ผมเพิ่งมีโอกาสได้รู้จักกับ คุณดุษฎี พนมยงค์ (ขอเรียกสั้นๆ ว่า “ครูดุษ”) ตัวจริงและเสียงจริงเมื่อราว ๔๐ ปีที่แล้ว ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ คุณดุษไปอยู่ที่นั่นเพื่อศึกษาศิลปะการร้องเพลงเพิ่มเติมต่อจากที่เรียนมาแล้วจากประเทศจีน
หลังจากจบการศึกษาที่อังกฤษ คุณดุษกลับไปตั้งหลักที่กรุงปารีส ผมเคยไปพักบ้านเดียวกับคุณดุษอยู่ในวันสุดสัปดาห์ ซึ่งคุณดุษอยู่บ้านทั้งวัน ผมคอยเงี่ยหูฟังเผื่อจะได้ยินเสียงเพลงจากคุณดุษฝึกซ้อมบ้าง แต่ไม่ได้ยินเสียงเล็ดลอดออกมาเลย
ผมนึกอยู่ในใจว่า คนที่ร้องเพลงเป็น รู้ทั้งหลักวิชาทางเทคนิคของการออกเสียงอย่างเป็นระบบ เป็นวิชาการที่ศักดิ์สิทธิ์เหมือนมนตราที่ตัวตนมีอยู่อะไรทำนองนั้น นักร้องจึงต้องรักษาทะนุถนอมเสียงในฐานะสูง
ในอีกด้านหนึ่งของชีวิตผู้เป็นนักร้อง เสียงของเขาทำให้เขามีชีวิตอยู่ได้ การร้องเพลงมีหลายประเภทในระดับต่างๆ กัน ผมรู้จักคุ้นเคยกับการร้องแบบพื้นบ้านอย่างหนึ่ง มาตั้งแต่เล็กจนโต คือ การเล่นลำตัด และผมมีความจำเป็นต้องเอ่ยนามของนักลำตัดผู้หนึ่งซึ่งโด่งดังมากในทศวรรษที่ ๗๐ (๒๕๗๐-๒๔๗๙) ถึงกลางทศวรรษที่ ๘๐
“ลำตัด” เป็นการเล่นพื้นบ้านที่มีคนร้องอย่างเดียว มีคนเล่นกลองรำมะนาร่วมด้วย ๓-๔ คน กำกับจังหวะ มีการรำของนักร้องประกอบนิดหน่อยให้ดูสวยและครึกครื้น
มีกลอนลำตัดลำหนึ่งของนายชะโอดร้องไว้ เป็นกลอนที่เขาแต่งเองและร้องเอง เพลงนี้ เพลงนี้มีความเก่าเกือบกึ่งศตวรรษ ผมเคยจำได้ทั้งหมด ซึ่งมี ๓ ท่อน แต่ผมทำหล่นหายไปในระหว่างทางของชีวิตที่ยาว ๗๐ ปีต้นๆ เหลืออยู่ก้นถุงย่ามของความจำเพียงท่อนเดียว เพลงนี้ท่อนหนึ่งที่ยังจำได้มีว่า
นามข้าพเจ้าปรากฏ
ชื่อชะโอดอยู่ท่าไข่ (อยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา)
มีสัญชาติเป็นไทย
บังคับอยู่ในสยาม
ได้ริเล่นยี่เก
แล้วได้เตร่เข้าแต่บ่อน
จากที่กินที่นอน
เพราะบทกลอนชักนำ
หาด้วยเสียงมาเลี้ยงปาก
มันแสนลำบากจริงนะนาย
อยู่เอกาเปลี่ยวกาย
ทั้งนาไร่มิได้ทำ
“หาด้วยเสียงมาเลี้ยงปาก” เป็นคำของกลอน สั้น กระชับ และไพเราะ ที่บอกภาพชีวิตของนักร้องอาชีพได้กระจ่างที่สุด
ปากคนเปล่งเสียงออกมาเป็นถ้อยคำ เพื่อสื่อความหมายอย่างหนึ่งในรูปแบบของเพลงที่มีความสุนทรี เป็นความจริงที่ไพเราะและมีเสน่ห์
“ปาก” เป็นทางเข้าของอาหารที่เลี้ยงให้คนมีชีวิตอยู่
“เสียง” เป็นทรัพยากรของนักร้อง
ผมเช่นเดียวกับคนอื่นอีกเป็นอันมาก ได้พบคุณดุษอีกที่กรุงเทพฯ ในเวลาเกือบ ๓๐ ปี ในบทบาทของนักร้อง แม้จะใช้ทรัพยากรเสียง แต่ไม่ใช่เพื่อเลี้ยงปากอย่างเดียว คุณดุษได้ทำประโยชน์ให้สาธารณะมากหลาย และได้แสดงความสามารถของเสียงของตนจนเป็นที่ยอมรับของผู้คนพลเมือง
นอกจากการใช้เสียงในการแสดงแล้ว คุณดุษได้ผันตัวเองไปทำงานสอนศิลป์ของการใช้เสียงให้แก่นักศึกษาอีกหลายรุ่น ขยายจำนวนคนที่มีคุณภาพด้วยการศึกษาและฝึกปรือมาเป็นอย่างดี ออกมาเป็นนักร้องที่มีคุณค่าเพิ่มมากขึ้นให้แก่สังคมจากทรัพยากรส่วนตัวที่ได้รับการพัฒนามาแล้ว
นักร้องดูจากคุณดุษเป็นตัวอย่าง จะยังเป็นบุคคลผู้ “หาด้วยเสียงมาเลี้ยงปาก” อยู่แต่เขาและเธอเหล่านั้นเป็นทรัพยากรอันมีค่าของสังคมไทย
ดูอย่าง “คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู” ที่ได้สัญจรไปแสดงฝีมือในต่างประเทศหลายแห่ง ในเอเชียและยุโรป ประสบความสำเร็จ และได้รับการต้อนรับอย่างดีในชั่วระยะเวลาอันสั้นและการตั้งต้นจากศูนย์
ปัจจุบันนี้ สังคมได้ก้าวหน้ามาไกล จากสมัยนักร้องลำตัดที่ผมออกนามเขาด้วย กราบเคารพมาแล้ว คำกล่าวของเขายังคงความเป็นจริงอยู่
และผมขอแสดงความคารวะต่อศิลปินผู้หาด้วยเสียงมาเลี้ยงปาก ผู้สมควรได้รับคารวะจากทุกท่านในวาระนี้ด้วย
๑๐ มกราคม ๒๕๕๔
ที่มา : ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์. หาด้วยเสียงมาเลี้ยงปาก, ใน, แม่อยากเล่า…ชีวิต ๗๒ ปีที่ผ่านเลย, พิมพ์ครั้งที่ ๒ ฉบับปรับปรุง (กรุงเทพฯ: ปาปิรัส พับลิคเคชั่น, 2555), น. 274-277
หมายเหตุ : ภาพประกอบที่ใช้ทำ Cover มาจาก https://d.dailynews.co.th/article/665082/