ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

“๕๐ ปี ๑๔ ตุลา ศิลปะจักสำแดง” Protest Art

5
พฤศจิกายน
2566

Focus

  • ระหว่างวันที่ 3-15 ตุลาคม 2566 มีการจัดงานรำลึก 50 ปี 14 ตุลา โดยการจัดแสดงนิทรรศการภาพจิตรกรรมชุดพิเศษ ภายใต้ในชื่องาน “50 ปี 14 ตุลา ศิลปะจักสำแดง” บริเวณแกลเลอรี ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพ ประกอบการสนทนาเรื่อง “ศิลปะเพื่อการเปลี่ยนแปลง” ของผู้แทนศิลปินจาก “แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย” ในสมัยนั้น โดยความร่วมมือของมูลนิธิ 14 ตุลา และ มูลนิธิเด็ก ร่วมกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
  • การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสมัย 14 ตุลาคม 2516 และรวมทั้ง 6 ตุลา 2519 มิใช่เพียงเกิดขึ้นโดยความพยายามของฝ่ายนักศึกษาที่ทำกิจกรรมทางการเมืองเท่านั้น แต่การมีส่วนร่วมของเหล่าศิลปินจากหลายแหล่งที่รวมตัวกันขึ้น ก็มีส่วนสนับสนุนให้ศิลปะกับการเมืองรับใช้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มศิลปินที่ชื่อว่า “แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย” ที่มาจากหลายแหล่ง
  • งานสร้างสรรค์ภาพวาดในอดีตเหล่านั้น มาจากการพัฒนาทางความคิดต่างๆ ในทางศิลปะที่ได้จากการศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง การวิจารณ์ศิลปะ การเรียนรู้ของต่างประเทศ ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อสังคม ศิลปะส่องทางให้แก่กัน ศิลปะนานาพันธุ์ ศิลปะบันทึก และล่าสุดในปัจจุบันคือ ศิลปะเพื่อการเปลี่ยนแปลง เป็นต้น
  • การรักษาผลงานภาพวาดต่างๆ ทางการเมืองในอดีต ให้มีอยู่ต่อไปอย่างมีคุณค่า สมควรมีองค์การกลาง เช่น ในลักษณะพิพิธภัณฑ์ในเชิงศิลปศาสตร์การเมืองเข้ามาดูแล เพื่อให้งานศิลปะสามารถช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ทางการเมืองอดีต (แม้กระทั่งในปัจจุบันที่มีการจัดแสดงภาพวาดร่วมด้วย) และในการขับเคลื่อนประชาธิปไตย ประชาชน และประชาชาติในอนาคต

 

นานแล้ว ครึ่งศตวรรษ ประวัติศาสตร์
เลือดวีรชน ที่หยดหยาด อาจเลือนหาย
แต่ตำนาน คนกล้า ไม่เคยตาย
ปักหมุดหมาย เดือนตุลา ประชาชน

ประชาชน ประจญสู้ กู้ศักดิ์ศรี
สิทธิ์เสรี สร้างโลกใหม่ ไร้ฉ้อฉล
จุดแสงดาว แห่งศรัทธา ค่าของคน
ส่องถนน สายธรรมา ประชาธิปไตย

นานแล้ว ครึ่งศตวรรษ ผลัดเปลี่ยนรุ่น
โลกที่หมุน วนเวียน เปลี่ยนไปไหม?
หรือความคิด ความฝัน นั้นเปลี่ยนไป?
มารวมใจ ร่วมย้อนเยือน เดือนตุลา

มารำลึก วันฟ้าใหม่ ในเมืองหม่น
วันที่คน คว้าเสรี มีคุณค่า
สู้เพื่อสร้าง ทางเพื่อทอ ก่อปัญญา
ลุกขึ้นท้า อำนาจบ้า เผด็จการ

นานแล้ว ครึ่งศตวรรษ ยังชัดชี้
เส้นทางนี้ แม้วกวน ย่อมพ้นผ่าน
รื้อกำแพง เปิดแสงใหม่ ให้เบิกบาน
เปิดตำนาน ปฐมบท ปลดปล่อยคน

จุดกระแส สำนึก ผลึกผสาน
จุดวิญญาณ ประชาไทย ในทุกหน
จุดพลัง ประชาธิปไตย ในตัวตน
ครึ่งศตวรรษ ผ่านพ้น ยังทนทาน

จิระนันท์ พิตรปรีชา
๒๕๖๖

 

 

“นิทรรศการ ๕๐ ปี ๑๔ ตุลา ศิลปะจักสำแดง” (Protest Art)

ภาพจิตรกรรมชุดพิเศษสีสันสดใสเรียงรายสะดุดตาในบริเวณแกลเลอรี ชั้น 4 ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพ มีเอกลักษณ์เด่นบอกยุคสมัยใส่อุดมการณ์เป็นงานคัทเอาท์ (Cutout) เล่าการเมือง เบื้องหลังมีหัวข้อกำหนดชัดเจนเป็นทางการในวัตถุประสงค์ ‘เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในวาระครบรอบ ๒ ปี ของเหตุการณ์’ เป็นผลงานของ ‘กลุ่มแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย’ ดำเนินการจัดทำขึ้นด้วยเหตุผลของงานชุมนุมทางการเมืองในช่วงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ “ตุลามหาวิปโยค” เป็นผลงานชุดเดียวกับที่เคยจัดแสดงในงานครบรอบ 2 ปี หลังเหตุการณ์ ‘14 ตุลา 2516’ ณ บริเวณเกาะกินรีคู่บนถนนราชดำเนิน ซึ่งถูกจัดขึ้นจุดนี้เพียงครั้งแรกและครั้งเดียว เพราะหลังการจัดแสดงในครั้งนั้นผลงานถูกทำลายไปหมดสิ้น เพราะสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้นยังคงมีความขัดแย้งคุกรุ่น หลังสถานการณ์ผ่านไปในปี 2546 ‘มูลนิธิ 14 ตุลา’ ได้ร่วมกับฝ่ายศิลปกรรม ‘มูลนิธิปรีดี พนมยงค์’ พยายามติดต่อกับศิลปินเจ้าของผลงานให้กลับมาทำงานในรูปแบบเก่า เหมือนเดิมกับที่เคยสร้างสรรค์ “ภาพศิลปะคัทเอาท์การเมืองเดือนตุลา ๒๕๑๘” ไว้เมื่อ 14 ตุลาคม 2518 เพื่อเป็นการเชื่อมต่อช่วงประวัติศาสตร์ที่ขาดหายไป…

 


สุรชัย จันทิมาธร (คาราวาน) กับกวีซีไรต์ จิระนันท์ พิตรปรีชา
“นิทรรศการ ๕๐ ปี ๑๔ ตุลา ศิลปะจักสำแดง” (Protest Art)

 

จึงเป็นการกลับมาของผลงานจิตรกรรมสกุลศิลป์ Pop Art กลิ่นอายย้อนสมัยใน “นิทรรศการ ๕๐ ปี ๑๔ ตุลา ศิลปะจักสำแดง” (Protest Art) โดย มูลนิธิ 14 ตุลา และ มูลนิธิเด็ก ร่วมกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ จัดแสดงเมื่อวันที่ 3-15 ตุลาคม 2566 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ ในวาระรำลึก ‘50 ปี 14 ตุลา’ ชวนย้อนทวนถึงประวัติการทำงานและการต่อสู้ในขณะนั้น ซึ่งมีเพียงงานสร้างสรรค์ศิลปะแทนอาวุธสู้กับยุทโธปกรณ์ของรัฐเพื่อกำจัดเผด็จการในงานเปลี่ยนแปลงประเทศ อะไรคือเหตุแห่งพันธกิจที่ศิลปินและแนวร่วมอุทิศให้ … ในวันเปิดงาน 8 ตุลาคม 2566 โดย นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธาน ‘มูลนิธิ 14 ตุลา’ มีการแสดงดนตรี (หงา คาราวาน), กวี (จิระนันท์ พิตรปรีชา)[1], ศิลปินเจ้าของผลงาน 2 ท่าน อาจารย์สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย[2] ผู้ประสานงานของ ‘กลุ่มแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย’ และ อาจารย์โชคชัย ตักโพธิ์ (ผู้รับรางวัล ‘ครูยิ่งคุณ’ จาก มูลนิธิสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 ประจำปี 2564)[3] ทั้งสองท่านต่างเป็น ‘คนเดือนตุลา’ มาร่วมพูดคุยและให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมในหัวข้อ “ศิลปะเพื่อการเปลี่ยนแปลง” ย้อนทวนถึงเหตุการณ์ทางการเมืองและบริบทการสร้างงานที่มีผลต่อความรู้สึกความคิดของผู้รับสาร เป็นงานบันทึกประวัติศาสตร์การต่อสู้ตามแนวทางของจิตรกรรมเพื่อชีวิต พิธีกรโดย คุณนันทิญา จิตตโสภาวดี (ผู้ดำเนินรายการจากสถานีโทรทัศน์ BLUESKY Channel และช่อง JKN18), ปิดท้ายด้วย ศิลปะสื่อแสดง โดย อาจารย์สรพจน์ เสวนคุณากร คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

“ภาพศิลปะคัทเอาท์การเมืองเดือนตุลา ๒๕๑๘”

 

 

พิธีกร : ที่มาของการรวมตัวเพื่อก่อตั้ง ‘กลุ่มแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย’

อาจารย์สินธุ์สวัสดิ์ : จากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 คนที่ทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมได้เข้าร่วมช่วยเหลือกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการวาดการ์ตูนการเมือง มีสโมสรนักศึกษาศิลปากร กับ เพาะช่าง ได้ช่วยกันทำเนื่องจากพื้นที่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในขณะเดียวกันคณาจารย์ของศิลปากรที่มีความคิดก้าวหน้า 12 คน เกิดความคิดขัดแย้งกับอาจารย์ทั่วไป ได้ร่วมกับประชาชนมารวมตัวกับนักศึกษาศิลปะหัวก้าวหน้า เข้ามาช่วยงานขบวนการนักศึกษาประชาชน (ขบวนการสามประสาน” ประกอบด้วย นักศึกษา ชาวนา กรรมกร) เมื่อก่อนนี้นักศึกษาศิลปะตามสถาบันการศึกษาจะมีน้อย (ถ้าเทียบกับปัจจุบัน) มีที่โคราช, เพาะช่าง, ศิลปากร, ช่างศิลป์, ส่วนที่ จุฬาฯ นี่มาเกิดขึ้นทีหลัง มารวมตัวกันหลวมๆ ช่วยกันทำงานด้านศิลปวัฒนธรรม ซึ่งของขบวนการนักศึกษามีอยู่แล้ว ดนตรี ลำตัด ลิเก วรรณกรรม มีการพูดคุยกันหลังปี 2516 ใหม่ๆ ว่าทุกองคาพยพของคนที่ทำงานศิลปวัฒนธรรมน่าจะรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งเป็นองค์กรช่วยเหลือขบวนการทั้งหมด คุยกันแล้วคุยกันเล่าก็ไม่สำเร็จเพราะว่าทุกคนมีกิจกรรมเฉพาะหน้าเข้มข้นมาก มีเพียงฝ่ายทัศนศิลป์เท่านั้นที่พร้อมในช่วง ธันวาคม 2517 คือกลุ่ม 4 ศิลปินอิสระจากศิลปากรมี อ.ลาวัณย์ อุปอินทร์[4], สมโภชน์ อุปอินทร์[5], อ.เสวต เทศน์ธรรม[6], อ. ถกล ปรียาคณิตพงศ์ มารวมกับฝ่ายโฆษณา พิทักษ์ ปิยะพงษ์, สถาพร ไชยเศรษฐ์ ฯลฯ หลังขับไล่ถนอมออกไปประมาณสิ้นปี 2517 ได้ประชุมรวมกันและคิดว่าสมควรจัดตั้งองค์กรได้แล้ว จึงได้เปิดตัวที่หอศิลป์วังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร ประมาณปลายเดือน มกราคม 2518

 

 

พิธีกร : ช่วงนั้นทั้งสองท่านยังเป็นนักศึกษาอยู่เลย อาจารย์โชคชัยเป็นคนเรียนเก่งมีแววว่าอนาคตไกล ทำไมตัดสินใจเข้าเป็นแนวร่วมกลุ่มทางการเมืองคะ

อาจารย์โชคชัย : ช่วงที่เป็นนักศึกษาไม่มีที่เที่ยวเหมือนทุกวันนี้ ถ้าจะสนใจก็มีเรื่องกิจกรรม สนใจหน่อยก็เข้าห้องสมุด สนใจมากก็ไปฟังอภิปราย อย่างอื่นก็ไม่มี โดยสภาพที่เพาะช่างอยู่ใกล้สนามหลวง ใกล้ธรรมศาสตร์จะมีกิจกรรมทางวิชาการเยอะแยะ ที่เพาะช่างเป็นศูนย์กลางขายหนังสือในยุคนั้น เช่น ร้านนิพนธ์[7] ฯลฯ มีโอกาสที่ได้เห็นพวกนี้เกิดการซึมซับค่อนข้างสูงพอเจออะไรมาก็รับรู้เร็วขึ้น ที่เพาะช่างเป็นสถาบันเปิดมีอาจารย์จบมาจากหลายที่ เพราะฉะนั้นก็ค่อนข้างหลากหลาย ที่อื่นอาจารย์จะสอนแนวเดียวกันหมด ความตื่นตัวก็เลยมาอยู่ตรงนี้

ส่วนหนึ่งที่ผมตื่นตัวคือรุ่นพี่ที่มาจากประสานมิตรส่วนใหญ่ก็อเมริกาจ๋าเลยมาจาก รอกกี้ เฟลเลอร์ ทั้งหมด เขาจะสอนวิพากษ์วิธีการมองศิลปะเชิงวิพากษ์ มีอะไรประมาณนี้เข้ามาท้าทายความเปลี่ยนแปลง เราก็อยากจะเป็นคนสมัยใหม่ ผมได้รางวัลมาทั้งหมด 30 กว่ารางวัลค่อนข้างเยอะแต่คิดว่าไม่มีประโยชน์ มีรุ่นพี่มีอาจารย์ชวนไปเข้ามาหาวิทยาลัยหลายแห่ง จะปั้นให้เราเป็นพระเอกคุณต้องรักษาเนื้อรักษาตัวอย่าไปยุ่งการเมือง ผมไม่เอาเพราะไม่เห็นด้วยอยู่กับน้องๆ ในกลุ่มก็สนุกดี เลยเกาะกลุ่มชวนกันทำงานทางเลือกของเรา แนวที่เราเลือกเป็นศิลปะแนวใหม่ ที่ทางสถาบันฯ ไม่เห็นด้วย

อาจารย์สินธุ์สวัสดิ์ : ผมเป็นรุ่นน้องอาจารย์โชคชัย ปี 2515 มีเหตุการณ์สำคัญคือ พันเอกณรงค์ กิตติขจร ศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบที่อยู่ติดกัน ช่วงนั้นกำลังมีชื่อเสียโด่งดัง ต้องการสถานที่จัดตั้งสมาคมศิษย์เก่าแห่งใหม่ของโรงเรียนสวนกุหลาบ มีความประสงค์จะใช้พื้นที่ของเพาะช่างเป็นที่ตั้งของสมาคมศิษย์เก่าฯ (อาจารย์จิตร บัวบุศย์ อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนเพาะช่าง เป็นผู้ที่มีบทบาทปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาของเพาะช่าง เป็นผู้ออกแบบอาคารเพาะช่างและก่อสร้างใหม่เป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ แทนอาคารเดิมซึ่งถูกระเบิดทำลายเสียหายในสงครามโลกครั้งที่สอง) จะย้ายเพาะช่างไปอยู่ไกลปืนเที่ยง มีการรวมตัวชุมนุมต่อต้านโดยทุกองคาพยพของเพาะช่าง ทั้งศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน ผู้ที่เกี่ยวข้องสายเชื้อพระวงศ์ (โรงเรียนเพาะช่าง ทรงก่อตั้งโดยรัชกาลที่ 6)

 


หนังสือ “ขบวนการประชาชน”
ที่มา : อาจารย์สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย

 

ตอนนั้นประธานสภานักศึกษาเพาะช่างปี 2515 คือ ผดุง พรมมูล ต่อมาเป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการจัดทำหนังสือชื่อ “ขบวนการประชาชน” เป็นเล่มรำลึกรวบรวมทุกเรื่องที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จัดทำโดย ศนท. (ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย) มี กลุ่มประสานมิตร จุดประกายเริ่มต้น ทำให้พวกอาจารย์โชคชัย ตักโพธิ์ ที่เป็นรุ่นน้องของอาจารย์ผดุงอยู่ ปมช. ก็ได้แรงบันดาลใจในอานิสงส์ด้วย (ปมช. คือวุฒิ ประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยมการช่าง หลักสูตรห้าปีสามารถเป็นครูสอนศิลปะในระดับมัธยมศึกษาได้ทั่วประเทศ ผดุง พรมมูล หลังจบการศึกษาในระดับ ปมช.แล้ว ศึกษาต่อที่ วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร ต่อมายกวิทยฐานะเป็น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในปัจจุบัน)

เหตุการณ์ที่สองในปี 2515 คือ พี่ กมล ทัศนาญชลี[8] เอาผลงานภาพพิมพ์มาแสดงที่เพาะช่าง เป็นผลงานที่แตกต่างชัดเจน พูดถึงสงครามเวียดนามโดยตรง ที่อเมริกาเป็นกระแสใหญ่มาก แต่ที่เมืองไทยยังไม่มีใครทำต่อต้านอย่างเป็นระบบ งานของพี่สร้างขึ้นตึกใหญ่ ใครที่ถูกคัดเลือกไปเพนท์ถือเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงมาแสดง เป็นการตื่นตัวที่พวกเราได้รับผลกระทบไปด้วย

กลุ่มของอาจารย์โชคชัยมี อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เป็นกลุ่มที่มีความตื่นตัวต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตตัวเอง พัฒนาสังคมด้วย อย่างอาจารย์โชคชัยนั่งรถเมล์มาเรียนเพาะช่าง อ่านหนังสือปรัชญา เพราะมันเป็นชีวิตจิตใจของเขา (คนอื่นเขาอ่านหนังสืออ่านเล่น) ส่งงานให้อาจารย์ตรวจได้ C- ส่งประกวดได้รางวัลได้ถ้วยมา อย่างนี้เป็นต้น คือตบหน้าระบบการศึกษา อาจารย์โชคชัยมีสองด้าน อาจารย์หัวก้าวหน้านักศึกษาหัวก้าวหน้าชื่นชมรักใคร่ต้องการให้มาเป็นอาจารย์ แต่คนที่มีความคิดตรงข้ามก็ไม่ชอบเพราะว่ามันล้ำไปประจานความคิดของคนส่วนหนึ่งคือปัญหาที่เกิดขึ้น

สิ่งเหล่านี้มันหล่อหลอม รุ่นนี้เขาแข่งกันพิมพ์หนังสือ แปลบทความจากต่างประเทศ ศิลปินหลายคนที่ในเมืองไทยไม่รู้จัก ทำแบบพี่สุชาติ สวัสดิ์ศรี เล่มละบาทออกมาแทบจะแจกฟรีแข่งกัน เชิญศิลปินฉลาดขึ้นปกแม้สถาบันการศึกษาที่เป็นระบบยังไม่ยกย่องกันนักอย่าง จ่าง แซ่ตั้ง[9] เชิญมาพูดให้นักศึกษาฟัง พาไปสัมผัสชีวิตว่าพวกเขาสร้างงานกันยังไง ทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนกันทั้งสองฝ่าย มีหลายคนรุ่นพี่รุ่นน้อง การเรียนรู้ทำให้กระเพื่อมขึ้นโดยเฉพาะกรณีของ พันเอกณรงค์ กิตติขจร ทำให้เปิดโลกทัศน์ออกไปสู่สังคมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจก่อนเกิด 14 ตุลา 2516 คือการที่พี่สุเทพ วงศ์กำแหง ไปลงชื่อ 1 ใน 100 ด้วย (6 ตุลาคม 2516 มีบุคคลร่วมลงชื่อ 100 คน เพื่อเรียกร้องขอรัฐธรรมนูญ) พี่สุเทพเป็นขวัญใจของน้องๆ ทั้งหลายที่เพาะช่าง ทุกเรื่องเกี่ยวร้อยกันหมดเลยทำให้เราได้เติบโต

 

 

พิธีกร :  ย้อนกลับไปปี 2516 - 2519 ช่วงของการชุมนุมการติดต่อสื่อสารไม่สะดวกอย่างปัจจุบัน  สื่อสิ่งพิมพ์ไม่ว่าจะเป็น โปสเตอร์ แผ่นพับ ใบปลิว หรือคัทเอาท์ ที่ใช้เป็นสื่อหลักในการสื่อสาร ทั้งข่าวสารและการนัดชุมนุม สำหรับการทำงานหลังรวมตัวกันแบบหลวมๆ แล้ว ในรูปแบบการทำงานอย่างโปสเตอร์ มีวิธีแบ่งหน้าที่ยังไงกันบ้างคะ คงมีศิลปินหลายกลุ่มมาเข้าร่วมเป็นสมาชิกในครั้งนี้ค่ะ

อาจารย์สินธุ์สวัสดิ์ : ‘แนวร่วมศิลปิน’ ชื่อมันใหญ่ ประชุมครั้งแรกก็ใหญ่จริงๆ มีหลากหลายศิลปินเข้าร่วม เสถียร จันทิมาธร, นิวัติ กองเพียร, จ่าง แซ่ตั้ง, ประเทือง เอมเจริญ, ชำเลือง วิเชียรเขตต์ ฯลฯ กับอีกหลายคนที่เรารู้จักกันดี ฝ่ายนักศึกษาก็มีกลุ่มนักศึกษาหัวก้าวหน้าของ ศิลปากร เพาะช่าง ฯลฯ รวมประมาณ 30-40 คน ลงรายชื่อก็ใหญ่แต่เวลาทำกิจกรรมก็จะค่อยๆ ลดลงเหลือน้อยแล้วแต่งาน กิจกรรมแรกคือการแสดง “นิทรรศการศิลปวัฒนธรรมทาส” ร่วมกับ อมธ. ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เอารูปมาจัดแสดงรวมกันระหว่างศิลปินกับนักศึกษา

นิทรรศการศิลปวัฒนธรรมทาส โดยแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย จัดร่วมกับ ชุมนุมวรรณศิลป์ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และฝ่ายวัฒนธรรม องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดแสดงที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 21-25 กุมภาพันธ์ 2518 วัตถุประสงค์ของการจัดงาน

  1. เป็นการวิเคราะห์ศิลปวัฒนธรรมไทยและสากล ในแง่ที่เป็นประโยชน์และไร้ประโยชน์ต่อสังคม
  2. ชี้ให้เห็นความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ระหว่างศิลปวัฒนธรรมกับชีวิต และสังคม
  3. วิเคราะห์และเสนอแนะคุณค่าที่ควรเป็นของวัฒนธรรมแห่งมนุษยชาติ ที่เป็นปรากฏการณ์คืองานของอาจารย์ลาวัณย์ อุปอินทร์[10] ในวันกรรมกร เขียนภาพกรรมกรแบกโลก ไม่เคยปรากฏว่าศิลปินระดับอาจารย์จะมาเขียนภาพแบบนี้ บนผืนผ้าขนาดใหญ่ห้อยลงมาจากคณะนิติศาสตร์ มันใหญ่ มันปะทะมาก ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ

แต่เวลาทำงานเดี่ยวกับงานกลุ่มจะแตกต่างกัน โดยปกติศิลปินไม่ทำงานกลุ่ม ทุกคนเป็นปัจเจกอยู่แล้ว ภาพคัทเอาท์มีสองแบบงานเดี่ยวกับงานกลุ่ม บางชิ้นทำเป็นกลุ่มต้องแชร์กันทั้ง ความคิด พื้นที่ นิสัยใจคอ อาจารย์โชคชัยจะรู้ว่าผมชอบ stoke แบบไหนเว้นพื้นที่ไว้ให้ ผมก็จะต้องรู้ว่าอาจารย์โชคชัยเป็นคนแบบไหน (stoke หมายถึงทีฝีแปรง เป็นสไตล์ส่วนตัวของแต่ละบุคคล มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกัน) ต้องแชร์กัน ทำให้เกิด space จุดมุ่งหมายเดียวกัน คนที่มาสรุปสุดท้ายนี่ก็สำคัญว่าต้องจบลงอย่างไรให้มันสวยงาม

 


อ.ถกล ปรียาคณิตพงศ์
ที่มา : Dinhin Rakpong - Asoke

 

อาจารย์สินธุ์สวัสดิ์ : โครงการคัทเอาท์เดือนตุลาคม คนที่เริ่มความคิดคือ อาจารย์ถกล ปรียาคณิตพงศ์ (อาจารย์ประจำภาควิชาประยุกต์ศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเป็นสมาชิกแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย) แต่ไม่ได้วาดภาพ เป็นอาจารย์หัวก้าวหน้าจบจากอเมริกามีปัญหากันในคณะ ถูกแขวนไม่ได้สอนก็เลยมีเวลาทุ่มเทมากตอนนั้นแข็งแรงดี เริ่มจากคิดโครงการแล้วต้องหาคนทำงาน ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ คิดได้แต่ไม่มีกำลัง พลังงานต้องการจำนวนมากแล้วต้องเป็นคนที่เข้าใจด้วย เพราะเป็นงานศิลปะต้องใช้จินตภาพเข้าไปประกอบไม่ใช่ใช้แรงอย่างเดียว คิดแล้วก็ปรึกษาแนวร่วมกับศูนย์นิสิตฯ ต้องมีงบประมาณด้วย ก็ได้เข้าไปพบพวกเราที่เพาะช่างขณะกำลังประชุมหลังทำกิจกรรมกันมี ชาติ กอบจิตติ กับอีกหลายคนอยู่ด้วย แต่ว่ากำลังหลักไม่มีก็ไปขอกันมา

ที่ประชุมตกลงส่งผมเข้าไปเป็นผู้ประสานงานให้ที่ตึก กตป. ปัจจุบันคือหอประชุม 14 ตุลา เป็นตึกร้างหลังถูกไฟเผา (จากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516) ไม่มีใครใช้ ผมไปรับกุญแจจาก อมเรศ ชัยสะอาด กรรมการฝ่ายการเงิน พร้อมกับเงินแปดหมื่นบาทสมัยนั้น เป็นงบดำเนินการทุกส่วนของงาน แล้วใช้กำลังกรรมกรแท้ๆ เลย กำลังจากการไฟฟ้านครหลวงมาติดสปอตไลท์ให้ทั้งหมด กรรมกรนำกำลังมาผสมปูนช่วยอาจารย์ลาวัลย์ปั้นสดอนุสาวรีย์รูปศพของวีรชนเป็นต้นแบบครั้งแรก ทำเสร็จแล้วต้องแบกกันไปติดตั้งกรรมกรช่วยกับนักศึกษา เพราะรถศูนย์นิสิตฯ มีอยู่คันเดียวไม่พอใช้ อาจารย์โชคชัยกับน้องๆ ส่วนใหญ่เป็นรุ่นน้องเพาะช่างเป็นร้อยมาช่วยกันแบก ช่วยกันตอก งานนี้ประกอบขึ้นด้วยพลังประชาชนไม่ใช่แค่ ‘แนวร่วมศิลปิน’ แต่เป็น ‘แนวร่วมประชาชน’

เป็นปรากฏการณ์การหลอมรวมในขณะนั้น ความบริสุทธิ์ของพลังเกิดขึ้นรุ่นพี่รุ่นน้องมารวมกันเกาะแน่นตั้งแต่ก่อน 14 ตุลา ก่อนที่จะออกไปสู้ และในช่วง 14 ตุลา มารวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน การทำงานให้เกิดมรรคผลมันมีพลัง พอเหตุการณ์สิ้นสุดลงภาพเหล่านี้ถูกปิดยึด โดยเฉพาะข่าวต่างประเทศสนใจมาก ถือเป็นปรากฏการณ์ของเมืองไทยที่กระโดดไปอีกสเต็ปหนึ่ง เพราะเขาใช้หลักวิชาเข้าไปจับไม่เคยเจอ เพราะฉะนั้นเมื่อปี 2546 (ภาพชุดนี้เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว) หลังจากที่เราเสนอกันตอนนั้น อาจารย์โคทม อารียา เป็นประธานมูลนิธิฯ ขอทำในช่วงที่เจ้าของผลงานยังอยู่ให้ตัวจริงมาวาดไว้มันจะได้อยู่ต่อไป เราเลือกเอาแคนวาสที่สามารถมีอายุอยู่เกิน 100 ปี ขึ้นไปมาแทนของเก่า เพื่อให้เป็นสมบัติของ ‘มูลนิธิ 14 ตุลา’ เท่านั้น จะเป็นของที่อื่นก็ไม่สมควร เพราะทุกคนก็เต็มที่กับการทำงาน คัดตัวเอง เขียนผลงานของตัวเอง ถ้าคนไหนไม่พร้อมอย่าง ธรรมศักดิ์ บุญเชิด ก็ให้คนอื่นเขียน

 


“นิทรรศการ ๕๐ ปี ๑๔ ตุลา ศิลปะจักสำแดง” (Protest Art)

 

ที่ทำงานของ แนวร่วมศิลปินฯ ใช้ตึก กตป. (คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามผลการปฏิบัติราชการ) เป็นหน่วยงานที่รัฐบาลตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันให้ พันเอกณรงค์ กิตติขจร ลูกชายของ จอมพลถนอม กิตติขจร มาเป็นผู้ที่มีบทบาทในหน่วยงานนี้ทั้งๆ ที่ประชาชนไม่ชอบในพฤติกรรมความประพฤติ เมื่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ประชาชนส่วนหนึ่งที่โกรธแค้นจึงได้บุกเข้าไปเผาอาคารที่ทำการ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสี่แยกคอกวัวจนไหม้ทั้งหลัง เหลือแต่อาคารลักษณะคล้ายตึกแถวสามชั้นด้านหลังมีซอยกั้นอยู่ไม่ถูกไฟเผา ในปี 2518 อาคารสามชั้น หรือตึก กตป. หลังที่เหลือปิดร้าง แนวร่วมศิลปินฯ ถึงได้เข้าไปใช้เป็นสถานที่วาดภาพคัทเอาท์การเมืองเดือนตุลาคมฯ ต่อมาศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้ทำการบูรณะตึกสามชั้นหลังนี้เพื่อใช้เป็นสำนักงานของศูนย์ฯ โดยใช้ชั้นสาม ส่วนชั้นสองเป็นที่ทำการของศูนย์นักศึกษาครูแห่งประเทศไทยและที่ทำการแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย ฉะนั้นสมาชิกแนวร่วมศิลปินฯ ที่มาร่วมงานตั้งแต่งาน “ภาพคัทเอาท์การเมืองเดือนตุลาคม ๒๕๑๘”  เป็นต้นมา ก็จะมีคำต่อท้ายว่า ‘สมาชิกแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย (ตึก กตป.)’ แต่เดิมแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยไม่มีที่ทำการถาวร สะดวกที่ไหนนัดประชุมที่นั่น

พิธีกร : ก่อนออกมาเป็นชิ้นงานมีการคุยกันก่อนไหมคะว่า concept ที่จะสื่อสารออกไปต้องเป็นยังไง style แบบไหน

อาจารย์สินธุ์สวัสดิ์ : ถ้าเป็นงานกลุ่มมีครับ คร่าวๆ ว่าเราต้องการสื่อถึงอะไร ถ้าเป็นงานเดี่ยวก็แยกกันรับผิดชอบ งานของอาจารย์โชคชัยชิ้นต้นแบบเป็นงานที่สุดยอด ตอนที่ทำเราเพนท์บนไม้อัดถูกๆ เพราะคิดว่าได้แสดงเฉพาะงาน ปีนั้นเป็นปีพิเศษ ฉลองครบรอบ 2 ปี 14 ตุลา รัฐบาลคึกฤทธิ์ร่วมฉลองด้วย ประกาศให้วันที่ 14 ตุลาคมเป็นวันเยาวชนแห่งชาติ เป็นโอกาสใหญ่ฉลองสามวันสามคืน ทั้งหมดที่เห็นเป็นเพียง 1 ใน 4 ของขนาดจริง(ภาพชุดเก่าใช้ไม้อัด 4 แผ่น)

 


ภาพผลงานของ อาจารย์ โชคชัย ตักโพธิ์
“นิทรรศการ ๕๐ ปี ๑๔ ตุลา ศิลปะจักสำแดง” (Protest Art)

 

พิธีกร : งานของอาจารย์โชคชัยเป็นงานเดี่ยวชิ้นใหญ่ concept คิดยังไงคะ

อาจารย์โชคชัย : concept งานคือหัวใจของ 14 ตุลา ในความหมายของผมคือความโหด ได้คุยกันว่าประเทศไทยเหมือนหนังจีนอยู่เรื่องชื่อ “โหด เลว ดี” คำว่าโหด คือเหตุการณ์ 14 ตุลา สู้กันซึ่งหน้าประกาศชัดเลยว่าใครเป็นใครไม่ต้องอำพราง เรียกว่าตายเป็นตายสู้เป็นสู้ ช่วงนั้นมีคำขวัญคือ “ปัญญาชนต้องรวมกับนักศึกษา นักศึกษาต้องรวมกับประชาชน” สามส่วนนี้รวมกันถึงจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะฉะนั้นใช้กำปั้นเป็นสัญลักษณ์ ภาษากวีเรียก “พลังสามประสาน” คำว่า ‘พลัง’ ในที่นี่คือ ‘หน้าที่’ ของแต่ละส่วนเข้ามาผสานกัน ธงชาติที่เป็นไม้นั่นหลายท่อนนะครับไม่ใช่ท่อนเดียว เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ ไม่รู้จะเอาอะไรไปสู้ก็ใช้ธงชาติสู้ เป็นอาวุธที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเลย ใครตายก็ใช้ธงชาติคลุม ผมมาได้คิด ณ วันนี้เอง สัญลักษณ์ของธงชาติตรงกับคำพูดที่ว่า

“การเมืองคือความโหดบริสุทธิ์ ที่แสดงออกเมื่อเห็นความไม่เป็นธรรม” ไม่ต้องรู้อะไรแต่เห็นอยู่ตำตา มันตำใจ ก็เลยโกรธขึ้นมา มีรถถัง มีทหาร พานรัฐธรรมนูญคือสัญลักษณ์กำลังจะล้มมันเอียงลงมา พอเอียงก็เกิดคลื่น คือพลังประชาชนเดือนตุลา สมัยนั้นเรียก ‘มวลมหาประชาชน’ ใช้ธงชาติเป็นตัวนำหลักวิชาการง่ายๆ คือเป็นมุมเกมประจัญบาน 80 องศา ในประวัติศาสตร์ศิลป์ก็มีเรื่องความหมายของไม้ว่ากี่องศาเวลาสู้กัน เรื่องนี้เราก็ต้องคุยกับน้องๆ ด้วยครับ

สินธุ์สวัสดิ์เขาเชี่ยวชาญในการประสานงานทุกหน่วย ในเรื่ององค์กร การจัดการ ส่วนผมถนัดเรื่องข้อมูล น้องๆ ส่วนใหญ่เป็นรุ่นน้องที่เพาะช่าง ส่วนรุ่นพี่ที่ศิลปากรก็เป็นรุ่นพี่ที่ไปจากเพาะช่าง สิ่งที่คุยกันใช้หลักง่ายๆ คือ วิจารณ์ ใครมีไอเดียอะไรพูดไปเลย ผมเป็นครูก็ตรงกับหลักที่ว่า Child Center คือไม่ต้องรู้ทฤษฎีอะไรว่าไปเลยแล้วค่อยมาสังเคราะห์กัน ศิลปินนี่พูดหลักการก่อนไม่ฟังหรอกต้องความในใจก่อน แล้วเอามานั่งคุยกันว่าแบบควรจะไปยังไง แบบนี้เหมาะกับหลายคนนะแต่ฟีลลิ่งต้องของคนนั้นก็ประสานกัน แต่ของผมคนเดียวน้องๆ เขาให้เกียรติว่าเป็นรุ่นพี่ก็ยกให้ งานทุกชิ้นในนิทรรศการนี้เราคุยกันอย่างละเอียดว่า เหตุการณ์ผ่านไปเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว คิดว่าคนรุ่นหลังจะวิเคราะห์เรายังไง

ในสมัยนั้นเราคุยกันว่า ทางการเมืองจะมีอยู่สามขั้ว สามฝ่าย หนึ่ง-ฝ่ายรัฐบาล สอง-ฝ่ายค้าน สาม-ฝ่ายขบวนการประชาชน กลุ่มที่ฝักใฝ่ไม่ว่าฝักใฝ่อะไรเรียก ‘กลุ่มโลกที่สาม’ กับ กลุ่ม Nostalgia นักเรียนเก่าอเมริกา กันเหนียวที่สุดก็ต้องเล่นแนวคิดของสหประชาชาติที่ว่า ‘ศิลปะเพื่อชีวิต’ ในแนวทางที่เป็นของ UNESCO คือยืนยันวันข้างหน้าว่าเราทำเพื่อการขับเคลื่อนเป็นศิลปะเพื่อชีวิต ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ตัวศิลปะต้องมีร่องรอยที่เป็นอิสระ ทุกคนก็เห็นด้วย เราต้องเป็นเสรีชนที่มาจากข้างในด้วยนะ

 


ภาพ “ความหวัง” ผลงานของ อาจารย์สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย
“นิทรรศการ ๕๐ ปี ๑๔ ตุลา ศิลปะจักสำแดง” (Protest Art)

 

พิธีกร : งานของอาจารย์สินธุ์สวัสดิ์ดูจะแตกต่างจากของคนอื่น ต้องการนำเสนออะไรคะ

อาจารย์สินธุ์สวัสดิ์ : กระแสความคิดของนักกิจกรรมการเมืองในช่วงเวลานั้นมีแนวโน้มไปทางอุดมการณ์สังคมนิยมของจีนแผ่นดินใหญ่ที่เน้นภาพการต่อสู้ที่ปลุกใจให้ฮึกเหิม ชูกำปั้นให้สู้ทุกอุปสรรคไม่ท้อถอย ผมวาด 2 ภาพ แต่ชิ้นงานภาพที่ชื่อ “ความหวัง” ของผม เป็นลักษณะกึ่งนามธรรมที่เน้นให้ผู้ชมใช้ความคิดผสมด้วยจินตนาการ ทำให้มีความแตกต่างจากภาพคัทเอาท์ชิ้นอื่นๆ ผู้ที่หวังใช้ผลงานภาพคัทเอาท์ปลุกเร้าจึงไม่พอใจกับงานชิ้นนี้ ซึ่งตรงกันข้ามกับประชาชนทั่วไปที่ชอบชวนกันมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึก มีผู้คนพูดถึงว่าดูภาพนี้แล้วเกิดความสบายใจมีความหวัง มันไม่เป็นแบบจีนแดงแต่มีอะไรที่เราตั้งใจให้เป็น งานของอาจารย์โชคชัย 2 ชิ้น รวมทั้งหมดที่จัดประมาณ 28 ชิ้น จัดแสดงภาพบนถนนราชดำเนินหันออกถนนสองด้าน ภาพไม่ได้เหมือนกันหมด หนึ่งคนเขียนสองภาพจับประกบกันหันออกถนนทั้งสองด้าน เพราะเป็นผลงานจัดแสดงกลางแจ้ง ผู้ชมมองจากที่ไกล เช่น นั่งรถยนต์ อยู่บนรถประจำทาง เดินอยู่ริมทางเท้าถนน จึงใช้สีสดดูฉูดฉาดเป็นหลัก

 


ภาพ “ความรุนแรง”
ที่มา : สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย

 

อีกภาพชื่อ “ความรุนแรง” สะท้อนให้เห็นการใช้ความรุนแรงของอำนาจเผด็จการเข้าปราบปรามประชาชนที่ลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย ขณะเดียวกันฝ่ายประชาชนไม่ย่อท้อลุกขึ้นต่อสู้ด้วยความเด็ดเดี่ยว ภาพรวมมีโทนสีหม่นทึบเศร้า พอติดตั้งจัดแสดงก็โดนฝ่ายซ้ายจัดเล่นงานขว้างระเบิดพร้อมกับภาพคัทเอาท์การเมืองของ ตระกูล ลีลาพีระพันธ์ ที่อยู่ด้านตรงข้ามกัน เป็นภาพทหารกำลังขว้างระเบิดอยู่บนถนนผ่านฟ้าหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ หนังสือพิมพ์รายวันตีพิมพ์ภาพที่โดนระเบิดพร้อมเสนอข่าวในวันรุ่งขึ้น แนวร่วมศิลปินก็ออกแถลงข่าว

 


“นิทรรศการ ๕๐ ปี ๑๔ ตุลา ศิลปะจักสำแดง” (Protest Art)

 

นับเป็นปรากฏการณ์ของการทำงานอย่างที่บอกว่าเป็น ‘ศิลปะเพื่อการเปลี่ยนแปลง’ เปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของคน เพราะนิทรรศการทั้งหลายคุณต้องเดินเข้าไปในหอศิลป์ถึงจะได้ดู แต่งานนี้ภาพออกมาหาคนดู คนทุกชนชั้นนั่งรถเมล์ผ่านมาก็เห็น คนรอรถเมล์ก็เห็น ถนนราชดำเนินที่มีคนล้อว่า ‘ถนนราษฎรดำเนิน’ ตรงกลางมันคืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภาพเรียงส่งต่อมาถึงศูนย์กลางคืออนุสาวรีย์ฯ ตอบโจทย์ที่สุด (มีความหมายจากการจัดวางภาพ) เป็นงานนิทรรศการที่มีพลังมาก ที่ผมบอกเป็นปรากฏการณ์เพราะว่าหลังจากนั้นทำไม่ได้อีกแล้ว เพราะมีกฎหมายของเกาะรัตนโกสินทร์เกิดขึ้น ไม่มีใครไปใช้ได้อีกแล้วครับ กลายเป็นต้นแบบให้คนอื่นเอาไปทำแท่นเทิดทูนในหลวง เมื่อก่อนหน้างานนี้ไม่เคยมีใครทำ

ผู้ที่วาด “ภาพคัทเอาท์การเมืองเดือนตุลาคม ๒๕๑๘” นอกจากนักศึกษาเพาะช่างแล้วก็มีนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร คือ ตระกูล ลีลาพีระพันธ์, สิงห์น้อย ฟูสวัสดิ์สถาพร, จากจุฬาฯ มี ครองศักดิ์ จุฬามรกต กับเพื่อนๆ เขียนอยู่ข้างๆ ผม อีกคนก็มี ธรรมศักดิ์ บุญเชิดขณะนั้นเป็นอาจารย์สอนศิลปะอยู่ที่เทคนิคโคราชบอกเลยว่า เขาสั่งนักศึกษาในห้องให้ทำงานแล้วคัดมา 2 ชิ้น แล้วเอามาต่อกัน เห็นไหมครับว่างานมันมีที่มาที่ไป มีการต่อยอดไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งเป็นพลังของประชาชนที่บริสุทธิ์มากๆ ผมพยายามไม่เขียนภาพรวมแล้วนะ เพราะภาพมันมีผลที่ทำให้คนคิดไปต่างๆ นาๆ แม้พวกเดียวกันไม่เข้าใจก็กล่าวหากัน แต่พอในระยะยาวภาพเหล่านี้ก็ถูกบันทึก ถูกตีความ จบงานมี “พรรคพลังใหม่” นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค กับอีกหลายหมอมาซื้อภาพคัทเอาท์การเมืองเดือนตุลาคมฯ ไปประดับสำนักงานของพรรค 4-5 ภาพ รวมของผมกับของอาจารย์โชคชัย แต่ที่เหลือถูกบุกเข้าไปทำลายทั้งหมดเมื่อวันที่ 6 ตุลา 2519

 


“นิทรรศการ ๕๐ ปี ๑๔ ตุลา ศิลปะจักสำแดง” (Protest Art)

 

พิธีกร : ภาพที่วาดใหม่ถูกแกะมาจากต้นฉบับแบบเป๊ะๆ เลยใช่ไหมคะอาจารย์

อาจารย์โชคชัย : เรามีภาพถ่ายต้นฉบับที่เป็นขาวดำ เห็นแล้วจะจำได้ว่าใช้สีอะไรก็ทำต่อไปได้ ภาพภาพเดียวอธิบายได้เป็นพันคำ แต่พอภาพชุดนี้มารวมกันมองปุ๊บเข้าใจปั๊บเรียก ‘บรรลุธรรม’ ได้เลย แม้คนไม่รู้เรื่องการเมือง ไม่รู้ว่า 14 ตุลาคืออะไร? เห็นแล้วจบเลยนะภาพก็สามารถอธิบายได้เลย ผมคิดว่าตรงนี้แหละถึงโดนระเบิดวันแรกเลย ผมคิดว่า แนวร่วมฯ มีคุณูปการตรงที่เป็นครั้งแรกของเอเชียที่งานจิตรกรรมถูกนำไปสู่การเมือง แล้วเกิดส่วนต่อขยายคือลูกศิษย์เอาไปทำเรื่องของขบวนการประท้วง ในนั้นมี Performance Art  มีทุกอย่างที่สมัยนั้นยังไม่มีเวลาเรียน

อาจารย์สินธุ์สวัสดิ์ : ภัณฑารักษ์ของต่างประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ จะจัดงาน ‘Art In Society In Asia 1960-1990’ เขาเดินทางตระเวนทั่วเอเชียเพื่อจะเก็บข้อมูล เข้ามาเมืองไทยงานชุดนี้ในส่วนตัวศิลปินเขารู้แล้วว่าเป็นใครปัจเจกไม่ยาก แต่แบบเป็นงานกลุ่มหายากที่พูดถึงเรื่องสังคมการเมืองโดยตรงโดยเฉพาะในเมืองไทย พอค้นแล้วโคลสไปที่แนวร่วมศิลปินฯ เขาก็ต้องการงานชุดนี้ไปแสดง ต้นฉบับสูญสลายไปเลยคัดเลือกชุดนี้ไปแสดงใน 3 ประเทศ พร้อมกับโปสเตอร์การเมืองอีกชุดหนึ่งเมื่อประมาณปี 2561-2562 จากการที่ภัณฑารักษ์ 3 ประเทศ 10 คน มาประเมินคุณค่าที่มูลนิธิ 14 ตุลา พวกเราหลายคนได้ให้ข้อมูล ทำให้เห็นพลังของงานศิลปะที่ถูกใช้ ถูกที่ ถูกทาง คัทเอาท์การเมืองกับถนนราชดำเนินเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่มันสอดคล้อง ภาพเมื่อสี่สิบกว่าปีที่แล้วกระแทกคุณดู ชาวบ้านขึ้นรถเมล์ก็เห็นเป็นผลงานของหลายคนรวมทั้งอาจารย์โชคชัย หรืองานของ สิงห์น้อย ฟูสวัสดิ์สถาพร ที่เป็นคนทำคัทเอาท์ของขบวนการนักศึกษามาตลอด จนถึงชิ้นสุดท้าย 6 ตุลา 2519 คุณค่าของงานอยู่ที่กาลเวลากับคนทำงานด้วยหัวใจบริสุทธิ์ ไม่ได้คิดกะเกณฑ์ว่าจะมีผลประโยชน์ตอบแทน เข้ามาสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเอง

 


“นิทรรศการ ๕๐ ปี ๑๔ ตุลา ศิลปะจักสำแดง” (Protest Art)

 

พิธีกร : 50 ปี ผ่านไป สิ่งที่ศิลปินขับเคลื่อนได้ให้คุณค่าอะไรกับประเทศไทยในขณะนี้บ้างคะอาจารย์

อาจารย์สินธุ์สวัสดิ์ : คนรุ่นหลังคงได้ศึกษาเรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจจริงๆ คนที่ทำงานศิลปะก็ได้รู้ว่าตัวเองมีราก มีอดีต มีความเป็นมา ถ้าไม่มีความเป็นมาก็จะไม่มีความเป็นไป หรือมีเส้นทางในประวัติศาสตร์ศิลป์ ที่พูดถึงสังคมการเมืองโดยตรงอย่างชัดเจน อย่างเช่นภาพที่เขียนว่า “เลือดและน้ำตาจารึกไว้ในใจข้า” เนื่องจากต้นฉบับที่เราค้นจากหอจดหมายเหตุเป็นภาพขาวดำอยู่ในซอง จากช่างภาพหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ที่อื่นไม่มีแล้ว ผู้ที่ถ่ายทอดคือ ปิยะพงษ์ เขียนแทนคนที่เป็นเจ้าของภาพตัวจริง มนัส เศียรสิงห์ ที่เสียชีวิตเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 หน้าหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราตั้งให้เป็นชื่อรางวัล “มนัสเศียรสิงห์แดง”[11] สำหรับศิลปินภาคประชาชน ผลงานเขาได้รับการถ่ายทอด คำที่เขียนก็สะเทือนใจจารึกไปชั่วลูกชั่วหลาน ไม่ต้องยาวเป็นหน้ากระดาษแต่มันกระแทกถึง 14 ตุลา เขาเสียชีวิตก็เพราะคำนี้ เพื่อพิทักษ์ไม่ให้เผด็จการบุกเข้าไป ขอยอมตาย จากปากคำเพื่อนเล่าว่าถูกยิงที่ชายโครงทะลุหลังแต่ไม่ตาย พอไม่ตายก็ถูกโยนลงเป้เอาไปเทที่สนามฟุตบอล ภาพที่เราเห็นจากข่าวรอยเตอร์คือรองเท้าโอ๊บของตำรวจกระทืบลงที่คอซ้ำๆ ๆ ๆ จนเขาขาดใจตาย เราเลยปั้นเป็นอนุสาวรีย์อยู่ที่หน้าหอประชุมใหญ่ฯ มีภาพที่ตำรวจกำลังกระทืบๆ ๆ ตั้งคู่กับอาจารย์ป๋วยไว้เลย ภาพมีเรื่องราว มีเจตนารมณ์ มีวัตถุประสงค์ด้วยอุดมการณ์ที่มุ่งมั่น ฉะนั้นมันไม่มีวันตาย

ในปี พ.ศ. 2544 ฝ่ายศิลปกรรม สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้ริเริ่มมอบรางวัล เพื่อมุ่งหวังส่งเสริมคนทำงานศิลปะ ที่มีความคิดและอุดมการณ์ เนื่องในวาระครบรอบ 25 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ใช้ชื่อว่า รางวัลมนัส เศียรสิงห์ “แดง” (Red Art Award) โดยมีวาระการมอบรางวัล 5 ปีต่อครั้ง มี 2 ประเภทคือ รางวัลมนัส เศียรสิงห์ “แดง” ศิลปินเกียรติยศ โดยมุ่งหวังเน้นที่การทำงานอย่างต่อเนื่องของศิลปิน

อาจารย์โชคชัย : ภาพเหล่านี้ยิ่งใหญ่มากถ้ามองวันนี้ในโลกของการสื่อสาร หัวใจของการสื่อสารในโลกปัจจุบันคือเรื่องสิ่งแวดล้อม แล้วก็การจัดสรรความสำคัญของมนุษย์ คือพูดถึงศิลปะกับสังคม ยุคนั้นก็กำลังพูดถึงการจัดระบบของสังคมขึ้นมา (ผายมือไปที่ภาพวาดคัทเอาท์การเมืองที่เรียงราย) เป็นการต่อสู้เพื่อให้ได้มาถึงคุณค่าที่แฝงอยู่ อยู่ที่ว่านักประวัติศาสตร์จะยกคำนี้ขึ้นมาหรือไม่ กลายเป็นว่านักประวัติศาสตร์ไทยไม่ทำ ต่างชาติเอาไปทำ ข้อมูลนี้เลยแพร่หลายไปต่างประเทศ แต่บ้านเรากำลังถูกกด ที่ไม่ใช่เพียงโปสเตอร์ที่เป็นภาพเฉยๆ เท่านั้นนะครับ มิติปัจจุบันในการสื่อสาร ให้คนดูมองเห็นแล้วเกิดความตระหนัก แล้วมันจะส่งผลอะไรในเรื่องของการเตรียมความพร้อมในประเด็นที่ว่ามนุษย์เราควรจะมีความสัมพันธ์แบบไหน เพราะว่าความสัมพันธ์จะนำมาซึ่งความเป็นมิตรไมตรี ถ้าความสัมพันธ์ไม่เกิดขึ้นอย่างอื่นจะไม่ตามมา

เพราะฉะนั้นภาพเหล่านี้ที่เอามาดูให้ไม่ใช่เรื่องของการตอกย้ำ เป็นการพูดถึงระหว่างเวลานั้นเป็นแบบนี้ แล้วก็ใครมองเห็นเวลานั้นกับเวลานี้เป็นยังไง โดยเฉพาะโลกของเราที่ทราบกันอยู่ว่ามันแปรปรวน ร่องของความแปรปรวนในภาพเหล่านี้ผมคิดว่ายังนานอยู่กว่าจะมีเหตุอื่นกลับมา เพราะฉะนั้นในกรณีสามกำปั้น (ภาพที่อาจารย์วาดมีสามกำปั้นเป็นสัญลักษณ์) มีปัญญาชน-นักศึกษาแล้วก็ประชาชนทั่วไป คำว่า ‘นักศึกษา’ ในที่นี้ไม่ใช่ในรั้วมหาวิทยาลัยนะ คนที่เรียนรู้ในอินเทอร์เน็ตก็เป็นนักศึกษาใช่ไหมครับ คิดว่ามันเกิดอะไรขึ้นครับ แล้วคนที่ไม่เคยเรียนรู้ร่วมกัน พอเกิดอะไรขึ้นมาก็กลายเป็นกำปั้นแรกคือ ‘ปัญญาชน’ ความหมายของ ‘ประชาชน’ ก็จะเปลี่ยน นี่คือสิ่งที่เราคิดว่าจะได้จากตรงนั้นครับ

 


“นิทรรศการ ๕๐ ปี ๑๔ ตุลา ศิลปะจักสำแดง” (Protest Art)

 

พิธีกร : ภาพเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่จัดแสดงในวันนั้น มีแนวโน้มที่จะรวบรวมเพิ่มเติมได้อีกหรือเปล่าคะ หรือควรเป็นการจัดแสดงแบบถาวรคะ

อาจารย์สินธุ์สวัสดิ์ : ยังบอกไม่ได้ครับ ก็มีคนเสนอว่าทำให้ครบทุกชิ้น ผ่านมา 20 ปี ศิลปินบางคนก็ล่วงลับไปแล้วจะเหลือน้อยลงๆ คงต้องปรึกษากับมูลนิธิต่อไปถ้ามีโครงการจะทำก็ต้องสรรหาคนที่มีความคิดหรือว่า คนที่มีบางสิ่งบางอย่างใกล้เคียงกันมาช่วย ในต่างประเทศมีการจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์แต่ในความพร้อมของเรามีขนาดไหน การทำให้อยู่ถาวรมีการพัฒนาให้มีคุณค่ายิ่งขึ้นเป็นเรื่องยาก เหมือนอย่างที่เขาไปได้ ‘ประตูแดง’[12] ที่นครปฐมมา พื้นที่จะจัดแสดงถาวรอย่างเป็นทางการในระยะยาวยังหาไม่ได้ ก็มีคนเสนอหลายพื้นที่มา ตรงนี้ทำให้เกิดการผันแปรได้ตลอด

คนมีของสะสมก็ยังไม่กล้าให้ส่วนกลาง ส่วนกลางคือใครล่ะที่จะไปรับประกันว่าจะได้อยู่หรือได้แสดง อย่างน้อยคุณต้องรับประกันได้ว่ามันไม่สูญหายหรือถูกใครขโมย 40-50 ปี ได้ไหม มันไม่มีในบ้านเมืองเรา อย่างสิงคโปร์ติดต่อมาเราก็พร้อมเพราะเห็นในศักยภาพของเขา เห็นเขามาค้นเฉพาะข้อมูลคัทเอาท์ยังตกใจ ส่งคนเข้ามาแปลเอกสารทั้งหมด ค้นที่หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ หลักฐานของ จิตร ภูมิศักดิ์ ของใครต่อใครที่เกี่ยวข้องเขาหาข้อมูลมาหมดแล้วก่อนมาที่เรา คนไหนใช่ไม่ใช่เกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหน ให้ล่ามมานั่งคุยกับเราเขาเป็นตัวกลาง มีภัณฑารักษ์เหมือนนักศึกษา เขาตกใจว่างานของเรามันมาอยู่ซอกนี้ได้ยังไง เพราะความพร้อมของเราเหตุปัจจัยอะไรต่างๆ

อาจารย์โชคชัย : ภาพชุดนี้ถ้ามองในแง่การตลาด ในต่างประเทศมีพิพิธภัณฑ์ในเชิงศิลปศาสตร์การเมืองโดยเฉพาะเลย อยากรู้เรื่องของอะไรก็ไปดู ญี่ปุ่นก็รวบรวมตรงนี้ไว้นะครับ ถ้าบ้านเรามีการชี้ประเด็นไปที่มูลนิธิ 14 ตุลา ว่าเป็นมิวเซียมทางสังคมศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมา เพราะทุกชิ้นงานเหล่านี้เป็นประวัติศาสตร์ครับ โปสเตอร์ช่วงปฏิวัติมีหมายเหตุขึ้นมาไม่ใช่กระดาษธรรมดา เขาขายกันชิ้นหนึ่งตก 20 ล้านนะครับ เพราะว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่มีเรื่องเล่า แล้วพวกนี้จะราคามหาศาลขนาดไหนครับ ราชดำเนินถ้านำเสนอตรงนี้ดีๆ นะครับ มีคนมาดูมีการพูดถึงประชาธิปไตยก็จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมได้ครับ

 


“นิทรรศการ ๕๐ ปี ๑๔ ตุลา ศิลปะจักสำแดง” (Protest Art)

 

พิธีกร : การรวมกลุ่มของแนวร่วมศิลปินระหว่าง 2516-2519 ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงยังไงในแวดวงศิลปะบ้างคะ เพราะส่วนหนึ่งจะมองว่า ศิลปะเพื่อศิลปะ แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่ทางคุณได้ทำมันเป็น ศิลปะเพื่อชีวิตเพื่อสังคม และเป็นศิลปะเพื่อการเปลี่ยนแปลง ได้สร้างรูปธรรมอะไรให้กับองค์กรศิลปะในประเทศไทยบ้างคะ

อาจารย์สินธุ์สวัสดิ์ :  มีสองอย่างคือภาพรวมองค์กรศิลปะ ‘แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย’ สลายไปพร้อมกับคำสั่งของ ‘คณะปฏิรูปเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน’ ขึ้นมายึดอำนาจ พร้อมกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาและอื่นๆ ไป ต่อมาก็เกิดกลุ่ม ‘ชมรมศิลปกรรมแห่งประเทศไทย’ พัฒนาไปเป็น ‘สมาคมศิลปกรรมแห่งประเทศไทย’ ในปี 2522 จัดแสดงงานเพื่อชีวิตเพื่อสังคม เปิดงานพร้อมๆ กันทั่วกรุงเทพหลายแห่ง มีผู้ส่งผลงานเข้ามาเป็นหมื่นๆ ชิ้น ตรงข้ามกับศิลปกรรมแห่งชาติ เป็นคู่ตรงข้ามกัน ความตื่นตัวของคนในช่วงนั้นสูงมาก เป็นอานิสงส์ต่อเนื่องมาจากกลุ่ม ‘แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย’ มีกรรมการจากแนวร่วมฯ มาสมทบกับทาง ม.ประสานมิตร ที่ร่วมกับครูสอนศิลปะทั่วประเทศ ใครส่งงานมาเราจัดแสดงหมด ช่วงนั้นเป็นช่วงเติบโต

ในส่วนเรื่องปัจเจกอาจารย์โชคชัยสนใจเรื่องธรรมะ เพราะแนวทางของตัวเองสามารถยืนหนึ่งในอีสานได้ สมชัย หัตถกิจโกศล ก็ทำงานให้ อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ คือ อนุสาวรีย์อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังยืนยงมาถึงทุกวันนี้ สุรพล ปัญญาวชิระ ทำอนุสาวรีย์ฯ จำลองให้ มูลนิธิ 14 ตุลา อันเล็กๆ ตอนไปยึดพื้นที่สร้างให้ได้ในช่วง ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี มีแนวร่วมฯ คือ อาจารย์สุรพล ปัญญาวชิระ ฯลฯ ในตอนครบรอบ 20 ปี 6 ตุลาคม 2519 อาจารย์สุรพล กับพวกเรา ได้ตั้งคณะกรรมการร่วมกับ อาจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร เพื่อจะสร้าง ‘อนุสาวรีย์ 6 ตุลาคม 2519’ แต่เมื่อประชุมร่วมกันแล้วทางมหาวิทยาลัยอนุมัติให้จัดทำ “โครงการสวนประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย”[13] ใช้ความบากบั่นบากหน้าเข้าไปพบผู้คนมากมาย มันเป็นช่วงวิกฤติทางเศรษฐกิจ กว่าจะหาเงินมาทำได้ก็ด้วยความร่วมมือของหลายฝ่าย อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ถึงแก่กรรมมีคนเอาเงินมาให้ที่หน้างานล้านกว่าบาท จากความร่วมมือของทุกฝ่าย “ประติมานุสรณ์ 6 ตุลาคม 2519” จึงสำเร็จอย่างที่เราเห็นอยู่ด้านหน้าของ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นี่ก็คือผลงานของสมาชิกแนวร่วมฯ เดิมทั้งหมด หลายคนปัจจุบันนี้เป็นศิลปินแห่งชาติ อาจารย์โชคชัยเองก็มีงานบรรยายทั่วประเทศให้ความรู้แทบทุกวัน ทุกคนเติบโตพัฒนางานกันไปตามทางของตัวเอง นี่คือตัวอย่างครับ

อาจารย์โชคชัย : ในทัศนะผมถ้าพูดไปแล้วหมั่นไส้ต้องขอโทษด้วยนะครับ ข้อแรกคือ สิ่งที่เราทำได้ช่วยโฆษณาประเทศไทยให้รู้ว่าเรามีเรื่องของสิทธิมนุษยชน พูดถึงเรื่องของประชาธิปไตยเท่ากับว่าเราเป็นศิลปะสายการทูตระหว่างประเทศนะครับ สองในช่วงการเปลี่ยนแปลงเราได้รวมตัวนักศึกษาทุกสถาบันขึ้นมา ทำให้เกิดทางเลือกขึ้นมาจากเดิมที่เป็นสูตรสำเร็จ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาตามมา แล้วขยายตัวมาในแนวที่เรียกว่า ‘ศิลปะนานาพันธุ์’ แล้วรองรับกับแนวคิดศิลปะหลังสมัยใหม่ (Post Modern) ที่ไม่ได้เอาที่ไหนเป็นศูนย์กลาง แต่ใช้พื้นที่ของตัวเองเป็นศูนย์กลางขึ้นมา เพราะฉะนั้นคุณูปการในทางสากลเราทำให้เกิดตัวจริงเสียงจริง เกิดมิติที่ว่า ‘ศิลปะส่องทางให้แก่กัน’ อย่างชัดเจน

ตัวอย่างจากที่ผมได้นะครับ หลังสิ้นสุดเหตุการณ์เดือนตุลาไปแล้วน้องก็ไปบริหารงานที่สถาบันปรีดี (หมายถึงอาจารย์สินธุ์สวัสดิ์) ผมไปได้ความรู้เรื่องละครเวทีจากน้องๆ ที่สถาบันปรีดี ได้ไปแนะนำลูกศิษย์นักศึกษากลายเป็นความเคลื่อนไหวในภาคประชาชนจนหลายคนมีชื่อขึ้นมา ในส่วนศิลปะนานาพันธุ์เป็นตัวเริ่มต้นของ ‘ดนตรี กวี ศิลป์’ กับ Performance Art ก็อยู่ตรงนี้ เพียงแต่ว่าสังคมไทยยังไม่ให้ความสำคัญในเรื่องของภาคประชาชน ในต่างประเทศข้อมูลตรงนี้เป็นที่รับรู้ของสาธารณะ เพราะฉะนั้นในภาพรวมของทั่วโลกโดยศักยภาพแล้วทำให้ต่างประเทศต้องตามมาเก็บข้อมูล ช่วยให้เห็นว่าในการมีส่วนร่วมของประเทศไทยมีตรงนี้จริงๆ เพราะเครดิตของสถาบันการศึกษาเขาไม่ได้ให้ความเชื่อถือนัก เพราะเป็นแค่การเรียนการสอน แต่ตรงนี้คือของจริงที่ทำให้ศิลปะมีชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนที่เป็นจริงด้วยครับ

 


อาจารย์อำนาจ เย็นสบาย และผลงาน
ที่มา  facebook : Amnard Yensabai 

 

ศิลปะ (นานาพันธุ์) บันทึก

แม้ว่า ‘แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย’ ต้องสลายตัว แต่การทำงานตามอุดมการณ์ที่สอดรับแนวคิดสากลเรื่องศิลปะหลังสมัยใหม่ (Post Modern) ที่ไม่ได้เอาที่ไหนเป็นศูนย์กลาง แต่ใช้พื้นที่ของตัวเองเป็นศูนย์กลาง ตามที่อาจารย์โชคชัย ตักโพธิ์ ยืนยัน หนึ่งในโครงการสำคัญที่ต่อยอดระยะยาวมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี คือ “ศิลปะนานาพันธุ์” บริหารจัดการโดย อาจารย์สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ และ สวนครูองุ่น มาลิก ได้เชิญชวนนักสร้างสรรค์ศิลปะจากทั่วประเทศแสดงผลงานทั้ง on site และ on line ผ่าน time line บน facebook ของทุกคน

การจัดครั้งล่าสุดมีจำนวนงานตามวาระ 4 วัน สำคัญทางประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยคือ วันที่ 6/13/14/15 ตุลาคม 5266 โดยไม่จำกัดเทคนิคในการนำเสนอ ภายใต้ชื่อโครงการศิลปะกับสังคม ศิลปะนานาพันธุ์” ในวาระรำลึกการ ‘ครบรอบ ๕๐ ปีของเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖’ และ ‘ครอบรอบ ๔๗ ปีของเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙’ อีกด้วย หนึ่งในหลายศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะสายการเมืองอย่างต่อเนื่องมาหลายปีคือ อาจารย์อำนาจ เย็นสบาย ที่โดดเด่นมี ‘สาร’ และ ‘ลายเซ็น’ เป็นเอกลักษณ์ ทุกภาพประจักษ์ในอุดมคติที่ร่วมยืนยันการเกิดและยังคงอยู่ของตัวจริงเสียงจริง แม้เหตุปัจจัยไม่เอื้อต่อการรวมกลุ่ม ศิลปินยังคงทุ่มเทในงานหน้าที่เพื่อสังคมอุดมการณ์ต่อไป

 

“หลังจากที่ผมทำงานศิลปะเพื่อเข้าร่วมโครงการ “ศิลปะนานาพันธุ์” ติดต่อกันมาทุกปีอย่างต่อเนื่อง จนประมาณ พ.ศ 2565 ผมก็เริ่มมีแนวคิดที่จะทำโครงการสร้างงานศิลปะสะท้อนเหตุการณ์ทางการเมืองอย่างจริงจังตั้งแต่เหตุการณ์ ‘อภิวัฒน์สยาม 24 มิ.ย.2475’ จนถึงปัจจุบันภายใต้ชื่อโครงการ “ศิลปะบันทึก” และตั้งใจว่าจะสร้างงานไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง โดยหวังว่าถ้ามีอายุยืนยาวถึง 24 มิ.ย.2575 (หรือครบรอบ100 ปี อภิวัฒน์สยาม) ผมก็จะรวบรวมผลงานทั้งหมดจัดแสดงผลงานกับผองเพื่อนร่วมอุดมการณ์ในวาระสำคัญครั้งนี้…”

 

มีแรงจูงใจหลายอย่างที่ทำให้เกิดโครงการ “ศิลปะบันทึก” อย่างหนึ่ง เป็นความรู้สึกส่วนตัวที่ว่า ‘ชีวิตคนไม่ได้ยืนยาว จะจากโลกนี้ไปเมื่อไรก็ไม่รู้ ชีวิตผมก็ไม่มีข้อยกเว้น ที่สำคัญช่วงสุดท้ายของชีวิตเราควรสร้างงานในแบบที่เรารักเราสนใจ มากกว่าสร้างงานเพื่อให้คนอื่นรักเราทั้งๆ ที่เราไม่ได้รัก’ กับอีกเรื่องหนึ่งที่หลายๆ คนพบว่า เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์มีผู้ค้นคว้าวิจัย มีผู้เขียนเป็นหนังสือ ตำรา บทวิเคราะห์สารคดี สะท้อนผ่าน ศิลปะ วรรณกรรม ภาพยนตร์ ดนตรี กวี เรื่องสั้น ฯลฯ แต่ในด้านงานทัศนศิลป์มีศิลปินจำนวนค่อนข้างน้อยที่ให้ความสนใจในเรื่องนี้ ผมจึงคิดว่า “ศิลปะบันทึก” น่าจะเป็นโครงการสะท้อนเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ หรือเล่าเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านสื่อศิลปะภาพเขียนเพิ่มขึ้นอีกช่องทางหนึ่ง ผลงานโครงการ “ศิลปะบันทึก” จึงเริ่มเปิดเผยตัวเองสู่พื้นที่สาธารณะ ในการสร้างงานโครงการนี้ ผมสนใจ ที่จะนำความขัดแย้งในแนวคิดทางศิลปะ ที่เคยขัดแย้งกันมาแสดงออกร่วมกัน ให้อยู่ในชิ้นงานเดียวกัน เช่น นำเรื่องราวแนวสัจนิยม ผสมกับเทคนิค กลุ่มศิลปิน ‘Abstract Expressionism’[14] (ศิลปะแบบสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรม) ปีกเสรีนิยม ฯลฯ

 


facebook : Amnard Yensabai อำนาจ เย็นสบาย

 


ที่มา : facebook : Amnard Yensabai อำนาจ เย็นสบาย

 

เป็นภาพสะท้อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยสื่อหนังสือพิมพ์ดาวสยาม วิทยุยานเกราะ กลุ่มกระทิงเเดง กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ผ่านกระบวนการจิตรกรรมด้วยการนำโลโก้มาจัดวาง เพิ่มลด ตัดทอน … “ดาวสยาม” ถือเป็นหนังสือพิมพ์ที่เคลื่อนไหวแบบขบวนการ ร่วมกับเครือข่ายขวาจัดมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อดาวสยามตีพิมพ์ภาพ ยานเกราะ (อุทาน อุทิศ ทมยันตี สมัคร) ขยายผลปลุกระดมให้กำจัด นักศึกษาโดย กลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน เเละเจ้าหน้าที่ (ซึ่งมีผู้อยู่เบื้องหลัง) จนนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519…

 


ที่มา  facebook : Amnard Yensabai  อำนาจ เย็นสบาย

 


ที่มา : facebook : Amnard Yensabai อำนาจ เย็นสบาย

 

เป็นภาพชุด “ศิลปะบันทึก” ที่สะท้อนเหตุการณ์การใช้นิติสงครามยุบ ‘พรรคอนาคตใหม่’ กับการเกิดใหม่ของ ‘พรรคก้าวไกล’ แบบยุบพรรคได้ แต่มิอาจยุบอุดมการณ์ได้ แบบฆ่าพรรคได้ แต่มิอาจสังหารอุดมการณ์ได้ (ภาพพรรคก้าวไกลเดิม ผมปรับแก้ใหม่ที่รอยแปรงและสี น่าจะสื่อสารความรู้สึกและความหมายได้มากกว่าเดิม…)

การยุบพรรคอนาคตใหม่ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวของเยาวชน ที่มีแนวคิดในการมองปัญหาเชิงระบบและปัญหาเชิงโครงสร้างที่ถูกกลุ่มอำนาจนิยม จารีต นิยม ทุนผูกขาด มองว่าเป็นอันตรายต่อสถานะและการดำรงอยู่ ‘นิติสงคราม’ ที่ใช้ในการยุบพรรคจึงถูกนำมาใช้กับเยาวชนด้วยข้อหาต่างๆมากมาย... ภาพชุดนี้จึงเป็นภาพชุดประวัติศาสตร์ของเยาวชนไทยที่เป็นอนาคตของประเทศ ที่ถูกข้อหา ถูกจับกุมคุมขัง อันนำไปสู่การตั้งคำถามถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน…

 


ที่มา : facebook : Amnard Yensabai อำนาจ เย็นสบาย

 


ที่มา : facebook : Amnard Yensabai อำนาจ เย็นสบาย

 

“ศิลปะบันทึก” ต้องการบันทึกภาพกลุ่มแกนนำในการต่อสู้ของนักต่อสู้หลายคน รวมทั้งทนายความนักสิทธิมนุษยชน (อานนท์ นำภา) ที่ถือเป็นตัวอย่างของการเป็นนักต่อสู้ที่มีอุดมการณ์ เสียสละเพื่อประชาชน ที่แม้เขาจะเป็นผู้ที่ได้รับความเกลียดชังจากผู้มีอำนาจรัฐ แต่เขากลับเป็นที่รัก เป็นความหวังและเป็นสัญลักษณ์ของนักต่อสู้ที่ไม่ยอมจำนน …

 


ที่มา : facebook : Amnard Yensabai อำนาจ เย็นสบาย

 

“ศิลปะบันทึก” ต้องการสะท้อนภาพความขัดแย้งในอดีตที่เคยเป็นสงครามแบ่งสี แยกข้าง แบบในแดงไม่มีเหลือง ในเหลืองไม่มีแดง แต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุด เกิดการแปรเปลี่ยนที่ซับซ้อนหลายมิติ ในเขียวมีเหลืองมีเเดง... ในส้มมีเเดงมีเหลือง… ในอุดมการณ์ใหม่มีการหลอมรวมของคนที่ผิดหวังจากอุดมการณ์เดิม ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมเก่าไปสู่สังคมที่ไม่เหมือนเดิม…

 


ที่มา : facebook : Amnard Yensabai อำนาจ เย็นสบาย

 

ภาพนี้ต้องการบันทึกประวัติศาสตร์ทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ และการต่อสู้กันในระดับอุดมการณ์ ระหว่างอุดมการณ์เก่ากับอุดมการณ์ใหม่ ที่จะส่งผลทางการเมืองอย่างมีนัยในอนาคต…

 


ที่มา : facebook : Amnard Yensabai อำนาจ เย็นสบาย

 

ผมสร้างภาพชุด “เผด็จการ ปิด ปรับ เปลี่ยน” ขึ้นมาทั้งหมดมีจำนวน 22 ภาพ อยู่ในโครงการ "ศิลปะบันทึก" ที่บันทึกเหตุการณ์การต่อต้านเผด็จการ สนับสนุนประชาธิปไตยของเยาวชนคนหนุ่มสาว รวมทั้งเด็ก เยาวชนที่พิการ ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และต้องคดีจากผู้ได้อำนาจรัฐมาจากการรัฐประหาร...

 


ที่มา : facebook : Amnard Yensabai  อำนาจ เย็นสบาย

 


ที่มา : facebook : Amnard Yensabai  อำนาจ เย็นสบาย

 


ที่มา : facebook : Amnard Yensabai อำนาจ เย็นสบาย

 

ภาพนักเรียนชูสามนิ้วบริจาคให้กับคณะสังคมศาสตร์ มศว. เพื่อเป็นรางวัลพิเศษในการประกวดสุนทรพจน์เรื่อง “ประชาธิปไตย” ทีมจากจุฬาฯ ได้รับรางวัลพิเศษนี้ และทีมผู้ได้รับรางวัลแจ้งว่า จะนำผลงานไปติดตั้งที่ห้อง สโมสรนิสิตจุฬาฯ ครับ

 


ที่มา : facebook : Amnard Yensabai อำนาจ เย็นสบาย

 


ที่มา : facebook : Amnard Yensabai อำนาจ เย็นสบาย

 

การต่อสู้กับอำนาจรัฐปัจจุบันมีหลายมิติ โดยไม่ใช่จะมีเพียงคนหนุ่มสาวตามที่กล่าวมา แต่ก็ยังมีผู้สูงวัยอย่างอดีตผู้พิพากษาคุณ วิชิต ลีธรรมชโย อดีต กกต. สมชัย ศรีสุทธิยากร ซึ่ง “ศิลปะบันทึก” ต้องการบันทึกไว้เป็นหลักฐานว่า ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนหนุ่มสาว เขามิได้ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว แต่ยังมีผู้สูงวัยจำนวนไม่น้อยทั้งที่เปิดตัวและทั้งที่ไม่แสดงตัวจากหลายวงการ พร้อมที่จะยืนเรียงเคียงข้างกับคนหนุ่มสาวเหล่านั้น

 


31 ตุลาคม รำลึกถึง “นวมทอง ไพรวัลย์” พลีชีพประกาศอุดมการณ์…
ที่มา : facebook : Amnard Yensabai  อำนาจ เย็นสบาย

 

Performance Art : “การเดินทางของลาวแคน”

ส่วนหนึ่งของ Performance Art สื่อการแสดงที่อาจารย์โชคชัย ตักโพธิ์ ได้กล่าวถึงว่า มีฐานที่มาจากขบวนการขับเคลื่อนของศิลปะเพื่อชีวิตและสังคมในภาคประชาชนนั้น ได้รับการศึกษาต่อยอดในหมู่คนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าตลอดมา แม้ไม่ใช่วิชาที่ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรของสถาบันการศึกษาโดยตรง แต่ยังคงถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการรณรงค์ทางความคิดในสังคมและชุมชนเพื่อให้ผู้คนเคลื่อนไหว หนึ่งในศิลปินเปี่ยมอุดมการณ์ที่ได้รับเกียรติมาโชว์ในงาน “นิทรรศการ ๕๐ ปี ๑๔ ตุลา ศิลปะจักสำแดง” (Protest Art) คือ อาจารย์สรพจน์ เสวนคุณากร จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เรื่อง “การเดินทางของลาวแคน” หลังจบการแสดงที่หอศิลป์กรุงเทพ อาจารย์สรพจน์ได้ให้สัมภาษณ์ และบันทึกความหมายของสัญลักษณ์ในการแสดงไว้ที่ facebook : Sorapote Sewanakunakorn เป็นข้อมูลเบื้องหลังการทำงานที่มีรายละเอียดในวิธีคิดและขั้นตอนการทำงานที่ตรงกันข้ามกับรูปแบบการนำเสนอ ซึ่งเรียบง่ายแต่ลุ่มลึกและซับซ้อนในเนื้อหาที่นำเสนอ เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจในมิติ ‘ศิลปะต่างส่องทางให้แก่กัน’ 

 


Performance Art  เรื่อง “การเดินทางของลาวแคน”
ที่มา : Narasith Vongprasert

 

“การเดินทางของลาวแคน”

เมื่อรู้ว่าจะได้แสดงในงาน “50 ปี 14 ตุลา”  ที่หอศิลป์กทม. บริเวณชั้น 4 ตอนแรกก็เข้าใจน่าจะแสดงด้านหน้าผลงานของ อาจารย์โชคชัย ตักโพธิ์ ตรงส่วนที่เป็นโค้งผนังทางเดินด้านหน้า หรืออาจจะเป็นด้านหน้าทางเข้าสตูดิโอ ตอนกลับบ้านเมื่อประมาณ 3 เดือนก่อน เลยลองไปสำรวจพื้นที่ที่จะแสดง ก็คิดออกแบบการแสดงและพื้นที่การแสดงเอาไว้ และคิดว่าพื้นที่ดังกล่าวน่าจะมีเสียงก้องเวลาเปล่งเสียง กระทั่งล่าสุดเพิ่งรู้ว่าพื้นที่แสดงจริงคือตรงหน้าลิฟต์ชั้น 4 ก่อนการแสดงลองเดินสำรวจดูก็ยังคิดว่าเสียงน่าจะก้อง แต่ก็ไม่ได้เช็คเสียงเพราะมีคนเดินชมผลงานกันอยู่ขวักไขว่ เพียงแต่คิดปรับเปลี่ยนเรื่องการจัดวางอุปกรณ์สื่อการแสดงอย่างเสื้อผ้า และรูปที่จะใช้แขวนกับราวระเบียงชั้น ซึ่งต้องนำมาติดกับพื้นแทน เปลี่ยน Effect ทาง Visual ไปเป็นอีกอย่าง

การแสดงเริ่มขึ้น พยายามทำทุกอย่างด้วยความเชื่องช้า แต่พอเปล่งเสียงเท่านั้น ผลที่ได้คือเป็นเสียงกระจายและไม่ใช่เสียงก้อง กระจายขนาดถ้าโปรเจคเสียงก็เอาไม่อยู่ เลยต้องตะเบ็งเสียงแทน พอตะเบ็งเสียงก็เลยส่งผลต่อระบบหายใจ กระทั่งมีคนคุมเครื่องเสียงเขาปรารถนาดีเอาไมค์มาให้ จึงทำให้หลุดสมาธิแล้วหันไปสื่อสารกับเขาว่าไม่ต้องการไมค์ (ซึ่งถ้าใช้การแสดงแบบถอดเข้าถอดออกแบบลิเกตรงนี้ก็คงดี ช่างเถอะ มันผ่านไปแล้ว) แม้การแสดงสะดุดและถูกขัดจังหวะไป หากคิดว่าตั้งใจที่จะแสดงงานศิลปะที่ไม่เน้นสุนทรียะของความสวยงามอยู่แล้ว หากแต่เป็นสุนทรียศาสตร์ของความไม่งาม ก็ทำให้ปล่อยวางแล้วตั้งสมาธิในการทำการแสดงต่อไป

ขณะแสดงมีหลายอย่างไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ มีการวางตำแหน่งการจัดวางเสื้อผ้า ทิศทาง และระยะห่าง ตั้งใจจะติดคลี่เสื้อผ้า ดึงเทป และพับกลับด้วยท่าทีแช่มช้า แต่มันเปลี่ยนไปเมื่อพื้นที่เปลี่ยนไป และที่สำคัญเสียงดึงเทปที่ดังแขวกๆ มันกระตุ้นสัญชาตญาณข้างในให้ใช้เสียงดังขึ้น รูปที่นำมาติด เมื่อมันผูกกับด้าย มันล่องลอยและแกว่งไกว จึงชูและเน้นการเคลื่อนไหวของมันให้มากขึ้น ยิ่งตอนท้ายเมื่อทำทุกอย่างย้อนกลับ ยิ่งดึงเทปที่ติดกับเสื้อผ้าด้วยท่าทีที่รุนแรงและไร้ความรู้สึก การปรับเปลี่ยนที่เกิดขึ้นแบบฉับพลันทันใด (Spontaneity) ได้สร้างภาษาและความหมายใหม่เกินกว่าที่คาดคิดไว้

ความหมายของการแสดงเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เสื้อผ้าแทนผู้คนที่เสียสละชีวิตไป ส่วนภาพถ่ายทั้งหมดเป็นตัวแทน 13 กบฏ ช่วงเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ตอนนั้นผมเพิ่ง 2 ขวบ 14 ตุลาฯ เป็นต้นแบบการต่อสู้เรียกร้องที่เมืองกวางจู ประเทศเกาหลี ในเรื่องการเรียกร้องประชาธิปไตย เขามองเราเป็นไอดอลมาก แต่ปัจจุบันเขาเป็นประชาธิปไตยแล้ว ในขณะที่เราซึ่งเป็นต้นแบบให้เขากลับอยู่กับที่ เพราะทหารยังกุมทุกอย่างอยู่ร่วมกับสถาบัน ลาวก็ถูกกระทำ เราเป็นอะไรก็ไม่รู้ คือคนมาก่อนชาติ คนก็ถูกกระทำนั่นแหละ แต่จะตีความอย่างอื่นก็ได้ การแสดงแนวนี้เปิดกว้างทางความคิดอยู่แล้วครับ 

 


Performance Art  เรื่อง “การเดินทางของลาวแคน”
ที่มา : Narasith Vongprasert

 

ส่วนประเด็นเรื่องเพลงลาวแคนนั้นก็คือ “เพลงลาวแพน” นั่นเอง ถ้าจำไม่ผิด ‘ลาวแพน’ มีที่มาจาก ‘ลาวแคน’ โดยเนื้อร้องเป็นการกล่าวถึงชะตากรรมของไพร่ชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่สมัยเจ้าอนุวงศ์ ต้องประสบกับความยากลำบากในการตั้งรกรากถิ่นฐานอยู่ในกรุงเทพฯ (มีชุมชนเจ้าเวียงจันทน์และชาวลาวอยู่แถวบางยี่ขัน กระทั่งแถวซอยอ่อนนุชแถวบ้านผมก็มีชื่อคลองว่า คลองบ้านหลาย ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นหนึ่งในชุมชนชาวลาวด้วยเช่นกัน) แม้จะกล่าวว่าเพลงนี้สะท้อนความยากแค้นแสนเข็ญของชาวลาว แต่ก็เหมือนคนไทยนำเพลงนี้มาเยาะเย้ย แม้จะกดขี่และถากถางแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า อิทธิพลของวัฒนธรรมลาวก็มีผลต่อศิลปวัฒนธรรมของไทยหรือสยามเช่นกัน

ทำนองเดียวกันกับวัฒนธรรมการแสดงของชาวบ้านที่ส่งอิทธิพลต่อวัฒนธรรมการแสดงของชาววัง หรือในทางกลับกัน หากแต่วัฒนธรรมป๊อปแบบลาวก็ค่อยๆ แทรกซึมเหนือวัฒนธรรมไทย จนไทยสยามเองก็ถึงกลับกังวล ดังจะเห็นได้จากในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ห้ามไม่ให้มีการแอ่วลาวเป่าแคนเพราะเกรงอิทธิพลของลาว ข้อนี้ชี้ให้เห็นถึงการบ่อนเซาะต่อต้านที่มีผลต่ออำนาจสยามได้เป็นอย่างดี (ก่อนจะมาถูกสลายราบคาบเมื่อคราวกบฏผีบุญ)

อีกประเด็นก็คือการที่ ‘เพลงลาวแคน’ ถูกกลืนให้เป็น‘ลาวแพน’ จากลาวถูกทำให้เป็นไทย เช่นเดียวกับชาติพันธุ์ชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาก็เช่นเดียวกัน เมื่ออยู่กันนับมากกว่าร้อยปีสาแหรกต่างๆ ก็ยากที่จะสืบค้นตระหนักรับรู้ ไม่ผิดอะไรกับชาวปัตตานีที่ถูกจับมัดมือผูกเอ็นร้อยหวายขึ้นเรือมา จากลาวสู่ไทย สู่สยาม สู่กรุงเทพกรุงไทย จากทุกกลุ่มชาติพันธุ์หลอมรวมกันเป็นเนื้อเดียวด้วยปฏิบัติการเชิงอำนาจ (Discursive Practice) จนกลืนกลายสู่ความเป็นไทย (Thainess) แม้จะดูเหมือนว่าในกรณีของวัฒนธรรมลาวจะแทรกซึมจนเป็นที่นิยมในวัฒนธรรมไทย จากกดขี่ จากการเหยียดหยาม สู่การยอมรับจนเป็นที่นิยม ตั้งแต่ หมอลำ หมอแคน เพลงลาวแพน กระทั่งถึงลูกทุ่งหมอลำ และ ‘จักรวาลไทบ้าน’ ก็ตาม

สิ่งที่ต้องลอกออกจากคราบชั้นของมายาคติก็คือ “ความเป็นไทยนั้นคือการดูดกลืนกินทุกสิ่งมาเป็นของตัวและรวมศูนย์เข้าสู่ศูนย์กลาง” เราก็รู้กันอยู่ว่าศูนย์กลางที่ว่านั้นคืออะไร ชาติคือประชาชน แต่ทำไมคนตัวเล็กตัวน้อยถึงถูกกระทำอยู่ร่ำไป ที่น่าเห็นใจที่สุดก็คือคนตัวเล็กตัวน้อยที่พอจะมีกำลังอำนาจขึ้นมาบ้าง แต่ก็ยังหลงเข้าใจผิดว่าตัวเองคือส่วนหนึ่งของศูนย์กลางนั้น หรือการเป็นท้องถิ่นนิยมที่ต้องการลุกขึ้นสู้เพราะรู้สึกว่าถูกกระทำ ก็ยังอยู่ในวังวนของวิธีคิดที่เน้นความเป็นศูนย์กลางเป็นสำคัญเหมือนกัน เพราะเราตัดขาดผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกันจากภูมิภาคอื่นออกไปเสียหมด รวมถึงสาแหรกของเราที่ถูกแบ่งแยกจากกันมานานแสนนานจนกลายเป็นคนละพวกกัน ก็เหมือนการสร้างสรรค์ศิลปะไทยร่วมสมัยที่ไม่พ้นกับกรอบกนกนั่นแหละ จะทำอย่างไรที่จะทำให้ชายขอบสลายศูนย์กลางให้เสมอภาคเท่าเทียมในระดับเดียวกันได้และด้วยวิธีการใด นี่คือคำถามที่ศิลปะสื่อการแสดงสดของผมพยายามสร้างบทสนทนาขึ้น

ผมจะแสดงการแสดงชุดนี้อีก 3-4 ครั้ง เพราะเห็นว่าในครั้งต่อๆ ไป จะพัฒนาให้สมบูรณ์กว่านี้ได้ หรือจนกว่าจะรู้สึกว่าการแสดงจะสื่อสารได้ชัดเจนจนเป็นที่น่าพอใจแล้ว

สรพจน์ เสวนคุณากร

 


Performance Art เรื่อง “การเดินทางของลาวแคน”
ที่มา : Narasith Vongprasert

 

ศิลปะจักสำแดง แจ้งจารึก

ส่วนหนึ่งของข้อมูลจากนิทรรศการ “๕๐ ปี ๑๔ ตุลา ศิลปะจักสำแดง”

ตลอดระยะเวลาดำเนินงานในนามองค์กร “แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย” ได้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจหลายประการด้วยกัน พอประมวลได้ดังนี้

  • นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัยไทย ที่ผู้อยู่ในวงการศิลปกรรม สามารถรวมตัวกันเป็นองค์กร เพื่อจุดมุ่งหมายสร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อสังคม-การเมืองโดยตรงอย่างต่อเนื่อง
  • แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย เป็นผู้บุกเบิกริเริ่มสร้างสรรค์ และดำเนินการจัดแสดงนิทรรศการศิลปกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะภาพศิลปะคัทเอาท์การเมืองเป็นแห่งแรกในประเทศไทย
  • เป็นผู้คิดค้นกลวิธีการเขียนภาพรวมกันเป็นกลุ่ม พัฒนาจากหนึ่งคนต่อหนึ่งภาพมาเป็นหลายคนต่อหนึ่งภาพ
  • มีกระบวนการสร้างสรรค์งาน ผ่านการศึกษาข้อมูล-ตรวจสอบ อย่างเป็นขั้นตอน
  • โปสเตอร์การเมือง การออกแบบสร้างสรรค์โดยสมาชิกแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย คือผลผลิตที่บ่งบอกนัยทางประวัติศาสตร์สังคม-การเมือง ในช่วงระหว่าง พ.ศ 2516-2519 ปัจจุบันถือเป็นเอกสารสำคัญทางการเมือง ภาคประชาชนสะท้อนให้เห็นพัฒนาการทางสังคม-การเมืองไทยในรูปแบบสื่อสาธารณะ

 


“นิทรรศการ ๕๐ ปี ๑๔ ตุลา ศิลปะจักสำแดง” (Protest Art)

 

บริบททางการเมืองทั้งก่อนและหลังเกิดเหตุการณ์ ‘ตุลามหาวิปโยค’ อันเป็นที่มาของการทำงาน ศิลปะเพื่อชีวิต และ ทัศนศิลป์เพื่อความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นรายละเอียดในข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์ จากมุมของนักศึกษา ประชาชน ที่อยู่ร่วมกันในเหตุการณ์ แม้ผ่านมานานแต่ยังคงมีภาพจารฝังใจจำ ที่ทำให้ผู้รับสารรู้สึกเสมือนได้ร่วมต้านเผด็จการ ผจญชะตากรรมท่ามกลางสงครามการเมือง นับเนื่อง 50 ปีผ่าน แต่พันธกิจยังต้องการงานศึกษาเชิงลึกเพื่อปรับเปลี่ยนเรียนรู้ และต่อสู้อย่างมีหลักการ ในวันที่หลักฐานสำคัญนับนาทีจะถูกทำให้กลืนกลาย และก่อนที่ความจริงจะสูญสลายไปกับพยานของยุคสมัยในวันข้างหน้า… ประชาธิปไตยจะขับเคลื่อนไปสู่ความสมบูรณ์ ขอเพียงเราไม่สูญพลังศิลป์ที่เฉียบคมต่ออุดมการณ์ ให้โลกได้ร่วมขนานสารจากความจริง และเจตนารมณ์ของ มูลนิธิ 14 ตุลา ในนามประชาชนบน “ภารกิจ 3 ประการ” กับปณิธานประกาศขับเคลื่อนประวัติศาสตร์เพื่ออนาคตของชาติร่วมกัน

  1. เส้นทางประชาธิปไตยจะมุ่งสู่ประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย
  2. เส้นทางประชาชนจะมุ่งสู่การสร้างความเป็นธรรมในสังคม เพื่อแก้ไขความทุกข์ลำเค็ญของประชาชน
  3. เส้นทางประชาชาติจะสร้างความเป็นมิตรและความเป็นกลางกับประเทศทั้งปวง ภายใต้ผลประโยชน์ของชาติและความเท่าเทียมของนานาอารยประเทศ

 


“นิทรรศการ ๕๐ ปี ๑๔ ตุลา ศิลปะจักสำแดง” (Protest Art)

 

อ้างอิง


[1] FFC CHANNEL, (12 ตุลาคม 2566), “งาน ๕๐ปี ๑๔ ตุลา "ศิลปะจักสำแดง" Protest Art โดยมูลนิธิ ๑๔ตุลาและมูลนิธิเด็ก,” [Video], สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2566.

[2] นายแว่นสีชา, 14 ตุลารำลึก : หยาดน้ำตาในอุดมการณ์การ์ดอาชีวะ สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย, [online], sarakadeelite, สืบค้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2566.

[3] นสพ.โคราชคนอีสาน, (27 พ.ค. 2564), โชคชัย ตักโพธิ์,‘ครูยิ่งคุณ’ มูลนิธิสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี, [online],สืบค้นเมื่อ 8 ตุลาคม 2566.

[4] พู่กัน เรืองเวส, (30 มี.ค.2566), I did it my way เยี่ยม House of Upa-In ฟังอาจารย์ลาวัณย์ในวัยย่าง 88 ปี เล่าเกี่ยวกับเส้นทางชีวิตอันเต็มไปด้วยสีสันที่เลือกเอง, [online], The Cloud, สืบค้นเมื่อ 8 ตุลาคม 2566.

[5] ตัวแน่น, (21 ก.ย. 2566), ‘สมโภชน์ อุปอินทร์’ ศิลปินเพอร์เฟกชันนิสต์ผู้ยอมหักไม่ยอมงอ ศิษย์รัก ‘ศิลป์ พีระศรี’, [online], The People,สืบค้นเมื่อ 8 ตุลาคม 2566

[6] สถานีวัฒนธรรม, (6 เม.ย. 2565), รายการ สืบสานงานศิลป์ ศิลปินแห่งชาติ อาจารย์เสวต เทศน์ธรรม (ตอนที่ 2) ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์, [video], สืบค้นเมื่อ 8 ตุลาคม 2566.

[7] รัตนาวดี โสมพันธ์และศุภกิจ พิทักษ์บ้านโจด, (15 ธ.ค. 2563), จับชีพจร ‘นิพนธ์’ ร้านหนังสือที่ไม่ได้หยุดเวลาไว้แค่ยุคโก๋หลังวัง,[online] becommon.co, สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2566.

[8] art.bru.ac.th, ดร.กมล ทัศนาญชลี, [online], สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2566

[9] นวภู แซ่ตั้ง, จ่าง แซ่ตั้ง กับ โลกศิลปะก่อนและหลัง 14 ตุลาฯ 16, ใน วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ปีที่ 15(2), น. 112-136.

[10] ตัวแน่น, ลาวัณย์ อุปอินทร์ จิตรกรผู้งามเลิศในปฐพี, [online] อ่านเอา, สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2566.

[11] วรรณา แต้มทอง, (5 ต.ค.2564), ‘ทัศนัย-ทองธัช’ รับรางวัล ‘มนัสเศียรสิงห์แดง’ อนุสรณ์แด่ศิลปินที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19, [online], prachatai, สืบค้นเมื่อ 8 ตุลาคม 2566.

[12] ธนาวิ โชติประดิษฐ์, (19 ส.ค. 2562), ประตูแดง: การย้ายออกจากสถานที่ของความทรงจำ, [online], The 101.world, สืบค้นเมื่อ 8 ตุลาคม 2566.  

[13] ดร.แพง ชินพงศ์, (10 ธ.ค. 2550),เปิดสวนประวัติศาสตร์ มธ.กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย, [online], ผู้จัดการออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 8 ตุลาคม 2566.

[14]  ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์, (26 ธ.ค. 2560), Abstract Expressionism ศิลปะที่สหรัฐฯ ใช้เป็นอาวุธยุคสงครามเย็น?, [online], the momentum, สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2566.