ผู้ร่วมเสวนา
ผมนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยากจะถามผู้ร่วมเสวนา วันนี้เป็นวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันสำคัญของประเทศไทย ในทั่วโลกประเทศต่าง ๆ ก็จะยึดเอาวันสำคัญแบบนี้เป็นวันหยุดราชการ หรือเป็นวันชาติ เป็นต้น จึงอยากถามผู้ร่วมเสวนาว่า ถ้าเป็นผลดีต่อประชาธิปไตยไทยและวัฒนธรรมของประชาธิปไตยไทยในอนาคต วันชาติของไทยควรจะถูกเปลี่ยนเป็นวันที่ 24 มิถุนายน หรือไหม

ผู้ร่วมเสวนา :
อยากถามคุณพรรณิการ์ วานิช ว่า องค์กรตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ ที่คุณพรรณิการ์ว่ารูปแบบที่ควรจะเป็นเป็นอย่างไร แล้วก็ถามคุณสุภลักษณ์ กาญจนขุนดีว่า กองทัพในรูปแบบที่คุณสุภลักษณ์คิดว่าที่ควรจะป็นเป็นอย่างไร
ผู้ร่วมเสวนา :
อยากถามทางวิทยากรว่า อาจจะย้อนกลับมาในแง่ของเอกราช และอธิปไตยจาก 2475 ถ้าเรามองในฝั่งของวัฒนธรรมที่ตอนนี้สิ่งที่เราเห็นคู่ขนานอยู่คือ การยุบเปลี่ยนทุกสายมรดกจากคณะราษฎรที่สร้างมาอยู่เห็นได้ชัดตั้งแต่อย่างเรื่องหมุด เรื่องอนุสาวรีย์ถูกย้าย หรืออย่างล่าสุดที่ไม่แน่ใจว่านับได้ไหมก็คือการเปลี่ยนชื่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นสำนักงานพระคลังข้างที่ นี้ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเอกราษฎร์ไปเป็นเอกราช+ แล้วเราจะมีวิธีการที่แบบว่าจะรับมือในการพยายามรักษาเอกราชฎร์ตามเดิมไว้ได้อย่างไร
ผู้ร่วมเสวนา:
ผมเป็นตัวแทนของคุณหูหนวกได้ดูรัฐธรรมนูญไทยที่ทำใหม่ 2475 จนถึงตอนนี้นะครับมีปัญหาทหารมีการปฏิวัติตลอด ผมไม่ชอบครับ ผมต้องการประชาธิปไตยก็คืออยากให้คนเลือกตั้ง เพราะว่าไม่อยากให้ทหารเป็น อยากให้ทหารอยู่ในส่วนของเขาตอนนี้ก็คืออยากจะให้รัฐบาลพัฒนาและก็แก้ไขเรื่องต่าง ๆ ก็คือถ้าสมมติว่าให้ทหารดูแลแถวชายแดนดีกว่า

ธนกร วงษ์ปัญญา :
ผมไล่เรียงอย่างนี้เหมือนจะมีคำถามเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่งก็ถามถึงอนาคตทางการเมือง หรืออนาคตประชาธิปไตยไทย อีกส่วนหนึ่งก็ย้อนกลับไปถามถึงอุดมการณ์ของคณะราษฎรด้วยว่าจะรักษาไว้อย่างไร หรือว่าจะทำให้สิ่งที่คณะราษฎรวางรากฐานเป็นหมุดหมายไว้
อีกส่วนหนึ่งก็คือ เรื่องวันชาติที่ค่อนข้างถามชัดเจนว่า ถ้าสำคัญในแง่ของประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลง ทำไมเราถึงไม่ได้ให้คุณค่ากับสิ่งนี้ไว้ ก็เชิญทั้งสองท่านอยากจะตอบส่วนไหน หรือว่าอยากจะตอบภาพรวมอย่างไรก็อาจจะเป็นการแสดงความเห็นเป็นรอบสุดท้าย ก่อนที่จะปิดเวทีในวันนี้ เชิญคุณพรรณิการ์ก่อนครับ

พรรณิการ์ วานิช :
ไทยกับกัมพูชาก่อน เรื่องของการลบล้างผลพวงคณะรัฐประหารเป็นนโยบายต่อเนื่องตั้งแต่อนาคตใหม่ ก้าวไกล และยังเชื่อว่าพรรคประชาชน ซึ่งเขากำลังจัดทำนโยบายหาเสียงอยู่ ก็จะมีนโยบายเหล่านี้อย่างแข็งขัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม รวมถึง มาตรา 112 ก็เป็นส่วนที่เราพยายามคงจะเป็นส่วนที่พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชน พยายามทำงานด้วยกันมากที่สุด อย่างน้อยอยากให้นักโทษการเมืองที่อยู่ในคุกทุกวันนี้ได้ออกมา แต่ว่าอย่าเพิ่งตบมือ ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่พรรคเพื่อไทยจะผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ได้ข่าวว่ามีความพยายามจะเลื่อน พ.ร.บ. entertainment complex เพราะคิดว่าไปต่อไม่ไหวแน่นอน สิ่งที่เจ็บใจมากที่สุดก็คือ เมื่อเลื่อน entertainment complex อาจจะต้องเลื่อน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งไม่สมเหตุสมผลเลย แต่ว่าเลื่อนเพราะว่าเขาทำข้อตกลงกันไว้ว่า เขาจะแลกโหวตกันในสอง พ.ร.บ.นี้ พอเลื่อน entertainment complex ก็เลยต้องเลื่อนนิรโทษกรรม เพราะว่าไม่งั้นเสียโหวตฟรี ก็ทำให้ชะตากรรมของเพื่อนนักต่อสู้ทางการเมืองที่ยังอยู่ในเรือนจำก็ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีเหตุผลที่เราฟังได้เลย
อันนี้เป็นการคาดคะเนที่ได้ข่าวมา ซึ่งถ้าเลื่อนก็คงเลื่อนทั้งสองฉบับ ก็ได้แต่หวังว่าที่ดีที่สุดถ้าเรายึดถือเองก็เอกราษฎรก็คือ entertainment complex ให้เอาทิ้งไปเลยไม่ต้องเลื่อน หรือถอนไปเลย ไม่รู้ว่าจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติตรงไหน ส่วนนิรโทษกรรมประชาชนควรจะได้อยู่ตามคิวเดิมก็คือ เปิดสภาสัปดาห์หน้าเข้าเลย แล้วก็ช่วยกันรณรงค์ให้ถึงที่สุดเพื่อให้นิรโทษกรรมผ่านให้จงได้ อย่างไรพรรคประชาชนก็พร้อมโหวตให้อยู่แล้ว ในความเป็นจริงแค่สองพรรคก็ผ่านแล้วใช่ไหม ส่วนแก้รัฐธรรมนูญก็ไม่ต้องคิดยิ่งซะกว่านิรโทษกรรมในรัฐบาลนี้ก็คงจะไม่เกิดขึ้น เพราะว่าหลังจากความล้มเหลวรอบล่าสุดเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมาก็เป็นไปไม่ได้แล้วในทาง Time line ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญให้ทันก่อนการเลือกตั้ง ต่อให้เกิดเรื่องตั้งปี 2570 ไม่ต้องคิดว่าเลือกตั้งมันก็คงไม่เกิดปี 2570 ตอนนี้จะเกิดวันนี้หรือพรุ่งนี้ ก็ไม่รู้ใช่ไหม เพราะฉะนั้น การแก้รัฐธรรมนูญก็คงเป็นภารกิจหลักของรัฐบาลพรรคประชาชน ส่วนการได้มาซึ่งเสียงของ สว. (วุฒิสภา) ก็คงเป็นภารกิจของพรรคประชาชนในการจะไปเจรจา อย่าเพิ่งคิดว่าเจรจากับ สว.สีน้ำเงิน เพราะว่าสีน้ำเงินจะมีชีวิตอยู่อีกกี่วันยังไม่ทราบเลย เรื่องฮั้ว สว. ก็เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก แล้วก็ถ้ามีการฉีดยาตายยกรังจริง ก็คงเป็นการล้างไผ่กันใหม่ก็มีการเลือก สว. ขึ้นมา หรือที่เรายังไม่อาจคาดคิดได้เอาเป็นว่าสถานการณ์ยังไม่แน่นอนสูง อย่าเพิ่งคิดว่า สว. ชุดนี้ที่อยู่ไปตลอดครบ 5 ปี ดิฉันว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย จากคดีฮั้ว สว. ที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็คิดว่าสถานการณ์การเมืองก็ต้องฝากความหวังไว้ที่รัฐบาลต่อไป เพราะว่ารัฐบาลนี้ศักยภาพในการยืนให้ตรงก็ยังไม่ตรงเลย เพราะฉะนั้นจะก้าวไปข้างหน้าคงทำไม่ได้
ส่วนไทยกัมพูชาจบอย่างไรไม่อยากจะพูดคำนี้ออกมาเลยว่า ดิฉันกังวลเรื่องการปะทะกันเพราะว่าการปิดด่าน 100% เป็นสิ่งที่ไม่รู้เลยว่าทำไปทำไม ผิดกฎหมาย asean charter ผิดทุกประการ อาจจะสะใจคนไทยบางกลุ่มแต่อย่าลืม ตอนนี้นักข่าวเขาไปสัมภาษณ์พี่น้องที่อยู่ชายแดนคนค้าขายเดือดร้อนมาก การปิดด่าน 100% นี่เหลือเชื่อเลยว่าคุณทำไปเพื่ออะไร แล้วก็เพิ่มความตึงเครียดทางทหารโดยไม่จำเป็นด้วย เพราะฉะนั้น อย่างดีที่สุดที่เราจะหวังได้ก็คือ เมื่อรัฐบาลเล่นเกมคะแนนนิยมเพิ่มให้ตัวเอง โดยการไปแข็งกร้าวกับรัฐบาลฮุนเซน อาจจะนำไปสู่การเกิดการตึงเครียดทางทหารอีกรอบ แล้วก็เลวร้ายที่สุดอาจจะมีการปะทะกันแล้วก็นำไปสู่การเจรจา การเจรจาที่ว่านี้ก็คือลดความตึงเครียดทางชายแดนเท่านั้น ส่วนเรื่องของศาลโลกยังคิดว่าเป็นไปไม่ได้แล้วที่จะให้เขาถอน มีทางเดียวที่เป็นไปได้คือ เราต้องต่อสู้ในแง่สร้างเรื่องเล่าเพื่ออธิบายว่าทำไมเราไม่รับอำนาจศาลโลก แล้วก็ทำไมเราจึงไม่ได้ไปล้ำดินแดนเขา
เราก็สร้างคำอธิบายของเราให้กับเราเราไม่ต้องสู้คดีเพราะว่า เราไม่ได้รับอำนาจศาลโลกอยู่แล้ว ก็คงที่คลี่คลายไปเป็นแบบนั้น ก็ให้ทุกท่านลองติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ดิฉันคิดว่า การปิดชายแดนโดยไม่จำเป็น สุ่มเสี่ยงในการนำไปสู่การปะทะกันอย่างมากจริง ๆ แต่ก็หวังว่าจะไม่เกิดขึ้น ไม่ว่าอย่างไรสุดท้ายก็คลี่คลายลงด้วยการแยกย้ายแล้วก็ไปสู้กันในเวทีระหว่างประเทศ ในแง่การสร้างเรื่องเล่าเท่านั้นเอง
รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ภายใน 1-2 เดือนจากศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งดิฉันไม่ได้อยากให้เกิดขึ้น เราไม่เห็นด้วยกับนิติสงครามไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบนายกรัฐมนตรี แต่เราไม่เห็นด้วยกับที่มีความแบบนี้ ประเด็นสำคัญคือ รัฐบาลแพทองธารไปแล้วต่อไปเป็นรัฐบาลอะไร ถ้านายกฯ ไม่ลาออกซึ่งวันนี้ชัดแล้วว่านายกฯ ไม่ลาออกปล่อยให้ตัวเองถูกสอยร่วง โดยศาลรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่การเลือกนายกฯ โดย candidate ที่เหลือ ซึ่งขอให้ทุกท่านพิจารณาให้ดีว่า candidate ที่เหลือ 6 คน หรือ 5 คน เพราะว่าตอนนี้ถกเถียงกันว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณนับหรือไม่
เขาบอกว่า ขึ้นอยู่กับการตีความรัฐธรรมนูญ เอาเป็นว่าต่อให้รวมพลเอกประวิตรเป็นไปไม่ได้เลยที่ใครจะได้เขียนเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร คือ 248 เสียง เป็นไปไม่ได้เลย คุณอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นฝ่ายค้านไปแล้ว อาจารย์ชัยเกษม นิติสิริ อาจจะได้ถ้ารัฐบาลเพื่อไทยกุมเสียงได้ แต่ว่าสุขภาพอาจารย์ชัยเกษมก็ไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรี ได้คุณประวิตรก็ตัดไป คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ตัดไป เพราะว่าเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วเป็นอดีตไปแล้ว คุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ก็ทุกวันนี้ คุณพีระพันธุ์เหลือ สส. (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) ในกลุ่มกี่คนยังไม่ทราบเลย 18 คน เป็นตัวเลขของสองสัปดาห์ที่แล้ว ตอนนี้เหลือแต่ 8 หรือเปล่าไม่แน่ใจ แต่ว่าบุคคลที่จะรวมเสียงเกินกึ่งหนึ่งได้แน่นอน คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีใครกล้าไม่ยกมือให้พลเอกประยุทธ์แน่นอนยกเว้นพรรคประชาชน อันนี้ดิฉันมั่นใจมาก เพราะฉะนั้น สถานการณ์เมื่อนายกฯ ลาออก ตอบคำถามก็คือ ให้เตรียมใจไว้บ้างสำหรับประยุทธ์สาม ถ้านายกฯ ไม่ยุบสภาฯ
ธนกร วงษ์ปัญญา :
คุณพรรณิการ์ รัฐบาลไม่เลือกทั้งลาออก แล้วก็ไม่เลือกทางยุคสภาฯ แล้วก็มีคนให้เหตุผลว่าที่ทำไม่ได้เลยในเวลานี้ เพราะว่าเดี๋ยวมีเรื่องงบประมาณที่อาจจะต้องผ่านกับอีกอันนึงคือถ้าทำเวลานี้เหมือนเราไปยอมแพ้กัมพูชา
พรรณิการ์ วานิช :
เราเข้าทางและยอมแพ้กัมพูชาตั้งแต่โทรศัพท์หา uncle (ลุง) แล้ว คิดได้ตอนนี้ไม่ทันแล้ว ว่าจะไม่เข้าทางเขาเข้าไปตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว เรื่อง พ.ร.บ.งบประมาณ อันนี้สอบถามคุณสิริกัญญา ตันสกุล บอกว่าไม่กระทบ ใช้งบประมาณไปพรางก่อนได้การยุบสภาฯ ในระหว่างที่ พ.ร.บ.งบประมาณ พิจารณาไม่เสร็จไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้นในโลกนี้ เกิดขึ้นอยู่บ้านเหมือนกัน เพราะฉะนั้น งบกลางในด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจยังใช้เบิกจ่ายได้ตามปกติก็ไม่ได้ต้องกังวลในเรื่องของงบประมาณ
ธนกร วงษ์ปัญญา :
มีอีกคำถามส่วนหนึ่งที่ถามกันมาก็คือคุณค่าของเรื่องวัน 24 มิถุนายน วันชาติ
พรรณิการ์ วานิช :
เรื่องวัน 24 มิถุนายน วันชาติ อันนี้ก่อนที่จะไปตอบเรื่องใหญ่ เรื่องเล็ก ๆ ดิฉันและคนในพรรคตั้งเป้าหมายไว้ว่า 24 มิถุนายนจะเป็นวันหยุดของพวกเรา ซึ่งไม่เคยได้หยุดเลย เพราะว่าทุกท่านจัดเสวนากันในวันที่ 24 มิถุนายน เนื่องจากว่าเราต้องการต่อสู้ทางวัฒนธรรมโดยการสถาปนาวันหยุด แม้ว่าเราจะยังไม่มีอำนาจในการสถาปนามาเป็นวันหยุดประจำชาติได้ เราก็อยากจะหยุดงานในวันที่ 24 มิถุนายน ก็ขอเรียนแจ้งที่พี่น้องสื่อมวลชนและสถาบันการศึกษาว่าให้เลิกจัดงานวันที่ 24 มิถุนายน เพราะว่าเราต้องการหยุดเราต้องการให้วันนี้เป็นวันวันหยุดของเราก็หวังว่า ปีหน้าไม่มีใครเชิญ ดิฉันจะได้หยุด
ธนกร วงษ์ปัญญา :
แต่เป็นการชุมนุมแทน
พรรณิการ์ วานิช :
ก็ตอบกลับมาตอบเรื่องใหญ่ก็คือ วันชาติจริง ๆ คุณสุภลักษณ์น่าจะพูดได้ดีกว่า ในความคิดเห็นของพวกเราในฐานะนักการเมืองและพรรคการเมืองคิดว่า เราน่าจะเป็นพรรคการเมืองเดียวของประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับการต่อสู้ในเชิงสัญญะ แล้วเราก็รู้ว่าจะสถาปนาโดยการเปลี่ยนวันอย่างเดียวไม่ได้ แต่เราต้องทำงานความคิดให้เกิดขึ้นให้ได้ว่าจิตวิญญาณและเจตนารมณ์ของการปฏิวัติ คือ ส่วนสำคัญของความเป็นประชาชาติของไทย
ดิฉันคิดว่า เพียงแค่การเปลี่ยนวันไม่ใช่ว่าไม่สำคัญสำคัญ แต่ว่าเราทำสิ่งนั้นเพียงอย่างเดียวไม่ช่วยอะไร ก็มีวันหลายวันในประเทศไทยที่ถูกสถาปนาขึ้นมา แต่เราไม่เคยจำได้เลยถูกไหม แล้วจะมีความหมายอะไร ดิฉันคิดว่า การเปลี่ยนวันต้องทำควบคู่ไปกับการเปลี่ยนความหมายของความเป็นชาติที่เราถกเถียงที่เราพูดถึงกันมาตลอด 3 ชั่วโมงนี้ว่าต้องเปลี่ยนจากราชาชาตินิยมเป็นประชาชาชาตินิยม หรือว่าชาตินิยมพลเมือง Civic nationalism ให้ได้ แล้วเราก็ค่อยมีวันหยุดกันในวันที่ 24 มิถุนายน เราก็ไม่ต้องจัดเสวนาพูดถึงเรื่องพวกนี้อีกต่อไปแล้ว
ธนกร วงศ์ปัญญา:
ขอบพระคุณคุณช่อครับ ไปที่คุณสุภลักษณ์นะครับ ยังเหลือสัก 2 คำถามใหญ่ ผมคิดว่าจะให้ช่วยอ่านสถานการณ์ไทย กัมพูชาเลย และการทุบเปลี่ยนยุบหายมรดกคณะราษฎร

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี:
ผมขอตอบรวมทุกเรื่องนะครับ การรัฐประหารปี 57 แรก ๆ ผมก็ดูเบาว่าเหมือนรัฐประหารอื่นทั่วไป แต่หลังผมใช้เวลา 2-3 ปี ครุ่นคิด จริง ๆ ต้องขอบคุณอาจารย์ประจักษ์ (ก้องกีรติ) กับ อาจารย์วีระยุทธ์ (กาญจน์ชูฉัตร) ผมก็นั่งคิดว่าการรัฐประหารปี 57 คือการเปลี่ยนแปลงระบอบ
การเปลี่ยนระบบนี้ถูกค้ำจุนด้วยอุดมการณ์ ผมไม่เคยเห็นเรื่องการถกเถียงเรื่อง 2475 เข้มข้นขนาดนี้ เริ่มตั้งแต่หมดหาย การเปลี่ยนชื่อค่ายทหาร สัญญลักษณ์ของการท้าทายอำนาจสูงสุดจากอำนาจของประชาชน แม้แต่อำนาจของทหาร คนที่เคยบังคับบัญชาทหาร อดีตผู้บัญชาการในอดีต ชื่อของพวกท่านก็ถูกลบออกไป นี่เป็นการสร้างสัญลักษณ์ใหม่ ดังนั้นท่านจะเห็นการเปลี่ยนแปลงชื่อใหม่ ในเชิงโครงสร้างเชิงเนื้อหาสาระด้วยนะครับ
เพราะฉะนั้น โครงสร้างใหม่นี้ค้ำจุนด้วยอะไร ค้ำจุนด้วยผมขอใช้ภาษาอังกฤษนะครับ ผมเรียกมันว่า Military Monarchy Nexus โครงสร้างอันนี้ได้ร้อยรัดทั้งหมดเอาไว้ด้วยกัน และได้ละทิ้งสิ่งหนึ่งก็คือ อำนาจของประชาชน การเลือกตั้งที่ Endorse อำนาจประชาชน ก็จะถูกกันออกเหลือไว้แต่พรรคการเมืองหรือใคร ก็ตามที่สยบยอมต่อโครงสร้างอำนาจทางการเมืองที่ผมเรียกว่า MMN นี้
ให้คงอยู่เท่านั้น ที่จะได้รับอนุญาตให้คุณมีส่วนร่วมบ้าง กรณีของพรรคเพื่อไทยคือการประนีประนอมเพื่อให้คุณเข้าสู่ตำแหน่งนี้ถึงเวลาก็จะเอาคืนได้ผ่านกลไกหลายอย่าง กฎหมายเป็นอย่างหนึ่ง แต่ที่ผมกำลังเห็นในความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา คือการใช้อุดมการณ์ คือการใช้ชาตินิยม เจือปนด้วยบทบาทของทหารที่อยู่กองทัพ
ผมคิดว่าจุดพลาดที่รัฐบาลอาจไม่รู้ตัว คือการปิดด่านอย่างที่คุณช่อพูดนี้ มันเป็นการริเริ่มของแม่ทัพมาตั้งแต่ต้น เขาก็เสนอมาที่รัฐบาล ที่รัฐบาลไม่เห็นด้วยเพราะมันจะสร้างผลกระทบให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก อันแรกเลยที่กองทัพอยากจะใช้อำนาจเต็มในการควบคุมชายแดน เลยรำเรื่องเข้าสมช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยนะครับในนามของความมั่นคง เพื่อที่จะกดดันกัมพูชาเพื่อที่จะกดดันกำลังทหาร ผมไล่ลำดับเวลาให้ดูก็ได้ว่าเรื่องนี้จะไปจบอย่างไร
วันที่ 7 สมช. ประชุมและให้อำนาจแม่ทัพในการควบคุมตามชายแดน แม่ทัพก็ใช้อำนาจแต่เพียงเล็กน้อยเพื่อปรับเปลี่ยนเวลาปิดชายแดนไม่ได้ปิดตลอดเวลา จริง ๆ การปิดอันนั้นเป็นการปิดเชิงสัญลักษณ์ ไม่ได้มีความหมายอะไรมาก นอกจากสร้างความยุ่งยากให้แก่ประชาชน วันที่ 8 รองแม่ทัพภาคก็ไปคุยกับฝ่ายกัมพูชา แล้วก็ตกลงกันแล้วว่า จะปรับกำลังทหาร ถมคูเลทเรียบร้อย ถ่ายรูปมาแจกนักข่าวเรียบร้อย ไปเจรจาร ในตอนแรกพูดสมาร์ทมาก รบกันไม่ดี ทหารผมเสีนชีวิต ผมเสียใจ มาอีกวันหนึ่งพูดเหมือนคนละคน แสดงถึงความเปลี่ยนแปลง
วันที่ 8 เรื่องมันควรจะจบตั้งแต่วันที่ 8 จะมีการปรับกำลังแล้ว พอวันที่ 14 จะมีการประชุมเจบีซี อันนี้เป็นเหตุให้อังเคิลโกรธ แต่ปรากฏว่าไม่มีการปรับกำลังเมื่อรับปากแล้ว ฝ่ายโน้นก็เริ่มจะตอบสนองด้วยการกระทำที่แปลก ๆ และนายกฯ ของเราก็ไม่เข้าใจ เพราะทางโน้นเขาปรับเวลาไม่ตรงกับเรา วันนั้นนายกไปประชุมที่กาบเชิงยังบอกว่า ทำไมเขาปรับเวลาไม่ตรงกับเรา ใครเป็นคนทำ ใครเป็นคนตัดสินใจ พอนายกตัดสินใจตรงนี้พลาด
นี่คือจุดสำคัญที่สุดที่ทำให้รัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านมองเห็นจุดอ่อน อย่างยิ่ง รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถบังคับบัญชากองทัพได้ทำให้เพื่อนบ้านเห็นความไม่เป็นเอกภาพอย่างหนัก เขาจึงเขย่าปอดคนไทยด้วยศาลโลกบ้าง แผนที่ 1:200,000 บ้าง คนไทยทั้งมวลถูกกล่อมเกลา มานานนะครับเกี่ยวกับเอกราชอธิปไตยและจินตนาการการเสียดินแดน แค่เราได้ยินแผนที่ 1:200,000 ก็ Paranoid (หวาดระแวง) กันทั้งชาติ ถ้าผมเป็นฮุนเซนผมก็นั่งตีขิมรอทีละน้อย แล้วปล่ออะไรมาเรื่อย ๆ คลิปนั้นเป็นไม้ตาย และเขาปล่อยคลิปไม่พอนะครับ ฮุนมาเนต ออกมาไฮไลต์ตลอดเลย ว่าเห็นไหม คุณคุมกองทัพคุณไม่ได้ไม่เหมือนเรา เราคุมกองทัพเราได้ จุดนี้ เป็นจุดตาย ผมคิดว่ารัฐบาลเพื่อไทยจบแล้วที่เหลืออยู่ต่อไปเป็นแต่เพียงว่า MMN จะจัดการรัฐบาลอื่นอย่างไร เมื่อกี้นี้ผมได้ยินแคนดิเดตท่านประยุทธ์ ผมถึงบางอ้อเลย มันยืนยันสิ่งที่ผมคิด
เพราะฉะนั้นคำตอบสุดท้ายของผมคือ สถานการณ์กัมพูชามันจะไม่จบ เพราะเป้าหมายของกัมพูชารอบนี้ใหญ่มาก ไม่ใช่แค่หา Popular (ความนิยม) แต่ต้องการลดความยโสโอหังของคนไทย และทัศนคติที่เคยดูถูกคนกัมพูชามาโดยตลอด สิ่งที่เขาทำกับเรา คือสิ่งที่ Elite (ชนชั้นนำ) ไทยทำมาโดยตลอด เมื่อ 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา เป็นช่วงกำเนิดของกัมพูชาสมัยใหม่ เป็นการเอาคืน ผมไม่รู้ว่ามันถูกหรือผิดใน การระหว่างประเทศ มันขัดกับกฎหมายฉบับใด นักวิชาการเริ่มออกมาพูดว่าตรงนี้ ผมก็กำลังคิดว่า เราอาจโดนกัมพูชาย้อมศรก็ได้นะ ถ้าเราบอกว่ากฎเกณฑ์สากลเป็นสิ่งที่เรายึดถือ ง่าย ๆ เลยคือโฆษกรัฐบาลกัมพูชาออกมาพูดว่าคุณสมคิด เชื้อคง ออกมาจะฟ้อง เขาเลยบอกว่าอนนี้มันเป็นเรื่องระหว่างประเทศ ให้ไปฟ้องศาลโลก เขาอยากให้ไทยเข้าไปเล่นเกมส์กับเขาอยู่ตลอดเวลา อันนี้เราควรจะตั้งหลักให้ดี และคนที่ควรตั้งหลักให้ดีคือรัฐบาลที่ได้ MANDATE (อาณัติ) จากประชาชน แต่ว่าหลักเนี่ย เป็นฝ่ายทหารควบคุม ผมเกรงว่าหลักเนี่ยจะไปเข้าหลักของกัมพูชา ที่เขาหลอกให้กองทัพของเราโชว์แสนยานุภาพ
ธนกร วงศ์ปัญญา:
ไปที่ท่านอาจารย์ธเนศได้เลยครับ ถามถึงอนาคตรัฐบาล อนาคตประชาธิปไตย รวมถึงคณะราษฎร ความท้าทายที่เกิดขึ้น
ศ. ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ:
ผมคิดว่าคุณสุภลักษณ์ตอบดีแล้ว ผมคงไม่มีอะไรเพิ่ม ผมอยากสรุปในอันสุดท้ายไปเลยทำไมหลายประเทศถึงผันผวนปั่นป่วนเป็นการใหญ่ แล้วในระหว่างการปั่นป่วนนี้แนวโน้มหนึ่งคือแนวโน้มขวานิยม แล้วก็อำนาจนิยมที่กลับมา อันนี้ก็เป็นความย้อนแย้งอีก เราก็รู้ว่าการผลิต การติดต่อสื่อสารยิ่งกว่าที่เราเคยผ่านมา ความสะดวกสบายเหล่านี้ จะทำให้ระบบรัฐบาลเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกินความจำเป็น แต่มันมีแนวโน้มที่จะแสวงหาอำนาจ สร้างอำนาจขึ้นมาอีกอย่าง ผมกำลังตื่นเต้นกับโดนัลด์ ทรัมป์ อยู่ เพราะหายปีที่ผ่านมา เราเกือบจะเปรียบเทียบการเมืองอเมริกากับไทยไม่ได้เลย เพราะทุกอย่างในการเมืองอเมริกาเป็นระบบเป็นระเบียบเป็นไปตามกฎหมายไม่มีนอกแถว ในขณะที่ไทยนอกแถวหมด มันอยู่คนละโลกกัน แต่ตอนนี้มันมีอะไรที่มันเกี่ยวเนื่องกัน คือฝ่ายนำที่คือประธานาธิบดี และ ส.ส. ส.ว. ของพรรครีพับลิกันที่กำลังทำตัวเหมือนไทย และนักการเมืองประเทศโลกที่ 3 ทั้งหลาย คือตระบัดสัตย์ พูดไม่ตามเรื่อง หาเสียงหาอะไรต่าง ๆ เป็นปรากฏการณ์
แล้วอเมริกาจะไปยังไง ผมดูอย่างนี้ หากผู้นำอเมริกาทำเหมือนผู้นำการเมืองไทย แล้วก็เอาตัวรอดได้ ผมว่า โมเดลของอเมริกาน่าจะเอามาใช้กับของเราได้ ตอนนี้ผมกำลังดูว่าท่ามกลางความปั่นป่วนที่รัฐบาลทรัมป์กำลังสร้าง อะไรที่เป็นตัวค้ำจุนการปกครอง, ฐานะ, และโครงสร้างทางเศรษฐกิจไม่ให้มันตกต่ำไปยิ่งกว่านี้ ผมคิดว่าคือระบบยุติธรรม ระบบศาล รัฐธรรมนูญ และศาลสูงสุด และกลุ่มประชาสังคม ประชาชนที่เป็น Civic Population ของเขาสูงมากซึ่งทุกคน อยู่ในโลกที่ห่อหุ้มด้วยฟองน้ำ ที่ปกป้องเขาจากภัยอันตราต่าง ๆ ใครอยู่อเมริกาก็ร่ำรวยอะไรต่าง ๆ วันดีคืนดีโดนัลด์ทรัมป์เจาะ เช่น Harvard ถูกถอนทุน Usaid ถูกดึงทิ้งอะไรเหล่านี้ มันเกิดอะไรขึ้น ในแง่นี้เป็นการเอากลับ เอาใจประชาชนที่เป็นรากฐานของเขา คือพื้นฐานก็คือเข้ามหาลัยดี ๆ ไม่ได้ เข้าทำงานรัฐบาลดี ๆ ไม่ได้ คราวนี้พวกนี้สะใจแล้ว แต่อันนี้มันไม่ใช่อนาคต สิ่งที่เป็นอนาคตต่อไปคือคนที่ถูกทรัมป์เล่นงานเหล่านี้วิ่งไปหาศาล
สิ่งที่ผมเห็น คือถ้าประชาธิปไตยในอเมริกาจะอยู่รอดปลอดภัย จากเงื้อมมือของโดนัลด์ทรัมป์ และพรรคพวก คือเค้าต้องมีระบบความยุติธรรมที่เข้มแข็ง ที่จะสร้างสังคมประชาธิปไตยอเมริกัน ให้มั่งคั่งยั่งยืนต่อไปได้ อิสระภาพของเขาเนี่ยจะอยู่ได้ก็ด้วยกลุ่มประชาสังคม และระบบกฎหมาย
ทีนี้พอกลับมาบ้านเรา เราจะโยนความผิดให้ใคร จะให้ 3 ป. หรืออะไรอันนี้ก็พูดได้มันเป็นเรื่องที่ปิดกั้นไม่ได้ แต่ในระยะยาวอย่าติดลมกลับการถล่มทลายด้วยวาทกรรทเฉพาะหน้า ต้องเตรียมสร้าง ที่จริงคุณวีระยุทธ์ (กาญจน์ชูฉัตร) ผมเห็นด้วยการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจต้องทำอย่างจริงจังตั้งแต่ตอนนี้ เราเปลี่ยนมาตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ สมัยคุณเปรม แต่ตอนนี้เป็นอีกระบบหนึ่ง
นอกเหนือจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โครงสร้างทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะระบบกฎหมาย ซึ่งก็อยู่ในการศึกษาและระบบอะไรต่าง ๆ ที่ทำให้คุณค่า ค่านิยม เกียรติศักดิ์ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ความเป็นคนกลับขึ้นมาแล้วก็เหตุผลต้องมารองรับ กฎหมายตะวันตกที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ไม่ได้ซับซ้อน จริง ๆ ระบบกฎหมายของเราซับซ้อนกว่า ผมฟังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินอะไรก็งงแปดตลบเลย เข้าใจเลยเพราะว่าเหตุผลระหว่างของเขากับของเรามันคนละชุดกัน ถ้าเป็นของศาลตะวันตกนี่มันเข้าใจง่ายเลยว่าเขาใช้หลักเหตุผลอันเดียวกัน เพราะมาจากหลักปรัชญา Enlightenment จากปรัชญาแสงสว่าง ปรัชญาที่มนุษย์คือสิ่งที่สูงสุด ความถูกต้องเท่าเทียมเสมอภาค อย่างอื่นมันไม่ใช่ เราต้องทำให้โครงสร้างเหล่านี้กลับคืนมา
ต้องสร้างโครงสร้างให่ขึ้นมาที่เป็นของประชาชน ให้เอกราษฎร์ เป็นของประชาชนจริง ๆ ครับ ขอบคุณครับ
หมายเหตุ :
- ถอดความและเรียบเรียงใหม่โดยกองบรรณาธิการ
รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=-q4KbUx9bbM&t=3s
ที่มา :
- PRIDI Talks #31 เอกราษฎร์ และอธิปไตย ยุคประชาธิปไตย 2475 ถูกท้าทายวันอังคารที่ 24 มิถุนายน 2568 เวลา 13.30 - 17.00 น. ณ ห้องประชุมเอนกประสงค์ ร.103 (ห้องทวี แรงขำ) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์