกพันที่จะต้องกลับมารับราชการชดใช้ทุน แต่ข้อผูกพันดังกล่าวนี้ก็ยกเว้นสําหรับผู้ที่เป็นเสรีไทย นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก็อยู่ในข่ายนี้เกียรติประวัติทางการศึกษาและทางการทหารระหว่างสงคราม ทําให้บริษัทธุรกิจเอกชนทั้งในและนอกประเทศหลายต่อหลายบริษัทเสนองานให้ทํา แต่นายป๋วยกลับตัดสินใจรับราชการ ดังที่เจ้าตัวได้กล่าวไว้ว่า

“นอกจากจะเกิดเมืองไทยกินข้าวไทยแล้ว ยังได้รับทุนเล่าเรียนรัฐบาลไทย คือ เงินของชาวนาชาวเมืองไทยไปเมืองนอก แล้วผูกพันใจว่าจะรับราชการไทยด้วย…”

 

นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ เข้ารับราชการในกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ในปี 2492/1949 ในขณะนั้นรัฐบาลกําลังดําเนินงานบูรณะและฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจด้วยการจัดสรรทุนพื้นฐานของสังคม (infrastructure) ซึ่งเป็นสิ่งจําเป็นสําหรับการพัฒนาเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมต่อไป โครงการที่ดําริจะดําเนินการก็มีโครงการเขื่อนเจ้าพระยา โครงการบูรณะโรงงานรถไฟ และโครงการขยายและปรับปรุงท่าเรือ โครงการเหล่านี้ล้วนต้องอาศัยเงินกู้จากต่างประเทศในการดําเนินการทั้งสิ้น และนายป๋วยก็ได้ร่วมอยู่ในคณะผู้แทนไทยซึ่งเดินทางไปเจรจาขอกู้เงินจากธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนาการหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าธนาคารโลก แม้จะเป็นเพียงข้าราชการชั้นผู้น้อย แต่ความรู้ความสามารถของนายป๋วยได้มีส่วนสําคัญไม่น้อยที่บันดาลให้การกู้เงินครั้งนั้นสําเร็จลุล่วงด้วยดี และความรู้ความสามารถอีกนั่นแหละ ที่ช่วยให้ได้เลื่อนตําแหน่งหน้าที่การงานในปี 2496/1953 พร้อมกันนั้นก็ได้ดํารงตําแหน่งกรรมการบริหารของสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ การที่ได้ดํารงตําแหน่งสําคัญ ๆ เหล่านี้ นายป๋วยได้มีบทบาทสําคัญในการกําหนดนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ซึ่งมีส่วนสําคัญในการช่วยฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองอย่างรวดเร็ว

เมื่อดํารงตําแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้เพียง 7 เดือน เศษ มรสุมทางการเมืองก็โหมกระหน่ำป๋วยอีกครั้งนึ่ง เหตุเกิดจากจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต้องการ “ซื้อ” สหธนาคารกรุงเทพจํากัด จากนายสหัส มหาคุณ แต่เนื่องจากธนาคารแห่งนั้นต้องเสียค่าปรับแก่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นจํานวนหลายล้านบาท ด้วยเหตุที่ปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และผู้มีอํานาจทางการเมืองในขณะนั้นต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยยกเลิกการปรับ แต่นายป๋วยไม่ดําเนินนโยบายลู่ตามลม จึงต้องออกจากตําแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในปลายปี 2496/1953 นับเป็นผู้ดํารงตําแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงเวลาสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ของธนาคารกลางแห่งนี้

ในระยะไล่เลี่ยกันต่อมานั้น พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ได้พยายามบีบบังคับให้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าจ้างบริษัทที่ตนมีผลประโยชน์เป็นผู้พิมพ์ธนบัตรไทยแทนบริษัทมัสเดอลารู จํากัด พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น ได้ถามความเห็นนายป๋วยและส่งไปดูกิจการของบริษัทดังกล่าวในสหรัฐอเมริกา เมื่อไปถึง นายอลัน ดัลเลส (ผู้อํานวยการคนแรกขององค์การซี.ไอ.เอ. และเป็นพี่ชายของนายจอห์น ฟอสเตอร์ ดัลเลส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอเมริกันในสมัยประธานาธิบดี ไอเซนเฮาวร์) ได้พยายามเกลี้ยกล่อมด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา ให้ปฏิบัติตามข้อเสนอของ พล. ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ แต่นายป๋วยเห็นว่า บริษัทดังกล่าวหามีกิจการเป็นกิจจะลักษณะอันน่าเชื่อถือแต่ประการได้ไม่ จึงมีบันทึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอให้พิมพ์ธนบัตรไทยกับบริษัทโธมัส เดอ ลารู จํากัด ต่อไป

 

 

การขัดขวางผลประโยชน์ของผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองในช่วงแห่งยุค ทมิฬของการเมืองไทยครั้งนี้ ยังผลให้สวัสดิภาพแห่งชีวิตหมดสิ้นไป นายป๋วยจึงติดต่อศาสตราจารย์เฟรดเดอริก เบนแนม (ซึ่งเคยเป็นอาจารย์ในสมัยที่เรียนอยู่ที่ London School of Economics) เพื่อไปทำวิจัย ณ  Chatham House ในกรุงลอนดอน แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขณะนั้นช่วยให้ได้รับตําแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจการคลัง ประจําสถานเอกอัครราชทูตไทยในอังกฤษแทน นายป๋วยรับตําแหน่งนี้ในปี 2499/1956 ในระหว่างปี 2499-2501/1956-1957 นอกจากจะทําหน้าที่เป็นผู้แทนกระทรวงการคลังแล้ว ยังมีส่วนช่วยให้ไทยขายดีบุกและยางพาราแก่อังกฤษและประเทศต่าง ๆ ในยุโรปได้มากขึ้น และเมื่อไทยได้เข้าเป็นสมาชิกสภาดีบุกระหว่างประเทศ (International Tin Council) นายป๋วยก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนประเทศไทยในสภาดังกล่าวและได้รับเลือกตั้งเป็นรองประธานสภาดีบุกระหว่างประเทศในปี 2501-2502/1958-1959 ใน ระหว่างที่ดํารงตําแหน่งผู้แทนไทยนี้ นายป๋วยได้แสดงความสามารถในการเจรจาให้สภาดีบุกระหว่างประเทศ เพิ่มโควตาการส่งดีบุกออกของไทย จาก 7.35% เป็น 8.8% จนเป็นผลสําเร็จ

ในปี 2501/1958 เมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารได้สําเร็จ นายป๋วยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อํานวยการสํานักงบประมาณ ซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ได้มีการปฏิรูปการงบประมาณจนเป็นผลให้มีการออกพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502/1959 และในปีนั้นเองก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อํานวยการสํานักงานเศรษฐกิจการคลังโดยทําหน้าที่เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกตําแหน่งหนึ่ง

 

 

ในปลายปีเดียวกัน เกิดกรณีทุจริตเกี่ยวกับการพิมพ์ธนบัตร จนเป็นเหตุให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้นซึ่งดํารงตําแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย ต้องออกจากตําแหน่งทั้งสอง และนายป๋วยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยดํารงตำแหน่งนี้อยู่ 12 ปี จนถึงปี 2514/1971 จึงได้ลาออกจากตําแหน่งหลังจากที่เพียรพยายามลาออกหลายครั้งหลายครา นับเป็นผู้ที่ดํารงตําแหน่งนี้นานที่สุดในประวัติของธนาคารแห่งประเทศไทย

ในระยะแรกเริ่มที่ดํารงตําแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายป๋วยได้พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะทําให้มหาชนเชื่อถือระบบการธนาคารพาณิชย์ เพราะในปลายยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต่อเนื่องกับยุคจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นักการเมืองได้พยายามใช้อิทธิพลในการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันบรรดาพ่อค้านักธุรกิจทั้งหลายก็พากันแสวงหาอิทธิพลทางการเมืองโดยการเข้าไปเกาะอยู่กับกลุ่มการเมืองต่าง ๆ เพื่อเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอีกทอดหนึ่ง ในยุคดังกล่าวนี้ วิสาหกิจอิทธิพลได้ผุดขึ้นเป็นอันมาก วิสาหกิจอิทธิพลเหล่านี้ได้อาศัยธนาคารพาณิชย์เป็นแหล่งเงินทุนในการรวบอํานาจทางเศรษฐกิจ และแผ่ขยายสายใยของการผูกขาด ระบบการธนาคารพาณิชย์จึงเป็นระบบที่ง่อนแง่น ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างยิ่งและเป็นเหตุให้มหาชนขาดความเชื่อถือในระบบการธนาคารพาณิชย์ กรณีนายธนาคารศรีอยุธยาจํากัดสมคบกับผู้มีอํานาจทางการเมืองอาศัยบริษัทส่งเสริมเศรษฐกิจแห่งชาติจํากัด ฉ้อราษฎร์บังหลวงในปลายยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ดี กรณีนายธนาคารพาณิชย์นําเงินฝากของประชาชนไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว จนเป็นเหตุให้ฐานะของธนาคารง่อนแง่น ดังกรณีธนาคารมณฑล จํากัดและธนาคารเกษตร จํากัด ก็ดีนับเป็นอุทาหรณ์ของความข้างต้นนี้

ในฐานะผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้พยายามเสริมสร้างความมั่นคงให้เกิดแก่ระบบธนาคารพาณิชย์ ไม่เพียงแต่จะเป็นตัวการสําคัญในการออกพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ในปี 2505/1962 ตลอดจนนําเทคนิคนโยบายการเงินที่สําคัญ ๆ ดังเช่น อัตราเงินสดสํารอง (legal reserve ratio) อัตราส่วนลด (rediscount rate) เป็นอาทิมาใช้มากขึ้นแล้ว ยังได้พยายามชักจูงนายธนาคารพาณิชย์เป็นการส่วนตัว (moral suasion) เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติตามกฎระเบียบ อันจําเป็นต่อการเสริมสร้างความมั่นคงของระบบการธนาคารพาณิชย์ อาวุธที่สําคัญในการนี้ ได้แก่ สุนทรพจน์ในงานเลี้ยงประจําปีของสมาคมธนาคารไทย สุนทรพจน์เหล่านี้มักจะเน้นถึงบทบาทและความรับผิดชอบของธนาคารพาณิชย์ที่มีต่อกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย และวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมอันมิชอบของธนาคารพาณิชย์อย่างนุ่มนวล เช่น เตือนว่า “...รับฝากเงินเป็นระยะเวลาอันสั้น จะไปผูกพัน ให้กู้เป็นระยะยาวเกินไปนักมิได้...” ต่อต้านการผูกขาดและการกักตุนสินค้าด้วย การกล่าวว่า “...ผู้ใดทําการที่จะทําให้ต้นทุนการผลิตสินค้าต่าง ๆ สูงขึ้นโดยเหตุ อันมิชอบ ย่อมถือได้เสมือนผู้ที่ทําลายป่าไม้อันเป็นทรัพยากรของชาติ...” และ ตําหนิธนาคารพาณิชย์บางธนาคารว่า “บางธนาคารที่หวงตําแหน่งแชมเปี้ยน (คือ เช็คของลูกค้ากระดอนมากที่สุด) ผมใคร่ขอวิงวอนให้ดําเนินการสละตําแหน่งแชมป์เปี้ยนให้ผู้อื่นครองเกิดความเชื่อมั่นในธนาคารของท่านจะดีมากยิ่งขึ้น...” ดังนี้เป็นต้น

สิ่งสําคัญยิ่งกว่าอื่นใดก็คือ การป้องกันมิให้นักการเมืองเข้าไปใช้อิทธิพลในการกําหนดนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสถาบันที่มีความสําคัญยิ่งยวดต่อการเงินการคลังเศรษฐกิจของไทย และอาจสรุปได้โดยไม่ ผิดนักว่าตลอด 12 ปี ที่ดํารงตําแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย องค์กรแห่งนี้ได้ปลอดพ้นจากอิทธิพลทางการเมืองโดยสิ้นเชิง ซึ่งมีผลสืบเนื่องมาจนกระทั่งทุกวันนี้ อนึ่ง นายป๋วยได้พยายามที่จะเรียกร้องมิให้นักการเมือง และข้าราชการเข้าไปมีผลประโยชน์ในธุรกิจการค้า และปฏิบัติตนเป็นเยี่ยงอย่างด้วย ในการกล่าวสุนทรพจน์ในการเลี้ยงอาหารค่ําประจําปี 2507/1964 ของสมาคมธนาคารไทย นายป๋วย ได้กล่าวเป็นกลอนความตอนหนึ่งว่า

 

ยังจนใจไม่รู้อยู่หนึ่งข้อ
จอมพล ถ. ท่านแถลงแจ้ง เป็นเรื่อง
ท่านปรารมภ์ผมก็เห็นเด่นประเทือง
ว่าใครเฟืองเป็นผู้ใหญ่ในราชการ

ตัวอย่างเช่นเป็นรัฐมนตรี
ไม่ควรมีการค้ามาสมาน
อย่าเกี่ยวข้องเที่ยวรับทําเป็นกรรมกร
สมาจารข้อนี้ดีจริงเจียว

ผมสงสัยไม่แจ้งจิตกิจการ
หมายความว่ากิจการใดบ้างยังเฉลียว
กิจธนาคารท่านผู้ใหญ่จะไม่เกี่ยว
หรือจะเหนี่ยวรั้งไว้ไม่นับค้า

 

สุนทรพจน์ข้างต้นนี้ได้มีผลให้จอมพลถนอม กิตติขจร ลาออกจาก ตําแหน่งกรรมการธนาคารพาณิชย์ทั้งสองแห่ง ยกเว้นธนาคารทหารไทย จํากัดและมีบันทึกเรียกร้องให้รัฐมนตรีร่วมคณะปฏิบัติตามด้วย

 

 

นอกเหนือจากงานในตําแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วนายป๋วยยังได้มีบทบาทสําคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก โดยการดํารงตําแหน่งในหน่วยงานและคณะกรรมการที่สําคัญหลายชุดไม่ว่าจะเป็นสํานักงานส่งเสริมการลงทุน สภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ คณะกรรมการจัดวางท่อระบายน้ำและสิ่งโสโครกและอื่น ๆ การอุทิศตนทํางานให้แก่ชาติบ้านเมืองอย่างจริงจังจนเป็นที่เลื่องลือ ได้เป็นเหตุให้ได้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ ในปี 2508/1965

งานที่นายช่วยให้ความสนใจอย่างมากก็คือ การพัฒนาชนบท และการจัดการศึกษา นายป๋วยเชื่อว่าการพัฒนาชนบทไม่เพียงแต่จะเป็นบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของรัฐบาลเท่านั้น หากทว่าเอกชนยังสามารถและควรมีบทบาทด้านนี้ด้วย ความเชื่อดังกล่าวนี้ยังผลให้นายป๋วยได้มีบทบาทในการก่อตั้งมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย และโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่กลองส่วนในด้านการศึกษา นายป๋วยได้มีบทบาทสําคัญในการเร่งเร้าให้สภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติให้ความสนใจในการพัฒนาการศึกษาโดยรวบรวมผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการการศึกษามาร่วมกันศึกษาถึงปัญหาของระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ และจัดทําข้อเสนอเกี่ยวกับโครงการกู้เงินเพื่อพัฒนาการศึกษาระหว่างปี 2508-2513/1965-1971

ข้อเสนอดังกล่าวนี้ คณะกรรมการบริหารสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติได้รับหลักการในปี 2506/1963 และโครงการสําคัญที่ริเริ่มขึ้น ก็คือโครงการพัฒนาอาชีวศึกษา และโครงการโรงเรียนมัธยมแบบประสม โดยเฉพาะโครงการแรกนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้เงินกู้ร่วมกับธนาคารโลกความสนใจงานด้านการศึกษาได้เป็นเหตุให้นายตอบรับตําแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2507/1964 ในทันทีที่กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อธิการบดีในขณะนั้น ทรงเสนอตําแหน่งให้ และพร้อมกันนั้น ก็ขอลาออกจากตําแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ถูกยับยั้งโดยนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

เมื่อมาดํารงตําแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ นายป๋วยได้พยายามปฏิรูปงานสําคัญทั้งสองด้านด้วยกัน งานด้านหนึ่งได้แก่การปรับปรุง หลักสูตรปริญญาตรี ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการสังคายนาครั้งใหญ่ อันเป็นรากฐานสําคัญของการศึกษาเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยแห่งนั้นจนทุกวันนี้ งานอีกด้านหนึ่งได้แก่ การผลิตอาจารย์ ในระหว่างที่ดํารงตําแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ท่านผู้นี้ได้ใช้วิธีกวาดนักเรียนหัวกะทิในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แล้วส่งไปศึกษาต่อยังประเทศต่าง ๆ เพื่อกลับมาทํางาน ในสถาบันสําคัญแห่งนั้น ครั้นเมื่อมาดํารงตําแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ก็ใช้วิธีเดียวกัน แต่คราวนี้ข้อจํากัดมีมากกว่า เนื่องจากคนที่มีให้เลือกนั้นมีน้อยกว่าและมีความยากลําบากมากกว่าที่จะพิจารณาว่าใครมีฉันทะทางวิชาการและรักงานสอนหนังสือมากน้อยแตกต่างกันอย่างไร การเร่งผลิตอาจารย์ได้ยังผลให้จํานวนอาจารย์ประจําซึ่งมีอยู่เพียง 4 คน ในปีการศึกษา 2507/1964 เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 90 คน ในปีการศึกษา 2518/1968 เป็นต้นมา แต่ที่สําคัญยิ่งกว่า ก็คือการริเริ่มโครงการบัณฑิตอาสาสมัคร ซึ่งส่งบัณฑิตในสาขาวิชาต่าง ๆ ออกไปทํางานชนบท

สิ่งที่นายป๋วยย้ำอยู่เสมอก็คือ ความเป็นธรรมในสังคม และดังปรากฏในคําบรรยายและปาฐกถาต่างกรรมต่างวาระเสรีภาพของประชาชนกันอยู่เนือง ๆ ดังเช่นเมื่อกล่าวถึงความเป็นธรรมในสังคมได้เคยกล่าว

“ในการเพิ่มรายได้นั้น ไม่ควรที่จะให้คนมี มีจนมากเกินไปนัก และไม่จําเป็นที่จะต้องให้คนจน จนลงไปมาก...สุภาษิตของแมกไซไซที่ว่า ถ้าใครเกิดมามีน้อย บ้านเมืองจึงให้มาก ๆ เป็นสุภาษิตซึ่งควรจะมีประจําใจไว้”

แม้พื้นฐานทางการศึกษาจะเน้นหนักทางด้านเศรษฐศาสตร์ แต่นายป๋วยก็แตกต่างจากนักเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ส่วนใหญ่ ทั้งในด้านความคิดและความประพฤติ ทางด้านความคิดการวิเคราะห์ปัญหาเศรษฐกิจต่าง ๆ ของนายป๋วยมิได้คํานึงถึงเฉพาะแต่ปัจจัยทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียวแต่ให้ความสําคัญกับปัจจัยที่มิใช่ทางเศรษฐกิจ (non-economic factors) อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นมนุษย์และจริยธรรม ดังที่เคยกล่าวไว้ว่า

ในการพัฒนาประชาชาติ ข้อที่ควรคํานึงก็คือ ประชาชาติประกอบด้วยประชาชนที่เป็นมนุษย์แตกต่างกับสัตว์เดรัจฉานหรือตุ๊กตาของเล่น อยู่ที่มนุษย์สามารถใช้สมองใช้ความคิดสามารถช่วยตัวเองได้ ฉะนั้น วิธีการพัฒนาหมู่ชนด้วยการลงทุนน้อยและได้ผลมากก็คือ วิธีจะช่วยให้มนุษย์ประชาชนนั้นสามารถช่วยตัวเองได้อย่างดี กล่าวคือ ผู้ที่มีอํานาจหน้าที่ในส่วนกลาง คือ รัฐบาลจําเป็นจะต้องเคารพความเป็นมนุษย์ของเอกชน...

หรือความอีกตอนหนึ่งว่า

...ถ้าเราจะเรียนเป็นนักเศรษฐกิจจะเรียนแต่เศรษฐศาสตร์ก็คงจะพอแต่เราจะเรียนเป็นบัณฑิตเพื่อให้ได้ปริญญาเศรษฐศาสตร์บัณฑิต วิสัยบัณฑิตย่อมต้องพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ในกรอบแห่งความเป็นจริง และความเป็นจริงแห่งสังคมศาสตร์นั้นย่อมสัมพันธ์กันเป็นลูกโซ่จะพิจารณาเศรษฐกิจโดด ๆ หาได้ไม่…

ตลอดชีวิตของการรับราชการ นายป๋วยได้เน้นอยู่เสมอว่า ความรับผิดชอบทางจริยธรรมเป็นสิ่งจําเป็นในการพัฒนาประเทศ และกล่าวเน้นถึงธรรมะทางเศรษฐกิจ ดังปรากฏในหนังสือเศรษฐกิจแห่งประเทศไทย (2498) ซึ่งเขียนร่วมกับคุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร ได้อุทิศเนื้อหาหนึ่งบทสําหรับกล่าวถึงเรื่องนี้โดยเฉพาะ และสําหรับผู้ที่ใกล้ชิด มักจะได้ยินท่านผู้นี้กล่าวอยู่เนือง ๆ ว่า

ในการแสวงหาสัจจธรรมและใช้วิชาความรู้ของเรา นักเศรษฐศาสตร์ไม่เพียงแต่จักต้องรอบรู้และสามารถเท่านั้น แต่เรายังจะต้องซื่อสัตย์สุจริต และซื่อสัตย์พอที่จะเรียกร้องให้ผู้อื่นซื่อสัตย์อีกด้วย

นายป๋วยอาจเป็นนักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งในจํานวนไม่กี่คนของโลกวัตถุนิยมทุกวันนี้ที่ซื่อสัตย์พอที่จะเรียกร้องให้ผู้อื่นซื่อสัตย์และที่ดําเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่จํานวนมากไร้ศีลธรรมจรรยาและแสวงหาอํานาจลาภยศสักการะ เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่จะมาสองความต้องการทางตัณหา ดังที่มีผู้กล่าวถึงท่านผู้นี้ว่า

ดร.ป๋วย เป็นแบบอย่างแห่งผู้ใช้ชีวิตง่าย ๆ ผู้คุ้นเคยคงจะยืนยันได้ว่าตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมานี้ สภาพชีวิตของบุคคลผู้นี้มิได้ผิดแผกแตกต่างกว่า เมื่อหลายปีก่อนเลย ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองใหม่ ๆ หลายคนคงจําได้ว่า ท่านสวมใส่กางเกงผ้าเวสปอยท์เป็นประจําตลอดหลายเวลาหลายปี จนกระทั่งผ้าประเภทดังกล่าวไม่มีผู้ผลิตหรือมีราคาสูงจึงหันมาใช้ผ้าธรรมดาที่จําหน่ายโดยทั่วไป นาฬิกาข้อมือที่ใช้อยู่ก็เป็นนาฬิกาเรือนเหล็ก และเป็นเรือนเดียวกับที่ใช้มานับสิบปี ในด้านอาหารการกินก็เช่นกัน นิยมอาหารแบบพื้น ๆ ที่เคยชอบแต่ครั้งยังเป็นนักเรียน เช่น ก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกง ข้าวต้มกับ (ข้าวต้มกุ๊ย)...

การใช้ชีวิตเยี่ยงเสรีชนและการดํารงอยู่อย่างง่าย ๆ คงเป็นผลจากแนวความคิดพื้นฐานของนายป่วยที่ว่า เสรีภาพเป็นเงื่อนไขที่จําเป็นของความเป็นมนุษย์ของปัจเจกชน ดังที่ได้กล่าวไว้ว่า

“เสรีภาพเป็นเนื้อดิน อากาศ และปุ๋ย ที่จะทําให้พฤกษาติแห่งความคิดเจริญเติบใหญ่ขึ้นได้ และเมื่อความคิดนําไปสู่อุดมคติ อุดมคติจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบุคคลในสังคมสามารถใช้ความคิดอย่างเสรี ปราศจากพันธนาการของจารีตประเพณี หรืออีกนัยหนึ่งเราต้องสนับสนุนให้มนุษย์แต่ละคนใช้ความคิดอย่างมีเสรีภาพ ชนิดที่ไม่ต้องพึ่งหวาดหวั่นว่าจะเป็นความคิดนอกลู่นอกทางนั่นแหละจึงเป็นการสนับสนุนอุดมคติให้ถือกําเนิดได้ แม่น้ำลําห้วยยังเปลี่ยนแนวเดินได้ สมองมนุษย์อันประเสริฐจะแหวกแนวบ้างมิได้หรือในเมื่อไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสังคม..”

 

 

การเทิดทูนเสรีภาพ ทําให้ผู้ใกล้ชิดคุ้นเคยมักได้ยินนายป๋วยวิพากษ์วิจารณ์ระบบการปกครองของสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีนอยู่เนือง ๆ

โดยมาตรฐานตะวันตก นายป๋วยเป็นนักเสรีนิยม โดยมาตรฐานของฝ่ายขวาในเมืองไทย นายป๋วยเป็นนักสังคมนิยมและที่ขวาจัดหน่อยก็อาจตีตรานายป๋วยว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” แต่สําหรับฝ่ายซ้ายสุด นายป๋วยเป็นเพียงนักเสรีนิยมที่รักความเป็นธรรม ผู้ซึ่งยังคงต้องการรักษาธํารงไว้ซึ่งชนชั้นแห่งตนไม่ว่าจะมีการตีตราอย่างไร นายป๋วยก็ยังเป็นป๋วยที่รักความเป็นธรรม ป๋วยที่ต้องการเห็นเมืองไทยเปลี่ยนแปลงโดยสันติวิธี และนายป๋วยที่ยึดหลัก “ธรรมคืออํานาจ” มิใช่ “อํานาจคือธรรม” ดังจะเห็นได้จากพฤติกรรมส่วนตัว และข้อเขียนใน “จดหมายนายเข้ม เย็นยิ่ง” และ “บันทึกประชาธรรมโดยสันติวิธี

ว่ากันด้วยมาตรฐานของคนรุ่นใหม่ นายป๋วยมีความสํานึกทางการเมืองช้ากว่าปกติ เพราะกว่าจะรู้เดียงสาก็ต่อเมื่อเดินทางไปศึกษาต่อที่อังกฤษในปี 2481/1938 ซึ่งอายุปาเข้าไป 22 ปีแล้ว ดังที่เจ้าตัวได้เขียนไว้ว่า

“...ผมเองไม่ได้มีเดียงสาในเหตุการณ์ต่าง ๆ นัก ในการเรียนปรัชญาก็เล่าเรียนไปด้วยความสนใจกับบทเรียนอย่างธรรมดา ไม่ได้คิดอะไรนอกเหนือจากนั้นไปในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศหรือในเรื่องสไตรค์ที่โรงเรียน ผมมีบทบาทเพียงแบบไทยมุงคือ คอยมุงดูเขา สนุกดี ไม่ได้สํานึกว่ามีความสําคัญอย่างใด...”

แต่มาภายหลัง ก็ได้บทเรียนว่า

“เรื่องของบ้านเมืองเป็นเรื่องที่สําคัญแก่ชีวิตอิสรภาพของคนและชาติเรามาก...ถ้ารักจะให้ดุลแห่งชีวิตของประชาชาติไทยเคลื่อนสูงขึ้นไปโดยไม่ทิ้งเสถียรภาพ ไม่มีทางอื่น ต้องร่วมกันมาก ๆ เลิกลัทธิไทยมุง ไทยบ่น ไทยมุง บ่นเสีย ชวนกันย้ายสังกัดเป็นไทยสน ไทยร่วม ไทยเรียกร้อง แล้วไทยจะเจริญ”

มรสุมทางการเมืองได้เข้ามาแผ้วพานชีวิตของนายป๋วยโดยตลอด แม้เมื่อจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยลอนดอน ก็ต้องร้องขอให้ทางมหาวิทยาลัยเลื่อนการประกาศผลสอบ เหตุเนื่องด้วยมีข่าวลือในเมืองไทยว่า นายป๋วยวางแผนปฏิวัติ ครั้นกลับมารับราชการในเมืองไทย ทั้ง ๆ ที่อยู่ในฐานะที่จะเสพสุขในต่างแดนได้อย่างสบาย ก็ต้องเผชิญกับอํานาจมืดและอิทธิพลทางการเมืองจนต้องจากเมืองไทยไปทํางานอยู่ในอังกฤษเพื่อหลีกเลี่ยงภัยที่คุกคามสวัสดิภาพแห่งชีวิตภายหลังเมื่อกลับสู่เมืองไทยอีกครั้งหนึ่งได้อุทิศชีวิตเพื่อประโยชน์สุขของสังคมโดยส่วนรวม เพียรพยายามร่วมกับมิตรสหายที่จะป้องกันการฉ้อราษฎร์บังหลวงและการใช้อํานาจในทางมิชอบของนักการเมืองและข้าราชการผู้ใหญ่ซึ่งประสบผลสําเร็จในบางกรณี และล้มเหลวหลายต่อหลายกรณี เจตจํานงที่จะป้องกันการฉ้อราษฎร์บังหลวงยังผลให้นโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นนโยบายจารีตนิยม ในช่วง 12 ปี ที่ดํารงตําแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เงินสํารองระหว่างประเทศได้เพิ่มขึ้นเป็นอันมาก ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ยอมให้นักการเมืองแตะต้องเงินสํารองส่วนนี้ อันเป็นเหตุให้นักเศรษฐศาสตร์เป็นจํานวนมากโจมตีว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยมิได้นำเงินสํารองระหว่างประเทศมาใช้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศเท่าที่ควร

แต่ประสบการณ์จากชีวิตคงสอนให้นายป๋วยซาบซึ้งว่า หากเริ่มปล่อยให้นักการเมืองเข้ามาแตะต้องเงินสํารองระหว่างประเทศเมื่อใด หายนะภัยทางเศรษฐกิจย่อมเกิดขึ้นเมื่อนั้น ด้วยเหตุนี้เองนายป๋วยจึงมักจะเสนออยู่เสมอว่าควรจะกู้เงินทุนจากองค์การเงินทุนจากภายนอกประเทศแล้ว ยังได้ประโยชน์ทางวิชาการอีกด้วย เพราะองค์การที่จะอนุมัติเงินกู้ให้นั้นจะต้องเข้ามาสํารวจสภาพการณ์เศรษฐกิจ และประเมินประโยชน์สุทธิที่สังคมจะได้จากโครงการนั้น ๆ นอกจากนี้ การฉ้อราษฎร์บังหลวงยังมีน้อยกว่าด้วยเนื่องจากการก่อสร้างและการซื้ออุปกรณ์ครุภัณฑ์ ใช้วิธีการประมูลระหว่างประเทศ แต่ดูเหมือนว่านายป๋วยจะมิได้ระแวงแม้แต่น้อยว่า ความช่วยเหลือระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือของจักรวรรดินิยมสมัยใหม่ ความไม่ไว้วางใจนักการเมืองทําให้นายป๋วยมีความคิดว่ากิจการทางเศรษฐกิจประเภทใดก็ตามที่เอกชนสามารถดําเนินการใด รัฐไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว ดังที่เคยกล่าวว่า

ผู้ที่มีอํานาจหน้าที่ในส่วนกลาง คือรัฐบาลจําเป็นจะต้องเคารพในความเป็นมนุษย์ของเอกชน เคารพในศักดิ์และสิทธิ์แห่งเอกชนที่จะริเริ่มดําเนินการได้ด้วยตนเองที่จะดําเนินกิจการของเขาไปได้โดยปราศจากข้อกีดขวางใน ทํานองถูกเบียดเบียนแย่งชิงหรือห้ามปรามด้วยเอกสิทธิ์อันไม่ชอบธรรม....

 

 

มรสุมทางการเมืองโหมกระหน่ำอีกครั้งหนึ่งเมื่อเดินทางไปพบนายปรีดี พนมยงค์ ในปี 2513/1970 หลังจากที่มิได้พบปะกันเป็นเวลานานนับสิบปี อริของนายปรีดีและผู้ที่อิจฉานายป๋วยต่างรุมเล่นงานนายป๋วย และโจมตีว่า เป็นสมุนรับใช้ของนายปรีดี ผู้รับแผนเข้ามาก่อกวนความสงบในเมืองไทย แต่มรสุมทางการเมืองที่หนักยิ่งกว่าคราวนั้น ก็คือ เมื่อคณะปฏิวัติทําการรัฐประหารตัวเองในเดือนมิถุนายน 2514/1971 และเลิกล้มการปกครองระบบประชาธิปไตยเป็นเหตุให้นายป๋วย ภายใต้นาม “นายเข้ม เย็นยิ่ง” ซึ่งเป็นชื่อรหัสเมื่อครั้งยังเป็นเสรีไทย เขียนจดหมายถึงจอมพลถนอม กิตติขจร (พี่ทํานุ) วิงวอน “ให้โปรดได้เร่งให้มีกติกาหมู่บ้านขึ้นเถิดโดยเร็วที่สุด...โปรดอํานวยให้ชาวบ้านไทย เจริญมีสิทธิเสรีภาพตามหลักประชาธรรม สามารถเลือกตั้งสมัชชาขึ้นโดยเร็ว 23 แม้จะเป็นการวิงวอนขอ “กติกาหมู่บ้าน” แต่ในแง่ของชนชั้นผู้ปกครอง นี่เป็นการตบหน้าอย่างแรง สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ชื่อของ “นายเข้ม” ปรากฏขึ้นครั้งแรกในช่วงที่ไทยสูญเสียเอกราชอธิปไตย การกลับมาใช้ชื่อ “นายเข้ม” อีกครั้งหนึ่ง อาจเป็นเพราะนายป๋วยเห็นว่า การใช้อํานาจเผด็จการของคณะปฏิวัติ ทําให้ประชาชนขาดไร้เสรีภาพไม่แตกต่างไปจากคราวที่ญี่ปุ่นย่ำยีไทย

แม้ว่าจดหมายนายเข้ม เย็นยิ่ง จะมีส่วนเกื้อหนุนให้ผู้ฝักใฝ่เสรีภาพ กล้าเรียกร้องเสรีภาพมากขึ้น แต่ในอีกแง่หนึ่งข้อเขียนดังกล่าวก็กลายเป็นข้ออ้างของฝ่ายเผด็จการที่จะใช้กําจัดนายป๋วยเสียและอีกครั้งหนึ่งที่มีภัยคุกคามสวัสดิภาพแห่งชีวิต จนเป็นเหตุให้นายป๋วยต้องสอนหนังสือ ณ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ต่อไปอีกหนึ่งปี แต่กระนั้นก็ตามเสียงข่มขู่เอาชีวิตก็ยังดังถึงอังกฤษ และด้วยเหตุดังนั้นจึงได้ลาออกจากตําแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษากระทรวงการคลังในเดือนสิงหาคม 2515/1972 ดังข้อความในจดหมายที่มีถึงอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ว่า “วันนี้ ผมได้เขียนใบลาออกจากตําแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์แล้ว เพราะมาคํานึงถึงดูว่า ลาออกเสียดีกว่าที่จะถูกให้ออก...” อย่างไรก็ตาม ในเดือนกุมภาพันธ์ 2516/1973 นายป่วยได้ เดินทางแวะเข้ามาเมืองไทยดังรายละเอียดปรากฏในบันทึก “ไปกรุงเทพฯ 9-18 กุมภาพันธ์ 2516/1973 และภายหลังการปฏิวัติวัฒนธรรมตุลาคม 2516/1973 จึงกลับมาเป็นศาสตราจารย์พิเศษประจําคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และรับตําแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2518/1975 เป็นต้นมา หลังจากที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยแห่งนั้นหลีกเลี่ยงที่จะเอ่ยชื่อนายป๋วยทุกครั้งที่มีการสรรหาอธิการบดี

นายป๋วย อึ๊งภากรณ์มีความฝันที่จะเห็นสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ ไปสู่สังคมที่มีความเป็นธรรมมากขึ้น และไปสู่สังคมที่ประชาชนมีเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ อาจจะไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า การอุทิศตนทํางานเพื่อส่วนรวม ตลอดชีวิตที่ผ่านมานี้ แม้ในยามเฒ่าชราและสังขารร่วงโรยปานนี้ ทั้ง ๆ ที่มีโอกาสจะเสพสุขในชีวิตบั้นปลายเยี่ยงชนชั้นกระฎุมพีทั้งหลายก็เพียงเพื่อให้สังคมในโลกแห่งความฝันกลายเป็นสังคมในโลกแห่งความเป็นจริงแต่สันติประชาธรรมจะเกิดขึ้นอย่างไร กระแสธารแห่งประวัติศาสตร์เท่านั้นที่จะบอกเราได้

 

หมายเหตุ

  • ภาพประกอบจากบทความฯ

บรรณานุกรม

  • ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และรังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, ปรีดี ป๋ซญ กับธรรมศาสตร์และการเมือง (กรุงเทพฯ: พิมพ์ดี, 2549)