ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ลาก่อนชีวิต... ลาก่อนแม้แต่สิ่งอันสุดที่รัก !

17
กุมภาพันธ์
2565

ครั้นแล้ววันพุธที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๘ สถานการณ์ในเรือนจำมหันตโทษก็เริ่มเคร่งเครียด ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น นอกจาก ขุนนิยมบรรณสาร ผู้บัญชาการเรือนจำเท่านั้นที่กำความลับไว้ ทุกคนต่างพากันปฏิบัติไปตามคำสั่งโดยไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

เมื่อ ๑๗.๐๐ น. ได้มีประกาศประชุมด่วน ห้ามมิให้พนักงานทุกคนออกไปจากเรือนจำอย่างเด็ดขาด

ผู้ต้องขังทั้งหมดถูกจัดให้เข้าเรือนขังหมดก่อนปกติ คือก่อน ๑๗.๐๐ น. มหันตโทษอันกว้างใหญ่และเต็มไปด้วยเสียงมาตลอดทั้งวัน พลันก็เงียบลงอย่างฉับพลัน

การประชุมได้ยุติลงเมื่อ ๑๗.๔๐ น. ฉับพลันนั้นเจ้าหน้าที่ทุกคนต่างก็กระจายกำลังกันออกไปประจำตามจุดต่างๆ ที่กำหนด

และที่แดน ๑ อันเป็นที่ขังนักโทษต้องประหารทั้ง ๓ นั้น ข้างๆ ที่ตั้งกองรักษาการณ์ก็เพียบพร้อมไปด้วยหัวหน้าแผนกต่างๆ จากพัศดีจนถึงเจ้าพนักงานผู้คุม

นักโทษต้องประหารทั้ง ๓ มิได้เฉลียวใจเลยจนนิดเดียวว่า เวลาที่คืบคลานเข้ามาอย่างน่าเบื่อหน่ายนั้น กำลังจะพรากชีวิตเขาไปจากคนอันเป็นสุดที่รัก และหวงแหน ท่ามกลางหัวใจที่ทุกข์ทรมานมาเป็นเวลาเดือนแล้วเดือนเล่า แล้วก็ปีแล้วปีเล่าจะสิ้นสุดลงอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า

เวลา ๑๘.๐๐ น. ตรง นายหลอม บุญอ่อน หัวหน้าพนักงานควบคุมสั่งให้เจ้าหน้าที่จำเครื่องพันธนาการ เตรียมตรวนไว้ ๓ คู่ แล้วให้นำไปรออยู่ที่กองรักษาการณ์ เพื่อจะได้จำเครื่องพันธนาการให้แก่นักโทษประหารทั้ง ๓ คน พร้อมกันนั้นเจ้าพนักงานอีกพวกหนึ่งก็ได้ทยอยกันเข้าสู่แดน ๑ ทีละคนสองคน โดยมีพัศดีหลายนาย กับเจ้าพนักงานควบคุมอีกสิบกว่าคนไปรับตัวนักโทษทั้ง ๓ ออกมาจำเครื่องพันธนาการ

แม้กระนั้น นักโทษประหารทั้ง ๓ ก็ยังไม่รู้ว่า เขาจะเอาตัวไปไหน ทำอะไร เพราะไม่มีใครเลยจะบอกเขาได้

นายเฉลียว ปทุมรส เปิดประตูแดน ๑ ออกมาเป็นคนแรกตามมาด้วย นายชิต สิงหเสนี และ นายบุศย์ ปัทมศริน ภายใต้การควบคุมของพัศดีหลายนาย นำนักโทษประหารทั้ง ๓ ไปนั่งที่กองรักษาการณ์ นายเฉลียว ปทุมรส ถูกเรียกชื่อเป็นคนแรก แล้วต่อมาก็นายชิต สิงหเสนี นายบุศย์ ปัทมศริน 

บัดนี้ ทุกคนรู้แล้วว่า เขาถูกนำมาที่นี่เพื่ออะไร.... พลันนั้นสีหน้าของนักโทษต้องประหารทั้ง ๓ ก็ซีดเผือด หมดแล้วสำหรับความหวังที่จะได้รับความปราณีจากพระผู้เป็นเจ้า หมดแล้วสำหรับความหวังที่จะมีชีวิตอยู่อีกต่อไป หมดสิ้นแล้วทุกอย่าง จะเรียกร้องหาไม่ได้แล้วความช่วยเหลือจากใครที่ไหน

เมื่อถูกเรียกชื่อไปจำตรวน นายชิตและนายบุศย์ นั้นเต็มไปด้วยความตระหนกตกใจหวาดกลัวอย่างเห็นได้ชัด ทั้งคู่ต่างยืนจดๆ จ้องๆ จนกระทั่งนายเฉลียว ปทุมรสต้องหันมาดุ

“ว๊ะ....จะไปกลัวอะไร เข้ามาซี เกิดมาก็ตายหนเดียว” 

แล้วตัวเขาเองก็หันไปพูดอย่างคนที่ระงับอารมณ์โศกเศร้าด้วยสีหน้ายิ้มๆ ว่า 

“น้องชายระวังนะ อย่าตีตรวนให้พลาดถูกหน้าแข้งนะ”

และดูเหมือนนายเฉลียว ปทุมรสคนเดียวเท่านั้นที่พูดปลอบใจตัวเองอยู่ตลอดเวลาระหว่างการจำตรวน กับ พัศดีปราศรัย อภิรัตนพันธุ์ เขาพูดด้วยประโยคสั้นๆ เป็นการเตือนสติว่า “คุณปราศรัย คุณเป็นพัศดียังหนุ่มๆ อยู่ ทำอะไรคุณจงรับราชการให้ดีนะ” เสร็จแล้วก็เปรยขึ้น 

“ผมขอทำพินัยกรรมจะได้ไหมครับ” แล้วก็หันไปดูนายชิตกับนายบุศย์ เมื่อเห็นทั้ง ๒ คนยังยืนรีรออยู่อีกก็เตือนซ้ำสองว่า 

“เข้ามาเถิดน่า จะไปกลัวอะไร เกิดมาตายหนเดียว” 

เมื่อการจำตรวนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ถูกนำมาให้นายตำรวจสันติบาลซึ่งมาคอยทำการพิมพ์ลายมืออยู่ ณ หอรักษาการณ์ ๗ ชั้น เสร็จจากนั้นก็ถูกนำตัวไปให้ นายเชื้อ ทัศนเจริญ ตรวจโรคบันทึกสุขภาพไว้ และทำการตรวจค้นตัวอีกครั้งหนึ่ง แล้วทั้ง ๓ นักโทษประหารก็ถูกควบคุมตัวไปไว้ ณ ห้องเยี่ยมญาติ ในหอรักษาการณ์ ๗ ชั้น ขณะนั้นเป็นเวลา ๑๘.๐๐ น. 

ตลอดเวลาถูกนำตัวไปทำพิธีต่างๆ นั้น นายบุศย์ ปัทมศริน ยิ่งรู้ตัวว่าจะต้องตายก็แทบจะสิ้นกำลัง เนื้อตัวอ่อนปวกเปียก ครั้นจะก้าวเดินก็แทบไม่ไหว

ในระหว่างการควบคุมตัวอยู่นั้น นายแพทย์เชื้อกับผู้ช่วยแพทย์อีกคนหนึ่ง นั่งเฝ้าคอยดูตรวจอาการของนักโทษประหารทั้ง ๓ อยู่ตลอดเวลา กำลังเจ้าพนักงานของเรือนจำรักษาการณ์ภายในเรือนจำตามจุดต่าง ๆอย่างเข้มแข็งเป็นพิเศษ ไฟฟ้าภายในห้องเยี่ยมซึ่งจัดเป็นที่พำนักของนักโทษประหารทั้ง ๓ ได้ติดตั้งใหม่เพิ่มกำลังไฟจาก ๑๐๐ แรงเทียนอีก ๓ ดวง ภายในห้องนั้นล้อมรอบไปด้วยบรรดาเจ้าหน้าที่ควบคุมอย่างเข้มแข็งโดยจัดเจ้าหน้าที่เข้าไปนั่งคั่นระหว่างนักโทษคนต่อคน และจัดเสื่อนอนกับเก้าอี้อย่างละ ๑ ตัวแจกแก่นักโทษต้องประหารทั้ง ๓ 

นายแพทย์เชื้อได้ฉีดยาบำรุงหัวใจให้แก่นายเฉลียว ๑ เข็มเมื่อตรวจดูว่าจิตใจของนายเฉลียวไม่สู้ปกติ เมื่อเวลา ๑๙.๑๐ น.

ตลอดเวลาที่รอคอยเวลาประหารนั้น นายเฉลียว ปทุมรส ได้พยายามชวนเจ้าหน้าที่คุยอยู่เกือบไม่ขาดปาก ซึ่งเป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่จะปลอบใจให้เขาหายโศกเศร้า วิตกหวาดกลัว เมื่ออีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้แล้วตัวจะต้องเข้าสู่หลักประหาร

ส่วน นายชิต สิงหเสนี นั้นคงนั่งกอดอกนิ่ง ไม่มีใครรู้ว่าเขากำลังคิดอะไร จากนี้ไปอีกไม่นานนักแล้วเขาจะต้องทอดทิ้งร่างกายเอาไว้เบื้องหลังให้ลูกเมียร่ำไห้ วิญญาณนั้นก็จะล่องลอยไปไม่รู้หนไหน

สำหรับ นายบุศย์ ปัทมศริน นั้นเล่า ความอ่อนแอหวาดวิตกทำให้เขาเป็นลมไปครั้งแล้วครั้งเล่า ผุดลุกผุดนั่ง กระวนกระวายใจ ก็จะให้เขานั่งนิ่งอยู่กระไรได้เล่า ในเมื่อรู้ตัวว่ายิ่งเวลาผ่านไปเท่าไหร่ความตายก็ใกล้เข้ามาเยือน เมื่อต้องคำพิพากษาให้ประหารนั้นก็ทุกข์ทรมานนักแล้ว เมื่อยิ่งมารู้ตัวจะต้องตายในเวลาอันใกล้ เป็นการตายอย่างรู้กำหนดเวลา ภาพของเมียรัก ญาติพี่น้องก็คงจะผุดขึ้นมาหลอกหลอนอารมณ์ ไหนจะเป็นห่วง ไหนจะคิดถึง ตายโดยไม่ได้เห็นหน้า ไม่ได้สั่งเสีย จากครั้งนี้แล้วก็เป็นการจากชั่วกัลปาวสาน

เมื่อเวลา ๒๒.๐๐ น. นายหลอม บุญอ่อน และ พัศดีประหยัด โลหะรัตน์ ได้เข้ามาเป็นพยานในการทำพินัยกรรมของนักโทษประหารทั้ง ๓ 

 

สำเนาจดหมายฉบับจริงของนายบุศย์ ปัทมศริน จากหนังสือ “ข้อเท็จจริงกรณีสวรรคต”
สำเนาจดหมายฉบับจริงของนายบุศย์ ปัทมศริน
จากหนังสือ “ข้อเท็จจริงกรณีสวรรคต”

 

ถอดข้อความจดหมายของนายบุศย์ ปัทมศริน จากหนังสือ “ข้อเท็จจริงกรณีสวรรคต”
ถอดข้อความจดหมายของนายบุศย์ ปัทมศริน
จากหนังสือ “ข้อเท็จจริงกรณีสวรรคต”

 

จนกระทั่งเวลา ๐๑.๐๐ น. พระภิกษุเนตร ปัญญาโพธิ เจ้าอาวาสวัดบางขวาง ซึ่งรับนิมนต์มาเทศน์โปรดนักโทษต้องประหารทั้ง ๓ ก็มาถึง ทางเรือนจำได้จัดที่เทศน์ไว้ในห้องเยี่ยมญาตินั่นเอง ระหว่างที่นั่งเทศน์กับที่นั่งนักโทษมีลูกกรงกั้นไว้ระยะห่างกันพอพูดกันได้ยิน

เมื่อเวลา ๐๒.๐๐ น. พระก็เริ่มเทศน์ นายเฉลียว ปทุมรส เป็นผู้อาราธนาศีลด้วยสุ้มเสียงเป็นปกติ เจ้าอาวาสวัดบางขวางเทศน์บทพระธรรมว่าด้วยเรื่อง “สรณะ” เป็นบรรทัดฐานเพื่อโน้มน้าวจิตใจของนักโทษประหารทั้ง ๓ ให้ยึดมั่นในศาสนาและพระพุทธคุณเป็นที่ตั้งก่อนดับขันธ์

เมื่อเทศน์เสร็จแล้ว เจ้าอาวาสวัดบางขวางก็ได้พูดปลอบใจและพยายามชี้ให้เห็นเรื่องของกรรม อันเป็นที่ตั้งแห่งการเกิดและการตาย

ต่อมาเจ้าอาวาสวัดบางขวางได้กล่าวว่า “ความรู้สึกของอาตมาหลังจากทราบข่าวเรื่องการประหารนักโทษทั้ง ๓ แล้วเป็นความรู้สึกที่กล่าวยาก บอกได้แต่เพียงว่า อาตมานอนไม่หลับเลยจนถึงเวลานัด” ท่านได้บอกต่อไปว่า นายเฉลียว ปทุมรส และนายชิต สิงหเสนี นั้นพยายามระงับอารมณ์เป็นปกติ แต่ นายบุศย์ ปัทมศริน นั้นเต็มไปด้วยความเศร้าโศกพร้อมกับสั่งกับเจ้าอาวาสวัดบางขวาง ฝากสั่งเสียไปถึง พระมหิทธิ์สรราช ผู้เคยเป็นนายเก่า และคนจังหวัดเดียวกันด้วยเสียงเครือระห้อยว่า 

“ขอลา....”

เมื่อพระเทศน์จบแล้ว นายเฉลียว ปทุมรสได้ถวายเงินทั้งหมดที่มีฝากไว้ในหมวดสงเคราะห์ของเรือนจำราว ๑๐๐ บาทแก่ท่านเจ้าอาวาส นายชิตกับนายบุศย์อีกคนละ ๑๐ บาท

แล้วนายเฉลียว ปทุมรส ก็คลานเข้ามาใกล้เหมือนว่าจะสั่งเสียอะไรสักอย่างแก่เจ้าอาวาส ก็พอดี พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ พล.ต.ต. หลวงแผ้วพาลชน และนายตำรวจอีกหลายนายมาถึง 

เมื่อเห็น นายเฉลียว ปทุมรส ก็ร้องทักด้วยเสียงเป็นปกติว่า

“อ้อ....คุณเผ่า”

นักโทษต้องประหารทั้ง ๓ ต่างพากันลุกขึ้นยืน โดยฉับพลันนั้นนายเฉลียว ปทุมรส ก็ร้องเชิญพล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์

“เชิญทางนี้หน่อยครับท่านรัฐมนตรี ผมอยากจะสนทนาด้วย” 

พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ หยุดชะงักมองหน้านายเฉลียว ปทุมรส แล้วก็หันไปโบกมือให้คณะผู้ติดตามและบรรดาเจ้าหน้าที่ทุกคนถอยห่างออกไป การสนทนาเริ่มขึ้นประมาณ ๑๐ นาทีก็สิ้นสุดลง โดยหามีใครรู้ไม่ว่า นายเฉลียว ปทุมรส ได้พูดอะไรกับ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ การสนทนานั้นเป็นความลับมาจนกระทั่งบัดนี้

ใกล้จะรุ่งสาง........

ยามนั้นน้ำค้างจะพร่างพรหม อากาศเดือนกุมภาพันธ์กำลังเยือกเย็น ดอกไม้ใบหญ้าคลี่ดอกและใบออกรับแสงแดดที่จะปรายลงมาอาบในอีกไม่กี่นาที ความสุขใดเล่าที่จะได้รับเท่าตอนเช้า

แต่ในยามนั้น ชีวิตของผู้ตกอยู่ภายใต้ห้วงแห่ง “พรหมลิขิต” ทั้ง ๓ กำลังตกอยู่ในความทุกข์อย่างหมดหัวใจ ความตายของใครเล่าจะโหดร้ายนักเท่ากับการตายเมื่อหูต้องฟัง และประสาททุกส่วนก็กระชับแน่น นับวินาทีที่เสียงปืนจะลั่นขึ้น แม้จะปวดเจ็บทรมานเพียงชั่วแปลบ

อาหารมื้อเช้าซึ่งเป็นมื้อสุดท้ายในชีวิต กลิ่นกาแฟหอมฉุย พร้อมด้วยข้าวต้ม แต่ใครเลยเมื่อตกอยู่ในสภาพจิตใจเช่นนั้นจะกล้ำกลืนลง มีแต่น้ำชาและน้ำส้มเท่านั้นที่กลั้วคอบรรเทาความแห้งเหือด

ครั้นแล้วการประหารก็เริ่มขึ้น.......

นายเฉลียว ปทุมรส ถูกเบิกตัวเข้าสู่บริเวณโรงประหารเป็นคนแรก โรงประหารนั้นสร้างขึ้นเป็นโรงมีหลังคามุงเรียบร้อย ประดับด้วยไฟนีออนสว่างไสว นายเฉลียว ปทุมรส ถูกควบคุมตัวมาจากหอบังคับตึก ๗ ชั้นมาหลักประหาร 

นายเฉลียว ปทุมรส ผู้เต็มไปด้วยความแข็งแกร่งตลอดเวลา ตกมาถึงตอนนี้อาการหมดกำลังก็ปรากฏ เขาหมดกำลังที่จะก้าวขาเดินต่อไป จนเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมต้องเข้าช่วยกันประคองนำเข้าไปผูกตาติดกับหลักประหารซึ่งทำเป็นรูปไม้กางเขนในท่ายืนพนมมือเหนือศีรษะ มีดอกไม้ธูปเทียนอยู่ในมือหันหลังให้กับปืนกลอาวุธประหารที่จะส่งวิญญาณของเขาออกจากร่าง 

เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้วป้ายสีน้ำเงินก็เลื่อนปิดเอาป้ายสีขาวกลัดติดไว้ตรงระดับหัวใจของผู้ต้องประหาร นายเหรียญ เพิ่มกำลังเมือง เพชฌฆาตอายุใกล้ ๖๐ แต่งชุดสีแดงสดเข้าประจำปืนกล “แบล๊คมัน” ซึ่งตั้งอยู่ห่างประมาณ ๕ วา นิ้วของเขาสอดเข้าไปไว้ที่โกร่งไก รออาณัติสัญญาณจากธงสีแดงในมือของ ม.จ.วรพงษ์ทัศนา วรวุฒิ ซึ่งยืนอยู่ตรงหน้า

แล้ววินาทีประหารก็มาถึง เมื่อธงแดงในมือของ ม.จ.วรพงษ์ทัศนา วรวุฒิ ลดต่ำลง นายเหรียญ เพิ่มกำลังเมือง ก็เหนี่ยวไกพ่นกระสุนเข้าใส่ร่างของนายเฉลียว ปทุมรส อดีตราชเลขานุการในพระองค์ เสียงดังสนั่นหวั่นไหว ชีวิตของเขาจบลงเมื่อ ๔.๒๐ น. ของวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๘ 

แล้วม่านสีน้ำเงินก็ถูกรูดออก นายแพทย์เชื้อ พัฒนเจริญ เข้าไปตรวจชีพจรอย่างถ้วนถี่ ติดตามด้วย พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ซึ่งอยู่ในชุดสากลสีขาวสวมหมวกไบเล่ห์สีแดง ปรากฏว่ากระสุนทุกนัดตัดหัวใจของนายเฉลียว ปทุมรสพอดี เขาตายอย่างสนิทในฉับพลันนั้น ในเครื่องแต่งกายกางเกงแพรสีน้ำตาลไหม้ เสื้อยืดคอกลมสีขาว สวมถุงเท้าและรองเท้าอย่างเรียบร้อย

สิ้นทุกข์สิ้นความทรมานโดยสิ้นเชิง !

แล้วอีก ๒๐ นาทีต่อมา เจ้าหน้าที่ก็นำตัว นายชิต สิงหเสนี นักโทษต้องประหารคนที่ ๒ ลงมาจากหอบังคับการ นายชิต สิงหเสนีย์ เดินอย่างสง่าผ่าเผยเหมือนครั้งหนึ่งที่เคยเดินอยู่ในราชสำนักชั้นสูง ท่าทางและสีหน้าของเขาไม่ได้สะทกสะท้านต่อแบล๊คมันที่เห็นอยู่ตรงหน้าและเสียงที่แผดคำรามตัดชีวิตเพื่อนผู้ต้องประหารของเขาไปแล้ว

แล้วอีกไม่กี่วินาทีต่อมา วิญญาณของเขาก็ถูกกระชากออกจากร่างด้วยความเหี้ยมเกรียม ของเสียงกระสุนที่แผดคำรามอย่างสนั่นหวั่นไหว เขาจากไปในเครื่องแต่งกายชุดกางเกงขาสั้นสีเทา เสื้อกุยเฮงแพรสีนวล สวมถุงเท้าและรองเท้าเรียบร้อย

 

ลาก่อนชีวิต...ลาก่อนแม้แต่สิ่งอันสุดที่รัก !

โอ้...เราจะไม่ได้พบกันอีกเลยจากนี้ไปจนชั่วกัปชั่วกัลป์

 

จากนั้น... นักโทษต้องประหารคนสุดท้าย นายบุศย์ ปัทมศริน อดีตมหาดเล็กหน้าห้องซึ่งมีตำแหน่งใกล้ชิดกับเบื้องพระยุคลบาทของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ถูกนำเข้าสู่หลักประหารภายใต้การควบคุมและพยุงแขนของพัศดีและเจ้าพนักงานอย่างเข้มแข็ง เพราะนายบุศย์เกิดเป็นลมขึ้นอีก ร่างของเขาระทวยหมดเรี่ยวหมดแรงจนกระทั่งนำเข้าสู่หลักประหารเสร็จเรียบร้อย 

อีกชั่ววินาทีต่อมา...

“แบล๊คมัน” ก็แผดเสียงเหมือนเสียงร้องของมัจจุราชเด็ดวิญญาณของนายบุศย์ ปัทมศริน ออกจากร่าง เมื่อเวลา ๕.๑๐ น. แต่เมื่อนายแพทย์เชื้อได้เข้าไปตรวจปรากฏว่านายบุศย์ยังไม่ตาย เขาหายใจคร๊อก คอยังตั้งตรง “แบล๊คมัน” จึงต้องคำรามอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการยิงทีละ ๘ นัด จนหมดกระสุน คอของเขาก็หงายพับไปข้างหลัง ร่างพรุนไปด้วยกระสุนถึง ๒๘ นัด เลือดสาดกระจายเต็มไปหมด แล้วร่างของเขาก็ล้มฮวบลงเมื่อแก้มัดออกจากหลักประหาร 

ใครเล่าจะรู้ยิ่งไปกว่าตัวเขาว่า

เขาทรยศต่อชีวิต หรือชีวิตทรยศต่อเขา.... บัดนี้เขาลาโลกไปแล้วทั้ง ๓ คน ลาไปท่ามกลางความเยือกเย็นของอากาศ ความวังเวงของความเงียบ ลำแสงแรกของดวงอาทิตย์ค่อยฉายแสงขึ้นมาอาบโลกทีละน้อยๆ ชีวิตเริ่มเคลื่อนไหวต่อไป พร้อมด้วยความดี พร้อมด้วยความชั่วเหมือนรอยโครอยเกวียน

 

ร่างผู้ต้องโทษประหารชีวิตถูกขนย้ายออกจากเรือนจำ
ร่างผู้ต้องโทษประหารชีวิตถูกขนย้ายออกจากเรือนจำ

 

นางชูเชื้อ สิงหเสนี ภรรยา และบุตรสาวของนายชิต สิงหเสนี เมื่อทราบข่าวว่านายชิต สิงหเสนีถูกประหารชีวิตไปแล้ว
นางชูเชื้อ สิงหเสนี ภรรยา และบุตรสาวของนายชิต สิงหเสนี
เมื่อทราบข่าวว่านายชิต สิงหเสนีถูกประหารชีวิตไปแล้ว

 

หลังจากที่ นายชิต สิงหเสนี ถูกประหารชีวิตไปลูกของนายชิต สิงหเสนี ก็ได้แต่งบทกลอนไว้ดังนี้

 

ใครหนอ
เขาห่อพ่อไว้ไม่ให้เห็น
รอยเลือดหยาดระกระเซ็น
แลเห็นเต็มพื้นดื่นนอง
พ่อเคยเกลียดใครไหนเล่า
พวกเราจึงต้องหม่นหมอง
เคยเห็นแต่รักภักดิ์ครอง
ทุกห้องหัวใจไมตรี
ในปลักแห่งความเศร้าสร้อย
เลือดรดหยดย้อยเต็มที่
ปริ่มในหัวใจดวงนี้
มากกว่านองที่พื้นดิน
นี่คือผลแห่งเมตตา
ความตายหมายฆ่าคนหิน
หยามเหยียดเกลียดกลัวชั่วจินตร์
ดูหมิ่นศักดิ์ศรี..........ที่มัน
สักวันเถอะหนอพวกนี้
จะมีสิ่งบาปหยาบหยัน
ทวยเทพลงโทษลงทัณฑ์
สักวันคงมี..........ทีเรา
ตะปูหัวหมุดสุดท้าย
ตอกคล้ายกดใจให้เหงา
ความเจ็บเหน็บแนบนิ่งเนา
ลึกเข้าจิตรวดปวดเป็น
ใครหนอ
เขาห่อพ่อไว้ไม่ให้เห็น
น้ำตาเปื้อนปิดมิดเม้น
หยดเห็นหยาดเลือด..........เชือดใจ

 

หลังจากการประหารชีวิตจำเลยทั้งสาม ศพของจำเลยทั้งสามก็ได้ถูกเก็บรักษาไว้ที่วัดแต่ละแห่ง โดยทายาทของจำเลยมีความประสงค์จะไม่ทำการฌาปนกิจจนกว่าจะได้รับความเป็นธรรมโดยการคืนความบริสุทธิ์ให้แก่จำเลย แต่เมื่อเวลาล่วงเลยไปหลายสิบปี จำเลยทั้งสามผู้ถูกประหัตประหารไปนั้นก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ทายาทจึงได้ทยอยทำการฌาปนกิจ 

ศพของ นายเฉลียว ปทุมรส ถูกเก็บไว้ที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และได้รับการฌาปนกิจเมื่อ พ.ศ. 2515 โดย นางฉลวย ปทุมรส ภรรยา 

ศพของ นายชิต สิงหเสนี ได้รับการฌาปนกิจ ณ วัดจักรวรรดิราชาวาส เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2521 โดย นางชูเชื้อ สิงหเสนี เป็นเจ้าภาพ 

ศพของ นายบุศย์ ปัทมศริน ได้รับการฌาปนกิจที่วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร เมื่อ พ.ศ.2532  โดย ทายาทของนายปรีดี พนมยงค์ และ ทายาทของนายฟัก ณ สงขลา ทนายความของจำเลยทั้งสาม