ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

PRIDI Interview : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ : รำลึกการแปรอักษรงานบอลประเพณีฯ ครั้งประวัติศาสตร์

29
มกราคม
2567

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด

สวัสดีค่ะ PRIDI Interview ในวันนี้ เราจะพาทุกท่านมารำลึกเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 39 ซึ่งในปีนั้น จัดขึ้นวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2526 นับเป็นเวลา 41 ปีผ่านมาแล้ว โดยในวันนั้นบนอัฒจันทร์ได้มีการแปรอักษรครั้งสำคัญ หรือว่าเรียกได้ว่าเป็นการแปรอักษรครั้งประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้

 

 

ในวันนี้ดิฉันได้นั่งอยู่กับ ‘คุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์’ หนึ่งในกลุ่มนักศึกษาที่มีส่วนสำคัญทำให้การแปรอักษรครั้งนั้นเกิดขึ้นได้ ย้อนกลับไปครั้งนั้นอยากให้คุณวันชัยเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการแปรอักษร เรามีแนวคิดอย่างไรหรือว่าคิดอะไรกันถึงเกิดการริเริ่มครั้งนั้น

 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

ต้องย้อนกลับไปตอนที่เข้ามาธรรมศาสตร์ตอนปี 1 ตอนนั้น ชื่อ ‘ปรีดี พนมยงค์’ ต้องเรียกว่าไม่ค่อยมีคนอยากพูดถึง เราได้ยินว่าอาจารย์ปรีดีเป็นผู้ก่อตั้งธรรมศาสตร์ แต่การจะหาประวัติหรืออะไรก็ตาม มันยากจนเหมือนกับมันต้องห้าม เพราะเป็นบุคคลต้องห้ามในเวลานั้น ก็เลยงงมาตั้งนานว่าทำไมแกสร้างธรรมศาสตร์ แกสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติมหาศาล แต่ทำไมไม่มีใครอยากพูดถึง

 

 

ในฐานะนักศึกษาคนหนึ่งก็เป็นคำถามมาตลอด แล้วพี่เป็นคนที่ทำเรื่องแปรอักษรมาตั้งแต่อยู่ปี 1 คือเวลานั้นพวกพี่ก็ทำกิจกรรม แล้วก็เชื่อว่าแต่ละปีการแปรอักษรของงานฟุตบอลประเพณีฯ  เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ประจำปีของประเทศ ไม่เหมือนสมัยนี้ซึ่งอาจจะมีสิ่งแย่งชิงเยอะ แต่สมัยก่อนคนรอดูงานฟุตบอลประเพณีฯ เราก็รู้สึกว่า ถ้าการแปรอักษรสามารถจะไปสะท้อนปัญหาสังคม สะท้อนปัญหาเศรษฐกิจ สะท้อนอะไรหลายๆ อย่างได้ก็น่าจะดี และตอนนั้นเป็นการถ่ายทอดสดด้วย ก็เลยเก็บไว้คิดตลอดเวลาว่าปี 1 ปี 2 ปี 3 เราก็คุมสแตนด์เชียร์ และสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจสังคมผ่านการแปรอักษรมาโดยตลอด

จนกระทั่งขึ้นปี 4 ก่อนงานฟุตบอลประเพณีไม่นาน จำได้ว่าร้านค้าสหกรณ์ธรรมศาสตร์เขาทำปฏิทิน เป็นรูปอาจารย์ปรีดีแล้วก็มีคำกลอน “พ่อสร้างแคว้นด้วยสมองและสองแขน” เราก็เฮ้ยเจ๋งว่ะ รู้สึกว่าคำกลอนนี้สั้นกระชับ พูดถึงอาจารย์ปรีดีได้ชัดเจน เลยคุยกับเพื่อนที่เป็นประธานเชียร์ตอนนั้น ประธานเชียร์คือ ‘คุณอดุลย์ โฆษกิจจาเลิศ’ ตอนนั้นอยู่ปี 4 ด้วยกัน เราก็บอกว่า “คำพูดนี้มันเจ๋งว่ะ ทำอะไรให้อาจารย์ปรีดีให้สักครั้งก่อนจะจบ”  ก็เลยวางแผนที่จะแปรอักษรรูปนี้ขึ้นมา โดยที่ไม่ค่อยอยากจะบอกใครด้วย ก็คือเงียบๆ รู้กันไม่กี่คน เพราะรู้ว่ามันก็ Sensitive เราก็รู้ว่าช่วงนั้น ชื่อของ ปรีดี พนมยงค์ ในแง่ของสาธารณะ โดยเฉพาะกับรัฐบาลไม่ค่อยมีคนอยากให้พูดถึงเยอะ แต่ว่าการแปรอักษรคือการเปิดสู่สาธารณะแล้วก็ถ่ายทอดสดด้วย เราก็เลยไม่ค่อยอยากให้ใครรู้โดยเฉพาะผู้ใหญ่ในสมาคม ก็เงียบๆ ไป

 

 

จนกระทั่งแปรอักษร เขียนโค้ด เขียนอะไรเรียบร้อยแล้ว เราก็เอาขึ้นสแตนด์เชียร์ นัดแนะกับโฆษกซึ่งเป็นพรรคพวกกันว่า “ถ้ารูปนี้นะประกาศให้ก้อง แล้วก็รอให้ช่อง 9 ถ่ายทอดให้ด้วย”

ถึงเวลานั้นก็มีการประกาศบอกว่า “ท่านผู้ชมครับ หันไปดูที่สแตนด์เชียร์ธรรมศาสตร์นะครับ จะมีรูปประวัติศาสตร์เกิดขึ้นแล้วนะครับ” ก็เปิดรูปอาจารย์ ตอนแรกก็เปิดด้วยคำกลอน

 

พ่อนำชาติด้วยสมองและสองแขน
พ่อสร้างแคว้นธรรมศาสตร์ประกาศศรี
พ่อของข้านามระบือชื่อ ‘ปรีดี’
แต่คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ

 

แล้วก็เปิดรูปอาจารย์ปรีดีขึ้นมา จำได้ว่าศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะสมัยก่อนก็คือ ต.ม.ธ.ก. ยืนขึ้นแล้วร้องไห้เต็มเลย เพราะว่าเป็นครั้งแรกที่มีการพูดถึงในที่สาธารณะ แล้วก็คนยืนตบมือกันระนาว แต่พวกพี่ก็คุยกับพรรคพวกว่า ถ้าจะโดนจับ ก็โดนจับกัน 2-3 คนพอ ไม่ต้องไปให้วุ่นวาย แล้วก็ยังพูดกันเล่นๆ ว่าเตรียมทางหนีทีไล่ด้วยซ้ำว่าจะหนีไปไหนอะไรอย่างนี้ เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น “วันนั้นรู้สึกอย่างเดียวว่า ต้องทำให้อาจารย์ปรีดี สักครั้งก่อนที่จะจบธรรมศาสตร์”

 

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด

ตอนที่แปรอักษร ตอนนั้นคุณวันชัยอยู่ปี 4 

 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

ใช่ครับ

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด

คุณวันชัยเข้าปีหนึ่งมาตอนช่วงพ.ศ. 2522 ถ้าไล่เรียงก็คือเหตุการณ์ก่อนหน้านั้น ก็จะมี 6 ตุลาคมในปีพ.ศ. 2519 ก็จะทำให้บรรยากาศการเมืองตอนนั้นเงียบมาก

 

 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

ใช่ๆ ตอนนั้นเงียบมากเลย แล้วมันก็ยังคุกรุ่นอยู่ไง

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด

ก็แปลว่า กลุ่มพรรคพวกด้วยกันที่แปรอักษร ก็ค่อนข้างจะมีแนวคิดไปในทางเดียวกัน หรือว่าอยากจะทำอะไรสักอย่าง

 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

ใช่ อยากจะทำอะไรสักอย่างให้กับคนที่สร้างธรรมศาสตร์มากกว่า แม้จะรู้ว่าอาจจะเป็นบุคคลที่ไม่พึงปรารถนากับคนอีกกลุ่มหนึ่งในสังคม แต่รู้สึกว่าก็อยากจะท้าทาย  แล้วหลังจากนั้นไม่นาน อาจารย์ปรีดีก็เขียนจดหมายมาหาที่ชุมนุมเชียร์ จดหมายนี้ยังเก็บอยู่เลย ขอขอบคุณที่ยังระลึกถึงผมอยู่ ถึงข้าพเจ้าอยู่นะครับ หลังจากนั้นอีก 3 เดือนแกก็เสีย

 

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด

ซึ่งตัวจดหมายตอนนี้เก็บอยู่ที่ชุมนุมใช่ไหม

 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

อยู่ที่ชุมนุม แต่ว่าพี่ก็มีที่ถ่ายเอกสารเก็บไว้อยู่ ถ้าไปค้นอาจจะเจอ ก็น่าจะเก็บไว้อยู่

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด

ขอย้อนไปช่วงตอนที่เริ่มทำ ที่บอกว่าเขียนโค้ด ทำกันหลายคนไหม

 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

ไม่กี่คนหรอก อย่างที่บอกว่าก็ไม่ถึง 10 แต่ว่าปิดเป็นความลับ เพราะเราไม่รู้ว่าเกิดใครรู้ขึ้นมา เกิดมีใบสั่งอะไรขึ้นมา ก็เลยแบบว่าเอาเงียบๆ นี่แหละ และก็ตู้มเดียวเลย แต่ก็ผิดความคาดหมาย เพราะว่ามันสร้างผลสะเทือนหลังจากนั้นเยอะมากเลย หลังจากนั้นมันก็มีการพูดถึงอาจารย์เท่าที่จำได้ เริ่มมีการพูดถึงอาจารย์ปรีดีมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่ง โดยเฉพาะหลังจากที่แกเสียชีวิต

หลังจากที่แกเสียชีวิตพี่ก็มีความภูมิใจมากนะ เพราะว่าพี่จะจำได้ว่าตอนที่แกเผาแล้วเอาอัฐิมาเมืองไทย พวกพี่ในฐานะเป็นเด็กกิจกรรมกลุ่มหนึ่งในชุมนุมศิลปะการแสดง อาจารย์ชาญวิทย์ (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ) บอกว่ามันไม่มีใครไปรับ ในแง่ของรัฐบาล ไม่มีใครสนใจเลย ก็คือมีธรรมศาสตร์ที่จะไปรับที่สนามบินดอนเมือง แล้วพวกพี่ชุมนุมศิลปะการแสดงเป็นคนทำรถอัญเชิญโกศ เป็นรถกระบะติดประดับดอกไม้ แล้วพี่ก็ไปรับถึงดอนเมือง แล้วที่สำคัญคือว่าพี่ภูมิใจมาก เพราะว่าพี่เป็นคนถือตัวโกศจากดอนเมืองมาที่ธรรมศาสตร์

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด

แต่ว่าอย่างในตอนนั้น ก็คือมีการคุยกับมหาวิทยาลัยใช่ไหม

 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

คือทางมหาวิทยาลัยนี่เปิดไฟเขียวอยู่แล้ว ตอนนั้นอาจารย์ชาญวิทย์บอกมาให้มาช่วย เพราะว่ามันก็ต้องช่วยกัน เพราะว่าธรรมศาสตร์เป็นแม่งาน ตอนที่ขบวนที่เข้ามาธรรมศาสตร์ฝนตกเหมือนหนังจีน ฝนตกหนักมาก พี่ยังถือเดินเข้าไป

 

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด

บรรยากาศหลังการแปรอักษร ที่คุณวันชัยบอกว่า พอเริ่มจะเปิด ชื่อของปรีดี พนมยงค์ ถูกกล่าวในที่สาธารณะได้มากขึ้นแล้ว มองว่าบรรยากาศสังคมที่เรารับรู้ เปิดกว้างขึ้นอย่างไรบ้าง หรือว่ามีคนพูดถึงท่านอย่างไรบ้าง

 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

คือส่วนหนึ่งคือว่าท่านเสียชีวิตแล้ว หลังจากที่ท่านเสียชีวิตแล้วคนที่ไม่ค่อยชอบก็อาจจะไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะว่าก็คือเสียชีวิตไปแล้ว ก็พูดได้มากขึ้น มีการทำอะไรหลายอย่างเกี่ยวกับอาจารย์ปรีดีค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนั้นเป็นต้นมา จำได้ว่าขบวนอัญเชิญธรรมจักรของธรรมศาสตร์ในงานฟุตบอลประเพณีฯ ก็มีขบวนของอาจารย์ปรีดีด้วย ไม่ใช่แค่แปรอักษรแล้ว กลายเป็นประเพณีว่าต้องมีขบวนของอาจารย์ปรีดีเกิดขึ้นเลย เหมือนกับว่าคือการแปรอักษรเป็นการเปิดประตูไปแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่กิจกรรมหรืออะไรก็ตามที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นก็เริ่มทยอยออกมา

 

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด

ซึ่งในช่วงนั้นเขามีชุมนุมหรือการล้อการเมืองอะไรแบบนี้บ้างไหม

 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

มีมาตั้งนานแล้ว มีมาโดยตลอด เพียงแต่ว่าก่อนที่จะมีประตูบานที่เปิดออกมาล้อการเมือง มันก็เป็นแค่ล้อการเมืองแต่ไม่มีใครกล้าพูดถึงอาจารย์ปรีดี หลังจากที่มีการแปรอักษรรูปนั้นแล้ว ก็เหมือนกับปลดทุกอย่างออกหมด ปลดล็อคทุกอย่าง

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด

ทีนี้ตอนได้รับจดหมาย คือทราบข่าวจากไหน ตอนที่อาจารย์ปรีดีเขียนจดหมายกลับมาขอบคุณ

 

 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

แกส่งจดหมายมาถึงชุมนุมเชียร์เองทางไปรษณีย์

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด

แล้ว Reaction ของแต่ละคนในชุมนุมเป็นอย่างไรบ้าง

 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

โห ตื่นเต้นมาก ไม่คิดไงว่าผู้ใหญ่ขนาดนั้นจะมาสนใจเด็กๆ อย่างเราไง ตื่นเต้นมาก ดีใจมาก พูดง่ายๆ ก็พูดว่าก็ทำงานคุ้ม อย่างน้อยท่านก็เห็นอะไรอย่างนี้ ก็คือดีใจที่เรารู้สึกว่าพวกเราเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ทำให้สังคมเห็นคุณค่าของแกไง

 

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด

และถ้าหากย้อนกลับมาทุกวันนี้ ตัวกลอนหรือว่าสิ่งที่การแปรอักษรครั้งนั้น ที่ยังมีคนรุ่นใหม่ได้รับรู้อยู่ คุณวันชัยมองว่ายังไงบ้าง

 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

พี่เคยขียนบทความนี้นะ ก็ทุกครั้งที่เอามาเผยแพร่ มันก็มีคนดูเยอะมาก ถ้ามองกลับไปในอดีต ก็คงไม่มีใครคิดว่านักศึกษาสมัยนั้นมันกล้าทำสิ่งที่ท้าทายขนาดนี้

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด

ทีนี้ขอกลับมาที่ช่วง 100 ปี ชาตกาล จากหนังสือเล่มนี้ (นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 182 เมษายน 2543 100 ปี ชาตกาลรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พยมยงค์) ช่วงปี 2543 ที่เป็นช่วง 100 ปีชากาลอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งนิตยสารสารคดีมีส่วนสำคัญมากๆ ที่เผยแพร่เล่มนี้ แล้วก็รวบรวมข้อมูลของอาจารย์ปรีดี อยากให้เล่าถึงตอนที่คุณวันชัยได้ทำงานที่สารคดีด้วย

 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

พี่วางแผนที่จะทำเรื่องนี้มานานแล้ว คือรู้ว่าจะครบ 100 ปี ก็รู้ว่ายังไงก็ต้องทำอยู่แล้ว รู้สึกว่าถ้าคนอื่นไม่ทำเราก็จะทำนี่แหละ เพราะว่าหลังจากที่มาทำงานสารคดี ก็ต้องยอมรับว่ารู้จักครอบครัวอาจารย์ปรีดี โดยเฉพาะท่านผู้หญิง (ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์) ก็คุ้นเคยกันเจอก็หลายครั้ง ลูกสาวท่านทั้ง 3 คน ก็รู้จักมานานแล้ว แล้วแกก็ให้ความรัก เอ็นดูเราเหมือนลูกคนหนึ่ง สถาบันปรีดีฯ สมัยก่อนพี่ก็คุ้นเคยมาก ไปบ่อยๆ เพราะว่าเขาก็เรียกไปให้ไปช่วยงานเยอะ เรียกว่าตั้งหลายเล่ม สมัยก่อนเราก็ไปช่วยเขาทำ เลยคุ้นเคยกัน แล้วก็รู้สึกว่าก่อนที่จะมี 100 ปี  รู้สึกว่ายังไงก็ต้องทำให้ได้ แล้วประจวบเหมาะกับทางสถาบันฯ ก็ให้พี่ ให้ทางสารคดีทำหนังสืออีกเล่มหนึ่ง

 

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด

อยากให้คุณวันชัยเล่าให้ฟังหน่อยว่า เล่มนี้มีตรงไหนที่น่าสนใจหรือว่า Concept ตอนที่ทำเล่ม 100 ปีชาตกาล

 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

ที่ทำเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะบอกว่าบุคคลคนนี้เป็นสามัญชนที่ไม่ธรรมดา เป็นลูกชาวนาที่ที่ก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งสูงทางการเมือง เป็นแบบอย่างของคนที่กล้าที่จะสู้กับความไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะช่วงเสรีไทย แม้ว่าท่านจะเป็นผู้สำเร็จราชการฯ ในเวลานั้น แต่ว่าจริงๆ ท่านคือหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ซึ่งทำให้ประเทศไทยไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทศที่ชนะสงคราม ซึ่งถามว่าท่านก็ถือว่าเอาชีวิตเข้าแลก แล้วก็เป็นคนที่ตลอดชีวิตมีเจตจำนงที่จะทำงานเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างแท้จริง

 

 

แม้ว่าจะถูกกล่าวหาถูกใส่ร้ายป้ายสีอย่างไรก็ตาม แต่พี่คิดว่าเราในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง ก็มีหน้าที่ที่จะต้องพยายามจะเผยแพร่ข้อเท็จจริงว่าตัวตนของแกจริงๆ คือใคร ก็เลยอยากทำเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะว่าแน่นอนสมัยนั้นคงไม่มีสื่อไหนที่อยากจะทำเป็นเรื่องเป็นราวหรอก แต่เราคิดว่าอันนี้เป็นภารกิจหนึ่งของสารคดี คือทำให้โลกรู้ รับรู้ว่าความจริงในประวัติศาสตร์ในอีกด้านที่ไม่เคยมีคนเปิดเผยมาก่อน ว่าจริงๆ แล้วมันคืออะไร

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด

ซึ่งในช่วงนั้นมีการตีพิมพ์ หรือว่าตีแผ่เรื่องของอาจารย์ปรีดีเยอะไหม

 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

ก็มี แต่ว่าส่วนใหญ่ก็จะเป็นหนังสือ ถ้าเป็นสื่อจริงๆ ไม่ค่อยมีคนอยากเล่นสักเท่าไหร่ เท่าที่จำได้ อาจจะมีบ้างแต่ไม่ได้เยอะมาก เราก็เป็นสื่อเล็กๆ ที่เราก็ถือว่าเราก็มีอิสระพอสมควรในการทำงาน ก็ไม่มีใครว่าอะไร แน่นอนว่าก็อาจจะมีคนไม่พอใจเยอะ แต่ว่าก็ไม่เป็นไร เราถือว่าเราได้ทำหน้าที่ของเราแล้ว

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด

อยากถามถึงแนวคิดของอาจารย์ปรีดี แนวคิดทางการเมือง หรือว่าด้านอื่นๆ ที่คุณวันชัยรับรู้มาตั้งแต่ตอนยังเด็กหรือว่าวัยเรียน มีเรื่องไหนที่เรารู้สึกว่าเราประทับใจหรือว่าศึกษาเป็นพิเศษบ้างไหม

 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

ถ้าเปรียบเทียบตั้งแต่อดีต หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนถึงปัจจุบัน ถ้าถามว่านายกรัฐมนตรีหรือว่าผู้นำทางการเมืองที่อุทิศตัวเองเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างแท้จริง พี่ก็ยังเชื่อว่าในความเห็นส่วนตัว อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ คือเบอร์ 1 ตลอดเลย ถ้าเทียบกับนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา พี่ว่าคนนี้คือคนที่อุทิศตัวเองเพื่อสังคมไทยอย่างแท้จริง แม้ว่าจะถูกกล่าวหามาตลอดเวลาก็ตาม

 

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด

แล้วในความทรงจำ ที่มีที่ได้เห็นอาจารย์ปรีดีมาตลอด ตั้งแต่สมัยที่รับรู้ว่าอาจารย์ปรีดียังมีชีวิตอยู่ จนถึงปัจจุบันที่หลายปีมาแล้ว คิดว่ามรดกทางความคิดอะไรของอาจารย์ปรีดีบ้างที่ตกทอดมาสู่คนรุ่นใหม่หรือทำให้คนยังรู้จักอาจารย์ปรีดีอยู่

 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

มรดกที่ชัดเจนที่สุด คือแกพยายามที่จะทำให้สังคมที่เป็นธรรม แกพยายามที่จะลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในเวลานี้ ซึ่งแกทำมาเมื่อ 60-70 ปีที่แล้วไง แม้ว่าทุกวันนี้ยังไม่สำเร็จ แต่จุดยืนแกชัดเจนว่าแกต้องการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม และที่สำคัญคือแกมองคนเท่ากัน มันก็เลยทำให้คนรุ่นใหม่ยังรู้สึกว่ายังศรัทธาอาจารย์ปรีดีอยู่ทุกวันนี้ เพราะว่าสิ่งที่อาจารย์คิดเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้วในทุกวันนี้มันทันสมัยอยู่

 

การตอบสนองของรัฐบาลหลังจากการแปรอักษรครั้งสำคัญ :

ต้องเข้าใจว่าสมัยก่อนพวกเด็กกิจกรรมอย่างพี่ ทำงานต่อต้านรัฐบาลตลอด สมมติว่าน้ำมันขึ้นราคาเราก็ประท้วงใช่ไหม ก็มีตำรวจสันติบาลมาตลอดเวลาอยู่แล้ว ก็เลยเฉยๆ ไม่ได้คิดอะไร ไม่ได้รู้สึกว่านี่เป็นครั้งแรก เราก็โดนมาตลอด เดินกลับบ้านก็เดินสะกดรอย ครั้งนี้อาจจะช็อคเขาหน่อย แต่เราก็ต้องยอมรับสภาพนะว่า ผลกระทบอะไรจะเกิดขึ้นก็ได้ อาจจะเช่นโดนตามมากขึ้น หรืออะไรก็เป็นเรื่องธรรมดาใช่ไหม เพราะว่าครั้งนี้มันมันช็อคคน ช็อคฝั่งที่ไม่เห็นด้วยมาก

 

 

ก่อนถึงเป้าหมายสำคัญมีอุปสรรคอะไรบ้างหรือไม่ :

ไม่มีลุยแม่งเลย ก็ถือว่าห้าวอะ ช่างแม่ง ถ้าพูดถึงในหมู่คนทำงาน ไม่มีใครไม่เห็นด้วยแต่อาจจะกลัวๆ กล้าๆ ทำจริงเปล่าวะอะไรอย่างนี้ แต่พอเราตัดสินใจจะทำอะไรก็ช่วยหมด ถึงไหนถึงกัน แต่ว่าแน่นอนว่าก็คงจำกัดให้อยู่ในวงไม่กี่คน เพราะรู้ว่าก็เป็นความเสี่ยงก็ปิดลับระดับหนึ่งอยู่แล้ว รู้กันเท่าที่รู้ พวกอาจารย์ขนาดอาจารย์ชาญวิทย์ยังไม่รู้เลย

 

แล้วอาจารย์ชาญวิทย์ว่าอย่างไรบ้าง :

ทุกคนดีใจหมด ที่พีคสุดคือว่าพวก ต.ม.ธ.ก. ที่ 60-80 ปีแล้วนะ ยืนขึ้นน้ำตาไหลหมดเลย คือพวกนี้ก็ศิษย์โดยตรงของอาจารย์ปรีดี ยืนร้องไห้เลย เขามาดูบอลธรรมศาสตร์แล้วไม่คิดว่ามีคนพูดถึงอาจารย์ปรีดี ยืนร้องไห้กันเป็นแถวเลย

 

ซึ่งคุณวันชัยยืนอยู่ตรงไหนในวันงาน :

อยู่หน้าแสตนด์เชียร์ แต่ว่าก็คุยกับเพื่อนที่เป็นโฆษกไง เอายังวะๆๆ เปิดเลยๆ คุยกันผ่านวอร์ คือช่วงนั้นช่อง 9 ไม่ได้ถ่ายทอดตลอดไง ก็เป็นช่วงๆ ใช่ไหม พอช่อง 9 ก็ตัดมาหา เราก็บอกว่า เอาตอนนี้แหละ

 

ตั้งใจว่าพอช่อง 9 ตัดมาเอาเลย :

แน่นอนก็ตั้งใจเผยแพร่ ตั้งใจให้ออกสื่อ สมัยก่อนไม่มีเฟซบุ๊ก ไม่มีไลน์ ไม่มีอะไร โทรทัศน์เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุด

 

วินาทีแรกที่ป้ายยกขึ้นมา :

เชื่อไหม พอดีแปรอักษรเสร็จ แสตนด์เชียร์ข้างหน้าทีมงานทั้งหมดกระโดดตัวลอยกันหมด สำเร็จแล้ว คือลุ้นมาว่าจะสำเร็จหรือป่าว คือเราไม่รู้ว่าถ้าเกิดมันรั่วไหล ตำรวจแม่งเดินมารวบ มันเป็นไปได้หมด เราไม่รู้ไง

 

นักศึกษาบนแสตนเชียร์ทราบเรื่องราวเหล่านี้หรือไม่ :

ไม่รู้ แสตนด์เชียร์ไม่รู้ว่าแปรอะไรนะ  มันตั้ง 2,500 จุด แล้วแต่ละจุดก็ไม่มีใครรู้เพราะว่ามันจะมีกระดาษที่มันเป็นตารางๆ 2,500 ตาราง นั่นก็คือเห็นเป็นรูป แต่คนอื่นไม่มีใครรู้หรอก

 

 

2,500 จุด 2,500 แผ่นนี่ก็ต้องแอบทำ :

แอบลงโค้ด แต่ว่าคนที่จะรู้ก็คือรูปนี้รูปเดียว เพราะว่าเวลาเวลาขึ้นสแตนด์เชียร์ไม่มีใครรู้ แต่พอพี่ประกาศว่ารูปที่เรากำลังแปรอักษรเสร็จไปแล้ว คือรูปอาจารย์ปรีดีนะ คนบนแสตนเชียร์เขาก็ดีใจมาก คนบนแสตนเชียร์ทุกคนก็รู้สึกผูกพันอาจารย์ปรีดี เพียงแต่ว่าไม่รู้จะพูดอะไร พอได้รู้ว่าแปรรูปอาจารย์ปรีดีทุกคนดีใจมาก

เมื่อ 2 ปีก่อนที่ไปเที่ยวสเปนก็เจอรุ่นน้องคนหนึ่ง เขาก็เดินมาทัก บอกว่าวันนั้น เขาเป็นคนแปรอักษรด้วย เขาดีใจมากเลยที่พี่แปรอักษรรูปนี้ ตอนนี้ก็เป็นผู้บริหารใหญ่โตในบริษัทแห่งหนึ่ง ตอนนั้นเขาก็เป็นนักศึกษาปี 2 เขาก็ขึ้นแสตนเชียร์ และพอรู้ว่าเป็นอาจารย์ปรีดี เขากระโดดตัวลอยเลย

 

การแปรอักษรในงานบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ครั้งที่ 39
จบลงด้วยความประทับใจ
หลังจากนั้นเพียง 3 เดือนในวันที่ 2 พฤษภาคม 2526
อาจารย์ปรีดี ได้ถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบ
ณ บ้านอองโตนี ประเทศฝรั่งเศส

 

เมื่อคนตายแล้ว มาตรการกีดกัน ป้องกันข่าวสารมันก็เบาลง เพราะว่าแกเสียชีวิตไปแล้ว ประจวบเหมาะด้วยว่าเปิดประตูจากแปรอักษร ประตูจากที่แกเสียชีวิต แล้วก็จำได้ว่าวันนั้นที่แกตาย ก็เป็นข่าวใหญ่ในประเทศ คือต้องเข้าใจว่าประตูมันเปิดแล้ว ลูกศิษย์ลูกหาหรือคนมีชื่อเสียง ซึ่งเป็นนักการเมืองจำนวนมาก ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีเยอะแยะก็ลูกศิษย์แกทั้งนั้น

 

 

สุดท้าย ฝากถึงประชาชนคนรุ่นใหม่ ผู้รักประชาธิปไตย :

ผมคิดว่าประโยชน์อย่างหนึ่ง โชคดีอย่างหนึ่งก็คือว่าอย่างที่บอกคนรุ่นใหม่เขาสนใจอาจารย์ปรีดี แต่ว่ามันจะต้องทำให้เห็นว่ามิติอะไรที่คนรุ่นใหม่เขาสนใจ อย่างที่บอกว่าคนรุ่นใหม่สนใจเรื่องความยุติธรรมมากเลยนะ ความเท่าเทียมกันอย่างอย่างนี้ หรือว่าความเหลื่อมล้ำ ซึ่งอาจารย์ปรีดีพูดมาตั้งนานแล้ว เพียงแต่ว่าเวลาสังคมจะได้พูดถึงปรีดีก็มักจะพูดถึงแต่หัวหน้าเสรีไทย นายกรัฐมนตรี แล้วก็สมุดปกเหลือง ซึ่งสมุดปกเหลืองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แล้วเรื่องกรณีสวรรคต แต่ว่าในมิติของสิ่งที่มันร่วมสมัยกับปัจจุบันก็คือสิ่งเหล่านี้

อยากจะให้คนรุ่นใหม่เข้ามาสนใจอาจารย์ปรีดี ก็คือว่าพยายามทำสิ่งที่พวกคุณเรียกร้อง อาจารย์ปรีดีเขาทำมานานแล้ว เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของเด็กรุ่นใหม่ที่ต้องสานต่อภารกิจของปรีดี พนมยงค์ เป็นข้อโชคดีนะที่ปรีดียังทันสมัยอยู่ในสายตาของเด็กรุ่นใหม่ เพียงแต่ว่าเด็กอาจจะไม่รู้อะไรเยอะ หน้าที่ของสถาบันปรีดีฯ ต้องทำให้เห็นว่าหัวใจของประชาธิปไตยคือสิ่งเหล่านี้

 

 

สัมภาษณ์โดย : ชญานิษฐ์ แสงสอาด
วันที่ 16 มกราคม 2567

บทความที่เกี่ยวข้อง :