Focus
- บทความ “กุหลาบ สายประดิษฐ์ ในฐานะนักหนังสือพิมพ์” โดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี นำเสนอ บทบาทของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ในฐานะนักหนังสือพิมพ์ที่มีจุดยืนทางอุดมคติชัดเจน ทั้งในเรื่อง ประชาธิปไตย มนุษยภาพ สันติภาพ และความเป็นธรรมทางสังคม ผ่าน “ข้อเขียนการเมือง” ที่ถูกตีพิมพ์ต่อเนื่องกว่า 3 ทศวรรษ แม้ชื่อ “ศรีบูรพา” ในฐานะนักประพันธ์จะเป็นที่รู้จักกว้างขวางกว่า แต่งานด้านสื่อมวลชนกลับเป็นรากฐานสำคัญของเขา ซึ่งมักถูกมองข้ามในวงวิชาการ
- หนังสือ มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ซึ่งรวมบทความทางหนังสือพิมพ์ของกุหลาบ สายประดิษฐ์จำนวน 53 ชิ้น เกิดขึ้นจากการรวบรวม ต้นฉบับลายมือจริงของกุหลาบ ที่ได้รับมอบจาก ชนิด สายประดิษฐ์ หรือจูเลียต (ภรรยา) ให้ สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นผู้ชำระ แก้ไข และจัดพิมพ์ใหม่ในปี พ.ศ. 2548 เพื่อรักษาเอกสารชั้นต้นทางประวัติศาสตร์ไว้ไม่ให้สูญหาย ต้นฉบับส่วนใหญ่เขียนด้วยดินสอ ไม่มีการระบุแหล่งตีพิมพ์แรก ทำให้ต้องอาศัยการจัดเรียงตามลำดับเวลาจาก “วัน–เดือน–ปี” ที่เจ้าตัวเขียนกำกับไว้ เป็นการฟื้นคืน “วิถีแห่งกุหลาบ” ให้กลับมามีชีวิตในหน้าประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
- กุหลาบ สายประดิษฐ์ (พ.ศ. 2450–2517) เริ่มต้นเส้นทางหนังสือพิมพ์ตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม โดยออกหนังสือพิมพ์ภายในโรงเรียนเทพศิรินทร์ ใช้นามปากกา “ดาราลอย” ต่อมาใช้นาม “ศรีบูรพา” เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2466 เขาเริ่มงานหนังสือพิมพ์มืออาชีพเมื่ออายุ 20 ปี และมีบทบาทโดดเด่นทั้งในฐานะ นักเขียนคอลัมน์ บรรณาธิการ และเจ้าของสำนักพิมพ์ โดยมีผลงานในหนังสือพิมพ์รายสำคัญ อาทิ สุภาพบุรุษ, ประชาชาติ, ไทยใหม่, การเมือง, เสถียรภาพ, ไทสัปดาห์, เดลิเมล์ ฯลฯ
คําว่า “ข้อเขียนการเมือง” เป็นวลีที่กุหลาบ สายประดิษฐ์ใช้แสดงลักษณะของงานเขียนที่เขาเขียนส่งไปลงในหนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ รายปักษ์ และรายเดือน ในฐานะเป็น “บทความพิเศษ” ลักษณะของชิ้นงานถ้าหากไม่เป็นงานเขียนคอลัมน์ประจําวัน ก็จะเป็นในรูปความเรียง หรือบทความกึ่งวิชาการ แล้วแต่ความเหมาะสมของวาระ นอกจากนั้นก็เป็นในรูป “บทนํา” ของหนังสือพิมพ์รายวันที่ไม่ระบุชื่อ ผู้เขียน
“ข้อเขียนการเมือง” ที่ใช้ชื่อว่า มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ เล่มนี้ เป็นงานรวมข้อเขียนของกุหลาบ สายประดิษฐ์ในฐานะชิ้นงานทางหนังสือพิมพ์ในลักษณะเดียวกับที่ “สํานักพิมพ์สุภาพบุรุษ” เคยนําชิ้นงานในแบบดังกล่าวมารวมพิมพ์ครั้งแรกในชื่อ การเมืองของประชาชน เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2500 และสําหรับ มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ เล่มนี้ก็เป็นการคัดสรรข้อเขียนที่มาจากชิ้นงานทางหนังสือพิมพ์เช่นเดียวกัน แต่เป็นงานรูปแบบ Anthology ที่มาจากการชําระต้นฉบับลายมือของกุหลาบ สายประดิษฐ์โดยตรง นับตั้งแต่ชิ้นงานแรก มนุษยภาพ (พ.ศ. 2474) จนถึงชิ้นงานหลัง กบฎสันติชน [พ.ศ.2496] รวมทั้งหมด [โดยไม่นับ “ภาคผนวก] มีจํานวน 53 ชิ้น เท่ากับช่วงชีวิต 53 ปีของกุหลาบ สายประดิษฐ์ที่อยู่บนแผ่นดินไทย ข้อเขียนทั้ง 53 ชิ้นเหล่านี้ แม้จะไม่ใช่ชิ้นงานที่เขียนขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อนํามาจัดลําดับเวลาก่อน-หลังก็ถือว่ายาวนานรวม 22 ปี ข้อเขียนเกือบทั้งหมดผู้เขียนใช้นามจริง ยกเว้นมีบางชิ้นที่ใช้นามปากกาว่า “อิสสรชน” “ดอกประทุม” และ “ศรีบูรพา” ซึ่งก็ใช้ในกรณีพิเศษ เนื่องมาจากบางยุคบางสมัย การใช้นามจริงมีปัญหากับฝ่ายบ้านเมืองที่ไม่ต้องการเห็นชื่อ “กุหลาบ สายประดิษฐ์” ไปปรากฏเป็น “หนามยอกอก” บนหน้าหนังสือพิมพ์

บทบาทของกุหลาบ สายประดิษฐ์ในฐานะนักหนังสือพิมพ์ ว่าไปแล้วก็มีการเอ่ยถึงกันไม่น้อย แต่การศึกษาในแง่ชิ้นงานด้านหนังสือพิมพ์ถือว่ายังมีอยู่น้อยมากเมื่อเทียบกับการศึกษาทางด้านวรรณกรรมที่ผู้คนส่วนใหญ่มักรู้จักคุ้นเคยกันมาในฐานะนักเขียนเรื่องสั้นและนวนิยาย โดยเฉพาะจากนวนิยายเรื่อง ข้างหลังภาพ ในนามปากกา “ศรีบูรพา” ที่รวมพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2481 ทําให้นาม “ศรีบูรพา” กลายเป็นนามที่ผู้คนทั่วไปรู้จักกันมากกว่านามจริงที่มีชีวิตโชกโชนมาในทางหนังสือพิมพ์ การอ้างอิงข้อเขียนด้านหนังสือพิมพ์ในฐานะบรรณาธิการและนักเขียนคอลัมน์ ถือว่ายังมีการศึกษากันน้อย เนื่องจากเอกสารชั้นต้นเกี่ยวกับงานหนังสือพิมพ์ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ มักกระจัดกระจายหรือไม่ก็สูญหายไปตามกาลเวลาและระบบการจัดเก็บในประเทศนี้ คนรุ่นหลังเลยไม่ค่อยเห็นภาพของกุหลาบ สายประดิษฐ์ในฐานะนักหนังสือพิมพ์แบบมีเอกสารอ้างอิง งานศึกษาที่เห็นส่วนมากมักจะอ้างตามกันโดยไม่ทราบที่มาชั้นต้น และมักคุ้นเคยกับชื่อ “ศรีบูรพา” มากกว่าชื่อ “กุหลาบ สายประดิษฐ์” ทั้งที่ “ศรีบูรพา” เพิ่งมีอายุแห่งนามเพียง 81 ปี ไม่ใช่ 100 ปี !
จากเอกสารชั้นต้นที่กุหลาบ สายประดิษฐ์ได้เขียนไว้ในชิ้นงานชื่อ บรรทึกการแต่งหนังสือ ที่นํามาเปิดเผยครั้งแรกในนิตยสาร สารคดี ฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2544 นามปากกา “ศรีบูรพา” นั้นเพิ่งเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2467 ขณะเมื่อเจ้าของนามมีอายุ 18 ปี
ตามเอกสารชั้นต้นดังกล่าว กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ บรรทึกการแต่งหนังสือ ในยุคแรกเริ่มของตนไว้ตอนหนึ่ง ดังนี้
พ.ศ. 2465 เรียนหนังสือชั้นมัธยม 6 เริ่มฝึกหัดการแต่งหนังสือในปีนี้ งานที่ทําคือ :
(1) ออกหนังสือพิมพ์ในห้องเรียน (type) ชื่อ ศรีเทพ ใช้นามปากกา “ดาราลอย” แล ฯลฯ หนังสือนี้ออกจนกระทั่งสิ้นปี
พ.ศ. 2466 : เรียนชั้นมัธยม 7 งานที่ทํา คือ :
(1) ออกหนังสือพิมพ์ (type) ประจําห้องชื่อ เทพคํารณ ออกได้ประมาณ 4-5 ฉบับ เปลี่ยนชื่อจาก เทพคํารณ เป็น ศรีสัตตคารม และออกเปนระเบียบมาจนสิ้นปี ในระหว่างนี้ได้เริ่มเขียนออกสนาม คือ
(1) คุณสมบัติของเธอ (อินทรวิเชียรฉันท์) ฝีปาก “ดาราลอย” ในหนังสือพิมพ์ ฉันทราบหมด
(2) รําพึงภาพ (กลอน) ฝีปาก “ดาราลอย” ในหนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์สยาม
(3) ลมสลาตัน ตอน 7-8-9-10 (ภาพยนตร์เรื่องยาว) เขียนในนามของ “แก้วกาญจนา” ในหนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์สยาม
(4) เบื่อโสด (กลอน 8) ฝีปาก “ดาราลอย” ในหนังสือพิมพ์ ทสวารบรรเทิง
(5) ยอมเปลี่ยน (เรื่องอ่านเล่นตลก) ฝีปาก “ดาราลอย” ในหนังสือพิมพ์ ทสวารบรรเทิง
(6) แถลงการณ์ (สําหรับหนังสือ ทสวารฯ) ในการเขียนครั้งนี้เริ่มใช้นามปากกา “ศรีบูรพา” เปนครั้งแรกสุดในหนังสือพิมพ์ ทสวารบรรเทิง
(7) กุหลาบสงวนพันธุ์ (อินทรวิเชียรฉันท์) ฝีปาก “ส.ป.ด.กุหลาบ” ในหนังสือพิมพ์ ทสวารบรรเทิง
พ.ศ. 2467 : เรียนชั้นมัธยม 8 เขียนเรื่อง
(1) หล่อนยังเขลา (โคลงสี่สุภาพ) ฝีปาก “ดาราลอย” ในหนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์สยาม
(2) ฉันเรียนเปนหนุ่ม (กลอน 6) ฝีปาก “ดาราลอย” ในหนังสือพิมพ์ นักเรียน
(3) ประโยชน์ที่ได้จากหนังสือ (อาร์ติเกิล) ฝีปาก “นางสาวโกสุมภ์ สายประดิษฐ์” ในหนังสือพิมพ์ นักเรียน
(4) ต้องแจวเรือจ้าง (กลอน 6) ฝีปาก “นายกุหลาบ สายประดิษฐ์” เริ่มใช้นามจริงเปนครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ แถลงการณ์ศึกษาเทพศิรินทร์ อนึ่ง ในตอนต้นปีนี้ได้ทํางานกลางคืน เปนครูสอนภาษาอังกฤษอยู่ในคณะ “รวมการสอน” และเปนนักประพันธ์ในคณะ “รวมการแปล” ได้เขียนเรื่องอ่านเล่นขายให้ผู้อื่นพิมพ์ออกจําหน่าย ดังนี้คือ:
(1) คุณพี่มาแล้ว (สองเล่มจบ) ฝีปาก “ศรีบูรพา”
(2) คางคกขึ้นวอ (สองเล่มจบ) “ศรีบูรพา” แปล “ศรีเงินยวง” เรียบเรียง
(3) จ้าวหัวใจ (4 เล่มจบ) ฝีปาก “ศรีบูรพา”
(4) ดิฉันยังหยิ่ง ฝีปาก “ศรีบูรพา”
(5) คมเสน่ห์ยอกอก ฝีปาก “ศรีบูรพา”
(6) เธอผู้มีกรรม ฝีปาก “ศรีบูรพา”
(7) วาสนากรรมกร ฝีปาก “ส.ป.ด.กุหลาบ”
นอกจากนี้ยังได้เขียนกลอนเซียมซีให้แก่ศาลเจ้า ได้รับรางวัลการเขียน 80 บาท
ดังนั้นจึงสรุปได้อย่างไม่มีข้อกังขา จากเอกสารชั้นต้นดังกล่าวว่า นามประพันธ์ “ศรีบูรพา” นั้นเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2466 ส่วนนามจริง “นายกุหลาบ สายประดิษฐ์” เริ่มต้นใช้เป็นครั้งแรกเช่นเดียวกันในหนังสือ แถลงการณ์ศึกษาเทพศิรินทร์ จากกลอนหกชื่อ ต้องแจวเรือจ้าง เมื่อ พ.ศ. 2467 น่าแปลกหรือไม่ที่นาม “กุหลาบ สายประดิษฐ์” นั้นเริ่มต้นมาจากการเป็นกวี แต่จบลงท้ายด้วยการเป็นนักหนังสือพิมพ์ นับจากเริ่มใช้นามนี้เมื่อ พ.ศ. 2467 เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2501 ที่เขาได้จากแผ่นดินไทยไปด้วยเหตุอันปวดร้าวใจเนื่องมาจากกระแสความขัดแย้งในสังคม-การเมืองไทย บทบาทของกุหลาบ สายประดิษฐ์ในฐานะนักหนังสือพิมพ์ผู้ยึดมั่นในอุดมคติแห่งมนุษยภาพ สันติภาพ และความเป็นธรรมในสังคม กลับยังคงจําหลักแน่นอยู่ในเกียรติและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นสุภาพบุรุษ “ผู้รับใช้คนอื่นมาอย่างเหนียวแน่น” แม้นามนี้จะถูกลืมไประยะหนึ่งในช่วงปี พ.ศ. 2501-2510 แต่นาม “ศรีบูรพา” ที่เคยฝากผลงานการประพันธ์ไว้หลากหลายได้ช่วยพยุงบทบาทในฐานะนักประพันธ์ของเขาเอาไว้โดยผ่านไปทางนวนิยายเรื่อง ข้างหลังภาพ และ สงครามชีวิต ที่ทิ้งร่องรอยไว้ให้นักอ่านรุ่นหลังได้คลําหา “อะไรบางอย่าง” ที่ขาดช่วงหายไปในยุคเผด็จการสมัย “แปลก-สฤษดิ์-ถนอม”

ผมเป็นคนหนึ่งที่เริ่มต้นรู้จัก “ศรีบูรพา” ผ่านทางผลงานเรื่อง ข้างหลังภาพ แม้จะเป็นนักชอบอ่านมาแต่วัยเด็ก แต่งานในชั้นเชิงของ “ศรีบูรพา” และกุหลาบสายประดิษฐ์นั้นก็หาได้เป็นที่รู้จักแก่เด็กริมทางรถไฟที่อ่านแต่หนังสือตลาดล่างประเภท “ป.อินทรปาลิต” และ “ไม้ เมืองเดิม” ไม่ แม้ผมจะเรียนอยู่ชั้นมัธยมแล้วก็หาได้รู้จัก “ดอกไม้สด” มจ.อากาศดําเกิง และกุหลาบ สายประดิษฐ์ ไม่ นักเขียนในตลาดปัญญาชนเหล่านี้เพิ่งเข้ามาให้ผมทําความรู้จักเป็นครั้งแรกเมื่อมีโอกาสเดินเข้าไปในห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ พ.ศ.2506 ผมจําไม่ได้ว่าทําไมจึงเลือกหยิบเอานวนิยายเรื่อง ข้างหลังภาพ มาทํารายงานส่งอาจารย์ ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ที่เข้ามาเป็น “อาจารย์พิเศษวิชาวรรณกรรมไทย” ในช่วงต้นปีนั้น บางทีอาจเป็นเพราะผมจินตนาการไปถึงภาพสีน้ําที่ชื่อ “มิตาเกะ” หรือบางทีอาจเป็นเพราะเด็กหนุ่มมักลุ่มหลงหญิงสาวมีอายุ หรือบางทีอาจเนื่องมาจากอาจารย์ ม.ล.บุญเหลือ ได้เอ่ยนามนักประพันธ์ที่ผมไม่เคยรู้จักมาก่อนให้ทราบผ่านทางงานเขียนเรื่อง ข้างหลังภาพ แต่ผมก็รู้จักเพียงแค่นั้น แม้ค่อนข้างได้คะแนนดีจากการทํารายงานครั้งนั้น แต่ “ศรีบูรพา” เป็นใคร ผมกลับไม่มีข้อมูลอะไรเลย ถึงจะตามอ่านนวนิยายอีกเล่มที่มีอยู่ในห้องสมุดธรรมศาสตร์ระยะนั้น คือ สงครามชีวิต ผมก็ยังไม่ทราบอยู่นั่นเองว่า “ศรีบูรพา” เป็นใคร แต่กระนั้นความรู้สึกทึ่งก็ได้เกิดขึ้นแล้วพร้อมกับนวนิยายอีกเล่มหนึ่งที่ค้นพบในช่วงใกล้เคียงกัน คือ ละครแห่งชีวิต ของ มจ.อากาศดําเกิง
ผมทิ้ง “ศรีบูรพา” ไว้ที่นวนิยาย 2 เล่มดังกล่าว จนเมื่อจบการศึกษามาเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ในปี พ.ศ. 2511 ผมจึงมีโอกาสได้พบกับ ยศ วัชรเสถียร นักประพันธ์อาวุโสในรุ่นนั้นที่เริ่มต้นเล่าอะไรต่อมิอะไรเกี่ยวกับนักเขียนนักประพันธ์กลุ่ม “สุภาพบุรุษ” ให้ฟัง และจากนั้นเป็นต้นมาผมจึงได้ทราบเป็นครั้งแรกว่า “ศรีบูรพา” คือกุหลาบ สายประดิษฐ์ แต่กุหลาบ สายประดิษฐ์เป็นใคร ผมยังต้องใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าจะปะติดปะต่อเป็นภาพที่ค่อยแจ่มชัดขึ้นทีละน้อย โดยผ่านจากการพูดคุยสนทนากับสุภาพบุรุษชื่อ สุภา ศิริมานนท์ อดีตเจ้าของและบรรณาธิการนิตยสาร อักษรสาส์น รายเดือน และที่จะลืมไม่ได้ คือเรื่องเล่าที่มาจากนักเขียนอาวุโสอีกท่านหนึ่งคือ คําสิงห์ ศรีนอก [ลาว คําหอม] เจ้าของและบรรณาธิการสํานักพิมพ์ เกวียนทอง ร่วมกับ ดําเนิน การเด่น ที่ได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ข้าพเจ้าได้เห็นมา ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นเล่มแรกของสํานักพิมพ์นี้เมื่อปี พ.ศ. 2500 บุคคลที่เอ่ยนามมาเหล่านี้ถือเป็นเหมือนอิฐก้อนแรกๆ ที่ช่วยต่อเติมชิ้นส่วนที่ขาดหายไปของกุหลาบ สายประดิษฐ์ให้เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น แต่กระนั้นความชัดก็ยังเป็นเพียงภาพที่อยู่ไกลๆ ตามวิสัยของนักอ่านรุ่นก่อนเหตุการณ์ “14 ตุลา 2516” ที่ส่วนใหญ่ยังตกอยู่ในกระแสทัศน์ของแรงเฉื่อยเผด็จการช่วงนั้น [แปลก-สฤษดิ์-ถนอม) จนต่อมาหลังเหตุการณ์ “14 ตุลา 2516” ผ่านเลยมาจนถึงวันสิ้นไปของกุหลาบ สายประดิษฐ์เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2517 ภาพของนักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ผู้นี้จึงค่อยแจ่มชัดขึ้นมาทีละน้อย แต่ความแจ่มชัดที่ปรากฏนั้นก็เป็นเพียงส่วนเสี้ยวของชีวิตบางส่วนที่ยังไม่ใช่ภาพรวมแท้จริง เพราะการมองกุหลาบ สายประดิษฐ์ของบุคคลบางกลุ่มนั้นมักตัดเอาแต่ส่วนที่เป็นความก้าวหน้าทางความคิด แต่ทิ้งพัฒนาการในแง่ความเป็นชีวิตทั้งหมดของเขา ผู้ที่ศึกษา “วิถีแห่งกุหลาบ” ในระยะเริ่มต้นบางคน เช่น บรรจง บรรเจิดศิลป์, เสถียร จันทิมาธร, วิทยากร เชียงกูล, รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน มักจะเน้นไปที่ส่วน “เพื่อชีวิต” มากกว่าส่วน “มีชีวิต” จนต่อมาจึงเริ่มมีงานศึกษารุ่นบุกเบิกของบุศรา อะมะลัสเสถียร, พรภิรมย์ เอี่ยมธรรม และนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ที่มองบทบาทของกุหลาบ สายประดิษฐ์ โดยผ่านจาก “เอกสารชั้นต้น” ด้านหนังสือพิมพ์ และในรุ่นต่อมาที่สนใจเผยแพร่ผลงานของนักเขียนเก่าอย่างจริงจังเช่น อาจิณ จันทรัมพร, ช่วย พูลเพิ่ม, ส.พลายน้อย ประกาศ วัชราภรณ์ และสมบัติ จําปาเงิน แห่งโครงการอนุรักษ์วรรณกรรมเก่าฯ ของสํานักพิมพ์ดอกหญ้า บุคคลเหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยต่อภาพจิ๊กซอว์ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ให้ค่อยชัดเจนขึ้นบ้าง แม้ข้อมูลปะติดปะต่อที่ได้มาจะเป็นเพียงบางส่วน แต่เมื่อนําบางส่วนของแต่ละคนมาเรียงต่อกันแล้ว ก็ทําให้พอเห็นภาพ “ความเป็นกุหลาบ สายประดิษฐ์” ว่าชีวิตทั้งชีวิตของท่านนั้น มีนัยยะหลากหลายบทบาททั้งในเรื่องนักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ และนักมนุษยภาพ [สถานะหลังนี้ สุภา ศิริมานนท์ เคยใช้คําว่า นักปฏิวัติ แต่ผมขอเรียกเสียใหม่ในความเข้าใจของผมว่า นักมนุษยภาพ]

สุภา ศิริมานนท์
ในบทบาทของความเป็นนักประพันธ์และนักมนุษยภาพ จะขอยกไว้ไม่กล่าวถึง เพราะมีรายละเอียดเป็นต่างหากออกไปโดยเฉพาะ แต่ในบทบาทของความเป็นนักหนังสือพิมพ์ หนังสือรวม “ข้อเขียนการเมือง” ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ เล่มนี้ น่าจะแสดง “บางสิ่งบางอย่าง” ในความเป็นนักหนังสือพิมพ์ของท่านได้เป็นอย่างดี โดยนับมาจากชิ้นงานจํานวน 53 ชิ้นที่รวบรวมมาไว้อย่างไม่ค่อยสมบูรณ์ครั้งนี้ [เพราะบางชิ้นขาดการอ้าง “แหล่งพิมพ์ครั้งแรก”] แต่เมื่อได้ศึกษาอย่างพินิจพิจารณาแล้ว ท่านผู้อ่านคงจะมองเห็น “ความเป็นกุหลาบ สายประ ดิษฐ์” ในบทบาทของนักหนังสือพิมพ์ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมทั้งยังได้แลย้อนไปข้างหลังถึงยุคสมัยที่ผ่านมาว่าได้เกิดอะไรขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเมื่อ 7 ทศวรรษก่อน อีกทั้งยังได้เห็นภาพในแง่ตัวตนของคนชื่อ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ว่ามีอุดมคติแบบไหน มีแนวคิดเช่นใด และได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกระแสธารทางประวัติศาสตร์แบบไหน ผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ทําให้เขาและครอบครัวที่เขารัก รวมทั้งเพื่อนมิตรในแวดวงได้ตกอยู่ในท่ามกลางเขี้ยวงาประเภทใด การพิจารณา “ข้อเขียนการเมือง” เท่าที่ตรวจสอบและชําระได้บางส่วนในเล่มนี้คงน่าจะพอทําให้ผู้อ่านรุ่นหลังได้นึกย้อนมองกลับไปหาอดีตเพื่อเรียนรู้ปัจจุบันว่าหลายสิ่งหลายอย่างในประเด็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และ “สิ่งปลีกย่อย” ต่างๆ ในชีวิตปัจจุบันนั้นยังมีความละม้ายคล้ายเหมือนไม่ผิดแผกไปจากยุคสมัยของกุหลาบ สายประดิษฐ์
นอกจากนี้ ท่านผู้อ่านจะได้เรียนรู้ “วิถีแห่งศรีบูรพา” ในฐานะนักประพันธ์ที่ผสมผสานไปกับ “วิธีแห่งกุหลาบ” ในฐานะนักหนังสือพิมพ์ ซึ่งทั้ง “วิถี” และ “วิธี” ดังกล่าวนี้ถือเป็นธาตุแท้พิเศษ 2 ประการที่รวมอยู่ในตัวบุคคลเดียวกัน โดยผ่านเวลามาแต่ครั้งยังเป็นนักเรียนนุ่งกางเกงขาสั้นเมื่ออายุ 18 จนถึงเป็นเจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ รายปักษ์เมื่ออายุ 24 ผ่านพื้นที่และวันเวลาในการทําและ “ร่วมทํา” หนังสือพิมพ์รายต่างๆ หลายต่อหลายฉบับมาก่อนอายุ 30 จนสุดท้ายเป็น “นักเขียนอิสระ” และเป็นบรรณาธิการสํานักพิมพ์ของตนเองเมื่ออายุ 44 ก่อนที่จะลี้ภัยด้วยความจํายอมไปอยู่ต่างแดนเมื่ออายุ 53 เสียเวลาอยู่ต่างแดนอย่างน่าเสียดายไปเหมือน ‘ฝุ่นในสายลม’ เป็นเวลา 16 ปี และไม่ได้กลับมาเห็นแผ่นดินเกิดของตนอีกเลย

หนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ ฉบับที่ 1
ชีวิตทั้งชีวิตของ “วิถีแห่งกุหลาบ” เป็นเรื่องของสามัญชน “ผู้ยิ่งน้อย” คนหนึ่งที่น่าศึกษาและเป็นบทเรียนที่สะท้อนภาพสังคม-การเมืองไทยในภาวะล้มลุกคลุกคลานของระบอบประชาธิปไตยยุคเริ่มต้นได้เป็นอย่างดี วันเวลาของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ในฐานะนักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ และนักมนุษยภาพ ช่างมีอยู่สั้นนักเพียง 69 ปี และวันเวลาในบทบาท “นักหนังสือพิมพ์อาชีพ” ของเขาก็คือในช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2470 เมื่อเขาเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ จนถึงปี พ.ศ. 2501 เมื่อเขาเขียนหนังสือและทําสํานักพิมพ์อยู่กับบ้าน รวมเวลาทั้งหมดประมาณ 3 ทศวรรษ ผลงานหลากหลายด้านของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ในฐานะชีวิตทั้งชีวิตนั้นยังคงมีกระจัดกระจายอยู่อีกเป็นจํานวนมาก และน่าเสียดายที่ “เอกสารชั้นต้น” บางส่วนได้สูญหายไป เพราะระบบจัดเก็บในประเทศนี้ไม่มีประสิทธิภาพ และไล่ไม่ทันกาลเวลา อีกทั้งผู้เป็นใหญ่ในบ้านเมืองก็สนใจคําว่า “หนังสือ” แค่เพียงลมปากเท่านั้น

กุหลาบ สายประดิษฐ์
เพิ่งจบจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ (เมื่อ พ.ศ.2468)
ภาพจากบทความ: เมื่อ ‘ศรีบูรพา’ ลาออกจากงานเพราะ ‘ขี่จักรยาน’
ข้อเขียนในบทบาทงานหนังสือพิมพ์ช่วงแรกของกุหลาบ สายประดิษฐ์นั้น ส่วนใหญ่ยังกระจัดกระจายอยู่ตามแหล่งต่างๆ อีกนับไม่ถ้วน โดยปรากฏอยู่ในเอกสารชั้นต้น อย่างเช่น สาส์นสหาย [2467], สมานไมตรี [2468], เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ [2468], สุภาพบุรุษ [2472], บางกอกการเมือง [2473], ผู้นํา [2473], ไทยใหม่ [2474], ศรีกรุง [2474], ประชาชาติ [2475], ประชามิตร [2481], สุภาพบุรุษ [2483], ประชามิตร-สุภาพบุรุษ [2487], สยามนิกร [2492], พิมพ์ไทย [2492], อักษรสาส์น [2492], การเมือง [2493], ข่าวภาพ [2496], เสถียรภาพ [2499], ปิตุภูมิ [2499], กระดึงทอง [2499], ไทสัปดาห์ [2500], เดลิเมล์ [2500], ปิยมิตร [2500], สายธาร [2501], ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีบทความที่ไปปรากฏในหนังสือและจุลสารตามวาระและโอกาสพิเศษต่างๆ อีกจํานวนมาก ดังตัวอย่างในเล่มนี้ที่นํามาจากหนังสืออนุสรณ์ ศรีสมเด็จ ปี พ.ศ. 2483 และหนังสือ ธรรมจักร ของสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ปี พ.ศ. 2495
ความเป็นมาและคําขอบคุณ

บ้านศรีบูรพา ซอยพระนาง
ที่มา: กองทุนศรีบูรพา
ความเป็นมาของ “ข้อเขียนการเมือง” ที่ยังไม่เคยรวมเป็นเล่มมาก่อนเล่มนี้เริ่มต้นจากคุณชนิด สายประดิษฐ์ ได้กรุณาเชื้อเชิญให้ผมและภรรยาไปพบที่ “บ้านศรีบูรพา” ซอยพระนาง เมื่อประมาณกลางปี พ.ศ. 2547 เพื่อมอบต้นฉบับลายมืออันเป็นข้อเขียนของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ต่างกรรมต่างวาระที่ห่อรวมกันอยู่ในแฟ้มและเก็บไว้ในกล่องอย่างดี ท่านบอกให้พิจารณาดูว่าจะทําอย่างไรกับมันดี ต้นฉบับลายมือที่เห็นเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นกระดาษเก่าหลายขนาด บางชิ้นตัดมาจากที่พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์และนํามาห่อรวมกันไว้ ต้นฉบับในห่อและในกล่องที่เก็บไว้เหล่านั้น เป็นข้อเขียนหลากหลายแบบของกุหลาบ สายประดิษฐ์ แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นงานเขียนที่ส่งไปลงในหนังสือพิมพ์ ข้อน่าเสียดายก็คือต้นฉบับเกือบทั้งหมดไม่ได้ระบุ “แหล่งพิมพ์ครั้งแรก” ว่าพิมพ์ ณ ที่ใด ทําให้ขาดการอ้างอิงที่สมบูรณ์ แต่กระนั้นด้วยนิสัยเคยชินของผู้เขียนที่มักจะเขียน “วัน เดือน ปี” ไว้ท้ายต้นฉบับเมื่อเขียนเสร็จ ดังนั้นจึงทําให้พอคาดเดาถึงสิ่งที่เรียกว่า “เวลาในประวัติศาสตร์” ได้ระดับหนึ่ง และหรืออย่างน้อยก็ทำให้สามารถจัดระบบก่อน-หลังตามลําดับเวลาได้ เพื่อแลย้อนกลับไปมองในยุคนั้นๆ ว่าสภาพสังคม-การเมืองไทยมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง และใครกําลังเป็น “ผู้ยิ่งใหญ่”
คุณชนิด สายประดิษฐ์ ได้ขอให้ผมช่วยชําระต้นฉบับตามแต่จะเห็นควร เนื่องจากต้นฉบับเป็นลายมือที่ใช้ดินสอเขียน ดังนั้น ตัวอักขระบางแห่งจึงค่อนข้างอ่านลําบาก ประกอบกับลายมือของกุหลาบ สายประดิษฐ์นั้น ต้องใช้เวลาคุ้นเคยอยู่พอสมควรจึงจะชําระออกมาได้ เรื่องนี้เลยเป็นหน้าที่ของ “คนใกล้ตัว” ที่ไปด้วยกัน ซึ่งผมได้ขอให้ช่วยชาระออกมาเป็นต้นฉบับพิมพ์ลงแผ่นโดยคงตัวสะกดการันต์ของเจ้าของต้นฉบับไว้ตามแบบเดิมทุกประการ แม้บางตัวที่เข้าใจว่าอาจสะกดผิด หรือ “ปรู๊ฟผิด” ก็ให้คงเอาไว้เช่นนั้น แต่เนื่องจากต้นฉบับลายมือมีจํานวนมากชิ้นจึงได้แบ่งให้ “ลูกศิษย์นิรนาม” ของ อ.ตรีศิลป์ บุญขจร แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นําไปช่วยพิมพ์จํานวนหนึ่งด้วยความหวังดี ผู้ช่วยพิมพ์ที่เป็นคนรุ่นใหม่ จึงพิมพ์แก้ภาษามาใหม่เป็นแบบปัจจุบัน ทําให้ต้องแก้กลับไปเป็นภาษาแบบเดิมของผู้เขียนอีกครั้งหนึ่งเพื่อจะได้คง “เวลาแห่งยุคสมัย” ในช่วงนั้นเอาไว้ให้มากที่สุด รวมทั้งต่อมาได้คุณระวิวรรณ ศรีสยาม เจ้าหน้าที่ประสานงาน “โครงการ 100 ปี ศรีบูรพา” มาช่วยพิมพ์และตรวจให้อีกส่วนหนึ่ง แต่ในแง่การจัดลําดับก่อนหลังเพื่อพิมพ์ลงแผ่นครั้งสุดท้าย ถือเป็น “ภาระธุระ” ทั้งหมดของ “คนใกล้ตัว” ที่พิมพ์แล้วพิมพ์อีกให้ด้วยความเต็มใจ นอกจากนั้น “เอกสารชั้นต้น” บางส่วนที่มีโอกาสได้เห็นได้ศึกษาก็เป็นเพราะคุณมังกร จารุจันทร์นุกูล นํามาให้ยืมศึกษา รวมทั้งข้อสงสัยในหลายเรื่องก็ได้พึ่งผู้รู้ คือคุณอาจิณ จันทรัมพร หนังสือเล่มนี้จึงปรากฏขึ้นได้ ผมขอขอบคุณทุกท่านไว้ ณ ที่นี้
อนึ่ง ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2474 ถึง พ.ศ. 2496 จํานวน 53 ชิ้น โดยคัดมาเท่ากับอายุของท่านที่อยู่บนแผ่นดินไทย และขอใช้ชื่อว่า มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ เล่มนี้ ถือเป็นความตั้งใจของบรรณาธิการที่ต้องการเก็บรักษา “เอกสารชั้นต้น” ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานหนังสือพิมพ์เอาไว้มิให้สูญหาย แม้จะยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ก็น่าจะเพียงพอในระดับหนึ่ง ที่ทําให้เราเห็นตัวตน อุดมคติ และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ในภาพรวมของสุภาพบุรุษที่ชื่อกุหลาบ สายประดิษฐ์ แม้ว่าชิ้นงานเรื่อง มนุษยภาพ จะเคยมีผู้นําไปพิมพ์มาก่อนหน้าแล้ว แต่การนํามาพิมพ์ครั้งนี้ได้คงการใช้ภาษาและการสะกดการันต์เมื่อ พ.ศ. 2474 ไว้ตามแบบเดิม อีกทั้งข้อเขียนเรื่อง ดูนักศึกษา ม.ธ.ก. ด้วยแว่นขาว ที่ลงพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ ธรรมจักร เมื่อ พ.ศ. 2495 ที่เคยเป็นชิ้นงานที่มีผู้นําไปพิมพ์ซ้ํามาหลายครั้งแล้วเช่นกัน แต่บางครั้งมีการแก้ไขข้อความให้ผิดเพี้ยนไป เช่นแก้คําว่า “ม.ธ.ก.” เป็น “ชาวธรรมศาสตร์” หรือไม่ก็อ้างแหล่งที่มาผิดพลาด เนื่องด้วยข้อเขียนชิ้นนี้มีความสําคัญในฐานะเป็นที่มาของคําว่า “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” ดังนั้นจึงได้ถือโอกาสนํามารวมพิมพ์อีกครั้ง โดยคงการใช้ภาษาและการสะกดการันต์ไว้เหมือนเดิม เพื่อเป็นเกียรติแก่กุหลาบ สายประดิษฐ์ในวาระได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็น “บุคคลสําคัญของโลก” โดยที่ชื่อของท่านและข้อความบางตอนจากชิ้นงานเรื่อง ดูนักศึกษา ม.ธ.ก. ด้วยแว่นขาว จะได้รับเกียรติไปปรากฏเป็นชื่อเรียกใหม่ของหอประชุมเล็กธรรมศาสตร์ว่า หอประชุมศรีบูรพา
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมไม่ทราบว่าจะเหมาะสมหรือไม่ คือการเขียน หมายเหตุบรรณาธิการ เพื่อเกริ่นนําสภาพ “สังคม-การเมือง-วรรณกรรม” ก่อนการอ่านตัวบทแต่ละชิ้นของกุหลาบ สายประดิษฐ์ เรื่อง หมายเหตุบรรณาธิการ ที่ว่านี้ เป็นเจตนาดีที่ต้องการให้ผู้อ่านรุ่นหลัง ได้ทราบความเป็นมาบางประการในยุคสมัยนั้น ถ้าหากท่านผู้อ่านคิดว่าไม่สําคัญ ก็ขอให้ข้ามไปอ่าน “ตัวบท” ที่เป็นข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ โดยตรงเลย
สุชาติ สวัสดิ์ศรี
31 มีนาคม 2548

สุชาติ สวัสดิ์ศรี
ที่มา: นิตยสาร Way
หมายเหตุ :
- กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
- อักขระและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
- ตัวเน้นโดยผู้เขียน
บรรณานุกรม :
- สุชาติ สวัสดิ์ศรี, เรื่อง “บทกล่าวนำ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ในฐานะนักหนังสือพิมพ์”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), น. 9-21.
- สุชาติ สวัสดิ์ศรี
- กุหลาบ สายประดิษฐ์
- ศรีบูรพา
- ชนิด สายประดิษฐ์
- สุภา ศิริมานนท์
- ยศ วัชรเสถียร
- คำสิงห์ ศรีนอก
- ดำเนิน การเด่น
- บรรจง บรรเจิดศิลป์
- เสถียร จันทิมาธร
- วิทยากร เชียงกูล
- ตรีศิลป์ บุญขจร
- ปรีดา ข้าวบ่อ
- สถาบันปรีดี พนมยงค์
- ข้างหลังภาพ
- มนุษยภาพ
- มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ
- วิถีแห่งกุหลาบ
- นักมนุษยภาพ
- ข้อเขียนการเมือง
- หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ