ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

นกเสรีไทย

8
สิงหาคม
2564

ที่มาของชื่อ “นกเสรีไทย”

ในปีพุทธศักราช 2489 ได้มีการตั้งชื่อ “นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า” หรือ “นกเขียวลออ” โดยสถาบันสมิธโซเนียน แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งนกชนิดนี้ถูกค้นพบโดย ‘เฮอร์เบิร์ต จี. เด็กแนน’ (Herbert g. Deignan)

สถานที่ที่ค้นพบ: บ้านท่าล้อ ต.ท่าข้าม อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี และยังปรากฏอยู่ในแถบภาคใต้จากคอคอดกระลงไปจนถึงจังหวัดตรัง และยังมีผู้พบอยู่ที่แถบทางใต้สุดของเมียนมาอีกด้วย

ชื่อวิทยาศาสตร์: Chloropsis cochinchinensis Serithai (C. c. serithai)  หรือ นกเสรีไทย

ทั้งนี้ เพื่อเป็นเกียรติและเป็นที่ระลึกแก่ “ขบวนการเสรีไทย”

 

ภาพ: นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า หรือ นกเสรีไทย ที่มา: วิกิพีเดีย
ภาพ: นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า หรือ นกเสรีไทย
ที่มา: วิกิพีเดีย

 

พามารู้จัก “นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า”

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า Chloropsis cochinchinensis (blue-winged leafbird)

ชื่อสามัญ: Blue-winged Leafbird  

ชื่อวิทยาศาสตร์: Chloropsis cochinchinensis

เจ้านกสีเขียวตัวกลมๆ เล็กๆ ที่เห็นในภาพ เป็นนกสกุลพันธุ์หนึ่งของ “นกเขียวก้านตอง” Genus  Chloropsis  ชื่อสกุลมาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือ Chlor หรือ khloros แปลว่า สีเขียว และ opsi หรือ opsis แปลว่า การปรากฏ ความหมาย คือ “นกที่มีสีเขียว”

นกชนิดนี้จะอาศัยและหากินบนต้นไม้ ธรรมชาติออกแบบทางกายภาพให้ปากของนกสามารถดูดเจาะน้ำหวานได้อย่างลงตัว นกชนิดนี้มีลักษณะพิเศษตรงที่มีแถบสีฟ้าตรงของปีกด้านนอก เส้นยาวตั้งแต่หัวปีกถึงท้ายปีก ความเข้มอ่อนของสีขึ้นอยู่กับอายุและชนิดพันธุ์ย่อยของนก

ถูกค้นพบครั้งแรกในเขต “โคชินไชน่า” หรือ “เวียดนามใต้” ในปัจจุบัน จึงนำชื่อสถานที่นั้นมาตั้งชื่อเป็นวิทยาศาสตร์ว่า Cochinchinensis ซึ่งในบรรดา “นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า” ยังมีชนิดพันธุ์ย่อย หรือ สปีชีส์ย่อย ที่มากที่สุดในบรรดานกเขียวก้านตองทั้งหมด โดยแบ่งออกถึง 10 ชนิดย่อยด้วยกัน โดยการตั้งชื่อของแต่ละชนิดย่อยนั้น ตั้งตามสถานที่ที่พบเจอ อาทิ นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าศรีลังกา หรือ นกเจอร์ดอน, นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าโคชินไชนา, นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าสุมาตรา, นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าบอร์เนียว เป็นต้น ในบรรดานกเขียวก้านตอง มีเพียง 8 ชนิดเท่านั้นเป็นนกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า จากการค้นพบทั่วโลกมีนกในสกุลนี้ 8 ชนิด ที่ประเทศไทยพบ 5 ชนิด คือ  

  1. นกเขียวก้านตองใหญ่ (Greater  Green Leafbird)  
  2. นกเขียวก้านตองเล็ก (Lesser Green  Leafbird) 
  3. นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า (Blue - winged  Leafbird)  
  4.  นกเขียวก้านตองหน้าผากสีทอง (Golden - fronted  Leafbird)  
  5. นกเขียวก้านตองท้องสีส้ม (Orange - bellied Leafbird) 

และที่เราจะกล่าวถึงในวันนี้คือ “นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า” หรือ อีกที่มีอีกชื่อว่า “นกเสรีไทย”

 

“นกเสรีไทย” จุดสังเกต และ ลักษณะทั่วไป 

 

ภาพ: นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า หรือ นกเสรีไทย ที่มา: วิกิพีเดีย
ภาพ: นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า หรือ นกเสรีไทย
ที่มา: วิกิพีเดีย

 

ขนาดลำตัวของนกจากปลายปากถึงปลายหางประมาณ 19 เซนติเมตร มีขนยาวและฟูบริเวณสะโพกคล้ายๆ กับนกปรอด ปากยาว เรียว โค้ง ได้รูปโดยความยาวจะสัมพันธ์กับขนาดของส่วนหัว ตอนปลายของปากงุ้มเล็กน้อย รูจมูกเป็นรูปไข่ ขนหน้าผากยาวลงมาถึงรูจมูก และที่มุมปากมีขนเส้นเล็กๆ แข็งและสั้น

ส่วนปีกมีความมนและกลม ขนปลายปีกมีประมาณ 10 เส้น และ ขนหางมีประมาณ 12 เส้น หางยาวตัดตรง ที่ขาและที่นิ้วเท้ามีสีเทาอมฟ้า นกชนิดนี้จะมีขาท่อนล่างที่สั้นมากๆ และนิ้วเท้าเล็กๆ ยื่นออกไปข้างหน้า 3 นิ้ว ยื่นไปทางด้านหลังอีก 1 นิ้ว

ส่วนบนของลำตัว คอ หลัง ไหล่ สะโพก จนถึงขนคลุมโคนหางในช่วงบนนั้นเป็นสีเขียวสดเหมือนกับขนบนหัวและท้ายทอย ในส่วนของปีกจะมีสีเขียวเข้ม โดยมีแถบสีฟ้าสดสะท้อนแสงสวยงามและชัดเจน ครีบขนด้านนอกที่ปลายปีกจะเป็นสีฟ้าเช่นกัน แต่ในส่วนนี้จะเห็นไม่ชัด เนื่องจากเจ้านกน้อยจะหุบปีกตลอดเวลา

 

ความแตกต่างระหว่างเพศของนก

 

ภาพ: นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า หรือ นกเสรีไทย (ตัวเมีย) ที่มา: วิกิพีเดีย
ภาพ: นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า หรือ นกเสรีไทย (ตัวเมีย)
ที่มา: วิกิพีเดีย

 

ภาพ: นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า หรือ นกเสรีไทย (ตัวผู้) ที่มา: วิกิพีเดีย
ภาพ: นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า หรือ นกเสรีไทย (ตัวผู้)
ที่มา: วิกิพีเดีย

 

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า นอกจากสีเขียวสดที่เหมือนกัน ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดจะอยู่ที่ขนาดลำตัว ลวดลาย และ ความสดใสโดยเพศเมียจะตัวบางรี สีสันจะไม่สดใด ฉูดฉาดเหมือนอย่างเพศผู้ จะเห็นได้จากรูปว่าในส่วนของเพศผู้จะมีขนรอบดวงตา รอบปาก และมีสีดำอยู่ที่บริเวณคาง ซึ่งภายในแถบสีดำจะมีขีดสั้นๆ เฉียงๆ สีน้ำเงินอยู่สองข้างคาง และรอบแถบสีดำจะมีสีเหลืองล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง ในส่วนของหน้าผากและแถบสั้นๆ ที่เหนือดวงตาจะเป็นสีเหลืองสดใส โดยในส่วนด้านข้างของหัวและส่วนบนของหัวนั้นจะเป็นสีเขียวสดที่ไล่เฉดสลับกับสีเหลืองสวยงามยิ่งนัก

ในส่วนท้ายทอยจะมีสีเหลืองทองเจืออยู่เล็กน้อย ซึ่งจะมีลักษณะที่ดูคล้ายกับ “นกเขียวก้านตองหน้าผากสีทอง” หรือ “นกปรีดี” (จะนำมาบอกเล่าในโอกาสต่อไป) 

ในส่วนของแถบสีฟ้าที่ปีก จะเห็นได้ชัดในนกที่ยังโตไม่เต็มวัย อาจจะมีสีเหลืองแซมเล็กน้อยที่เพศเมีย และแถบสีฟ้าของเพศเมียจะไม่สดใสอย่างนกเพศผู้

จากข้อมูลของบรรดานักดูนก ยังสามารถพบนกเขียวก้านตองชนิดต่างๆ ได้ในป่าทุกประเภทที่อุดมสมบูรณ์ ในเขตร้อนชื้นแต่เขียวชอุ่มตลอดปี หรือตามวนอุทยาน สวนสัตว์เปิดที่มีพื้นที่กว้าง และอาณาบริเวณที่อุดมสมบูรณ์

ที่มาของการตั้งชื่อ "นกเสรีไทย" เพื่อเป็นเกียรติและรำลึกถึง "ขบวนการเสรีไทย" อีกทั้งกลุ่มวีรชนผู้พิทักษ์เอกราช และเป็นที่รู้กันดีว่าความหมายของนกนั้น คือ "สันติภาพ" นั่นก็ประจวบเหมาะแล้ว ที่จะมีชื่อของ "นกเสรีไทย" จารึกอยู่บนโลกใบนี้ เพื่อเป็นเกียรติ เพื่อเป็นการรำลึกถึง ว่าครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย ได้มีกลุ่มบุคคลที่ยอมพลีชีพเพื่อแลกกับเอกราชอธิปไตยเพื่อแผ่นดินไทย

 

เรียบเรียงโดย: ณภัทร ปัญกาญจน์

 

แหล่งข้อมูล: