ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

คณะรัฐประหารและรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

29
พฤศจิกายน
2564

รัฐบาลใหม่ของคณะรัฐประหารและของ ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ ในปี 2491 ได้รับการรับรองอย่างรวดเร็วจากรัฐบาลของประเทศตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสหรัฐฯ และอังกฤษ ดังที่ทราบมาแล้วว่าแต่เดิมนั้นมหาอำนาจตะวันตกจะให้ความสนับสนุนต่อรัฐบาลพลเรือนที่เป็นประชาธิปไตยของไทย และต่อต้านรัฐบาลทหารไทยที่ถูกถือว่าเป็นฝ่ายฟาสซิสต์

ในการรัฐประหาร 2490 นั้น ทูตของสหรัฐฯ นาย เอ็ดวิน สแตนตัน ก็ได้แสดงความไม่เห็นชอบด้วยดังข้อเขียนว่า “ทั้งทอมป์สัน (Thompson) และข้าพเจ้า (Stanton) หาได้ชมชอบการล้มรัฐบาลธำรงนาวาสวัสดิ์โดยการใช้กำลัง ซึ่งสิ่งนี้เท่ากับเป็นการปฏิเสธกระบวนการทางรัฐธรรมนูญอันเท่ากับเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้า เราเห็นด้วยว่ารัฐบาลธำรงนาวาสวัสดิ์เสื่อมทรามเหมือนเช่นรัฐบาลชุดก่อนๆ บางทีอาจมากกว่าเสียด้วยซ้ำซึ่งเป็นไปตามข้อกล่าวหา กระนั้นก็ตามเรารู้สึกตระหนกว่า การปกครองโดยใช้กำลังนั้นอาจก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองและการแทรกแซงทางการทูตอย่างมากยิ่ง”[1]

แต่ในระยะเวลาเดียวกันนั้น ความตระหนกต่อการขยายอิทธิพลของสหภาพโซเวียตในยุโรปตะวันออก ก็ทำให้ วินสตัน เชอร์ชิล สร้างสัญลักษณ์ของ “ม่านเหล็ก” ขึ้นมาพร้อมๆ กันนั้น สหรัฐฯ ซึ่งมีผลประโยชน์และอิทธิพลอย่างสูงในเอเชียก็หวั่นวิตกต่อการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ ทั้งนี้เพราะในปี 2491 นั้น การรบระหว่างจีนคอมมิวนิสต์ และจีนก๊กมินตั๋งก็ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และเป็นไปในวิถีทางที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ทำท่าว่าจะประสบชัยชนะ

ในขณะที่บรรดาประเทศที่เป็นอาณานิคมต่างๆ ได้มีขบวนการชาตินิยมที่จะกอบกู้เอกราชของตน เช่น ในพม่า อินโดนีเซีย อินโดจีน ต่างก็มีสภาพของสงครามทั่วไป พร้อมกันนั้นจากการที่ไทยลงนามในสนธิสัญญาสถาปนาความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตขึ้นเป็นครั้งแรก ก็ทำให้มีการเปิดสถานกงสุลของโซเวียตขึ้นเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหรัฐฯ ได้เริ่มสร้างนโยบายการสกัดกั้นลัทธิคอมมิวนิสต์ของตนขึ้นมา (Containment Policy ซึ่งจะตามมาด้วยทฤษฎีโดมิโน) และจากท่าทีของรัฐบาลคณะรัฐประหารที่แสดงตนว่าต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างสูง (ด้วยสาเหตุของการเมืองภายใน) ก็ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศรับรองรัฐบาลใหม่ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ผู้ประกาศสงครามกับสหรัฐฯ และอังกฤษมาก่อน) อย่างรวดเร็วภายใน 1 เดือน อังกฤษให้การรับรองทันทีต่อมา และปัญหาการรับรองที่ฝ่ายรัฐบาลทหารเคยหวั่นวิตกจนกระทั่งต้องเอานายควง อภัยวงศ์ขึ้นมาขัดตาทัพก็เป็นอันตกไป

ประเทศไทยและรัฐบาลไทยกลายเป็นเป้าหมายที่สำคัญของสหรัฐฯ และมหาอำนาจตะวันตก ในอันที่จะใช้เป็นฐานที่มั่นต่อต้านคอมมิวนิสต์ และสถานการณ์ที่กลายเป็น “ยุคสมัยอเมริกันในไทย” (American Era) ก็เริ่มขึ้น[2] ซึ่งจะทำให้เกิด “ความช่วยเหลือ” (aid) ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการทหารอันเป็นผลให้อิทธิพลและเงินดอลลาร์เริ่มหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทย และไทยก็เคลื่อนเข้าสู่วงโคจรของสิ่งที่เรียกว่า Pax Americana ก็เริ่มขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

ในปี 2493 บรรดาทูตของอเมริกันทั้งหมดในเอเชีย (นำโดย Philip C. Jessup) ก็ใช้กรุงเทพฯ เป็นสถานที่ประชุมเกี่ยวกับนโยบายและท่าทีของสหรัฐฯ (ภายหลังชัยชนะของเหมาเจ๋อตุง 2492) และตกลงที่จะให้ความช่วยเหลือต่อประเทศไทยตามแผนการใหญ่ในเอเชียของประธานาธิบดีแฮรี ทรูแมน พร้อมๆ กันกับรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้แสดงท่าทีอย่างเด่นชัดที่จะสนับสนุนนโยบายของสหรัฐฯ ด้วยการรับรองรัฐบาลเวียดนามของอดีตจักรพรรดิเบาได๋ (28 กุมภาพันธ์ 2493) อันเป็นรัฐบาลที่ฝรั่งเศสตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะรักษาอาณานิคมของตนในอินโดจีนเอาไว้ให้ได้ (การรับรองครั้งนี้ทำให้นายพจน์ สารสิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไม่เห็นชอบด้วย และได้ลาออกจากตำแหน่งไป แต่ก็ถูกส่งไปเป็นเอกอัครราชทูตไทย ณ วอชิงตันในเวลาต่อมาคล้ายกับกรณีของนายดิเรก ชัยนาม ที่ออกจากตำแหน่งเดียวกันนี้และไปเป็นทูตประจำญี่ปุ่น)

ไทยปฏิเสธที่จะให้ความสนับสนุนต่อขบวนการชาตินิยมที่มาในรูปของคอมมิวนิสต์ ดังเช่นในกรณีของโฮจิมินห์ (อันเป็นนโยบายต่างประเทศที่ต่างกับสมัยของรัฐบาลพลเรือนโดยเฉพาะในสมัยของรัฐบาลปรีดี พนมยงค์) รัฐบาลทหารไทยแสดงท่าทีสนับสนุนฝรั่งเศส (ทั้งๆ ที่เคยต่อต้านและเรียกร้องดินแดนในอินโดจีนมาก่อนเช่นกัน)

ในทางกลับกัน สหรัฐฯ ก็ตอบสนองด้วยการให้ความช่วยเหลือทางการทหารต่อรัฐบาลทหารเป็นครั้งแรกเป็นเงิน 10 ล้านเหรียญ และในปีเดียวกันนี้เองไทยก็ส่งทหารพร้อมด้วยข้าว 2 หมื่นตันในนามขององค์การสหประชาชาติไปร่วมในสงครามเกาหลี ไทยกลายเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ให้ความสนับสนุนต่อนโยบายนี้ของสหรัฐฯ แสดงเจตจำนงที่แน่นอนในอันที่จะเลือกอยู่ในค่ายของ “เสรีประชาธิปไตย” ต่อต้าน “คอมมิวนิสต์”

ในบรรยากาศของ “สงครามเย็น” และในขณะที่การเมืองของโลกถูกแบ่งออกเป็น 2 ค่ายมหาอำนาจ (ตะวันตก-ตะวันออก) ความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ก็จะเพิ่มขึ้นทุกทีนับแต่นั้นมา มีการลงนามในสัญญาช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการศึกษา (9 กันยายน 2493) ช่วยเหลือทางด้านการแพทย์เช่นการปราบปรามไข้มาลาเลีย (17 ตุลาคม 2493) ให้ความช่วยเหลือด้านอาวุธ และในปีต่อมาก็ส่งอาวุธให้ถึง 28 ครั้ง ให้เรือบินและเรือรบ

ในความสัมพันธ์ดังกล่าว รัฐบาลไทยก็ได้ทั้งเงินและอาวุธ มีผลให้ในแง่ของการเมืองภายในฝ่ายอำนาจนิยมซึ่งมีความแข็งแกร่งอยู่เป็นทุนเดิมแล้ว ก็ได้รับการเสริมสร้างให้เป็นองค์กรและสถาบันที่มีความได้เปรียบทางการเมืองเพิ่มขึ้น ในแง่ของสหรัฐฯ ก็ได้พันธมิตรที่เหนียวแน่นที่สุดในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเอเชีย

การเมืองภายในของรัฐบาลสมัยคณะรัฐประหารและจอมพล ป. พิบูลสงคราม

หากจะดูโดยภาพรวมแล้วนับตั้งแต่ 2490 การเมืองไทยก็ตกอยู่ภายใต้คณะรัฐประหาร อันมีกองทัพบกเป็นผู้นำ และมีจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2491 ดังนั้น ยุคสมัยนี้จะกินเวลาประมาณเกือบ 10 ปี จนกระทั่งถึงสมัยของคณะปฏิวัติ (ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ 2500-2501) อย่างไรก็ตามสิ่งที่เรียกว่า “สมัยคณะรัฐประหาร” นี้ ควรจะต้องตั้งข้อสังเกตไว้ 2 ประการ

ประการแรก คณะรัฐประหารหาได้มีอำนาจเด็ดขาดทันทีภายหลังการยึดอำนาจในปี 2490 ไม่ คณะรัฐประหารประกอบด้วยนายทหาร ซึ่งได้ประสบปัญหาจากการเข้ากับฝ่ายฟาสซิสต์ซึ่งพ่ายแพ้ในสงครามโลก ดังนั้นการก้าวขึ้นมาใหม่ของคณะทหารจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากกลุ่มการเมืองอื่น ดังจะเห็นได้จากการพยายามดึงความร่วมมือจากฝ่ายอนุรักษนิยม (นายควง อภัยวงศ์  ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับพรรคประชาธิปัตย์)

ซึ่งทำให้ต้องมอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับฝ่ายอนุรักษนิยมเป็นการชั่วคราวแต่เมื่อขจัดตัวบุคคลของฝ่ายอนุรักษนิยมออกไป ฝ่ายอำนาจนิยมก็ยังติดขัดอยู่กับกติกาทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอยู่ นั่นคือกฎเกณฑ์ของลัทธิรัฐธรรมนูญที่ทั้งฝ่ายเสรีนิยมและอนุรักษนิยมได้วางเอาไว้

แม้ว่าคณะรัฐประหารจะได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ได้สำเร็จก็ตาม แต่ฝ่ายอนุรักษนิยมก็ได้ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ขึ้นมาแทน แม้ว่ารัฐธรรมนูญใหม่นี้จะมีความเป็นประชาธิปไตยน้อยกว่าฉบับ 2489 นั่นคือการที่มีลักษณะแบบบทเฉพาะกาล คือการให้มีการแต่งตั้ง “วุฒิสมาชิก” (อันเป็นชื่อใหม่ของสมาชิกประเภทสองและพฤฒสภา) อำนาจในการแต่งตั้งนี้โดยทฤษฎีเป็นขององค์พระมหากษัตริย์ (หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) และในทางปฏิบัติก็เป็นสิ่งที่ต้องประนีประนอมกันระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมและอำนาจนิยม ทำให้คณะรัฐประหารไม่สามารถจะมีเสียงสนับสนุนเด็ดขาดในวุฒิสภาได้

ทั้งนี้โดยไม่ต้องกล่าวว่าในสภาผู้แทนราษฎรก็ยังมีสมาชิกที่เป็นฝ่ายของอนุรักษนิยม (พรรคประชาธิปัตย์) อยู่ไม่น้อย นอกจากนี้ในรัฐธรรมนูญของฝ่ายอนุรักษนิยมก็ยังมีแบ่งแยกระหว่างข้าราชการประจำและข้าราชการการเมืองอยู่เช่นเดียวกับในฉบับของฝ่ายเสรีนิยม ทำให้สมาชิกของฝ่ายอำนาจนิยมไม่สามารถเข้าคุมตำแหน่งทางการเมืองสำคัญๆ ในคณะรัฐมนตรีได้ ดังจะเห็นได้ว่าผู้ที่มีอำนาจอย่างแท้จริงของคณะรัฐประหาร คือ จอมพลผิน ชุณหะวัณ นั้น ในช่วงแรกก่อน 2494 มิได้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากแต่เป็นผู้คุมกำลังกองทัพบกในฐานะผู้บัญชาการกองทัพบก

ดังนั้นทั้งในรัฐสภา และในคณะรัฐบาลฝ่ายอำนาจนิยมก็ยังหาได้มีอำนาจโดยเด็ดขาดไม่ อนึ่งในช่วงระยะต้นๆ เช่นเดียวกันนี้ ท่าทีของมหาอำนาจตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสหรัฐฯ ก็ยังมิได้ให้การสนับสนุนต่อ “รัฐบาลทหาร” อย่างเต็มที่และตรงไปตรงมานักมหาอำนาจในค่ายของ “เสรีประชาธิปไตย” ยังต้องการรักษาระดับความเป็นประชาธิปไตยในหมู่พันธมิตรของตนไว้บ้างในระดับหนึ่ง จึงกล่าวได้ว่าก่อนหน้าการ “รัฐประหารเงียบ” หรือ “รัฐประหารทางวิทยุ” (29 พฤศจิกายน 2494) นั้นฝ่ายอำนาจนิยมยังจะต้องประนีประนอมกับฝ่ายอนุรักษนิยม และยังต้องยอมรับกติกาของลัทธิรัฐธรรมนูญอยู่ในบางระดับ การยึดอำนาจอีกครั้งและการนำรัฐธรรมนูญปี 2475 กลับมาใช้ (พร้อมด้วยการแก้ไขเพิ่มเติม 2495) นั่นแหละที่จะทำให้คณะรัฐประหารมีอำนาจอย่างเต็มที่ในการเมืองไทย

ประการที่สอง พึงต้องมีข้อสังเกตว่าแม้โดยทางการแล้ว จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็คือหัวหน้าของคณะรัฐประหาร และหัวหน้าของคณะรัฐบาลในสมัยนี้ แต่จอมพล ป. พิบูลสงครามก็หาได้มีอำนาจและอิทธิพลอย่างที่เคยเป็นมาในสมัยยุคแรก (2481-2487) ไม่ ฐานอำนาจในกองทัพของจอมพล ป. พิบูลสงครามได้หลุดไปอยู่ที่ จอมพลผิน ชุณหะวัณ และนายทหารรุ่นใหม่ที่อ่อนอาวุโสกว่า เช่น สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ทางฝ่ายกองทัพบก) และ เผ่า ศรียานนท์ (บุตรเขยของผิน ชุณหะวัณ และอธิบดีกรมตำรวจ)

กลุ่มของทหารที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทใหม่นี้ต่อไปจะแยกออกเป็นกลุ่มซอยราชครู (ผินและเผ่า) กับกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ (สฤษดิ์) เป็นกลุ่มทหารที่มีความเป็นอนุรักษนิยมมากกว่ากลุ่มทหารที่เข้ามาด้วยการปฏิวัติ 2475 มีความเป็น “ไทยเดิม” และเป็นผลิตผลของระบบการศึกษา “แบบไทยของโรงเรียนนายร้อยทหารบก จปร.” มีความคุ้นเคยหรือมีประสบการณ์เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยและความเป็น “สากล” น้อยกว่า ฐานอำนาจของฝ่ายทหารได้ย้ายออกจากคนรุ่นของจอมพล ป. พิบูลสงครามลงไปสู่รุ่นที่อ่อนอาวุโสกว่าแล้ว

ดังนั้น การเข้าร่วมกับกลุ่มใหม่นี้ จอมพล ป. พิบูลสงครามก็จะต้องปรับบทบาทของตนใหม่ และในตอนปลายของสมัยคณะรัฐประหาร จะเห็นว่าจอมพล ป. พิบูลสงครามจะต้องพยายามสร้างดุลยภาพแห่งอำนาจระหว่าง 2 กลุ่มดังกล่าวเพื่อให้ตนสามารถจะดำรงอยู่ในตำแหน่งได้ ในเวลาเดียวกันก็ต้องพยายามใช้กลุ่มทหารที่ตนมิได้สนิทแนบแน่นนี้นักไปคานอำนาจกับกลุ่มของฝ่ายอนุรักษนิยม ซึ่งแม้จะถูกขจัดออกจากอำนาจ ก็ได้หันเหไปสร้างฐานทางการเมืองใหม่ของตน (เช่น กรณีของ น.ส.พ. สยามรัฐ ตั้งแต่ 2493) รวมทั้งการที่สถาบันพระมหากษัตริย์จะค่อยๆ เริ่มเข้ามามีบทบาทในฐานะแกนกลางของสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง (รัชกาลที่ 9 เสด็จกลับจากสวิตเซอร์แลนด์มาประทับในเมืองไทยเป็นการถาวรตั้งแต่ปี 2495)

ในช่วงระยะเวลาเกือบ 10 ปีของยุคสมัยคณะรัฐประหาร และการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ปัญหาหนึ่งทางการเมืองที่เห็นได้ชัดก็คือปัญหาเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วง 4 ปีแรกของคณะรัฐประหารนั้น ต้องเผชิญหน้าจากการท้าทายจากทั้งในกองทัพด้วยกันและจากนักการเมืองฝ่ายเสรีนิยม-สังคมนิยม ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ของการ “กบฏ” ต่างๆ ตามลำดับ คือ กบฏเสนาธิการทหาร (2491) กบฏวังหลวง (2492) กบฏแมนฮัตตัน (2494) และจากปัญหาของเสถียรภาพทางการเมืองนี้ก็ทำให้คณะรัฐประหารทำการยึดอำนาจอีกครั้ง ในเหตุการณ์ที่เรียกว่าการรัฐประหารทางวิทยุหรือรัฐประหารเงียบ ซึ่งต่อมาก็ทำการกวาดล้าง “ศัตรู” ทางการเมืองอีกครั้งในเหตุการณ์ที่เรียกว่า “กบฏสันติภาพ” (2495)

การก้าวเข้ามาสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยความสนับสนุนของคณะรัฐประหารที่ทำการ “จี้” นายควงอภัยวงศ์ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (6 เมษายน 2491) นอกจากจะสร้างความไม่พอใจโดยทั่วไปต่อฝ่ายนักการเมืองอนุรักษนิยมแล้ว ก็ยังสร้างความไม่พอใจให้กับทหารด้วยกันด้วย ความไม่พอใจนี้ส่วนหนึ่งมาจากนายทหารที่มีแนวโน้มไปในทางยอมรับกฎเกณฑ์และหลักการประชาธิปไตย และเป็นนายทหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการเสรีไทย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2491 ก็ได้มีการจับกุม พลตรีเนตร เขมะโยธิน  พลตรีสมบูรณ์ สรานุชิต  พันเอกสมบูรณ์ สุนทรเขต และ นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร (อดีตเลขานุการรัฐมนตรีสมัยที่นายปรีดี พนมยงค์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี) พร้อมด้วยทหารและพลเรือนประมาณ 60 นาย และเหตุการณ์ดังกล่าวก็รู้จักกันในนามของ “กบฏเสนาธิการ”

ในระยะเวลาดังกล่าว พลตำรวจต รีเผ่า ศรียานนท์ เริ่มมีบทบาทมากยิ่งขึ้น คือ นอกจากจะเคยเป็นนายทหารคนสนิทของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม มาก่อนแล้วก็ยังเป็นบุตรเขยของผิน ชุณหะวัณ เข้าร่วมในการรัฐประหาร 2490 มาแต่ต้น และได้กลายเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจทำหน้าที่คล้ายกับผู้คุ้มครองความมั่นคงปลอดภัยให้แก่คณะรัฐประหาร

ในการจับกุมครั้งนี้นอกเหนือจากนายทหารระดับสูงดังกล่าว บรรดานักการเมืองพลเรือนซึ่งได้ชื่อว่าเป็นฝ่ายของนายปรีดี พนมยงค์ก็ถูกเพ่งเล็งด้วย เช่น นายดิเรก ชัยนาม นายทวี บุณยเกตุ  นายจำลอง ดาวเรือง  นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และ นายถวิล อุดล บรรดาบุคคลเหล่านี้ถูกปล่อยตัวไปเพราะขาดหลักฐาน แต่ก็ชี้ให้เห็นว่าในการรัฐประหารครั้ง 2490 นั้น ผู้นำของฝ่ายเสรีนิยมและสังคมนิยม คือ นายปรีดี พนมยงค์ และ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เท่านั้นที่ต้องหลบหนีไปบรรดานักการเมืองที่เกี่ยวข้องต่างก็ยังคงอยู่ในประเทศไทย ทำให้ฝ่ายรัฐประหารเกิดความรู้สึกว่าตนเองถูกคุกคาม และได้พยายามหาทางที่จะขจัดฝ่ายตรงข้ามของตน (หลังจากเหตุการณ์นี้ไม่เท่าไร ในวันที่ 30 ตุลาคม ก็มีการจับกุมนายฟอง สิทธิธรรม ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี โดยข้อกล่าวหาว่าเป็น “กบฏแบ่งแยกดินแดน” จะนำพรรคพวกไปฝึกอาวุธที่เมืองคุนมิงในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ระยะนี้เป็นระยะที่ตรงกับการรุกหนักของฝ่ายคอมมิวนิสต์จีน และข้อหานี้ก็จะถูกใช้ในการขจัดนักการเมืองพลเรือนที่มีแนวโน้มไปทางด้านสังคมนิยม)

การท้าทายอำนาจทางการเมืองของคณะรัฐประหารปรากฏจริงจังขึ้นในเหตุการณ์ที่เรียกว่า “กบฏวังหลวง” ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2492[3] หรือประมาณ 3 เดือนกว่าภายหลัง “กบฏเสนาธิการ” เหตุการณ์นี้เป็นความพยายามของนายปรีดี พนมยงค์ พร้อมด้วยพรรคพวกที่เคยร่วมงานกันมาในขบวนการเสรีไทย มีทั้งที่เป็นนักการเมืองพลเรือนและที่เป็นนายทหารเรือฝ่าย “กบฏ” ได้ยึดกระทรวงการคลัง (ซึ่งอยู่ในเขตวังหลวง) และมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นที่มั่นในการยึดอำนาจ มีการประกาศตั้ง นายดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้ง พลเรือโท สินธุ์ กมลนาวินเป็นผู้บัญชาการทหารเรือ พลตรี เนตร เขมะโยธิน เป็นผู้บัญชาการทหารบก และ พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ เป็นอธิบดีตำรวจ ฝ่ายรัฐบาลของคณะรัฐประหารซึ่งนำโดย พลตรี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ พลตำรวจตรี เผ่า ศรียานนท์ ทำการปราบปรามอย่างรุนแรง มีการต่อสู้กันด้วยอาวุธในใจกลางของพระนครเป็นเวลา 3 วัน จากความบกพร่องในการประสานงานและจากความไม่แน่นอนในการปฏิบัติการเพื่อยึดอำนาจ ทำให้ฝ่ายกบฏต้องปราชัยไป และถือได้ว่าเป็นความสูญเสียของนักการเมืองฝ่ายเสรีนิยมและสังคมนิยมอย่างชนิดที่ยากยิ่งจะกู้กลับคืนได้ นั่นคือ นายปรีดี พนมยงค์ เองก็ต้องไปลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศ (จีนและฝรั่งเศส)

แต่นั้นจนกระทั่งถึงอสัญกรรมในปี 2526 เป็นเวลาถึง 34 ปีในขณะที่นักการเมืองในค่ายนี้ คือ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายถวิล อุดล นายจำลอง ดาวเรือง และนายทองเปลว ชลภูมิ ถูกฆ่าตายด้วยการยิงทิ้งอย่างทารุณที่ถนนพหลโยธิน กม. 14-15 เขตบางเขน (4 มีนาคม 2492) ตลอดจนทั้งการกวาดล้างบุคคลอื่นๆ อีก เช่น นายทวี ตะเวทิกุล รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงบุคลากรที่บริหารมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองอีกด้วย (น่าสังเกตว่าการพยายามยึดอำนาจครั้งนี้ ฝ่ายของนายปรีดี พนมยงค์ใช้ข้ออ้างในการที่จะนำมาซึ่งระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้เพราะถือได้ว่าการใช้รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มนั้นได้ทำลายประชาธิปไตยลงไป รัฐธรรมนูญฉบับ 2492 อันเป็นฉบับสมัยของนายควง อภัยวงศ์นั้น ก็ยังหาได้มีการประกาศใช้ไม่จนกระทั่งภายหลังกรณีกบฏ คือ 23 มีนาคมปีเดียวกัน)

 

ทองเปลว ชลภูมิ์ (เกิด 6 กุมภาพันธ์ 2455) จบดอกเตอร์ด้านกฎหมายจากฝรั่งเสส เป็นสมาชิกคณะราษฎรเพื่อเปลี่ยนระบอบการปกครองเมื่ออายุ 19 ปี เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรขณะอายุ 29 ปี (ปี 2484-2486) เป็นอาจารย์สอนวิชาด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี เป็นรัฐมนตรี 1 สมัย ต่อมาถูก “ยิงทิ้ง” คารถตำรวจสมัยรัฐบาลคณะรัฐประหารเมื่อ 4 มีนาคม 2492 ขณะอายุ 37 ปี
ทองเปลว ชลภูมิ์ (เกิด 6 กุมภาพันธ์ 2455) จบดอกเตอร์ด้านกฎหมายจากฝรั่งเสส เป็นสมาชิกคณะราษฎรเพื่อเปลี่ยนระบอบการปกครองเมื่ออายุ 19 ปี เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรขณะอายุ 29 ปี (ปี 2484-2486) เป็นอาจารย์สอนวิชาด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี เป็นรัฐมนตรี 1 สมัย ต่อมาถูก “ยิงทิ้ง” คารถตำรวจสมัยรัฐบาลคณะรัฐประหารเมื่อ 4 มีนาคม 2492 ขณะอายุ 37 ปี

 

การต่อต้านรัฐบาลคณะรัฐประหารที่มีความรุนแรงมากที่สุดก็ในกรณีต่อมาคือ “กบฏแมนฮัตตัน” (26 มิถุนายน 2494)[4] ซึ่งเป็นเวลาอีก 2 ปีให้หลังจากกรณีกบฏวังหลวงดังกล่าว ในความพยายามที่จะยึดอำนาจครั้งนี้เป็นเรื่องของนายทหารเรือระดับกลาง ซึ่งมีความไม่พอใจต่อรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และไม่พอใจต่อบทบาทของทั้งฝ่ายทหารบก (สฤษดิ์ ธนะรัชต์) และฝ่ายตำรวจ (เผ่า ศรียานนท์) ซึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องและครอบงำการเมืองไทยอย่างสูง มีลักษณะของความไม่พอใจเช่นเดียวกับนายทหารใน “กบฏเสนาธิการ” แต่นายทหารเรือกลุ่มนี้ไม่สู้มีความเกี่ยวข้อง และเชื่อมโยงกับฝ่ายของนายปรีดี พนมยงค์หรือเสรีไทยเท่าไรนัก เป็นเหตุการณ์ที่เป็นเรื่องระหว่าง ทหารบก (และตำรวจ) กับทหารเรือมากกว่า ในความพยายามจะยึดอำนาจนั้นได้จับกุมจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นตัวประกันนำลงเรือรบหลวงศรีอยุธยา รัฐบาลไม่ยอมรับการเจรจาใดๆ และเป็นครั้งแรกที่ใช้กองทัพอากาศเข้าเกี่ยวข้องในการเมืองภายในอย่างจริงจัง โดยใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดจนเรือรบศรีอยุธยาต้องจมลง กบฏแมนฮัตตันมีความรุนแรงและเสียหายเช่นเดียวกับ “กบฏบวรเดช” พลเรือนบาดเจ็บ 603 คน ตาย 103 คน สำหรับด้านทหารจำนวนไม่เปิดเผยและจากเหตุการณ์นี้ก็ทำให้ฝ่ายทหารเรือถูกตัดกำลังและหมดบทบาทในทางการเมืองไทยไปเป็นเวลานาน ด้านกลับกันก็ทำให้กองทัพบกและตำรวจก้าวขึ้นมามีอำนาจและบทบาททางการเมืองอย่างมากยิ่ง

ลำดับของเหตุการณ์ต่างๆ ที่กล่าวมา ชี้ให้เห็นว่าเมื่อถึงปลายปี 2494 คณะรัฐประหารก็สามารถควบคุมการเมืองไทยไว้ได้โดยเด็ดขาด นักการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมถูกขจัดออกไปเมื่อปี 2491 และในปี 2492 ด้วยความผิดพลาดของฝ่ายเสรีนิยมและสังคมนิยมเอง นักการเมืองฝ่ายนี้ก็ถูกจำกัดโดยสิ้นเชิงจะเหลืออยู่ก็ฝ่ายทหารเรือ ซึ่งในกรณีของกบฏแมนฮัตตันก็ทำให้ทหารเรือถูกขจัดออกไปเช่นกัน ท้ายที่สุดในปี 2495 ในเหตุการณ์เรียกว่า “กบฏสันติภาพ” ก็ทำให้คณะรัฐประหารจับกุมผู้ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามของตนได้อีกระลอกหนึ่งประมาณ 200 คน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นอาจารย์ นักศึกษา ปัญญาชนและนักคิดนักเขียนที่สำคัญ เช่น อุทธรณ์ พลกุล กุหลาบ สายประดิษฐ์ อัศนี พลจันทร์ (นายผี) เปลื้อง วรรณศรี (นายสาง) สิงห์ชัย มังคนนรา (นเรศ นโรปกรณ์) สุภัทร สุคนธาภิรมย์ และ สุพจน์ ด่านตระกูล เป็นต้น

กล่าวโดยย่อจากสภาพปัญหาของเสถียรภาพในช่วงแรกของการครองอำนาจ คณะรัฐประหารได้ก้าวเข้าไปสู่ความมั่นคงภายในสิ้นปี 2494 เป็นระบอบอำนาจนิยมที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์ การใช้อำนาจในทำนองเผด็จการจะเห็นได้ชัดเจนจากบทบาทของพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ (ในขณะที่สฤษดิ์ ธนะรัชต์ สร้างกำลังของตนอยู่เงียบๆ ภายในกองทัพบก) จุดเด่นของยุคระหว่าง 2495-2500 ก็คือบทบาทของตำรวจในการเมืองไทย อันเป็นลักษณะของ “รัฐตำรวจ” (Police State) และการแสวงหาผลประโยชน์ของบรรดาข้าราชการ (ทหาร-พลเรือน) ที่เข้าเป็นข้าราชการการเมือง

 

ที่มา: ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติศาสตร์การเมืองไทย 2475-2500, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราหลวง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2544), น. 465-476


[1]  Edwin F. Stanton, Brief Authority; Excursions of a Common Man in an Uncommon World, (London : Robert Hale, 1956), p.209.

[2] ดู Benedict R. Anderson, In the Mirror; Literature and Politics in Siam in the American Era (Bangkok : Duang Kamol, 1985).

[3]  ดู สุเพ็ญ ศิริคูณ, “กบฏวังหลวง (26 กุมภาพันธิ์ 2492),” (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2518)

[4] ดูรายละเอียด สุดา กาเดอร์, “กบฏแมนฮัตตัน” (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิตแผนกวิชาการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2516) และ ดู น.ต.มนัส จารุภา ร.น., เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล ป. (กรุงเทพฯ : ประพันธ์สาส์น, 2517.