ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สารวันขึ้นปีใหม่ไทย 2565

13
เมษายน
2565

 

“ประเพณีวันสงกรานต์” เป็นประเพณีฉลองการขึ้นปีใหม่ของไทย ซึ่งโดยทั่วไปจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ตรงกับเดือน 5 ตามจันทรคติ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ประเทศไทยมีประเพณีวันสงกรานต์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2525  อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปีเป็น “วันผู้สูงอายุ” วันที่ 14 เมษายนของทุกปีเป็น “วันครอบครัว” เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนให้ตระหนักถึงคุณค่าของ “สถาบันครอบครัว” และใช้เวลาว่างในวันหยุดยาวช่วง “เทศกาลสงกรานต์” ให้สมาชิกในครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้าและทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว และ วันที่ 15 เมษายน จะเรียกว่าเป็น “วันเถลิงศก” ถือว่าเป็น “วันเริ่มจุลศักราชใหม่” หรือ “วันปีใหม่ไทย” ที่นับตามแบบสมัยโบราณนั่นเอง

‘ปรีดี พนมยงค์’ และ ‘คณะราษฎร’ คือ สัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ‘ปรีดี พนมยงค์’ เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม และที่สำคัญที่สุด จิตวิญญาณของ ‘ปรีดี พนมยงค์’ ก็คือจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการ 

“รัฐสวัสดิการ” มักจะมีความก้าวหน้าขึ้นเมื่อประเทศเป็นประชาธิปไตย และถดถอยลงทุกครั้ง เมื่อเกิดการรัฐประหาร หรือ ปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยม ไม่ว่าจะเป็นโลกพระศรีอาริย์ตามแนวคิดท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ หรือ แนวคิดเศรษฐกิจดุลยธรรมที่ผมได้พัฒนาต่อยอดมาจากนักคิด ปัญญาชนหลายๆ ท่าน รวมทั้งเค้าโครงการเศรษฐกิจ (สมุดปกเหลือง) ของปรีดี พนมยงค์ ก็ดี  ล้วนมีเป้าหมายและพื้นฐานเดียวกัน คือ ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจที่มีรากฐานมาจากประชาธิปไตยทางการเมืองที่มั่นคง ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมภายใต้ระบบรัฐสวัสดิการ ระบบสวัสดิการที่รัฐจัดบริการประชาชนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ 

โลกพระศรีอาริย์ของท่านปรีดีจึงเปรียบเสมือนสังคมหรือรัฐในอุดมคติแบบไทยหรือแบบเอเชีย ตามความเชื่อของพุทธศาสนา เมื่อสิ้นสมัยพระพุทธเจ้านามพุทธโคดมแล้ว ก็จะเข้าสู่โลกพระศรีอาริย์ ผู้คนมีความสุข มีศีลธรรม เกิดสังคมที่ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน มีแต่ความเมตตาและปรารถนาดีต่อกัน ไม่มีการเบียดเบียน จี้ปล้นฉกชิงวิ่งราว มีต้นกัลปพฤกษ์ไว้บันดาลสิ่งที่ต้องการให้ตลอดเวลา 

ส่วนแนวคิดเศรษฐกิจดุลยธรรมนั้น ต้องให้ระบบเศรษฐกิจมีความสมดุลและต้องเป็นดุลยภาพที่ เป็นธรรม สิ่งที่จะเป็นพื้นฐานทำให้ประชาธิปไตยและเสรีภาพของประชาชนมีความมั่นคงแข็งแรง แนวความคิดเศรษฐกิจดุลยธรรมก็ดี แนวคิดโลกพระศรีอาริย์ก็ดี ย่อมปฏิเสธการแข่งขันแย่งชิงกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ทิ้งผู้อ่อนแอไว้ข้างหลังและสอดคล้องกับ แนวคิดภราดรภาพนิยม หรือ ลัทธิโซลิดาริสม์ อันมีแนวคิดสังคมนิยมโดยรัฐ ความคิดแบบภราดรภาพนิยม  ความคิดแบบภราดรภาพในทางการเมือง จะช่วยลดการเผชิญหน้าและความขัดแย้งลงได้ เพราะมองว่าทุกคนล้วนเป็นพี่เป็นน้องกัน ต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน     

“สถาบันปรีดี พนมยงค์” ภายใต้ “มูลนิธิปรีดี พนมยงค์” ยังคงยืนหยัดทำงานอย่างต่อเนื่องตามพันธกิจของสถาบันปรีดี พนมยงค์ 3 ประการ คือ 

    1. เพื่อเผยแพร่อุดมการณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์และคุณูปการของนายปรีดี พนมยงค์ 
    2. นำเสนอข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาแก่สาธารณชนผู้ใฝ่สัจจะ
    3. สนับสนุน ศึกษาวิจัย และเผยแพร่การพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม  โดยยึดถือเจตนารมณ์ของครูองุ่น มาลิก ผู้บริจาคที่ดินในการจัดสร้างสถาบันปรีดี พนมยงค์ ในการส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมอย่างมั่นคง 

“สถาบันปรีดี พนมยงค์” ได้ใช้แนวทางดังกล่าวเป็นหลักนำในการดำเนินงาน และเชื่อมโยงกับเนื้อหาและกิจกรรมต่างๆ ที่ได้จัดขึ้นทุกครั้ง โดยในช่วงที่ผ่านมาทางสถาบันฯ  มีแผนงานและเป้าหมายในการจัดทำและเผยแพร่เนื้อหาที่มีคุณภาพทางวิชาการ เก็บรวบรวมเป็นคลังข้อมูล ในเว็บไซต์ pridi.or.th เพื่อให้นักศึกษาและประชาชนที่สนใจสามารถนำข้อมูลไปใช้ต่อยอดองค์ความรู้ ควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมเสวนาทางวิชาการ ภายใต้ชื่องาน “PRIDI Talks” ที่จะเป็นเวทีสำหรับภาคประชาสังคม ให้เกิดการมีส่วนร่วม พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อขับเคลื่อนสังคมให้เดินไปข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม การจัดกิจกรรมต่างๆ และการดำเนินงานล้วนต้องอาศัยงบประมาณ ทางคณะกรรมการมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ มีความจำเป็นต้องตัดสินใจบริหารจัดการทรัพย์สินของมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ให้สามารถสนับสนุนการดำเนินงานได้ต่อไปอย่างยั่งยืน และยังคงรักษาอุดมการณ์ประชาธิปไตยไว้เช่นเดิม 

ความจริงแล้ว ในหลายประเทศ มูลนิธิที่ถูกจัดตั้งเพื่อเป็นเกียรติแด่ “รัฐบุรุษของชาติ” นั้นจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐในทางใดทางหนึ่ง แต่กรณีของไทยแตกต่างจากประเทศอื่นๆ  ด้วยการที่ “สถาบันปรีดี พนมยงค์” เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่ได้รับการสนับสนุนใดจากรัฐ เราจึงมีความอิสระอย่างเต็มที่แต่ก็ต้องมีแนวทางที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนทางการเงินที่มีประสิทธิภาพจึงจะทำให้สถาบันฯ เป็นพื้นที่สำหรับประชาชนผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย และรักความเป็นธรรมได้อย่างเต็มศักยภาพ  

หากบรรดาผู้นำทั้งหลายยึดแนวความคิด “ภราดรภาพนิยม” มองทุกคนเป็นพี่เป็นน้องกัน สงครามย่อมไม่เกิดขึ้น การสูญเสียชีวิต การบาดเจ็บล้มตาย การพลัดพรากจากถิ่นฐานและครอบครัว ย่อมไม่เกิดขึ้น ผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคมที่จะเกิดตามมาอีกมากมายย่อมไม่เกิดขึ้น 


รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ 
ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์
ณ วันที่ 13 เมษายน 2565