ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

บันทึกข้อเสนอเรื่องขุดคอคอดกระของ นายปรีดี พนมยงค์: พ.ศ. 2463 เมื่อเรือที่ข้าพเจ้าโดยสารแล่นผ่านคลองสุเอซ

7
กุมภาพันธ์
2565

บันทึกข้อเสนอเรื่องขุดคอคอดกระของนายปรีดี พนมยงค์
กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๑

เรียน ท่านนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้ทราบข่าวจากวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ถึงความดำริของรัฐบาลไทยปัจจุบันที่จะขุดคลองที่คอคอดกระ ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ชาติไทยจะได้จากคลองนี้ก็คงมีผู้คิดกันมากแล้ว ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวซ้ำ ข้าพเจ้าขอเน้นเฉพาะความเป็นเอกราชทางเศรษฐกิจของชาติ คือ ถ้าการขุดคลองนี้ดำเนินไปโดยอิสระตามกำลังของชาติไทยเราเอง และป้องกันมิให้อยู่ใต้อิทธิพลของต่างชาติได้ ก็จะเป็นวิถีทางอีกอยางหนึ่งที่ช่วยให้ชาติไทยได้มีความเป็นเอกราชในทางเศรษฐกิจยิ่งขึ้น

โดยที่นายกรัฐมนตรีปัจจุบัน (พลโท ถนอม กิตติขจร) ได้เคยแถลงไว้ว่ายินดีรับฟังความเห็นของคนไทยทั่วไป ข้าพเจ้าจึงคิดว่าการศึกษาค้นคว้าและความคิดอันเกี่ยวกับการสร้างคลองนี้ที่ข้าพเจ้าเคยมีอยู่บ้างเล็กน้อยอาจจะเป็นประโยชน์แก่มวลราษฎรไทยและรัฐบาลไทยบ้างก็เป็นได้ ดังนั้นข้าพเจ้าจึงเขียนจดหมายมายังท่าน เพื่อขอให้ท่านนำส่งต่อไปยังรัฐบาล และก่อนนำส่งขอให้ท่านคัดกับอัดสำเนาจดหมายฉบับนี้แจกไปยังหนังสือพิมพ์ต่างๆ เพื่อราษฎรและรัฐบาลรับไว้ประกอบการพิจารณาในการที่จะสร้างคลองนี้ให้สำเร็จตามอุดมการณ์ดังกล่าวข้างต้น

 

-๑-

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ ขณะที่เรือลำซึ่งข้าพเจ้าโดยสารเพื่อไปยังประเทศฝรั่งเศสได้แล่นผ่านคลองสุเอซนั้น ข้าพเจ้าได้ถาม อาจารย์เลเดแกร์ (ชาวฝรั่งเศสที่เคยเป็นที่ปรึกษากฎหมายและอาจารย์โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม) ซึ่งเดินทางไปด้วยถึงเรื่องราวของคลองสุเอซ เมื่ออาจารย์ได้เล่าให้ฟังพอสมควรแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้ระลึกถึงเรื่องที่เคยได้ยินมานั้นแต่ยังเป็นนักเรียนมัธยมอยู่ว่ารัฐบาลไทยสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้ดำริที่จะ ขุดคอคอดกระ แต่มีอุปสรรคเนื่องจากปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ

ข้าพเจ้าจึงได้ถามอาจารย์ผู้นั้นว่า ถ้าประเทศสยามจะฟื้นฟูความคิดขุดคลองกระขึ้นมาอีก ต่างประเทศจะว่าอย่างไร

อาจารย์ตอบว่า สำหรับฝรั่งเศสไม่มีปัญหา คือ ถ้าขุดได้ก็เป็นการดีเพราะจะทำให้คมนาคมระหวางฝรั่งเศสกับอินโดจีนทางทะเลสั้นเข้าอีก อาจารย์ได้เล่าให้ฟังถึงการที่ชาวต่างประเทศเคยเสนอโครงการต่อรัชกาลที่ ๕ เพื่อขุดคลองที่กล่าวนี้ ท่านแนะว่า ถ้าข้าพเจ้าสนใจที่จะทำประโยชน์ให้ประเทศชาติของข้าพเจ้าแล้ว เมื่อข้าพเจ้าอยู่ในฝรั่งเศสก็ควรค้นคว้าศึกษาถึงเรื่องคลองนั้น และเทียบเคียงดูกับเรื่องคลองสุเอซ คลองปานามา คลองคีลของเยอรมัน คลองโครินธ์ของกรีก

ต่อมา เพื่อนของข้าพเจ้าจำนวนหนึ่งกับข้าพเจ้าได้คิดทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยตั้งแต่เรายังอยู่ด้วยกันในประเทศฝรั่งเศส ข้าพเจ้าได้เสนอหลักการอันเป็นรากฐานสำคัญที่เป็นจุดหมายของข้าพเจ้าในการเปลี่ยนแปลงนั้น คือ จุดประสงค์อันยิ่งใหญ่ อยู่ที่ความปรารถนาให้ชาติไทยมีความเป็นเอกราชสมบูรณ์ซึ่งรวมทั้งเอกราชในทางเศรษฐกิจด้วย (ผู้อ่านเค้าโครงการเศรษฐกิจของข้าพเจ้าคงเห็นความปรารถนาของข้าพเจ้าในเรื่องที่กล่าวนี้แล้ว)

มิตรสหายดังกล่าวแล้ว ได้ตกลงมอบให้ข้าพเจ้าพิจารณาแก้ปัญหาเศรษฐกิจของชาติ ข้าพเจ้าจึงได้พิจารณาตามสติปัญญาอันน้อยของข้าพเจ้าและโดยเฉพาะการขุดที่คลองที่คอคอดกระนั้น ข้าพเจ้าได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องการขุดคลองที่คอคอดต่างๆ ตามที่อาจารย์เลเดแกร์เคยแนะนำไว้

ผลแห่งการศึกษาค้นคว้าของข้าพเจ้าในสมัยนั้น ทำให้ข้าพเจ้าเห็นว่าในแง่การช่างนั้น การขุดคลองที่คอคอดต่างๆ ซึ่งแม้ภูมิประเทศจะเป็นภูเขาก็สามารถทำได้ เช่น คลองปานามา เป็นต้น แต่ปัญหาอยูที่แรงงาน ทุน การเมือง ระหว่างประเทศในเรื่องแรงงานนั้น ปรากฏว่า การขุดคลองสุเอซ ต้องใช้วิธีเกณฑ์แรงราษฎรอาหรับซึ่งต้องล้มตายกันมาก ส่วน การขุดคลองปานามา นั้น แม้จะใช้วิธีจ้างคนงานแต่คนงานก็ต้องล้มตายเพราะไข้มาลาเรียมาก การขุดคลองคีลและคลองโครินธ์ ไม่มีปัญหา ดังกล่าวนี้

ข้าพเจ้าคิดว่า ถ้าจะขุดคลองกระแล้วก็ต้องใช้วิธีจ้างคนงานและมีเครื่องมือทุ่นแรงที่ทันสมัยกว่าแต่ก่อนและต้องระวังเรื่องโรคภัยไข้เจ็บของคนงานซึ่งรัฐบาลมีทางแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ในเรื่องเงินทุนนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าการขุดคลองคีลและคลองโครินธ์ได้ใช้จ่ายเงินของประเทศนั้นเอง จึงไม่มีปัญหาอันใดที่ต่างประเทศจะแทรกแซงในธุรกิจอันเป็นไปตามอธิปไตยของชาตินั้น แต่สำหรับคลองสุเอซนั้นก็รู้กันอยู่ทั่วไปแล้วว่าต้องใช้ทุนของหลายประเทศอันทำให้ไอยคุปต์ต้องเสียอธิปไตยในเขตคลองนั้นไป

ส่วนการขุดคลองปานามานั้น เดิมฝรั่งเศสได้รับสัมปทานจากประเทศโคลัมเบีย ซึ่งเจ้าของเขตปานามาแต่บริษัทนั้นขุดไปไม่สำเร็จ การงานต้องหยุดชะงักลงและมีการชำระบัญชีบริษัทนั้น

ต่อมา ส.ร.อ. ได้ทำการเจรจากับโคลัมเบียเพื่อขอสัมปทานขุดคลองปานามา รัฐบาลโคลัมเบียสมัยนั้นได้ประวิงการสัตยาบันข้อตกลงกับ ส.ร.อ. เพื่อเกี่ยงที่จะได้ประโยชน์ยิ่งขึ้น ใน ค.ศ. ๑๙๐๓ ได้เกิดมีขบวนการแบ่งแยกดินแดนโคลัมเบียโดยแยกเขตปานามาออกเป็นอีกประเทศหนึ่งต่างหากจากโคลัมเบีย

รัฐบาลโคลัมเบียได้ส่งกองทหารไปเพื่อจะปราบขบวนการนี้ แต่ได้ถูกต้านโดยนาวิกโยธินอเมริกันแห่งเรือลาดตะเวน ส.ร.อ. ชื่อ “แนชวิลล์” ซึ่งอ้างนัยของสัญญาที่มีไว้แต่ปางก่อนว่า ส.ร.อ. มีสิทธิคุ้มครองที่จะให้บริเวณคอคอดปานามานั้นเป็นแดนเปิด การสู้รบระหว่างกองทหารของรัฐบาลโคลัมเบียกับขบวนการเอกราชของปานามาจึงสงบลง ต่อมาอีกไม่กี่วันรัฐบาล ส.ร.อ. ก็รับรองประเทศปานามาที่ตั้งขึ้นใหม่นั้น และประเทศปานามาก็ทำสนธิสัญญายกเขตคลองปานามาให้อยู่ในความอารักขาของ ส.ร.อ. ฉะนั้น ปัญหาเรื่องทุนเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด และอาจเป็นเหตุให้มีการแบ่งแยกดินแดนตั้งขึ้นเป็นประเทศใหม่ เช่น ประเทศปานามา เป็นต้น

ในส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาการเมืองระหว่างประเทศโดยทั่วไปนั้นก็เป็นที่ชี้เห็นประจักษ์อยู่แล้วสำหรับคลองสุเอซและคลองปานามา ส่วนคลองคีลและคลองโครินธ์ไม่มีปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ สำหรับการขุดคลองกระในสมัยที่ข้าพเจ้าศึกษาอยู่นั้น เห็นว่าปัญหามิได้อยู่แต่เพียงว่าที่จะต้องระมัดระวังระบอบอาณานิคมอังกฤษอย่างเดียวเท่านั้น คือ ต้องระลึกถึงตัวอย่างของคลองอื่นๆ ที่จะมีผลในทางการเมืองตามมาอีกด้วย ถ้าหากเราไม่ระมัดระวังให้ดี และถ้าคิดหาทุนโดยการกู้เงินต่างประเทศแทนที่จะเอาทุนของเราเองแล้วจะทำให้มีภาระหลายอย่างติดตามมา

 

ที่มา: (เนื้อหาช่วงต้น) จดหมายจากนายปรีดี พนมยงค์ ถึง นายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย. เขียนเมื่อ กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 เรื่อง “แผนขุดคอคอดกระ” ตีพิมพ์ลงในหนังสือ “ชีวิตและงานของดร.ปรีดี พนมยงค์” โดย สุพจน์ ด่านตระกูล (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552) 

หมายเหตุ: ตั้งชื่อเรื่องโดยบรรณาธิการ