มีเพลงพิเศษอยู่ 2 เพลง ที่คนทั่วไปฟังแล้วจะกินใจในความหมายที่ดี อันสื่อถึงคนที่ทำงานรับใช้ชาติอย่างน่าเอาเป็นแบบอย่างเพลงหนึ่ง และสื่อถึงแม่ผู้เก่งกาจและอาจหาญอีกเพลงหนึ่ง เพลงที่ว่านั้น คือ คนดีมีค่า และ แม่จ๋า แต่สำหรับผู้สนใจในประวัติศาสตร์การเมืองไทย จะทราบได้ว่าผู้ประพันธ์เขียนขึ้นจากชีวิตของ ปรีดี และ พูนศุข พนมยงค์ ตามลำดับ แม้เขาจะแต่งขึ้นโดยไม่มีคำว่า “ปรีดี” และ “พูนศุข” ในทั้ง 2 เพลงเลยก็ตาม
ในวาระ 109 ปีชาตกาลของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ขอรำลึกถึงเธอผู้เป็นสตรีที่ไม่ธรรมดา มีชีวิตที่เป็นประวัติศาสตร์ และเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลังได้เสมอ ที่สำคัญคือเป็นสตรีผู้อยู่เบื้องหลังชีวิตของมหาบุรุษที่ชื่อ ‘ปรีดี พนมยงค์’ ผ่านหัวเรื่องต่างๆ ที่ร้อยเรียงจากถ้อยคำในทั้ง 2 เพลง ที่เมื่อฟังคราวใด ก็อดคิดถึงคนที่จากไปไม่ได้
ใครกันคือ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ชวนไปหาคำตอบด้วยกันจากบทความชิ้นนี้ แล้วให้ท่านผู้อ่านตัดสินเอาว่า เธอคือคนดีคนนั้นหรือไม่ ซึ่งผู้เขียนไม่ปิดโอกาสให้ท่านคิดต่าง …
คือพูนศุข ณ ป้อมเพชร์
พูนศุข เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวน 12 คน ของพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ) อธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรกในรัชกาลที่ 6 กับคุณหญิงเพ็ง เธอเกิดวันอังคารที่ 2 มกราคม ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2455) ปีที่นายทหารคณะหนึ่งพยายามเปลี่ยนระบอบการปกครอง แต่ไม่สำเร็จ จนเรียกกันว่า “กบฏ ร.ศ. 130” โดยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในรัชกาลที่ 6 เป็นผู้พระราชทานชื่อให้เธอว่า “พูนศุข”
เมื่ออายุ 6 ขวบ พูนศุขเข้าเรียนชั้นเตรียมประถมที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ในแผนกภาษาอังกฤษ จนถึงชั้น Standard 7 จึงลาออกไปแต่งงานในวัย 16 ปี ซึ่งเป็นธรรมดาของหญิงสาวในสมัยนั้น
สำหรับการอบรมสั่งสอนจากที่บ้าน เจ้าคุณชัยวิชิตฯ มีคติว่า “อยู่อย่างจน จะไม่จน อยู่อย่างรวย จะไม่รวย” โดยสอนลูกๆ ให้เป็นคนมัธยัสถ์ ไม่ฟุ่มเฟือย และให้มีความคิดเป็นหลักวิทยาศาสตร์ เช่น ในยามค่ำคืน ที่มืดสนิทเพราะไม่มีไฟฉายหรือคบไฟใดๆ เจ้าคุณฯ จะพาลูกๆ เดินผ่านตรอกป่าช้าจากถนนสีลมไปสาทรเหนือ เพื่อจะได้มีความกล้าหาญ ไม่กลัวผี หรืออีกครั้งหนึ่ง มีคนผูกคอตายที่ต้นไม้ เจ้าคุณฯ ให้ไปตัดกิ่งไม้นั้นมาไว้ในบ้าน เพื่อให้ลูกๆ ดูว่าไม่มีผีติดมาด้วย จะได้เลิกกลัว
คือความรัก: พลังอยู่เบื้องหลัง กำลังแห่งจิตใจ
เมื่อเด็กหนุ่มคนหนึ่ง บุตรของ เสียง พนมยงค์ มาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ เสียงซึ่งได้ติดต่อกับเจ้าคุณชัยวิชิตฯ เสมอมา เพราะเป็นญาติห่างๆ กัน ได้ฝากฝัง ‘ปรีดี’ ให้พักในบ้านเจ้าคุณฯ ตั้งแต่ยังอยู่คลองสาน ซึ่งท่านก็ดูแลเป็นอย่างดี เช่น ระหว่างเรียนให้เป็นไปเสมียนในกรมราชทัณฑ์ จะได้มีเงินใช้จ่ายโดยไม่ต้องรบกวนที่บ้านทางอยุธยา
ตามประสาคนที่มาอาศัยบ้านญาติผู้ใหญ่ ปรีดีเรียกลูกๆ ของเจ้าคุณชัยวิชิตฯว่า “คุณ” หนึ่งในนั้นคือ “คุณพูนศุข” ซึ่งมีอายุน้อยกว่าเขา 11 ปี ต่อเมื่อปรีดีสำเร็จการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศส และกลับมารับราชการเป็นหลวงประดิษฐ์มนูธรรมแล้ว ปรีดีจึงให้เสียงมาขอพูนศุข ทั้งคู่แต่งงานกันเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2471 เมื่อแต่งงานกันแล้วจึงเปลี่ยนสรรพนามเป็น “ฉัน” และ “เธอ”
พูนศุขเคยเล่าให้สุดา บุตรสาวคนหนึ่งฟังว่า ที่ปรีดีเลือกเธอ เพราะเห็นว่าพูนศุขชอบนั่งฟังผู้ใหญ่คุยกัน เวลามีแขกไปใครมา เธอก็จะอยู่ด้วยกับเจ้าคุณฯ จึงมีความรู้รอบตัวดีมาก หลักฐานที่ชัดเจนคือ พูนศุขสามารถไล่สาแหรกตระกูลต่างๆ ได้อย่างแม่นจำ จนปรีดีเปรียบเธอเป็นสารานุกรมส่วนตัวของเขา
ในเวลาที่แต่งงานกันนั้น ปรีดีเพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกทางกฎหมายมาจากฝรั่งเศส กลับมารับราชการเป็นเลขานุการกรมร่างกฎหมาย ดังมียศและบรรดาศักดิ์ว่า “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” และเป็นครูสอนกฎหมายในโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม นอกจากนี้ เขาได้เช่าตึกแถวสองชั้นย่านศาลาแดง ตั้งโรงพิมพ์นิติสาส์นขึ้น เพื่อพิมพ์ตำรากฎหมายและใช้สอนลูกศิษย์ในตอนค่ำด้วย พูนศุขจึงทำหน้าที่เป็นเลขานุการให้สามี เวลาเขาเรียบเรียงคำบรรยาย เธอก็จะเขียนตามคำบอก และเป็นพนักงานตรวจปรู๊ฟของโรงพิมพ์นิติสาส์น
ในด้านชีวิตส่วนตัว หลังแต่งงาน เจ้าคุณชัยวิชิตฯ ปลูกเรือนหอให้ภายในบ้านป้อมเพชร์นิคม ถนนสีลม อาหารการกินไปรับประทานร่วมกันที่ตึกใหญ่ของเจ้าคุณฯ จึงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในส่วนเงินเดือนที่ได้รับมา ปรีดีให้พูนศุขดูแลทั้งสิ้น เพราะเขามีรายได้จากโรงพิมพ์และค่าสอนลูกศิษย์ไว้ใช้พอแล้ว และเป็นเช่นนี้เรื่อยมาแม้จะมีตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงขึ้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง บางเดือนถึงขนาดลืมเงินเดือนทิ้งไว้ที่โต๊ะทำงาน จนเจ้าหน้าที่ต้องเอามาให้ที่บ้าน ภายหลังปรีดีจึงให้เจ้าหน้าที่มอบเงินเดือนให้พูนศุขโดยตรง
ต่อมาเมื่อมีเงินพอใช้จ่ายในครอบครัวแล้ว รายได้ทางอื่นๆ เขาและเธอได้ใช้เพื่อสาธารณกุศล เช่น เงินประจำตำแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ไม่เคยเบิกมาใช้ แต่จัดให้เป็นเงินสวัสดิการช่วยเหลือนักศึกษาที่ขาดแคลน
ปรีดีและพูนศุข มีบุตรธิดารวม 6 คน ได้แก่ ลลิตา ปาล สุดา ศุขปรีดา ดุษฎี และวาณี แน่นอนว่า แม่บ้านอย่างพูนศุข รับหน้าที่หลักในการเลี้ยงดูลูกๆ ดุษฎีกล่าวว่า “เมื่อลูกทำผิด คุณแม่จะไม่ตี แต่ใช้วิธีหักมือแทน ซึ่งก็เจ็บมาก”
หลังจากคณะราษฎรก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ปรีดีได้รับใช้บ้านเมืองผ่านตำแหน่งสำคัญต่างๆ เช่น เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย การต่างประเทศ และการคลัง จนในวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล 20 กันยายน 2482 พูนศุข แต่เมื่อเป็น “นางประดิษฐ์มนูธรรม” ในฐานะภริยาข้าราชการ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ มีศักดิ์เป็น “ท่านผู้หญิง” เมื่ออายุเพียง 28 ปี
ต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และญี่ปุ่นบุกไทยในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 เย็นวันนั้นที่บ้านพูนศุข ในบริเวณบ้านป้อมเพชร์นิคม ปรีดีและคณะได้ร่วมกันตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่นขึ้น ซึ่งต่อมารู้จักในนาม “เสรีไทย” เพื่อต่อต้านญี่ปุ่นผู้รุกราน และหาทางรักษาเอกราชอธิปไตยของไทยไว้ ตัวเธอเองมีส่วนร่วมในการถอดรหัสทางโทรเลขในการติดต่อสื่อสารกับฝ่ายสัมพันธมิตร
ภายหลัง เมื่อยามเผชิญมรสุมชีวิต ยามที่ปรีดีต้องพลัดพรากจากไกล หลังรัฐประหาร 2490 พูนศุขยังดูแลลูกๆ ไม่ห่างไกล บ้านที่เหมือนจะแตกสาแหรกขาด พูนศุขก็คงความอบอุ่นให้ลูกๆ ไว้ ตัวเธอเองในยามว่าง ชอบเล่นเปียโน เมื่อจำต้องห่างจากสามีที่รักโดยไม่ทราบชะตากรรมของกันและกัน เธอมักจะชอบฟังเพลงจากอุปรากรเรื่อง Madame Butterfly ที่ดุษฎีร้องให้ฟัง เพราะคิดถึงคนรักที่จากไกล
ต่อเมื่อติดต่อกันได้แล้ว เธอจึงออกไปใช้ชีวิตอยู่กับปรีดี ที่ประเทศจีนและฝรั่งเศส ตราบจนสามีของเธอถึงแก่อสัญกรรมไปในวัย 82 ปี 11 เดือน 21 วัน เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส
ครั้งหนึ่งมีคนถามพูนศุขในรายการโทรทัศน์ว่า ความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตของเธอคืออะไร เธอตอบทันทีว่า “คือความภาคภูมิใจที่ได้อยู่ใกล้คนที่ซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้วิชาที่จะรับใช้บ้านเมือง … ไม่ได้ผิดหวังในชีวิตส่วนตัว”
คือสตรีที่ไม่ท้อต่อผองภัย
ปี 2476 เมื่อปรีดีเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจขึ้นตามหลักเศรษฐกิจในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ที่ต้องการบำรุงความสุขสมบูรณ์ในทางเศรษฐกิจ แต่ถูกเล่นงานทางการเมืองอย่างหนัก จนมีการกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ถูกกดดันให้เดินทางออกนอกประเทศ พูนศุขเดินทางออกไปกับสามีด้วย หลังจากเปลี่ยนรัฐบาลในเวลาไม่นานจึงได้กลับมาประเทศไทยอีกครั้ง
อีกครั้งในปี 2490 เมื่อเกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน มีรถถังของคณะทหาร มายิงทำเนียบท่าช้าง ที่พำนักครอบครัว “ปรีดี-พูนศุข” เวลานั้นปรีดีไม่อยู่ในบ้านแล้ว พูนศุขต้องตะโกนสวนเสียงปืนของทหารไปว่า “อย่ายิง ที่นี่มีแต่ผู้หญิงกับเด็ก” เมื่อนายทหารเข้ามาชี้แจงว่าที่ทำเช่นนี้เพื่อมาเปลี่ยนรัฐบาล เธอทักท้วงไปทันทีว่า “ทำไมมาเปลี่ยนที่นี่ ทำไมไม่ไปเปลี่ยนที่สภาเล่า?”
ในปี 2492 ปรีดีพยายามฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศอีกครั้ง แต่ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 ของเขาและคณะประสบความล้มเหลว จนเป็นที่รู้จักในชื่อ “กบฏวังหลวง” พูนศุขต้องวางแผนในการหลบหนีให้กับปรีดี โดยได้จัดให้ไปอาศัยที่บ้านฉางเกลือ ฝั่งธนบุรี ของอุดร รักษมณี ผู้รักษ์ความเป็นธรรมที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย อาศัยว่าอุดรเป็นเพื่อนของสุธี โอบอ้อม ซึ่งเป็นสามีของอัญชนา ผู้หญิงในบ้านของพูนศุขที่อุปถัมภ์กันมาแต่เก่าก่อน จึงสามารถหลบจากการสอดส่องของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไปได้ ปรีดีอยู่ที่นั่นถึง 6 เดือน ก่อนจะออกไปต่างประเทศ
ในระหว่างที่พูนศุขต้องไปหาปรีดี โดยไม่ให้เป็นที่สังเกตของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองนี้เองที่เธอได้ใช้การฝึกฝนตั้งแต่เด็กให้เป็นประโยชน์ เพราะเธอต้องเดินคนเดียวผ่านป่าช้าสีลมไปขึ้นเรือหาปรีดี ตั้งแต่ในยามฟ้าใกล้สาง เพื่อไม่ให้เป็นที่สังเกตของใครๆ ถ้าไม่แน่วแน่เด็ดเดี่ยวเพียงนั้น ก็ไม่แน่ว่าจะใจแข็งพอที่จะทำได้
ต่อมาในปี 2495 พูนศุขถูกจับกุมขณะเป็นเถ้าแก่งานแต่งงานให้ เครือพันธุ์ ปทุมรส และศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ ในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร หรือที่เรียกกันว่า “กบฏสันติภาพ” อย่างไรก็ดีหลังฝากขังครบ 84 วันแล้วไม่สามารถหาพยานหลักฐานเอาผิดได้ พูนศุขจึงได้รับอิสรภาพอีกครั้ง ประหนึ่งว่าชนชั้นปกครองจะกลั่นแกล้งครอบครัวของเธอ เมื่อไม่สามารถเล่นงานนายปรีดีได้ ก็เล่นงานพูนศุข ผู้ภรรยา และปาล บุตรชายคนโต แทน โดยปาลนั้นศาลตัดสินจำคุก 20 ปี ลดโทษเหลือ 13 ปี หลังจากติดคุกราว 5 ปี จึงได้รับพระราชทานอภัยโทษในครั้งกึ่งพุทธกาล
โดยในช่วงควบคุมตัวเธอไว้นั้น ตำรวจสอบปากคำได้พยายามทำสงครามจิตวิทยาอยู่เสมอ เช่น กล่าวว่ารู้หรือไม่ว่าปรีดีนอกใจ ไปมีคนอื่นแล้ว แต่เธอก็เชื่อในรักแท้ที่มีต่อกันอย่างไม่หวั่นไหว นอกจากนี้ ภาพที่ชวนเศร้าใจคือ บางครั้งช่วงสุดสัปดาห์ เธอต้องเอาดุษฎีกับวาณี บุตรสาว 2 คนเล็ก มาเลี้ยงดูในที่คุมขังด้วย
มีจดหมายฉบับหนึ่ง ลงวันที่ 21 กันยายน 2493 เป็นพยานแห่งความรักอันซื่อตรงของพูนศุขได้เป็นอย่างดี เวลานั้นต้องเขียนถึงกันแบบแอบๆ จะลงชื่อเธอหรือปรากฏชื่อสามีก็ไม่ได้ เนื่องจากต้องระวังหากจดหมายนี้ตกไปอยู่ในมือคนอื่น พูนศุขขึ้นต้นจดหมายว่า “เธอ ที่รัก” และลงท้ายว่า “หวังว่าคงจำลายมือได้” โดยความตอนหนึ่ง เธอเขียนถึงสามีที่พลัดพรากว่า “เป็นเวลา 1 ปีแล้วที่ไม่ได้รับข่าวคราวจากเธอโดยตรง หวังว่าคงอยู่เป็นสุขสบายดี” แล้วทิ้งท้ายว่า “สำหรับตัวฉันเองจงไว้ใจว่ามีความซื่อสัตย์ต่อเธออยู่เสมอ”
ยามที่เดือดร้อนด้วยไม่มีหัวหน้าครอบครัวอยู่เป็นเสาหลัก พูนศุขอาศัยความที่ชอบทำอาหารและขนม จึงได้ทำขนมให้คนไปขายย่านสีลมและสวนลุมพินี เพื่อหารายได้เสริมมาจุนเจือฐานะเศรษฐกิจภายในบ้าน ปรีดีเองก็ซาบซึ้งใจในความข้อนี้ ดังได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งถึงเธอ เมื่อปี 2512 ว่า “น้องต้องพลอยได้รับความลำบากเนื่องจากศัตรูข่มเหงพี่ แต่น้องมิได้เสื่อมคลายในความรักและความเห็นใจพี่ตลอดมา”
ชีวิตของพูนศุขจึงขึ้นลงตามตำแหน่งแห่งที่ของปรีดี แต่อย่างไรก็ดี ชีวิตของเธอเองก็น่าสนใจว่า ผู้หญิงคนหนึ่งสามารถซื่อสัตย์ในรักแท้ต่อสามีทั้งยามสุขและยามทุกข์ และผ่านความผันผวนในชีวิตมาได้อย่างไร ดัง สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เคยกล่าวถึงพูนศุขเมื่อเธอมีอายุครบ 7 รอบ ว่า
“ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ มิใช่เป็นเพียงบุคคลหนึ่ง ที่มีชื่อผ่านเข้ามาในประวัติศาสตร์ ในฐานะเป็นภริยาของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เท่านั้น แต่ชีวิตของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เป็นประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งด้วยทีเดียว อย่างน้อย ในกระแสแห่งความผันผวนปรวนแปรของเหตุการณ์บ้านเมือง ที่ชีวิตของท่านผู้หญิงพูนศุข ถูกกระทบกระแทกอย่างหนักหน่วงรุนแรงครั้งแล้วครั้งเล่า ตลอดช่วงเวลายาวนาน ท่านผู้หญิงรู้เห็น รู้สึก มองสถานการณ์และเหตุการณ์เหล่านั้นอย่างไร รวมทั้งนำชีวิตและบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะครอบครัว ลุล่วงผ่านพ้นมาได้อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจศึกษาอย่างมาก”
คือผู้ยืนยงบนหนทางสร้างสิ่งดี
หลังจากปรีดีจากไปในปี 2526 พูนศุขก็กลับมาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย จากนั้นลูกศิษย์ลูกหาที่เคารพรักใน ฯพณฯ รัฐบุรุษอาวุโส ได้ร่วมกันจัดตั้งมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ขึ้น เพื่อสานต่ออุดมการณ์ของปรีดี พูนศุขได้รับทำหน้าที่เป็นประธานมูลนิธิตราบจนวาระที่สุดแห่งชีวิตของเธอ
โดยที่พูนศุขเคยมีบทบาทร่วมกับปรีดีสนับสนุนและช่วยเหลือขบวนการกู้ชาติในเวียดนามและลาว ทั้ง 2 ประเทศจึงได้มอบเหรียญมิตรภาพให้เธอในปี 2538 และ 2541 ตามลำดับ
ปี 2548 พูนศุขได้รับรางวัล “Outstanding Women in Buddhism Awards” แห่งสหประชาชาติ เธอแสดงสุนทรพจน์ความตอนหนึ่งว่า
“ข้าพเจ้าเกิดมาในครอบครัวพุทธศาสนิกชน ตั้งแต่เยาว์วัยบิดามารดาได้ปลูกฝังให้ลูกๆ ยึดมั่นในพระพุทธศาสนา เมื่อแต่งงานมีครอบครัว สามีข้าพเจ้าได้ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีในการยึดหลักธรรมะเป็นสรณะ ชีวิตที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมา 93 ปี มีทั้งความสุขและความทุกข์ ความสำเร็จและความผิดหวัง หลักธรรมในพระพุทธศาสนาได้ช่วยให้ข้าพเจ้าดำรงชีวิตอยู่ได้ หลักธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่านั้น คือ ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า ถ้าทุกคนปฏิบัติตามหลักธรรมในพุทธศาสนา ทั้งในยามสันติ ยามสงคราม และยามที่ชีวิตผันผวน โดยทำตามหน้าที่อย่างรับผิดชอบและตั้งสติอยู่เสมอ เราทุกคนจะประสบสันติสุขในใจ”
นอกจากงานของมูลนิธิปรีดีแล้ว พูนศุขยังคงไปร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปรีดีเสมอ เช่น งานวันปรีดี พนมยงค์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (11 พฤษภาคม) งานทำบุญที่พระเจดีย์ วัดพระศรีมหาธาตุบางเขน (24 มิถุนายน) งานวันสันติภาพไทย (16 สิงหาคม) เป็นต้น
เธอปรารถนาที่จะเห็นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย โดยมักกล่าวเสมอว่า ยืนอยู่เคียงข้างนักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 และแม้จะสูงวัยถึงกว่า 90 ปีแล้ว เธอก็ยังคงไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอยู่เสมอ ทั้งยังได้ฝากความหวังว่าหลักประชาธิปไตยก็ดี หลัก 6 ประการของคณะราษฎรก็ดี ต้องให้คนรุ่นใหม่ช่วยกับสานต่อเจตนารมณ์ให้สำเร็จ
พูนศุขมีที่ชีวิตที่ยืนยาว ได้เล่าขานส่งต่อแนวคิดและอุดมการณ์ของปรีดีอยู่ตลอด ดังในปีสุดท้ายของชีวิต เธอให้โอวาทแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใน “วันแรกพบ” 11 พฤษภาคม 2549 ว่า
“ขอให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ เอานายปรีดี พนมยงค์ เป็นตัวอย่าง อุทิศตนเพื่อบ้านเมืองมาชั่วชีวิต แต่ไม่เคยคิดหาประโยชน์ใส่ตัวเลย”
จริงเท็จเพียงใด ขอให้พิจารณาดูชีวิตครอบครัวของปรีดีเถิด
คือผู้ “ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น”
เมื่ออายุ 86 ปี พูนศุขเขียน ‘คำสั่งถึงลูกๆ ทุกคน’ ไว้ถึงการจัดการงานศพของเธอ โดยในข้อที่ 2 ระบุไว้ชัดเจนว่า “ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น” แม้เราไม่อาจทราบได้ว่าทำไมเธอจึงคิดเช่นนั้น แต่หากจะเดา คงเพราะเธอพอใจกับสิ่งที่ได้รับมาแล้วในชีวิต ทั้งในยามสุขและยามทุกข์
สามีของเธอ ซึ่งเป็นมหาบุรุษ ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้อนุชนเสมอมา เป็นบุคคลสำคัญของโลกที่องค์การยูเนสโกยกย่องเมื่อคราวครบ 100 ปีชาตกาล (2543) ได้เคยเขียนจดหมายถึงพูนศุข ในโอกาสครบรอบวันแต่งงาน ปี 2511 ว่า
“ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น น้องได้ปฏิบัติหน้าที่ภรรยาที่ดียิ่ง พร้อมด้วยความอุทิศตนเสียสละทุกอย่างเพื่อพี่และเพื่อราษฎรไทย แม้ว่าขณะนี้น้องจะได้รับความลำบากเนื่องจากความอยุติธรรมของศัตรูที่ปองร้าย แต่วันใดวันหนึ่งในภายหน้า คุณความดีของน้องก็จะต้องปรากฏขึ้นแก่มวลราษฎรไทย”
ไม่ง่ายนักที่คนส่วนมากจะเห็นความพิเศษของพูนศุข เพราะตราบจนบัดนี้ คนที่ตั้งตัวเป็นศัตรูกับปรีดีก็ยังมีอยู่ไม่น้อย แต่อย่างไรก็ดี พุทธภาษิตสอนเราว่า “ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” และ “ผลของการที่ก่อสร้างไว้ดีแล้วย่อมไม่สูญหาย”
ถ้าพูนศุขรู้อนาคตและเลือกกำหนดชีวิตของตนได้ ผู้เขียนเชื่อว่าเธอก็จะเลือกที่มีชีวิตคู่กับ ปรีดี พนมยงค์ เสมอ แม้จะต้องมีชีวิตที่ผันผวน แบบขึ้นสุดๆ และลงสุดๆ ก็ตาม เพราะอะไรเล่าจะมีคุณค่าไปกว่าการที่ได้ใช้ชีวิตเพื่อผู้อื่น และมีคู่ชีวิตที่คิดและทำแบบเดียวกับเราในเรื่องอันยากจะทำได้นี้
ทั้งปรีดีและพูนศุขมีชีวิตที่คิดถึงบ้านเมืองและผู้อื่นอยู่เสมอ ดังก่อนจะถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ปาล ลูกชายนั้น พูนศุขเดินทางกลับมาดูใจ ส่วนปรีดียังอยู่ที่บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส ปรีดีได้เปรยกับนักศึกษาไทยคนหนึ่งระหว่างที่เดินเล่นด้วยกันในสวนที่ฝรั่งเศสว่า “ปาลนี่ไม่น่าอายุสั้นเลย ยังไม่ได้มีโอกาสทำประโยชน์ให้ประเทศชาติคุ้มกับที่เกิดมา” เธอย่อมภูมิใจที่มีสามีแบบนี้
ส่วนตัวเธอเองนั้น เมื่อนักข่าวมาสัมภาษณ์ในงานวันเกิดปีที่ 95 อันเป็นปีสุดท้ายของเธอ เขาถามว่าเธออยากได้อะไรเป็นของขวัญวันเกิด คำตอบของเธอไม่มีเรื่องสำหรับตัวเองเลย โดยตอบว่า “เป็นห่วงอนาคตของพวกเด็กๆ เพราะว่าพ่อแม่ต้องไปทำงาน เด็กก็ถูกปล่อย อยากให้พ่อแม่เอาใจใส่กับลูกให้มากๆ ใกล้ชิดลูกให้มากๆ เป็นห่วงเรื่องนี้”
พูนศุขจากโลกนี้ไปในคืนวันที่ 11 พฤษภาคม 2550 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของปรีดีพอดี (อนึ่ง ถ้านับอย่างเคร่งครัดก็ต้องว่าเธอถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 12 เพราะเลยเที่ยงคืนของวันที่ 11 มาแล้ว) เขาและเธอคงได้พบกันแล้ว ณ ที่ใดที่หนึ่ง และ 10 ปีที่พูนศุขจากไป เป็น 10 ปีที่เรายังคงคิดถึงชีวิตรักของสามีภรรยาคู่หนึ่งที่ประเสริฐอย่างยากจะหาคู่ใดเปรียบได้
เธอคือคนดีคนนั้น … ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ผู้อยู่เบื้องหลังชีวิตของมหาบุรุษ ปรีดี พนมยงค์ ทั้งในยามสำเร็จและล้มเหลว และเป็นสตรีผู้เขียนประวัติศาสตร์ด้วยชีวิตของเธอ !
บรรณานุกรม
หนังสือ
- บูชาธรรม บูชาคุณ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ (2 มกราคม 2455 – 11 พฤษภาคม 2550) (ม.ป.ท.: ม.ป.พ., ม.ป.ป.).
- ธรรมาลัย ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: ลลิตา สุดา ศุขปรีดา ดุษฎี วาณี และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2550).
- ปริญญา เทวานฤมิตรกุล (บรรณาธิการ), คู่มือนักศึกษาใหม่ (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2553).
- พูนศุข พนมยงค์, ท่านผู้หญิง, ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น ๙๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน พูนศุข พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: ลลิตา สุดา ศุขปรีดา ดุษฎี วาณี, 2551).
วีดิทัศน์
สัมภาษณ์
- ดุษฎี พนมยงค์, 4 พฤษภาคม 2560
- สุดา พนมยงค์, 5 พฤษภาคม 2560
เผยแพร่ครั้งแรก https://www.the101.world/phoonsuk-banomyong/ (12 พฤษภาคม 2017)
- พูนศุข พนมยงค์
- กษิดิศ อนันทนาธร
- อภิวัฒน์สยาม 2475
- คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู
- คนดีมีค่า
- แม่จ๋า
- ปรีดี-พูนศุข
- พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา
- คุณหญิงเพ็ง
- กบฏ ร.ศ. 130
- สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
- เซนต์โยเซฟคอนแวนต์
- บ้านป้อมเพชร์นิคม
- ถนนสีลม
- ถนนสาทร
- เสียง พนมยงค์
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
- กระทรวงยุติธรรม
- โรงพิมพ์นิติสาส์น
- ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
- มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ
- องค์การต่อต้านญี่ปุ่น
- ขบวนการเสรีไทย
- ทำเนียบท่าช้าง
- Madame Butterfly
- รัฐประหาร 2490
- รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490
- รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม
- ขบวนการประชาธิปไตย
- 26 กุมภาพันธ์ 2492
- อุดร รักษมณี
- บ้านฉางเกลือ
- สุธี โอบอ้อม
- กบฏสันติภาพ
- เครือพันธุ์ ปทุมรส
- ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์
- ป๋วย อึ๊งภากรณ์
- ปาล พนมยงค์
- ดุษฎี พนมยงค์
- สุดา พนมยงค์
- วาณี พนมยงค์
- ศุขปรีดา พนมยงค์
- ลลิตา พนมยงค์
- สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
- ประยุทธ์ ปยุตฺโต
- ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
- วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร