ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

นักเรียนกฎหมายปรีดี พนมยงค์ เมื่ออายุเพียง ๑๙ ปี อาสาเป็นทนายความคดี “พลาติสัย” คดีเรือชนพลับพลา

25
พฤษภาคม
2565

กิตติศัพท์ที่กล่าวถึงประวัติและงานของ นายปรีดี พนมยงค์ นั้น มักจะยกย่องถึงท่านในฐานะผู้อภิวัฒน์ระบบประชาธิปไตย ผู้นำขบวนกู้ชาติเสรีไทย ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัฐบุรุษอาวุโส ฯลฯ ซึ่งบทบาทดังกล่าวของนายปรีดี พนมยงค์ ล้วนเป็นบทบาทภายหลัง พ.ศ. ๒๔๖๙ ที่ได้สำเร็จการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศสและได้กลับมารับราชการในประเทศไทยแล้ว

แต่อาชีวปฏิญาณในทางกฎหมายของนายปรีดี พนมยงค์ ได้เริ่มปรากฏแล้วตั้งแต่สมัยที่กำลังศึกษาวิชากฎหมาย ณ โรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม ก่อนที่นายปรีดี พนมยงค์ จะสำเร็จเป็นเนติบัณฑิตสยามเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ กล่าวคือ การเป็นทนายความเมื่อมีอายุเพียง ๑๙ ปี และยังไม่สำเร็จเป็นเนติบัณฑิตสยาม

มูลเหตุที่ทำให้นายปรีดี พนมยงค์ เริ่มมีชื่อเสียงในวงวิชาชีพกฎหมายเมื่อมีอายุเพียง ๑๙ ปี ก็คือได้เกิดมีคดีที่เรียกชื่อกันในสมัยนั้นว่า “คดีประทุษร้ายส่วนแพ่ง” กล่าวคือเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ อัยการสมุทรปราการเป็นโจทก์ฟ้อง นายลิ่มซุ่นหงวน เป็นจำเลยในคดีประทุษร้ายส่วนแพ่ง ว่า เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๔๖๑ เวลากลางวัน เรือโป๊ะ ชื่อตงหลี นำเบอร์ ๓๘ ของจำเลย ซึ่งจอดในเขตจังหวัดสมุทรปราการ ได้โดนพลับพลา สถานที่ของรัฐบาล ซึ่งตั้งอยู่ริมลำน้ำ เสียหายไปเป็นราคา ๖๐๐ บาท โดยความประมาทของจำเลย จึงขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๖๐๐ บาท

นายปรีดี พนมยงค์ นักเรียนกฎหมาย ได้ขอรับอาสาว่าความเป็นทนายแก้ต่างให้ นายลิ่มซุ่นหงวน จำเลยโดยขออนุญาตเป็นพิเศษต่อผู้พิพากษาเจ้าของคดี ทั้งนี้เพราะนายปรีดี พนมยงค์ ยังไม่จบกฎหมาย และยังไม่บรรลุนิติภาวะ

มีผู้กล่าวกันว่า การที่นายปรีดี พนมยงค์ นักเรียนกฎหมายที่ยังเรียนไม่จบและทั้งยังไม่เคยว่าความมาเลยในชีวิต ขอรับอาสาว่าความคดีนี้ ได้ทำให้พวกทนายอาวุโสทั้งหลายในสมัยนั้น ได้พากันยิ้มเยาะวิพากษ์วิจารณ์ทนายหน้าใหม่ที่ไม่มีใครรู้จัก และยังไม่เคยว่าความมาเลยในชีวิต เพราะตามรูปคดีนี้แล้ว มีความรู้สึกกันว่า เมื่อเรือสำเภาของนายลิ่มซุ่นหงวน จำเลย ได้ไปชนพลับพลาที่ประทับของในหลวงจนเสียหาย คดีนี้จึงหาทนายความที่หาญเข้าไปแก้ต่างให้จำเลยได้ยาก

แต่นักเรียนกฎหมายปรีดี พนมยงค์ เมื่อได้ศึกษารูปคดี ข้อบทกฎหมาย ตามพระบาลีในพระธรรมศาสตร์และตามคดีอันโบราณราชกษัตริย์ จัดเป็นบทมาตราปรากฏในกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จเห็นว่า จำเลยไม่เป็นผู้ผิด จึงรับว่าต่างเป็นทนายให้แก่ผู้บริสุทธิ์

ผลของการเข้าเป็นทนายของนายปรีดี พนมยงค์ ปรากฏว่า ในชั้นศาลชั้นต้น อัยการโจทก์เป็นผู้ชนะคดี แต่ภายหลังจากที่นายปรีดี พนมยงค์ ทนายฝ่ายจำเลยได้ยกข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงอุทธรณ์คำพิพากษาชั้นต้น ทั้งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาก็พิพากษา ต้องกันให้ฝ่ายจำเลยเป็นผู้ชนะคดีในที่สุด

ต่อไปนี้ เป็นคำพิพากษาของกรรมการศาลฎีกาที่ ๑๑๕ พ.ศ. ๒๔๖๓ อันเป็นผลจากการเป็นทนายของปรีดี พนมยงค์ ที่ลงพิมพ์ในหนังสือธรรมสาร เล่ม ๔ หน้า ๑๒๘ พ.ศ. ๒๔๖๓

 

คำพิพากษาศาลฎีกา ๑๑๕ พ.ศ. ๒๔๖๓
ประทุษฐร้ายส่วนแพ่ง พลาติสัย

จำเลยไม่ต้องรับสำนองต่อผลแห่งการเสียหาย ซึ่งเกิดขึ้นจากภัยนอกอำนาจฯ

ได้ความว่าเรือโป๊ะของจำเลยจอดอยู่ห่างฝั่ง ๒ เส้นเศษ ได้เกิดมีพยุห์จัดพัดเอาเรือซึ่งทอดสมอนั้นไปกระแทกพลับพลาแหกหักพังไป ซึ่งเปนการเหลือวิษัยของพวกที่อยู่ในเรือโป๊ะจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ฯ

ฎีกาตัดสินว่า การที่เรือโป๊ะไปโดนพลับพลาหักพังนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะแกล้งฤาความประมาทของคนเรือโป๊ะ การเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์นับว่าเปนภัยนอกอำนาจ จำเลยไม่ต้องรับผิดชอบให้ยกฟ้องโจทก์เสีย ฯ

 

คำพิพากษาที่ ๑๑๕ พ.ศ. ๒๔๖๓

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้กรรมการตรวจฎีกาโจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอุทธรณ์กรุงเทพฯ

อัยการสมุทรปราการ                            โจทก์

คดีระหว่าง

นายลิ่มซุ่นหงวน                                จำเลย

คดีโจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๑ เวลากลางวัน เรือโป๊ะชื่อตงหลีนำเบอร์ ๓๘ ของจำเลยซึ่งจอดอยู่ในเขตจังหวัดสมุทรปราการได้โดนพลับพลาสถานที่ของรัฐบาลซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งลำน้ำเสียหายไปเปนราคา ๖๐๐ บาท โดยความประมาทของผู้เดินเรือ จำเลย จึงขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเปนเงิน ๖๐๐ บาท ฯ

จำเลยให้การต่อสู้ว่า การที่เรือตงหลีโดนพลับพลานั้น ด้วยถูกลมพยุห์ใหญ่พัดมา หาใช่เปนเหตุเพราะความประมาทไม่ ฯ

ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิจารณา ลงความเห็นว่าเหตุที่ตงหลีของจำเลยโดนสถานที่ของรัฐบาลนั้น ได้ความว่าโดนเพราะเหตุจำเปนการเหลือวิษัยที่จำเลยฤๅพวกของจำเลยจะป้องกันไม่ให้เกิดเปนขึ้นได้ เพราะเกิดโดยลมพยุห์พัดจัดพร้อมทั้งฝนตก เรือก็ได้ทอดสมออยู่ก่อนมีลมพยุห์พัดมา แลที่ตรงนั้นก็เปนที่จำเปนจะต้องจอดเรือให้เจ้าพนักงานด่านตรวจทั้งเรือก็จอดห่างตลิ่งถึง ๒ เส้นเศษ เปนการสมควรอยู่เวลาพยุห์มาคนเรือของจำเลยก็ได้ลงสมออีกตัวหนึ่ง แต่ไม่อยู่สมอ ๒ ตัวทนแรงพยุห์หาได้ไม่ สมอได้เกาเข้ามาทางท้ายเรือ ตงหลีจึงได้กระแทกถูกสถานที่ของรัฐบาลหักพังไป คดีไม่มีทางที่จะเห็นได้ว่าคนของจำเลยได้กระทำไปโดยความประมาท เมื่อเปนเช่นนี้แล้วก็สมควรที่จะกรุณาแลผ่อนผันค่าเสียกับจำเลยให้น้อยลงอีกบ้าง จึงพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เปนเงิน ๒๐๐ บาท ฯ

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์กรุงเทพฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าการที่เรือของจำเลยโดนพลับพลานั้นไม่ได้เกิดจากความแกล้งฤๅความเลินเล่อของจำเลยเลย ตามกฎหมายจำเลยไม่มีความผิดแลไม่ต้องรับผิดชอบใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ จึงกลับคำพิพากษาศาลเดิมแลให้ยกฟ้องโจทก์เสียฯ

 

โจทก์ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาฯ

กรรมการศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนแลปฤษาคดีนี้ ซึ่งศาลล่าง ๒ ชี้ขาดว่ากิริยาที่เรือตงหลีโดนพลับพลาไม่ได้เกิดขึ้นจากความแกล้งฤๅความประมาทแห่งคนเดินเรือของจำเลยนั้น ชอบด้วยรูปความแล้ว แต่ที่ศาลเดิมบังคับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแม้แต่เพียงเล็กน้อยก็ยังไม่ชอบด้วยทำนองคลองวินิจฉัย เพราะจำเลยหาความผิดมิได้ ด้วยความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์นับเปนภัยนอกอำนาจด้วยเกิดจากลมพยุห์ผิดธรรมดาซึ่งพ้นวิษัยคิดว่าจะมีขึ้น

ส่วนพวกคนเรือของจำเลยก็ได้ช่วยแก้ไขจนเต็มความสามารถแล้วมิได้มีกิริยาที่เห็นว่าแกล้งฤๅประมาทแต่อย่างใดอีกเลย ตามกฎหมายจำเลยจึงไม่มีความผิดอันต้องรับผิดชอบแห่งผลที่เกิดเสียหายขึ้น ซึ่งศาลอุทธรณ์กรุงเทพฯ พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นชอบด้วย จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้โจทก์เสียค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย แลค่าทนายแทนจำเลยรวม ๓ ศาลเปนเงิน ๑๐๐ บาท ด้วยอีกฯ

วันที่ ๑๙ มิถุนายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๓
พระยาศรีสังกร
พระยาพิพากษาสัตยาธิปตัย
พระยาเทพวิทุร

 

นิติทัศน์บางประการของคำพิพากษาที่ ๑๑๕ พ.ศ. ๒๔๖๓

๑. ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้พูดถึงคดีนี้ในเวลาต่อมาในคำปราศรัยต่อธรรมศาสตร์บัณฑิตและเนติบัณฑิต นักสันติภาพที่ได้มาเยี่ยม ณ บ้านพัก ชานกรุงปารีส เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๔

“ผมในฐานะทนายต่อสู้ว่าเป็นภัยนอกอำนาจ เวลานั้นยังไม่มีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้ศัพท์ใหม่ว่า “เหตุสุดวิสัย” ผมจึงต้องใช้ศัพท์เก่าที่ปรากฏในกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จอ้างคดีตัวอย่างพระเอกาทธรฐ ในคดีจีนงุยจีนก๋งเส้งที่ผู้เช่าสำเภาไปค้าขายและถูกพายุอัปปางลงกลางทะเลเจ้าของเรือได้เรียกค่าเสียหาย คดีว่ากันถึงฎีกาต่อพระเอกาทธรฐซึ่งทรงวินิจฉัยว่าเป็นภัยนอกอำนาจ ผู้เช่าเรือไม่ต้องใช้ค่าเสียหาย”

๒. “กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ” ที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้อ้างถึง ได้แก่ มูลคดีวิวาทตาม   พระบาฬี ในพระธรรมสาตรอันโบราณราชกษัตริย์จัดเป็นบทมาตราสืบมา ปรากฏในกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ บทที่ ๓๔ ดังนี้

“ศุภมัศดุ ๑๕๖๕ ศกกกุฏะสังวัจฉระเชษฐมาศศุกขปักษทัศมีดิถีจันทวารพระบาทสมเด็จเอกาทธรฐอิศวรบรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จสถิตย์อยู่ ณ พระที่นั่งบันลังรัตนมหาปราสาท โดยบูรพาภิมุขพระเกษมราชสุภาวดีศรีมณฑาดูลราช กราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว

ด้วยลูกค้าวานิชข้าขอบขันธเสมา แลนาๆ ประเทศสบไสมยเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ตั้งบ้านเรือนอยู่ค้าขาย ณะกรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ และจีนงุยจีนก๋งเส้งวิวาทแก่กันว่า จีนงุยเช่าสำเภาจีนก๋งเส้งไปค้าขายสำเภาต้องพยุหอัปปาง จีนก๋งเส้งเจ้าสำเภาจะคิดเอาค่าสำเภาแก่จีนงุยข้าพระพุทธเจ้ามิรู้ที่จะเรียกให้ฉันใด

ขอพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการพิพากษาจึ่งพระบาทสมเด็จเอกาทธรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการมารพระบัณฑูรดำรัสแก่พระมหาราชครูประโรหิตาจารย์ราชสุภาวดีศรีบรมหงส์องค์บุรุโสดมพราหมณ พฤฒาจารย์ แลเจ้าพระยาศรีธรรมราชเดชะชาติอำมาตยานุชิตรัตนราชโกษาธิบดีอไภยพิริยปะรากรมพาหุให้ตราเปนพระราชกฤษฎีกาไว้ แต่นี้สืบเมื่อน่าถ้าลูกค้าวานิชต่างประเทศสบไสมย เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งเรือนอยู่เปนข้าขอขันธเสมาก็ดี แลเข้ามาค้าขายตามกำหนดมรสุมก็ดี และชนสำเภานาวาแก่กันไปค้าขายยังประเทศอันใดอันสุดฟ้าเขียวแลสำเภาต้องพยุห และเสากระโดงหักแลจังกูดครืดครืด และอัปปางแตกเสียก็ดี แลไปกลางทเลสลัดตีเอาไปก็ดี ถ้าแลใช้ใบไปตลอดทอดท่าแล้วตกศึกก็ดี  แลอะสุนีตกต้องสำเภาก็ดีแลเพลิงไหม้หอบลามมาไหม้สำเภาเสียก็ดี

ท่านว่าเปนกาลกำหนดอายุสำเภานั้นต้องด้วยราชไภย โจรไภย อัคคีไภย อุทกะไภย แลจะเอาค่าเช่าสำเภาแก่กันมิได้เหตุใดจึ่งกล่าว ดังนี้ เหตุว่าถึงกาลวิบัติแห่งสำเภา…”

วันที่ ๒ ขึ้น ๑๐ เดือน ๗ ปีระกา ศักราช ๑๕๖๕
ให้ดูลักษณเบ็ดเสร็จบทที่ ๗๕

๓. ใน “คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของนายปรีดี พนมยงค์ พ.ศ. ๒๔๗๐” ท่านผู้เขียนได้อธิบายคำว่า “เหตุสุดวิสัย” และได้อ้างถึงคำพิพากษาของกรรมการศาลฎีกาที่ ๑๑๕ พ.ศ. ๒๔๖๓ ปรากฏคำอธิบายดังนี้

มาตรา ๘ คำว่าเหตุสุดวิสัย หมายความว่าเหตุใดๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดีจะให้ผลพิบัติก็ดี ไม่มีใครจะอาจป้องกันแม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบฤๅใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควร อันพึงคาดหมายได้จากบุคคลนั้นในฐานะเช่นนั้น”

 

คำอธิบาย

“เหตุสุดวิสัย” เป็นข้อแก้ตัวของลูกหนี้มิให้ต้องรับผิด ให้ดูประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๑๙ และ ๔๓๗ ฯลฯ เว้นแต่มีสัญญาบ่งไว้ว่าลูกหนี้จะต้องรับผิดเสมอ ถึงแม้เหตุสุดวิสัยเกิดขึ้น หรือในกรณีที่เหตุสุดวิสัยนั้นเกิดขึ้นในระวางที่ลูกหนี้ผิดนัด หรือเป็นเพราะความผิดของลูกหนี้ ฯลฯ ให้ดูประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๑๗, ๒๑๘, ๒๐๒, ๓๗๒ ฯลฯ

เพราะฉะนั้น คำว่า “เหตุสุดวิสัย” ก็ตรงกับคำว่า “ภัยนอกอำนาจ” หรือ “ภัย ๔ ประการ” ตามกฎหมายลักษณเบ็ดเสร็จ บทที่ ๗๔ คือ ราชภัย โจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย ซึ่งมีความหมายรวมไปถึงภัยอื่นๆ อันบุคคลไม่สามารถป้องกันให้เกิดขึ้น เช่น พายุ (ดูคำพิพากษาฎีกา ๑๑๕/๒๔๖๓ (ธรมสารเล่ม ๔ หน้า ๑๒๘))

การที่จะเป็นเหตุสุดวิสัยได้ต้องประกอบด้วยเหตุ ๒ ประการ

๑. เหตุนั้นต้องเกิดขึ้นโดยมิใช่การกระทำของผู้ประสบ มีอาทิ น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือไฟไหม้ แต่ถ้าไฟนั้นเป็นเพราะลูกหนี้ได้จุดขึ้นเองแล้ว ไม่เป็นเหตุสุดวิสัย

๒. ผู้ประสบหรือใกล้จะต้องประสพเหตุนั้นไม่อาจจะป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้ เมื่อใช้ความระมัดระวังตามสมควร เช่น นายแดงจอดเรืออยู่กลางแม่น้ำโดยเอาสมอลงหนึ่งตัวซึ่งเป็นการเพียงพอตามธรรมดา ครั้นเห็นพายุพัดจัดมานายแดงก็จัดการป้องกันเอาสมอลงอีกตัวหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถต้านทานพายุนั้นได้ เรือจึงหลุดลอยมาโดนบ้านริมแม่น้ำเสียหาย ดังนี้เรียกได้ว่า นายแดงได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว (ฎีกาที่ ๑๑๕/๒๔๖๓ ที่อ้างข้างบน)

มีคดีเรื่องหนึ่งในประเทศฝรั่งเศส คือ

ก. ทำสัญญาจะขายข้าวในนาให้ ข. ก่อนถึงกำหนด ค. เจ้าหนี้ของ ก. นำยึดข้าวในนานั้นครั้นถึงกำหนดสัญญาระหว่าง ก. กับ ข. แก้ตัวว่าตนไม่สามารถเก็บเกี่ยวข้าว กล่าวคือข้าวได้ถูก ค. เจ้าหนี้ยึด ดังนี้ ศาลวินิจฉัยว่า เหตุที่เจ้าหนี้ยึดไม่เป็นเหตุสุดวิสัย เพราะ ก. สามารถที่จะป้องกันมิให้เหตุนั้นเกิดขึ้นได้ คือชำระหนี้แก่ ค. เจ้าหนี้เสีย เจ้าหนี้ก็คงจะได้ถอนการยึด

๔. มีข้อสังเกตว่า “พลาติสัย” เป็นคำกฎหมายก่อนบัญญัติศัพท์ว่า “เหตุสุดวิสัย” ขึ้นในมาตรา ๘ ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คำแปลภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Force majeure” หรือ “Cas fortuit” ซึ่งเป็นคำที่ใช้อยู่ในกฎหมายฝรั่งเศสและมีความหมายกว้างถึงทุกเหตุการณ์ (tout evenement) ไม่ว่าจะเป็นเหตุธรรมชาติ (Force de la nature) การกระทำของรัฐ (Fait du prince) หรือเกิดจากการกระทำของบุคคลที่สาม Fait d’ un tiers) ความสำคัญขึ้นอยู่ที่ว่าไม่มีใครอาจป้องกันได้ จึงปลดเปลื้องจากความรับผิด (la force majeure est exonératoire)

ส่วนคำในกฎหมายอังกฤษใช้ Act of God มีความหมายแคบกว่าคำว่า “Force majeure” ของคำในกฎหมายฝรั่งเศส เพราะจำกัดเฉพาะเหตุการณ์ตามธรรมชาติไม่รวมถึงการกระทำของมนุษย์ (Act of man) ถ้าเทียบตามกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จบทที่ ๗๔ ที่อ้างไว้ในข้อ ๒ ก็ไม่ครอบคลุมถึง ราชภัยและโจรภัย อันเป็นการกระทำของมนุษย์แต่อย่างไรก็ดี คำเก่าที่ธรรมศาสตร์ใช้กันมาว่า “ภัยนอกอำนาจ” ก็ยังมีความหมายที่แหลมลึกและใกล้เคียงกับคำว่า Force majeure มากกว่าคำว่า “เหตุสุดวิสัย”

 

เอกสารอ้างอิง :

  • คำปราศรัยของนายปรีดี พนมยงค์ ต่อธรรมศาสตรบัณฑิตและเนติบัณฑิต นักสันติภาพที่ได้มาเยี่ยม ณ บ้านพัก ชานกรุงปารีส เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๔
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๑๕ พ.ศ. ๒๔๖๓ คดี ประทุษร้ายส่วนแพ่ง “พลาติสัย”
  • คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คำว่า “เหตุสุดวิสัย” 
  • กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ บทที่ ๓๔

หมายเหตุ : 

  • คำสะกดอ้างอิงตามเอกสารชั้นต้น 
  • (พระเอกาทศรถ) ในกฎหมายพระธรรมนูญ พ.ศ. 2178 พระไอยการเบดเสรจ พ.ศ. 2188 สะกด ‘พระบาทสมเดจ์เอกาทธรฐอิศวรบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว’ คำๆ นี้สะกดแตกต่างกันไปตามยุคสมัย ในเอกสารสมัยรัชกาลที่ 1 นิยมสะกดว่า ‘เอกาทธรฐอิศวร’

ที่มา : ปรีชา สุวรรณทัต (บรรณาธิการ). นักเรียนกฎหมายปรีดี พนมยงค์ เมื่ออายุเพียง ๑๙ ปี อาสาเป็นทนายความคดี “พลาติสัย” คดีเรือชนพลับพลา, ใน, 120 ปี ชาตกาลปรีดี พนมยงค์ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาส ๑๒๐ ชาตกาลปรีดี พนมยงค์, น. 42-50.