16 สิงหาคม 2564 ครบรอบ 76 ปี วันสันติภาพไทยสถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงาน PRIDI Talks #12 “ความสำคัญของหลักเอกราชกับการต่างประเทศ” และกิจกรรมเสวนา “รำลึก 76 ปี วันสันติภาพไทย ข้อเท็จจริงเรื่องขบวนการเสรีไทย” ถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live เพจสถาบันปรีดี พนมยงค์ Pridi Banomyoung Institute เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ในนามประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวเปิดงาน ในหัวข้อ “บทเรียน 8 ประการ จากขบวนการเสรีไทยและการประกาศสันติภาพในสถานการณ์วิกฤตปัจจุบัน” วิเคราะห์ความมุ่งมหายของการก่อตั้งขบวนการเสรีไทย และเชื่อมโยงสถานการณ์ปัจจุบันในประเทศไทยกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
อีกทั้งยังนำเสนอบทเรียน 8 ประการจากขบวนการเสรีไทย มีดังต่อไปนี้
1.ความเป็นเอกภาพและร่วมแรงร่วมใจของคนในชาติ จะทำให้เราสามารถฝ่าวิกฤตการณ์ไปได้
2.ความกล้าหาญและเสียสละ
3.การยึดถือในเรื่องเอกราช ประชาธิปไตย และ ประโยชน์ของมนุษยชาติ (ไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นการเฉพาะเท่านั้น)
4.การสร้างเงื่อนไขเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่นำไปสู่สงคราม และ ยึดในแนวทางสันติ
5.การมียุทธศาสตร์ กลยุทธที่ดีและมุ่งผลประโยชน์สาธารณะ
6.ขบวนการความเคลื่อนไหวขนาดใหญ่เกิดขึ้นได้เมื่อ ประชาชนตระหนักถึงปัญหาร่วมกัน และ เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ จึงไม่มีใครสามารถชนะพลังของประชาชนผู้มุ่งมั่นได้
7. งานสำคัญของประเทศ ของส่วนรวมไม่อาจสำเร็จได้หากไม่มีเครือข่าย การมีส่วนร่วมของประชาชน
8.การรักษาความลับและการมีวินัยอย่างเคร่งครัด ภารกิจบางเรื่องต้องดำเนินการแบบปิดทองหลังพระ ไม่สามารถเปิดเผยได้ในช่วงเวลาวิกฤตการณ์
คุณรัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัคราชทูตปาฐกถาพิเศษเรื่อง “นโยบายต่างประเทศโดยยึดหลักเอกราชและอธิปไตยโดยสมบูรณ์ตามแนวคิดของท่านปรีดี พนมยงค์” กล่าวถึงอธิปไตยโดยสมบูรณ์ตามแนวคิดของนายปรีดี พนมยงค์
และกล่าวถึงการวางรากฐานนโยบายต่างประเทศของของนายปรีดี พยมยงค์ด้วยแนวคิดหลักสันติภาพ ผ่านการริเริ่มการก่อตั้งสันนิบาตเอเชียตะวันออก กลายเป็นเสาหลักของการทูตไทยมาจนถึงปัจจุบันซึ่งเราก็ได้ใช้มา ซึ่งถึงแม้จะถูกลดทอนลงไปบ้างในช่วงสงครามเย็น แต่ก็ยังสามารถประสบผลสำเร็จออกมาเป็นการร่วมมือกันระหว่างประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน และอธิบายถึงช่วงระยะเวลาที่ประเทศไทยมีบทบาทในด้านการต่างประเทศมากที่สุดคือ “ช่วงเวลาที่มีเอกราชและอธิปไตยที่สมบูรณ์ รัฐบาลไม่ได้ถูกแทรกแซง” ในช่วงท้ายคุณรัศม์ได้โยงนโยบายต่างประเทศกับสถานการณ์วิกฤตการระบาดของโคโรนาไวรัส 2019 การที่ประเทศไทยนั้นไม่ได้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การตัดสินใจไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ (COVAX) ขององค์การอนามัยโลกของสหประชาชาติที่สะท้อนทัศนคติที่ไม่อยากร่วมมือกับประชาคมโลก เพราะฉะนั้นประเทศไทยจึงจะต้องมีเอกราชอธิปไตยที่สมบูรณ์ จะต้องมีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ถึงจะนำพาประเทศให้แก้ไขปัญหาและเจริญก้าวหน้าไปได้
ในการเสวนาออนไลน์เนื่องในโอกาสวันสันติภาพไทยในครั้งนี้ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับเกีรยติจากวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญถึง 5 ท่าน ประกอบไปด้วย ดร.ผุสดี ตามไทย ดร.วรวิทย์ กนิษฐะเสน ผศ.ดร.อนุชา จินตกานนท์ ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน และ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ และดำเนินรายการโดย ผศ.อัครพงศ์ ค่ำคูณ
ดร.ผุสดี ตามไทย อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเวทีผ่านการเริ่มเสวนาในเรื่อง “ขบวนการเสรีไทยในประเทศไทย” อธิบายในรายละเอียดของขบวนการเสรีไทย จุดเริ่มต้นของขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น พันธกิจ และวิธีการดำเนินงานของขบวนการเสรีไทย ผ่านอธิบายการปฏิบัติการของเสรีไทยสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ด้าน คือ ปฎิบัติการด้านการเมืองการทูต และปฏิบัติการด้านการทหาร อีกทั้งบรรยายรวมไปถึงสิ่งที่ได้รับจากขบวนการเสรีไทยที่เป็นมรดกทางใจทางจิตวิญญาณและความคิดในเรื่องของการใช้ชีวิตในปัจจุบันและอนาคต
“มรดกทางใจหนึ่งคือความทึ่งและความประทับใจในขบวนการเสรีไทยและทุกคนที่ร่วมในขบวนการนี้ตั้งแต่เรื่องความกล้าหาญความมุ่งมั่นความเด็ดเดี่ยวมีความตั้งใจและเสียสละการรักษาเป็นความลับและการที่ถือวินัยอย่างเคร่งครัดและที่สำคัญที่สุดคือมีอุดมการร่วมกันในเรื่องของเอกราชและอธิปไตยของชาติ เต็มใจพลีชีพตนเองเพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าและไม่ว่าจะเป็นใครอยู่ที่ไหนหรือจะมีอุปสรรคอย่างใดก็ตามและมีอาวุธหรือไม่ก็ตาม”
ดร.วรวิทย์ กนิษฐะเสน อดีตเอกอัครราชทูต ผู้ที่เคยทำงานใกล้ชิดกับนายปรีดี พนมยงค์ร่วมเสวนาในหัวข้อ “ขบวนการเสรีไทยกับปรีดี พนมยงค์” โดยเป็นการอธิบายรูปแบบการดำเนินงานของเสรีไทย ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมไปถึงประสบการณ์ตรงที่ได้รับฟังมาจากนายปรีดี ขณะที่ดำเนินการอยู่ในขบวนการเสรีไทย ความคิดเห็นของลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเตนที่มีต่อนายปรีดี การเดินทางของคุณจำกัด พลางกูร และการยอมรับสถานะของเสรีไทยในกลุ่มสหประชาชาติ
“เรื่องการรักษาความลับเป็นเรื่องที่สำคัญมากทีเดียว ใครก็ตามถึงแม้จะเป็นคนใกล้ชิด อยู่ใกล้ชิดกับท่าน ท่านก็ยังรักษาความลับของท่านไว้ตลอดเลยนะครับ ผมเองก็มีโอกาสที่ได้ใกล้ชิดกับท่าน ใกล้ชิดในทีนี้คือไม่ใช่ว่าไปพบท่านอย่างเดียว ผมก็ได้มีโอกาสนั่งร่วมโต๊ะทำงานของท่านนะครับ และก็ส่วนใหญ่ผมมักจะทำหน้าที่เปิดพจนานุกรมให้บ้าง หรือว่าดูตัวสะกด คือตรวจบรูพบ้าง”
ผศ.ดร.อนุชา จินตกานนท์ ทายาทคุณอนันต์ จินตกานนท์ หนึ่งในสมาชิกขบวนการเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกาพูดถึงในประเด็น “ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดตั้งขบวนการเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา” การเล่าเรื่องราวที่ประสบพบเจอจริง ในฐานะทายาทอาวุฒิโสของขบวนการเสรีไทย หรือเรื่องที่ได้รับฟังมาจากสมาชิกเสรีไทย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการดำเนินงานของกลุ่มเสรีไทยสายอเมริกา การฝึก - การปฏิบัติการทางทหาร บทบาทของผู้หญิงในช่วงเวลาขณะนั้น และบทเรียนจากเหตุการณ์ในช่วงระยะเวลาที่ผศ.ดร.อนุชา ศึกษาปริญญาเอกอยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาเดียวกันกับสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากเวียดนาม ได้มีการประชุมกันในหมู่นักเรียนที่สหรัฐฯ และได้ข้อตกลงกันว่า หากประเทศไทยตกอยู่ในภาวะที่จะเสียเอกราช เสียความเป็นเสรีประชาธิปไตย พวกเราก็จะจัดตั้งขบวนการเสรีไทย 2 เพื่อต่อต้านภาวการณ์
“ขบวนการเสรีไทยมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อสถานภาพของประเทศไทยหลังสงคราม ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ข้อเท็จจริงทางการเมืองของประเทศไทยในช่วงนั้น ไม่สะดวกที่จะมีการกล่าวถึง เพราะผู้ที่เป็นรัฐบาลก็คือบุคคลที่ขบวนการเสรีไทยได้มีบทบาทต่อต้าน ประวัติศาสตร์จึงแทบมิได้มีการกล่าวถึง อีกประการหนึ่งคือ สมาชิกขบวนการเสรีไทยได้มีหลักการของกลุ่มว่า จะไม่แสวงหาประโยชน์จากการเป็นสมาชิก และยึดหลักการ “ปิดทองหลังพระ” ทำให้ทายาทเสรีไทยรุ่นน้องๆ มิค่อยจะได้ทราบข้อเท็จจริงจากการบอกเล่า จึงมีผลว่า บางส่วนที่ได้เรียนเขียนไว้ มิได้สอดคล้องกับที่ผมได้รับการถ่ายทอดมาจากสมาชิกขบวนการเสรีไทยโดยตรง”
ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน ทายาทหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน หนึ่งในสมาชิกขบวนการเสรีไทยสายอังกฤษ นำเสนอประเด็น “ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดตั้งขบวนการเสรีไทยสายอังกฤษ เรื่องของคุณพ่อ คุณจำกัด และการจัดตั้งเสรีไทยในประเทศ” นำเสนอเกี่ยวกับการก่อตั้งขบวนการเสรีไทยสายอังกฤษ ความอดทนมานะบากบั่นของเสรีไทยสายอังกฤษในค่ายทหาร บทบาทของ “ท่านชิ้น” ในขบวนการเสรีไทยสายอังกฤษ และบอกเกล่าถึงเส้นทางการพบเจอแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของท่านชิ้นและคุณจำกัด พลางกูร รวมไปถึงบทบาทและวีรกรรมของคุณป๋วย อึ๊งภากรณ์ในฐานะหนึ่งในกลุ่มกระโดดร่มเสรีไทยสายอังกฤษ
“ทูตอังกฤษในจุงกิงไม่ยอมพบจำกัด เพราะไม่เชื่อว่าจำกัดเป็นเสรีไทยจากคณะต่อต้านในประเทศไทย พ่อไปชี้แจงและขอร้องให้ทูตอังกฤษพบจำกัด ในวันที่ 6 สิงหาคม จำกัดได้ไปพบทูตอังกฤษต่อหน้าพ่อ ให้พ่อบันทึกการสนทนาครั้งนั้นเป็นหลักฐานส่งให้กระทรวงต่างประเทศ การพบระหว่างจำกัดกับทูตอังกฤษครั้งนี้ สำคัญอย่างยิ่ง เพราะทำให้รัฐบาลอังกฤษ แน่ใจว่ามีขบวนการต่อสู้ต่อต้านญี่ปุ่นเกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย นำโดยผู้สำเร็จราชการ ปรีดี พนมยงค์”
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ทายาทคุณสว่าง สามโกเศศ หนึ่งในสมาชิกขบวนการเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา “เสรีไทย: เขาคิดกันอย่างไร?” นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเสรีไทยที่ไม่ได้ถูกพูดถึงมากนักในสังคม และผนวกเข้ากับสถานการณ์โลกปัจจุบัน โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเด็นย่อยด้วยกัน ดังนี้ 1. แรงบันดาลใจทั่วไปเกี่ยวกับเสรีไทย การรักษาเอกราชและวันสันติภาพไทย 2. ความสำคัญของเสรีไทย ที่ทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากภาวะผู้แพ้สงคราม 3. ใครคือเสรีไทย และประเด็นสุดท้าย 4. วีรกรรมของคุณจำกัด พลางกูร คุณการะเวก ศรีวิจารณ์ และคุณสมพงศ์ ศัลยพงศ์
“เสรีไทยเหล่านี้ได้เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ได้ทำหน้าที่ อย่างที่คนรุ่นหลังเนี่ยจะต้องนึกขอบคุณนะครับ ผมพูดเชิดชูเสรีไทยเนี่ยไม่ได้ต้องการให้เชิดชูบรรพบุรุษของผม คนเหล่านั้นเค้าไม่ได้ต้องการคำสรรเสริญหรอกครับ เพราะเขาสาบานกันไว้แล้วว่า เมื่อหมดหน้าที่เสรีไทยแล้ว จะสลายตัวทันที จะไม่มีใครพูดถึงเรื่องบุญคุณนะครับ ท่านอาจารย์ปรีดี หัวหน้าหน่วยเสรีไทยบอกว่า คนที่มีบุญคุณต่อประเทศไทย ไม่ใช่คนเหล่านี้เลย คนที่มีบุญคุณต่อประเทศไทยจริงคือ คนไทยทุกคน ที่พร้อมใจร่วมมือกัน ในสงครามครั้งนี้”
ลำดับถัดไปจะเป็นช่วงกิจกรรมถาม - ตอบคำถามจากผู้ที่เข้าร่วมรับชมงาน โดยมีคุณกศิดิษ อนันทนาธร เป็นผู้ดำเนินรายการร่วม และแขกรับเชิญพิเศษ คุณดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล ร่วมกิจกรรมถาม - ตอบ ในประเด็นเสรีไทยภายในประเทศ เรื่องข้อเท็จจริงเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณจำกัด พลางกูร สนธิสัญญาสงบสุข