
หนึ่งในไม่กี่บริษัทผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ไทย ที่มีพัฒนาการต่อเนื่องยาวนานและนับวันจะมีบทบาทสูงต่อการเติบไต่ของวงการบันเทิงไทยคือ บริษัท กันตนา จำกัด เริ่มต้นจากการก่อตั้งเป็นคณะละครวิทยุที่แยกขยายออกมาจาก ‘คณะกันตถาวร’ เมื่อปี 2494 โดย ประดิษฐ์ และ สมสุข กัลย์จาฤก (ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ละครวิทยุ-ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2561) จากนั้นจึงผลิตละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ สารคดี รายการโทรทัศน์ ฯลฯ และพัฒนาวงการสื่อสร้างชื่อเสียงด้วยผลงานคุณภาพมากมายตลอดมาจนถึงปัจจุบันเป็น กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (Kantana Group Public Company Limited) ธุรกิจเจริญมาได้ด้วยนโยบายและปรัชญาในการบริหารงานแบบ ‘เหนือพานิชย์’ คิดและสร้างงานให้เป็น ‘ปรากฏการณ์’ ที่คือความภาคภูมิของวงการบันเทิงไทยมาตลอด 74 ปี และจะเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของแผ่นดินต่อไป หนึ่งในหลายผลงานสร้างชื่อที่เป็นความภูมิใจของคนรักหนังทั้งประเทศคือ “ก้านกล้วย” Animation สามมิติ สัญชาติไทยที่คนไทยภูมิใจ ผลิตโดย บริษัท กันตนา แอนิเมชัน จำกัด
โครงการสร้างภาพยนตร์แอนิเมชันสามมิติ “ก้านกล้วย” กำเนิดขึ้นจากแผนพัฒนางาน Animation เดิมสองมิติเป็นสามมิติ ด้วยความหวังตั้งใจของ จาฤก กัลย์จาฤก ผู้ก่อตั้ง ผู้บริหาร บริษัท กันตนา ที่ดำริทำภาพยนตร์แอนิเมชันเกี่ยวกับ ‘ช้าง’ ที่ถือเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง คู่บารมีของกษัตริย์ไทยมาแต่โบราณ โดยได้แรงบันดาลใจจากส่วนหนึ่งของพงศาวดารไทยที่กล่าวถึงลักษณะ ‘ช้างทรง’ ของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่มีหลังโค้งลาดคล้ายก้านกล้วย จึงตั้งชื่อภาพยนตร์แอนิเมชันและตัวละครเอกว่า “ก้านกล้วย” โดยสร้างบทภาพยนตร์ต้นฉบับจากบทประพันธ์ของ อริยา จินตพานิชการ เรื่อง "เจ้าพระยาปราบหงสาวดี" ได้ถูกนำมาพัฒนาเป็นบทภาพยนตร์ที่ใช้เวลานานถึง 3 ปี โดยมี สมสุข กัลย์จาฤก เป็นที่ปรึกษาเช่นเดียวกับงานละครทุกเรื่องในช่วงเริ่มก่อตั้ง กันตนา ที่มี ‘คุณย่า’ อยู่เบื้องหลังความสำเร็จตลอดมา
“ก้านกล้วย” ประสบความสำเร็จอย่างสูงหลังออกฉายครั้งแรก ในปี 2549 ปีนี้ 2568 ถูกนำกลับมาสร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน “ KHAN KLUAY LIVE EXPERIENCE ” 3 องค์ประกอบ แสดงสดพร้อมกัน โดย
- ฉาย “ก้านกล้วย” แอนิเมชัน บนจอ ระบบ Virtual Studio
- วง Chamber Orchestra บรรเลงสด (นำทีมโดย พิซซ่า - ทฤษฎี ณ พัทลุง หนึ่งในสุดยอดนักประพันธ์ดนตรี และวาทยกร ระดับโลก) เพิ่มสีสันให้กับ Originl Soundtrack ของภาพยนตร์ แอนิเมชัน โดย ป้อ - ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์
- โชว์เบื้องหลังการออกแบบสร้างเสียง effect ประกอบภาพยนตร์
เปิดการแสดงเมื่อ 16-18 พฤษภาคม 2568 และเพิ่มอีก 5 รอบในวันที่ 23-25 พฤษภาคม 2568 ณ Kantana Virtual Production Studio (แยกเหม่งจ๋าย ถ.รัชดา กรุงเทพฯ) บัตรราคาเริ่มต้น 1,800 บาท พิศษสำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี เข้าชมฟรีมีผู้ใหญ่ดูแล ออกแบบโครงการ โดย ทายาทรุ่นที่ 3 เวลล์- ดิษย์กรณ์ ดิษยนันทน์ กรรมการ ผู้บริหารงานเพลงและ MD บริษัท Kantana Moovie Town

พี่อู่ ไตรเทพ วงศ์ไพบูลย์ ผู้อยู่เบื้องหลัง Foley Artist ทีมเสียง effect เสียงสมจริง ที่ไม่ได้ทำแค่เสียง แต่ต้องแสดงไปด้วย! ให้ข้อมูลไว้ว่า
Foley เป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำภาพยนตร์นะครับ Foley Artist คือคนที่ทำเสียงประกอบในภาพยนตร์ มีมาตั้งแต่ปี 1940 แล้วครับ เวลาถ่ายหนังมาคนมักคิดว่าเสียงทุกอย่างอยู่ในตอนที่ถ่าย จริง ๆ มาทำทีหลังหมด ตอนถ่ายได้มาแต่เสียง dialogue ซะส่วนใหญ่ เสียงเดิน เสียงหยิบจับอะไรแทบไม่ได้ต้องมาทำใหม่ Foley Artist ก็จะทำเสียงประกอบตามภาพที่เห็น ต้องทำให้ sync ด้วย (synchronous คือ เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน, พร้อมกัน, ด้วยจังหวะเดียวกัน, ตรงกัน, สอดคล้องกัน เพื่อให้เสียงที่ทำตรงกับภาพบนจอหนัง)
1. ต้องสมจริงทำให้คนดูเชื่อว่าเกิดขึ้นจริง แล้วก็ต้องเล่าเรื่องได้ด้วย บริบทของหนังเป็นช่วงที่ตื่นเต้น ตัวละครรู้สึกยังไง ก็ต้อง perform ให้ได้ยังงั้นด้วย
2. ต้องเล่าเรื่องได้ด้วย เช่น หญิงสาวเดินมาด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว ก็ต้องเดินมาในอารมณ์นั้นให้ได้ ไม่ใช่เสียงเดินแบบปกติ ถ้าคนทำเสียงเป็นผู้ชายก็ต้องใส่รองเท้าส้นสูง อาจจะมีต้องทำตัวเบาตัวหนักแล้วแต่โจทย์ ทำตัวเบาก็นั่งบนก้าวอี้น้ำหนักจะเบาลง หรือถ้าจะให้หนักขึ้นก็จะมีเวทใส่ให้น้ำหนักตัวเพิ่ม เวลาลงส้นจะได้รู้สึกว่าเป็นคนที่มีน้ำหนักเยอะ

ปัจจุบัน ระหว่าง Foley กับ Sound Effect เป็นเรื่องที่ทีมงานต้องคุยกัน ว่าอันไหนจะทำ effect อันไหนทำ foley หรือทำทั้งสองคนแล้วมาผสมกัน หรือทำ foley ก่อนแล้วส่งให้ทีม Sound Effect ไปทำอะไรเพิ่มเติมก็เป็นไปได้ทั้งหมด ต่างกันตรงที่ Sound Effect เกิดจาก stock ของเก่าที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเสียงยิงปืน เสียงฟ้าผ่า เสียงฝนตก จะมีใน library ของเราอยู่ ก็หยิบมาใช้ แต่ถ้าเป็น foley คือต้องทำสดของแต่ละเรื่องโดยเฉพาะ
Animation ทำ Foley ยากที่สุด เพราะทุกเสียงใน Animation เริ่มจากความเงียบ ช้างก้านกล้วยจะเดินยังไง เราทำ reserch เอาช้างจริง ๆ เข้ามาในห้อง Foley ปรากฎว่าช้างไม่มีเสียงเดิน เดินนิ่มมาก เสียงเงียบมากเลย พอไปทำก็ไม่เหมือนจริง สุดท้ายเสียงเดินของก้านกล้วยต้องใช้นวมแบบที่สวมต่อยมวยเอามาใส่เดิน ให้มีน้ำหนักหน่อยนึง ให้มีความรู้สึกว่าคล้ายเสียงช้างเดิน (ในชีวิตจริงจะไม่ได้ยินเสียงแต่เป็นหนังต้องเน้นให้ชัด)

ตัวอย่างการทำ foley เช่น ในซีนกองทัพ เสียงธงสะบัด ต้องใช้เสื้อกันลมตัวใหญ่กระพือให้เสียงมีความเคลื่อนไหว ถ้าใช้ธงจริงจะใหญ่ไม่พอและควบคุมยาก , เสียงทหารใส่ชุดเกราะขณะเดิน ส่วนประกอบของชุดเกราะคือเหล็กถูกใส่เข้าไปในผ้าที่ทำจากหนังก่อนเขย่าให้เกิดเสียงเคลื่อนไหว ต้องใช้หนังเพราะมีมวลที่ใหญ่ หนา หนัก กว่าผ้า อาจเสริมกระเป๋าเข้าไปข้างในเพื่อคลุกเคล้าให้เสียงชัดขึ้น , เสียงนกกระพือปีก ต้องใช้ผ้าผืนเล็กผูกปลายไม้สะบัดแรง ๆ แทนการกระพือของปีกนก , เสียงมีดดาบยาวกระทบกันใช้มีดอีโต้กับมีดสั้นเหล็กจริงเพื่อสะดวกทำเสียง กรีดกังวาน กระทบอย่างรวดเร็ว หรือใช้วัสดุชนิดอื่นแทนได้ ในวัศดุเดียวกันก็สามารถทำเสียงแสดงน้ำหนักที่ต่างกันได้ ฯลฯ
ปกติพวกเราจะอยู่เบื้องหลัง ครั้งนี้ใน “ KHAN KLUAY LIVE EXPERIENCE ” ขึ้นมาอยู่บนเวที แสดงให้ได้เห็นสด ๆ ด้วยอุปกรณ์ร้อยกว่าชิ้นแล้วเพิ่มดนตรีสด นักร้องสด แสดงใน Kantana Virtual Studio ที่มีจอ LED โค้งขนาดใหญ่ พร้อมกับ sound ที่เป็น Immersive Surround ( ระบบเสียงรอบทิศทางที่ให้ประสบการณ์เสียงแบบสมจริง) ความพิเศษคือปกติในการทำ Post Production เราจะทำกี่เทคก็ได้ค่อย ๆ ทำไปจนเนี๊ยบ จนพอใจ ไม่ใช่ก็แก้ได้แต่โชว์นี้เล่นสดพลาดแล้วพลาดเลย เพราะฉะนั้นแต่ละซีนในหนังต้องคิดว่าจะใช้อะไร กี่คน ใครทำอะไรบ้าง เพราะคนเดียวก็ทำได้ไม่หมดเหมือนวงดนตรีวงหนึ่งแต่เล่นเสียง foley แล้วต้องมีการซ้อมให้แม่นเข้ากับภาพ real time สติต้องมุ่งมั่นตลอดเรื่อง สายตาต้องมองจอ มือต้องจัดทำกับอุปกรณ์เรื่องนี้ 300-400 ชิ้น ต้องจำให้แม่นว่าคิวนี้ใช้อุปกรณ์อะไร ชิ้นเล็กชิ้นน้อยจัดวางตรงไหนก็ต้องซ้อม เช่น ซีนรบยุทธหัตถีตอนสุดท้ายละมุนมากครับ มีทั้งฟ้าผ่า สู้รบกันฟันดาบ มือเป็นระวิงตอนเปลี่ยนเสียงสนุก ที่แน่ ๆ ในเมืองไทยไม่เคยมีใครเอา Foley มาโชว์ perform สด ๆ แล้วมีดนตรี เล่นสดแบบนี้ครับ

Khan Kluay Live Experience : Production Note
บุคคลต้นคิดที่ริเริ่มให้นำ “ ก้านกล้วย ” ภาค 1 มาฉายประกอบการบรรเลงดนตรีสด คือ คุณตั้ม จาฤก กัลย์จาฤก หนึ่งในผู้บริหารรุ่นสองคนสำคัญที่มีบทบาทสูงต่อการขับเคลื่อน กันตนา มาตลอด
แนวทางการแสดงแบบโชว์องค์ประกอบงานสร้างทั้งสามส่วนแบบนี้เคยมีในละครเวที เป็นผลงานการแสดงเดี่ยว (Solo performance) ของ ครูกั๊ก - วรรณศักดิ์ ศิริหล้า (ศิลปินศิลปาธร กระทรวงวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดง ปี 2563) ซึ่งปกติผลงานทุกเรื่องของครูกั๊กมักจะโชว์พร้อมดนตรีที่แสดงสดเสมอ แต่มีพิเศษเรื่อง “คินีและทูรันโดต์ การตีความข้ามกาลเวลา” (Chini and Turandot, Interpretation across Time) โชว์ 3 ส่วนพร้อมกัน การแสดง - ดนตรี - ออกแบบเสียง เปิดการแสดง 5 ครั้ง ใน 5 location ครั้งนี้ครูกั๊กมาดูแลงานในบทบาทของผู้กำกับศิลป์ พร้อมทีมงานจากละครเวทีอีกหลายคน
Executive Producer / ศิลปิน : เวลล์ (ดิษย์กรณ์ ดิษยนันทน์ กัลย์จาฤก)
The Show - Show Concept & Management / Co-Show Director :
Art Core : ลีนา - ฉัตริยา ไตรภิรมย์สามัคคี
Show Director : กั๊ก - วรรณศักดิ์ ศิริหล้า
Stage Team : เพชร สุชาดา / นาน่า ไตรภิรมย์สามัคคี
Foley Artists
- Director of Sound : อู่ - ไตรเทพ วงศ์ไพบูลย์
- Foley Artists : Big / นำ้ตาล / เฟียน - ภัทรกร ภัทรนาวิก
Music
- Music Director : วิน - ระพีเดช กุลบุศย์
- Conductor/ Music Supervisor / Orchestrator : พิซซ่า ทฤษฎี ณ พัทลุง
- Music Score : ป้อ - ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์
Lighting Designer : สุ - สุพัตรา เครือครองสุข

Execlusive Interview : เวลล์ - ดิษย์กรณ์ ดิษยนันทน์
Executive Producer : “ KHAN KLUAY LIVE EXPERIENCE ”
จากเด็กน้อยที่เติบโตมากับครอบครัว “กันตนา” ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์และอุตสาหกรรมบันเทิงครบวงจร เป็นลูกไม้ใต้ต้นของผู้บริหารธุรกิจตระกูล ‘กัลย์จาฤก’ ฐาปกรณ์ - จิตรลดา ดิษยนันทน์ ทั้งพรสวรรค์และศักยภาพเอื้อให้ เวลล์ - ดิษย์กรณ์ ดิษยนันทน์ กัลย์จาฤก เด็กหน่วยก้านดีเริ่มมีผลงานในวงการตั้งแต่อายุยังไม่ถึงสิบขวบ ในปี 2547 เพียงผลงานละครเรื่องแรก “วัยซนคนมหัศจรรย์” ฉายแววอัศจรรย์ปั้น ‘มิสเตอร์ดี’ ได้โด่งดังในหมู่แฟนหนังตัวน้อย มีผลงานทางด้านเพลงถึง 4 อัลบัม ก่อนบินไปศึกษาต่อด้านการร้องเพลงระดับมัธยมปลายที่สหรัฐอเมริกา
อัลบั้มผลงานเพลงของ “ มิสเตอร์ดี ” Mr.D ในอดีต
- อัลบั้มที่1 “ Go Inter” ตามด้วยอัลบั้มพิเศษ “ หัวใจสะออน ” พร้อมผลงานแสดงละคร และ พิธีกรรายการโทรทัศน์อีกด้วย
- อัลบั้มที่ 2 “ D-Day ” เปิดตัวด้วยเพลง “ Do U Know? ” เพลงซิงเกิ้ลแรก สไตล์ HIPHOP ในอัลบั้มนี้มีเพลงประกอบละคร 6 เพลง (จากละครเรื่อง “ 7 มหัศจรรย์ ” , “ โรบอทน้อย ” และ “เกิร์ล คัพ ” )
- อัลบั้มที่ 3 “ Mr.D เด็กหลังห้อง ”[1] ในปี 2550 แนวดนตรี พังค์ร็อค และยังได้แสดงความสามารถทางดนตรีเพิ่ม เช่น การตีกลอง และเล่นเปียโน เปิดตัวด้วยซิงเกิ้ลแรก “ หุ่นไม่ให้แต่ใจรัก ” อัลบั้มนี้มีเพลงประกอบละคร เรื่อง"นะโมฮีโร่ผู้น่ารัก" และ "หน่วยเปิ่นเกินพิกัด"

หลังเรียนจบใน Interlochen Arts Academy ได้รับรางวัล นักร้องเพลงคลาสสิคยอดเยี่ยม ทำให้มีมหาวิทยาลัยชื่อดังถึง 4 แห่ง เสนอให้ทุนเรียนต่อ 4 ปี เวลล์เลือก University of Denver ซึ่งเป็นทุนแบบเต็มจำนวน (Full Scholarship คือทุนการศึกษาซึ่งให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาหรือโครงการที่ได้รับ รวมค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่พัก อาหาร การเดินทาง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็นทั้งหมด) ขณะศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในคณะ Bachelor of Music สาขา Vocal Performanc เวลล์ได้แสดงบทนำในละครเวทีของมหาวิทยาลัยหลายเรื่องอาทิ South Pacific, Guys and Dolls และ Oklahoma และมีโอกาสได้ไปเป็นนักร้องโอเปร่าที่อิตาลีถึง 3 ปีติดกัน
เปิดตัวเมื่ออายุ 9 ขวบ ฝากผลงานไว้ ไปสั่งสมประสบการณ์ในต่างแดนจนโตเป็นวัยรุ่น 19 ปี ถึงได้กลับบ้านเกิดมาสร้างสานผลงานที่แสดงถึงอัจฉริยภาพอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปี ในต่างแดน เวลล์ชัดเจนในเส้นทางสายดนตรีคลาสสิค จนวันนี้เต็มหนุ่มในวัย 30 ปี ‘มิสเตอร์ดี’ คือหนึ่งในผู้บริหารคนสำคัญของ กันตนา กรุ๊ป ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ MD บริษัท Kantana Movie Town (2002) จำกัด (ตั้งอยู่ ณ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม บนพื้นที่กว่า 800 ไร่ มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท) บริหารด้านธุรกิจเพลงทั้งหมดของกันตนา ผลงานด้านดนตรีล่าสุด อาทิ Original Score และ Main Theme ของซีรี่ส์เรื่อง “สืบสันดาน” งาน Netflix และกำลังพัฒนา content เพลงหลายรูปแบบ นับเป็น 20 ปีที่เติบไต่ด้วยตัวตนคนดนตรีมีผลงานเด่นเป็นที่ภาคภูมิใจ วันนี้เวลล์เปี่ยมไปด้วยความหวังและพลังสร้างสรรค์ ที่พร้อมได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว กันตนา ให้เดินหน้าต่อไป

“ ผมร้องเพลงตั้งแต่เด็ก (มิสเตอร์ดี) ได้ร่วมงานกัน โตมากับเพลงก้านกล้วยครับ พอ มีโอกาสที่จะทำอะไรกับที่นี่ Virtual Studio ของ กันตนา ได้จัดงานในสายเดียวกับผมคือ เพลง เลยรู้สึกว่า Original Score - Original Sound track ของ “ ก้านกล้วย ” (ภาค 1) เป็นสิ่งที่ผมเสียดายมาก ๆ ว่าทำไมเราไม่ทำอะไรซักอย่างที่เป็น Show Elements เอากลับมาให้คนได้สัมผัส ไม่แปลกใจที่ไอเดียนี้มันกลับมาเพราะผมรู้สึกว่าเพลงของก้านกล้วยเพราะหลายเพลงมาก ทั้งเพลงประกอบภาพยนตร์ และดนตรีที่เป็น score บรรเลงตามเรื่อง เป็นสิ่งที่น่าจดจำมาก เลือกภาค 1 มา เพราะคิดว่าคลาสสิคอยู่ในความทรงจำของคน ประสบความสำเร็จมากกว่าภาค 2 ที่จริง ๆ ก็มีเพลงเพราะ เพลงดี ๆ ก็เยอะ โดย content หนังก็เป็นงานที่คลาสสิค 19 ปีแล้ว ทำปีนี้ก็ยังผ่านนะ เพราะคือแม่มุมทางประวัติศาสตร์ของบ้านเราที่ผ่านอะไรมาบ้าง ก้านกล้วยเป็นมุมมองของเด็ก เล่าให้เด็กเข้าใจได้ง่าย ๆ
แต่พอ พระองค์ดำ (สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช และ พระวิสุทธิกษัตรีย์ พระราชธิดาในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และพระสุริโยทัย) ออกมา ก็เป็นมุมมองของผู้ใหญ่ เพราะอยุธยากับหงสาวดีมีการทำศึกกัน ตัวละครก้านกล้วยก็มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ เราเลยใช้ประวัติศาสตร์ของไทยช่วงนี้มาเป็น setting ของหนัง ตอบโจทย์คนที่อยากระลึกถึงประวัติศาสตร์ของชาติ บางคนอาจไม่สนใจประวัติศาสตร์แต่อยากดูอะไรที่มันแอคชัน แล้วก็ตอบโจทย์การให้ความรู้กับคนรุ่นใหม่ ได้เรียนรู้ประวัติาสตร์ของไทยที่อธิบายให้เข้าใจ ง่ายมาก ๆ ด้วย animation ทุกวันนี้ที่ NETFLIX ก็ยังติด top อยู่ในไทย category : family ทุกปี ต้องขอบพระคุณคนต้นคิดคือ ลุงตั้ม (จาฤก กัลย์จาฤก) ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตเมื่อ 19 ปีก่อน กับทีมงานที่นำมา ต้องให้เครดิตเลย มันถึงได้เป็นงานคลาสสิคมาจนถึงทุกวันนี้
ก้านกล้วยเป็นตัวละครที่ผมมั่นใจที่จะพูดได้เลยว่าจะได้เห็นมากกว่านี้เร็ว ๆ นี้ชัวร์ กำลัง preproduction อยู่ครับ รอดูว่าจะมีอะไรใหม่ ๆ อีกแค่ไหน “ก้านกล้วย” ภาค 3 กำลังพัฒนามาประมาณหนึ่งแล้วแหละ “ KHAN KLUAY LIVE EXPERIENCE ” คือการปลุกไฟอีกรอบให้คนรู้ อย่าลืมนะก้านกล้วยยังอยู่นะ จริงๆ เรากำลังจะทำอะไรในอนาคตนะครับ ขอหยอดหน่อยเรายังอยู่นะก้านกล้วยไม่ได้หายไปไหน ถ้าจะร่วมฉลอง 75 ปี ก็ปีหน้านี่อาจจะเร็วไปไม่รู้เสร็จทันหรือเปล่า animation ขั้นตอนยากใช้เวลาทำนานนะครับ

“ KHAN KLUAY LIVE EXPERIENCE ” 10 รอบนี่ เราขายบัตรแบบ sold out ทุกรอบเลยนะครับ เป็นงาน Mix เสียงสดไปพร้อมกับการฉายหนังก้านกล้วยบนจอ Live Score บรรเลงสอดคล้องกับเสียง Original Track บางท่อนที่แยกออกมาแสดงสดพร้อมกันกับการทำงานของ Foley Artists พอทีมของพี่อู่ (ไตรเทพ วงศ์ไพบูลย์ วง Kidnappers) ที่เป็น Head of Kantana Sound Studio ผู้เชียวชาญการทำ Sound Effecrt ของหนังทั้งในประเทศ นานาชาติ พอมาทำงานที่กันตนาได้เห็นภาพพร้อม ๆ กันกับทีมผลิตที่เรานำมา ได้ปรึกษากันว่าถ้าเรานำ Foley Artist มาแสดงด้วย มันจะเป็นลายเซ็นต์ที่กันตนาทำได้อยู่ที่เดียวเท่านั้น เพราะว่าเราเชี่ยวชาญทางนี้โดยตรงครับ
งานแบบนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกในประเทศเพราะว่าเราไม่เคยเอา Foley Artist ออกมาข้างหน้าให้เป็นการแสดงด้วย ให้เห็นการทำ Sound Effect แบบนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกเลย ที่ทำให้เป็น Show Elements (โชว์องค์ประกอบของการแสดง) ไปด้วย เราเคยเห็น orchestra เล่นพร้อมกับหนังถูกไหมครับ แต่ว่าถ้าเรามาผสมผสานทุกอย่างพร้อมกับร้องแสดงจริงด้วย ทำให้เป็นโชว์ที่ใช้เวลาเตรียมงานนานมากเมื่อต้องเอาสามอย่างมาประกอบกัน เริ่มทำงานกันมาตั้งแต่ตุลาคม 2567 ครับ
ส่วนวงดนตรีแบบนี้เรียก chamber ใช้ 15 ชิ้น คือเป็น orchestra ที่ลดปริมาณคนครับ แต่เวลาเราเรียกว่า orchestra คนจะนึกถึง 30 ชิ้นขึ้นไป เป็น Full Orchestra เนื่องจากว่าเป็นโชว์ที่เราเล่นพร้อมกับ Original Soundtrack เพิ่มสีสันเข้าไปใน score ที่อยู่ในเรื่องอยู่แล้ว เรามี master ที่เลี้ยงเสียงไว้ แต่ว่าที่เล่นสดคือเราทำให้มันเต็มขึ้น เพราะจะมีบ่างช่วงที่ผมไม่ให้ฝั่งดนตรีเล่น เพราะอยากโชว์เคสฝั่ง foley ถ้ารู้สึกว่า Sound Effect ในช่วงนั้นมันสำคัญ ก็จะขอไฟลงตรงนั้นเลย ยิ่งฉากรบนี่ฉากโชว์เลย 3 คนเล่นกันสนั่นมาก ผมเองมีหยอดแค่ช่วงแรกเป็นเพลงใหม่ชื่อ “มหัศจรรย์แห่งเสียง” กับเพลง “ก้านกล้วย”[2] ที่พี่ แอ๊ด คาราบาว ร้องไว้ในหนัง ไม่รู้สู้พี่แอ๊ดได้รึเปล่า อยากแนะนำน้องภาวิต ถือว่าเป็นคนที่มาสืบทอดร้องแทนผมในรุ่นเด็กได้เลยครับ

โชว์นี้ตอบโจทย์หลาย target เป็นหนังที่เด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดี แรกเราคิดว่า target หลักจะเป็นเด็กกับครอบครัว ปรากฏว่ากลุ่มคนที่ซื้อบัตรมากที่สุดนั่นคือคือรุ่นผม คนที่โตมากับก้านกล้วย ไม่ใช่คนที่เพิ่งรู้จักก้านกล้วย เราเลยได้ Target Audiaence หลายรุ่นมารวมกันในโชว์เดียว เราได้เด็ก ๆ กับครอบครัวที่เพิ่งรู้จักก้านกล้วย เราได้คนที่โตมากับก้านกล้วย เราได้คนที่อยากมาฟัง orchrestra สด ๆ ด้วย คนที่ ชื่นชมดนตรีเฉย ๆ ก็มาฟังได้ใช่ไหมครับผม แล้วโชว์มีจุดที่ focus ได้หลายอย่าง ถ้าเราโอเคกับหนังช่วงนี้หันไปดูดนตรีก็ยังบรรเลงอยู่ ถ้าอยากหันไปอีกทาง foley ก็ทำงานอยู่ ไม่มีที่จะรู้สึกว่า attention ของเราจะหลุดเพราะว่ามีที่ focus ได้ทุกจุด ทำให้โชว์รันได้เรื่อย ๆ แล้วไม่น่าเบื่อครับ
การแสดงแบบนี้เปิดโอกาสให้คนได้มารับไอเดีย มี concept ใหม่ ๆ ที่สามารถจะเอาไปต่อยอดได้ เพราะเป็นงานที่ตั้งมารตรฐานของดนตรี score ก็ถูก allocate ให้เต็มขึ้น ยิ่งของ Foley Artists เป็นโอกาสเดียวในเวลานี้ของประเทศที่จะได้โชว์ว่าเขาทำอะไรกันจริง ๆ เพราะปกติจะอยู่หลังไมค์ในห้องอัดที่เหมือนห้องเก็บของเล็ก ๆ ทั้งสองฝั่งเป็นการ present ให้คนดูทราบว่านี่คืออีกทางหนึ่งที่เราสามารถจัดการแสดงได้ครับ สิ่งที่ยากคือทุกคนซ้อมมาต่างหาก แยกกันซ้อมก่อน แล้วพอมารวมกันมันเหมือนเริ่มใหม่หมดเลย เพราะเครื่องเสียงต้อง develop ไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ตอบสนอง concept ของงาน พอมารวมกันต้อง balance กันใหม่หมด มาดูรวมกันครั้งแรกผมก็สะกิดว่าช่วงแรกมันยังไม่พอต้องไปเติมเพลงอีก คือสองเดือนก่อนเริ่มแสดงผมยังบอกอยู่เลยว่าตรงนี้ตรงนั้นมันยังขาดนะ เพราะเป็นโชว์ที่เรายังไม่เคยทำมาก่อนในประเทศ มันใหม่สำหรับทุกคนที่ต้องศึกษาไปพร้อมกันกับโชว์นี้

ผมได้ set up แผนงานที่สามารถจัดคอนเสิร์ต จัด evnt จัดการแสดงที่ไปในแนวนี้ได้ที่ Kantana Virtual Studio ผมรู้แล้วว่าถ้าจะต่อยอดธุรกิจในทางนี้ผมจะทำอะไรได้บ้าง เปิดโอกาสว่าผมจะคิดอะไรได้ต่อ
- ผมมี line up ในใจว่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้
- ในสายเทคนิคความยากของการที่จะรวม 60 ชีวิต ที่ได้มาทำโชว์นี้ให้เกิดขึ้น นั่นคือการที่เราเรียนรู้ว่า การที่จะให้ความสำคัญต่อแต่ละหน้าที่ของแต่ละคน มันต้องทำแค่ไหน แล้วมันสำคัญมาก ๆ แค่ไหน
- มันน่ากลัวที่จะได้ทำอะไรซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อนในประวัติศาสตร์ของบ้านเรา เป็นอะไรที่เสี่ยง แต่ผมถือว่าเป็นการ pay off ที่ประสบความสำเร็จในสายตาของผม
พื้นที่นี้ผมทราบแล้วจากการทำโปรเจ็คนี้ว่ามันทำอะไรได้เยอะ Virtual Studio แรกเราสร้างไว้สำหรับให้ใช้ถ่ายทำ นี่เป็นครั้งแรกที่เราทำ event เลย (ถ้าไม่นับ Press Conference) นี่เป็นโชว์แรกที่คนซื้อบัติเข้ามาดู คราวนี้มันเปิดโลกให้ผมแล้วอาจจะมีงานจากบทประพันธ์ของคุณยาย (สมสุข กัลย์จาฤก ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ละครวิทยุ-ละครโทรทัศน์) พ.ศ. 2561) [3] มาทำเป็นละครเวทีแบบ Musical ปีหน้า 2569 ครบ 75 ปี กันตนา อาจจะต้องมีกลับมาฟื้นความทรงจำหน่อย เตรีมงานไว้อยู่ครับ คราวนี้ผมรู้สึกว่าผ่านล่ะทำอะไรได้เยอะแล้ว

การร้องของผมมันยังไปได้อีกอยู่แล้วเพราะมันอยู่ที่ว่าการเติม energy ให้มีสีสันได้มากกว่านี้ ถึงแม้ว่านักดนตรีแค่เล่นดนตรีแต่เขาก็อยู่บนเวที มันยังเป็นการแสดงที่เขาต้องใส่ความรู้สึกเข้าไปในทุกอย่างที่เขาเล่น รวมถึง foley ด้วย รวมทั้งผมด้วย การแสดงสดมีข้อดีที่ว่าจะไม่เหมือนกันทุกครั้ง ความรู้สึกจะไม่เหมือนกันทุกรอบ แล้วมันสนุกตรงที่ทุกครั้งผมมีโอกาสที่จะต่อยอดได้ทุกโชว์ คนดูรอบสุดท้ายจะได้เปรียบสุด ผมไม่มีเพดานเรื่องศิลปะเรื่องดนตรีพัฒนาได้ตลอดเวลาครับ ถ้าจะมีต้องเติมอีกก็คือความ flow ของเทคนิค ซึ่งก็เป็น behind the scene
ในส่วนตัวผมยังอัดความ artist เข้าไปได้อีก ยังตีความแต่ละคำที่ผมร้องได้อีก นักดนตรียังใส่เข้าไปได้อีก เพราะมันยังพัฒนาไปได้เรื่อย ๆ ถ้าถามว่าเราจะมีโชว์ที่ perfect ไหม ผมรู้สึก ว่าจะไม่มีวันที่โชว์ perfect นะ เพราะว่าการที่เราพยายามจะให้บางโชว์ imperfect ไป ๆ มา ๆ มันให้รสชาติที่มันแตกต่าง แล้วมันให้ความพิเศษ ให้ความตื่นเต้นเข้าไปในโชว์ด้วยครับ เพราะอะไรที่มัน perfect ผมว่ามันเป็นทางการเกินน่ะ ยกตัวอย่างถ้าผมต้องร้องโน้ตนี้แบบนี้ทุกครั้ง เหมือนเรายังศึกษาอยู่ ถ้าเราไม่ปล่อยให้ความเป็น Artist ของเราเข้าไป แล้วใส่ความรู้สึกว่าเราไม่ต้องนึกถึงความเป๊ะของการร้อง เพราะถ้าเรายังนึกว่าจะร้องยังไง คนจะฟังออกว่าเราไม่ได้ใส่ให้เต็มที่ เพราะขณะอยู่บนเวทีผมไม่มีเวลานึกถึงทฤษฎีแล้วนะครับ หัวใจมันเต้นจะออกมาจากหน้าอกแล้ว การแสดงนี่เมื่อเราขึ้นไปแสดงมันเหมือนอีกโลกหนึ่งแล้วเราต้องพร้อมที่จะเผชิญกับมัน นั่นคือความสนุกของการเล่นสดครับ
ผมคิดว่าแผนกเพลงของกันตนาผมยังต่อยอดได้อีกเยอะ เพราะอยู่ภายใต้ sound ที่ทำให้ที่อื่นด้วย แล้วในส่วนตัวผมเคยเป็นนักร้องเด็กด้วย ผมยังมีฐานตรงนั้นที่จะพัฒนาความเป็นศิลปินของตัวเอง ที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ครับ ผมคิดเรื่องการทำเพลงให้ตัวเองด้วยครับ ออกอัลบั้มทำนองนี้ มันต้องมาแล้วล่ะพักไปนานแล้ว เป็นแนวผสม Pop & Classic เพราะว่ามันต้องเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ว่าตัวผมเป็นยังไง Identity คืออะไรด้วยครับ

ผมเป็น MD ของ Kantana Movie Town สายผลิตละคร เป็นคนแต่ง Original Score, Original Soundtrack, score ให้หนัง ซีรี่ส์ ละครด้วยครับ งานล่าสุดที่ทำคือเรื่อง “สืบสันดาน” ผมทำเพลงทั้งเรื่อง แล้วก็ “The Up Rank อาชญาเกม”[4] ถือว่าได้เป็นงานเปิดอีกโลกสำหรับผม เป็นอีกทางที่ผมเชี่ยวชาญประมาณหนึ่งด้วย แล้วส่วนตัวพยายามต่อยอดสำหรับตัวเองว่าการร้องเพลงนี่ผมทำอะไรได้อีกบ้าง พอมีงานแบบวันนี้ก็รู้สึกว่าทำได้แล้ว โอเค มิวสิคัลต่อไหม ละครเวทีต่อไหม เราคิดก่อนแล้วเคาะ แล้วเสนอ หลายอย่างที่ผมเสนอ ครอบครัวเขาก็เห็นทางเห็นชัดนะ เพราะเราจะคิดคล้าย ๆ กันไง เข้าใจแหละว่าเวลล์จะทำอะไร อย่างโจทย์ของก้านกล้วย “ KHAN KLUAY LIVE EXPERIENCE ” มันตรงไปตรงมานะ แค่ซับซ้อนตรง Foley เข้ามา เพราะในประวัติศาสตร์ไม่เคยทำไง musical ครั้งใหม่นี่ผมยังคิดเลยว่าจะเอา foley เข้ามาเล่นด้วยดีไหม ลองดู คือ limitless น่ะ คิดอะไรได้เรื่อย ๆ การที่จะต่อยอดในสิ่งที่คิดก็มีทางครอบครัวคอยช่วยเหลืออยู่เสมอครับ “ KHAN KLUAY LIVE EXPERIENCE ” ก็คือหนึ่งในนั้นที่เขาช่วยผม
การดำเนินงานก็ยังต้องมีเจ็นสองคอยช่วยนำทางอยู่บ้าง พูดถึงไอเดีย การมอง การเสี่ยงความคิดใหม่ ๆ ก็ต้องอยู่ที่รุ่นเราแล้วแหละนะใช่ไหมครับ อะไรที่ทำให้เราพัฒนาได้เรื่อย ๆ ผมก็คิดว่ามันคือการที่เรามีเจ็นสองที่มีประสบการณ์ทั้งชีวิตคอย advice มุมมอง direction ของบริษัท รวมถึง นิวเจ็น (New Generation) ที่มองอนาคตได้อีกแบบ เหมือนมี balance ที่ทำให้เจอกันตรงกลางได้โดยมีความมั่นคงของเจ็นที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว พร้อมกับการที่เราอยากทำอะไรใหม่ ๆ เวลาเรารวมกันเป็นทีมมันเหมือนเรามีความมั่นคง ตาม trend คืออย่างหนึ่ง set trend ก็อีกอย่าง เนื่องจากว่าเรามีคนคอยช่วย เรามีทีมที่มันเป็นมาตรฐาน เราไม่กลัวที่จะพยายามเป็น Trend Setter ด้วย ไม่ใช่เป็นคนตามเทร็นด์ เราเลยพร้อมที่จะเสี่ยงทำอะไรที่แปลกใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน

เจ็นสามของ กันตนา ยกตัวอย่างญาติ ๆ ของผม 13 คน มีผู้ชาย 6 คน ดูแลงานช่วยกัน พี่เต้ (ปิยะรัฐ กัลย์จาฤก Vice President & Executive Producer บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด มหาชน) คือคนโตสุดใน สาย creative ชีเป็น Head of Content เป็นคนที่ผลิต varaity กับ “ The Face ” ผมทำพวกละครโทรทัศน์ พี่เต๊นท์ (กัลป์ กัลย์จาฤก กรรมการผู้จัดการ Kantana Motion Picture) น้องพี่เต้ เป็นผู้กำกับเป็นคนนำงานผลิตใน platform on line : Netflix , Disney Plus มีพี่ตาล (กันตนา กัลย์จาฤก) เป็น CFO (Chief Financial Office ผู้บริหารระดับสูงที่ดูแลและบริหารจัดการด้านการเงินขององค์กร) น้องตั๋ง (จิรัจ กัลย์จาฤก Director of Content and Marketing) เป็น Head of Sale แล้วก็พี่สาวผม สตางค์ (ดิษย์ลดา ดิษยนันทน์ กัลย์จาฤก Director of Content Development) Head of Marketing จัดการเรื่องซื้อขาย content กับต่างประเทศ เป็นต้น ไม่ทุกคนนะครับแต่ส่วนมากก็จะช่วยอยู่ในแต่ละแผนกตามทางที่แต่ละคนเชี่ยวชาญ ก็มีตีกันอยู่แล้วเพราะเราอยากให้ประสบความสำเร็จ เรามองไปข้างหน้าแล้วทุกคนหวังดีต่อกันและกัน คือเรารักกันมากใครมีปัญหายังไงเราคุยกันได้ เพราะเรามีมุมมองเดียวกันว่าเราอยากพากันตนาไปได้แค่ไหน แล้วเราต้องอยู่ด้วยกัน ไม่งั้นเราจะไม่ประสบความสำเร็จ เราต้องรักกัน
อนาคตก็หวังว่าเราจะเป็น Trend Setter ไปเรื่อย ๆ ตลอดของวการบันเทิงในประเทศไทย อุตสาหกรรมของบ้านเราในสาย entertainment แล้วก็ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติอยู่เรื่อย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นช่วงหลัง ๆ มานี่ เราได้โชว์ว่าถึงเราเป็นบริษัทที่อยู่มานาน แต่ไม่ได้แปลว่าคุณภาพความคิดของเราจะลดลงไปนะครับ เพราะเราเป็นบริษัทที่ยิ่งอายุยืนเรายิ่งแข็งแรงขึ้น ปีหน้า ก็ 75 ปีแล้วครับ
งาน Animation เรื่องแรกของกันตนาคือ แอนิเมชั่นสิ่งแวดล้อมเรื่อง “ Eco Planet ” มูลค่า 150 กว่าล้านบาท เป็นผลงานของ เต้ (ปิยะรัฐ กัลย์จาฤก) ในช่วงแรกที่ถูกดึงตัวกลับจากอเมริกาเพื่อมาช่วยงานครอบครัว หลังการเสียชีวิตของ ลุง (สิทธานต์ กัลย์จาฤก) ผู้เป็นพ่อ (จาฤก กัลย์จาฤกษ์) จึงมอบหมายให้เต้ดูแลงานด้วยตัวเองทุกอย่าง “ทั้งคิดคอนเซปต์, ขายงาน และนำเข้าฉายในโรงหนัง หนังได้รับหลายรางวัลในต่างประเทศ แต่ในประเทศไทยขาดทุนมหาศาล เพราะเข้าฉายช่วงบ้านเมืองมีปัญหา แต่เราก็มุ่งมั่นทำต่อไปนะ คนกันตนาเป็นโรคนี้ ถ้าไม่ยากไม่อยากทำ! ” [5] พี่เต้ของน้อง ๆ กล่าวยืนยันไว้กับ ไทยรัฐ เมื่อ 10 ปีก่อน วันนี้ กันตนา จึงมีดอกผลของคนไม่ยอมแพ้ “ ก้านกล้วย ” ภาค 3 โปรดติดตามตอนต่อไป.

เพลง “ ทางที่ต้องเดิน ” Ost. “ ก้านกล้วย ”
อรรถพร ธีมากร ขับร้อง
หนทางที่ต้องเดิน ให้ฉันเผชิญความจริง
จะทิ้งละได้อย่างไร เมื่อหัวใจเราเลือกทางนี้เอง
อาจต้องเสียต้องแลกอะไร อ่อนล้าเรี่ยวเเรงแค่ไหน
แต่ว่าฉันใช้หัวใจ นำทางฉันไป
ก้าวสู่หนทางที่ต้องเดิน พร้อมเผชิญทุกสิ่ง
จะไม่ทิ้งไม่ท้อไม่แท้ แม้จะเข็ญใจ
เชื่อในหนทางที่ต้องไป แม้ยากเย็นสักเท่าไร
ใจยังมุ่งไกลไปสู่จุดหมาย ปลายทางเราทุกคนจะอยู่เคียงกัน
เพราะมีเธออยู่เคียง ส่งเสียงหัวใจให้มา
ฉันจึงยังศรัทธา ต่อให้ฟ้ามากางกั้นยังข้ามไป
อาจต้องเสียต้องแลกอะไร อ่อนล้าเรี่ยวเเรงเเค่ไหน
แต่ว่าฉันจะใช้หัวใจนำ ทางฉันไป
ก้าวสู่หนทางที่ต้องเดิน พร้อมเผชิญทุกสิ่ง
จะไม่ทิ้งไม่ท้อไม่แท้ แม้จะเข็ญใจ
เชื่อในหนทางที่ต้องไป เเม้ยากเย็นสักเท่าไร
ใจยังคงมุ่งไกลไปสู่จุดหมาย
ปลายทางเราทุกคนจะอยู่เคียงกัน
อย่าหวั่นไหวแม้เธอต้องเดินลำพัง สิ่งที่หวังแม้ยังอีกไกล
เชื่อในฉันมั่นคงตลอดไป เพื่อจุดหมายที่ยิ่งใหญ่
จงก้าวต่อด้วยความมั่นใจ ก้าวสู่หนทางที่ต้องเดิน
พร้อมเผชิญทุกสิ่ง จะไม่ทิ้งไม่ท้อไม่แท้แม้จะเข็ญใจ
เชื่อในหนทางที่ต้องไป แม้ยากเย็นสักเท่าไร
ใจยังคงมุ่งไกลไปสู่จุดหมาย
ปลายทางเราทุกคนจะอยู่เคียงกัน
ปลายทางเราทุกจะอยู่เคียงกัน…

ก่อนเปิดการแสดง “ KHAN KLUAY LIVE EXPERIENCE ” เมื่อวันพุธที่ 30 เมษายน 2568 บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้จัดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2568 ขึ้น ณ ห้องประชุม Arno’s at Kantana สำนักงานใหญ่ บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดย จาฤก กัลย์จาฤก ประธานกรรมการบริษัท เป็นประธานในที่ประชุม มีวาระสำคัญ คือ รายงานผลการดำเนินงานในรอบปี 2567 และ ทิศทางธุรกิจในปี 2568 ของบริษัท และบริษัทในเครือ ที่ดำเนินธุรกิจ 3 ประเภท ได้แก่ Content Business, Production Service Business และ Education Business บางส่วนของเนื้อหาการประชุม ความว่า
ผลงานสร้างชื่อในปี 2567 ได้แก่ ซีรีส์ “สืบสันดาน” ที่ได้กลายเป็นกระแสโด่งดังไปทั่วโลกจนติดอันดับ 1 ซีรีส์ภาษาต่างประเทศที่มีผู้ชมสูงสุดทั่วโลกบน Netflix และติด Top 10 ใน 63 ประเทศทั่วโลก ในเวลาเพียงแค่ 2 อาทิตย์ และ เกมออนไลน์ “ KhanKluay The Adventure of Friendship ” ที่ได้รับความนิยมอย่างมากบนแพลทฟอร์ม Sandbox และมีการเปิดตัวเกม “ ก้านกล้วย Multiverse ” บน แพลตฟอร์ม Roblox สนุกกับ "ก้านกล้วย" และชาวแก๊ง
ยอดนิยมฝีมือคนไทย ด้วยยอดเข้าชม 1 ล้านครั้ง ใน 3 สัปดาห์แรก MAP : https://www.roblox.com/.../18650326733/Khan-Kluay-Adventure
หมายเหตุ
เกม “ กุมาร ” แนวสยองขวัญ อยู่ระหว่างการพัฒนา
รวมถึงความคืบหน้าการผลิตภาพยนตร์แอนิเมชันสามมิติ “ก้านกล้วย 3” กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาบทภาพยนตร์
ในส่วนการศึกษา ปีการศึกษา 2567 สถาบันกันตนาเปิด “ ศูนย์เรียนรู้ก้านกล้วยแลนด์ ” เป็นพื้นที่ให้เด็ก ๆ ได้มีสันทนาการ ร่วมเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย และการสร้างสรรค์เสียงในภาพยนตร์แอนิเมชัน จัดการเสวนาวิชาการหัวข้อ “แนวโน้มการสร้างสรรค์เนื้อหาสื่อดิจิทัลในอนาคต” เพื่อส่งเสริมการสร้างความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์สื่อบันเทิง และจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาทักษะด้านการสร้างสรรค์สื่อให้กับสถาบันการศึกษาและองค์กรที่สนใจ
และในปีการศึกษา 2568 นี้ สถาบันกันตนา ได้มีการจัดการเรียนการสอนแบบ ‘ชุดวิชา’ ให้ผู้เรียนเก็บสะสมหน่วยกิตให้ครบเพื่อขอรับปริญญาศิลปกรรมศาสตร์บัณฑิต รวมถึงมีการออกแบบหลักสูตรให้มีความหลากหลาย โดยร่วมมือกับบริษัทในเครือกันตนากรุ๊ป นำองค์ความรู้ซึ่งเป็นจุดแข็งและความเชี่ยวชาญทั้งทางด้านวิชาการและวิชาชีพมาถ่ายทอดในการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการอีกด้วย.

นอกจากธุรกิจครอบครัว ในงานส่วนตัวสายการแสดง เวลล์ มีผลงาน ละครเวทีเรื่อง “ แผลเก่า เดอะมิวสิคัล ” [6]
นำแสดงโดย
เขมวัฒน์ เริงธรรม, สยาภา สิงห์ชู
รัดเกล้า อามระดิษ, นนทิยา จิวบางป่า
มนตรี เจนอักษร, ธรรพ์ณธร ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา
ทรงสินธ์ ศิริคุณารัศม์, ดิษย์กรณ์ ดิษยนันทน์
“แผลเก่า เดอะ มิวสิคัล” เพิ่มรอบอีกครั้งตามคำเรียกร้อง
เก็บความทรงจำที่ประทับใจ กับ 3 รอบสุดท้าย @ M Theatre
23 สิงหาคม 2568 รอบ 14.00 และ 19.30 น.
24 สิงหาคม 2568 รอบ 19.30 น.
จำหน่ายบัตร www.dreambox.co.th โทร 081 4033733
หรือ inbox facebook : DreamboxTheatre Bkk

และอีกหนึ่งงานเพลงที่เวลล์รัก คอนเสิร์ตรวมบทเพลงสุดประทับใจจากละครบรอดเวย์ระดับตำนาน ทั้ง Wicked, Dear Evan Hansen, Hadestown, Les Misérables, Moulin Rouge!, Chicago, The Phantom of the Opera, Into the Woods และอีกมากมาย เต็มอิ่มไปกับเพลงฮิตที่ทุกคนหลงรัก พร้อมบทเพลง Side B ที่หาฟังสด ๆ ได้ยาก
พบกับ 4 นักร้องนักแสดงสาย musical จ๋า สุดาพิมพ์, เวลล์ ดิษย์กรณ์ (Mr.D), เพลง พิชญา, กาย ทรงสินธ์ ที่จะมาขับร้อง พร้อมแชร์เรื่องราวเบื้องหลังชีวิตการทำงานในอุตสาหกรรมละครเพลงประเทศไทย
เรียบเรียงและกำกับดนตรี โดย ยศสรัล ทรงเกียรติกุล
กำกับการแสดงโดย Amadiva
2 รอบการแสดง ที่ Lido Connect Hall 2
วันเสาร์ที่ 12 กรกฎาคม 2025 เวลา 14:00 และ 19:30
จองบัตรได้ทาง https://bit.ly/vobconcert — กับ Lido Connect
[1] Mr. D - เด็กหลังห้อง, MrDVEVO, สืบค้น 5 พฤษภาคม 2568 https://youtu.be/ELEj6rmkM_0?si=PkuzPblRpC_lhBG9
[2] มิวสิควีดีโอก้านกล้วย (แอ๊ด คาราบาว - ดนู ฮันตระกูล - กันตนาแอนนิเมชั่น), CARABAO DOTNET, สืบค้น 5 พฤษภาคม 2568, https://youtu.be/aAiqYC8DwRc?si=YkK0Xny4RNgQcjeA
[3] ่ทรงกลด บางยี่ขัน , บท-สนทนา สมสุข กัลย์จาฤก , สืบค้น 8 พฤษภาคม 2568 https://readthecloud.co/somsook-kaljaruek/
[4] The Up Rank (2022) – กิเลสแรงค์คอน, Movie Trivia, สืบค้น 8พฤษภาคม 2568 https://movietriviath.wordpress.com/2022/09/06/review-the-up-rank-2022/
[5] ‘กันตนา’ พร้อมผลัดใบ สู่ยุคเจนเนอเรชั่นสาม, www.thairath.co.th/lifestyle, สืบค้น 1 มิถุนายน 2568 https://www.thairath.co.th/lifestyle/woman/486885
[6] แผลเก่า เดอะ มิวสิคัล , www.dreambox.co.th , สืบค้น 1 มิถุนายน 2568 https://www.facebook.com/share/v/16erAtfQLU/